ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

องค์กรมีชีวิต เมื่อใส่ชีวิตในองค์กร โดย อ.หมอสกล สิงหะ


   องค์กรมีชีวิต เมื่อใส่ชีวิตในองค์กร

ประชาคมสงขลานครินทร์ได้มีโอกาสเรียนรู้ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งเมื่อพวกเราได้ไปตั้งโรงพยาบาลสนามท่ามกลางมวลมหาประชาชนในระหว่างวันที่ ๑๓-๑๖ มกราคม ๒๕๕๗ คนที่ไปก็ไม่ได้เคยมีประสบการณ์เรื่อง casualty หรือโรงพยาบาลสนามอะไร อย่างใกล้เคียงที่สุดก็ตอนสุนามิ แต่เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเราอยู่ใกล้จังหวัดกระบี่ เราออกไปยังที่เกิดเหตุด้วยความมั่นใจว่าเราอยู่ใกล้ฐานทัพใหญ่ของเรา เพียบพร้อมด้วยทรัพยากรทุกชนิด แต่ครั้งนี้เราไปด้วยความรู้สึกว่าต้องไป บวกกับความรู้ ทักษะ ความชำนาญในวิชาชีพของเราเท่านั้น

ก่อนหน้านั้น เรามีแนวหน้าคือคุณหมอกีเตอร์ ที่ได้ไปชิมลางการออกสนามเช่นนี้เป็นท่านแรก ซึ่งท่านก็ได้เตรียมตัวพร้อมมาก ไปหาซื้อเสื้อเกราะ (จริงๆ ใช้กันกระสุนได้) จากตลาด (ไม่น่าเชื่อว่าของพรรณนี้วางขายในตลาด!!) หน้ากากกันแก๊สน้ำตา (อันนี้ยากหน่อย แต่ด้วยความมานะ ท่านก็ไปเจอที่ร้านดับเพลิง) พอจะเดินทางไป ปรากฏว่าติดอยู่ที่สนามบิน ปรากฏว่าอุปกรณ์เกียร์ต่างๆของท่านนั้นถูกนิยามเป็นอาวุธ ต้องต่อรองอยู่นาน ถูกไต่สวนว่าจะไปไหน เพื่ออะไร มาจากไหน (หน้าตาท่านออกฝรั่ง มีหนวดเคราครึ้ม ดวงตาอาจจะมุ่งมั่นเกินไปรึเปล่าตอนนั้นก็ไม่ทราบ) ในที่สุดเค้าก็ยอมในท่านขึ้นเครื่องไป และไปรับ "อาวุธ" คืนที่สุวรรณภูมิ

กีเตอร์ไม่รู้จักใครมาก่อนในที่ชุมนุม พอดีเรามีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อนานแล้วกับคนที่เคยไปร่วมชุมนุมตั้งแต่สมัยก่อน พอติดต่อไปในที่สุดก็เลยได้เข้าไปที่เต๊นท์ คปท. อันเป็นเต๊นท์ภาคสนามของแท้ ท่ามกลาง actions ทั้งหมดเลยทีเดียว ได้เจออาจารย์ประจักษ์ที่ประจำอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว ท่านก็ได้ brief ว่ารพ.สนามมีอะไรบ้าง แบ่งส่วนเป็น OPD, Pharmacy, ER, Observe, etc แล้วท่านก็ถามกีเตอร์ว่าอยากจะอยู่ที่ไหน มีสองที่ หนึ่งก็คืออยู่ในหน่วยนี่แหละ (เต๊นท์กลางอยู่ในสนามม้า เป็นสัดส่วน เป็นอาคาร) กับด่านหน้า กีเตอร์ก็เลยแสดง "อาวุธ" ที่เตรียมมาให้ท่านดู อาจารย์ประจักษ์ก็เลยเรียกอีกคนนึงมา บอกว่า "พาหมอแกไปหน้าๆ เอาหน้าสุดเลยนะ" ก็ได้ไปหน้าสุดจริงๆ และได้ใช้หน้ากากสมใจนึก

จากประสบการณ์ในครั้งนั้นกีเตอร์ได้กลับมาที่ ม.อ. และบอกเล่าให้พวกเราฟัง เราก็เกิดความรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะใน casualty นั้น สิ่งที่จำเป็นมากคือ รพ.สนาม ในตอนที่เกิดเหตุอะไรขึ้นมาจริงๆ การจะทำการช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้น (first-aids) นั้นจำเป็นมาก รวมทั้งการ logistic ลำเลียงคนเข้า คนออก และระบบรักษาความปลอดภัยของทีม การวางทางหนีทีไล่อย่างมีแผน มีระบบ การจัดสรรทรัพยากร และจัดตั้งระบบทำงานที่ใช้การได้ และอื่นๆอีกมากมาย

และดังนั้นเอง เมื่ออาจารย์รังสรรค์ และอาจารย์นลินี ได้เดินทางไปร่วมชุมนุมและถูกถามเรื่องโรงพยาบาลสนามว่า เราพอจะช่วยเหลืออะไรได้บ้างไหม รังสรรค์ก็ตอบไปทันทีว่า ม.อ.จะไป (ทั้งๆที่ตอนนั้น ก็ยังไม่ทราบว่าจะได้มาหรือไม่)

โอกาสที่เปิดเข้ามา และเราฉวยเอาไว้นี้สำคัญมาก เพราะเป็นโอกาสในการเรียนรู้ครั้งสำคัญ คงไม่มีสักกี่ครั้งที่เราจะได้ตั้งโรงพยาบาลสนาม และในบริบทจริง มีคนไข้จริง ท่ามกลางสถานการณ์อันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเราไม่เพียงแต่จะไปทำงานเท่านั้น แต่ตั้งใจไปเรียนรู้ด้วย พวกเราจะสามารถนำมาซึ่งบทเรียนอันมีค่ามหาศาล ทีมของเราได้ปรึกษาในขั้นแรกถึง rationale ว่า "ทำไม" เราถึงควรไป ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญมากในการทำงานทุกอย่าง วัตถุประสงค์คืออะไร? หลังจากแลกเปลี่ยน ตกผลึก จากข้อมูลเราพบว่ามวลมหาประชาชนนั้นเป็นคนใต้เยอะมาก สงขลานครินทร์เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ตั้งมาที่สงขลาเพื่อดูแลคนใต้ คนใต้อยู่ที่ไหน เดินทางไปไหน ก็ยังเป็นคนที่เรา commit ว่าเราจะดูแลตามวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการตั้งสถาบัน การไปช่วยออกหน่วยในสถานการณ์จำเป็นแบบนี้ น่าจะสอดคล้องกับตัวตนขององค์กร

เราสำรวจว่าถ้าหากเราไปออกตั้ง รพ.สนาม จะมีผลกระทบอะไรต่อการทำงานที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์หรือไม่ ก็ปรากฏว่าเราสามารถบริหารจัดการได้ จากทรัพยากรบุคคลที่เหลืออยู่ ที่เอื้อเฟื้อผู้ที่จะเดินทางขึ้นมา ทำให้ รพ.ยังคงสามารถทำงาน full capacity ได้ครอบคลุมระยะเวลาที่เราจะเดินทางขึ้นมา คือ ๔ วัน ตั้งแต่ ๑๓-๑๖ มกราคม

เราสำรวจทรัพยากร ที่ต้องใช้ บุคลากร เรามีแพทย์อาสา และพยาบาลอาสาจำนวนหนึ่ง หลังจากที่ clear งาน ฝากงาน เรียบร้อยหมดแล้ว เรามีการจัดตารางเวรการทำงานแทบจะเหมือนกับเวลาที่เราปฏิบัติงานจริงในโรงพยาบาลของเราเลยทีเดียว มีเวรเช้า บ่าย ดึก และตารางเซ็นชื่อชัดเจนสำหรับทุกคน ทุกตำแหน่ง ทรัพยากรยาและเวชภัณฑ์ เราหาเท่าที่จัดสรรได้ จากทุกทางที่หาได้ การบริจาค มูลนิธิฯ เภสัชกรอาสาช่วย pack ของและจัดหมวดหมู่ยา พยาบาลห้องผ่าตัดและวิสัญญีช่วยเตรียม set ที่ใช้การทำแผล หรือช่วยชีพในภาวะฉุกเฉิน

Transportation หรือยานพาหนะเป็นประเด็นสำคัญ เราจะขนคนขึ้นไปได้อย่างไร ปรากฏว่าทันทีที่มีปัญหา วิธีแก้ไขปัญหาก็ตามมา จากความร่วมมือหลายๆภาคส่วน จาก connections ที่ออกไปสู่ภาคประชาชน ในที่สุดเราก็ได้รถมาเพียงพอกับที่เราต้องการ พร้อมกับรถพยาบาลที่มีศักยภาพสูงถึงสองคัน

พร้อมจะออกเดินทาง

LIving Organization (องค์กรมีชีวิต)

โรงพยาบาลที่พวกเราช่วยกันก่อตั้งขึ้นจากโครงเต๊นท์ที่ปทุมวันและราชประสงค์นั้น เป็นการตั้งจากโครงจริงๆ ที่ปทุมวันยังมีข้างของเครื่องใช้ เพราะเขายุบที่ราชดำเนินมา มีโต๊ะ เก้าอี้ เชือกกั้นบริเวณ รั้วเหล็ก ทีมใหญ่เราอยู่ที่นี่ในวันที่ ๑๓ มกราคม เราสามารถ set รพ.สนามเป็นรูปเป็นร่างในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ตั้งแต่การจัดสถานที่ จัดของ และจัดระบบ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ง่ายแบบนี้ที่ราชประสงค์

ในขณะที่ปทุมวันต้องเรียกว่า "หรูมาก" แต่ที่ราชประสงค์นั้นทีมสองที่แยกตัวออกมาจากทีมหลัก เดินจากปทุมวันไปราชเทวี ปรากฏว่าการแหวกฝูงคนไปนั้นใช้เวลาเกือบชั่วโมง!! เราก็เริ่มตระหนักว่าปัญหามี พอไปถึงเต๊นท์ปรากฏว่ามีแต่เต๊นท์จริงๆ และผู้คนจำนวนมากยังนอนกันอยู่ ท่านกลางเสียงลำโพงยักษ์ที่อยู่ใกล้ๆกับเวที เราต้องจัดการไปบอกให้เวทีช่วยจัดการขอร้องคนให้กับพวกเรา ว่าเราจำเป็นต้องใช้เต๊นท์นี้ และปัญหาถัดมาคือ "ไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ ไม่มีเชือก ไม่มีรั้วเหล็ก" ทำให้เราไม่มี perimeter ของการทำงาน ใช้เวลาอยู่พักหนึ่ง สิ่งที่ได้มาก่อนคือเชือก เราก็เอามาสร้างขอบขัณฑสีมาของโรงพยาบาลราชประสงค์ขึ้นสำเร็จ ยังคงไม่มีเก้าอี้ ไม่มีโต๊ะ เราก็สร้างโรงพยาบาลสนาม version ล่าสุดคือ "ทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้น" ไปหาซื้อกระดาษมารองพื้นก่อน ติ๊งต่างเป็นปาเก้ จัดข้างของหยูกยา เรียบเรียงตามหมวดการใช้งาน ส่วนหนึ่งก็ติ๊งต่างเป็นโต๊ะตรวจ โต๊ะซักประวัติ โต๊ะจ่ายยา โต๊ะลงทะเบียน ในที่สุดหลังจาก motto ที่ว่าฉันจะตั้งโรงพยาบาลสนามที่นี่ เราทุกคนก็สามารถตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งที่สองเป็นผลสำเร็จ

สิ่งมีชีวิตนั้นมีลักษณะคือ มีการรับรู้ภายนอก คือมีหู มีตา ประสาทสัมผัส และมีการรับรู้ภายในคือสมองแปลผล คิด ใคร่ครวญ เพื่อออกเป็นการกระทำคือมีแขน ขา ร่างกาย และที่สำคัญที่สุดคือมี "หัวใจ" ที่เป็นสิ่งกำหนด compassion หรือให้ความหมายต่อคนรอบข้าง เกิดความมุ่งมั่น และมานะ ในการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆให้สำเร็จให้ได้ โรงพยาบาลสนามของเราเป็นโมเดลเล็กๆของ living organization ที่ชัดเจน
@ เรามีศูนย์วิทยุสมัครเล่นประจำโรงพยาบาล ซึ่งปรับคลื่นจูนตรงกับศูนย์สำคัญต่างๆของ กปปส. และเครือข่าย ทำให้เราสามารถมี intel หรือข้อมูลข่าวสารที่ขยายพื้นที่ออกไปได้ไกล รวดเร็ว คือมี "หู และมี ตา"
@ เรามี strategist หรือหัวหน้าทีมประจำโรงพยาบาลสนาม ที่คอย make decisions และ collect data และทีมช่วยเหลือที่ active สุดๆ คือมีสมองและไขสันหลัง
@ เรามีแขนขาร่างกายที่เตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี เพราะเป็นมืออาชีพในสาขาที่เราถนัด เรามีตั้งแต่หมอห้องฉุกเฉิน หมอวิสัญญี หมอโรคทรวงอก หมอผ่าตัด (เรามีแม้แต่หมอระยะสุดท้าย แต่โชคดีที่เราไม่ต้องใช้บริการ) เรามีพยาบาลที่มีประสบการณ์รวมกันนับพันปีในการทำงาน!!
@ ข้อสำคัญคือ ทุกๆองคาพยพขององค์กรย่อยเล็กๆนี้ นำมาด้วยหัวใจของตนเองที่เต็มไปด้วย compassion ทุกคนทำงานด้วยความเหน็ดเหนือยเมื่อยล้า แต่ด้วยหัวใจที่ให้ความหมายกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเต็มที่อยู่ตลอดเวลา

ใน LIving organization แบบนี้ เรามี flexibility, agility, adaptability ในการปรับตัวกับสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดตระเตรียมาก่อนสูงมาก และด้วย high spirit งานที่เกิดขึ้น ตรวจคนไข้กับกว่าสามพันราย ที่หลงเหลือในความทรงจำคือ "ชีวิตที่มีความหมาย"

สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
๙ นาฬิกา ๔๖ นาที วันอังคารที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๗
แรม ๖ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง


Posted by : anothai , Date : 2014-01-21 , Time : 10:46:24 , From IP : 172.29.31.196

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<