ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

พรหมาจารย์ (Mentor)




   พรหมาจารย์ (Mentor)

งานประชุม Asia-Pacific Hospice Conference ครั้งที่ 10 (APHC2013) ที่ Bangkok Convention Center, CentralWorld คราวนี้มีรายการหนึ่งชื่อว่า The Art of Mentoring โดย Dr Rosalie Shaw ที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปฟัง (เป็นโอกาสที่ตั้งใจและจงใจสร้างขึ้น) อยากจะขอนำมา share

"The medicre teacher tells. The good teacher explains. The superior teacher demonstrates. The great teacher inspires."

William Arthur Ward

"ครูธรรมดาแค่บอกชี้ ครูดีๆอธิบาย ครูชั้นสูงสำแดง ครูยิ่งใหญ่บันดาลใจ"

วิลเลียม อาเธอร์ วอร์ด

ทางคณะวิชาการ (scientific committee) ของงานครั้งนี้ เจาะจงหัวข้อ The Art of Mentoring และวิทยากรคือ Dr Rosalie Shaw โดยเฉพาะ เพราะพวกเราหลายคนผ่านการ "mentoring" จากเธอมาทั้งสิ้น และก็ไม่ผิดหวังที่เธอสามารถถ่ายทอดทุกสิ่งทุกอย่างออกมาอย่างทรงพลัง ชัดเจน รวมทั้ง เกิดแรงบันดาลใจ

Dr Rosalie Shaw เป็นชาวออสเตรเลีย แต่ได้เดินทางมาทำงาน Palliative Care ในประเทศสิงคโปร์อยู่เป็นเวลายาวนาน เธอทุ่มเทพลังงานชีวิต (อันมีมากมายเหลือเฟือ) ให้ทั้งบริการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ขับรถพยาบาลไปเยี่ยมบ้านไม่ว่าจะดึกดื่นเพียงไร เป็น Executive Director คนแรกของ Asia-Pacific Hospice Network (APHC) เธอเป็นทั้งผูับริหารและ Ambassador ของ Palliative Care และสามารถจะเรียกได้ว่าเป็น "มารดาของ Palliative Care ในหลายประเทศในพื้นที่ Asia-Pacific" นี้ ล่าสุดเธอได้รับเกียรติ มีชื่อในประวัติศาสตร์ของประเทศออสเตรเลีย ได้ The Medal of the Order of Australia ในปี 2011 สำหรับงาน Palliative Care ที่เธอได้ทุ่มเทให้กับนานาประเทศ http://aphn.org/about-us/history/dr-rosalie-jean-shaw/

สำหรับหัวข้อเรื่อง Mentoring จึงเป็นพื้นที่ที่ Dr Rosalie Shaw คุ้นชิน เพราะนั่นคือสิ่งที่เธอทำมาโดยตลอด เป็น Great teacher ที่ inspire คนจำนวนมาก และผลกระทบเป็นคลื่นแผ่ออกไปเป็นจำนวนที่ไม่สามารถจะคำนวณได้ถูกต้อง หากนึกถึงสถาบันดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในหลายต่อหลายประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ที่มีร่องรอยของ Dr Rosalie Shaw และทีมไปมีส่วนก่อตั้ง ส่งเสริม ให้หยิบยืมพละกำลัง ความรู้ และ compassion ของงานให้ จะเป็นจำนวนนับร้อยล้าน พันล้านชีวิตที่ได้รับส่วนของอานิสงค์นี้

QUALITIES OF THE MENTOR

PASSIONATE ABOUT HIS OR HER CRAFT

ENTHUSIASTIC ABOUT LEARNING

NON_JUDGEMENTAL

PREPARED TO BE VULNERABLE

FLEXIBLE - NOT WANTING TO CREATE A CLONE OF HIM- OR HERSELF


Passionate about his or her craft มีฉันทาคติ สุนทรียะ ในงานของตนเอง

การจะเป็น mentor ได้นั้น คนนั้นจะต้องกำลังทำงานที่ตนเองมีความสุขในการทำ ทำงานที่ทำให้ชีวิตของตนมีความหมาย เพราะว่าสิ่งที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจแก่นักเรียนนั้น ไม่ได้มีเฉพาะแค่ "ผลงาน" ที่เกิดขึ้น หากแต่เป็น "พลังงานและอารมณ์ความรู้สึก" ของคุรุผู้กำลังทำสิ่งนั้นด้วย ที่จะสร้างมิติการรับรู้อีกระดับหนึ่งของงานชิ้นนั้นให้เกิดขึ้นในหัวใจของผู้เรียนได้

Enthusiatic about learning เชื่อและศรัทธาในปรัชญาการเรียนรู้

แต่ทว่ามีเพียงฉันทาคติในงานยังไม่เพียงพอ อาจจะทำให้คนๆนั้นมีความพึงพอใจในงาน หรือในสิ่งที่กำลังทำอยู่จริง แต่สำหรับ mentor การสามารถรับรู้การเรียนรู้ทีเกิดขึ้น จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เป็นสะพานถ่ายทอดอะไรก็ตามที่กำลังหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของคุรุ ไปสู่จิตวิญญาณของบัณฑิต ผู้กำลังเรียน รอบๆข้าง มีความสุขในการเห็น "ประกายตาแห่งความเข้าใจ" เห็นความปิติของผู้ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง และเข้าใจในงานที่คุรุกำลังทำอยู่

NON-JUDGEMENTAL การปล่อยวาง ไม่ด่วนตัดสิน

เนื่องจาก spirit ของการเรียนรู้อยู่ที่ความศรัทธาใน "ความเป็นไปได้" อุปสรรคที่สำคัญที่จะขวางกั้นความเป็นไปได้ก็คือ "การด่วนตัดสิน" หรือ "การจำกัดกรอบ" จากความรู้เก่า ความเชื่อเก่า การแปลผลจากตัวเองเป็นตัวตั้ง สิ่งเหล่านี้จะเป็นกำแพงขวางกั้นแรงบันดาลใจจากคุรุไปสู่นักเรียน นักศึกษา ถ้าหากคุรุรีบด่วนตัดสิน คุรุนั้นก็จะไม่สามารถเอื้อมไปเข้าถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังดวงตาของคนที่กำลังศึกษาร่ำเรียนอยู่ได้อย่างเต็มที่

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ judgemental attitude หรือสภาวะด่วนตัดสินนั้น เป็นอุปสรรคต่อตัวคุรุเองที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะเป็น mentor ได้อย่างไร ถ้าหากตัวเองก็ไม่พร้อมที่จะรับฟังสิ่งใหม่ๆ เหตุผลใหม่ๆ หรือแนวความคิดใหม่ๆได้?

Prepared to be vulnerable ความพร้อมที่จะเปราะบาง

การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเปรียบเสมือนการเดินออกนอก secure zone หรือ safe zone ปกติ พื้นที่คุ้นชินของเรา ไปสู่พื้นที่แห่งความไม่แน่นอน พื้นที่แห่งความไม่มั่นใจ พื้นที่แห่งความไม่รู้ ตอนเด็กๆเรื่องราวเหล่านี้ทำให้เกิดอารมณ์ตื่นเต้น สนใจ สนุก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ถ้าหากความเป็นนักผจญภัยหายไป เราอยากจะอยู่แต่ใน comfort zone ที่ว่านี้เท่านั้น ก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ไปได้อย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างย่ิง มีศาสตร์หลายสาขาวิชา ที่ค่อนข้างจะท้าทายอารมณ์ความรู้สึกของผู้รำเรียน การตระเตรียมในเรื่องนี้จะมีความสำคัญมาก เพราะเรื่องราวบางเรื่องนั้น ไม่มีทางเตรียมตัวล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง หรือแม้กระทั่งไม่มีใครทราบมาก่อนถึงวิธีการที่จะจัดการกับปัญหานั้นๆ คุรุผู้นำสอน จะต้องแสดงถึงทัศนคติแห่งการศิโรราบต่อความไม่รู้ ยินยอมให้ปรากฏการณ์แห่งความจริงใหม่ผุดปรากฏขึ้นโดยปราศจากชุดป้องกัน หรือเกราะกำบังใดๆ

เรื่องนี้จะเพิ่มความสำคัญอย่างยิ่งในกรณีที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องบางอย่างที่เป็นสถานการณ์เฉพาะหน้า ไม่มีทฤษฎีใดๆมารองรับหรือตระเตรียมไปได้หมดทุกประการ ซึ่ง palliative care หรือการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายก็เป็นหนึ่งในสาขาวิชาที่มีลักษณะจำเพาะแบบนี้ เนื่องเพราะจะมีส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรง ลึกซึ้งเกิดขึ้นได้บ่อย คุรุจะต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่าในการเผชิญหน้ากับเรื่องเหล่านี่ เราสามารถเปราะบางได้ ไม่รู้ก็ได้ ไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้องก็ได้ ไม่เหมือนศาสตร์สาขาอื่นๆที่อาจจะพอเตรียมตัวก่อนได้ เมื่อคุรุแสดงทัศนคตินี้ให้ผู้เรียน ก็จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการก้าวกระโดดเรียนรู้สาระบางอย่าง อันเกี่ยวเนื่องกับความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง

Flexible- not wanting to create a clone of him- or herself ความเชื่อในเรื่องการเติบโตที่หลากหลาย เป็นปัจเจกบุคคล

คุรุจะต้องกำจัดหรือดูแลอัตตาของตนเองให้ได้ ศรัทธาในการเติบโตและความเป็นปัจเจกของมนุษย์ ที่สุดแล้ว เราเรียนรู้สิ่งต่างๆโดยการบูรณาการสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวตนปัจจุบัน ซึ่งก็มาจากประสบการณ์ในอดีต แต่ละคนก็จะพกพาประสบการณ์อันหลากหลายไม่เหมือนกันเลย มาถึงจุดที่เป็นปัจจุบัน

การเติบโตของแต่ละคนจะมี destination เป็นของตนเอง และเรื่องนี้ที่เป็นความสวยงามของมนุษย์ ความหลากหลาย ความเป็นตัวของตัวเอง หรือ "ความเป็นไปได้" อันเป็นรากฐานสำคัญของการเกิดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ สิ่งใหม่ๆขึ้นมา ถ้าหากผู้จะสอนมีอัตตาสูง และต้องการจะผลิตสิ่งที่เหมือนตนเองออกมาเท่านั้น ก็จะเกิดอุปสรรคอย่างมากในการผลิบานของดวงวิญญาณมากมายอันมีความรุ่มรวยอย่างที่สุดของความเป็นไปได้

======================================

เมื่อพิจารณาคุณสมบัติทั้งหมดของ mentor แล้ว จะเห็นว่าความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา หรือพรหมวิหาร 4 เป็นคุณสมบัติอันสำคัญของ mentor ร่วมกับอิทธิบาท4 อันมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ผมจึงเห็นควรจะให้ความหมายของคำ mentor ว่าเป็น

"พรหมาจารย์"


Posted by : phoenix , Date : 2013-10-15 , Time : 13:55:20 , From IP : 172.29.17.223

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<