น่าเป็นห่วงสังคมไทย : หญิงไทยถูกข่มขืนวันละ 12 ราย
หญิงไทยถูกข่มขืนวันละ 12 ราย
ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
สธ. เต้นเปิดศูนย์พึ่งพิงช่วยผู้หญิงและเด็กแบบวันสต็อปเซอร์วิสเป็นการด่วน เตรียมขยายเครือข่ายทั่วประเทศ ตั้งเป้าลดสถิติหญิงไทยถูกข่มขืนกระทำชำเรา
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย น.พ.วัลลภ ไทยเหนือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.ศิริพร กัญชนะ รองอธิบดีกรมอนามัย และนางสาวศันสนีย์ นาคพงษ์ รองโฆษกรัฐบาล ร่วมกันแถลงข่าวเนื่องในวันสตรีสากลที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อเวลา 14.00 น. ว่า ในปีนี้ สธ.มีนโยบายให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดทั่วประเทศเปิดให้บริการผู้หญิง เด็กและเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของสังคม
ไม่ว่าจะถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน เพื่อให้การดูแลครอบคลุมทั้งร่างกายและจิตใจแบบครบวงจรเบ็ดเสร็จจุดเดียว ให้คำปรึกษาทุกเรื่อง หากคนป่วยมีปัญหาด้านอื่น เช่น คดีความกฎหมาย สิทธิ ก็จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือต่อไปเป็นบริการฟรี
นางสุดารัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ความรุนแรงทางสังคมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก ในแต่ละปีองค์การอนามัยโลกรายงานว่าประชากรโลกตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเกือบ 2 ล้านคน เสียชีวิต 520,000 คนโดยความรุนแรงนี้เป็นสาเหตุการตายหลักของประชาชนวัยแรงงานอายุ 15-44 ปี และเหยื่อความรุนแรงที่เสียชีวิตร้อยละ 7 เป็นเพศหญิง โดยเฉพาะความรุนแรงในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบเกิดขึ้นในกลุ่มผู้หญิงมากกว่าชายถึงร้อยละ 4 เท่าตัว ผลกระทบความรุนแรงนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ประมาณ 40,000 ล้านบาท
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยแนวโน้มเพิ่มขึ้น คดีทางเพศถูกข่มขืนกระทำชำเรา แจ้งความเพิ่มจาก 4,037 คดี ในปี 2543 เป็น 4,300 คน ในปี 2545 เฉลี่ยวันละ 12 คน โดยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ เฉลี่ยวันละ 2 คน และจากการสำรวจข้อมูลผู้ใช้บริการในโรงพยาบาล 21 แห่ง เสียชีวิต 61 คน เฉลี่ยปีละ 3 คนต่อแห่ง โดยบ้านเป็นสถานที่เกิดเหตุสูงสุดคือร้อยละ 71 และร้อยละ 44 ถูกสามีหรือคนรักทำร้าย
รมว.สธ. กล่าวต่อว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสตรีไทยที่เป็นปัญหามากในขณะนี้ ได้แก่ความรุนแรงทางเพศ พบว่าข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ร้อยละ 31 เป็นข่าวการข่มขืนและฆ่า การรุมโทรมแล้วฆ่าร้อยละ 19 ในจำนวนนี้มีเหยื่อที่เป็นเด็กหญิงอายุไม่ถึง 15 ปี มากถึงร้อยละ 40 ประเด็นนี้จัดว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของสตรีมาก
นอกจากนี้ปัญหาที่พบได้อีกก็คือ การใช้แรงงานเด็กหญิง พบว่าผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานอายุน้อยกว่าเด็กชาย และได้ค่าแรงต่ำกว่า และผู้หญิงยังถูกบังคับค้าประเวณี รวมทั้งความรุนแรงในครอบครัว สถานการณ์นี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะอารมณ์และจิตใจของเด็ก ที่พบบ่อยความรุนแรงทางเพศ มีร้อยละ 37 รองลงมาคือการค้าหญิงมีร้อยละ 22
น.พ.วัลลภ กล่าวว่า สธ.ได้ตั้งศูนย์บริการเด็กและสตรีในภาวะวิกฤตจากความรุนแรงขึ้นในโรงพยาบาลนำร่องในโรงพยาบาลศูนย์ 20 แห่ง เริ่มในปี 2543 เป็นต้นในลักษณะบริการเบ็ดเสร็จครบวงจรจุดเดียวคือที่โรงพยาบาล ซึ่งจะมีการประสานงานให้ความช่วยเหลือในรูปสหวิชาชีพ ได้แก่ ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ระบบยุติธรรม ด้านสังคมสงเคราะห์ ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินงานในโรงพยาบาลนำร่อง พบว่ามีความก้าวหน้ามากในปี 2544-2546 มีผู้ใช้บริการกว่า 3,000 ราย ในจำนวนนี้กว่า 60% เป็นการบาดเจ็บฉุกเฉิน และเข้าสู่ศูนย์พึ่งได้โดยตรง
จากการวิเคราะห์การช่วยเหลือแก่หญิงที่มีปัญหาในโรงพยาบาล 15 แห่ง อันดับ 1 ได้แก่การรักษาพยาบาล 351 ราย 2. ให้ยาป้องกันการตั้งครรภ์หลังถูกข่มขืน 248 ราย 3.ยาป้องกันการติดเชื้อ 123 ราย สงเคราะห์ค่ารถ 70 ราย 5.ให้ยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี 67 ราย 6.สงเคราะห์ ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า เครื่องใช้ 50 ราย และ 7.ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวอีก 44 ราย แสดงว่าบริการด้านนี้มีความจำเป็นต่อสภาพสังคมในปัจจุบันที่จะต้องขยายความครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว น.พ.วัลลภกล่าว
ทั้งนี้ในปี 2547 สธ.ได้ร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 9 หน่วยงานขยายโครงการดังกล่าวครอบคลุมทั่วประเทศอีก 104 แห่ง คือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัด 94 แห่ง ที่เหลือเป็นของโรงพยาบาลสังกัดกทม. กองทัพ และทบวงมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 106 ล้านบาท โดยประชาชนสามารถโทร.แจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่ 1669 ซึ่งเป็นเลขเดียวกันกับแจ้งเหตุฉุกเฉิน และเตรียมขยายเครือข่ายลงสู่โรงพยาบาลชุมชนต่อไป
Posted by : แสนคำนึง , Date : 2004-03-09 , Time : 17:01:09 , From IP : 172.29.2.161
|