ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

“DRG version 5″ หวั่นหายนะสาธารณสุขไทย «




   27 เมษายน 2012

หมอไท ทำดี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ได้ออกประกาศแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต่างๆที่ทำสัญญากับทุกกองทุนทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคมและข้าราชการ(กรมบัญชีกลาง)ให้ใช้ DRG version 5 ซึ่งประกาศดังกล่าวไม่ได้มีการหารือกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใด จึงทำให้โรงพยาบาลต่างๆมีการหารือกันเพื่อเสนอให้คณะกรรมการสปสช.ระงับการใช้ DRG version5 เพราะเกรงว่านโยบายนี้จะทำให้โรงพยาบาลรัฐที่มีปัญหาการขาดทุนมากยิ่งขึ้น

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า DRG มาแล้วจากทางสื่อต่างๆ และเห็นการปะทะคารมระหว่างนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขบางคนกับผู้บริหารของสำนักงานประกันสังคมเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วหลายรอบ อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่คงยังงงๆ ว่า DRG คืออะไร แล้วการจ่ายเงินตาม RW ที่ว่า 10,500 บาท กับ 15,000 บาทในกรณีฉุกเฉินคืออะไรกันแน่ ทำไมนักวิชาการผู้นั้นถึงให้ความเห็นว่า สำนักงานประกันสังคมไม่ควรจ่ายเงินถึง RW ละ 15,000 ควรจ่ายน้อยกว่านี้โดยอ้างเหตุผลว่า สปสช. และกรมบัญชีกลางจ่ายแค่ RW ละ 9,000 และ 12,000 บาทตามลำดับ

DRG คืออะไร แล้วเกี่ยวอะไรกับ RW, Base Rate และการเรียกเงินคืนจากกองทุนต่าง ๆ ของโรงพยาบาล

DRG มาจากคำว่า Diagnostic related group หรือกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม คือระบบการแบ่งกลุ่มผู้ป่วยในอย่างหนึ่ง (Patient Classification System) ที่อาศัยข้อมูลเกี่ยวกับโรคหลัก โรคร่วม และภาวะแทรกซ้อนไม่มากนัก มาจัดกลุ่มผู้ป่วยเพื่อบอกว่า ผู้ป่วยในกลุ่มเดียวกันจะใช้เวลานอนในโรงพยาบาลใกล้เคียงกัน และสิ้นเปลืองค่ารักษาหรือทรัพยากรใกล้เคียงกัน

RW มาจากคำว่า Relative Weight หรือน้ำหนักสัมพัทธ์ หมายถึง ค่าเฉลี่ยของการใช้ทรัพยากรในการรักษาผู้ป่วยตาม DRG นั้น เป็นการเทียบกับต้นทุนเฉลี่ยของการรักษาผู้ป่วยทั้งหมด ส่วน Base Rate ก็คือ จำนวนเงินที่จ่ายต่อหนึ่งหน่วย adjRW หรือน้ำหนักสัมพัทธ์ที่ปรับค่าตามวันนอนโรงพยาบาลแล้ว เช่น ปี 2555 สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติจ่าย 9,000 บาท กรมบัญชีกลางจ่าย 12,000 บาท และสำนักงานประกันสังคมจ่าย RW<2 ที่สำนักงานประกันสังคมมองว่าเป็นโรคไม่ร้ายแรงประมาณ 3,500 บาท และ RW>2 ที่สำนักงานประกันสังคมมองว่าเป็นโรคร้ายแรง 15,000 บาท และก่อนปี 2555 นั้น กองทุนประกันสังคมจ่ายอัตราเดียวประมาณ 3,500 บาท จนทำให้เกิดปัญหาโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่ยอมส่งต่อผู้ป่วยโรคร้ายแรงไปรักษายังโรงพยาบาลใหญ่มาแล้ว

การที่กองทุนต่างๆ หันมาจ่ายเงินคืนค่าบริการกับโรงพยาบาลตาม DRG ก็เพราะการจ่ายเงินแบบ Fee for Service หรือจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกระบวนการรักษา(หัตถการ) และการรักษาพยาบาล (ค่ายา) ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นเงินที่มากเกินไป กองทุนต่างๆ ไม่สามารถแบกรับได้

นอกจากนี้ การจ่ายเงินตาม DRG ยังเท่ากับเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมไปในตัวด้วย ทั้งนี้เพราะการจ่ายเงินตาม DRG จะทำให้ผู้ให้บริการคำนึงถึงต้นทุนและรายได้ในการตัดสินใจทำหัตถการต่างๆ อย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น มิเช่นนั้นแล้ว ภาวะขาดทุนจะเกิดกับผู้ให้บริการเอง เช่น ผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลด้วยโรคท้องเสีย มีค่า adjRW อยู่ที่ 0.21 เท่านั้น หากผู้ป่วยไม่มีโรคร่วมหรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ รายได้ของสถานพยาบาลที่ สปสช. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคมจ่ายคืนให้กับสถานพยาบาลจะเท่ากับ 1,890 บาท, 2,520 บาท และ 735 บาท ตามลำดับ

โดยทั่วไปผู้ป่วยจึงเห็นว่า แพทย์จะสั่งการตรวจห้องปฏิบัติการเพียงแค่การตรวจอุจจาระและภาวะเม็ดเลือดขาวเท่านั้น หากผู้ป่วยขอทำอัลตร้าซาวด์ คอมพิวเตอร์ ตรวจการทำงานของตับ ฯลฯ แพทย์มักปฏิเสธ หากไม่คาดว่าจะมีโรคร่วมร้ายแรงอื่นๆ เพราะภาวะขาดทุนจะตกกับโรงพยาบาลผู้ให้บริการ

อ่านมาถึงตรงนี้ผู้อ่านคงทราบแล้วว่า เหตุใดจึงมีการถกเถียงกันระหว่างนักวิชาการและผู้บริหารกองทุนประกันสังคม แท้ที่จริงแล้วกองทุนประกันสังคมมิได้จ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลคู่สัญญามากมายเลย ทั้งนี้เพราะโรคส่วนใหญ่ของคนวัยทำงานที่อยู่ในกองทุนประกันสังคมมักมิใช่โรคร้ายแรงที่มี RW>2 การที่กองทุนต้องจ่ายเงินมากในส่วน RW>2 ก็เพราะกองทุนทราบดีว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาก่อนปี 2555 กองทุนจ่ายเงินโรงพยาบาลน้อยมากเพียง RW ละ 3,500 บาทเท่านั้น ซ้ำยังลดลงทุกปี คนไข้ประกันสังคมแทบทุกรายที่นอนโรงพยาบาลทำให้โรงพยาบาลขาดทุนโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน จนโรงพยาบาลเอกชนถอนตัวจากกองทุนประกันสังคมไปเกือบครึ่ง การที่กองทุนประกันสังคมแยกการจ่ายโรคร้ายแรงออกมา ก็เพื่อเป็นแรงจูงใจให้โรงพยาบาลเอกชนยังยอมต่อสัญญา และโรงพยาบาลขนาดเล็กยอมส่งผู้ป่วยต่อให้เข้ารับการรักษาในโรคร้ายแรงยังโรงพยาบาลใหญ่

ด้วยเหตุนี้ก่อนเมษายนปี 2555 ทุกกองทุนคำนวณค่า RW จาก DRG version 4 แต่อยู่ๆ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มองว่า DRG version 4 ไม่สะท้อนต้นทุนจริง จึงประกาศให้ทุกโรงพยาบาลที่ทำสัญญากับทุกกองทุนหันมาใช้ DRG version 5 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา



จากข้อมูลข้างต้น ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า RW ที่คำนวณจาก DRG version 5 น้อยกว่า RW ที่คำนวณจาก DRG version 4 แทบทุกวินิจฉัย และยิ่งคนไข้มีหลายโรคหรือโรคร่วมมากหรือป่วยมาก RW ยิ่งลดลงมาก นั่นหมายความว่า โรงพยาบาลทุกแห่งจะได้เงินคืนจากทุกกองทุนน้อยลงตามไปด้วย ไม่ว่า Base Rate หรือตัวคูณของแต่ละกองทุนสำหรับ RW จะเป็นเท่าใด นั่นแหมายความว่า สถานการณ์การเงินของโรงพยาบาลที่ย่ำแย่่อยู่แล้วจะยิ่งย่ำแย่หนักเข้าไปอีก

ในขณะที่ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่ายา ค่าอาหารคนไข้ รวมทั้งค่าแรงด้วย เมื่อโรงพยาบาลขาดทุนมากขึ้น ย่อมไม่มีเงินที่จะซื้อยา คนไข้มาโรงพยาบาลก็จะไม่ได้ยา ไม่มีเงินจ่ายค่าแรงลูกจ้างชั่วคราว เช่น เวรเปล คนทำความสะอาด และค่าล่วงเวลาสำหรับข้าราชการที่ทำงานล่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือพยาบาล เพราะเงินที่จ่ายให้กับลูกจ้างชั่วคราวและค่าล่วงเวลาล้วนมาจากรายได้ของสถานพยาบาล มิได้มาจากงบประมาณแผ่นดิน เมื่อไม่มียาคนไข้ก็เดือดร้อน โรงพยาบาลไม่มีเงินจ่ายค่าแรง กระทบขวัญและกำลังใจของผู้บริการอย่างแน่นอน

อ่านมาถึงตรงนี้ ประชาชนคงนึกภาพออกแล้วว่า หายนะของวงการสาธารณสุขไทยอยู่แค่เอื้อมนี่เอง


Posted by : insulin , Date : 2012-04-27 , Time : 12:41:31 , From IP : 172.29.3.8

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.006 seconds. <<<<<