ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

ประชุมทำไม?




   Life 101 นำเสนอประเด็นสุดฮิตของคนทำงาน..."ประชุมทำไม?"

บ้านเรามีการประชุมจำนวนมากเกิดขึ้นทุกวัน จนกระทั่งเป็นที่น่าสงสัยว่า...การประชุมส่วนใหญ่ทำให้คนทำงานเสียเวลาทำงานตรงหน้าโดยไม่จำเป็นเสียมากกว่า

การประชุมกลุ่มส่วนใหญ่เป็นการประชุมระดมสมอง อย่างที่เรียกว่า brain storming นั่นคือให้บุคลากรมาระดมของที่มีอยู่ในสมอง คือ ความคิด ความเห็น หรือข้อเสนอแนะ (แต่บางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะถูกเจือปนด้วยคำบ่น-คำต่อว่า-คำด่า)

การประชุมระดมสมองในประเทศไทยมักมีปัญหา สาเหตุเพราะ...

- ประเทศไทยมีชั้นอำนาจมาก
- ผู้น้อยไม่กล้าระดมสมอง
- ผู้ที่ระดมสมองก็มักได้รับบทเรียนหรือเรียนรู้ว่าเงียบไว้ปลอดภัยกว่า
- ผู้บริหารมักมีคำตอบในใจแล้วจึงทำให้การประชุมไร้ความหมาย

ส่วนการจัดกระบวนการกลุ่มประเภทให้บุคลากรระบายความในใจก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน นั่นคือระบายแล้วก็แล้วไป ทั้งหมดนี้ทำให้การระดมสมองหรือระดมความคิดไม่เกิดผลอะไรมากนักในประเทศไทย

การระดมความเห็นโดยไม่มีข้อมูล เป็นที่ทราบว่าไม่มีประโยชน์เช่นกัน

การให้ข้อเสนอแนะที่ไม่เหมาะสมกับบริบทของคนทำงาน มักส่งผลให้คนทำงานทำท่าฟังไปเช่นนั้นเอง เพราะรู้ว่าเป็นข้อเสนอแนะประเภทเอาแต่ใจตัวคนเสนอแนะ คนเสนอมิใช่คนทำ

คำบ่น คำด่า มีประโยชน์ในแง่การระบาย แต่ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาปัญญา

◌◌◌◌◌◌◌◌

ความคิด หมายถึง กรอบความคิด หรือความคิดสำเร็จรูป

การประชุมระดมความคิดจะเป็นการประชุมที่ดี...หากที่ประชุมมีเสรีภาพที่จะให้ระดมความคิดอย่างเปิดกว้างและไม่เป็นภัย จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า...การต่อยอดทางปัญญา

หมายความว่า...ตอนที่เริ่มเปิดประชุมแต่ละคนมีความคิดชุดหนึ่ง ระหว่างประชุมจะเกิดความคิดใหม่ๆ และหลังประชุมจะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าทุกคนและองค์กรมีปัญญา (wisdom) สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง กลับไปทำงานด้วยวิธีใหม่ที่ชาญฉลาดและได้ผลมากกว่าเดิม

◌◌◌◌◌◌◌◌

การจัดกระบวนการที่เปิดโอกาสให้บุคลากรได้เล่า “วิธีทำงานของตนเอง” เป็นการประชุมอีกลักษณะหนึ่ง แตกต่างจากการประชุมระดมสมองอย่างสิ้นเชิง

หลักการคือทำให้บุคลากรรู้สึกภาคภูมิใจกับงานที่ตนเองทำอยู่ทุกวัน ดังนั้นเรื่องเล่าจึงควรเป็นเรื่องเล่าความสำเร็จ

หากเป็นคุณหมอหรือพยาบาลอาจจะเล่าเรื่องที่ตนเองได้ช่วยเหลือผู้ป่วยคนหนึ่งอย่างดีที่สุด ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ครอบครัว แม้กระทั่งด้านจิตวิญญาณ

หากเป็นคุณครูอาจจะเล่าเรื่องที่ตนเองช่วยเหลือนักเรียนคนหนึ่งให้หยุดยาเสพติดและผลการเรียนดีขึ้น

วิธีคือเตรียมเรื่องเล่าให้ดี เตรียมกลุ่มที่สนใจเรื่องราวคล้ายกันมาเป็นผู้ฟังและจะเป็นผู้เล่าในลำดับถัดไปด้วย

พูดง่ายๆ ว่านี่คือวงประชุมที่มีผู้เล่าและผู้ฟัง การฟังอย่างที่เรียกว่าตั้งใจฟังหรือฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) เป็นทักษะสำคัญที่ผู้เข้าร่วมกลุ่มจะได้ฝึก

◌◌◌◌◌◌◌◌

ผลจากการแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าที่ดีจะทำให้เกิดปรากฏการณ์สองอย่าง หนึ่งคือ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” สองคือ “พัฒนาจิต”


1. "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" หมายความว่า ผู้เล่าและผู้ฟังได้แลกเปลี่ยนวิธีทำงาน และได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันจากทักษะตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง ทำให้ทุกคนได้ความรู้ใหม่กลับไปทำงานของตน

ที่ดีกว่าคือเป็นความรู้ใหม่ที่เหมาะสมกับบริบทขององค์กรและหน่วยงานของตนเอง ไม่มีใครบีบบังคับให้ฟังหรือสั่งการ แต่เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นเองจากการตั้งใจฟัง

ระหว่างประชุมผู้เข้ากลุ่มทุกคนจะได้พูดว่า “ตนเองเรียนรู้อะไร” การพูดออกมาว่าตนเองเรียนรู้อะไรเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เรียกว่าการสะท้อน (reflection) นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่สอง


2. "พัฒนาจิต" ...เป็นคำกว้างๆ หมายรวมตั้งแต่คนทำงานภูมิใจในงานของตนเอง เห็นคุณค่าของงานที่ตนเองทำ

- นำไปสู่คุณค่าของตนเอง
- นำไปสู่คุณค่าของงาน
- นำไปสู่คุณค่าของอาชีพหรือวิชาชีพ
- นำไปสู่ความรู้สึกเป็นสุขกับการทำงาน สนุกกับการทำงาน ไม่เหนื่อยง่าย ไม่เบื่องาน

กระบวนการกลุ่มแบบนี้จะเหนี่ยวนำให้เกิดเสรีภาพในการพูดและการฟัง เพราะเรื่องที่พูดมิใช่เรื่องของคนอื่น มิได้วิพากษ์วิจารณ์ใครหรืออะไร แต่เป็นเรื่องเล่าการทำงานของตนเองล้วนๆ

ส่วนผู้ฟังอย่างตั้งใจมีโอกาสเจริญสติระหว่างการฟังโดยไม่รู้ตัว เหล่านี้ทำให้ผู้เล่าและผู้ฟังได้เรียนรู้จักใจตนเอง มีการพัฒนาจากภายใน มีการพัฒนาจิต มากกว่านี้คือพัฒนาทางจิตวิญญาณ


◌◌◌◌◌◌◌◌

จะเห็นว่าสิ่งที่ได้จากการประชุมแบบนี้แตกต่างจากการประชุมระดมสมองที่ไม่มีเสรีภาพจริงๆ ให้ระดม

การประชุมที่ไม่มีเสรีภาพมักทำให้เกิดผลตรงข้ามกับที่ว่ามา คือ...

- ทำให้เหนื่อยหน่าย
- รู้สึกว่างานประจำเป็นภาระ
- ไม่เห็นคุณค่าของงาน
- ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง
- หลงลืมอุดมการณ์ทางวิชาชีพของตนเอง
- ท้อแท้ง่าย และหมดไฟเร็ว

การประชุมที่เปิดโอกาสให้เล่าเรื่องการทำงานที่ได้ผลดีและการตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง มีเนื้อหาที่อิงกับการทำงานของคนทุกคน เป็นประสบการณ์ตรง มิได้อิงกับเรื่องอื่นใด หากจัดกระบวนการดีๆ สามารถแปลงเรื่องเล่ากลายเป็นปัญญา

การประชุมที่ดีควรช่วยให้บุคลากรค้นพบตนเอง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับความสุขทางปัญญา (spiritual health)

และค้นพบว่า...ตนเองเป็นบุคคลมีศักยภาพที่จะสร้างนวัตกรรม (innovation) หรือคิดค้นวิธีทำงานใหม่ๆ ในการทำงานประจำให้มีผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมได้

การพัฒนามนุษย์ที่มีค่าสูงคือพัฒนา...ปัญญา

◌◌◌◌◌◌◌◌

Credit : นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์


Posted by : 7s , Date : 2013-03-08 , Time : 13:15:00 , From IP : 172.29.8.80

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.002 seconds. <<<<<