ความคิดเห็นทั้งหมด : 7

ภาวะสงครามกลางเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


   ภาวะสงครามกลางเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์
หน่วยระบาดวิทยา, สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้,
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, หาดใหญ่
31 ตุลาคม 2547

สถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ ใกล้สงครามกลางเมืองเข้าไปทุกขณะ ขณะที่เขียนบทความนี้ มีตำรวจทหารและพลเรือนถูกทำร้ายบาดเจ็บล้มตายไปแล้วหลายร้อยคน โรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนเนืองแน่นไปด้วยผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่ายที่นอนรักษาตัวอยู่ไม่ห่างกันนัก ทั้งผู้ป่วย ญาติ แพทย์และพยาบาลต่างหวาดระแวงว่าอาจจะมีการตามซ้ำเติมผู้บาดเจ็บและทำให้คนบริสุทธิ์โดนลูกหลงมากขึ้นแม้กระทั่งในโรงพยาบาล

บาดแผลของสังคม
ความรุนแรงในครั้งนี้นับเป็นโรคระบาดประจำถิ่นที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ไม่เพียงแต่จำนวนการเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้คนและการประสบเคราะห์กรรมของครอบครัว มีเด็กกำพร้าและหญิงม่ายที่ขาดความอบอุ่นจำนวนมาก ความรุนแรงที่กำลังเพิ่มองศาขึ้นจะยังเป็นบาดแผลลึกต่อสังคมทั้งสังคม ติดตามหลอกหลอนคนรุ่นนี้และคนรุ่นต่อ ๆ ไปในพื้นที่อีกนาน

ภาพหลอนทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์
คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เดือดร้อนครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะภาพหลอนทางประวัติศาสตร์ที่ชาติพันธุ์แต่ละฝ่ายได้โปรแกรมลูกหลานของตนไว้ รัฐทุกรัฐในอดีตต้องปลูกฝังอุดมการณ์ให้คนในรัฐรวมตัวกัน สร้างรัฐให้เข้มแข็ง สามารถป้องกันตัวเอง และชื่นชมความสำเร็จในเรื่องการครอบครองอาณาเขตยิ่งกว้างยิ่งภูมิใจ ลืมไปว่าชาติพันธุ์ซึ่งพ่ายแพ้การทำสงครามเขาไม่สามารถร่วมภูมิใจด้วย รัฐพม่าภูมิใจในบุเรงนองมหาราชของตนที่สร้างกรุงหงสาวดีได้ยิ่งใหญ่ มีประตูเมืองสี่ด้านตั้งชื่อตามเมืองหลวงของประเทศราชรวมทั้งโยเดียหรือกรุงศรีอยุธยา ส่วนคนไทยก็ปลูกฝังความเคียดแค้นทางประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานได้สืบต่อ แม้เวลาล่วงเลยไปสงครามสิ้นสุดเกือบสองร้อยปีแล้ว สื่อบันเทิงรุ่นหลัง ๆ ก็ยังพยายามปลุกความเคียดแค้น ในทางกลับกันระบบการศึกษาได้ความรู้สึกภูมิใจว่าสยามรัฐในอดีตก็สามารถ "ปราบปราม" ประเทศราชให้มาสวามิภักดิ์ ทั้งลาว กัมพูชา และรัฐต่าง ๆ ในภาคใต้ การปราบปรามทุกครั้งคือสงครามที่ผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ต้องเสียชีวิตไปจำนวนมาก บ้านแตกสาแหรกขาด ประเทศและรัฐเหล่านั้นเขาย่อมมิได้ชื่นชมด้วย คนที่จะมาเป็นผู้นำของชนชาติได้จะต้องหลอมรวมความรู้สึกของชนชาติ และย่อมพุ่งเป้าไปที่รัฐคู่กรณี การเขียนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำโดยอำนาจรัฐแต่ละฝ่าย ประวัติศาสตร์ (ที่ไม่เป็นวิชาการ) ถูกใช้เป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐในการสร้างความรู้สึกชาตินิยม ลุ่มหลงชาติพันธุ์ของตน และเหยียดหยามชาติพันธุ์อื่น ๆ
ในงานวิจัยทางมานุษยวิทยาการแพทย์โดยฝรั่งเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้วเรื่องวิธีการและแนวคิดของหมอพื้นบ้านในประเทศไทยในการรักษาผู้ป่วย ผู้วิจัยได้รายงานว่า หมอพื้นบ้านไทยส่วนหนึ่งตอบว่าได้ความรู้จากการลองผิดลองถูก ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่เรื่องที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ คาถาที่หมอไสยศาสตร์พื้นบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ในตอนนั้นบ่งบอกถึงความรู้สึกไม่พอใจสยามรัฐซึ่งสั่งสมกันต่อ ๆ มา ทำนองเดียวกันประวัติศาสตร์เรื่องมัสยิดกรือเซะซึ่งชาติพันธุ์จีน-ไทยในพื้นที่สร้างตำนานขึ้นนั้น หลังจากเหตุการณ์นองเลือดเมื่อ 28 เมษายน 2547 ซึ่งมีการสังหารหมู่ในมัสยิด 23 ศพนั้น คนไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่กล่าวกันต่อ ๆ ไปว่า การทำลายมัสยิดโดยรัฐไทยแบบนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว การเสียชีวิตกว่า 80 รายเมื่อ 25 ตุลาคม 2547 ห่างจากกรณีมัสยิดกรือเซะไม่ถึงครึ่งปีย่อมมีผลตอกย้ำความรู้สึกเคียดแค้นต่อสยามรัฐเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ ทำให้การทำงานของกลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐไทยดำเนินการได้ง่ายขึ้น

การใช้ความรุนแรงเป็นวัฏจักรทวีความชั่วร้าย
ความผิดพลาดของอำนาจสยามรัฐในการใช้ความรุนแรงสองครั้งนี้กับการก่อการร้ายภายในพื้นที่หมุนเวียนเป็น “วัฏจักรทวีความชั่วร้าย” (vicious cycle) กล่าวคือ กลุ่มก่อการร้ายใช้วิธีลอบทำร้ายผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวพุทธและผู้ทำงานให้รัฐ ทำให้อำนาจรัฐทหาร-ตำรวจซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธมีความโกรธเคียดแค้น มีความโกรธอยู่เหนือเหตุผลในการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เครียดจัด เช่นในวันก่อเหตุมัสยิดกรือเซะ และวันก่อเหตุตากใบ มีความเชื่อและมีข้ออ้างทุกครั้งว่าต้องรีบจัดการให้เสร็จเร็วป้องกันการบานปลาย ซึ่งการกระทำ "ให้เสร็จเร็ว" แต่ละครั้งมีการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ที่หลีกเลี่ยงได้ทุกครั้ง และสร้างความแค้นให้กับคนพื้นเมืองมากขึ้น
การวนเวียนของวัฏจักรแต่ละครั้งเป็นความสูญเสียของผู้บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่าย และเป็นการเสียความเชื่อถือของอำนาจสยามรัฐทั้งต่อสายตาคนทั่วโลก และต่อคนในพื้นที่เอง วัฏจักรนี้คงวนเวียนอีกไม่นานนัก เพราะสยามรัฐไม่สามารถปกป้องความปลอดภัยของชาวพุทธได้ ชาวพุทธเริ่มอพยพออกนอกพื้นที่ ในแต่ละรอบของการปราบที่รุนแรงคนพื้นเมืองไม่เห็นด้วยกับสยามรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ ความชอบธรรมของสยามรัฐในการปกครองพื้นที่นี้อาจจะถึงกาลอวสาน ที่น่ากังวลก็คือ ก่อนการแยกดินแดนชีวิตจะต้องล้มตายอีกจำนวนมาก แม้หลังแยกดินแดนไปแล้ว คนกลุ่มน้อยในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ชาวมุสลิมมลายูในแผ่นดินสยามที่เหลือ และชาวสยามที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ซึ่งแยกไปแล้วในตอนนั้น ทั้งสองฝ่ายคงได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัส วัฏจักรนี้ทำลายยากมากเพราะมีคนเร่งให้เกิดมากกว่าคนที่พยายามชะลอ นอกจากผู้ก่อการร้ายซึ่งทำให้สถานการณ์ทุกอย่างเข้าตามแผนแล้ว ก็ยังมีประชาชนไทยนอกพื้นที่ซึ่งขาดความเข้าใจและมองปัญหาด้านเดียว กล่าวคือ เมื่อชาวพุทธถูกทำร้ายก็เกิดความเคียดแค้น เมื่อชาวพื้นเมืองถูกรัฐทำร้ายรู้สึก "สะใจ" และให้กำลังใจอำนาจรัฐ การที่ชาวสยามให้กำลังใจอำนาจสยามรัฐในช่วงที่คนพื้นเมืองเศร้าโศกเสียใจเนื่องจากการเสียชีวิต ที่จริงแล้วเป็นการทำร้ายชาวสยามและชาวพุทธที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และเร่งการแยกดินแดน ความ "สะใจ" ของชาวสยามย่อมเป็นสิ่งตอกย้ำให้ชาวพื้นเมืองเห็นว่าเขาเป็นพลเมืองชั้นสอง กลุ่มก่อการร้ายก็จะอ้างกับคนพื้นเมืองว่าเมื่อสยามรัฐเข่นฆ่าชาวพื้นเมืองผู้บริสุทธิ์ได้ กลุ่มนี้ก็จะฆ่าผู้บริสุทธิ์ชาวสยามเป็นการตอบแทน

ใต้สันติสุข...โจทย์ใหญ่ของคนไทยทั้งชาติ
โจทย์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นโจทย์ที่แก้ยากมาก เป็นอิทธิพลจากความติดยึดในประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นจุดอ่อนของสมานฉันท์มนุษย์ที่รัฐแต่ละรัฐสร้างขึ้น เป็นความไม่เข้าใจในภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และอารมณ์ความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง ซ้ำเติมด้วยกระแสการก่อการร้ายทั่วโลกที่กำลังโหมกระพือโต้กระแสจักรวรรดินิยมตะวันตกยุคใหม่ โจทย์นี้ไม่ใช่โจทย์ของรัฐบาล แต่เป็นโจทย์ของคนไทยทั้งชาติ โดยเฉพาะคนสยามและคนมลายู คนพุทธและมุสลิมในพื้นที่ต้องร่วมกันฟันผ่าอุปสรรค

สันติภาพเป็นสัมมาทิฏฐิ
รัฐบาลกำลังพยายามสร้างความปลอดภัยให้แก่ชาวพุทธและคนทำงานให้รัฐในพื้นที่ ระดมกองกำลังตำรวจทหารและเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่นเดียวกันการทำสงครามครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกวัด ทุกโรงเรียน สิ่งนี้ช่วยลดการเผาโรงเรียนลงได้ แต่ไม่เป็นหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตของราษฏรโดยเห็นได้จากการฆ่ารายวันมีจำนวนมากขึ้น ราษฏรพุทธและคนที่ทำงานให้กับรัฐไม่อยู่ในฐานะที่จะป้องกันตนเองได้เช่นกัน การช่วยตัวเองมีอยู่สองทาง คือ ย้ายออกนอกพื้นที่ หรือ อยู่อย่างระมัดระวังและผูกมิตรกับคนพื้นเมืองให้มากที่สุด
ชาวสยามนอกพื้นที่ที่อยากช่วยพี่น้องร่วมชาติของตนต้องตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ หรือ อยู่บนทฤษฏีที่ถูกต้อง อย่าสนับสนุนความรุนแรง เพราะที่สำคัญไม่ใช่ความรุนแรงทำให้รัฐบาลตกต่ำในสายตาอารยประเทศ ซึ่งเรื่องนั้นนักการทูตของเราเขารับว่าจะไปแก้ให้ได้ ความสำคัญก็ไม่ได้อยู่ที่จะทำให้หุ้นตก เพราะรัฐบาลก็มีผลงานด้านเศรษฐกิจพยุงตลาดหุ้นมาได้ตลอดรอดฝั่ง ส่วนที่ร้ายที่สุดของการสนับสนุนความรุนแรง คือ ความรุนแรงนี้จะทำร้ายคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคนโดยตรง โดยทำให้ประชาชนมลายูพื้นเมืองส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกลางหรือสนับสนุนรัฐไทยหันไปเป็นแนวร่วมฝ่ายตรงข้าม ทำให้ความปลอดภัยของชาวสยามในพื้นที่น้อยลง
นอกจากจะไม่สนับสนุนความรุนแรงแล้ว ชาวสยามนอกพื้นที่ควรช่วยกันสร้างกระแสสันติภาพในรูปแบบต่าง ๆ ส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันกับชาวพื้นเมือง เชิญคนพื้นเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเยี่ยมไปมาหาสู่ รับฟังความทุกข์และความคับแค้นใจของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยดีและหาทางช่วยเหลือ การช่วยเหลือข้ามชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่ควรยกย่องชื่นชมเท่ากับหรือมากกว่าการช่วยเหลือในชาติพันธุ์เดียวกัน เพราะเป็นการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายซึ่งการช่วยเหลือเฉพาะชาติพันธุ์ของตนไม่สามารถสร้างสันติภาพได้

สู่ความสมานฉันท์
รัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 2540 ได้มาด้วยการผ่านบทเรียนเลือดและน้ำตาของคนไทยในการต่อสู้กับเผด็จการ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาพิทักษ์สิทธิของคนไทยอย่างเท่าเทียมกันเพื่อสร้างความสมานฉันท์ในชาติ ชาวมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกว่าไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิรัฐธรรมนูญ ชาวสยามทั่วประเทศต้องช่วยกันรณรงค์ให้สิทธินี้แก่พี่น้องต่างชาติพันธุ์ส่วนนี้ นักกฎหมายชาวสยามที่เป็นไทยพุทธควรร่วมกระบวนการทางนิติธรรมแก้ไขปัญหานี้ อย่าปล่อยให้นักกฎหมายมุสลิมดำเนินการอย่างโดดเดี่ยว ควรศึกษาตัวอย่างบุคลกรทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมโดยไม่เลือกชาติพันธุ์จนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
การรณรงค์เพื่อสันติภาพควรเริ่มต้นจากการสร้างความรักความเมตตาต่อคนที่แตกต่างไปจากเรา พยายามทำความเข้าใจและสื่อสารกับเขาด้วยดีแม้จะยากลำบาก เราต่างฝ่ายต่างถูกโปรแกรมมาด้วยระบบการศึกษาและวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญเฉพาะกับพวกเราและมีแนวโน้มเหยียดหรือรังเกียจผู้อื่น ต้องช่วยกันลบโปรแกรมนี้ออกจากหน่วยความจำอย่าให้ส่งผลร้ายกับพี่น้องเราเอง
สงครามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้หนักหนาสาหัสต่อประวัติศาสตร์ไทย ชาวไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชี้ขาดขั้นสุดท้าย ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีความเจริญก้าวหน้าและมีความสุขไม่ต่างกับคนสยาม ในอดีตมีชาวจีนและชาวอินเดียเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย และในปัจจุบันมีชาวพม่า ชาวลาวและกัมพูชา จำนวนมากเข้าประเทศไทยเพื่อมาเป็นคนไทยเพราะประเทศไทยมีสิ่งดีมากมาย ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจเสรี และประชาธิปไตย เราต้องทำให้พี่น้องชาวไทยเชื้อสายมลายูได้ร่วมชื่นชมสิ่งนี้อย่างเป็นรูปธรรม

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------




Posted by : ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วง , E-mail : (cvirasak@ratree.psu.ac.th) ,
Date : 2004-11-05 , Time : 14:18:13 , From IP : 172.29.2.174


ความคิดเห็นที่ : 1


   กรุณาแสดงความเห็นในเชิงสร้างสรรค์นะคะ เพราะว่าเห็นบทความน่าสนใจ ก็เลยมาแบ่งปันกันอ่าน

Posted by : กลุ่มนักวิชาการเพื่อศานติ , Date : 2004-11-05 , Time : 14:44:56 , From IP : 172.29.2.174

ความคิดเห็นที่ : 2


   http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01act01061147&show=1§ionid=0130&day=2004/11/06
เอามาจากเวบมติชนค่ะ


Posted by : กลุ่มนักวิชาการเพื่อศานติ , Date : 2004-11-05 , Time : 14:46:50 , From IP : 172.29.2.174

ความคิดเห็นที่ : 3


   ไม่รู้น่ะ ... ชาวสยาม...ชาวไทย...ชาวมาลายู ...พูดทำไม มันเป็นอดีต ตอกย้ำกันอยู่ได้ ...เฮ่อ!

Posted by : 08 , Date : 2004-11-05 , Time : 18:53:33 , From IP : 172.29.7.112

ความคิดเห็นที่ : 4


   อ่านเจอมา น่าสนใจดี ก็เลยเก็บมาฝาก

http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P3094384/P3094384.html


Posted by : อ.มอ , Date : 2004-11-05 , Time : 19:54:53 , From IP : 202.57.179.225.ppp-1

ความคิดเห็นที่ : 5


   ขอแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นคนตานีมาแต่กำเนิด เติบโตมาในสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนต่างศาสนาและวัฒนธรรมนะครับ
สมัยที่ผมเป็นเด็กเรียนหนังสือในโรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนนับถือศาสนาอิสลามมากกว่าศาสนาอื่นๆ ผมจึงมีเพื่อนเป็นมุสลิมมากมายไม่ว่าจะเป็น มะยูโซ๊ะ, อับดุลย์กาเดร์, มะนาเซ, แวมารีย๊ะ, ซีตีฮาวอ ฯลฯ เราต่างเป็นเพื่อนที่สนิทสนมเล่นด้วยกันเรียนด้วยกัน ไม่เคยมีความรู้สึกว่าเธอเป็นพุทธ ฉันเป็นมุสลิม เธอเป็นคนไทย ฉันเป็นมลายู
ครอบครัวผมจะมีความสนิทสนมกับชาวไทยมุสลิมทุกระดับชั้นมากมาย แม้กระทั่งวังเจ้าเมืองตานีเดิมที่ตำบลจะบังติกอ ก็สร้างแบบศิลปะจีนเนื่องจากช่างที่ก่อสร้างเป็นชาวจีนที่บรรพบุรุษผมจัดหาให้เนื่องจากสนิทสนมกันกับเจ้าเมืองในอดีต
เวลาชาวไทยมุสลิมมีงานต่างๆเราไทยพุทธก็ไปร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็นงานพิธีกรรมทางศาสนาเช่นงานศพ หรืองานรื่นเริงอย่างงานเทศกาลฮารีรายอ และในทางกลับกันเวลางานของเราก็มีชาวไทยมุสลิมไปร่วมด้วย ด้วยความเต็มใจ แม้กระทั่งงานศพญาติผู้ใหญ่ผม ก็มีชาวไทยมุสลิมไปร่วมแสดงความไว้อาลัย
งานเทศกาลสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จะมีการอัญเชิญเทพแห่รอบเมือง ก็จะมีการแห่เข้าไปในตำบลจะบังติกอซึ่งเป็นชุมชนไทยมุสลิม เนื่องจากในละแวกใกล้วังเจ้าเมืองตานีมีท่าน้ำเป็นท่าภาษีที่ชาวจีนที่จะขนสินค้าจากเมืองยะลามาเมืองตานี หรือขนสินค้าจากปากน้ำตานีไปขายที่เมืองยะลาจะต้องแวะเสียภาษี การอัญเชิญเทพไปที่ท่าน้ำนี้ก็เพื่อเป็นศิริมงคลต่อการค้าขายของชาวจีน เราก็ทำต่อเนื่องกันมานับร้อยปี
สิ่งที่ผมเล่ามามันไม่เคยมีปัญหา มันไม่เคยมีการแบ่งแยก แตกแยกใดๆ จนกระทั่งมีคำว่า"การเมือง"เข้ามา มันจึงทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไป (ขอเรียนแบบแม่พลอยในสี่แผ่นดิน) ยิ่งมาในยุคปัจจุบันมีผู้ที่อ้างตัวเป็นนักวิชาการประจำถิ่นมากขึ้น และพยายามสื่อความคิดของตนให้คนทั่วไปรับทราบ โดยคิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิด ตัวเองเขียนมันถูกต้อง มีการกล่าวหาว่าประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือนต่างๆนานา จนในที่สุดกลายเป็นว่าผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามถูกกลั่นแกล้ง กีดกันต่างๆ ยิ่งเป็นประเด็นร้อนทันที ผมไม่ทราบว่านักวิชาการเอาจุดไหนเป็นเส้นแบ่งในเรื่องเวลาของประวัติศาสตร์ จะเอายุค ร.5, ยุคต้นรัตนโกสินทร์, ยุคกรุงธนบุรี, ยุคกรุงศรีอยุธยา ถ้าผมจะเอายุคก่อนประวัติศาสตร์มาอ้างบ้างละครับว่าทุกคนคือเผ่าพันธุ์เดียวกัน นักวิชาการจะโต้เถียงกับผมหรือเปล่าครับ
หรือถ้านักวิชาการทั้งหลายคิดว่าคนไทยมุสลิมถูกกีดกันจริงๆ ลองไปศึกษาข้อมูลชาวไทยพลัดถิ่นที่ยังคงอาศัยอยู่ในไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิศ ดูบ้างว่าเขาเหล่านั้นมีสภาพความเป็นอยู่ หรือได้รับสิทธิต่างๆเหมือนชาวไทยมุสลิมหรือเปล่า เพราะเขาเหล่านั้นก็เกิดมาในท้องถิ่นนั้นหลายชั่วอายุคนแล้วเหมือนกัน
ผมจึงอยากให้ท่านที่เป็นนักวิชาการ นักคิด นักเขียน ลองพินิจพิจารณาให้ถ่องแท้ครับ ก่อนจะตกเป็นเครื่องมือของการเมืองโดยไม่รู้ตัวครับ
แล้วที่อาจารย์บอกว่า "คาถาที่หมอไสยศาสตร์พื้นบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ในตอนนั้นบ่งบอกถึงความรู้สึกไม่พอใจสยามรัฐซึ่งสั่งสมกันต่อ ๆ มา" ไม่ทราบคาถานั้นมีว่าอย่างไรครับ เพราะคาถารักษาโรคมันก็น่าจะเป็นคาถา ไม่น่าจะบ่งบอกถึงความรู้สึกไม่พอใจสยามรัฐนะครับ
ผมมิมีเจตนาลบหลู่นักวิชาการท่านใดทั้งสิ้น เพียงแต่อยากแสดงความคิดเห็นในฐานะประชานธรรมดาคนหนึ่งที่เกิดมาในถิ่นที่มีปัญหาทางการเมือง และถูกนำเอาศาสนามาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ เพราะไม่อยากเห็นสงครามศาสนาครับ


Posted by : ปานเทพ , Date : 2004-11-06 , Time : 13:40:38 , From IP : 203.150.217.112

ความคิดเห็นที่ : 6


   ผมคิดว่าแต่ละท่านคงจะมีแหล่งที่มาของข้อสรุปทำให้เกิดความเชื่อต่างๆกัน และที่แต่ละฝ่ายอาจจะไม่ใคร่ทราบอย่างแน่ชัดก็คือฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วย หรือฝ่ายที่ความเห็นไม่ตรงกับเรานั้น ใช้ methodology อย่างไรจึงเป็นที่มาของข้อสรุปที่ว่า

นั่นเป็นที่มาของ evidence-based levels ต่างๆ จาก level 5 ไปถึง level 1 นี่เป็นข้อจำกัดของการอภิปรายบนกระดานข่าว เพราะการนำเสนอไม่ได้ชี้แจงวิธีที่มาของข้อสรุป แต่นั่นไม่น่าจะเป็นเหตุผลของการโจมตีหรือการสรุปว่าฝ่ายตรงข้ามไม่มีเหตุผล

ผมคิดว่าจากชื่อนามสกุลของการที่มีการนำมาลงประกอบบทความ นั่นเป็นการแสดงความจริงใจอย่างหนึ่ง คือ accountability ว่าที่มามาจากใคร สงสัยว่าเป็นการสื่อที่มีการศึกษาหรือไม่อย่างไรจะได้สามารถตรวจสอบ สอบถามได้ ไม่ใช่แค่การ "อ้างตัว" เฉยๆ ผลงานวิจัยระดับชุมชน เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติหรือระดับโลกนั้นก็สามารถจะตรวจสอบได้ว่าที่มาเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าประชาชนส่วนหนึ่งคงจะไม่มีปัญหาอะไรกับเรื่องความแตกต่าง และสามารถอยู่ได้กับไม่ว่าจะใคร ผิวสีอะไร ห้อยอะไรที่คอหรือคลุมอะไรที่ศีรษะ แต่ผมเกรงว่าถ้าจะให้สรุปว่าทั้งหมดไม่มีปัญหานั้น อาจจะต้องขอดูข้อมูล ขอศึกษาก่อน อย่างน้อยที่สุดการคิดว่าอาจจะมีปัญหาในบางกลุ่มยังนำไปสู่ความพยายามในการศึกษาหาทางแก้ปัญหา แต่การสรุปว่าไม่มีปัญหานั้นก็จะไม่มี action อะไรเกิดขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันผมคิดว่ามัน "คงจะมี" ปัญหาจากหลักฐานที่เราเห็นการวิสามัญฆาตกรรมกันอยู่แทบไม่เว้นตะละวัน

ข้อสำคัญคือเวลาเราอ่านข้อมูลทั้งหมดนั้น การจับประเด็นใหญ่หรือจุดหมายของบทความนั้นสำคัญที่สุด เจตนาหรือพฤติกรรมที่สุดท้ายจากความเห็นที่เสนอมาคืออะไร เป็นการสร้างสรรค์ซ่อมแซม หรือ เปิดประเด็นให้มองเหตุการณ์ให้กว้างขึ้น นอกเหนือจากความเข้าใจส่วนบุคคล หรืออย่างไร




Posted by : Phoenix , Date : 2004-11-06 , Time : 15:03:10 , From IP : 203.156.41.179

ความคิดเห็นที่ : 7


   จับตัวก่อการไปทิ้ง เหมือนตอนจอมพลถนอมนะ เอาหัวหน้าไปทิ้งในทะเล ทุกอย่างจบ นานกว่าพวกมันจะสร้างตัวได้นะ

Posted by : ขอร่วมวง , E-mail : (mmmmm) ,
Date : 2004-11-19 , Time : 15:44:58 , From IP : 172.29.3.236


ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.005 seconds. <<<<<