ความคิดเห็นทั้งหมด : 3

คำอธิบายจากคณบดี


   คำอธิบายจากคณบดี

​​ตามที่มีกระแสการแพร่ข่าวให้สังคมคณะแพทย์ เกิดความเข้าใจสับสน จนเกิดความไม่ไว้วางใจในทิศทางการนำของคณะแพทย์
​​ผมขอชี้แจงประเด็นสาระสำคัญ ที่อาจทำให้คนของเราที่ทำงานอยู่หน้างาน ที่ผมไม่มีโอกาสได้ชี้แจงโดยตรง ได้รับทราบในข้อสงสัยสาระสำคัญ และเป็นการแสดงจุดยืน ดังนี้
1. ข่าวแพร่ว่า คณบดีพยายามกดดันให้คนของเราลาออกจากคณะแพทย์
​​ ขอเรียนว่า ผมบริหารงานมาหลายตำแหน่ง ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ไม่เคยมีความคิดจะกดดันให้ใครลาออกจากงานเลยแม้แต่คนเดียว มีแต่จะสร้างเสริมรายได้ สร้างโอกาส สนับสนุนการศึกษาต่อ
การปรับวุฒิ สร้างความมั่นคง ความก้าวหน้าของงานให้กับคนของคณะแพทย์ ในอดีตสมัยที่เป็นรองบริหารและผู้อำนวยการโรงพยาบาล ก็ได้ริเริ่มพัฒนาระบบสร้างเสริมสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย จัดเพิ่มค่าเวรให้สูงกว่าเกณฑ์ราชการ จัดระบบเพิ่มเงินเดือนให้กับลูกจ้างชั่วคราวให้สูงกว่าโรงพยาบาลและส่วนราชการอื่นๆ และร่วมกับอาจารย์พันธ์ทิพย์ สงวนเชื้อ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทย์ในขณะนั้น จัดตั้งกองทุนประกันสังคม เริ่มการจัดสรรเงินประกันสังคมเป็นสวัสดิการรายเดือนให้กับทุกคน ทุกตำแหน่งของคณะแพทย์ ผ่านหน่วยงานต่างๆ แม้ว่าจะไม่ใช่หน่วยที่บริการคนไข้โดยตรง
​​เมื่อเข้ามารับตำแหน่งคณบดี ก็เห็นถึงความเดือดร้อนของพนักงานเงินรายได้ ที่ทำงานอยู่ปัจจุบัน และที่เกษียณราชการ รวมถึงคนในครอบครัวโดยเฉพาะญาติสายตรงที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลม.อ. ของเราเองได้ ก็ได้เพิ่มสิทธิ์นี้ขึ้นมาให้ครอบคลุมทุกคนรวมถึงญาติสายตรง นอกจากนี้ยังได้เพิ่มค่าตอบแทนให้กับพนักงานเงินรายได้ระดับปริญญาตรี ให้ได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็นเงินอย่างน้อย 15,000 บาท และเพิ่มให้กับพนักงานเงินรายได้ที่ตำแหน่งงานซึ่งจ้างด้วยวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี ที่เงินเดือนน้อยกว่า 12,000 บาท อีกคนละ 1,500 บาท เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของลูกจ้างกลุ่มแรงงานเป็นเดือนละ 8,000 บาท การเพิ่มค่าตอบแทนให้กับพนักงานเงินรายได้ของคณะ โดยต้องใช้เงินรายได้ของคณะแพทย์เองนั้น นับเป็นคณะแรกในมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลแรกในกลุ่มโรงพยาบาลที่เป็นสถาบันผลิตแพทย์
​​นอกจากนี้ ยังคงสวัสดิการรายเดือนจากกองทุนเงินประกันสังคม จัดสรรให้หน่วยงาน
ต้นสังกัดคนละ 500 บาทต่อเดือนทุก ๆ คน และตั้งแต่ 1 เมษายน 2556 นี้ คณะได้จัดสรรเงินเพิ่ม 80 บาทต่อคนต่อเดือน ให้แต่ละคนสามารถเลือกลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิกชมรมใดชมรมหนึ่ง เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต เลือกงานอดิเรก เลือกทำกิจกรรม หรืองานสันทนาการที่แต่ละคนชอบร่วมกับคนอื่น ๆ ที่ชอบในเรื่องเดียวกันจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความสุข และความสามัคคี
​เมื่อเข้ามารับตำแหน่งก็ได้ร่วมกับทีมงานพัฒนาบุคลากร ซึ่งมีรองฯสงวนสินเป็นหัวหน้าทีมร่วมกับคุณวรวรรณ ผลักดันการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญงาน ชำนาญงานพิเศษ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญพิเศษในระยะเวลาสั้น ๆ ขณะนี้เรื่องผ่านการประเมินจากกรรมการของคณะเกือบ 100 คนแล้ว ที่น่ายินดีคือคนของเราได้รับการรับรองการเข้าสู่ตำแหน่งจากสภามหาวิทยาลัยในช่วงต้นปี 2556 จำนวน 20 คน จากจำนวนทั้งหมดของทั้งมหาวิทยาลัย 27 คน
​ขอเรียนว่า ในระยะ 8-10 เดือนที่เข้ามาทำงาน ทีมบุคลากรทั้งสาย ก ที่ดูแลโดยฝ่ายวิจัย และสายอื่นๆ ที่ดูแลโดย รองฯสงวนสินและคุณวรวรรณ และทีมงานการเจ้าหน้าที่ทำงานหนักมาก หามรุ่งหามค่ำ ในด้านสายอาจารย์ ระบบที่วางชัดเจนแล้วได้แก่ 1) ระบบการพัฒนาอาจารย์ โดยการฝึกอบรมดูงาน ประชุมวิชาการต่างประเทศ 2) ระบบสนับสนุนงานวิจัย 3) การพัฒนาความเชี่ยวชาญและศูนย์ความเป็นเลิศ ซึ่งผลความก้าวหน้าของงานน่าจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ในปีนี้ และสำหรับบุคลากรสายอื่น นอกจากเรื่องที่รายงานแล้ว ทีมงานก็ยังประสานชี้แจงมหาวิทยาลัย จนได้ตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยเพิ่มมาบรรจุคนของเราได้มากขึ้น และกำลังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการขอความช่วยเหลือด้านงบประมาณจากรัฐบาลผ่าน สกอ. มาจัดสิทธิประโยชน์ความมั่นคงให้มากขึ้น ให้กับพนักงานทั้งหมดของคณะแพทย์และมหาวิทยาลัย
​​การจัดระบบค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นที่คณะทำงานกำลังจัดทำอยู่ ยังได้แก่การปรับเพิ่มค่าเวร ค่าทำการนอกเวลา การปรับเพิ่มค่าสาขาขาดแคลน และการจัดระบบสวัสดิการที่เลือกได้ตามความต้องการของ
แต่ละบุคคล (cafeteria fringe) นอกจากนี้ รองฯบริหารและงานคลังกำลังศึกษาการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่คณะจะสมทบการออมให้กับพนักงานเงินรายได้ และกองทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำสุดสำหรับบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนของเราที่มีความจำเป็นยามฉุกเฉิน
2. การปรับเปลี่ยนหน้าที่งาน
ขอเรียนว่า คณะฯจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่งานตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างงานและงบประมาณที่ได้รับจากภายนอกที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เช่น งานการจัดทำฐานข้อมูลตัวบ่งชี้ และข้อมูลของผู้ป่วยบางกลุ่มให้กับ สปสช. ซึ่งเมื่อโครงการของ สปสช.สิ้นสุด งบประมาณจาก สปสช.ก็หมดไป พนักงานเหล่านี้ก็ไม่มีงบสนับสนุน ผมและทีมบริหารบุคคลก็ดูแลโดยการจัดหางานในตำแหน่งที่ใช้ฝีมือและวุฒิเดิมต่อเนื่อง ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการต่อเนื่อง แต่หน้าที่มั่นคงกว่า เช่น เป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ของฝ่ายบุคลากร ฝ่ายวางแผน หรือเจ้าหน้าที่หน่วยส่งเสริมงานวิจัย และการเปลี่ยนหน้าที่งานก็อยู่บนพื้นฐานความสมัครใจ สำหรับเจ้าหน้าที่รปภ. ซึ่งคณะกำลังดำเนินการจัดระบบความปลอดภัยโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเสริมและทดแทน คณะก็เปิดโอกาสให้ รปภ.ที่วุฒิการศึกษาสูงกว่าได้โอนย้ายไปเป็นนายช่าง หรือ พขร. หรือไปรับตำแหน่งที่เท่าเทียมกันที่ขาดแคลนคนทำงานอยู่ โดยให้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่อเนื่องจากฐานเดิม หรือเพิ่มสูงขึ้นตามภาระงานและตำแหน่งงานใหม่ที่ใช้วุฒิการศึกษาสูงกว่า ส่วนคนที่ยังพอใจทำงานอยู่ที่เดิม เราก็ให้คงสิทธินั้น ๆ ไว้มิได้เคยคิดจะให้ออกจากงานแม้แต่คนเดียว เว้นแต่คนที่กำลังเกษียณอายุราชการไป กับทั้งกำลังมีโครงการพัฒนาศักยภาพเพิ่ม เพื่อให้พนักงานมีคุณค่า สามารถปรับเพิ่มเงินเดือนให้สูงขึ้นไปอีกอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ สมรรถนะในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น (ครอบคลุม รปภ.และ พขร.)
​จริงอยู่ การเปลี่ยนแปลงหน้าที่การทำงาน อาจสร้างความอึดอัดหรือลำบากในเบื้องต้น แต่ผมขอยืนยันว่า พนักงานที่โอนย้ายจากตำแหน่งเดิม เราจะให้ไปทำงานในตำแหน่งที่มีคุณค่า ใช้ฝีมือ ใช้วุฒิ ใช้ประสบการณ์ความรู้ความสามารถ ซึ่งจะได้รับการตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่อเนื่องจากเดิมหรือสูงขึ้นแน่ และจะมีความมั่นคงมากขึ้น
​สำหรับบุคลากรป่วยหรือสุขภาพเสื่อม ยิ่งเป็นเรื่องที่ผมดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ประวัติการดูแลคนเหล่านี้ในอดีตสมัยที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคงยืนยันได้ว่า สิ่งที่ทำสม่ำเสมอมา คือ ให้การดูแลรักษาพยาบาลเต็มที่ ดูแลให้สิทธิประโยชน์และการช่วยเหลือทั้งจากราชการและคณะแพทย์เต็มที่
เต็มสิทธิ ปรับลักษณะและภาระงานให้สอดคล้องกับสมรรถนะหรือความสามารถที่เขาทำได้ ซึ่งจะเป็นการทำให้คนทำงานได้แสดงคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีความภาคภูมิใจต่อตนเองตลอดชีวิต แน่นอนว่าบางครั้งจะต้องย้ายไปทำงานหน่วยอื่นซึ่งมีลักษณะงานเหมาะสมกว่า หลาย ๆ คนที่สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ยังทำงานที่มีคุณค่าอยู่ในหน่วยงานต่างๆของโรงพยาบาลเรา และเรื่องที่น่าจะเห็นชัด ได้แก่ การดูแลคนเก่าคนแก่ คนเกษียณอายุที่ด้อยสิทธิทุก ๆ คน คณะเพิ่งเปิดให้ได้รับการลงทะเบียนสามารถใช้สิทธิรับการรักษาพยาบาลที่ดีจาก ม.อ. พัฒนาระบบการจัดจ้างผู้ทรงคุณวุฒิที่เกษียนและริเริ่มระบบการจ้างพนักงานฝีมือที่เกษียน ได้แก่ พขร. 2 ตำแหน่งให้อยู่ช่วยทำงานให้เรา ในลักษณะงานและการตอบแทนที่มีคุณค่าแก่ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งหากระบบนี้ได้ผลดี ก็จะมีการขยายผลให้กว้างขวางขึ้นไปอีก
3. ความสุขสบายระยะสั้นหรือความสุขความมั่นคงระยะยาวของทุกคน
ขอเรียนว่า ผมอยู่ในคณะทำงานของอาจารย์ธาดา และ อาจารย์พันธ์ทิพย์ ที่ได้วางและบริหารระบบการเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการให้กับอาจารย์และบุคลากรของคณะแพทย์ทุกคนทุกระดับ
บนหลักการที่จัดให้ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์คนของเราได้รับมากขึ้น มากกว่าราชการทั่ว ๆ ไปโดยอยู่บนพื้นฐานสำคัญ คือ การประกันคุณภาพงาน เพราะทางหนึ่งเราต้องใช้เงินทุนมาตอบแทนคนของเรา ในอีกทางหนึ่งเราก็ต้องมีเงินทุนเพิ่มขึ้น ถามว่าเงินมาจากไหน มี 3 ทางใหญ่ ได้แก่ 1) สร้างงานที่เกิดรายได้ (รักษาพยาบาล) 2) จัดทำคำของบประมาณซึ่งก็ต้องเอางานเข้าไปผูกมัด 3) คณะแพทย์ลดความรั่วไหล ความฟุ่มเฟือย หรือความย่อหย่อนซ้ำซ้อนของระบบงาน หากเราสามารถจัดซื้อ จัดหา ที่โปร่งใสในรูปของคณะกรรมการ ลดการผูกขาด ได้ของดีราคายุติธรรม เงินที่เก็บตกได้แม้เพียง 3 - 5 % เช่นนี้ หากเทียบกับรายจ่ายของคณะแพทย์ประมาณเกือบ 5,000 ล้านบาทต่อปีแล้ว จะเป็นเงินสูงถึง 150 - 250 ล้านบาทต่อปีทีเดียว เงินทั้งหมดนี้ก็จะย้อนกลับมาเป็นค่าตอบแทน สวัสดิการของคนของเราทั้งหมด ไม่สูญหายไปโดยการปล่อยวาง
4. ธรรมาภิบาลขององค์กร
ขอเรียนว่า แม้คณบดีจะเป็นผู้รับผิดชอบและมีอำนาจสูงสุดของคณะแพทย์ เมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งก็ได้พยายามวางระบบการบริหารจัดการเรื่องสำคัญทั้งหมดโดยใช้คณะกรรมการทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเงินการคลัง คณะกรรมการกองทุนประกันสังคม คณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลฯ คณะกรรมการทรัพยากรบุคคล คณะกรรมการพิจารณาการลงทุนพัฒนาอาจารย์และเครื่องมือราคาแพง (steering committee) คณะกรรมการยา คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของอาจารย์และหน่วยงาน คณะกรรมการเหล่านี้ทุกชุดจะประกอบด้วยทีมบริหารที่รับผิดชอบโดยตรง อาจารย์ หรือบุคลากรอาวุโสของคณะที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก และตัวแทนอาวุโสจากมหาวิทยาลัย ทุก ๆ เรื่องจะรายงานตรงในรูปแบบของรายงานการประชุมที่เป็นเอกสารต่อคณะกรรมการคณะ ผมเป็นผู้เชื่อมั่นในการตัดสินใจโดยใช้ฐานข้อมูลที่เห็นภาพรวมในแต่ละเรื่อง และเชื่อว่าคณะกรรมการจะตัดสินใจได้ดี ก็โดยการได้รับข้อมูลจริง ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ใช่ข้อมูลเฉพาะส่วนย่อย การประชุมกรรมการคณะ ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุด ก็พยายามจัดวาระที่เป็นเรื่องสำคัญ มีการจัดเตรียมข้อมูลให้มากที่สุด และมีคณะกรรมการเจ้าของเรื่อง กลั่นกรองความเห็นสรุปประเด็นข้อแนะและทางเลือกนำเสนอ ซึ่งความเห็นก็มาจากผู้ที่รับผิดชอบที่อ้างอิงได้ แยกแยะระหว่างเนื้อหาและสิ่งปรุง
​สิ่งต่าง ๆ ที่ได้ทำไปแล้ว และจะทำต่อเนื่อง ก็เพื่อคนของเรา หวังเพียงให้คนของเราจะมีความมั่นคงในระยะยาว มีความผูกพันกับคณะแพทย์ ได้รับการตอบแทนที่ดี เพียงพอ และสูงขึ้น สามารถดำรงชีพ ดูแลครอบครัว ทั้งวันนี้และในอนาคต ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความมั่นคงขององค์กร
​ในวาระนี้ จึงถือเป็นโอกาสที่จะชี้แจงทำความเข้าใจแก่ทุก ๆ ท่าน เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจ ลดความหวั่นไหวจากข่าวลือ ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาคณะแพทย์ต่อไป
​ความจริงหรือไม่ สามารถพิสูจน์ได้จากการกระทำ ทั้งอดีตที่ผ่านมานับ 20 ปี ปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้นี้

​รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ
​คณบดี
​7 เมษายน 2556


Posted by : ธนพันธ์ , E-mail : (Cthanapa@yahoo.com) ,
Date : 2013-04-07 , Time : 22:23:53 , From IP : mx-ll-223.206.157-99.dynamic.3bb.co.th


ความคิดเห็นที่ : 1


   



ผมดีใจที่ได้รับข่าวทั้งสองด้านครับ และผมยังเชื่อมั่นท่านคณบดีสุธรรมครับ

ผลงานพิสูจน์คน จะเป็นหนึ่งพลังร่วมพัฒนาหน้าที่ของตนในคณะแพทย์ให้ดีที่สุดคับ


Posted by : ฝ่ามือมาร , Date : 2013-04-09 , Time : 08:38:46 , From IP : 172.29.13.70

ความคิดเห็นที่ : 2


   เห็นด้วยกับคุณฝ่ามือมาร และเป็นกำลังใจให้ทีมบริหารคณะฯ ด้วย

Posted by : บายใจ , Date : 2013-04-09 , Time : 13:13:22 , From IP : 172.29.12.25

ความคิดเห็นที่ : 3


   Show me, do not tell me. Actions speak louder than words..

Posted by : insulin , Date : 2013-04-09 , Time : 15:59:06 , From IP : 110.49.251.236

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<