ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

พยาบาลจี้รัฐทำตามนโยบายที่แถลงสภาฯ แฉซ้ำปัญหารุมเร้า-บีบคั้นจนต้องลาออก




   *** พยาบาลจี้รัฐทำตามนโยบายที่แถลงสภาฯ แฉซ้ำปัญหารุมเร้า-บีบคั้นจนต้องลาออก วิจัยชี้ร.พ.ทั่วปท.ต้องการอีกกว่า4หมื่นคน แนะทางแก้ 5 ข้อดึงคนเก่า-สร้างคนใหม่ ***

ชี้ไทยยังขาดพยาบาลอีกกว่า 4 หมื่นคน สาเหตุขาดพยาบาลมาจากคนต้องการเข้าถึงบริการการแพทย์มากขึ้น ขณะที่หน่วยงานจ้างน้อยลง ขณะที่อนาคตไทยต้องการพยาบาล 1 คนต่อประชากร 400 คน แต่ก็ยังทำไม่ได้ เพราะความต้องการมาก กลับผลิตได้น้อย อาจารย์พยาบาลก็ขาดแคลน จะยิ่งแย่ถ้าลูกจ้างอีกเกือบ 2 หมื่นคนลาออกไปอีก แนะทางแก้ปัญหา 5 ประเด็นใหญ่ ดึงคนเก่าไว้ สร้างคนใหม่ทดแทน ทำให้ชีวิตการงานเจริญก้าวหน้าเหมือนอาชีพอื่น พัฒนาคนเกษียณอายุมาเป็นอาจารย์ ปรับปรุงค่าตอบแทนให้เป็นธรรมและคุณภาพชีวิต สร้างแรงจูงใจสำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่กันดารและขาดแคลน

จากกรณีที่ศูนย์ข่าว TCIJ ได้นำเสนอข่าวกลุ่มวิชาชีพพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ เตรียมรวมตัวกันเพื่อออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลโดย กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ก.พ.เร่งแก้ไขปัญหาการบรรจุตำแหน่งราชการให้กับพยาบาลลูกจ้าง และ ปัญหาความการขึ้นสู่ตำแหน่งพยาบาลชำนาญการพิเศษที่ยังติดขัดอีก 300 กว่าตำแหน่ง โดยระบุว่าหากรัฐบาลยังไม่เร่งแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม จะมีการรวมตัวกันหยุดงาน พร้อมเรียกร้องให้สังคมหันมาให้ความสำคัญกับอาชีพพยาบาลเนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องทำงานในสภาวะกดดัน และความคาดหวังของสังคมจนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัจจุบันเกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านพยาบาลอย่างรุนแรง

** นายกฯแถลงชัดจะพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพทั้งระบบ
ทั้งนี้ศูนย์ข่าว TCIJ ได้ติดตามข้อมูลในปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้เข้าขอข้อมูลจาก ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล ซึ่งได้ติดตามศึกษาประเด็นดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้มีการดำเนินการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อการแก้ปัญหาและเตรียมที่จะนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย ดร.กฤษดาเปิดเผยว่า จากนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2554 ที่ผ่านมา มีนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาสุขภาพของประชาชนอยู่ด้วย ระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายลงทุนด้านบริการสุขภาพ โดยการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพทั้งระบบ พัฒนาระบบสารสนเทศด้านสาธารณสุข และเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอและยัง กำหนดแผนงานแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรในพื้นที่ สนับสนุนให้มีการเร่งผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้กลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนาในชนบท พร้อมกับการสร้างขวัญกำลังใจในเรื่องของความก้าวหน้าและค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งการแถลงนโยบายครั้งนั้นถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ที่จะทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นอกจากนี้นโยบายด้านสาธารณสุข 16 ประการ ของนายวิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข ก็ได้สร้างความชัดเจนในแนวทางการพัฒนาการสาธารณสุขของประเทศ และการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พยาบาลที่ยังมีความขาดแคลน และปัญหาความก้าวหน้าของผู้ประกอบวิชาชีพที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนต้องการบริการเพิ่ม-ข้อจำกัดการจ้าง สาเหตุปัญหาขาดแคลนพยาบาล

**ชี้มี 2 ปัจจัยทำให้ขาดแคลนพยาบาล
ดร.กฤษดากล่าวว่า ปัจจุบันการขาดแคลนพยาบาล ซึ่งเป็นกำลังคนหลักในระบบบริการสุขภาพ ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพยาบาล พบว่ามี 2 ประการหลัก คือ ความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น และ หน่วยงานมีข้อจำกัดในการจ้างงาน และไม่สามารถรักษากำลังคนพยาบาลไว้ในระบบบริการสุขภาพได้ตามความต้องการ สวนทางกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และระบาดวิทยา ประกอบกับการขยายหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนไทย และการขยายบริการสุขภาพ เพื่อรองรับการเปิดเสรีด้านการค้าบริการ ในฐานะศูนย์กลางการบริการการแพทย์ (Medical Hub) ในภูมิภาคเอเชีย ทำให้ให้มีความต้องการพยาบาลเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีความพยายามในการแก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่องแต่ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาคลี่คลายลงจนถึงปัจจุบัน

** อนาคตคนไทยต้องการพยาบาล 1 คน ต่อ 400 คน
จากข้อมูลผลการศึกษาของสภาการพยาบาล เพื่อคาดประมาณความต้องการพยาบาลในระยะ 10 ปีข้างหน้า ด้วยวิธี Health Demand Method ทั้งจากการใช้บริการสุขภาพของประชาชนไทย ประมาณ 65 ล้านคน และชาวต่างชาติ พบว่า ในระหว่างปี พ.ศ.2553-2562 ประเทศไทยจะมีความต้องการพยาบาลใน อัตราส่วนพยาบาล 1 คน ต่อ 400 ประชากร หรือประมาณ 163,500-170,000 คน ซึ่งผลการสำมะโนประชากรในปีพ.ศ. 2553 พบว่ามีประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 65.4 ล้านคน ควรจะต้องมีพยาบาลวิชาชีพประมาณ 163,500 คน ในขณะที่มีพยาบาลวิชาชีพอายุน้อยกว่า 60 ปี ทำงานในภาคบริการสุขภาพทั่วประเทศ ประมาณ 130,388 คน (ข้อมูลของสภาการพยาบาล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2554) ยังขาดแคลนอยู่ ประมาณ 33,112 คน ซึ่งเป็นการขาดแคลนในกระทรวงสาธารณสุขมากที่สุด ประมาณ 21,000 คน สำหรับพยาบาลด้านอาชีว-อนามัย มีความต้องการอีกประมาณ 8,000 คน สำหรับการดูแลด้านสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพและการขาดแคลนนี้ จะมากยิ่งขึ้นถ้าพยาบาลวิชาชีพที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว 18,000 คน ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุข
ส่วนการขาดแคลนในโรงพยาบาลอื่นๆ ในสังกัดภาครัฐและโรงพยาบาลเอกชน ประมาณ 12,100 คน จำนวนพยาบาลที่ทำงานในภาคบริการของประเทศในปัจจุบัน มีจำนวนใกล้เคียงกับไต้หวัน ในขณะที่มีประชากรของประเทศไทยสูงกว่าไต้หวัน 3 เท่า รวมประมาณการขาดแคลนพยาบาลโดยรวมในปัจจุบันมีสูงถึง 41,100 คน

** ขาดแคลนพยาบาลทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น
ดร.กฤษดากล่าวต่อว่า ปัญหาการขาดแคลนพยาบาล ไม่ได้เกิดเพียงเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จากสาเหตุที่แตกต่างกัน จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า ความเพียงพอของพยาบาล ส่งผลสำคัญที่จะสามารถลดอัตราการตายของมารดาและทารกลงได้ เพราะจะสามารถให้ความครอบคลุมการให้วัคซีนในเด็กเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นการขาดแคลนพยาบาล ยังส่งผลกระทบต่อการให้บริการแก่ประชาชน โรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่ง ไม่สามารถเปิดแผนกผู้ป่วยหนักได้ บางแห่งไม่สามารถเปิดให้บริการหอผู้ป่วยในใหม่ให้เพียงพอได้ ทั้งที่มีอาคารและเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆพร้อมแล้ว ทำให้เกิดสภาพผู้ป่วยล้นเตียง นอกจากนี้ยังพบว่า โรงพยาบาลที่ขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้น อัตราการตายในโรงพยาบาลสูงขึ้น และระยะเวลาการนอนในโรงพยาบาลของผู้ป่วยนานขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอีกด้วย

.....มีต่อ อีกโปรดติดตามฉบับเต็มๆตามลิงค์ด้านล่าง.....

สามารถอ่าต้นฉบับได้ตามลิงค์ข้างล่าง
พยาบาลจี้รัฐทำตามนโยบายที่แถลงสภาฯ แฉซ้ำปัญหารุมเร้า-บีบคั้นจนต้องลาออก


Posted by : บวบเองคับ , Date : 2012-04-01 , Time : 19:59:59 , From IP : 172.29.10.118

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.011 seconds. <<<<<