ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

ด่วน.......ม.อ.เทหมดหน้าตัก ชี้ทางออกประเทศไทย




   .

Posted by : panda , Date : 2013-11-15 , Time : 14:19:29 , From IP : 172.29.10.54

ความคิดเห็นที่ : 1


   มอ.น่าจะใช้ลู่ทางตามกฎหมายดีกว่านะคะ แสดงพลังในเชิงสัญลักษณ์แล้วก็ทำแบบที่เป็นรูปธรรมไปด้วย ตามที่อาจารย์ทางกฎหมายชี้แนะไว้ที่นี่ค่ะ ในนามสถาบันที่มีคนเป็นพันๆกับคนหาดใหญ่อีกมากมายเราน่าจะรวมชื่อได้ถึงสองหมื่นเลยด้วยซ้ำ เอาไปรวมกับคนอื่นๆทั่วประเทศ

ความรับผิดชอบของผู้แทนราษฎรที่จงใจลงมติตรากฎหมายโดยฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
November 13, 2013 at 4:29pm
โดย กิตติศักดิ์ ปรกติ

ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ. ..... ที่วุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบในหลักการเมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ศกนี้ โดยมีเหตุผลสำคัญว่า วุฒิสมาชิกส่วนมากมีความเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ส่งผลให้สภาผู้แทนราษฎรไม่อาจยกร่างพระราชบัญญัตินี้ขึ้นพิจารณาใหม่ได้จนกว่าจะพ้น ๑๘๐ วันนั้น เราควรเข้าใจว่า เมื่อพ้น ๑๘๐ วันแล้ว หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบของทั้งสองสภา และให้ดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๗ ของรัฐธรรมนูญได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาอีก

แต่โดยที่การร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนี้ เป็นร่างกฎหมายที่ผู้เขียนเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายประการ จึงใคร่ขอเสนอความเห็น ๓ ประการ คือ
๑. ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมตราขึ้นโดยขัดต่อกระบวนการตามรัฐธรรมนูญอย่างไร
๒. ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนี้มีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร และ
๓. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายเสียงข้างมากที่ลงมติตราร่างกฎหมายนี้ต้องรับผิดชอบอย่างไร

การลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการตราร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ. .... เป็นการดำเนินการตรากฎหมายโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ

๑. เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกระบวนการที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๑๓๔) โดยจงใจแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเกินกว่าหลักการของร่างกฎหมายที่เดิมมุ่งนิรโทษกรรมจำกัดเฉพาะผู้ชุมนุมทางการเมือง หรือกระทำความผิดทางการเมือง ให้กินความขยายกว้างขวางออกไปจนกลายเป็นการนิรโทษกรรมที่รวมความผิดอื่น ๆ รวมไปถึงฆาตกรรมทางการเมือง ฆ่าตัดตอน ลอบสังหารเพราะข้อขัดแย้งทางการเมือง หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย หรือแบ่งแยกดินแดน ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึง สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

ร่างกฎหมายนี้ ยังขยายความจากร่างเดิมให้รวมไปถึงการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในระยะเวลา ๙ ปีดังกล่าว และถูกกล่าวหาโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ซึ่งหมายถึงบรรดาการกระทำที่ถูกกล่าวหาโดย คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (ค.ต.ส.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมไปถึงการดำเนินการตรวจสอบขององค์กรที่ดำเนินการสืบเนื่องต่อมาดังเช่น สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.) ฯลฯ ในคดีทุจริตต่ออำนาจหน้าที่ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่หากเป็นความผิดก็ให้พ้นความผิดไป

ความผิดทั้งหลายเหล่านี้ ได้แก่บรรดาข้อกล่าวหาทุจริตก่อสร้างสนามบิน ทุจริตซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ทุจริตบ้านเอื้ออาทร ทุจริตซุกหุ้นอื่น ๆ ฯลฯ ที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาไปอีกด้วย

การขยายหลักการเช่นนี้ ขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญเพื่อวางระเบียบแบบแผนการประชุมให้อยู่ในหลักการ โดยห้ามมิให้แก้ไขตัดทอนหรือเพิ่มเติมโดยขัดต่อหลักการของร่างกฎหมายนั้น และย่อมเป็นการกระทำที่จงใจฝ่าฝืนกระบวนการตามมาตรา ๑๓๔ ของรัฐธรรมนูญ

๒. ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนี้ยังมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายประการ กล่าวคือ
ก) การตราร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในลักษณะครอบคลุมอย่างเหวี่ยงแห โดยกำหนดให้ผู้กระทำการอันเป็นความผิดที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง หรือให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่ตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร หรือที่ดำเนินการสืบเนื่องต่อมา พ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ดังนี้ย่อมมีผลทำให้การกระทำความผิดที่ได้รับการนิรโทษกรรมกินความกว้างขวางจนยากจะกำหนดขอบเขตได้

การนิรโทษกรรมโดยตัวของมันเองย่อมขัดต่อหลักความเสมอภาค ตามมาตรา ๓๐ แห่งรัฐธรรมนูญซึ่งวางหลักประกันว่าบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเสมอกัน และการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ กฎหมายนิรโทษกรรมจึงมีได้โดยจำกัด เฉพาะกรณีจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะรักษาหรือผดุงประโยชน์สำคัญของสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลที่ด้อยโอกาส หรือตกอยู่ในภาวะที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมให้ได้รับความเป็นธรรม หรือสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นโดยเสมอภาคเท่านั้น

ในเมื่อการนิรโทษการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือความผิดทุจริตต่อหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาจากองค์กรที่ตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร หรือที่ได้ดำเนินการสืบเนื่องกันมาครั้งนี้ ด้านหนึ่งทำให้ผู้กระทำความผิดพ้นผิด อีกด้านหนึ่งก็ย่อมทำให้เหยื่อหรือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดที่ได้รับการนิรโทษพลอยไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐไปด้วย

ดังเราจะเห็นได้ว่า ถ้าการกระทำที่ได้รับนิรโทษเป็นการกระทำความผิดต่อชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สิน พ้นความผิดไป ดังนี้เหยื่อหรือผู้เสียหายถูกตัดสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมไปโดยปราศจากเหตุผลสมควร

ในอีกทางหนึ่งนั้น การกระทำความผิดฐานเดียวกันที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองหรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือบรรดาการกระทำความผิดอื่นที่ไม่อยู่ในห้วงเวลาที่กำหนด หรือไม่ได้ถูกกล่าวหาจากคณะบุคคล หรือองค์กรที่ตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร หรือที่ได้ดำเนินการสืบเนื่องกันมา ก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมครั้งนี้

และการนิรโทษกรรมย่อมได้ชื่อว่า เป็นการเลือกปฏิบัติต่อการกระทำความผิดที่เหมือนกันให้ได้รับการปฏิบัติต่างกันเพียงเพราะมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรือเพียงเพราะเป็นการกล่าวหาของคณะบุคคลหรือองค์กรที่ตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร หรือที่ดำเนินการสืบเนื่องมา โดยปราศจากการแสดงเหตุผลที่สมควร หรือแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นไปเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลที่ได้รับนิรโทษสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองไว้แต่ประการใด

ข) เป็นที่ยอมรับกันว่า การกระทำความผิดทางการเมืองที่มีลักษณะเป็นเรื่องการเมืองโดยแท้ เช่นการแสดงความเห็นต่างจากผู้ถืออำนาจปกครอง การแสดงอาการกระด้างกระเดื่อง หรือขัดแย้งทางการเมือง อันอาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เช่นการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้มีอำนาจนั้น แม้จะเป็นความผิด หากเห็นได้ว่าไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบสุขของประชาชนอย่างร้ายแรง และการนิรโทษจะเป็นการผดุงหรือก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมยิ่งกว่าการลงโทษการกระทำนั้นแล้ว ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นความผิดที่อาจนิรโทษกรรมกันได้

ความผิดทางการเมืองโดยแท้นี้ ได้แก่ความผิดที่กระทำต่อรัฐโดยตรง หรือความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เช่นความผิดฐานก่อความวุ่นวาย กบฏ หรือยุยงให้ล้มล้างรัฐบาล หรือให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดิน หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเพราะเหตุชักจูงใจทางมโนธรรมสำนึก หรือเหตุความเชื่อทางการเมือง ฯลฯ

การนิรโทษความผิดเหล่านี้ หากฝ่ายบ้านเมืองรักษาความสงบไว้ได้ และเห็นได้ว่าไม่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงหรือความสงบสุขของประชาชนแล้ว หรือจะเป็นการตัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอื่นแล้ว ย่อมนิรโทษกันได้ การนิรโทษกรรมในประวัติศาสตร์ของไทย ส่วนใหญ่มักเป็นไปในแนวนี้ จะมีที่ขัดแย้งกับหลักข้อนี้ก็คือการนิรโทษความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ประทุษร้ายประชาชนในคราว ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕

สำหรับความผิดอาญาโดยแท้ เช่นทำร้ายร่างกาย ฆ่าคนตาย ลักพาตัว มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ใช้เครื่องยิงระเบิด ประทุษร้าย ชิงทรัพย์ ปล้น วางเพลิงเผาทรัพย์ ข่มขืนกระทำชำเรา แม้อาจจะอ้างได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของผู้ก่อความวุ่นวาย ก่อกบฏ ก่อการร้ายหรือเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าเหตุ หรือการประทุษร้ายผู้อื่นตามอำเภอใจหรือโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่เกิดขึ้นในเขต ๔ จังหวัดภาคใต้ หรือการก่ออาชญากรรมในเหตุความไม่สงบในเดือนเมษายนถึง พฤษภาคม ๒๕๕๓ แม้จะมีเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ก็เป็นความผิดที่ไม่อาจจะนิรโทษกันได้

เหตุที่นิรโทษกันไม่ได้ เพราะการนิรโทษผู้กระทำผิด ย่อมเป็นการตัดสิทธิ ตัดความคุ้มครอง หรือรับรองให้การทำละเมิดแก่เหยื่อหรือผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดกลายเป็นพ้นผิด ยิ่งกรณีการกระทำความผิดต่อชีวิต ยิ่งไม่อาจนิรโทษกันได้ เพราะการนิรโทษจะมีได้ก็เฉพาะเพื่อคุ้มครองสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า แต่ในเรื่องชีวิตนั้น จะมีเหตุใดกันเล่าที่จะอ้างได้ว่าเป็นประโยชน์สำคัญยิ่งกว่าการคุ้มครองสิทธิในชีวิต ที่จะอ้างเป็นเหตุยกเว้นหน้าที่ของรัฐในการให้ความคุ้มครองต่อชีวิตของประชาชนได้ ด้วยเหตุนี้การกระทำความผิดอาญาทำนองนี้จึงนิรโทษกันไม่ได้ จะมีได้ก็แต่อภัยโทษ ทุเลาโทษ หรือยกโทษให้เมื่อทำความจริงให้ปรากฏ ยอมรับผิด และมีการเยียวยาเหยื่อหรือผู้เสียหายแล้วเท่านั้น

โดยที่สิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายเป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง และผูกพันองค์กรของรัฐทั้งปวง (มาตรา ๓๒ ประกอบมาตรา ๒๗ มาตรา ๓ และมาตรา ๔) การนิรโทษความผิดอาญาร้ายแรงต่อชีวิตร่างกาย ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเท่ากับการยกเลิกเพิกถอนความคุ้มครองของรัฐต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่วางหลักประกันไว้ในประมวลกฎหมายอาญา

การนิรโทษผู้กระทำความผิดเหล่านี้ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยให้ถือว่าการกระทำผิดต่อชีวิตร่างกายไม่เป็นความผิด จึงย่อมเท่ากับตรากฎหมายริบความคุ้มครองในชีวิตร่างกายของประชาชนและตัดสิทธิของเหยื่ออาชญากรรมในช่วงเวลานั้น ๆ ขัดต่อหน้าที่ของรัฐที่ผูกพันจะต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่กฎหมายรับรองไว้โดยชัดแจ้งตามมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญ และเป็นการตัดสิทธิบรรดาเหยื่อและผู้เสียหายจากการทำความผิดที่ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญวางหลักประกันไว้ในมาตรา ๔๐ อีกด้วย

ค) การนิรโทษความผิดที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึง ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ และถูกกล่าวหาโดยคณะบุคคล หรือโดยองค์กรที่ตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยเฉพาะการกล่าวหาของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (ค.ต.ส.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ช.ป.) ต่อผู้ต้องหาซึ่งก็คือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ร่ำรวยผิดปกติ กระทำทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือมีประโยชน์ได้เสียส่วนตัวขัดกับตำแหน่งหน้าที่ส่วนรวม หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงนั้น ย่อมมีผลเป็นการนิรโทษความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือความผิดต่อการรักษาความไว้วางใจของประชาชนต่อผู้ดำรงตำแหน่งของรัฐ

โดยเฉพาะการตรากฎหมายนิรโทษการกระทำความผิดที่ศาลได้พิพากษาถึงที่สุดโดยชอบแล้ว ให้พ้นจากความผิดและความรับผิด เช่น กรณีร่ำรวยผิดปกติ กรณีกระทำการอันเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จนเป็นเหตุให้ศาลพิพากษายึดทรัพย์เป็นจำนวนเงินหลายหมื่นล้านบาทที่ถึงที่สุดไปแล้ว ย่อมเป็นการตรากฎหมายที่มุ่งโดยตรงต่อการลบล้างความผิดที่ศาลได้พิพากษาโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นอำนาจเฉพาะของศาลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ในมาตรา ๑๙๗ แห่งรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้แสดงให้เห็นเหตุอันชอบธรรมที่มีน้ำหนักเพียงพอ ด้วยเหตุนี้การตรากฎหมายเช่นนั้น จึงเท่ากับเป็นการเพิกถอนอำนาจของศาลในการพิพากษาความผิดที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลา พ.ศ. ๒๕๔๗ – ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญที่รับรองไว้ในมาตรา ๑๙๗ ให้เป็นของศาลโดยเฉพาะ

การนิรโทษความผิดเช่นนั้น ยังเห็นได้ว่าเป็นการกระทำอันขัดต่อหลักนิติธรรมตามมาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญ เพราะหลักนิติธรรมนั้นย่อมเป็นหลักประกันว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งมีความหมายต่อไปว่า กฎหมายต้องไม่ตกอยู่ใต้อำนาจอำเภอใจของใคร และทุกคนย่อมเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย

ผลสำคัญของหลักนิติธรรมก็คือก็คือต้องมีหลักประกันการแบ่งแยกอำนาจ คือประกันว่า ไม่มีใครมีอำนาจได้เด็ดขาด ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลกัน โดยฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจบังคับตามกฎหมาย และไม่มีอำนาจวินิจฉัยคดี ส่วนอำนาจบริหาร ก็มีอำนาจบังคับการตามกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจตรากฎหมาย และไม่มีอำนาจวินิจฉัยคดี และศาลไม่มีอำนาจตรากฎหมาย และบังคับการตามกฎหมาย แต่เป็นผู้มีอำนาจอิสระในการวินิจฉัยคดีตามกฎหมาย

หลักนิติธรรมจึงเน้นหลักที่ว่าศาลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายย่อมเป็นอิสระจากอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ เน้นว่าศาลเท่านั้นที่จะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดว่ากฎหมายมีว่าอย่างไร และการกระทำใดเป็นผิดการใดไม่ผิด รัฐไม่อาจปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด ๆ ได้รับข้อยกเว้นให้ไม่ต้องอยู่ใต้บังคับของกฎหมาย ดังนั้นการตรากฎหมายนิรโทษกรรมที่มุ่งให้ประโยชน์แก่ผู้กระทำความผิด โดยให้ถือว่าพ้นความผิด และความรับผิดจึงย่อมเป็นการตรากฎหมายที่ขัดต่อหลักความรู้ผิดชอบชั่วดี ลบล้างความผิดที่ศาลวินิจฉัยตามกฎหมายแล้วให้พ้นผิด ขัดต่อหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ และร่างกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรมย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

๓. การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายเสียงข้างมาก ร่วมกันลงมติด้วยคะแนน ๓๑๐ เสียง งดออกเสียง ๔ เสียง โดยลงมติกันในเวลา ๐๔.๒๐ นาฬิกา เช้ามืดของวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ โดยไม่ฟังเสียงทัดทานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน และไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านอย่างเต็มที่ และได้กระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกในการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ส่อให้เห็นความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะตราร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยฝ่าฝืนต่อหลักความเป็นอิสระของผู้แทนราษฎร ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยไม่อยู่ในอาณัติ หรือความครอบงำใด ๆ ตามมาตรา ๑๒๒ ของรัฐธรรมนูญ


ทั้งยังเห็นได้ชัดว่า ผู้แทนราษฎรฝ่ายเสียงข้างมาก ได้เพิกเฉยต่อข้อคิดเห็นและเหตุผลของผู้คัดค้าน ทั้งที่ย่อมจะเห็นประจักษ์ด้วยตนเองได้ว่า การเสนอร่างกฎหมายของตนเป็นการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อความผูกพันตามหลักนิติธรรมในมาตรา ๓ ขัดต่อหลักความเสมอภาคในมาตรา ๓๐ และขัดต่อหน้าที่ของรัฐในการให้ความคุ้มครองต่อสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองในมาตรา ๒๗ และ ๓๒ ทั้งยังเป็นการละเมิดหลักอิสระของศาลในมาตรา ๑๙๗ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว


ครั้นปรากฏว่าประชาชนจำนวนมาก แสดงความไม่ไว้วางใจต่อการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายเสียงข้างมาก ด้วยการรวมตัวกันประท้วงร่างกฎหมายนี้ ทั้งในแง่ที่ขัดรัฐธรรมนูญ และในแง่ที่คัดค้านการล้างผิดการคดโกง บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งก่อนนั้นยืนยันว่าจะผลักดันร่างกฎหมายนี้อย่างถึงที่สุด ก็กลับยืนยันว่า ได้ให้สัตยาบันแก่กัน และแถลงต่อประชาชนว่าจะไม่หยิบยกร่างกฎหมายนี้ขึ้นอีกในภายหลัง แต่การแถลงดังกล่าวก็ไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน เพราะขัดกับพฤติการณ์ก่อน ๆ ที่เคยให้คำมั่นสัญญาแล้วกลับคำผิดคำมั่นสัญญา เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา โดยปราศจากเหตุผลแล้วหลายครั้งหลายหน

ด้วยเหตุนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จึงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน และอาจถูกเข้าชื่อกันกล่าวหาต่อวุฒิสภา และนำไปสู่กระบวนการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหล่านั้นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยประชาชนเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า ๒๐,๐๐๐ คน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า ๑๒๕ คน หรือสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า ๓๘ คน เพื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาตามมาตรา ๒๗๑ ประกอบกับมาตรา ๒๗๐ แห่งรัฐธรรมนูญ ให้มีมติถอดถอนบุคคลดังกล่าวออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๕ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ตามมาตรา ๒๗๔ ของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้โดยประธานวุฒิสภา จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทำการไต่สวนโดยเร็ว โดยหากเห็นว่ามีมูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนเป็นที่ยุติ (มาตรา ๒๗๒ ของรัฐธรรมนูญ) แต่ถ้าการกระทำนั้นอาจเป็นการกระทำที่เป็นความผิดอาญาด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะส่งเรื่องต่อไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาตามมาตรา ๒๗๒ ประกอบกับมาตรา ๒๗๕ ของรัฐธรรมนูญต่อไป


Posted by : anothai , Date : 2013-11-17 , Time : 02:34:07 , From IP : 172.29.55.138

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<