หัวหน้าแบบไหนที่ลูกน้องไม่ปลื้ม
จากการสำรวจของ www.officeteam.com มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า มนุษย์งานเกิน 50% ของจำนวนที่ทำการสำรวจ เคยมีประสบการณ์ทำงานกับหัวหน้าที่ไม่ดี ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือการตัดสินใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นแตกต่างกันออกไป 35% ตัดสินใจทำงานอยู่กับองค์กรต่อไป และหาทางรับมือบริหารหัวหน้านั้น 27% หางานและลาออกเมื่อได้งานใหม่ 24% อดทนอยู่กับปัญหาต่อไป ส่วนอีก 11% ตัดสินใจลาออก เพราะทนหัวหน้าไม่ไหว แม้ว่าจะยังไม่มีงานใหม่รองรับก็ตาม (3% ที่เหลือไม่ตอบคำถาม)
กล่าวได้ว่า หัวหน้า เป็นผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์งานทุกคน ในเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลหลายแหล่งได้กล่าวไว้ว่า เรามักจะเลือกเข้าไปทำงานที่ใดหนึ่งเพราะตัวองค์กรหรืองานที่อยากทำ พร้อมเงินดือนที่พอใจ หากแต่มักจะเดินจากองค์กรนั้นมา เพราะหัวหน้าที่ไม่ดีหรือรับหัวหน้าไม่ได้ (เช่น ข้อมูลจาก )
จากประสบการณ์การทำงานในสายทรัพยากรบุคคล ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับหัวหน้าแบบต่างๆ มากมาย ในที่นี้ จึงขอสรุปลักษณะหัวหน้าแบบที่ลูกน้องไม่ปลื้มสุดๆ (บางรายถึงขึ้นลาออกเพราะหัวหน้า) ไว้ 10 แบบดังนี้
1.หัวหน้าตาชั่งเอียง ไม่ยุติธรรม มีอคติ เลือกรักลูกน้องบางคน ชังลูกน้องบางคน ใช้มาตรฐานที่แตกต่างในการบริหารจัดการทีม
2.หัวหน้าหุ่นยนต์ ไร้หัวใจ ออกคำสั่ง เผด็จการ และใช้งานเหมือนลูกน้องเป็นทาส ทำตัวเป็นนาย ไม่เป็นผู้นำ ไม่เคยชม มีแต่ติลูกน้องเท่านั้น
3.หัวหน้าขาดจรรยาบรรณ ประพฤติตนไม่ดีไม่น่าเคารพ ด่าทอ พูดคำหยาบ ไม่รักษาสัญญา อาจรวมถึงกรณีที่สั่งให้ลูกน้องทำงานนอกกฎ และให้ทำในสิ่งที่เอื้อประโยชน์กับตัวเองไม่ใช่องค์กร
4.หัวหน้าขาดวุฒิภาวะ อารมณ์ไม่มั่นคง เจ้าอารมณ์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หรือเจ้าคิดเจ้าแค้น อ่อนไหวเกินปรกติ
5.หัวหน้าที่รู้สึกไม่มั่นคงในหน้าที่การงานของตัวเอง มักชอบเอาดีเข้าตัวและโยนความผิดให้ลูกน้อง ไม่สอนงาน ไม่พัฒนา เพราะกลัวลูกน้องมาแทนที่ได้ บางรายอาจทำให้ทีมมีปัญหากันเพื่อแบ่งแยกในการปกครองลูกน้อง (divide and conquer)
6.หัวหน้าที่ไม่ไว้ใจลูกน้อง ชอบล้วงลูก บริหารจัดการในรายละเอียดจนลูกน้องไม่มีอิสระในการคิดการจัดการ
7.หัวหน้าที่ไม่สื่อสาร ไม่พูด ไม่มอบหมายงานอย่างชัดเจน รวมถึงไม่ให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ลูกน้อง ไม่พูดคุยเรื่องการประเมินผล อาจเกิดจากกรณีที่ขาดทักษะการสื่อสารหรือไม่กล้าเผชิญหน้า
8.หัวหน้าที่ไม่เคารพเวลา บางรายโทรหาลูกน้องเช้า กลางวัน เย็น ไม่เว้นวันหยุด วันนักขัตฤกษ์ หรือแม้วันที่ลูกน้องลาพักร้อน โดยส่วนใหญ่มักไม่ได้เป็นเรื่องงานสำคัญที่ต้องติดต่อลูกน้องเดี๋ยวนั้น แต่เป็นเพราะตนเองว่างจึงคาดหวังว่าลูกน้องจะต้องว่างคุยด้วย
9.หัวหน้าที่ขาดความสามารถ ขาดความรู้ในหน้าที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งอาจส่งผลให้ขาดการตัดสินใจหรือตัดสินใจช้า ไม่ช่วยลูกน้องแก้ปัญหา
10.หัวหน้าที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่ชอบทำงาน และให้ลูกน้องทำงานแทน
10 แบบนี้เป็นเพียงกรณีตัวอย่างที่ได้พบเห็นบ่อยๆ ในองค์กรใดก็ตาม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหน่วยงานที่มีหัวหน้าแบบดังกล่าวก็มักประสบปัญหาคนลาออกสูงหรือลูกน้องขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน ในกรณีที่รุนแรงมากและไม่ได้รับการแก้ไขผลที่ตามมาในที่สุดก็คือ หน่วยงานนั้นจะขาดกำลังคน ทีมงานแตกแยก ผลงานไม่ดี และต้องมีการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานทางใดทางหนึ่งในที่สุด
แถมยังมีผลการศึกษาด้วยว่า คนตัดสินใจเข้าทำงาน เพราะตัวองค์กร/เนื้องาน/เงินดือนที่พอใจ แต่ออกจากงาน เพราะหัวหน้าไม่ดี/รับหัวหน้าไม่ได้
ลองนึกย้อนถึงตัวเองดูท่านใดเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องไม่เคยกล่าวขอบคุณ(อย่างจริงใจ)เลย คงต้องลองตรวจสอบตัวเองว่าเข้าข่ายลักษณะที่ลูกน้องไม่ปลื้ม(สุดๆ)ดังกล่าวหรือไม่ หากสะท้อนภาพตัวเองไม่ชัด คำแนะนำคือขอให้ฟังให้มากและฟังให้ดี ท่านอาจขอข้อมูลย้อนกลับจากลูกน้องเอง โดยเมื่อฟังข้อมูล แนะให้ฟังทั้งหู (Ears) ตา (Eyes) ความคิด (Mind) และหัวใจ (Heart) คือ นอกจากฟังอย่างตั้งใจแล้ว ต้องใช้ตาลองสังเกตปฎิกิริยาของคนอื่น ใช้ใจที่เปิดกว้างในการฟังโดยไม่มีอคติ รวมถึงฟังแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา หากลูกน้องมองว่าท่านเข้าข่ายหัวหน้าที่ไม่น่าปลื้ม ปรับปรุงวันนี้ก็ยังไม่สาย เพราะในเบื้องต้นคนโชคร้ายคนแรกคือลูกน้อง แต่ในที่สุดแล้วก็คือตัวท่านเองเมื่อลูกน้องชักแถวกันลาออก หรือขาดกำลังใจในการทำงาน
ในทางตรงกันข้าม หากท่านเป็นหัวหน้าที่ดีที่ลูกน้องปลื้ม เชื่อว่าท่านคงไม่ต้องรอจนวันที่ 16 ตุลาคมของทุกปีให้ลูกน้องมาขอบคุณ เพราะลูกน้องคงหาโอกาสที่จะมาขอบคุณท่านอยู่แล้วเรื่อยๆ แม้ว่าจะถึงวันที่หัวโขนของท่านหายไป หรือท่านไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแล้วก็ตาม
Posted by : insulin , Date : 2013-04-11 , Time : 19:55:47 , From IP : 172.29.53.88
|