ความคิดเห็นทั้งหมด : 3

ใครดู "ฟ้าใหม่" บ้าง? คิดว่าเหตุการณ์ปลายสมัยกรุงธนบุรี เป็นเช่นนั้นจริงหรือ


   มีข้อมูลหลายอย่าง ที่บ่งว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ ได้เรียนกันมาตามแบบเรียน ขอยกเอกสารชุดหนึ่งมาประกอบโดยย่อ
The Last year of KING TAKSIN THE GREAT

ปีสุดท้าย ของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
-- ปรีดา ศรีชลาลัย --
จาก นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๔
เมื่อตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองญวนยังไม่มีไมตรีกับไทย ขณะที่กองทัพไทยออกไปปราบเมืองพุทไธมาศและกัมพูชาในปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๑๔ ญวนได้กะทบกะทั่งกับหน่วยทหารของกองทัพไทยบ้างเล็กน้อย โดยกองทหารฝ่ายญวนทำการขัดขวางการสื่อสารของไทยบางแห่ง และเข้าแทรกแทรงเมืองปาสักอีกด้วย
(ดูประขุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๖) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้โกษาธิบดีมีหนังสือไปว่ากล่าวญวนในทางไมตรีก่อน แต่น่าจะไม่เป็นผล เพราะความเข้าใจผิดและความปรารถนาอันผิดของญวน ทำให้ญวนมองไม่เห็นทางไมตรีกับไทยได้ถนัด ปรากฏในพงศาวดารของญวนเองว่า บางคราวเรือสินค้าหลวงของประเทศไทยเคยถูกญวนตีปล้น พวกตีปล้นไม่ใช่ญวนสามัญ เป็นพวกกรมการหัวเมืองของญวน ความประพฤติเลวทรามข้อนี้
ย่อมจะเพิ่มความเกลียดชังให้แก่ชาวไทยมากขึ้น
จึงทรงพระกรุณาให้รับองเชียงชุนผู้เป็นอาขององเชียงสือมาชุบเลี้ยงจนได้เป็นที่พระยาราชาเศรษฐีดังกล่าวแล้ว แต่ทางเมืองญวนอนำก๊กจะคิดเห็นอย่างไรในข้อนี้ไม่ปรากฏเรื่องราว ครั้นเมื่อพวกเจ้าเมืองอนำก๊กถูกพวกราชวงศ์เล้ตีแตกยับเยินลงมาทางใต้ กำลังต้านทานเหลือน้อยลงทุกที จึงคิดหากำลังทางเมืองเขมรโดยด่วน พยายามเข้าแซกแซงการเมืองเขมร จนเกิดกบฏขึ้นในเมืองเขมร พ.ศ. ๒๓๒๓ ทำให้เขมรย่อยยับลงไปมากมาย พวกกบฏ:-)สมเด็จพระรามราชากษัตริย์วีรราชแห่งเขมร พร้อมทั้งราชบุตรที่ยังทรงพระเยาว์วอดวายหมด ญวนเร่งส่งกำลังหนุนเขมรฝ่ายกบฏ และพยายามสูบหาประโยชน์จากเมืองเขมรอย่างเร่งร้อนเพื่อนำไปใช้สู้รบกับราชวงศ์เล้ ในระยะใกล้ๆกันนี้ยังหาโอกาสส่งคนสนิทเข้ามาติดต่อกับพระยาราชาเศรษฐี (องเชียงชุน) ในกรุงธนบุรีอีก จนทางราชการของไทยจับได้ สืบสวนได้ความว่าพระยาราชาเศรษฐี (องเชียงชุน) กับพวกเป็นกบฏแน่ จึงต้องรีบจัดการปราบทันที และเพื่อมิให้ญวนลุกลามเข้ามายึดเมืองเขมรเป็นที่มั่น จึงโปรดให้กองทัพไทยออกไปจัดการเมืองเขมร แล้วให้เดินทางไปรับมือกับญวนให้เด็ดขาดลงไปทีเดียว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระมหาอุปราช องค์รัชทายาทแห่งพระราชวงศ์กู้ชาติ เป็นแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระยาจักรี(ด้วง) เจ้าพระยานครสวรรค์ เจ้าพระยาสรศรี(บุญมา น้องชายเจ้าพระยาจักรี ด้วง) และพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศ เหล่านี้เป็นแม่ทัพรองๆลงมา โปรดให้กองทัพไทยออกไปในเดือนยี่ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ คือหลังจากปราบกบฏญวนในพระนครแล้วครึ่งเดือนเท่านั้น ถ้ากองทัพไทยออกไปทำการตามพระราชโองการของพระผู้กู้ชาติคราวนี้เป็นผลสำเร็จ เมืองเขมรก็คงสำเร็จเรียบร้อยและมั่นคง ดินแดนญวนใต้ต่อจากเขมรออกไป ซึ่งแต่ก่อนไทยเคยอยู่มาแล้ว ก็คงจะกลับเข้ามาอยู่ในความคุ้มครองของไทยตามเดิม ตัดความก้าวร้าวของญวนครั้งนั้นลงได้เด็ดขาด ด้านตะวันออกของไทยจะปลอดภัยดีที่สุด เมื่อเช่นนั้นก็ยังจะเหลือแต่งานด้านตะวันตกโดยเฉพาะ ซึ่งอาจทำได้ง่ายและเร็วขึ้น งานด้านตะวันตกที่ว่านี้ก็คือการไปรับพวกพี่น้องชาวไทยที่เมืองพม่า ซึ่งเขาเหล่านั้นถูกกวาดต้อนไปครั้งกรุงเก่าแตก
แต่เรื่องผิดคาดหมด เพราะกองทัพไทยที่ยกออกไปครั้งนั้นทำงานต่างกัน แม่ทัพใหญ่พยายามจะรุดหน้าไปตามพระราชโองการของพระผู้กู้ชาติ ฝ่ายแม่ทัพรองบางนายหาทางยับยั้งเสีย เพื่อหน่วงคอยฟังเหตุการณ์ทางกรุงธนบุรี เวลานั้นญวนได้ส่งกองทหารเข้าไปช่วยอยู่ในเมืองเขมรบ้างแต่ไม่มากนัก ว่ากันตามส่วนกำลังที่ทั้งสองฝ่ายมี และจะต้องสู้กันอย่างแตกหัก อย่างไรเสียก็ควรจะหวังได้ว่ากองทัพไทยต้องทำงานได้ผลดีเป็นแน่ หากงานที่ทำนั้นไม่มีเรื่องอื่นเข้าแทรกแทรง ฝ่ายญวนอ่อนเต็มทีแล้ว ย่อมจะต้องการหย่าศึกกับไทยมากกว่า เพราะญวนมีภาระจะต้องสู้รบกับพวกราชวงศ์เล้ ซึ่งกำลังตีรุกลงมาจากทางเหนืออย่างรุนแรง ถ้าขืนรบกับไทยเข้าอีก จะถูกตีกระหนาบสองหน้า อาจถึงเหลวแหลกหมดทางตั้งตัว เพราะฉะนั้นเพื่อหาทางดีกับไทย แม่ทัพญวนชื่อเหงวียงหึวถว่าย (เป็นพี่เขยขององเชียงสือ) จึงลอบแต่งทูตมาทาบทามทางแม่ทัพรองฝ่ายไทย โชคดีของญวน เป็นอันสมประสงค์ของแม่ทัพญวนโดยง่ายดาย เพราะว่าแม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ต้องการจะให้กองทัพญวนและเขมรร่วมมือในทางลับอยู่เหมือนกัน
(ดูพงศาวดารญวน ฉบับนายหยงทหารปืนใหญ่ แปล เล่ม ๒ หน้า ๓๗๘ เป็นต้น) และท่านแม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ยินดีจะช่วยกำลังแก่ญวนตามสมควรในโอกาสต่อไป เมื่อทำงานลับเสร็จสมหมายแล้ว แม่ทัพญวนกับแม่ทัพรองฝ่ายไทยได้ลอบทำสัญญาลับทางทหารต่อกัน ฝ่ายแม่ทัพญวนหักกระบี่และคันธงออกเป็น ๒ ท่อน แล้วแบ่งให้ไว้ฝ่ายละครึ่งตามธรรมเนียม เพื่อเป็นเครื่องหมายในการทำสัญญา (ดูพงศาวดารญวน เล่ม ๒ หน้า ๓๘๒) ต่อจากนั้น แม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ให้ญวนล้อมกองทัพสมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ และทัพพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศ ไว้อย่างแน่นหนา ตรึงทัพทั้งสองมิให้เคลื่อนที่ได้ ส่วนตนรีบเดินทัพย้อนกลับมากรุงธนบุรีโดยด่วน
ฝ่ายการในกรุงธนบุรี มีผู้ยุยงชาวกรุงเก่าให้เกิดเข้าใจผิดในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และชักชวนทำการกบฏย่อยๆขึ้น ผู้ยุยงตัวสำคัญซึ่งแอบขึ้นไปตั้งทำการยุที่กรุงเก่า มี ๓ คน คือ นายบุนนาค๑ หลวงสุระ๑ หลวงชะนะ๑ รวบรวมผู้คนตั้งเป็นกองรบเข้ารุมทำร้ายผู้รักษากรุงเก่า แล้วเดินทางมายังกรุงธนบุรีในเดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ถึงกรุงธนบุรีในตอนดึก ก็เริ่มยิงพระนครทันที ยังมีพวกกบฏแอบแฝงส้องสุมอยู่ในกรุงธนบุรีอีก มีหลวงสรวิชิต (หน) เป็นต้น ก็ก่อการจลาจลขึ้นรับกับพวกกบฏที่ยกมาจากกรุงเก่า ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในทันทีนั้นเองเสด็จตื่นบรรทมออกบัญชาการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง เพราะยังไม่ทรงทราบว่าเป็นข้าศึกต่างเมืองยกมา
หรือเป็นแต่คนทรยศชาติไทยคิดก่อการกบฏขึ้น จวนรุ่งสว่างทหารหลวงยิงเรือพวกกบฏล่ม และกองเรือฝ่ายกบฏเริ่มถอยแล้ว ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทอดพระเนตรเห็นพวกกบฏล้วนเป็นคนไทยทั้งนั้น ก็สลดสังเวชพระราชหฤทัยมาก เวลาบ้านเมืองเป็นอันตรายเสียแก่พม่าข้าศึก หามีคนกล้าหาญสะสมกำลังยกมาต่อสู้พม่าไม่ พระองค์สู้พลีพระชนม์ชีพเข้ามาต่อสู้พม่า จนปราบปรามลงราบคาบ กู้ชาติไทยกลับเป็นอิสระ ให้ไทยมีชาติพ้นจากความเป็นทาสพม่า ทรงพยายามทุกทางที่จะให้ไทยเจริญอย่างรวดเร็ว ให้ไทยทุกคนได้ทำมาหากินเป็นสุขสมบูรณ์ ไม่ให้ศัตรูดูหมิ่น ไม่ให้ต่างชาติเหยียดหยามไทย แม้จะต้องเหนื่อยหนักเท่าไร พระองค์มิได้ทรงยอมท้อถอย ทั้งไม่เคยมีพระราชจริยานุวัตรเป็นผลร้ายแก่ประเทศชาติ อุตส่าห์ก่อกู้และสร้างชาติไทยจนเป็นปึกแผ่นสำหรับดำรงความเป็นไทยให้มั่นคง และขยับขยายประเทศชาติให้ไพศาลต่อไป ซึ่งพี่น้องชาวไทยผู้รักชาติควรจะปลื้มใจที่สุด แต่ไฉน จึงมีชาวไทยบางหมู่คิดกบฏต่อพระองค์ เพราะเขาได้รับความเดือดร้อนอย่างไรหรือ หรือว่าเพราะเขาต้องการความเป็นใหญ่เป็นโตครอบงำชาติไทยต่างหาก
ในชั้นต้น พวกกบฏขอให้พระสงฆ์เข้าไปถวายพระพร ทูลขอให้พระองค์เสด็จออกทรงผนวช เพื่อสะเดาะพระเคราะห์เมืองสัก ๓ เดือน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงรับคำทูล โปรดให้ข้าราชการผู้ใหญ่ปรึกษาดูตามความสมควร เวลานั้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีพระยาสรรคบุรี (บรรพบุรุษแห่งสกุลแพ่งสภา) พระยารามัญวงศ์ (มะซอน บรรพบุรุษแห่งสกุลศรีเพ็ญ) เป็นต้น ล้วนแต่ซื่อสัตย์จงรักภักดีในพระองค์อย่างยิ่งยวด ข้าราชการเหล่านั้นคงจะได้คำนึงถึงกำลังส่วนใหญ่ที่ต้องส่งออกไปภาคตะวันออก จะทำผลีผลามลงไปในขณะนี้ ฉวยว่ามีการผันแปรต่างประเทศด้านอื่นเกิดขึ้นแทรกแซง จะเรียกกำลังจากภาคตะวันออกกลับมาไม่ทันท่วงที อีกประการหนึ่งพวกราษฎรก็ถูกปลุกปั่นให้เข้าใจผิด ความเข้าใจผิดอาจลุกลามไปมาก ในเมื่อไม่รีบหาทางแก้ไขเสียแต่ในชั้นต้น ฉะนั้นควรจะมีทางมองเห็นทางเดียวที่ควรกระทำก่อน คือขอให้ทรงยอมตามความประสงค์ดังที่พวกกบฏขอให้พระสงฆ์ทูลแล้วนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ทรงขัดข้องอย่างใด ตกลงเสด็จออกทรงผนวช วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ที่วัดแจ้ง อันเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง (เช่นเดียวกับวัดพระแก้วมรกตในวังหลวงทุกวันนี้) ในการเสด็จออกทรงผนวชนี้ ความจริงหาขาดจากพระราชตำแหน่งไม่ เพราะมีกำหนดแน่นอน ว่าจะเสด็จนิวัติกลับสู่ราชบัลลังก์ภายหลังเมื่อทรงผนวชแล้ว ๓ เดือน ส่วนราชการบ้านเมืองก็มีข้าหลวงรักษาพระนครตามธรรมเนียม (เหมือนคราวเสด็จออกทรงผนวชในรัชกาลที่ ๕)
สิ้น
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงผนวชแล้ว ๑๒ วัน พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) หลานเจ้าพระยาจักรี (ด้วง)
ซึ่งโปรดให้ออกไปเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ยกทัพมาจากนครราชสีมา โดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต แต่ในพงศาวดารว่าเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ให้รีบยกเข้ามาฟังเหตุการณ์ในกรุงก่อน (ดูพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๓) พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ยกทัพเข้ามาตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลบ้านปูน ตอนเหนือพระราชวังหลวง พงศาวดารได้เสริมความตอนนี้ให้รุนแรงขึ้นไปอีกว่า พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) กับพระยาสรรค์ปรึกษากันให้สึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกจากพระภิกษุแล้วพันธนาการไว้ด้วยเครื่องสังขลิกพันธ์ (คือโซ่ตรวน) แต่ข้อนี้ ไม่อาจจะเป็นไปได้ เพราะจดหมายเหตุความทรงจำยืนยันว่า จนถึงเวลาที่พระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงคราม ยกกองไปปราบกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังทรงผนวชอยู่ตามเดิม ทั้งพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ (ด้วง) ทรงชำระเรียบเรียง พิมพ์เป็นประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ ก็รับรองว่า ขณะที่เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ยกทัพรีบรุดเข้ามาถึงกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังทรงเพศเป็นพระภิกษุอยู่ เป็นอันฟังได้ว่า ในตอนนี้ยังไม่ถูกจับสึก และพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) คงไม่กล้าพอที่จะหักหาญจับพระผู้กู้ชาติสึกง่ายๆ แต่การมาของพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ในลักษณะเช่นนี้ คงทำให้พวกข้าหลวงรักษาพระนครคิดไปในทางแง่ร้าย เพราะพวกกบฏมีนายบุนนาค หลวงสุระเป็นต้น เข้าสมทบกับพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) การบริหารราชการจึงยากที่จะเป็นไปตามปกติ ความไม่สงบก็พลันที่จะเกิดขึ้นทั่วๆไป พวกพลอยผะสมผะสานก็เทไปเทมา ตามที่เห็นว่าจะได้ประโยชน์แก่ตัวในขณะนั้น พวกเหล่านี้ไม่มีเวลาคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศบ้านเมืองเลย ลางแห่งความระส่ำระสายปรากฏขึ้นเฉพาะหน้าแล้ว ก็จำเป็นที่ข้าหลวงรักษาพระนครจะต้องรีบจัดการตัดต้นเหตุเสียโดยเร็ว ปรึกษาตกลงกัน ขอให้พระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงครามทรงดำเนินงานตามที่เห็นสมควรต่อไปต่อไป
กรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงระดมกำลังเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้น รีบยกไปตีกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน)
ที่ตำบลบ้านปูน ณ วันอังคาร ที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นเวลาภายหลังที่พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) เดินทัพเข้ามาในกรุง และตั้งมั่นอยู่ ๑๑ วัน แต่กำลังของกรมขุนอนุรักษ์สงครามน้อยนัก เป็นธรรมดาน้ำน้อยต้องแพ้ไฟ กรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงไม่สามารถตีทำลายกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ลงได้ตามความประสงค์ ต้องล่าถอยไปทางวัดยาง ในที่สุดถูกพวกพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) จับได้ พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) จึงขยายวงค่ายแผ่กว้างออกมา จนใกล้พระราชวังหลวง นี่เป็นข้อประจักษ์ชัดแล้วว่า พวกชาวกรุงเก่าถูกหลอกให้เฮโลเข้ามาทำการกบฏต่อพระผู้กู้ชาติของตนเอง แต่ผลแห่งการกบฏนั้น พวกราษฎรคงนึกไม่ถึงว่าจะเป็นเหตุให้พระผู้กู้ชาติของตนต้องถูก:-)ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา (และเขาได้สำนึกดีต่อเมื่อคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗ โดยร้องไห้บูชาพระคุณอย่างน่าสังเวช) ในขณะที่จะเกิดรบกัน ระหว่างกรมขุนอนุรักษ์สงคราม กับกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงทราบล่วงหน้าแล้ว มีพระราชดำรัสห้ามมิให้ต่อรบกัน เพราะทรงต้องการความสงบแก่บ้านเมืองเป็นสำคัญ
เมื่อกรมขุนอนุรักษ์สงครามถูกจับแล้ว ๓ วัน พอเช้าวันที่ ๖ เมษายน เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ก็รีบเดินกองทัพใหญ่มาถึงพระนคร แต่ก่อนจะมานั้นได้ให้กองทัพญวนและเขมรช่วยล้อมกองทัพสมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้ (ดูพงศาวดารญวน ฉบับนายหยง แปล เล่ม ๒ หน้า ๓๘๒ และประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ หน้า ๙๕ จึงจะเข้าใจความตอนนี้ได้กระจ่าง) ในวันที่กองทัพเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) เข้ามาถึงนั้นเอง ได้มีการสอบถามความเห็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก ว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้วจะควรทำอย่างไรต่อไป บรรดาข้าราชการที่ยังจงรักภักดีในพระองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเชื่อในพระราชปรีชาสามารถของพระองค์ ก็ยืนคำว่าควรไปกราบทูลอัญเชิญเสด็จ ขอให้ทรงลาผนวชออกมาครองราชสมบัติ บริหารการแผ่นดินโดยด่วน ในเรื่องนี้ได้ความตามคำบอกเล่าจากเจ้านายบางองค์ในราชวงศ์จักรีว่า ข้าราชการพวกที่กล้าพูดเช่นนั้น เพราะเป็นคนรักความจริงอย่างเด็ดเดี่ยว คนเหล่านั้นทราบดีว่า ถ้าพูดก็ต้องตาย แต่ไม่กลัวตายจึงกล้าพูด ในที่สุดก็ถูกคุมตัวไปประหารชีวิตทั้งหมด ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ถูก:-)ในวันนั้นเอง ณ พระวิหารที่ประทับในวัดแจ้ง (คือวัดอรุณราชวราราม ปัจจุบันนี้) รวมวันตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวช จนถึงวันถูก:-) เป็น ๒๘ วัน
โหรจดไว้ว่าดับขันธ์ ไม่ใช้คำว่าสิ้นพระชนม์หรือสวรรคต ก็เพื่อยืนยันว่า พระองค์ท่านถูก:-)ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุ จึงใช้คำว่าดับขันธ์ เพื่อให้เข้าใจว่ามิได้สวรรคตเมื่อลาผนวชออกมา ความจริงพระองค์ดำรงสมณเพศจนตลอดพระชนม์ชีพ เมื่อการ:-)เสร็จเรียบร้อยแล้ว เชิญพระศพไปฝังไว้ที่วัดอินทาราม บางยี่เรือ ใกล้ตลาดพลู
คลองบางหลวง (เวลานั้นยังเรียกวัดบางยี่เรือ) บรรดาศพข้าราชการที่จงรักภักดีในพระองค์ มีเจ้าพระยานครราชสีมา (บุญคง ต้นสกุลกาญจนาคม) พระยาสรรค์ (บรรพบุรุษสกุลแพ่งสภา) พระยารามัญวงศ์ (ต้นสกุลศรีเพ็ญ) พระยาพิชัยดาบหัก (ทองดี ต้นสกุลวิชัยขัทคะ และพิชัยกุล) เป็นต้น จำนวนมากกว่า ๕๐ นาย ก็ถูกฝังเรียงรายใกล้พระศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ต่อจากนี้เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขไทย เริ่มการสร้างพระราชวังใหม่ที่ฟากตะวันออก ตรงที่ตั้งค่ายมั่นทหารบกของกรุงธนบุรี ริมฉางหลวง ฝ่ายพระราชวงศ์กู้ชาติที่ยังเหลือ ถ้าเป็นเจ้าชายชั้นทรงพระเจริญวัยก็ถูกจับ:-)หมด เอาไว้แต่ที่ทรงพระเยาว์และเจ้าหญิง ถอดพระยศออกแล้วเรียกว่าหม่อม เหมือนกันทุกพระองค์ แม้จนกระทั่งสมเด็จพระราชินี และสมเด็จพระน้านาง
เป็นการถอดอย่างที่ไม่เคยมีมา แต่กระนั้นพระราชวงศ์กู้ชาติยังคงสืบสายไม่ขาดมาจนถึงทุกวันนี้ (ดูหนังสือไทยต้องจำ และลำดับสกุลเก่า ภาค ๔ ของกรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่ ๒)
ฝ่ายเจ้าพระยาอินทวงศา อัครมหาเสนาธิบดีฝ่ายกลาโหม ขณะนั้นตั้งวังปราบบัญชาการทัพอยู่ที่ปากพระ ใกล้เมืองถลาง ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูก:-)แล้ว ท่านก็ฆ่าตัวตายตามเสด็จเพราะไม่ยอมเป็นข้าคนอื่น แต่ก็ไม่ปรารถนาหาอำนาจแก่ตัว ในท่ามกลางความเดือดร้อนของพี่น้องชาวไทย เมื่อข่าวการ:-)สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแพร่ออกไปแล้ว เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดอันเป็นเมืองสำคัญทางภาคตะวันตก ก็หลุดลอยไปจากไทย
ตกอยู่แก่พม่าในปีนั้นเอง ส่วนความเกี่ยวข้องกับญวนตามสัญญาลับ ไทยต้องช่วยญวนต่อรบกับพวกราชวงศ์เล้ (ที่เรียกไตเซิง) ๒ ครั้ง และช่วยอาวุธยุทธภัณฑ์อีกนับไม่ถ้วน ผลสุดท้ายเมื่อญวนกลับตั้งราชวงศ์องเชียงสือสำเร็จ มีอำนาจใหญ่โตขึ้น ไทยต้องเสียเมืองพุทไธมาศแก่ญวนอย่างน่าอับอาย และเสียประโยชน์อีกมากต่อมาก
(ดูพงศาวดาร ฉบับนายหยง แปล เล่ม ๒ หน้า ๓๙๔, ๔๑๙ และไทยต้องจำ พิมพ์ครั้งที่ ๒ หน้า ๑๑๓)


Posted by : mongoloid , Date : 2004-07-10 , Time : 21:07:52 , From IP : 203.150.209.231

ความคิดเห็นที่ : 1


   

ประวัติศาสตร์ ไทยเชื่อถือยากที่สุด สงสารแต่ราชวงศ์ ของพระเจ้าตากสิน


Posted by : พ , Date : 2004-07-11 , Time : 16:33:20 , From IP : 172.29.3.157

ความคิดเห็นที่ : 2


   ผู้ที่เขียนประวัติศาสตร์คือผู้ชนะครับ

Posted by : passion , Date : 2004-07-13 , Time : 15:45:31 , From IP : 172.29.3.151

ความคิดเห็นที่ : 3


   อยากได้เพิ่มมากกว่านี้จะได้มั๊ยคะ

Posted by : น้ำ , Date : 2006-11-08 , Time : 16:27:23 , From IP : 203.144.140.57

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.007 seconds. <<<<<