ความคิดเห็นทั้งหมด : 14

สธ.เร่งผลิตแพทย์ 270 คน ป้อน 3 จังหวัดชายแดนใต้


   (กรุงเทพธุรกิจ, ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๖)

สธ.เร่งผลิตแพทย์ 270 คน ป้อน 3 จังหวัดชายแดนใต้

วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.วัลลภ ไทยเหนือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกันลงนามความร่วมมือผลิตแพทย์กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นสถาบันผลิตแพทย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลในสังกัดที่ตั้งอยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา เป็นการเฉพาะ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีปัญหาขาดแคลนแพทย์ มีปัญหาการสื่อภาษา ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ภาษาท้องถิ่น มีวัฒนธรรมเฉพาะ จึงมีผลให้แพทย์จบใหม่ส่วนใหญ่ไม่ประสงค์จะไปทำงาน

โครงการผลิตแพทย์เพื่อ 3 จังหวัดภาคใต้ มีระยะเวลา 9 ปี เป้าหมายผลิตแพทย์ปีละ 30 คน รวมทั้งสิ้น 270 คน ใช้งบประมาณดำเนินการ 300,000 บาทต่อคนต่อปี รวม 486 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2548-2556 โดยคัดเลือกเด็กนักเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส ที่กำลังศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ที่มีผลการเรียนดี มีเจตคติที่ดี และอยากทำงานในชุมชน มาเตรียมความพร้อมทั้งด้านวิชาการ ฝึกทักษะการเรียนและการปฏิบัติงานกับผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยงานด้านนี้ ก่อนที่จะสอบคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนแพทย์ สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอน จะเน้นการเรียนรู้จากปัญหาและการปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้จักจัดการปัญหาในสถานการณ์จริง โดยศึกษาภาคทฤษฎี ความรู้พื้นฐานด้านวิชาชีพแพทย์ เป็นเวลา 3 ปี ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่และปัตตานี และศึกษาในภาคปฏิบัติอีก 3 ปีหลัง ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา โดยมีโรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และโรงพยาบาลชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นสถาบันสมทบ ซึ่งจะทำให้แพทย์ที่จบมามีความรู้ความเข้าใจในสภาพปัญหาสาธารณสุขของพื้นที่ มีความผูกพัน รู้สึกเป็นเจ้าของและอยากทำงานให้กับท้องถิ่นของตนมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อจบการศึกษาแล้วจะต้องไปปฏิบัติชดใช้ทุนในภูมิลำเนาเดิมเป็นเวลา 3 ปี

ด้าน รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การคัดเลือกนักศึกษาเพื่อเตรียมศักยภาพ การจัดการเรียนการสอน การพัฒนานักศึกษา การพัฒนาแพทย์ของโรงพยาบาลที่จะเป็นอาจารย์แพทย์ ตลอดจนการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อควบคุมคุณภาพของแพทย์ที่เข้าศึกษาในโครงการนี้ ให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของแพทยสภา ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ด้วย


Posted by : Shonigega , Date : 2004-06-25 , Time : 11:14:12 , From IP : pedsurg.med.osaka-u.

ความคิดเห็นที่ : 1


   ดูเหมือนจะดี แต่ถ้ามองลึกๆแล้ว เรากำลังแยก 3 จังหวัดออกไป แม้การผลิตแพทย์ก้ต้องเป็นของ 3 จังหวัด ต่อไปก้จะมี ตำรวจของ 3 จังหวัด ทหารของ 3 จังหวัด ครูของ 3 จังหวัด .... สุดท้ายนายกก็มีของ 3 จังหวัด

เราแยก 3 จังหวัด หรือ 3 จังหวัดแยกตัวเอง

ไม่เข้าใจ เขาบริหารอะไรกัน


Posted by : realOne , Date : 2004-06-25 , Time : 15:11:06 , From IP : 172.29.1.164

ความคิดเห็นที่ : 2


   คิดว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้ข้อมูลมากทีเดียวถ้าจะวิเคราะห์วิจารณ์

ว่ากันตั้งแต่ต้นเหตุของปัญหา ที่ว่าขาดแคลนแพทย์นั้น ผมเข้าใจว่าเมืองไทยในชนบทดูจะขาดทุกที่ การกระจายแพทย์นั้นไปรวมกันอยู่ที่เขตเมืองมากกว่าเขตชนบท สามจังหวัดภาคใต้จะรุนแรงกว่าที่อื่นหรือไม่ หรือเป็น pilot study ถ้าได้ผล เราจะมีนโยบายขยายวิธีนี้ใช้ทั่วประเทศเลยรึเปล่า

จากวิธีที่ใช้แก้ปัญหา คือ "ใช้เด็กในพื้นที่" อาจจะตั้งสมมติฐานได้ดังนี้
๑) แพทย์จบใหม่ที่ผ่านมาที่ปฏิบัติการในเขตสามจังหวัดนี้ ไม่ใช่คนในพื้นที่
๒) จากข้อหนึ่ง มีเจตคติที่ไม่ดี ไม่มีความอยากทำงานในชุมชน
๓) จากข้อหนึ่งอาจจะมีผลทำให้มีอุปสรรคด้านภาษา และความเข้าใจด้านวัฒนธรรม
ส่วนวิธีที่ว่าจะเรียนอย่างไร คงไม่เกี่ยวกับตอน recruit หรือ คัดเลือกนักเรียนเท่าไหร่แล้ว แต่จะเป็นคล้ายๆ reinforcing measurement ในการ artificial creation สิ่งที่เห็นว่าจำเป็น ได้แก่ ความผูกพัน ความรู้สึกเป็นเจ้าของ และความเข้าใจปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่

ถ้ามีการศึกษาว่าการเป็นคนในพื้นที่ (นิยามคือ? เกิดที่นี่ โตที่อเมริกา หรือเกิดที่อื่นโตที่นี่ หรืออยู่ในเขตนี้เป็นระยะเวลาอย่างน้อยเท่าไหร่ อยู่ตอนช่วงประถมหรือมัธยม?) จะแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ชนบทได้จริง ก็คงจะต้องทำทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่เฉพาะภาคใต้ ผลกระทบที่อาจจะตามในเวลาสิบปี ยี่สิบปีคือ ทีนี้แพทย์ที่ "ไม่ใช่" คนในพื้นที่เลยรู้สึกแยกพวก ไม่มาสมัครอยู่ในเขตนี้หรือไม่ หรือจะเกิดภาพลักษณ์ว่าสามจังหวัดนี้ถ้าไม่รู้เรื่องภายในจริงๆจะอยู่ไม่ได้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องออกมาเป็นนโยบาย? หรือวิธีนี้จะเป็นแค่ add-on เสริมจากกำลังการกระจายปกติจากแพทย์ส่วนกลาง

ยังมีรายละเอียดอื่นๆ เช่น ถ้าตำบลนี้ หรือเขตไหนไม่มีคนที่มีเจตจำนงจะเข้าร่วมเพราะความอยากเป็นแพทย์จริงๆ แต่เป้นการ recruit ตาม quota เฉยๆ เจตคติที่เราต้องการตั้งแต่แรกก็จะไม่ตรง การที่เราสรุปว่าเป็นคนในพื้นที่เฉยๆ ไม่น่าจะเป็น magic bullet ที่จะการันตี loyalty ต่อวิชาชีพ (จริงๆด้วยระบบ student selection ในปัจจุบัน เรา "ไม่มี" อาไรที่จะการันตีว่าบัณฑิตแพทย์จะมี loyalty ต่อสถาบันแพทย์เลยซะด้วยซ้ำ) ดังนั้นหากจะใช้วิธีนี้ ขั้นตอนคัดเลือกนักเรียน (นศพ. OTOP) นี้จะน่าสนใจมาก แค่ในเชิงสังคมศาสตร์ และแพทยศาสตร์ สองประการ หากทำให้เราได้คำตอบ หรือมีความเข้าใจมากขึ้นว่าทไอย่างไรหมอจะทำงานในพื้นที่ หรือมีเจตคติเป็นแพทย์จริงๆก็เป็นคำถามคำตอบที่สำคัญมากอย่างยิ่ง




Posted by : Phoenix , Date : 2004-06-26 , Time : 10:59:42 , From IP : 203.155.172.112

ความคิดเห็นที่ : 3


   จริงอย่างที่พี่นกไฟให้ความเห็นนะครับ
.
ถ้าสมมตืฐานที่ว่า การให้คนท้องถิ่นเข้าเรียนแพทย์ โอกาสที่จะเข้าทำงานในถิ่นกำเนิดมากกว่า เป็นจริง รัฐก็ควรจะเลือก subsidize แบบมีเงื่อนไขเช่น ปีนี้แพทย์ในบางกอกมากแล้ว ไม่ให้โควต้านักเรียนที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯนะ ถ้าอยากเรียนก็จ่ายเอาเอง ตลอดหลักสูตรล้านสอง แต่สตูลมีน้อย ให้สตูล ยี่สิบตำแหน่ง ใครมาจากสตูลและสอบได้มีสิทธิ์เข้าเรียน
.
หรือถ้าสมมติฐานที่ว่า การเรียนในท้องถิ่น โอกาสที่จะทำงานในท้องถิ่นที่เรียนมากกว่า มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด ก็ควรจะได้รับงบประมาณมากกว่า เพื่อที่จะสามารถลดค่าหน่วยกิตลงให้น้อยกว่า ให้มันชัด ๆ แบบที่ต้องคิดไปเลยว่าจะเลือกเรียนในกรุงแล้วจ่ายแพง หรือเลือกเรียนต่างจังหวัด แต่จ่ายน้อย
.
selective subsidization อย่างนี้ เพื่อให้เกิด gradient คนอื่นว่าเป็นไงครับ
.
กติกา อย่าแดกดัน อย่าประชดประชัน อย่าใช้อารมฌ์ ไม่สนุกครับ


Posted by : Shonigega , Date : 2004-06-26 , Time : 16:07:53 , From IP : pedsurg.med.osaka-u.

ความคิดเห็นที่ : 4


   คำถามแรกจริงก่อนที่จะเริ่ม campaign "ลูกหมอคืนสู่เหย้า" คือการยืนยันทฤษฎีที่ว่าซะก่อน

สาเหตุเพราะมันมีความหมายโดยนัยแฝงอยู่หลายด้าน หลายมุม ตกลงแพทย์ทั้งหลายที่เข้ามาเรียนและจบออกไปนี่แนวโน้มเป็นอย่างไร หมอในกทม.เยอะ แปลว่านักเรียนส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯหรือ ถ้าเอา possibility to migrate มา plot ในแผนที่น่าจะช่วยให้เห็นแนวโน้มความเป็นไปว่าอะไรบ้างเป็นปัจจัย "ดึงดูด" หมอ หรือ "ขับดัน" หมอให้อยู่ให้จากไป ในพื้นที่หนึ่งๆ

ระบบแต่สมัยเดิมนั้นแพทย์จบมาก็ "ใช้ทุน" อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขเป็นส่วนใหญ่ จบสามปีครบก็มีการโยกย้ายกันอีกครั้ง ถ้าสามปีที่ว่ามาไม่ช่วยดึงให้หมออยู่กับที่ได้ ก็อาจจะต้องมาพิจารณาว่า campaign ใหม่นี้จะมีปัจจัยอะไรให้อยู่นานขึ้น ลำพังเข้าใจปัญหา หรือเคยปฏิบัติงานในพื้นที่นั้นๆ หมอรุ่นก่อนๆก็เคยผ่านมาแต่ทำไมจึงไม่สามารถอยู่ได้นาน คำตอบของคำถามเหล่านี้น่าจะมีส่วนต่อแผนกลยุทธ์

แต่ถ้า "เด็กในพื้นที่" เป็น magic bullet ในการแก้ปัญหาจำนวนหมอในเขตจริง เราก็จะมีแผนที่จะงอกเงยจากความรู้ตรงนี้อีกหลายอย่างตามมาทีเดียว



Posted by : Phoenix , Date : 2004-06-27 , Time : 02:49:56 , From IP : l225ppp053.ksc.net.t

ความคิดเห็นที่ : 5


   เห็นด้วยกับความเห็นที่ว่าค่าเล่าเรียนควรจะเก็บแตกต่างกัน ตามความคิดเห็นส่วนตัว ควรจะมีหลักการในการเก็บค่าหน่วยกิตอัตราอันเดียวกัน เช่นหน่วยกิตบรรยาย ห้องปฏิบัติการ เป็นต้น แต่แต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะมีภาคปฏิบัติแตกต่างกัน ทำให้ราคาต่างกัน และที่สำคัญผมคิดว่าน่าจะมีภาษีอะไรอีกตัว ซึ่งผมยังนึกไม่ออกว่าควรเรียกอย่างไร โดยภาษีนี้จะคล้ายกับการที่อยู่ในกรุงจะต้องเสียแพงกว่า ผลลัพธ์ก็คือใครเรียนกทม.ต้องเสียภาษีที่สูงกว่ามาก และต้องสูงกว่าชัดเจน เพื่อที่จะส่งเสริมให้คนอยู่ชนบทมากขึ้น ในประเทศอเมริกา หรือออสเตรเลีย เขาจะมีภาษีท้องถิ่นในเรื่องการบริการ ที่แตกต่างกัน ในเมืองใหญ่จะมีภาษีแพงกว่าในเมืองเล็กอย่างเช่นนิวยอร์ก จะแพงกว่าในรัฐอินเดียน่าเป็นต้น เวลาซื้อของก็จะต้องบวกภาษีนี้ ในออสเตรเลีย ค่าถอนเงินต่างรัฐจะแตกต่างกันตามรัฐ รัฐแทสมาเนียจะถูกว่าที่เมลเบอร์น ที่อยู่ในรัฐวิคตอเรีย หรือซิดนีย์ที่รัฐนิวเซาท์เวลล์ สำหรับคนที่ไม่มีเงินจ่ายคงจะต้องมีระบบที่จะสนับสนุนให้มากขึ้น

Posted by : อนวฃ , Date : 2004-06-27 , Time : 10:32:10 , From IP : 203.155.221.253

ความคิดเห็นที่ : 6


   ผมไม่แน่ใจว่าการเสียค่าเล่าเรียนถูกแพงจะมีความสัมพันธ์ที่ตรงไปตรงมากับความต้องการทำงานในชนบทของแพทย์หรือไม่ ตรงนี้การออกแบบงานวิจัยจะค่อนข้างยากทีเดียวจึงจะได้คำตอบ

ถ้าตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ เขาต้องเสียค่าเล่าเรียนหลายล้านบาท จะเป็นสิ่งที่บันดาลใจให้หมอเหล่านี้กลายเป็นหมอชนบทในอนาคตรึเปล่า หรือการที่ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์เสียค่าเล่าเรียนแค่ไม่กี่แสน ที่เหลือรัฐบาล subsidize ให้ จะมีผลทำให้หมอเหล่านี้อยากจะไปอยู่ชนบทรึเปล่า

สงสัยว่า intervention ที่อาจจะมีควรจะเป็นตอน recruitment เข้าเรียน หรือตอนทำงาน? หรือทั้งคู่ และอย่างไร? ตรงนี้ก่อนที่จะ Implement ลงไป คนร่างนโยบายต้องกระจ่างใน cause & effect พอสมควร

นี่คือความสำคัญของการตั้ง research question เพราะจะเป็นตัวกำหนด methodology ทั้งหมด เมื่อตั้งแล้ว เราต้อง focus ไปที่การตอบคำถามที่ตั้งไว้ อย่างงและหลุดออกจากคำถามที่ได้ตั้งไว้



Posted by : Phoenix , Date : 2004-06-27 , Time : 17:20:48 , From IP : l224ppp248.ksc.net.t

ความคิดเห็นที่ : 7


   การกลับมาทำงานในพื้นที่บ้านเกิดของแพทย์ ไม่แน่ใจว่าเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่ เพราะปัจจุบันกี่เปอร์เซนต์ที่กลับไปอยู่ ลืมตัวว่ามาจากไหนก็มี

Posted by : toom , Date : 2004-06-27 , Time : 22:50:25 , From IP : 172.29.3.218

ความคิดเห็นที่ : 8


   ชีวิตคนเราไม่สามารถลิขิตได้ตลอดเวลา มีปัจจัยรอบด้านที่ทำให้ต้องปรับเปลี่ยน
ก่อนจบก็ตั้งใจจะกลับบ้านเกิด เผอิญขณะเรียนก็มีแฟน ในที่สุดก็ต้องไปที่ที่แฟนต้องการ หรือไม่จบแล้วทำงานในบ้านเกิด เมื่อเวลาผ่านไปลูกๆโตขึ้น จำเป็นต้องหาที่เรียนให้เหมาะกับลูก เหล่านี้เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันอยู่เรื่อย


Posted by : คนร่วมคิด , Date : 2004-06-28 , Time : 08:44:54 , From IP : 172.29.3.193

ความคิดเห็นที่ : 9


   คุณ "คนร่วมคิด" ได้นำประเด็นภาคปฏิบัติที่น่าคิดออกมา

การกลับไปทำงานที่พื้นที่บ้านเกิดนั้นเป็นอุดมคติดี (ไม่ทราบว่าจะทำให้คนอพยพเข้าเมืองมากขึ้นหรือไม่เพื่อเพิ่มโอกาส lottery ในการได้ทำงานในเมืองมากขึ้น) แต่สาเหตุในภาคปฏิบัติหรือสภาพความเป็นจริงที่ใครสักคนหนึ่งจะลงหลักปักฐานที่ใดที่หนึ่ง ถ้าไม่คำนึงถึงอุดมคติ คงจะมีมากมายหลายพิสัย ความต้องการของครอบครัวที่คุณคนร่วมคิดพูดถึง ว่าตั้งแต่คู่สมรส ความพร้อมสำหรับลูกที่จะเกิด โรงเรียนที่จะไปเรียน ลักษณะงานที่ทำให้มีความสุข

พูดง่ายๆคือคนเราทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหาที่ที่ socio-economic acceptable สำหรับตนเอง ที่จะอยู่ได้โดยไม่คับที่และไม่คับใจ..... ผิดหรือไม่?

scenario ที่รัฐบาลไหนๆจะทำให้พื้นที่ชนบททุกที่มีสภาพ socio-economy ดีได้มาตรฐานเท่ากันหมด (หรือตรงกับ minimal requirement) เห็นได้ชัดว่ายากกว่าการออกกฏหมายให้บัณฑิตแพทย์ต้องลงไปทำงาน ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลาเท่านั้นๆปีแน่นอน ปัญหาคือนี่เป็น solution ระยะสั้นหรือระยะยาว?

ข้อสำคัญคือ resource ในการผลิตแพทย์นั้นมีหลายระดับ หลายแผนก การกำหนดเป้าหมายผลผลิตที่ไม่ได้สมดุลกับต้นทุน ที่สุดก็ต้องมีการตัดทุน หรืออาจจะลงเอยแม้กระทั่งยอม compromise quality ถ้า ratio ของนักศึกษาต่ออาจารย์แพทย์สูงมากขึ้นเรื่อยๆ psychomotor and attitude domain จะถูกกระทบได้ง่ายที่สุด professionalism จะเป็นสิ่งที่เราจะยอม sacrifice หรือต้องมีมาตรการอะไรที่จะป้องกันรักษาหรือไม่?



Posted by : Phoenix , Date : 2004-06-29 , Time : 19:53:07 , From IP : 203.155.183.144

ความคิดเห็นที่ : 10


   การแสวงหาที่ที่ตนเองสามารถอยู่ได้โดยไม่คับที่และใจนั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนต่างต้องการแน่นอนอยู่แล้ว
ซึ่งก็น่าจะเป็นเป้าหมายในการวางแผนการทำให้แพทย์ยินดีที่จะไปทำงานในชนบท
และก็อาจจะเป็นแผนระยะยาวด้วยซ้ำ ตราบใดที่ยังแก้ปัญหาแบบเอาเงินเข้าทุ่ม เพิ่มเงินเดือนแพทย์ในชนบทอยู่เช่นนี้

ส่วนเรื่อง resource ของการผลิตแพทย์นั้น น่าจะเป็นผลมาจากความต้องการผลิตแพทย์เพิ่ม ซึ่งยังงัยเสีย resource อันจำกัดที่เรามีนั้นก็คงไม่สามารถคงไว้ซึ่งมาตรฐานเดิมในการผลิตแพทย์ได้หากไม่มีการเพิ่มเติมตรงส่วนนี้ให้มากขึ้น
แล้วการลดคุณภาพของแพทย์ลงนั้น น่าจะเกิดผลเสียในระยะยาวมากกว่าผลดีระยะสั้นด้วยซ้ำ


Posted by : ArLim , Date : 2004-06-30 , Time : 15:26:55 , From IP : ppp-210.86.223.221.r

ความคิดเห็นที่ : 11


   ผมว่าดีออกทุ่มเงินให้ชนบทน่ะ เพราะว่ายังไงๆ ถ้าให้เงินเยอะจริงๆ ก็น่าจะมีคนไปทำงานล่ะ แต่ปัจจุบันมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างจริงจัง แม้ว่าในทางทฤษฏีเป็นแบบนั้นแต่หมอในเมืองก็มีโอการหาเงินได้อีกหลายๆทาง (ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้วหมอในเมืองกับในชนบท จะได้รับเงินไม่ต่างกันมากหรือเปล่า)

การผลิตแพทย์เพิ่มเพิ่อชาวชนบทน่ะ ถ้าหมดสัญญาใช้ทุนเมื่อไร ก็พร้อมที่จะไปได้ทุกเมื่อและก็หาคนไปแทนยากมาก (ก็เลยต้องผลิตแพทย์เพิ่มทุกปีเพื่อการนี้ล่ะมั๊ง)

ด้วยความรู้อยู่กระจิ๊ดริ๊ด


Posted by : เหอๆๆ , Date : 2004-07-01 , Time : 01:24:24 , From IP : 203.157.14.246

ความคิดเห็นที่ : 12


   คิดในกรอบทุนนิยมและระยะสั้น หากไม่สามารถศึกษาให้ทราบปัจจัยที่แท้จริงที่สามารถดีงดูดให้รักษาให้บุคลากรทำงานในท้องถิ่นได้ การทุ่มเงินลงไปเพื่อซื้อคนมาทำงาน มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ (ในระยะสร้างภาพ) ได้สูงครับ เงินสามารถนำไปแลกซื้อสภาพที่ต้องการของทรัพยากรบุคคลแต่ละท่านได้ในระดับหนึ่ง
.
ปัญหาที่ต้องถามตามมาคือถ้าเราใช้เงินเป็นภาษา เท่าไหร่ และ ถึงเมื่อไหร่ จึงจะพอ หมายถึงเท่าไหร่จึงจะกระชากบุคลากรที่สนใจในทรัพย์มาจากแหล่งทุนอื่น และจะต้องให้กันถึงเมื่อไหร่ หมดเงินเขาก็กลับหรือไม่
.
หากเราคิดจะ spoil รากหญ้าด้วยเงิน เราจะต้องมองต่อไปด้วยว่าในระยะยาว เงินจะทำให้เขาเข้มแข็งขึ้น มีศักยภาพในการพึ่งตนเองและการแข่งขันมากขึ้น หรือในทางตรงกันข้าม ทำให้อ่อนแอและอยู่ในภาวะต้องพึ่งพามากขึ้น
.
นี่เป็นจุดอ่อนในการนำเศรษฐศาสตร์ของเคนมาใช้กับชุมชนที่ไม่พร้อมที่จะบริหารทุน แนวคิดในการอัดทุนสู่รากหญ้าได้ผลในระยะที่สหรัฐอเมริกาก่อร่างสร้างประเทศครับ ทั้งนี้เพราะปัจจัยพื้นฐานคือการศึกษาของประชากรนั้นพร้อม เมื่อเม็ดเงินลงไป มันถูกบริหารให้กลายเป็นการลงทุน และหมุนกลับมาได้ ความเข้มแข็งของหน่วยเศรฐกิจระดับจุลภาคเกิด การเติบโตที่ค่อนข้างยั่งยืนตามมา
.
แต่การสร้าง "มหานคร" ด้วยเงินโดยไม่สนใจที่จะพินิจ "คน" เสียก่อนนี่สิครับ น่าสนใจติดตามผลว่าจะเป็นอย่างไร


Posted by : Shonigega , Date : 2004-07-01 , Time : 08:17:13 , From IP : pedsurg.med.osaka-u.

ความคิดเห็นที่ : 13


   พูดถึงเรื่องการสร้างคน เราอาจจะมองประเทศอย่างเยอรมันนีหรือญี่ปุ่นหลังสงครามโลก ว่าทำไมทั้งๆที่แพ้สงคราม เสียค่าปฏิกรณ์สงครามมหาศาล แต่ในเวลาครึ่งศตวรรษจึงกลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เป็นเพราะมีไอ้มดแดง หรืออุลตร้าแมนรึเปล่า เราจะได้มีหนุมาน ปังปอนด์บ้าง หรือเป็นเพราะมีเบียร์สด ไร้อารมณ์ขันแบบเยอรมัน เราจะได้ขายกระแช่ และลดเฮฮาลงซักนิด serious ขึ้นอีกสักหน่อย จะช่วยหรือไม่?

ปัญหาคือเราไม่ได้มองประเทศที่ใช้เวลาครึ่งศตวรรษในการฟื้นฟูประเทศ แต่ไปดู entrepreneur ของอเมริกันที่รวยลัด รวยเร็ว รวยดัง ดูๆแล้ว attractive กว่าสำหรับผู้บริหารที่มี vision ทำนองนี้

เราเลียนแบบระบบ health for all จากประเทศที่ได้ลองแล้ว ทดลองแล้ว พบปัญหาแล้ว แต่เอามาแค่ภาคปฏิบัติเบื้องต้น ประเทศที่มี GDA มี national resource surplus ไปข้างหน้า 20 ปี ไม่ได้มีหนี้แสนๆล้านอย่างเรา ยังไม่สามารถจะ afford health for all อย่างที่ว่าได้เต็มที่ (ไม่ต้องพูดถึงภาษีที่มากกว่าเรากว่า 100% ถูกนำมาลงทุนใน health and education) Infrastructure นั้นถามคนสร้างบ้านหรือสถาปนิกวิศวกรก็พอจะบอกได้ว่าไอ้เสาเข็ม ฐานบ้าน นั้นสำคัญอย่างไร ถ้าไม่ดีจะมีผลอย่างไร เศรษฐกิจฟองสบู่ที่ได้จากการเป่าเข้าๆนั้น ผลเป็นอย่างไร คนที่รอดชีวิตมาถึงปัจจุบันอาจจะยังพอจำได้ (ผมจำได้ว่าเงินเดือนผมจาก 400 pounds ลดเหลือ 160 pounds ภายในหนึ่งเดือน น้อยกว่า jobless benefit ที่คนตกงานได้รับซะอีก)

สังคมนั้น ถึงแม้จะฟังดูเป็นนามธรรม แต่ผมเชื่อว่ามันต้องการเสาเข็ม รากฐานไม่แพ้กัน แถมอาจจะสำคัญกว่าตรงที่เวลามันพัง เราอาจจะไม่เหลืออะไรที่เป็น recyclable materials มาก่อสร้างใหม่ได้เลย

นึกถึงนิยายสถาบันสถาปนา ของ Isaac Asimov เวลาอาณาจักรล่มนั้นมันแฝงเร้นแต่อาจจะมีผลให้เกิดอนารยธรรมถึง 30000 ปีกว่าจะฟื้นตัวใหม่ ถ้ารีบปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่แข็งแกร่งไว้บ้าง ก็อาจจะย่นเวลาอนารยธรรมนั้นลงเหลือแค่พันปี



Posted by : Phoenix , Date : 2004-07-01 , Time : 09:46:38 , From IP : 172.29.3.106

ความคิดเห็นที่ : 14


   อ่านความคิดเห็นของแต่ละคนแล้วค่อนข้างปวดหัว แบบว่าใช้ศัพท์ยากจัง
เอาเป็นว่าขอบอกความคิดเห็นของหมอที่อยู่ในสามจังหวัดที่ว่าก็แล้วกัน
โดยส่วนตัวแล้วไม่ใช่คนแถวนี้เลย แต่ก็มาทำงานแถวนี้ได้ปีกว่าๆแล้ว มีความสุขดี เพราะงานเรารักษาคน ถ้าไม่มีปัญหาอะไรกับใครก็อยู่ได้ดี ภาษาแรกๆก็เหมือนทำงานต่างประเทศ แต่อยู่นานๆก็พูดคล่องกว่าภาษาอังกฤษซะอีก เงินก็ดี ถ้าชอบshopping ก็ใกล้หาดใหญ่ไปกลับง่ายดี
แต่ปัญหาก็มีนะ เพราะหน่วยงานราชการอื่นไม่แข็งพอ เช่นครูเอะอะอะไรก็ปิดโรงเรียน ถ้าลูกเรียนหนังสือที่นี่ก็คงโง่ตายไม่ทันเด็ในเมืิง อีกอย่างบ้านเมืองก็เงียบคนชอบสีสีนคงอยู่ไม่ได้
สรุปแล้วที่นีเหมาะจะทำงานแต่ไม่เหมาะจะตั้งรกราก เพราะฉะนั้นคนจากที่อื่นมาทำงานที่นี่ พอมีครอบครัวก็มักจะย้าย แม้คนในท้องที่เองก็เหมือนกัน
การแก้ปัญหาจึงควรแก้ในภาพรวมของท้องถิ่นมากกว่า ถ้ายังเป็นปัญหาอย่างนี้ทั้งคนในท้องที่และคนนอกก็คงไม่อยากกลับมาทำงาน


Posted by : หมอบ้านนอก , Date : 2004-07-05 , Time : 10:53:53 , From IP : 203.150.209.231

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.007 seconds. <<<<<