ความคิดเห็นทั้งหมด : 30

ทำไมเราจึงต้องรักชาติด้วย


   เราต่างถูก.....ล้างสมอง......มาแต่เด็กว่าให้รักชาติ

แต่เคยถามกันบ้างไหมว่าทำไมต้องรักชาติด้วย

ความรักชาติมีประโยชน์อย่างไร

นอกจากจะเพิ่มความเห็นแก่ตัว เห็นแก่พวกพ้องของตัว

นี่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษยชาติ ก่อให้เกิดการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ ทำลายความรักที่จะมีต่อเพื่อนมนุษย์โดยไม่จำกัด ก่อให้เกิดการแย่งชิงผลประโยชน์ และสะสมทรัพยากร

ผมไม่แน่ใจว่าความรักชาตินี่เกิดมาแต่เมื่อไร แต่คาดว่าน่าจะเกิดมาจากการแบ่งเผ่าพันธุ์และสีผิวเป็นอันดับแรก ส่วนความรู้สึกเป็นชาตินั้นน่าจะมีมาแต่สมัยศตวรรษที่16ซึ่งบรรดาแว่นแคว้นต่างเริ่มรวมตัวกันและมีรัฐบาลกลางที่มีอำนาจสูงสุด คือ รัฐชาติ หรือ Leviathan ตามความคิดของ Hobb และหลังจากนั้นความรู้สึกรักชาติจึงถูกปลูกฝังให้แก่ประชาชน


Posted by : Immanuel Kant , Date : 2003-04-10 , Time : 13:21:05 , From IP : 172.29.2.155

ความคิดเห็นที่ : 1


   รักชาติ ^_^

Posted by : StiTcH , Date : 2003-04-10 , Time : 14:36:56 , From IP : 172.29.2.110

ความคิดเห็นที่ : 2


   ผมคิดว่ามีการเข้าใจคลาดเคลื่อนสักเล็กน้อยนะครับ "รักชาติ" ไม่ได้หมายความว่าเราต้อง"เกลียดชาติอื่น"

ลองเปลี่ยนคำถามใหม่เป็น "ความรักมีประโยชน์อย่างไร?" และ "ทำไมถึงต้อง"รัก"? จะมองเห็นคำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น มนุษย์เป็นสัตว์สังคม สังคมเริ่มต้นจากครอบครัว เพื่อนบ้าน หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ประเทศ เลยไปอีกนิดก็เป็นมวลมนุษยชาติ และออกไปถึงทุก sentient being และสรรพสิ่ง ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่อง

เราสามารถรักชาติได้โดยไม่ต้องเกลียดชาติอื่น เหมือนกับการที่เราสามารถรักตนเองโดยไม่ต้องเห็นแก่ตัว ฉันใดก็ฉันนั้น





Posted by : Phoenix , Date : 2003-04-10 , Time : 18:15:24 , From IP : 172.29.3.160

ความคิดเห็นที่ : 3


   ด้วยความเคารพครับ อาจารย์Phoenix
กระผมไม่ค่อยจะเข้าใจนักหากจะรักชาติตนเองโดยไม่เกลียดชาติอื่น
เพราะหากไม่เกลียดชาติอื่นแล้วเหตุใดเรายังต้องรักชาติตนเอง
หากเรารักเพื่อนมนุษย์ทุกชาติชั้นวรรณะเท่ากันแล้ว คำว่ารักชาติยังจะมีนัยสำคัญอะไรอยู่อีกเล่า
เราต่างก็ทราบดีถึงความรู้สึกตามความหมายของคำว่ารักชาติ นั่นหมายถึง การรักแต่เฉพาะคนในชาติตนเอง รักษาผลประโยชน์ให้กับคนในชาติ ปกป้องตนเองจากคนนอกชาติ หวงแหนทรัพยากรที่มีในชาติ วางแผนเศรษฐกิจให้ชาติของตนได้ประโยชน์มากที่สุด เวลาเกิดภัยพิบัติก็ให้ชาติตนเองรอดไว้ก่อนส่วนชาติอื่นไว้คิดทีหลัง ฯลฯ
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราได้อะไรบ้างจากการเป็นชาติ นอกจากการต่อสู้แย่งชิง สงคราม การฉกฉวยผลประโยชน์ การบาดเจ็บล้มตายของผู้บริสุทธิ์ แน่นอนว่าระหว่างบุคคลนั้นอยู่ภายใต้กฎหมายที่มีเสถียรภาพพอสมควร แต่กับระหว่างรัฐชาตินี่เรายังไม่อาจหาระเบียบอะไรที่แน่นอนและมีเสถียรภาพได้
คำถามที่ผมจะมีต่อไปนั่นคือ เราควรมีกองทัพหรือไม่ แน่นอนว่าหากมีรัฐชาติก็ย่อมต้องมีกองทัพ กองทัพนี่เองเป็นผลิตผลจากความไม่ไว้ใจกันของมนุษยชาติ เวลามีสงครามเกิดขึ้นรัฐบาลย่อมจะยกความรักชาตินี่เองเพื่อหลอกให้ทหารไปฆ่าฟันกัน
มีคำถามที่แฝงอยู่ว่า เมื่อผู้อื่นสร้างกองทัพ เราต้องสร้างกองทัพตามด้วยหรือ เมื่อผู้อื่นมาแย่งของๆเราและฆ่าคนของเรา แล้วเราต้องไปร่วมฆ่าฟันกับเขาด้วยหรือ การฆ่าผู้อื่นด้วยเหตุผลว่าป้องกันตัวนี่เป็นสิ่งสมควรแล้วหรือ
กระผมยกย่อง คานธี เป็นอย่างมากที่ท่านประกาศเอกราช สร้างความชอบธรรมขึ้นได้โดยไม่ไปฆ่าฟันกับใคร นี่แหละจะเป็นการรักเพื่อนมนุษย์ที่แท้จริง ไม่ใช่แบบ"รักก็ต่อเมื่อคุณดีกับผม หากคุณร้ายกับผม ผมมีสิทธิฆ่าคุณได้"
.............
ทั้งหมดนี้ก็เช่นเดียวกับ "หากไม่เห็นแก่ตัวแล้ว ทำไมยังต้องรักตนเอง" "เมื่อไม่คิดถึงตนเองแล้ว ความรักตนเองก็จะไม่ใช่สิ่งที่มีจริง"
ผมสงสัยเหมือนกันว่าศาสนาเคยสอนให้เรารักตัวเองเมื่อไหร่กัน นอกจากสอนให้ทำความดีเพื่อความดี หน้าที่เพื่อหน้าที่ ชีวิตนี้เพื่อพระผู้เป็นเจ้า ร่างกายจิตใจนี้เป็นของพระผู้เป็นเจ้า จุดหมายของชีวิตอยู่ที่พ้นจากตัวตน.
ที่ผมได้ยินก็มีแต่จิตวิทยาตะวันตกนี่แหละ ที่สอนให้รักตนเอง ผมอยากให้ระวังไว้ให้ดี คำสอนแบบนี้ที่จะเป็นภัยต่อมนุษยชาติ ซึ่งผมศึกษามาพอสมควรแล้ว ระบบจิตวิทยาตะวันตกนี้ตั้งฐานอยู่บนความเชื่ออัตตนิยม(egoism) คือเชื่อว่ามนุษย์พ้นจากความเห็นแก่ตัวไปไม่ได้.


Posted by : Immanuel Kant , Date : 2003-04-10 , Time : 21:51:13 , From IP : 172.29.2.154

ความคิดเห็นที่ : 4


   ผมว่าคุณ Immanuel Kant มีความคิดที่ดีครับ

พระเยซูเคยสอนเอาไว้ว่า จงรักศัตรูของท่าน



Posted by : 000 , Date : 2003-04-10 , Time : 22:09:12 , From IP : 172.29.2.178

ความคิดเห็นที่ : 5


   มีหลายประเด็นที่ต้องอภิปรายกันนะครับ ขอว่าตามลำดับใจผม ไม่เรียงตามที่ได้ยกขึ้นมานะครับ

ที่ผมได้ยินก็มีแต่จิตวิทยาตะวันตกนี่แหละ ที่สอนให้รักตนเอง
ผมอยากให้ระวังไว้ให้ดี คำสอนแบบนี้ที่จะเป็นภัยต่อมนุษยชาติ
ซึ่งผมศึกษามาพอสมควรแล้ว ระบบจิตวิทยาตะวันตกนี้ตั้งฐานอยู่บน
ความเชื่ออัตตนิยม(egoism) คือเชื่อว่ามนุษย์พ้นจากความเห็นแก่ตัวไปไม่ได้.


ถ้าเป็นไปได้ผมขอ reference หรือแค่ specific frame หรือ ideology ของใคร (ศาสดาหรือนักคิดคนไหน) ที่กำลังพูดถึงนะครับ หลักปรัชญาตะวันตกหากเราจะพูดถึงที่มีอิทธิพลกว้างขวาง อาทิเช่น Christianity ไม่ได้เน้นที่มนุษย์ต้องเห็นแก่ตัว อย่างที่ว่า ไม่ว่าจะเป็น Protestant, Roman Catholic หรือ lineages อื่นๆ หรือคณ immanuel กำลังหมายถึงลัทธิใดลัทธิหนึ่งที่คิดว่ากำลัง dominate western world อยู่ในขณะนี้ ช่วยกรุณาขยายความอีกสักนิดจะได้ไหมครับ?

เพราะหากไม่เกลียดชาติอื่นแล้วเหตุใดเรายังต้องรักชาติตนเอง
หากเรารักเพื่อนมนุษย์ทุกชาติชั้นวรรณะเท่ากันแล้ว
คำว่ารักชาติยังจะมีนัยสำคัญอะไรอยู่อีกเล่า


หากเราไม่เกลียดเขมร เหตุใดต้องรักชาติไทย
หากเราไม่เกลียดคนพัทลุง เหตุใดต้องรักคนสงขลา
หากเราไม่เกลียดคนสงขลา เหตุใดต้องรักคนหาดใหญ่
หากเราไม่เกลียดเพื่อนบ้าน เหตุใดต้องรักครอบครัว
หากเราไม่เกลียดผู้อื่น เหตุใดต้องรักตนเอง
จริงหรือ????
เรารักตนเอง ตนเองมีความสุขเมื่อครอบครัวเรามีความสุข ความรักเราเอื่อเฟื้อถึงครอบครัว
เรารักครอบครัวเรา หากเพื่อนบ้านเรามีทุกข์ เดือดร้อน คิดหรือว่าครอบครัวเราจะเป็นสุขได้โดยบ้านรอบข้างมีทุกข์หมด? ความรักเราเผื่อแผ่ถึงบ้านรอบข้าง เขามีความสุข ครอบครัวเรามีความสุข เรามีความสุข
เรารักเพื่อนบ้าน แต่หมู่บ้านอื่นลุกเป็นไฟ เดือดร้อน ยากไร้ ไม่มีกิน ถ้าเราไม่ช่วย ถ้าเรา ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คิดหรือว่าหมู่บ้านเราจะมีความสุขต่อไปได้เพียงงหมู่บ้านเดียว? เราเอื้อเฟื้อความรักถึงทั้งจังหวัด เขามีความสุข หมู่บ้านเรามีความสุข ครอบครัวเรามีความสุข เรามีความสุข
จังหวัดเรามีสุข มั่งคั่งร่ำรวย แต่ทั่วประเทศมีปัญหา คิดหรือว่าเราจะคงมีความสุขได้ เราจึงต้องมีหน้าที่ช่วยกัน รักชาติ ชาติมีสุข ทุกจังหวัดมีสุข หมู่บ้านเรามีสุข ครอบครัวเรามีสุข เรามีสุข
ชาติเรามีสุข เพื่อนบ้านรอบข้างลุกเป็นไฟ เกิดสงครามในพม่า ลาว เขมร มาเลเซีย คิดหรือว่าชาติเราจะพ้นภัยได้อีกนาน?

ฉะนั้นแล้วจะรักตนเอง รักครอบครัว ให้ถึงที่สุดและถาวรนั้น ไม่ใช่ รักโดยเห็นแก่ตัว นั่นเป็นการมองการณ์สั้น จะได้แต่ความสุขปลอมๆระยะสั้นๆ หากโลกยังมีสงคราม ถึงแม้จะคนละซีกโลก คิดหรือว่าเราจะไม่โดนกระทบ? คิดหรือว่าที่มีสงครามในตะวันออกกลางจะไม่ได้ทำให้ความเป็นอยู่เราเดือดร้อน? คิดหรือว่าหากอเมริกาถูกระเบิดลง เราจะคงมีความสุขได้? ความรักที่แท้นั้น จำเป็นต้องขยาย ไม่ใช่จำกัด จึงจะเป็นความรักที่แท้จริง เรารักคนอิรัก คนมุสลิม คนคริสเตียน ที่แท้แล้วเราก็กำลังรักตนเองด้วย รักชาติไทยด้วย

ที่เกิดสงคราม ที่ทะเลาะกันนั้น ไม่ได้เกิดจากการรักตนเอง รักชาติเลย แต่เป็นอวิชชา หลงผิดความหมายของความรัก และไม่เข้าใจว่ารักจริงๆนั้น ต้องทำอย่างไร แบ่งเขาแบ่งเรา ไม่ใช่ความรัก แต่เป็นเมล็ดเพาะพันธุ์ของความเกลียด หากเรารักลูกรักเมียรักครอบครัว เราต้องไม่ปลูกฝังให้เขาเหล่านั้นเกลียดใครหรือถูกใครเกลียด ใช่ไหมครับ?



Posted by : Phoenix , Date : 2003-04-10 , Time : 22:52:43 , From IP : 172.29.3.206

ความคิดเห็นที่ : 6


   ด้วยความเคารพครับ อาจารย์Phoenix
ขออภัยครับที่ผมไม่อาจอ้างอิงรายละเอียดได้ไม่มากนัก แต่ผมเชื่อแน่ว่าหากไปเปิดตำราจิตวิทยาหรือพฤติกรรมศาสตร์ดู ตั้งแต่ซิกมันด์ ฟรอยด์ ,มาสโลว์ ไปเรื่อยๆนั่นแหละ คุณจะไม่พบเลยว่ามีการเอามนุษย์ที่ไม่เห็นแก่ตัวมาเป็นมาตรฐานสำหรับชี้วัดมนุษย์ทั้งหมด ทฤษฎีทั้งหลายนั้นไม่พ้นจากตัวตนไปได้ โดยเฉพาะฟรอยด์ ที่ทางจริยศาสตร์จัดประเภทไว้เลยว่าเป็นนักปรัชญาฝ่ายอัตตนิยม แม้แต่ไอ้หนังสือประโลมโลกที่เขียนโดยจิตแพทย์บางคน เห็นวางขายอยู่ตามแผงหนังสือนั้นชัดเจนตั้งแต่หน้าปกเลยว่าเห็นแก่ตัว(ทำให้ตัวเองเก่ง ตัวเองมีสุข ตัวเองน่ารัก ตัวเองมีเกียรติ)
.....................
หากเรารักทุกคนเท่ากันแล้วทำไมยังต้องบอกอีกว่า รักชาติไหน จังหวัดไหน อำเภอไหน รักใคร นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวกูของกู
......................
ที่อาจารย์อุตส่าห์ยกเหตุการณ์ยาวยืดมาอธิบายว่ารักผู้อื่นในที่สุดก็คือรักตนเองนั้น นั่นแหละที่เรียกว่าเห็นแก่ตัว
ข้อนี้ผมอธิบายได้ เพราะตรงกับแนวคิดทางจริยศาสตร์ฝ่ายหนึ่งพอดี
ลัทธิสุขนิยมHedonismมีแนวคิดว่าการทำความดีนั้นคือสิ่งที่ก่อให้เกิดความสุข การทำชั่วก่อให้เกิดความทุกข์ มนุษย์นั้นต้องการความสุขและหลีกหนีความทุกข์ เกณฑ์การตัดสินดีชั่วนั้นไม่มีอยู่จริง(ขึ้นกับผู้ตัดสินแต่ละคน) ลัทธิสุขนิยมนี้ถือว่ามีฐานอยู่บนความคิดอัตตนิยมด้วย
โดยเฉพาะ จอห์น สจ๊วต มิลล์ ที่ให้ความเห็นว่ามนุษย์นั้นทำความดีเพื่อความสุขของตนเอง การช่วยเหลือผู้อื่นนั้นเป็นเพียงการหวังผลกำไรในอนาคต ที่ว่าทำเพื่อสังคมนั้นคือทำเพื่อตนเองเพราะท้ายที่สุดผลดีจะตกอยู่กับตนเอง............
แนวความคิดนี้ตรงกับความคิดคุณหรือเปล่าครับ
...........................
แต่ยังมีปรัชญาอีกฝ่ายที่ตรงกันข้ามกัน (เช่น ทัศนะของค้านท์) คือถือว่ามนุษย์พ้นความเห็นแก่ตัวได้ duty for duty sake คือทำความดีเพื่อตัวความดีเองไม่ได้มีการหวังว่าผลความดีนั้นจะเกิดกับใครหรือกัยอะไร
เช่นนี้เป็นต้น


Posted by : Immanuel Kant , Date : 2003-04-10 , Time : 23:40:48 , From IP : 172.29.2.170

ความคิดเห็นที่ : 7


   คำถาม classic, "ความต้องการพ้นทุกข์ เป็นความเห็นแก่ตัวหรือไม่?"

รัก ที่ผมพูดถึงนั้น คือ compassion ในความหมายเดียวกันหลายๆแก่นศาสนาหลักของโลก

ซิกมันด์ ฟรอยด์ ไม่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมคนครับ แกเป็น psychoanalyst ที่ เคย ดัง เพราะว่าแกเขียน "ทฤษฎี" พยายามที่จะอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ในยุคต้นๆ เป็นแค่ "ความพยายามอธิบาย" แต่ไม่ได้ guide ว่าคนพึงมีพฤติกรรมอย่างไร ตำราจิตวิทยาหรือพฤติกรรมศาสตร์เช่นเดียวกัน เป็น "ความพยายามอธิบาย" แต่ไม่สามารถ "ชี้นำ" มีทฤษฎีต่างๆมากมายๆที่ขัดแย้งกันต่อกัน แต่ผมคิดว่าพอจะปลอดภัยที่จะพูดว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกชี้นำโดยทฤษฎีต่างๆเหล่านี้ ทว่าทฤษฎีเหล่านี้ต่างหากที่ถูกชี้นำโดยพฤติกรรมมนุษย์ ทฤษฎีซิกมันด์ ฟรอยดในปัจจุบันนั้นไม่ได้มีนำหนักมากมายอะไรแล้วครับ (ข้อมูลจากเพื่อนผม ปริญญาเอกจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน) พวกทฤษฎีเหล่านี้บอกว่าอะไรเป็นมาตรฐานของอะไร ให้เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งเอาไว้ก่อน อีกประการเท่าที่ผมรู้จักฝรั่งมา พวกนี้ไม่ได้อ่านจิตวิเคราะห์มาก่อนจะมีพฤติกรรมหรอกนะครับ

มีหลักปรัชญาอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ได้แก่หลักศาสนาและการเมือง ซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีพฤติกรรม (อ้อ....ผมค่อนข้างสับสนเล็กน้อยเวลาคุณใช้คำ "จริยศาสตร์" กับลัทธิ "Hedonism" หรือ "สุขนิยม" ผมไม่ค่อยคุ้นกับสมาชิก hedonist จะ associate ตัวเองกับหลักจริยธรรมใดๆบนโลกนี้เท่าไรนัก ไม่แน่ใจว่าเราพูดถึง hedonism อันเดียวกันหรือเปล่า?) ผมรู้สึกผิดพอสมควรที่สมการความรักของผมทำให้คุณสรุปว่ากำลังพูดถึง hedonism เพราะจริงๆแล้วพื้นฐานผมมาทาง Theravada และปรุงแต่งเติบโตโดย mahayana ศาสนาปรัชญาและการเมืองนั้นเป็นศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์มาตั้งแต่ประวัติศาสตร์เริ่มต้น หากเราจะพิจารณาดูข้อชี้ร่วมแล้วก็จะพบอีกว่าหลักปรัชญาศาสนาเหล่านี้มีไว้เพื่อสานทอความมั่นคงของ "กลุ่มคน" โสตหนึ่ง กับอีกโสตหนึ่งคือเป็นการพยายาม"อธิบาย"ปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น คนมาจากไหน อะไรคือวัตถุประสงค์ของคนเป็นต้น ผมยังอยากจะคิดว่าทุกๆศาสนาโดยแก่นแล้วสอนให้คนเป็นคนดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกัน จะมีก็ extremist ที่จับเอา fragments ของคำสอนบ้าง การตีความของภาษาที่เก่าแก่เป็นพันๆปีโดยใช้ประสบการณ์ปัจจุบันบ้าง ที่ทำให้เกิดโกลาหล กลียุคอยู่ในขณะนี้

ความสุขที่ผมพูดถึงนั้นเป็น "ความสงบสุข"ครับ พุทธศาสนานั้นสอนให้เราพัฒนา moral excellence ก่อนเป็นอันดับแรกๆ เริ่มจากกาย วาจา แล้วก็ใจ ที่ว่าสุขทุกข์ชั่วดีเป็นสิ่งเปรียบเทียบนั้นก็จริงอยู่แต่ว่าเราก็จะต้องมองให้ "เห็น" อย่างแท้จริงว่าอะไรเป็นอะไร

ผมก็ยังมีความเห็นเหมือนเดิมว่า เราสามารถรักชาติได้ และก็รักต่างชาติได้ ในเวลาเดียวกัน คุณลองก้าวเดินออกไปนอกสักสองสามร้อยไมล์แล้วมองกลับมา หากเราพูดว่า "เรารักมนุษยชาติ" เป็นไปได้ไหมที่เราจะ "ไม่รักชาติไทย?" หากเราบอกว่า "เรารักโลกใบนี้" เป็นไปได้ไหมที่เราจะ "ไม่รักชาติไทย"

ผลจากกรรมที่เราก่อนั้น ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีอย่างไรจะต้องตกแก่ตัวเราเองอย่างแน่นอนครับ กรรมและวิบากกรรม เป็น common theme ของพุทธศาสนาที่ทั่งโลกร้เป็นอย่างดี ไม่เกี่ยวกับว่าเราจะทำ "เพื่อ" ให้ตกกับเราหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับ "ความต้องการ" ว่าจะให้ตกกับใคร แต่ผลแห่งกรรมนั้น ย้อนมาหาเราเสมอ



Posted by : Phoenix , Date : 2003-04-11 , Time : 01:18:52 , From IP : 172.29.3.206

ความคิดเห็นที่ : 8


   จากชื่อ handle ของคุณ ผมคาดว่าคงจะคุ้นเคยกับ The Foundations of the Metaphysics of Morals (1785) และ The Critique of Practical Reason (1787) เป็นอย่างดีแล้วนะครับ เราลองมาแทนค่าในบาง axiom ที่ Kant เขียนไว้ใน DUTY maxim ดูดีไหมครับ?

"Act only according to that maxim by which you can at the same time will that it should become a universal law." (Ibid., 422)
"Act as though the maxim of your action were by your will to become a universal law of nature." (Ibid)
Act so that you treat humanity, whether in your own person or in that of another, always as an end and never as a means only." (Ibid., 429)

ลองแทนค่า ACT ด้วย "รักชาติ" ดู แล้ว test ว่ายัง applied เป็น universality ได้หรือไม่ ใจผมว่ามันได้แนบเนียนดีนะครับ หรือผมเข้าใจผิด?



Posted by : Phoenix , Date : 2003-04-11 , Time : 01:51:29 , From IP : 172.29.3.206

ความคิดเห็นที่ : 9


   เรียนคุณImmanuel Kant และอาจารย์ Phoenix ที่เคารพ

กระผมมีความเข้าใจส่วนตนเกี่ยวกับความจำเป็นในการรักชาติซึ่งจะขออนุญาตสนทนาดังนี้ครับ ความจริงหลักที่กระผมขออ้างขึ้นเป็นอันดับแรกคือ โฮโมเซเปียนซึ่งมีชื่อว่ามนุษย์เหมือนกันนั้น ยังมีความต่างกันหลากหลายในเชิงทางชีวภาพและวัฒนธรรม (biological and cultural diversity) ประการที่สองคือมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ประการที่สามคือการรวมกลุ่มทางสังคมในระดับเล็กไปหาใหญ่ มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขเมื่อความแตกต่างที่ว่านั้นน้อยไปหามาก (ในนิยามทางรัฐศาสตร์ ชาติเป็นการรวมกลุ่มในระดับซึ่งมีองค์ประกอบร่วมสี่ประการสำคัญคือพลเมืองอาณาเขต รัฐ และอธิปไตย)
สิ่งที่เป็นธรรมลักษณ์ของการมีลักษณะร่วมหรืออัตลักษณ์ในสังคมระดับต่าง ๆ คือความเชื่อและศรัทธาในอัตลักษณ์นั้น เช่นอเมริกันเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ชาติอาหรับมีความเชื่อร่วมกันทางศาสนา หรือคนไทยอย่างเรามีความสุขร่วมกันด้วยอาหารไทยและภาษาไทยเป็นต้น
ผมเชื่อว่าอัตลักษณ์นี้เองนำมาซึ่งอัตตา และเมื่อเกิดอัตตาสิ่งที่เกิดกับชาติเป็นธรรมดาก็เป็นเช่นเดียวกับที่เกิดกับปัจเจก คือตัณหาในระดับของชาติ
ครั้งหนึ่งลัทธินาซีในเยอรมันเคยมีอัตตาในเผ่าพันธ์ของตนมากขนาดต้องล้างเผ่าพันธุ์อื่น อเมริกากำลังหลงในระบบเศรษฐกิจเสรีของตนขนาดต้องการเปลี่ยนโลกให้มาใช้กติกาเดียวกับที่เขาถนัด สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมปิดโดยทางกายภาพและวัฒนธรรม ยากที่คนไม่ใช่สายเลือดจะได้รับการยอมรับในสังคมของเขา
สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติของอัตตา เป็นตัณหาระดับชาติ และนำมาซึ่งปัญหาระหว่างชาติอย่างที่คุณมองเห็น และมันก็คงเหมือนอัตตาและตัณหาในระดับของปุถุชน เรารู้อยู่ แต่ก็อดไม่ได้ เราถูกสอนให้รักคนอื่น แต่ก็ยังรักตัวเองมากกว่า เรารู้ว่าเพียงละความถือมั่น ปัญหาไม่มีโอกาสผุดเกิด แต่จะมีมนุษย์เผ่าพันธุ์ไหนหาญขนาดนั้นหรือ และแม้จะลืมคำว่าชาติเสียสิ้น ความต่างความเหมือนซึ่งทำให้เกิดกลุ่มสังคมในระดับต่าง ๆ ก็ยังอยู่ ไม่เรียกว่าชาติก็ยังมีชาติโดยธรรมชาติ โลกพระศรีอารย์หรือโลกในจินตนาการของคุณจอห์น เลนอนมันก็เลยอยู่ในจินตนาการ ตราบเท่าที่เรามีความหลากหลาย และเงื่อนไขซึ่งนำไปสู่การจัดระเบียบ
พูดถึงเรื่องรักชาติ ผมนึกเลยไปถึงชาตินิยมใหม่ (modern nationalism) ที่เกิดหลังสงครามเย็น ผมเชื่อว่านี่เป็นกลไกป้องกันระดับชาติครับ ด้วยความจริงหลักที่อ้างแต่แรก มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและมี security ภายใต้สังคม ชาติตั้งอยู่ได้ด้วยเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่เหมือนสำหรับชาติตนและต่างจากชาติอื่น เมื่อมีการรุกรานทางชาติอื่น ไม่ว่าจะด้วยอาวุธ การชวนเชื่อหรือการข่มเหงกดดันผ่านองค์การระหว่างประเทศ การที่จะคงความมั่นคงอยู่ได้ จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องถือมั่นและชูอัตลักษณ์ของตนคล้ายเป็นปฏิกิริยาต้านการเปลี่ยนแปลง
ผมมิได้ตีประเด็นคำว่าความรักมากนักเนื่องเพราะรู้ดีว่าไม่เคยถ่องแท้ ทั้งหมดที่กล่าว ผมต้องการจะบอกว่า การเกิดชาติเป็นธรรมชาติและความจำเป็นทั้งทางชีวภาพและสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ เมื่อได้รับการยังประโยชน์จากชาติ การรัก-ษาชาติจึงจำเป็นเช่นการรักษาตน


Posted by : พี่ว่าว , Date : 2003-04-11 , Time : 08:06:09 , From IP : ppp-203.118.65.86.re

ความคิดเห็นที่ : 10


   เป็นที่ยอมรับว่า blind love นั้นนำไปสู่ทุกข์ ซึ่ง axiom อันนี้สามารถใช้ได้ตั้งแต่ puppy love จนไปถึง รักชาติเช่นกัน

Concept ของ utilitarianism หรืออีกกลุ่มที่ว่า The end justifies the mean นั้นอาจจะกำลังมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง capitalism โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนิยามของ "ความสุข" ติดอยู่แค่ระดับ materials แล้วจะเป็น slipppery slope ที่ผู้ก้าวเดินตรงขอบจะต้องระมัดระวังตัวให้ดี การรักเพื่อนบ้านนั้น ดังที่ผมบอกแล้วไม่ได้ทำให้ประโยชน์ของชาติเราลดลง แต่เรา "สามารถ" จะทำให้เป็น synergistic กันได้ ที่น่าผิดหวังคือได้มีการใช้ negative campaign ในการปลุกระดมให้มีความรักชาติ เป็นแนวความคิดที่ตื้น และสายตาสั้นอย่างน่าเสียดาย เราไม่สามารถจะปลูกดอกรักจากความเกลียด ดอกรักและผลจะงอกงามจาก "การให้" เมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดนั้นงอกงามเร็วดั่งหญ้าแพรกวัชพืช แต่สนามหญ้าเราที่เต็มไปด้วยหญ้าเหล่านี้ไม่ได้สวยงามเลยถึงแม้อาจจะดูดี (ถ้ามองลงมาจากเครื่องบิน) จริงๆแล้วพืชพันธุ์ที่เจริญอยู่ท่ามกลางหญ้าแพรกวัชพืชนี้ที่จะแคระแกร็นและถูกสูบสารอาหารไปหมดในที่สุด

ลองช่วยกันคิดหา positive campaign ในการทำให้คนรักชาติดูทีรึ? เอาแบบที่รักเรา รักเขาด้วยก็ได้ รักชาติและรักเพื่อนมนุษย์เพื่อนบ้านก็ได้ด้วย ให้มันรู้ไปว่าเป็นไปไม่ได้



Posted by : Phoenix , Date : 2003-04-11 , Time : 10:01:59 , From IP : 172.29.3.160

ความคิดเห็นที่ : 11


    ผมขออนุญาติแสดงความเห็นครับ ผมชักสับสนว่าการที่เรารักชาตินั้นจำเป็นต้องเกลียดชาติอื่นด้วยหรือครับ ผมคิดว่าความรักชาติทำให้คนเรามีจุดร่วมกันอยู่สิ่งหนึ่งเพื่อจะเป็นสิ่งผลักดันให้คนในชาติรวมใจกันทำสิ่งต่างๆเพื่อชาติ (ในปัจจุบันผมไม่แน่ใจว่าความคิดนี้ยังถูกหรือไม่) ผมไม่คิดว่าการที่เรารักชาติแล้วต้องเกลียดชาติอื่นครับ ผมคิดว่าชาติเราก็เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรใหญ่อีกองค์กรหนึ่ง ดังนั้น ชาติอื่นก็เป็นองค์กรที่อยู่ในระดับเดียวกับเรา ถ้าทุกชาติหรือองค์กรมีการพัฒนาไปด้วยกันอย่างมั่นคง แล้วลองคิดดูว่าจะเป็นอย่างไร

Posted by : free bird , Date : 2003-04-11 , Time : 10:35:52 , From IP : 172.29.1.195

ความคิดเห็นที่ : 12


   เรียนท่านทั้งหลาย ผมขอสรุปให้เข้าใจง่ายดังนี้
ที่เถียงกันมาทั้งหมดนั้นประเด็นอยู่ที่ว่า หากเรารักคนทั้งโลกก็เท่ากับเรารักชาติตนเองด้วย นี่ถือเป็นความกำกวมของภาษา แต่ความรักชาติตามความหมายทั่วไปที่ผมต้องการสื่อถึงนั้นหมายถึง"การรักแต่เฉพาะคนในชาติตนเอง รักษาผลประโยชน์ให้กับคนในชาติ ปกป้องตนเองจากคนนอกชาติ หวงแหนทรัพยากรที่มีในชาติ วางแผนเศรษฐกิจให้ชาติของตนได้ประโยชน์มากที่สุด เวลาเกิดภัยพิบัติก็ให้ชาติตนเองรอดไว้ก่อนส่วนชาติอื่นไว้คิดทีหลัง ฯลฯ "
หากเราจะกล่าวว่า"เรารักเพื่อนมนุษย์เท่ากันทุกชาติชั้นวรรณะ" หรือ "เรารักชาติของเรามากเท่ากับรักชาติอื่นๆ"นั้น
หากเป็นจริงตามคำกล่าว ย่อมหมายถึงจะต้องเกิดการปฎิบัติดังต่อไปนี้ขึ้นด้วย
1.ต้องมีการยกเลิกกำลังทหารทั้งหมด ทำลายอาวุธทั้งหมด
2.เปิดพรมแดนให้คนทุกคนบนโลกเข้าออกอย่างเสรี
3.เปิดให้คนทุกคนบนโลกสามารถมีกรรมสิทธ์หรือใช้ประโยชน์เหนือดินแดนได้
4.จัดระบบเศรษฐกิจให้ทุกคนบนโลกได้รับประโยชน์เท่ากัน
5.ให้ทุกคนบนโลกต่างมีอำนาจตามเจตน์จำนงทั่วไปเหนือดินแดนได้
6.ยกเลิกเพลงชาติ ธงชาติ หรือสัญลักษณ์ใดๆที่จะก่อให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างเผ่าพันธุ์
...................อย่างนี้เป็นต้น
ที่หากคุณปฏิบัติได้จึงถือว่ารักเพื่อนมนุษย์เท่ากันจริง แต่เท่าที่ดูนี่คงจะเป็นไปได้ยากมากสำหรับมนุษย์ในปัจจุบัน ที่ตราบใดเรายังไม่ไว้ใจกันก็ต้องมีกองทัพต่อไป มีระบบเศรษฐกิจแบบเอาตัวรอดต่อไป มีการกั้นพรมแดนต่อไป มีการหวงทรัพยากรต่อไป สันติภาพที่แท้จริงก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
.............................................................................
ในประเด็นจิตวิทยานั้น คุณเคยเห็นบ้างไหมว่ามีทฤษฎีจิตวิทยาใดแนะนำให้คนปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น เป็นพระอรหันต์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้า นอกจากที่เห็นนี่ก็มีจำพวกสอนให้พัฒนา"ตนเอง"ให้ดีเท่ากับคนอื่นทั่วไป(ที่คิดเอาเองว่าดีแล้ว) นี่ไม่อาจพ้นจากความสำคัญมั่นหมายว่าตัวตนไปได้ ระบบศาสนาจะเป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่เข้าถึงความดีสูงสุด
............................................................................
ในประเด็นจริยศาสตร์นั้น จริยศาสตร์ถือเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งจากห้าสาขาทางปรัชญา ว่าด้วยความดีความชั่ว แนวคิดทางจริยศาสตร์นี้ไม่อาจถือเป็นศาสนาได้ เนื่องจากเป็นแต่เพียงความคิดทางอุดมการณ์ที่อ้างอิงด้วยเหตุผล แต่ไม่ได้กำหนดระบบแนวทางปฎิบัติที่แน่นอน แต่เราอาจกล่าวได้ว่าระบบศาสนานั้นอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางจริยศาสตร์
ความสุขตามอย่างHedonismนั้นไม่ใช่ความสุขสงบครับ แต่เป็นสุขจากการสนองตัณหา ก็คือสุขอย่างที่ยังรู้สึกอยู่ว่ามี"ตัวตน"ที่เป็นสุข ผมไม่ค่อยอยากใช้คำว่าสุขกับความหมายอย่างนิพพานนัก เพราะทำให้สับสนได้ง่ายและต้องอธิบายกันอยู่เรื่อย ถึงอย่างไรผมก็เชื่อครับว่าปุถุชนนั้นทำความดีเพื่อตนเอง ช่วยเหลือสังคมด้วยความเห็นแก่ตัวจริงอย่างที่มิลล์กล่าว นั่นเพราะยังมีความคิดอัตตนิยมเป็นฐานรองรับอยู่
แต่ถึงอย่างไรก็ตามมนุษย์นั้นอาจพ้นความเห็นแก่ตัวไปได้ (ทัศนะของค้านท์) และเมื่อนั้นมนุษย์จะทำความดีเพื่อความดี ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ โดยไม่รู้สึกเลยว่ามีตัวตนอะไรที่ได้รับผลจากการกระทำดังกล่าว ที่อาจารย์Phoenixกล่าวนั้นผมเห็นด้วยครับว่าพุทธศาสนานั้นแบ่งได้2ระดับคือศีลธรรมกับปรมัตธรรม ศีลธรรมนั้นเป็นเบื้องต้นที่ยังต้องมีการสมมติว่าตัวตนอยู่ ศาสนานี่เองที่ต่างกับศาสตร์อื่นๆได้ตรงข้ามพ้นไปสู่ปรมัตธรรมได้
ลัทธิประโยชน์นิยมหรือutilitarianismที่อาจารย์กล่าวถึงนั้นก็ถือเป็นแนวคิดย่อยอย่างหนึ่งของสุขนิยม นั่นคือทำในสิ่งที่มีคนได้รับความสุขมากที่สุดนั้นถือเป็นความดี
..............................................................................
ขออภัยครับที่ผมไม่สันทัดภาษาอังกฤษ ที่จริงกฎ3ข้อของค้านท์ นี้ผมเคยอ่านภาษาไทยมาแล้วแต่จำเนื้อความไม่ได้ นี่แปลภาษาอังกฤษไม่ออกเลย หากอาจารย์จะช่วยแปลและอธิบายไว้ด้วยเลยก็จะดียิ่ง
...............................................................................
กระผมเข้าใจครับว่ามนุษย์มีความแตกต่างทางระบบความเชื่ออยู่ และเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งสำหรับการรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ความเป็นชาติก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการสะท้อนระบบความเชื่อนั้นออกมา แม้ว่าจะเป็นการยาก แต่จากเหตุผลแล้วก็เป็นสิ่งที่มนุษย์จะพึงทำได้หากต่างมีศีลธรรมและความรักอันบริสุทธิ์ต่อกันจริงๆ
คุณลองจินตนาการดูว่าหากมนุษย์เข้าถึงมโนธรรมอันสูงสุดแล้วก็จะมีแต่การแบ่งปัน การเป็นมิตร สันติภาพ ภราดรภาพ ไม่มีสงคราม ไม่มีการกีดกันเสรีภาพ ดังนั้นรูปแบบของรัฐชาติ และบรรดาความเชื่อเพื่อปกป้อง"ผลประโยชน์ของตนเอง"นั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องดำรงอยู่ต่อไป ไม่มีทหาร ไม่มีการแย่งชิง ไม่มีการสะสม ไม่มีการหวงแหน ไม่มีความเกลียดชัง ไม่มีพรมแดน จะมีแต่สันติภาพ


Posted by : Immanuel Kant , Date : 2003-04-11 , Time : 12:55:25 , From IP : ip1684-236.cc.psu.ac

ความคิดเห็นที่ : 13


   คุณ ซีเรียสมากไปหรือเปล่า ; )

Posted by : คนใจกว้าง , Date : 2003-04-11 , Time : 13:34:27 , From IP : 172.29.1.156

ความคิดเห็นที่ : 14


   ผมลืมตอบปัญหาปัญหาหนึ่งครับ ที่อาจารย์Phoenixตั้งไว้ว่า"ความต้องการพ้นทุกข์ เป็นความเห็นแก่ตัวหรือไม่?"
ถ้าผมจะพูดอย่างค้านท์ ก็คือ "ต้องการพ้นทุกข์เพื่อผลคือการพ้นทุกข์" ไม่ใช่เพื่อ"ต้องการพ้นทุกข์เพื่อผลคือใครจะได้พ้นทุกข์" หากยังรู้สึกว่า"ตัวเอง"ยังต้องการพ้นทุกข์ ก็ไม่มีทางจะพ้นทุกข์ไปได้หรอกครับ
ในปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวารนั้นเรียกความอยากว่า"ความปรารถนา"นี้ไม่ใช่ความอยากด้วยอำนาจอวิชชา คือไม่ใช่อยากด้วยตัวตน ตรงข้ามกับฝ่ายสมุทยวารที่เรียกความอยากว่า"ตัณหา"นี้แหละที่เป็นความอยากด้วยตัวตน
ที่ผมพูดนี่เป็นเพียงหลักการเท่านั้น การปฏิบัติจริงๆยังต้องศึกษารายละเอียดอีกมาก มีอุบายหลายอย่างที่ต้อใช้กระทำแก่จิต


Posted by : Immanuel Kant , Date : 2003-04-11 , Time : 14:49:37 , From IP : 172.29.2.134

ความคิดเห็นที่ : 15


   ตามความเห็นของคุณ free bird นั้นมีความไม่สมเหตุสมผลอยู่จุดหนึ่ง
นั้นคือ"องค์กรโลก"นั้นไม่มีระเบียบและอำนาจที่มากพอสำหรับจะควบคุมที่ให้"องค์กรชาติ"ต่างๆพัฒนาร่วมกันไปอย่างมีสันติภาพ ความร่วมมือร่วมใจ ความไว้วางใจ ความมีเป้าหมายเดียวกัน การแบ่งปันร่วมกัน
รัฐชาติที่เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นมีลักษณะแข่งขัน แย่งชิงผลประโยชน์ต่อกัน ไม่ไว้ใจกัน และปกป้องตนเอง

หากมนุษย์จะรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ภายใต้ความรู้สึกว่าเป็นเพื่อนร่วมโลกเดียวกัน เป็นพี่น้องกัน แบ่งปันกัน ไว้ใจกัน ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่สะสม ไม่หวงแหน เมื่อถึงตอนนั้นก็ไม่ผิดแล้วหากจะมีการแบ่งองค์กรปกครองย่อยๆ เพราะแต่ละองค์กรย่อยมีเป้าหมายเดียวกัน ประชาชนจะมีความรู้สึกดีต่อองค์กรย่อยเดียวกัน เท่าๆกับคนในองค์กรย่อยอื่นๆ


Posted by : Immanuel Kant , Date : 2003-04-11 , Time : 15:10:18 , From IP : 172.29.2.134

ความคิดเห็นที่ : 16


   จุดเด่นของพุทธศาสนาคือเราทำได้ปฏิบัต้ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง จะเห็นว่าพุทธธรรมหรือใน scripture นั้นภาษาจะออกไปในทางข้อเลือกหรือพึงกระทำเท่านั้น ศาสนาพุทธไม่มี DOGMA ที่พุทธมามกะ ต้องกระทำ และการที่บุคคลจะเลือกระดับของธรรมะนั้นพึงกระทำโดยมีความสำนึกของ level ของตนอยู่ตลอดเวลา จะมีธรรมะแห่งผู้ครองเรือน แห่งผู้ประกอบปฏิบัติธรรม จนถึงระดับบัณฑิต ไม่มีการ"จำกัดเวลา" (เราพูดกันเป็น lifetimes, not lifetime) ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะไม่ทุรนทุรายและเกิดความรู้สึก "ต้องทำให้สำเร็จบัดนี้ ปีหน้า หรือแม้กระทั่งในช่วงชีวิตนี้"

ธรรมปฏิบัตินั้นมีมากว่าสองพันห้าร้อยปีโดยที่ยังคงมีประเทศ มีเขตแดน มีกิเลสมีตัณหา แต่นั่นคือโลกแห่งความเป็นจริง และทุกๆสิ่งที่เกิดอยู่ก็เป็นไปตามกฏแห่งกรรมเท่านั้น พุทธมามกะสามารถปฏิบัติธรรมได้โดยยังคงรักชาติ รักครอบครัว หรือแม้กระทั่งเป็นทหารปกป้องประเทศ พระเซ็นนั้นเป็นที่รู้กันว่าจะฝึกวิทยายุทธเพื่อป้องกันตัวเวลาธุดงค์ป่าในประเทศจีน ยกตัวอย่างหากมีโจรจะมาฆ่าครอบครัวเราต่อหน้า พุทธศาสนาจะมิได้ห้ามว่าเราต้องปล่อยสิ่งนั้นให้เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าวิธีเดียวที่จะป้องกันคือต้องฆ่าโจร แต่เราก็ต้องยอมรับ consequence ของการกระทำที่จะเป็นไปตามกฏแห่งกรรมเท่านั้นเอง ผมยังข้องใจและจับไม่ค่อยถนัดในความเป็น ALL OR NONE approach ของคุณ immanuel ในแง่ที่ว่า "ถ้า" ยังงี้ๆ "ต้อง" ยังงี้ๆ รักชาติต้องเกลียดชาติอื่น รักมนุษยชาติต้องไม่มีเพลงชาติ ฯลฯ Absolute rule เป็นหนึ่งในสิ่งที่เป็น "ยึดมั่นถือมั่น" และตรงกันข้ามกับ impermanence law และ อนัตตา

สมการสามข้อของ Kant นั้น "เกือบ"จะเข้าได้กับ "หลักกาลามสูตร"ของพุทธศาสนา (แต่ผมยังมองว่าตื้นกว่าหลายขุม) โดยอธิบายถึงวัตถุประสงค์ วิธีการ และผลลัพธ์ นั้นจะต้องเป็น unblamable (Kant ใช้คำ universal หรือความเป็น universality แต่ผมชอบ unblamable ของ Pali Conon scripture มากกว่า) เนื้อหาคือเจ้าหมู่บ้านกาลามะ เข้ามาถามพระพุทธเจ้าว่ามีหลักการอย่างไรที่เขาควรจะเลือกเชื่อคำสอนอันไหนดี วิสัชนาคือเราต้องใช้ปัญญาไตร่ตรอง เราต้องพัฒนา moral excellence ให้ได้ เพื่อที่มาพิจารณาดูว่าที่จะเชื่อจะทำนั้นเป็น wholesome deeds เป็น unblamable ไม่ใช่ใช้เฉพาะทาง เฉพาะกิจเดี๋ยวนั้น Kant ยกตัวอย่างเรามีความจำเป็นต้องใช้เงิน เพื่อทำกุศลความดี แต่เลือกวิธีขโมยหรือฉ้อโกง พอเราเอาเข้าสมการ Kant มันก็จะมี defect เพราะการขโมยไม่ใช่ universal good deed ถึงแม้เจตนาและผลลัพธ์จะดี แต่ก็ยังผิด ethic ในทัศนของ Kant (นักปรัชญาจะมีอิทธิพลต่อนักศึกษาปรัชญารุ่นหลัง จนกว่าหลักปรัชญานั้นกลายเป็น applied sciences เช่นเป็น วิชา ethic หรือ รัฐศาสตร์ เช่น Socratis และ Plato ที่ได้เขียน The Republic ต้นกำเนิด (?) democracy ในเวลาต่อมา) ที่ผมว่าสมการนี้ยังตื้นเป็นเพราะ Kant ยังเป็นห่วง End อยู่ ซึ่งจะเป็นห่วงเหนี่ยวรั้ง ดังนั้นอย่างมากก็เป็นได้แค่ปรัชญาสามานย์ ไม่ใช่ปรมัติ แต่ก็เพียงพอสำหรับ Ethics ทั่วไป

อีกประการโดยหลักพุทธศาสนานั้นได้แก่การมองสภาพสิ่งแวดล้อมตามความเป็นจริง และการ "ไร้ซึ่ง expectation" เราทำดีเพราะว่าดี เห็นชอบ มีประโยชน์ ไม่ต้องคิดมาก (จริงๆแล้วไม่ต้องคิดเลย) แต่กว่าจะถึงจุดนั้น ที่เป็น automatic คนส่วนใหญ่จะอยู่ใน phase of development of moral excellence ปราชญ์ผู้อยู่เลยระดับนั้นไปแล้วก็จะต้องสามารถ accommodate ตนเองกับสิ่งแวดล้อมได้ ต้องเข้าใจว่าอะไรกำลังจะเกิด อะไรกำลังจะดับ หากยังติดรั้งอยู่เราก็จะรู้โดยง่ายจากความทุรนทุราย ไม่พึงพอใจไปหมด ต้องอย่างงู้น อย่างงี้ ไปหมด กลายเป็นหนึ่งในผู้ศึกษาธรรมบนกองเพลิงทูนถังน้ำเย็นไว้เหนือศีรษะแต่มิสามารถใช้ความเย็นมาดับไฟใต้เท้าตนเองได้



Posted by : Phoenix , Date : 2003-04-11 , Time : 17:12:01 , From IP : 172.29.3.160

ความคิดเห็นที่ : 17


   อ่านกระทู้นี้แล้วก็ดีน่ะครับแม้จะยาวไปหน่อย แต่ก็ช่วยให้คิดได้หลาย ๆ แบบดีไม่ซ้ำซาก นัยยะโดยรวมเท่าที่ถกเถียง น่าจะอยู่ตรงประเด็นที่ความรัก(ชาติ) ในทัศนะ ที่แตกต่าง คุณ Phoenix เชื่อในความดีของมนุษย์ที่จะพัฒนาตัวเองให้มีความรักแบบไม่มีพรมแดน เรียกว่ารักก็เพื่อจะรัก แต่คุณ Immanuel Kant บอกว่าความรักที่เป็นอยู่ขณะนี้เป็นความรักเพื่อตนเองมากกว่า ยากที่จะพัฒนาให้ก้าวไปสู่ความรักที่ปราศจากเงื่อนไขได้ ไม่รู้ผมตีความถูกหรือป่าวนะครับ
เอาไว้โอกาสหน้าผมจะลองแสดงความคิดเห็นดูนะครับ


Posted by : Mercury , Date : 2003-04-11 , Time : 18:28:12 , From IP : 172.29.1.100

ความคิดเห็นที่ : 18


   รัก แปลว่า อะไร แต่ละคนก็ตอบไม่เหมือนกันแล้ว
รักชาติ ก็ แตกต่างกับชาตินิยมอีก แต่คนก็เอามารวมกัน
คำถามไม่เคลียร์

แต่ตอนหลังนี่ตอบกันเข้าหาสันติภาพนะ
น่าจับไปอยู่UN


Posted by : สมศักดิ์ , Date : 2003-04-11 , Time : 19:55:32 , From IP : 202.22.37.232

ความคิดเห็นที่ : 19


   ไม่รู้ว่า"รักชาติ"หรือเปล่า? แต่เวลาอยู่เมืองนอกแล้วรู้สึก ร้าก..กก... เมืองไทยมากๆเลยนะ จะบอกให้

Posted by : แม่พลอย , Date : 2003-04-11 , Time : 20:21:30 , From IP : 172.29.3.169

ความคิดเห็นที่ : 20


   -ผมไม่เห็นด้วยนัก หากมนุษย์จะตัดโอกาสตนเองโดย"เลือกระดับ"ของธรรมะมาปฏิบัติ โดยไม่กระทำให้ถึงเป้าหมายสูงสุด
เพราะผมเห็นว่าธรรมะทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้นจะสมบูรณ์ครบถ้วนอยู่ใน"การกระทำที่ถูกต้อง"เพียงการกระทำเดียวได้ นั่นหมายถึงนิพพานจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะหากมีการกระทำที่ถูกต้อง หากกระทำหน้าที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ก็ยังต้องยอมรับว่าต้องเป็นทุกข์ การกระทำที่ดีแต่ยังดีไม่ถึงที่สุดก็ยังต้องเป็นทุกข์อยู่นั่นแหละ
-แน่นอนว่าเราจะต้องไม่ไปคาดหวังว่าการปฏิบัติธรรมนั้นจะสำเร็จเมื่อใด และใครเป็นผู้สำเร็จ แต่เป็นหน้าที่ที่จะต้องพยายามปฏิบัติให้ครบถ้วนทุกขณะเวลา
-แม้ว่าธรรมปฏิบัตินั้นมีมากว่าสองพันห้าร้อยปีโดยที่ยังคงมีประเทศ มีเขตแดน มีกิเลสมีตัณหา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าธรรมะไม่ดีจริง แต่เป็นเพราะมนุษยชาติยังไม่ตระหนักอย่างแท้จริงต่างหาก เราต้องยอมรับว่าสันติภาพในอุดมคตินั้น"เป็นไปได้"แม้จะยากก็ตาม มันเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะทำให้สำเร็จ
-ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆมาหาว่าเป็นไปไม่ได้ แล้วก็พลอยไม่ใส่ใจปฏิบัติ จึงต้องมาวางระบอบระเบียบเขตแดนเพื่อป้องกันตัวเองกันต่อไป
-พุทธมามกะที่ยังรักตนเอง ครอบครัวของตัว ประเทศชาติของตัว นั้นต้องยอมรับว่าเป็นพุทธมามกะที่ไม่สมบูรณ์ ผมไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีศาสดาใดในโลกสอนว่าการฆ่าผู้อื่นเพื่อป้องกันตัวนั้นเป็นสิ่งสมควร คำของพระเยซูที่มีผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวไว้ข้างต้นดูจะอธิบายได้สมบูรณ์ แม้คำที่เราท่องกันติดปากว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร
เรื่องนี้ดูท่านคานธีเป็นตัวอย่างได้ ที่ท่านใช้วิธีวางเฉยต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม ไม่ต้องต่อสู้ฆ่าฟัน ท่านเพียงแต่ปฏิบัติในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง ชาวอินเดียก็ปฏิบัติตามโดยการวางเฉย ปิดร้านค้า ไม่ยอมเสียภาษี จนในที่สุดอังกฤษต้องยอมมอบเสรีภาพให้
-ผมยอมรับว่าผมเชื่อความเป็นAll or Noneของจริยธรรม เพราะผมถือว่าจริยธรรมมีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว ความดีสูงสุดมีอยู่จริง และเรามีหน้าที่เข้าถึงความดีสูงสุด
-ตามความหมายของผมนั้นหากยังต้องการรักชาติตัวเองอยู่ก็หมายถึงต้องรักชาติอื่นให้เท่ากันด้วย(โดยทั่วไปเราก็ทราบกันดีว่าความรักชาติตามความมุ่งหมายของรัฐบาลนั้นคือให้ชาติตัวเองรอดไว้ก่อน ส่วนชาติอื่นไว้คิดทีหลัง)
หากเรารักทุกชาติเท่ากันแล้วกองทัพจะมีไว้ทำอะไร พรมแดนมีไว้ทำอะไร กฎหมายกีดกันมีไว้ทำอะไร เป็นต้น
-เราน่าจะมาร้องเพลงเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติทุกเช้าเย็นแทนเพลงชาติ
-เราน่าจะเคารพธงสหประชาชาติทุกเช้าเย็นแทนธงชาติ
-ปัญหาเรื่องขโมยของไปทำกุศลนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่นักจริยศาสตร์ถกกันมานานแล้ว มันมีประเด็นอยู่ที่เจตนาและผลดี...แต่วิธีการไม่ดี ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเลยนะครับหากพิจารณาดู มีเรื่องเล่าว่านักบุญผู้หนึ่งขโมยของจากเศรษฐีเพื่อไปช่วยคนจน กรณีนี้นักบุญไม่ได้ทำดีอย่างเดียวนะครับแต่ยังทำชั่วด้วย เพราะนักบุญแม้จะมีเจตนาดีต่อคนจน แต่เจตนาของเขานั้น"ลืม"นึกไปนะครับว่าเศรษฐีจะมีความรู้สึกทุกข์อย่างไรบ้าง สรุปว่าการขโมยของไปช่วยผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งผิด เรื่องนี้นักปรัชญาตามแนวทัศนะของค้านท์ผู้หนึ่งเคยอธิบายไว้แล้วครับ
-ผมเห็นว่ากาลามสูตรไม่ได้มีความหมายเพื่อบอกว่า"การกระทำนั้นมีกฎเกณฑ์ไม่ตายตัว"นะครับ
การกระทำนั้นมีกฎตายตัวว่าทำถูกก็ไม่ทุกข์ ทำผิดก็ทุกข์ทันที พระพุทธเจ้าเพียงแต่ทรงเน้นความสำคัญของการเข้าใจประจักษ์ด้วยตนเองไม่ใช่เชื่อสุ่มสี่สุ่มห้า กาลามสูตรนั้นหากตีความเถรตรงกันตามตัวอักษรก็เป็นอันไม่ต้องเชื่ออะไรกันพอดี



Posted by : Immanuel Kant , Date : 2003-04-11 , Time : 21:26:48 , From IP : 172.29.2.103

ความคิดเห็นที่ : 21


   IMAGINE(C) JOHN LENNON MUSIC 4 BARS..2...3...4
IMAGINE THERE IS NO HEAVEN
IT EASY IF YOU TRY
NO HELL BELOW US
ABOVE US ONLY SKY
IMAGINE ALL THE PEOPLE LIVING FOR TODAY AH
IMAGINE THERE IS NO COUNTRIES
IT IS NOT HARD TO DO NOTHING TO KILL OR DIE FOR
AND NO RELIGION TOO
IMAGINE ALL THE PEOPLE LIVE IN PEACE
YOU...YOU MAY SAY I AM A DREAMER
BUT I AM NOT THE ONLY ONE
I HOPE SOME DAY YOU WILL JOIN WITH US
AND THE WORKD WILL BE AS ONE
IMAGINE NO POSSESSIONS
I WONDER IFYOU CAN
NO NEED FOR GREED OR HUNGER
A BROTHERHOOD OF MAN
IMAGINE ALL THE PEOPLE SHARING ALL THE WORLD
YOU...YOU MAY SAY I AM A DREAMER
BUT I AM NOT THE ONLY ONE
I HOPE SOME DAY YOU WILL JOIN WITH US
AND THE WORKD WILL BE AS ONE
ลองจินตนาการดูว่าหากไม่มีสวรรค์
มันง่ายถ้าคุณพยายามทำ (โดยไม่มีอะไรลิขิต)
ไม่มีนรกอยู่ใต้ฝ่าเท้าของเรา
ข้างบนหัวเรามีแต่ท้องฟ้า
จินตนาการดูว่าหากผู้คนทั้งหมดมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อวันนี้
จินตนาการดูว่าหากไม่มีพรมแดนแห่งรัฐชาติแล้ว ก็จะไม่ยากเลยที่จะ
ทำให้ไม่มีการฆ่าฟันและการล้มตาย
แล้วก็ไม่มีศาสนาด้วย
จินตนาการดูว่าหากผู้คนทั้งหมดอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
นี่คุณอาจคิดว่าผมเพ้อฝันไปก็ได้นะ
แต่ผมไม่ใช่คนเดียวที่ฝันแบบนี้
ผมหวังว่าสักวันคุณจะมาคิดฝันอย่างผมบ้าง
และโลกนี้ก็จะรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน
จินตนาการดูว่าหากไม่มีใครมีกรรมสิทธิ์ครอบครองสินทรัพย์ทั้งปวง
ผมอัศจรรย์ใจมากหากคุณจะสามารถ
พ้นจากความละโมบและความหิวกระหาย
สู่ความเป็นภราดรภาพเดียวกันของมนุษยชาติ
จินตนาการดูว่าหากผู้คนร่วมแบ่งปันกันทั้งโลก
นี่คุณอาจคิดว่าผมเพ้อฝันไปก็ได้นะ
แต่ผมไม่ใช่คนเดียวที่ฝันแบบนี้
ผมหวังว่าสักวันคุณจะมาคิดฝันอย่างผมบ้าง
และโลกนี้ก็จะรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน




Posted by : Immanuel Kant , Date : 2003-04-11 , Time : 21:58:41 , From IP : 172.29.2.103

ความคิดเห็นที่ : 22


   มีหลายประเด็นที่จะต้อง clarified

๑) "อุดมคติ" นั้นมีไว้เพื่อ set aim แต่โลกอุดมคตินั้นไม่ได้อยู่ใน reality realm หากแต่เรา "จะพยายาม" ไปให้ถึงหรือใกล้เคียง การที่เราบอกว่า "ต้องยังนี้อย่างนั้น" เป็น seed ของความผิดหวัง

๒) คุณ immanuel ตีความผิดไปไกลใน scenario ที่ผมยกขึ้นมา ดูท่า communication skill ของผมต้องการการปรับปรุง ลองดูอีกทีนะครับ
โลกนี้มีคนบ้าคลั่งอยู่หรือไม่?
จะมีโอกาสที่คนบ้าคลั่งบางคนวางแผนจะฆ่าคนหมู่มากหรือไม่?
หากเราต้องฆ่าคนบ้าคลั่งคนนี้เพื่อช่วยชีวิตคนเป็นพันๆคน และเป็นวิธีเดียวที่มีอยู่เราจะทำหรือไม่ หรือปล่อยให้คนเป็นพันๆตายไป บวกครอบครัวอีกเป็นหมื่นๆต้องทนทุกข์เพียงเพราะ DOGMA ที่ว่า ไม่ฆ่า"?
แบบนี้แหละที่เห็นแก่ตัว และการไม่ฆ่าเพื่อระงับฆ่าทั้งๆที่เป็นวิธีเดียว เกือบจะเหมือนกับเราสมรู้ร่วมกระทำการฆ่าคนเป็นพันๆนั้นด้วยมือเราเองทีเดียว ผมไม่เคยพูดว่ามีศาสนาใดสอนว่าฆ่าคนเป็นสิ่งดีเลยนะครับ แต่มีหลายศาสนาที่กล่าวว่าเราจะต้องได้รับวิบากจากการกระทำนั้นๆของเราเอง เราต้องตัดสินใจ แม้บางครั้งจะยาก มีคำว่า "เรามิลงนรก ผู้ใดจะลงนรก" ศาสนาคริสต์มีพระเยซูไถ่บาปแก่ชาวโลกโดยสละสังขาร
การ"ไม่ยืดหยุ่น"นั้น มิใช่ทางสายกลางอย่างแน่นอน คุณ immanuel เชื่อในความเป็น ALL or NONE ก็คงเป็นทางเลือกสายหนึ่ง แต่ผมเกรงว่าบนถนนที่ rigid ตายตัวนั้น ทุกขา ดูจะเป็นสิ่งที่จะเกิดควบคู่กันไปตลอดเส้นทาง เวลาเราสอน "ขาวกับดำ" ให้แก่ลูกหลานเรานั้น มีบางครั้งที่เรารู้ว่ามี "สีเทา" อยู่ระหว่างกลาง สำหรับศีลห้า ข้อที่หนึ่ง ผมว่ามีสถานการณ์ที่ชีวิตคนๆหนึ่งอาจจะแลกได้กับชีวิตคนเป็นหมื่นๆพันๆ ข้อที่สอง หากลูกเมียจะอดข้าวตาย พ่อบ้านจะขโมยอาหารมาให้ลูกเมียหรือปล่อยให้เขาตายไปเพื่อรักษาศีล? ข้อที่สาม ในสังคมปัจจุบันการคงอยู่กับเมียที่แต่งทั้งรู้ว่าชีวิตคู่นั้นหมดสิ้นไปนานแล้ว จะทนมีทุกข์สามคน หรือ มีความสุขทั้งหมด? ข้อที่สี่ มีกี่ครั้งในอาชีพแพทย์ที่เราใช้ศิลปของ White Lie แก่คนไข้เพื่อสิ่งที่เราคิดว่าดีกว่า? ข้อที่ห้า เสพย์ของมึนเมากับเสพย์ให้เมานั้นแตกต่างกัน
ลองคิดถึงเวลาเราอบรมเด็ก แบบ rigid ขาวกับดำนั้นอันตรายครับ อันตรายมาก religious fanatic เกิดขึ้นเพราะ dogma ที่ว่า Thee Shall do this

๓) ศาสนาและปรัชญานั้นเริ่มช่วยจาก individual ก่อนแล้วจึงแพร่กระจายไปยังคนที่พร้อม มีสาเหตุที่ผมเห็นว่าสมควรหลายประการที่การสอนพุทธศาสนานั้นเน้นที่นักศึกาแสวงหาครู ไม่ใช่ระบบ evangelism ที่มีการแพร่ขยาย actively เป็นเพราะมันจะป่วยการที่จะ "ยัดเยียด" หากคนเรายังไม่พร้อมที่จะรับ รังแต่จะเกิดทุกข์ทั้งคนให้และคนถูกยัดเยียด พาลอาจจะเกิด bad impression อีกต่างหาก

๔) ที่พุทธศาสนาอยูมากว่าสองพันห้าร้อยปีนั้น ผมหมายความว่ามันดีจริง ไม่เคยล้าสมัย เป็นเพราะ flexibility ครับ คนเรา pick เฉพาะส่วนที่ตนรับไหว เท่าที่ท้องมีที่ เท่าที่ใจมีบารมีถึง

๕) Theravada นั้นติดตรง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี่เองครับ ผนวกกับ ภาษาบาลีสันสกฤตอีกมากมายที่หาคนเข้าใจยากเต็มที ท่องให้หมด จำได้ทุกตัวอักษร เราก็เป็นได้แค่นักศึกษาพระไตรปิฏกแค่นั้น หาได้เป็นพุทธมามกะไม่ ต้องให้ได้อย่างที่พระเว่ยหล่างฉีกพระไตรปิฏก หรือที่เซ็นว่า หากเจอพระพุทธเจ้าที่ไหรฃน ให้ฆ่าทันที พุทธะนั้นอยู่ที่ทุกคนอยู่แล้ว ปัจเจกพุทธปี ๒๕๔๖ ก็คงจะเขียนพระไตรปิฎกด้ไม่เท่า ๘๔๐๐๐ เป๊ะ แต่ essence ก็ยังคงเป็นเรื่องอริยสัจสี่ และมรรคแปดเหมือนเดิม (หรืออะไรทำนองนั้น) เพราะที่ตรัสรู้นั้นไม่ใช้ FACT หากแต่เป็น TRUTH

๖) -ผมยอมรับว่าผมเชื่อความเป็นAll or Noneของจริยธรรม เพราะผมถือว่าจริยธรรมมีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว ความดีสูงสุดมีอยู่จริง และเรามีหน้าที่เข้าถึงความดีสูงสุด
-ตามความหมายของผมนั้นหากยังต้องการรักชาติตัวเองอยู่ก็หมายถึงต้องรักชาติอื่นให้เท่ากันด้วย(โดยทั่วไปเราก็ทราบกันดีว่าความรักชาติตามความมุ่งหมายของรัฐบาลนั้นคือให้ชาติตัวเองรอดไว้ก่อน ส่วนชาติอื่นไว้คิดทีหลัง)
หากเรารักทุกชาติเท่ากันแล้วกองทัพจะมีไว้ทำอะไร พรมแดนมีไว้ทำอะไร กฎหมายกีดกันมีไว้ทำอะไร เป็นต้น
-เราน่าจะมาร้องเพลงเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติทุกเช้าเย็นแทนเพลงชาติ
-เราน่าจะเคารพธงสหประชาชาติทุกเช้าเย็นแทนธงชาติ

นั่นเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของคุณครับที่จะเชื่อและปฏิบัติ แต่หากคนอื่นไม่เชื่อหรือปฏิบัติตาม เราก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน ในความเห็นส่วนตัวผมนั้นผมไม่ชอบร้องเพลง ไม่ชอบเคารพธงอะไรก็ตามทีครับ มันเป็น formality ที่ meaningless เอามากๆ

๗) กาลามสูตรเป็นหลักการที่ "INDIVIDUAL" พึงยึดก่อนที่จะเชือหรือไม่เชื่ออะไร ความเป็นมาเป็นดังที่เล่าไปนั่นแหละครับ แต่ละคนแต่ละ individual ก็จะมี version ที่อธิบายของตนตามสติปัญญาและบารมีธรรมที่ได้สั่งสมไว้ พระพทูเจ้าฉลาดมากที่กำจัดศักยภาพที่สื่อภาษาพันๆปีที่แล้วจะก่อให้เกิดปัญหาตีความในหลายสิบรุ่นต่อๆมาโดยได้แนะนำการใช้ปัญญานี่แหละครับช่วย เราถึงไม่มี extremist ที่แกะเอาวลีใดวลีหนึ่งมาตีความจนเกิดปัญหามากมาย และผมยืนยันอีกเหมือนกันว่า "กฏเกณฑ์ตายตัว" นั้น คำนี้หรือบริบทนี้จะไม่ได้พบบ่อยใน scripture ของเราเท่าไรครับ อย่างที่กล่าวแล้ว ศาสนาพุทธ ไม่มี DOGMA

๘) กาลามสูตรนั้นหากตีความเถรตรงกันตามตัวอักษรก็เป็นอันไม่ต้องเชื่ออะไรกันพอดี

หากจะมีการ "ตีความตามตัวอักษร" ในการอภิปรายครั้งนี้แล้ว น่าจะเป็นฝ่ายใดระหว่าง ALL OR NONE หรือ "ยืดหยุ่นได้"???



Posted by : Phoenix , Date : 2003-04-11 , Time : 22:50:48 , From IP : 172.29.3.205

ความคิดเห็นที่ : 23


   อาจารย์กับพี่น่าจะถกเถียงเรื่องนี้กันเร็วกว่านี้ซัก2เดือนนะครับ
คือถ้าผมได้อ่านบทความของทั้งพี่และอาจารย์ก่อนสอบแล้วเอาไปประยุกตอบ เอพฤติกรรมศาสตร์จะไปไหนเสีย(รักตัวเองอีกแล้ว)


DETECTIVE (Pla)nan
(ดีเทคทีฟ ปาลนันท์)


Posted by : Epoo , Date : 2003-04-12 , Time : 00:50:52 , From IP : 203.157.14.245

ความคิดเห็นที่ : 24


   1.ตามความเชื่อของกระผม ถือว่าอุดมคติมีอยู่จริงครับ หากพิจารณาดูว่าโลกที่มนุษย์ทุกคนนิพพานหมดนั้นเป็นไปได้หรือไม่ นี้เป็นอุดมคติที่เป็นไปได้ครับ เพราะมนุษย์ผู้มีสภาพร่างกายสมองปกติย่อมมีสิทธิสัมผัสนิพพานได้ทุกคน และ"เป็นไปได้"ที่จะสัมผัสนิพพานกันจริงๆทุกคน แม้ว่าจะยากเต็มที
2.การฆ่าคนบ้าคลั่งนี้ ก็เป็นประเด็นหนึ่งครับที่เป็นข้ออ้างของHedonism จนทำให้Heodnismยังตั้งฐานอยู่ได้ เพราะเป็นคำอธิบายถึงการที่มีระเบียบเพื่อคุ้มครองความสุขของคนส่วนมาก โดยการกำจัดคนส่วนน้อยเสีย
"สีเทา"นั้นมีอยู่จริงครับ แต่สิ่งที่เป็นเป้าหมายของเรานั้นคือสีขาว
มีคำกล่าวไว้ว่า"สุขอย่างโสคราตีสนั้นดีกว่าสุขอย่างคนโง่" โสคราตีสนั้นยอมตายเพื่อรักษาความถูกต้องตามอุดมคติของตน ร่างกายยอมดับสูญเสียดีกว่าที่จะต้องยอมตามความชั่วร้ายแม้เพียงน้อยนิด เช่นเดียวกับคานธียอมวางเฉยต่อลูกชายที่ป่วยใกล้ตายเพียงเพื่อรักษาความถูกต้องของตน
การอบรมเด็กนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผู้สอนต้องใช้กุศโลบาย การบีบบังคับไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่เราสอนนั้นเป็นสีขาว ไม่ใช่หาว่าสีขาวนั้นสอนไม่ได้แล้วไปสอนสีเทาให้เด็ก
3.ที่ผมพูดถึง84000พระธรรมขันธ์นั้นเป็นคำเปรียบเปรยท่ใช้แสดงถึงธรรมทั้งปวงครับ ว่าจะสมบูรณ์อยู่ได้ในการกระทำเดียว แน่นอนว่าสิ่งท่จำเป็นนั้นเป็นเพียงใบไม้ในกำมือ
4.แน่นอนว่าทุกคนมีสิทธิที่จะไม่เชื่อ แต่การเชื่อกับการ"ควรเชื่อ"นั้นเป็นคนละเรื่องกัน
5.กาลามสูตรนั้นยังมบาลีต่อท้ายที่สำคัญเสียยิ่งกว่าสิบประการนั้นเสยอกแต่เรามักไม่ค่อยได้ยินกัน สพเพ ธมมา กุสลา สพเพ ธมมา อนวชชา สพเพ ธมมา วิญญุปปสัตถา สพเพ ธมมา สมตตา สมาทินนา หิตาย สุขาย สวตตน ตีติ
ในเรื่องภาษานั้นเป็นสิ่งไม่ตายตัวครับ เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ตรัสเป็นภาษาตรรกวิทยา พระไตรปิฎกก็ต้องสังคายนากันหลายสิบครั้ง เราจึงต้องมีหลักการในการตีความเพื่อให้เข้าถึงความถูกต้องจริงๆ แต่ในแง่จริยธรรมนั้นผมยืนยันว่ามีกฎเกณฑ์ตายตัว


Posted by : Immanuel Kant , Date : 2003-04-13 , Time : 21:48:19 , From IP : netturbo2.cscoms.com

ความคิดเห็นที่ : 25


   คุณ Immanuel ครับ ผมเคยทำอภิปรายทำนอง interdiscipline หรือ inter-cultural debate มก ผมพบว่าวิธีหนึ่งที่ดีในการอภิปรายคือการงดการใช้ "Quotation" แต่ให้มีการ elaborate ว่าที่เราเข้าใจนั้นคืออะไรและเพราะอะไร สาเหตุเพราะว่าเวลาเรา"อ้างชื่อ" นั้น resource มักจะผ่านการดัดแปลงมาแล้วนับครังไม่ถ้วน จนกระทั่งเราสามารถพบปัญหาได้อย่างง่ายดายว่า literature ที่เราอ่านนั้น authentic ขนาดไหน แต่ประการหนึ่งที่กาลามสูตรแนะนำไว้ก็คือให้หลีกเลี่ยงจากกับดักที่ว่านี้ไป โดยไม่ยึดติดกับอักขระที่ได้เขียนไว้ (รวมทั้งก่อนจะเชื่อพระสูตรอันนี้เองด้วย นั่นเป็นสาเหตุที่ผมจะ Quote พระสูตรบทนี้บ่อยที่สุด เพราะไม่ได้ผูกมัดคนฟังว่าต้องเชื่อหรือไม่อย่างไร) Original paper ของ Kant นั้นน่าจะเป็น German ประมาณ ๒๐๐ กว่าปีมาแล้ว ทำนองเดียวกับ Pali Canon 1st edition ที่มีหลักฐานอยู่ก็เป็นเวลาประมาณ กว่า ๕๐๐ ปีหลังพระพุทธเจ้าตาย สิ่งที่คุณและผมอ่านนั้นมีโอกาสเกือบ ๑๐๐ % ที่เป็นฉบับดัดแปลงมาแล้วมากมายหลายครั้ง (หมายเหตุ โดยส่วนตัวผม ผม ไม่กล้าพูดออกมาดังๆหรอกนะครับว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเป็นภาษาอะไร เป็นตรรกวิทยาหรือไม่ นั่นเป็นสิ่งที่เราแค่คาดเดาโดยไม่มีหลักฐานแม้แต่กระผีกริ้นว่าอะไรจริงหรือไม่จริง)

๑) ผมแปลภาษาบาลีที่คุณ Immanuel ว่าสำคัญมากนั้นไม่ออกครับ ช่วยกรุณาขยายความว่าสำคัญอย่างไร จะเป็นวิทยาทานอย่างสูงครับ

๒) มนุษย์ทุกคน "มีโอกาส" awaken นั้นเป็นความจริงครับ (หรือผมเชื่ออย่างนั้นเช่นกัน) แต่โอกาสที่มนุษย์กว่าหกพันล้านคนจะปรินิพพานโดยพร้อมเพียงกันนั้น หากคุณ Immanuel ยืนยันว่าเป็น mission ที่จะทำก็แล้วแต่ครับ

๓) ผมไม่ได้คำนึงว่าหลักการและเหตุผลที่ผมอ้างนั้น Hedonism หรือ Hinduism หรือ Buddhism คิดยังไงหรอกนะครับ และก็ไม่ได้คิดว่าการ support จากลัทธิหรือศาสนาใดๆจะช่วยให้ผมเพิ่มหรือสูญเสียความมั่นใจสักเท่าไร เอาง่ายๆครับ ถ้าผมเกิดเป็น James Bond แล้วตรงหน้าผมมี megalomainac กำลังจะ push a button เพื่อที่จะฆ่าคนสักพันล้านคนแผมมีปืนอยู่ในมือ ผมยังหัวไอ้บ่านั่นโดยไม่ลังเล ไม่ใช่ว่าเพราะการฆ่าคนเป็นสิ่งที่ถูก แต่เป็นเพราะว่ามันดีกว่า ในเวลาเดียวกันผมก็ทราบว่าผมฆ่าคนไป ผมจะได้รับวิบากกรรมจากสิ่งที่ผมทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผมก็ OK กับ consequence ที่จะเกิด คุณ Immanuel สามารถจำลองสถานการณ์อย่างเดียวกัน และลอง apply กฏตายตัวที่ว่าไม่ฆ่านั้นดู แล้วลองพิจารณาดูครับ

๔) รู้สึกจะมีการเพี้ยนของข้อความเวลาส่งต่ออยู่เนืองๆ ที่ผมพูดถึงสีขาวดำและเทานั้น ไม่ได้แปลว่าเราสอนสีขาวไม่ได้ ผมต้องการจะสื่อว่าบางสถานการณ์แม้แต่ศีลที่ได้เขียนไว้ชัดเจนก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด และเเวลาเด็กโตขึ้นแกจะ "พบเอง" ว่านอกจากสีขาวและดำนั้น มีเฉดสีเทาอยู่ระหว่างกลางอีกมากมายเหลือคณานับ กฏเหล็ก หรือ All or None นั้นจะถูก challenge และ frustrate ที่สุดถ้าเด็กเหล่านี้ cope กับสีเทาไม่ได้ก็จะกลายเป็นพวกคลั่งศาสนาที่พยายามหาสีขาวและกำจัดสีดำให้หมดไป
.........มีข่าวต่างประเทศที่กล่าวถึงคนประเภทนี้ เป็น reverend ที่ศาสนาของเขาบ่งชี้ว่า Gay นั้นเป็นบาปมหันต์ เขาก็เทศน์อย่างที่ว่าให้ชาวบ้าน จนกระทั่งรู้ว่าลูกชายนั้นเป็น Gay รู้ไหมครับว่าอะไรเกิดขึ้น? เขาไถ่บาปลูกดดยการส่งลูกไปเกิดใหม่ และต่อมากลายเป็น serial killer ฆ่าพวก Gay เพราะพวกนี้ทำให้"สีขาว"ของเขาแปดเปื้อน

๕) ผมไม่ได้ทราบชีวประวัติของคานธีตอนที่ปล่อยให้ลูกชายตายนะครับ ช่วยขยายความหน่อยจะได้ไหมครับ? คือผมไม่ใคร่ชอบ idea ที่ว่าพอปะหน้าว่าเป็นการกระทำของคานธีแล้วจะถูกต้องไปหมดทุกอย่าง จริงๆแล้วเรื่องราวแต่ละเรื่องมีรายละเอียดประกอบมากมาย Website แห่งนี้มีแม้กระทั่งเดกก่อนเข้ามหาวิทยาลัยมาอ่าน ถ้าไม่ขยายความเรื่องแบบนี้เดี๋ยวจะมีคนตีความ "ตามตัวหนังสือ" ว่าคานธีปล่อยลูกป่วยตายโดยไม่รักษานั้นเป็นเรื่องที่ควรชื่นชมและเอาตาม เราต้องระมัดระวังในข้อมูลที่เราพูดหรือกล่าวในที่สาธารณะมากๆครับคุณ Immanuel ประเดี๋ยวจะเหมือนพวกนักหนังสือพิมพ์ที่ปล่อยข่าวลือแล้วพอชาวบ้านแตกตื่นก็บอกว่าชาวบ้านคิดไปเอง

๖) ผมเชื่อในการพัฒนา moral excellence ของบุคคล ในเวลาเดียวกันผมเชื่อในหลักการไม่เที่ยงแท้ด้วย ไม่ใช่เพราะว่ามันถูกเขียนไว้ใน Pali Canon แต่เป็นสิ่งที่ผ่านการทดสอบโดยคนที่ฉลาดกว่าผมมานาน และโดยตัวผมเองมานานเท่าที่จะนานได้ ผมพบว่า "กฏเหล้ก" นั้นงอได้ ดัดแปลงได้ มิฉะนั้นแล้วพระไตรปิฏกคงจะบอกเราแล้วล่ะครับว่าไม่ต้องคิดมากให้เชื่อที่เขียนไว้ พรสวรรค์อย่างหนึ่งที่มนุษย์มีคือความสามารถในการคิด ในการมีจินตนาการ ในการใช้เหตุผล Christian ถึงกับมีกล่าวว่า God นั้นให้มนุษย์มี FREE WILL

๗) ทางเซ็นนั้น ความสุขอย่างคนโง่นั้นอาจจะใกล้เคียงกับตรัสรู้มากมายกว่าพวกนักปราชญ์ที่บรรจุความรู้อยู่เต็มพุงก้ได้นะครับ simplicity นั้นมักจะดีที่สุด วิชาการแพทย์ก็ใช้หลักที่ว่าหากรวบรวมประวัติ ตรวจร่างกาย ผลการตรวจต่างๆแล้วสามารถอธิบายได้โดยโรคๆเดียว มันก็ต้องเป็นโรคๆนั้นแหละครับ (สำหรับคนที่สนใจ หลักอันนี้เป็นทฤษฎีสำหรับนักวิทยาศาสตร์ หรือ Methodology ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากคือ Occam s Razor ใครมีเวลาลอง search ดูนะครับการันตีความสนุก!!!!!)



Posted by : Phoenix , Date : 2003-04-13 , Time : 23:56:15 , From IP : 172.29.3.210

ความคิดเห็นที่ : 26


   1.ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษ ธรรมเหล่าใดวิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่าใดเมี่อสมาทานให้มากแล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุข ก็พึงเชื่อธรรมเหล่านั้นเถิด
2.หากคุณจะยิงนั้น ก่อนคุณยิงคุณจะรู้ได้ยังไงว่าไอ้บ้านั่นมันต้องกดระเบิดแน่ๆ แล้วทำไมคุณไม่คิดบ้างว่ามันเป็นวิบากกรรมของคนจำนวนนั้นหากไอ้บ้านั่นกดระเบิดขึ้นมาจริงๆ คุณมีสิทธิอะไรเป็นผู้กำหนดชีวิตความตายของไอ้บ้านั่นและคนจำนวนพันล้าน ผมเห็นว่าหน้าที่ที่ทำได้นั้นก็มีแต่พูดโน้มน้าวใจเท่านั้น
3.การสอนเด็กนั้นเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยปัญญาของผู้สอน ว่าจะสอนอย่างไรไม่ให้กลายเป็นการคลั่งศาสนา แน่นอนว่าการใช้เหตุผลของเด็กนั้นไม่มีวันเท่าผู้ใหญ่ได้ แต่เราจำเป็นต้องปลูกฝังอุดมคติไว้เป็นพื้นฐาน เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะสามารถแยกแยะเหตุผลได้เอง แต่ทั้งนี้ต้องมีวิธีการสอนที่เหมาะสมครับ ในที่สุดเด็กจะสามารถเข้าใจได้ว่าหลักทางจริยธรรมนั้นเป็นตายตัวและเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในทุกสถานการณ์
การกระทำอันโหดร้ายนั้นเป็นเพราะการเข้าไม่ถึงศาสนาอย่างแท้จริง
4.เรื่องมีอยู่ว่าลูกชายคานธีนั้นป่วยหนัก หมอแนะนำให้ทานซุปไก่ แต่ติดที่ว่าทั้งคานธีและลูกชายนั้นถือไม่บริโภคเนื้อสัตว์ คานธีจึงทำใจแข็งไม่ยอมปฎิบัติตาม แต่ในที่สุดลูกชายก็หายป่วยได้ครับ
5.กฏทางจริธรรมนั้นผมถือว่ามีหลักการและเหตุผลตายตัว ดัดงอไม่ได้แม้แต่น้อย แต่ที่เราต้องคิดต้องตีความนั้นเพราะจริยธรรมได้ถูกสื่อออกมาเป็นภาษามนุษย์ครับมันจึงเพี้ยนไปได้ต่างๆนานา กาลามสูตรก็มีเพื่อจุดประสงค์นี้เช่นกัน
6.โสคราตีสกล่าวว่า"คุณธรรม คือ ความรู้" ครับ คนเลวนั้นเป็นความที่เขาไม่รู้นั่นเอง พระพุทธเจ้าก็ทรงซ่อนพระองค์อยู่หลังม่านอวิชชา ที่เซ็นกล่าวถึงสุขอย่างคนโง่นั้นเข้าใจว่าจะหมายถึงผู้โง่เขลาในศาสตร์อย่างอื่น แต่สว่างไสวอย่างยิ่งในปรัชญาชีวิตเพราะจับวิถีทางที่ถูกต้องได้ แม้จะไม่เข้าใจเหตุผลรอบด้านก็ตาม


Posted by : Immanuel Kant , Date : 2003-04-14 , Time : 22:11:58 , From IP : netturbo2.cscoms.com

ความคิดเห็นที่ : 27


   อา...ที่แท้ก็คือวลีที่ว่าหลังจากใช้ปัญญาแล้ว การกระทำหรือสิ่งนั้นเป็น unblamable โดยปราชญ์ นั่นเอง วลีนี้แทรกอยู่หลายต่อหลายครั้งในกาลามสูตร

อืมน่าสนใจสำหรับ scenario ที่ว่าจะรู้ได้ยังไงว่าจะกดปุ่มหรือไม่กด คุณ Kant คิดว่าเรารู้ไม่ได้ หรือคิดว่าเจ้า megalomaniac นั่นอาจจะแค่ล้อเล่นใช่ไหมครับ? สรุปแล้ว action ของคุณ Kant คงจะเป็นปล่อยไป หรืออย่างมากแค่พูดเกลี้ยกล่อมใช่ไหมครับ? เผอิญ scenario กำหนดว่าเจ้าบ้านี่กดแน่ๆ คุณ Kant ไม่คิดว่าเป็นกรรมของ"ตัวเรา" ที่กำหนดให้ต้องฆ่าเจ้าบ้านี่เพื่อระงับฆ่าคนเป็นพันๆล้านหรือครับ? นี่คือความหมายของเราไม่ลงนรก ผู้ใดลงนรกนั่นเอง บางครั้งเราต้องทำในสิ่งที่เราทราบว่าผิดเพราะ "รู้"ว่ามีสิ่งที่ผิดกว่า เลวร้ายกว่าจะเกิดขึ้น หากทุกคนเลือกที่จะ "ถนอม" ความบริสุทธิ์ส่วนตัวแล้ว "ความเสียสละ" ก็จะไม่เกิดขึ้น คุณ Kant ยอมเลือกที่จะไม่ฆ่าคนบ้าโดยเลือกที่จะเชื่อว่า หากคนเป็นพันๆล้านตายไปเป็นเพราะกรรมตามทัน แต่ตัวผมจะเลือกฆ่าเจ้าบ้านี่เพื่อ preserve ชีวิตของคนเป็นพันๆล้าน และเลือกที่จะเชื่อว่าเป็นกรรมระหว่างตัวผมกับเจ้าบ้าคนนี้ที่ตามทันกันมามากกว่า และผมยอมรับผิดชอบเองกับวิบากที่จะเกิดขึ้น

กรณีคานธีกับลูกนี้น่าสนใจครับ โชคดีที่เขาไม่ตาย แต่ฟังดูแล้วถ้าตายไปคุณ Kant ดูเหมือนจะยกประโยชน์ให้คานธีใช่ไหมครับว่าคงเป็นกรรมของลูกตามทันมากกว่าที่เปนคงามผิดของคานธีที่ไม่ยอมให้อาหารลูกที่ป่วยจนตาย? ผมว่าเราเข้าใกล้เคียงกับกฏที่ rigid เกือบจะเห็นรูปธรรมอยู่แล้ว ทางพุทธศาสนาที่ว่าพระสมควรฉันเพียงแค่สองหรือหนึ่งมื่อนั้น ยังอะลุ้มอะล่วยให้เวลาอาพาธเลยว่าให้กินได้ ไม่อาบัติ การ take ความเชื่อ "ตามตัวอักษร"นั้นอันตรายอย่างยิ่งที่กล่าวมาแล้ว

ผมไม่ใคร่มั่นใจว่าเขาใจถ่องแท้เวลาคุณ Kant พูดถึงกฏจริยธรรมได้ถูกสื่อเป็นภาษามนุษย์ครับ เราเป็นมนุษย์ กฏต่างๆที่จะถ่ายทอดคงจะต้องอยู่ใน format ที่เราเข้าใจ ผมเชื่อว่ากฏจริยธรรมนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์มากกว่าวิธีการ เจตนาจะเป็นเครื่องบ่งชี้ทั้งหมด ยกตัวอย่างการขโมยเป็นต้น จะเป็นการขโมยต่อเมื่อเราทราบว่าของๆนั้นไม่ใช่ของเราและไม่ใช่ของสาธารณะ แต่ตามกฏหมายถึงแม้ว่าเราเข้าใจผิดก็จะถูกลงโทษอยู่ดี คุณ Kant คงจะเคยได้ยินทฤษฎี "ลมปีกของผีเสื้อก่อให้เกิด Harricane" มาแล้ว กรรมและวิบากกรรมนั้น complicated อย่างที่ว่า แต่"เจตนา" ก็ยังคงสำคัญและเชื่อมกรรมกับวิบาก (Karma = volitional deed or doing or undoing) คำ volition นี้สำคัญว่ามิได้เป็นกรรมทั่วไป แต่เป็นกรรมที่เชื่อมโยงกับ consciousness, intention, and volition

ผมไม่แน่ใจว่าคนเลวเพราะไม่รู้เสมอไปนะครับ เป็นเพราะ ignorance ซะมากเหมือนกัน แต่ทั้งๆที่ "รู้" นี่แหละครับ พบบ่อยที่ปราชญ์ทางโลกแต่ไร้คุณธรรม คนที่ท่องบ่นไตรปิฏกต้นจนจบเข้าใจดีว่าหมายความว่าอย่างไร หากไสมารถ "ละทิ้ง" ได้ ก็ "ไม่ตื่น" ทั้งๆที่รู้เหมื่อนกัน ผมไม่เข้าใจที่ว่า "พระพุทธเจ้าซ่อนอยู่หลังม่านอวิชชา" นั้นหมายความว่าอะไรครับ ช่วยขยายความอีกซักเล็กน้อยได้ไหมครับ ขอบพระคุณล่วงหน้า

ที่ว่าสุขอย่างคนโง่จน awaken นั้น เขา "เข้าใจ" ในความสามัญและ "เหตุผล" ของอริยสัจสี่ครับ คือ ทุกข์ สาเหตุของทุกข์ การดับทุกข์ และทางดับทุกข์ ผมไม่แน่ใจว่าที่คุณ Kant ว่าจับวิถีทางได้แต่ไม่เข้าใจเหตุผลนั้นจะเป็นการบรรลุธรรมได้อย่างไร ช่วยกรุณาขยายความอีกสักนิดได้ไหมครับ?

ขอบพระคุณที่ได้ช่วยกรุณาให้ความรู้ผมอย่างมากมายครับ ดีใจจริงๆที่ได้คุณมาอภิปรายร่วมในครั้งนี้





Posted by : Phoenix , Date : 2003-04-14 , Time : 23:03:14 , From IP : 172.29.3.201

ความคิดเห็นที่ : 28


   ด้วยความเคารพครับ อาจารย์Phoenix
กระผมคิดว่าอาจารย์คงได้เห็นภาพ"พระพุทธเจ้าอยู่หลังม่าน"ในโรงมหรสพทางวิญญาณ ที่สวนโมกข์มาแล้ว ภาพนี้มีความหมายสื่อถึงพระนิพพานหรือจิตเดิมแท้ที่ถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชา เสมือนกับพระพุทธเจ้าทรงซ่อนอยู่หลังม่านความโง่ เมื่อใดสามารถดับอวิชชาได้พระนิพพานก็จะปรากฎ
และที่ว่าจับแนวทางได้แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจเหตุผลรอบด้านนั้น ผมหมายถึงผู้บรรลุธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องรู้อภิปรัชญา หรือแนวคิดจริยศาสตร์อะไร และไม่จำเป็นต้องศึกษาตรรกวิทยาอะไรด้วย นี่ดูคล้ายกับการลองผิดลองถูกแล้วปะสบผลสำเร็จโดยบังเอิญ เป็นการศึกษาเฉพาะปรัชญาส่วนที่"จำเป็น"จริงๆเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องถามหาเหตุผลอะไรซับซ้อนนอกเรื่องนัก เช่นคนที่"หลง"เข้ามาศรัทธาในพุทธศาสนาและถือปฏิบัติอย่างจริงจังโดยไม่สงสัยจับผิดอะไร เช่นนี้ก็หลุดพ้นได้ พระสารีบุตรผู้มีปัญญามากก็ยังบรรลุนิพพานหลังพระโมกคัลลานะเสียอีก มีบางท่านชี้ว่าพระสารีบุตรนั้นมัวเสียเวลากับการตั้งปัญหาและตรวจสอบไปรอบด้านจนกว่าจะเชื่อ


Posted by : Immanuel Kant , Date : 2003-04-17 , Time : 10:55:20 , From IP : 172.29.2.112

ความคิดเห็นที่ : 29


   OK to recapped the thread ผมคิดว่ามีสองประเด็นใหญ่ๆ คือ นิยามของ"รักชาติ"นั้นแตกต่างกัน ที่สุดแล้วรักชาติที่เห็นแก่ตัวนั้นเห็นพ้องต้องกันว่าไม่ดี รักควรเป็น universal ตรงนี้ก็คงจะสุดแล้วแต่คำจำกัดความว่ารักชาติ "ต้อง" เป็นแค่ไหนอย่างไร นั่นเป็นประเด็นของหัวข้อกระทู้
ที่แตกแขนงออกอีกส่วนหนึ่งคงจะเป็นเรื่องจริยธรรมว่าเป็น absolute rule (all or none) หรือ flexible คงจะแล้วแต่ school of thought ล่ะครับ



Posted by : Phoenix , Date : 2003-04-17 , Time : 21:18:21 , From IP : 172.29.3.230

ความคิดเห็นที่ : 30


   OK to recapped the thread ผมคิดว่ามีสองประเด็นใหญ่ๆ คือ นิยามของ"รักชาติ"นั้นแตกต่างกัน ที่สุดแล้วรักชาติที่เห็นแก่ตัวนั้นเห็นพ้องต้องกันว่าไม่ดี รักควรเป็น universal ตรงนี้ก็คงจะสุดแล้วแต่คำจำกัดความว่ารักชาติ "ต้อง" เป็นแค่ไหนอย่างไร นั่นเป็นประเด็นของหัวข้อกระทู้
ที่แตกแขนงออกอีกส่วนหนึ่งคงจะเป็นเรื่องจริยธรรมว่าเป็น absolute rule (all or none) หรือ flexible คงจะแล้วแต่ school of thought ล่ะครับ



Posted by : Phoenix , Date : 2003-04-17 , Time : 21:18:21 , From IP : 172.29.3.230

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.05 seconds. <<<<<