หมอสหรัฐ ฝังชิป RFID คนไข้ พร้อมประยุกต์ใช้ด้านซีเคียวริตี้
คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (The Federal Drug Administration : FDA) ปวดหัวครั้งใหญ่ หลังจากทราบรายงานว่า โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกามีการฝังชิป RFID (Radio Frequency IDentification) ไว้ใต้ผิวหนังของคนไข้ เพื่อความสะดวกในการตรวจรักษา ซึ่งทำให้เกิดข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลที่ฝังอยู่ในตัวคนไข้นั้น ๆ ว่าจะมีความเป็นส่วนตัวมากน้อยแค่ไหน
การใช้ชิป RFID ซึ่งมีขนาดเล็กประมาณ 11 มม. มาใช้ในการตรวจรักษาโรค และติดตามข้อมูลในการรักษาของผู้ป่วยนั้นเกิดขึ้นเมื่อ ทางโรงพยาบาลจะทำการฝังชิปลงไปใต้ผิวหนังบริเวณท่อนแขน ตรงส่วนกล้ามเนื้อไตรเซ็บ (Tricep) ซึ่งเป็นไขมัน
การฝังชิปลงใต้ผิวหนังนั้นทำได้ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่บรรจุชิปลงในหลอดฉีดยา แล้วฉีดลงไป ซึ่งชิปจะมีสารที่ชื่อว่าไบโอบอนด์ (Biobond) ช่วยในการยึดเกาะกับเนื้อเยื่อภายในร่างกาย รวมถึงช่วยป้องกันไม่ให้ชิปเสียหายด้วย
จากนั้นเมื่ออวัยวะดังกล่าวถูกสแกนด้วยเครื่องสแกนเนอร์ ระบบจะดึงข้อมูลส่วนบุคคลที่ฝังอยู่ในชิปขนาดจิ๋วออกมาได้ ซึ่งจะทำให้แพทย์ที่ถูกเปลี่ยนให้มาดูแลคนไข้รายดังกล่าวได้รับทราบข้อมูลทางการรักษาของแพทย์คนก่อนหน้าได้อย่างถูกต้อง
เราอาจนำมันมาใช้แทนการสแกนม่านตา หรือลายนิ้วมือก็เป็นได้ แองเจล่า ฟูลเชอร์ (Angela Fulcher) รองประธานด้านการตลาดของ VeriChip กล่าว
อย่างไรก็ดี ระบบรักษาความปลอดภัยผ่านชิปใต้ผิวหนังนี้ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับแอปพลิเคชันรักษาความปลอดภัยพื้นฐานได้ค่อนข้างมาก แม้จะยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อมูลที่ระบบจะดึงขึ้นมาใช้ว่าจะละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือไม่ ซึ่งทางฟูลเชอร์กล่าวว่า ระบบจะดึงข้อมูลขึ้นมามากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับผู้ดูแลระบบ (Administrator) ว่าต้องการข้อมูลอะไรบ้าง ชิปและเครื่องสแกนเนอร์ของ VeriChip ทำได้เพียงแค่อ่านข้อมูลและบ่งบอกตัวบุคคล ว่าตรงกับเงื่อนไขที่องค์กรตั้งไว้หรือไม่
ประยุกต์ใช้
เมื่ออวัยวะดังกล่าวถูกสแกนด้วยเครื่องสแกนเนอร์ ระบบจะดึงข้อมูลส่วนบุคคลที่ฝังอยู่ในชิปขนาดจิ๋ว เพื่อตรวจสอบสถานะว่าตรงกับเงื่อนไขที่ระบบตั้งเอาไว้หรือไม่ แล้วนำไปสู่การประมวลผลในขั้นถัดไป เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้การทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการรักษาความปลอดภัยในอาคาร ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ได้ในอนาคต
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ได้นำไปใช้กับสัตว์มานานกว่าสิบปีแล้ว
ฟูลเชอร์กล่าวว่าเทคโนโลยีดังกล่าวมีมาแล้วนับ 15 ปี โดยในยุคนั้นทางกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกาก็ได้ติดต่อข้อซื้อเทคโนโลยีนี้รวมถึงชิปดังกล่าวประมาณ 1,000 ชิ้นจากบริษัท Digital Angel ไปใช้สำหรับมอนิเตอร์การอพยพของฝูงปลาแซลมอน รวมถึงผู้ที่รักสุนัขก็ได้นำชิปไปติดกับสุนัขของตนเองเพื่อความปลอดภัยด้วยเช่นกัน
ได้ไอเดียจาก 9/11
ฟูลเชอร์กล่าวว่า ไอเดียในการนำเอาชิป RFID มาใช้ในการระบุตัวบุคคลนั้นมาจากเหตุการณ์วินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเมื่อ 11 กันยายน 2001 และเพนตากอน ซึ่งทำให้อาคารเกิดเพลิงลุกไหม้และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก เขาได้เห็นแขนของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงคนหนึ่งมีรอยปากกาเขียนโค้ดนัมเบอร์เอาไว้ ซึ่งอาจใช้ในการยืนยันว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่คนใด หากว่าเขาไม่สามารถรอดชีวิตกลับมาได้
ประเด็นเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวถูกหยิบยกขึ้นมาและกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทางบริษัทต้องตอบ
ฟูลเชอร์ย้ำถึงเรื่องดังกล่าวว่า ชิปดังกล่าวจะไม่มีการส่งข้อมูลใด ๆ ทั้งสิ้น หากผู้ที่ถูกฝังชิปไม่เดินไปอยู่ใกล้เครื่องสแกนเนอร์ และข้อมูลที่เครื่องสแกนเนอร์ดึงออกมาใช้นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ดูแลระบบ (Administrator) จะดึงอะไรออกมาบ้าง และนำไปใช้กับสิ่งใดมากกว่า ไม่เกี่ยวกับระบบการทำงานของชิป RFID นอกจากนั้น ความรู้สึกว่าเครื่องสแกนเนอร์ไม่ปลอดภัยนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าวิตกกังวล เพราะเครื่องสแกนเนอร์จะสามารถอ่านข้อมูลจากชิปที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนังได้ก็ต่อเมื่ออวัยวะนั้น ๆ อยู่ใกล้ประมาณ 1 ฟุต
แต่สำหรับผลการทดลองเมื่อนำชิปนี้ไปใช้กับปลาแซลมอนนั้น พบว่าสามารถสแกนข้อมูลของปลาได้แม้จะอยู่ห่างไปไกลถึง 10-12 ฟุต
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยี RFID ดังกล่าวได้พัฒนามาจนถึงจุดที่อาจส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติแล้ว หากว่าสหรัฐอเมริกาได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาประกาศใช้ในระดับสากล โดยใช้เรื่องการก่อการร้ายเป็นข้ออ้าง หลังจากมีความพยายามจะเก็บข้อมูลชีวภาพของผู้ที่เดินทางเข้าสู่สหรัฐอเมริกา ตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ แน่นหนามากขึ้นกว่าเดิม และเทคโนโลยีดังกล่าวอาจมีจุดเปลี่ยนที่คาดไม่ถึงรออยู่ข้างหน้าก็เป็นได้ (อ้างอิงจากซีเน็ต) `````
Posted by : Dhan , Date : 2004-07-28 , Time : 16:45:55 , From IP : 172.29.3.133
|