ความคิดเห็นทั้งหมด : 14

ไปดูมาแล้ว โหมโรง


   โหมโรง หนังยอดเยี่ยมประจำปีนี้ ที่กำลังจะเจ๊ง

วันแรกคนดู 10 คน
วันที่สอง เหลือ 4 คน
จาก ที่เห็นในโทรทัศน์ ทำให้เราทราบว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับ ระนาด ดนตรีไทยแค่นั้น ส่วนที่ว่ากระหึ่มทุกโรงนั้นคงจะเป็นลาโรงเร็วกว่าปกติเสียมากกว่า โฆษณาเรื่องนี้ทำหน้าที่ของมันได้แย่มากๆ
เครดิตของ อิทธิสุนทรที่เป็นหนึ่งในกลุ่มซูโม่ และทำหนังครั้งสุดท้ายเมื่อ สิบปีก่อน อาจจะไม่เป็นที่รู้จักกันล้วในสมัยนี้ บอกตรงๆว่าตัวผมเองรู้สึกเฉยๆ จนไม่เคยคิดจะไปดู จนกระทั่งได้พบกับรุ่นพี่ที่ทำงานในวงการ บอกว่าเป็นหนังที่ดีมากๆและเสียดายที่คงจะลาโรงเร็วๆนี้
ทำให้ผมต้องรีบไปดู!

หลังจากดูจบผมก็ได้เหตุผลสิบข้อที่ ทำให้คุณๆควรไปดูข้อดีของหนังเรื่องนี้
1.นับจากนางนาก มีหนังพีเรียดทยอยสร้างตามกันมาเรื่อยๆ และแน่นอน มันก็ห่วยลงเรื่อยๆ แต่ โหมโรง มีธีมที่เกิดขึ้นในอดีต แต่สารที่ต้องการสื่อ นั้นกลับพุ่งตรงมาสู่คนในพ.ศ. นี้โดยตรง หนังเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าเอาคนมาแต่งตัวให้โบราณ หรือ อลังการ แล้วขายความเป็นไทย ขอบอกว่าไม่ใช่เลย หนังทำได้ดีกว่านั้นโดยถ่ายทอเป็นพีเรียด ออกมาทาง อารมณ์ ความคิดและ ความรู้สึกของตัวละคร
2.หนังฮอลลีวู้ด ที่ดีหลายเรื่อง นำชีวิตของตัว คนธรรมดาที่มีอยู่จริงมาถ่ายทอดได้อย่างมีแง่มุมที่น่าสนใจ
เช่น a beautiful mind , Mr. Holland opus , schinden’s list จะหาหนังไทยที่ทำแบบนี้ได้น้อยมากๆ ทำให้บางครั้ง อดสงสัยไม่ได้ว่า เราหาคนไทยที่เป็นคนธรรมดาที่มีแง่มุม “อะไร”สักอย่างในชีวิตมาเล่าไม่ได้เชียวหรือจนกระทั่งโหมโรง นำเรื่องของ ครูศร ศิลปบรรเลง มาเล่าให้เราฟังอย่างสวยงาม
3.กลวิธีการนำเสนอเรื่อง มีตัวละคร ศร เป็นตัวเอก แต่ใช้การตัดต่อผสมกับกันไปมาระหว่างชีวิตในสมัยที่ดนตรีไทยรุ่งเรือง กับสมัยที่ดนตรีไทยถูกดูถูก โดยการตัดสลับไปมา ตั้งแต่เรื่องเริ่ม set up ตัวละคร และ ดำเนิน เรื่องตั้งแต่developmentไปจนถึง confict ของศร ทั้งในยามหนุ่มและ ยามชรา ให้คนดูได้รับรู้ไปพร้อมๆกัน ซึ่งจังหวะการตัด ทำได้กลมกลืนทำให้อารมณ์ของเหตุการณ์ทั้งสองขับดันซึ่งกันและกัน และสื่อความหมายเชิงนามธรรมให้คนดูเอากลับไปตีความเอง ในหลายๆด้านด้วย
4.นักแสดงที่เล่นเป็นศรในวัยหนุ่มไปหัดตีระนาดจริงๆอยู่ 6 เดือนเพื่อทำให้คนดูเชื่อว่าเล่นเก่ง และ หนังเรื่องนี้ไม่มีการใช้มุมกล้องหลบมือกับหน้าตัวละคร แต่ถ่ายตอนเล่นกันจะๆ และ คุณลุง อดุลย์ บุญรัตน์ พระเอกหนังไทยเก่าแก่ของเรา เล่นได้ดีมากๆ ลึกจริงๆ เก๋าสุดๆ
5. หลายคนที่คิดว่าไปฟังดนตรีไทยแล้วคงจะฟังไม่รู้เรื่องเพราะเสพยาก ขอบอกว่า เรื่องนี้เพลงสวยมาก และ ใช้ศิลปะการเล่าด้วยภาพได้ดี โดยแสดงอารมณ์เพลงออกมาโดยใช้สิ่งที่อยู่รอบๆเป็นตัวเล่าบรรยากาศ เช่น ความพริ้ว ของผ้าม่าน ,น้ำในแก้ว สีหน้าผู้ชม เป็นต้น
โดยเฉพาะเพลงสุดท้ายที่หลวงประดิษฐ์เล่นคือเพลงแสนคำนึง เศร้าและไพเราะมาก
6.หนังเรื่องนี้วิพากษ์สังคม ความเป็นคนไทยของเราในปัจจุบัน แต่ สื่อออกมาอย่างลุ่มลึก และนุ่มนวล
7.หนังเรื่องนี้ มี รสละเมียด ซึ่งเป็นรสชาติที่คนดูจะค่อยๆรู้สึกมากขึ้น มากขึ้น ในแต่ละซีนที่ผ่านไป
8.ฉากที่ลูกชายของครูศร นำเครื่องดนตรีต่างประเทศ เข้ามาในบ้าน เขียนบทและกำกับได้ดีจริงๆ
(ฉากนี้ขอไม่เล่าต่อเดี๋ยวรู้หมด)
9.ก่อนวันวาเลนไทน์ ผมกับคนรักเราplanว่าจะไปดูหนังกัน แฟนผมเธออยากดูปล้นนะยะมากกว่า เพราะเพื่อนเธอบอกว่าขำตลอด เราไปเที่ยวกันหลายที่ตั้งแต่เช้า พอตอนเย็น ผมก็ขัดใจเธอโดยการพาไปดูโหมโรง เมื่อดูเสร็จ ระหว่างทางกลับ บ้านเธอขอบคุณผม ที่ทำให้ครั้งนี้เธอไม่พลาดเรื่องที่สวยงามในชีวิต และบอกว่า เธอมีความสุขมากกับภาพยนตร์ ( a moment of happiness)

10.ไปดูกันเถอะอย่าให้ การโปรโมทห่วยๆทำลายหนังเรื่องนี้ เสียดาย



Posted by : moviemania , Date : 2004-02-13 , Time : 20:57:44 , From IP : 172.29.3.231

ความคิดเห็นที่ : 1


   ผมก็เพิ่งจะไปดูมาเมื่อคืนวันที่12 รอบ 3ทุ่ม 25 ปรากฎว่ามีคนร่วมโหมโรงด้วย 7 คน ครับ (แฟนอยากไปดูหลายวันแล้ว) เป็นหนังไทยที่ดีเรื่องหนึ่ง ไม่ผิดหวังที่ได้ไปดูครับ

Posted by : เห็นด้วยครับ , Date : 2004-02-13 , Time : 21:09:17 , From IP : 172.29.2.119

ความคิดเห็นที่ : 2


   น่าสนใจมากครับ

Posted by : ArLim , Date : 2004-02-13 , Time : 22:23:24 , From IP : 203.113.76.9

ความคิดเห็นที่ : 3


   เพิ่งได้ดูมาเหมือนกันครับ รอบที่ไปดูมีคนประมาณ 10 กว่าคนเอง
หนังดีมาก ๆ ไม่น่าเบื่อเลย น้ำตาคลอไปหลายฉาก ดนตรีไทยโดยเฉพาะระนาดในเรื่องนี้ดูแล้วมีขยับขาตามก็แล้วกัน ฉากสีซอก็สุดยอด โรแมนติคเหมาะกับเทศกาลมาก
อยากให้ไปช่วยดูหนังเรื่องนี้แล้วบอกกันปากต่อปากนะครับ สร้างกระแสในเรื่องดี ๆ หน่อย หนังดีจะได้ไม่ขาดทุน
ไม่ต้องเชื่อก็ได้ แต่ลองดูในกระทู้แนะนำของ pantip ห้องเฉลิมไทยแล้วกันว่าตอนนี้มีแต่กระแส ร่วมด้วยช่วยดัน โหมโรง


Posted by : pooh , Date : 2004-02-14 , Time : 01:13:57 , From IP : 172.29.3.246

ความคิดเห็นที่ : 4


   ขอบคุณทุกท่าน
สุดท้าย หนังเรื่องนี้คงได้เงินไปไม่มาก
ตามโรงหนังส่วนใหญ่จะดูรายได้ สามวันแรกเป็นตัวตัดสินอนาคตของหนังเรื่อนั้น คนในวงการเรียกกันว่าสามวันอันตราย

สำหรับเหตุผลที่อยากให้คุณๆไปดู ไม่ใช่เพราะหนังจะไม่ได้เงินเพียงเท่านั้น
เพียงแต่ ได้ไปค้นพบมา เลยอยากให้เพื่อนๆได้มีประสบการณ์ดีๆ
และรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจเหมือนกัน
เท่านี้


Posted by : moviemania , Date : 2004-02-14 , Time : 08:47:43 , From IP : 203.107.194.158

ความคิดเห็นที่ : 5


   หนังตัวอย่างเรื่องนี้ผมได้ชมครั้งแรกประมาณอาทิตย์ที่แล้ว สะกิดอารมณ์ตั้งแต่ได้ยินโฆษณาตัวอย่างระนาดเดี่ยว พอดูจบก็ตัดสินใจตั้งแต่ตอนนั้นว่าเรื่องนี้คงต้องมาชมแน่ๆ

ด้วยความเป็นเด็กฝั่งธนฯ และเด็กโรงเรียนวัดนาคกลาง (ทวีธาภิเศก) ผมครอบครูครั้งแรกกับครูประยูร ฟักภู่ ลูกเขยครูเฉลิม บัวทั่ง ลูกสาวครูเฉลิมก็สอน full-time อยู่ที่ทวีธาฯเหมือนกันแต่สอนร้อง ครูประยูรสอนหมดทุกอย่าง ชะตากรรมที่ดลบันดาลคือเด็กทุกคนบังคับเรียนขลุ่ยเพียงออ แต่เจ้ากรรมนิ้วผม (นิ้วก้อย) มันสั้นเกิน กดรูล่างสุดไม่ไหว ครูเลยจับมาตีระนาดเอก เพลงแรกที่ต่อคือคลื่นกระทบฝั่ง บังใบ แขกสาหร่าย (ตับวิวาห์พระสมุทร) จากนั้นก็เลยได้เล่าระนาดมาทุกวันจนพ่อซื้อระนาดให้ป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิต เล่นมาตลอดตั้งแต่ มศ.๑ จนจบ พบ. รวมเป็นเวลา 11 ปีเต็ม เป็นกิจกรรมที่ผมชื่นชอบมากที่สุด ได้รู้จัก "ครู" ที่สอนเพราะชอบทั้งๆไท่เงินเดือนแสนจะน้อย อย่างครูละเมียด ทับสุข ครูศิริ นักดนตรี ที่ชมรมดนตรีไทยและนาฏศิลป์ศิริราชจนครูศิริเริ่มเจ็บออดแอด เลยเชิญครูสมาน น้อยนิตย์มาจากฝั่งกรมศิลป์มาบอกเพลงต่อ ซึ่งนับเป็นโชคของแพทย์พยาบาลรุ่นนั้นที่ได้ทั้ง "ทางกรมประชาสัมพันธ์" (ครูศิริ นักดนตรี) และ "ทางกรมศิลป์" (ครูสมาน น้อยนิตย์)

สมัยก่อนนั้นดนตรีก็ไม่ได้เฟื่องมาก ยกเว้นที่ได้ท่านเจ้าขุนมูลนายอุปถัมป์ (อย่างเจ้าศร ในเรื่อง จะเห็นสีหน้าครูศิลป์ ตอนได้ยินกรมหมื่นฯจะรับอุปถัมป์ นั่นเป็นบุญและเป็นโอกาสทองอย่างยิ่งที่จะเจริญ) แต่วงการอยู่ได้เพราะความเป็นศิลปและศิลปินจริงๆโดยแท้ การประกวดประขันกันนั้นจริงจังมาก ไม่แพ้การประกวดหนังตะลุงภาคใต้เลยทีเดียว (ใครเคยอ่านหนังสือเรื่องของครู "พริ้ง พระอภัย" อาจจะรำลึกออก) ทางดนตรีทางใครทางมันเก็บเป็นความลับกันสุดๆเวลาจะประกวด เชือดเชื่อนกันด้วยฝีมือ ตรงนี้โดยความเห็นส่วนตัวผมว่าหนังทำได้ดีเอามากๆ จะไม่แปลกใจเลยถ้าเรื่อนี้จะสามารถส่งไปประกวดภาพยนต์ต่างประเทศ ตัวศิลปที่สื่อนั้นสวยงาม เสียงระนาดก็ "กระจ่าง" เค้นออกแม้กระทั่งความ "คะนอง" อย่างที่ท่านขุนคู่ปรับประเอกเปรยเมือ่ได้ยินครั้งแรก ความ "กราดเกรี้ยว" ตอนประมือกันครั้งแรก หนังทำให้เกิดความรู้สึก "พสุธากัมปนาท ดินฟ้าเปลี่ยนสี" หากเอาใจไปใส่แทนเจ้าศรตอนนั้น ก็คงแทบบ้าจริงๆ สีหน้าของศรนั้นทั้งเฝื่อนฝาดเมื่อรับรสแพ้อย่างราบคาบเป็นครั้งแรก ส่วน Highlight ทีหลังตอนดวลกันครั้งสองนั้น...เอาเป็นว่าเรื่องนี้ต้องซื้อ DVD มาเก็บไว้แน่ๆ (ลองมาเก็บไว้แกะเพลงตอนแก่นี่แหละ)

บทภาพยนต์มีมิติ ชอบตอนครูเทียนหย่อนสายระนาดให้ บอกว่ามัน "ขึงตึงเกินไป" เจ้าศรก็เข้าใจทันทีว่าดนตรีหรือศิลปทุกอย่างนั้น ไม่ใช่เพื่อกฏเกณฑ์ที่ขึงตึงเครียด ไม่ใช่ตีถูกทุกลูก ทุก "ไหว" ทุก "รัว" แต่เพื่อ "ความสวยงามและความสุนทรีย์" ดนตรีต้องมาจากใจ หน้าที่ของดนตรีคือสนุกสนาน เสทือนอารมณ์ (เสียง "ซออู้" ที่ศรเจอนางเอกครั้งแรกนั้นหวานนัก) ครูเทียนขอให้ศรเล่นระนาดไม่ใช่เพื่อชนะ แต่เพื่อดนตรี แม้แต่จะ "แหกคอก" แต่ว่าครแนะเป็นนัยว่า ศิลปนั้นไม่มีแหกคอก เพราะจิตใจมนุษย์นั้นไม่ควรจะมีคอกขวางกั้นความสวยงามหรือความสุนทรีย์

ตะก่อนโน้ตดนตรีไทยแต่ละโน้ตนั้นเป็นหนึ่งเสียงเต็ม ซึ่งต่างจากโน้ตสากลที่เสียง Me-Fa และ Te-Do นั้นต่างกันแค่ครึ่งเสียง และยังมีเสียงแฟล็ช เสียงชาร์ป ทำให้ตอนต่อโน้ตสามารถทำได้นุ่มนวล ถี่เนียนกว่า ตอนหลังทางกรมประชาสัมพันธ์ก็ริเริ่มตั้งเสียงใหม่ ผลก็คือเราสามารถนำเอาเครื่องสากลมาผสมรวมกับกับเครื่องปี่พาทย์ได้ วงดนตรีไทยก็อยู่ยงและ "คงสมัย" ไม่ล้าสมัยล้าหลัง ใครเคยได้ยินไวโอลินกับมโหรีก็คงจะเห็นด้วยกับผมว่ามันกลมกลืนกันดี

สุนทรีย์ศาสตร์เป็นสุดยอดของ "การสื่อสาร" เป็นการสื่อ "อารมณ์" ซึ่งลึกซึ้งไม่ตื้นเขิน วรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ภาษา ฯลฯ ที่สุดแล้วก็มาถึงจุดของสุนทรีย์ตรงนี้ ไม่มี boundary ไม่มีชนชาติ เชื้อชาติ แต่สุนทรียศาสตร์เป็น "สากล" โดยไม่ต้องมาแยกว่าดนตรีสากลหรือดนตรีไทย แค่ "ดนตรี" ก็พอ

ขอแนะนำเรื่องนี้ด้วยคนครับ



Posted by : Phoenix , Date : 2004-02-14 , Time : 21:29:54 , From IP : 172.29.3.206

ความคิดเห็นที่ : 6


   ดูมาแล้วเหมือนกันครับอยากบอกว่าเป็นหน้งไทยเรื่องหนึ่งที่ดูแล้วรับรู้ได้ถึงคุณค่าของความเป็นไทยจริงๆ เป็นการนำเสนอเรื่องง่ายๆที่กำลังจะไกลตัวคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นตนไทยออกไปทุกที ชวนเพื่อนไปดูแล้วหลายคน บางคนร้องยี้ตั้งแต่ได้ยินชื่อเรื่อง ทีหนัง hollywood บางเรื่องไม่เห็นมีความรื่นรมย์ซักนิดยังไปดูกันได้ อยากให้เปิดใจให้กว้างกว่านี้ครับ ผมว่าเดี๋ยวนี้คนไทยเราเองแท้ๆกลับเห็นคุณค่าของดนตรีไทยน้อยกว่าฝรั่งอีก แล้วคุณจะรู้ว่าเกิดเป็นคนไทยก็ไม่ต้องอายชาติไหนถ้าเราเห็นคุณค่าและตระหนักว่าเราก็มีของดีที่ไม่แพ้ใครเหมือนกัน

Posted by : med3-j1 , Date : 2004-02-15 , Time : 13:38:07 , From IP : 172.29.2.132

ความคิดเห็นที่ : 7


   เราควรสนับสนุนหนังดี ๆ
ไม่ใช่ดูหนังตลกไร้สาระ
การดูหนังแล้ว ขำกลิ้ง กับ ดูหนังที่ประทับใจมันแตกต่างกัน


Posted by : ไท , Date : 2004-02-15 , Time : 15:00:38 , From IP : 172.29.1.124

ความคิดเห็นที่ : 8


   ประวัติโดยสังเขป ครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ

หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) พ.ศ.2424 - 2497

--------------------------------------------------------------------------------

" คีตกวีเทวดา" หลวงประดิษฐ์ไพเราะ เดิมชื่อ ศร ศิลปบรรเลง เป็นบุตร นายสิน และนางยิ้ม ศิลปบรรเลง เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2424
ณ. บ้านคลองดาวดึงษ์ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม หลวงประดิษฐ์ไพเราะเล่นดนตรีตั่งแต่อายุ 5 ขวบ เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่เล่น คือ ฆ้องวง เริ่มเรียนดนตรีกับบิดา เมื่ออายุ 11 ขวบ ไม่นานนักก็แสดงฝีมือปรากฏไปทั่ว จนมีชื่อเสียงโด่งดังว่าเป็นมือระนาดที่หาตัวจับยาก ได้ตีประชันวงและแสดงฝีมือเป็นที่ปรากฏจนมีชื่อเสียงโด่งดังในกรุงเทพฯ

ต่อมาได้ตีระนาดถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์ฯ เพียงตีเพลงโหมโรงไอยเรศ ไม่ทันจบก็ได้รับคำชม และรับประทาน
ฉลองพระองค์แพร ครั้นได้เดี่ยวเพลงกราวถวาย ได้รับแหวนเพชรเป็นรางวัล และได้เป็นมหาดเล็กตั้งแต่นั้นมา โดยได้ตำแหน่ง จางวางมหาดเล็กในพระองค์หลังจากนั้นไม่นานได้มีรับสั่งให้ประชันวงกับนักระนาดฝีมือเอกสมัยนั้นเพราะคำประมาทและความตั้งใจจริง จึงทำให้บังเกิดเพลง "กราวในทางฝัน" ขึ้น ครั้นตีประชันเข้าจริงๆ ก็ชนะในฝีมืออย่างเด็ดขาด ทำให้ชื่อเสียงโด่งดังที่สุด จนชื่อ "จางวางศร" ติดปากคนทั่วไป นอกจากฝีมือในการตีระนาดแล้ว เครื่องดนตรีอื่นๆ ทั้งหลายก็บรรเลงได้อย่างดี เช่น ซอ และปี่

ในด้านการแต่งเพลง ท่านก็แต่งได้รวดเร็ว ไพเราะ มีกลเม็ดเด็ดพรายมากมาย โดยเฉพาะสมัยรับราชการในวังบูรพาภิรมย์ เพราะในสมัยนั้นมีการประกวดประชันเพลงที่แต่งใหม่กันบ่อยๆ ทั้งเพลง 3 ชั้น เพลงเดี่ยว แม้กระทั้งการประกวดสมอง ในการคิดประดิษฐ์ทางรับโดยนำเพลงที่ไม่เคยรู้จักมาร้องส่งให้ปี่พาทย์รับ ท่านก็นำวงรอดมาได้ทุกครั้ง

นอกจากฝีมือดนตรี และลีลาในการแต่งเพลงที่ดีเยี่ยมแล้ว คีตกวีผู้นี้ยังได้สร้างผลงานใหม่ๆ ให้แก่ศิลปการดนตรีไทยอย่างมากหาที่สุดมิได้ ท่านมีชีวิตรุ่งเรืองมาตลอดรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และยังได้ประดิษฐ์เพลงประกอบละครเรื่อง "ผกาวลี" ของเสถียรโกเศศ ถวายสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งดำรงพระอริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ประทับทอดพระเนตรอยู่ด้วยทำให้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 8 มีพระดำริทรงศึกษาดนตรีไทยบ้าง แต่มาด่วนสวรรคตเสียก่อน หลังจากนั้นไม่นานท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะก็ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2497 เวลา 19.45 น. อายุ 74 ปี 7 เดือน 7 วัน

========================================

นำเสนอเพื่อศึกษาแก่รุ่นต่อๆไปครับ



Posted by : Phoenix , Date : 2004-02-15 , Time : 16:42:10 , From IP : 172.29.3.246

ความคิดเห็นที่ : 9


   ดูมาแล้วเหมือนกันสนุกมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
ไม่ดูเสียดายแย่เลยนา


Posted by : คนดูหนังบ่อย , Date : 2004-02-15 , Time : 19:52:43 , From IP : 172.29.2.111

ความคิดเห็นที่ : 10


   ไม่รู้จะเอ่ยคำขอบคุณอย่างไรดี กับความรู้สึกที่ทุกท่านมีให้ต่อ " โหมโรง "
คิดไม่ถึงเลยว่า หนังจะเป็นที่รักของผู้ที่ได้ชม ถึงขนาดนี้
ทุกๆถ้อยคำ ที่บอกเล่าถึงความสุข ความอิ่มเอม ที่ได้จากหนัง
เป็นรางวัลอันยิ่งใหญ่ สำหรับผมและทีมงานทุกคนครับ

คงไม่ใช่เรื่องธรรมดา ที่ผู้ชมซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆกับหนัง
จะร่วมใจกัน เข้ามาช่วยดูแล ประคับประคอง หนังสักเรื่องถึงขนาดนี้
ซึ่งคงไม่ได้เกิดจากความชื่นชมในตัวหนังเพียงอย่างเดียว
แต่สิ่งสำคัญคงเป็นเพราะ
หนังถ่ายทอดความรู้สึกร่วมบางอย่าง ที่เราต่างมีตรงกัน
มันเป็นความภูมิใจ ความหวงแหนในสิ่งดีงามของแผ่นดิน
และตระหนักในคุณค่าความเป็นตัวตนของเราเอง

แม้รายได้ของหนัง จะเป็นที่รู้กันว่า อยู่ในอาการน่าเป็นห่วง
แต่ปรากฎการณ์นี้ ก็ทำให้ทุกอย่างอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น

ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าหนังจะพบกับบทสรุปทางธุรกิจเช่นไร
ผมอยากให้ทุกท่าน ที่ร่วมเป็นกำลังใจให้กับ " โหมโรง " ได้รับรู้ว่า
สิ่งที่ก่อเกิดขึ้น ในหมู่ผู้ที่ได้ชมหนังเล็กๆเรื่องนี้
ช่างอบอุ่น งดงาม และน่าอัศจรรย์เหลือเกินครับ


จากคุณ : อิทธิสุนทร[ 14 ก.พ. 47 18:57:20

ขออนุญาต ก๊อป ที่ ท่านมุ้ย(cinephile) เข้ามาโพส ให้ความรู้ เรื่อง โหมโรง มาลงในในกระทู้นี้ครับ จะได้อ่านกันทั่วถึง

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

หลังจากที่สมเด็จวังบรูพาฯสิ้นพระชนม์ จางวางศรก็ตกทอดเป็นมรดกกรมหลวงลพบุรีราเมศ ผู้เป็นปู่ของผมเอง ผมยังเคยฟังจางวางศรตีระนาดตอนที่ผมเป็นเด็กอยู่ และเพลงของจางวางศรก็มีอยู่ในหนังสุริโยไทครับ
อยากจะรู้ว่าเซียนในพันทิบนี่พอรู้บ้างหรือเปล่าว่าเป็นใคร
คนหนึ่งคือผู้พันครับ คนนี้ง่ายหน่อยเพราะถ้าเอ่ยชื่อแล้วละก็ทุกคนจะต้องร้องอ๋อแน่นอน ผู้พันท่านนี้ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นจอมพล และเป็นเพื่อนรักของจางวางศรจนวินาทีสุดท้าย
ส่วนอีกคนคือแฟนของจางวางศรตอนที่จางวางศรเข้าไปอยู่ในวัง ลองทายกันดูซีครับว่าเป็นใคร บอกใบ้ให้ก็ได้ว่าไม่ใช่เด็กในวังแต่เป็นถึงท่านหญิงเลยเชียวนะครับ

จากคุณ : Cinephile - [ 10 ก.พ. 47 08:25:09 ]

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%


ต้องขออภัยอย่างสูงครับที่ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดไป เพราะข้อมูลมาจากความทรงจำสมัยที่ผมยังเป็นเด็กอยู่ นั่นมันเกือบจะ 60 ปีอยู่แล้ว
ขอบคุณที่ทักท้วงเรื่องคุณเผ่า ที่เป็นแค่พลเอกไม่ใช่จอมพล และคำตอบก็คือผู้พันผู้นั้นแหละคือคุณเผ่า ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นผู้ปกป้องจางวางศรมาตลอดครับ
และเรื่องท่านหญิงก็เหมือนกันครับ ผมพลาดจนได้ จริงๆแล้วผู้ที่แต่งกับท่านอากฤษณาคือหลวงไพเราะเสียงซอครับ ไม่ใช่หลวงประดิษฐไพเราะครับต้องขอบคุณคุณอาร์ต9 เป็นอย่างสูง อย่างนี้ซีครับที่เรียกว่ารู้จริง

ผมเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องโหมโรงหรอกครับ แต่ภรรยาของผมมีส่วนอยู่นิดหน่อยคือเป็นผู้อำนวยการสร้าง เรามีนโยบายที่จะทำหนังที่ผู้สร้างมีความตั้งใจที่จะทำหนังให้มันออกมาดี คือถ้ามีเจตนารมย์ดีแล้วผลงานก็จะออกมาดี เมื่อไม่มีบริษัทไหนยอมลงทุนเพราะรู้ว่าขาดทุนแน่ๆ หม่อมก็เลยชวนคุณดวงกมลมาร่วมลงทุน ต่อมาเราทุนชักจะหมดเพราะหนังของเราสองเรื่องคว่ำไม่เป็นท่าคือเรื่องความรักครั้งสุดท้ายกับเรื่องคนบาปที่พรหมณ์พิราม(กรณีคล้ายๆกับอิฐ คือคุณมานพเป็นผู้กำกับที่ดี แต่ทำบาปเอาไว้ที่ทำหนังไม่ได้เงิน ก็ไม่มีใครจ้าง เราเห็นความตั้งใจของคุณมานพแล้วก็เลยช่วยออกทุนให้ โชคดีที่เราชนะหลายรางวัลเลยช่วยต่ออายุคุณมานพกับพร้อมมิตรเอาไว้ได้) เราก็เลยต้องดึงเอาสหมงคลมาช่วยอีกแรง ทำยังไงได้ล่ะครับ เราเป็นคนทำหนังส่วนเสี่ยเจียงมีโรง ให้เสี่ยลงทุนมาบ้างอย่างน้อยก็ต้องพยายามฉายจนได้ทุนคืนม่ายงั้นก็จะขาดทุน (อย่างกรณีความรักเราลงทุนเองก็เลยย่อยยับ ส่วนคนบาปเรารู้แกว เอาสหมงคลมาร่วมลงทุนครับ ถึงเจ็บหนักแต่ก็ไม่ถึงตาย)
ตอนนี้เราก็ได้เงินคืนมาบ้างจากต่างประเทศ เรื่องการประกวดนั้น ออสก้าก็ต้องปีหน้าเพราะไม่ทัน หนังของเป็นเอดส์ได้ไปฉาย Berlin ก็ไม่ทัน แต่คานส์นี่น่าคิด ผมให้ฟรานซิสกับ Dino de Laurentis ช่วยกระตุ้น อาจจะมีความหวังอยู่บ้างเพราะระดับบี๊คช่วยกระตุ้นไม่ได้ก็ไม่รู้ว่าใครจะทำได้ โอกาสที่อิฐจะชนะค่อนข้างจะสูง ก็เพราะอย่างที่พวกเรารู้อยู่ในใจนั่นแหละครับ
ส่วนแผนตลาดสำหรับหนังเรื่องนี้ต้องใช้วิธีวิ่งระยะยาวครับ จะตีหัวเข้าบ้านแบบหนังบางเรื่องคงจะไม่ได้ (ตีหัวเข้าบ้านคือโหมโฆษณา เปิดหลายๆ โรงพร้อมกัน เอาเงินไว้ก่อนแล้วปิดโรงหนี ทำเรื่องหน้าตีหัวเข้าบ้านใหม่โฆษณาว่าเรื่องใหม่มีสาระกว่าเรื่องเดิม) แผนของโหมโรงคือโรงน้อยให้ปากต่อปากช่วยกันกระตุ้น พอคนเริ่มเต็มเราก็ขยายโรงเพิ่มครับ ตอนนี้อยู่ที่พวกเราแล้วว่าจะกระจายบอกกันต่อๆ
เขียนเสียยาวก็เพราะผมไม่อยากจะให้ผู้กำกับเก่งๆอย่างอิฐจะต้องล้มก่อนเวลาอันสมควร ในวงการนี้มันอยู่ที่รายได้ของหนังครับ แต่อย่างไรเราก็จะสนับสนุนผู้กำกับอย่างคุณอิธิสุนทรต่อไป จะล้มหรือไม่ล้มก็ตาม
ก็ผมคือ Cinephile ที่แปลว่าคนบ้าหนังยังไงล่ะครับ


แก้ไขเมื่อ 11 ก.พ. 47 10:38:08

จากคุณ : Cinephile




Posted by : moviemania , Date : 2004-02-15 , Time : 21:54:45 , From IP : 172.29.3.240

ความคิดเห็นที่ : 11


   
หากจะกล่าวว่า หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นนักดนตรีที่มีจินตนาการ และความคิดก้าวล้ำหน้าไปกว่านักระนาดเอกในยุคชองท่าน ก็คงจะไม่ผิดเพราะท่านได้ประดิษฐ์คิดค้น และพัฒนาวิธีการตีระนาดเอกแบบใหม่ๆ ซึ่งวิจิตรพิสดารไว้มากมาย ได้ผ่านการประชันกับคนระนาดเอกชั้นเยี่ยมมามากที่สุดโดยไม่เคยแพ้เลย และที่สำคัญคือทางเพลงระนาดเอกของท่านได้รับความนิยมแพร่หลาย และมีลูกศิษย์ลูกหามากยิ่งกว่าครูระนาดท่านใดทั้งในยุคก่อนและยุคหลังท่าน
หลวงประดิษฐไพเราะฯเป็นบุตรคนเล็กของ ครูสิน ศิลปบรรเลง และ นางยิ้ม เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2424 ที่บ้านตำบลคลองดาวดึงส์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีวิถีชีวิตและผลงานในเรื่องของดนตรีไทยสรุปได้ดังนี้
- ปี พ.ศ. 2442 ได้เข้าเป็นจางวางมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
- ปี พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯโปรดเกล้าฯให้เข้าไปบรรเลงปี่พาทย์ร่วมกับการแสดงโขนบรรดาศักดิ์ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐไพเราะ
- ปี พ.ศ. 2469 เข้ารับราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง โดยสังกัดสำนักพระราชวัง
- ปี พ.ศ. 2473 ดำรงตำแหน่งปลัดกรมปี่พาทย์และโขนหลวงต่อมาโอนมาอยู่กรมศิลปากร ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 ศิริรวมอายุได้ 72 ปี 7 เดือน 2 วัน
จังหวัดสมุทรสงครามนั้นเป็นถิ่นทองของดนตรีไทยมาตั้งแต่ครั้งสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีครูผู้ใหญ่หลายคนหลายกลุ่มซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังและถือกำเนิดมาจากดินแดนแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลองแห่งนี้อาทิเช่น ครูสิน ศิลปบรรเลง ครูกล้อย , ครูกล้ำ ณ บางช้าง ครูปาน, ครูปน นิลวงศ์ ครูสมบุญ สมสุวรรณ ครูโต(ไม่ทราบนามสกุล) คนฆ้องฝีมือดี ครูเหล่านี้มีลูกศิษย์ลูกหากระจายออกไปมากมาย ครูเนื่อง รัตนประดิษฐ์ (พ.ศ. 2439-2538) เล่าว่า สมัยที่ท่านไปเรียนปี่พาทย์ที่บ้าน ครูสมบุญ สมสุวรรณ นั้นจากแม่กลองไปจนถึงอัมพวามีวงปี่พาทย์มากกว่า 100 วง ส่วนมากเป็นเครื่องคู่
ครูสิน ศิลปบรรเลง เป็นครูผู้ใหญ่คนหนึ่งของอัมพวา บุตรชายคนโตซึ่งเกิดจากภรรยาคนแรกชื่อ สุวรรณ เป็นคนระนาดฝีมือดี แต่ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังหนุ่ม ครูหลวงประดิษฐไพเราะฯ หรือนายศรเป็นบุตรชายคนเล็ก เกิดจากภรรยาคนที่สอง อายุห่างจากพี่ชายคนแรกถึงยี่สิบกว่าปี
หลวงประดิษฐไพเราะฯเป็นคนมีพรสวรรค์ทางดนตรี สามารถตีฆ้องวงใหญ่ได้เองตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เริ่มเรียนปี่พาทย์จริงจังตั้งแต่อายุ 11 ปี และแตกฉานมีฝีมือดีอย่างรวดเร็ว ตีระนาดไหวจัดมาตั้งแต่เด็ก
ท่านได้แสดงฝีมือจนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นครั้งแรกในงานโกนจุกเจ้าจอมผู้เป็นธิดาคนหนึ่งของเจ้าพระยาสุรพันธุ์ พิสุทธิ์ ที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีบุตรสาวถวายตัว ร.5 ถึง 5 คนคือ เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอียม เจ้าจอมเอ็ย (เกิด พ.ศ. 2422) เจ้าจอมเอี่ยม (พ.ศ. 2424) และเจ้าจอมเอื้อน (พ.ศ. 2430) ถ้าดูตามอายุน่าจะเป็นงานโกนจุกเจ้าจอมเอื้อน ซึ่งถ้าเป็นไปตามปกติก็ควรเป็นปี พ.ศ. 2441 หรือก่อนนั้น (ขณะนั้นนายศร อายุ 17 ปี) ในงานนั้นมีปี่พาทย์ 3 วง นายศรเป็นคนตีฆ้องวงเล็ก โขนเล่นตอนสุครีพหักฉัตร ปี่พาทย์บรรเลงเพลงเฉิดต่อตัวกัน คนระนาดเอกวงครูสินต่อวงอื่นไม่ทัน ครูสินจึงเรียกนายศรไปตีระนาดเอกแทน วงไหนส่งมานายศรก็รับส่งได้ไม่บกพร่อง พอถึงรอบสองตีไหวมากจนวงอื่นรับไม่ทัน นายศรต้องบรรเลงเพลงต่อไปเองจนจบ เจ้าพระยาสุรพันธุ์พิสุทธิ์ ถึงกับตบมือตะโกน ร้องว่า "นี่..ผู้ใหญ่แพ้เด็ก" ตั้งแต่นั้นมาชื่อ นายศร ก็ลือกระฉ่อนไปทั่วลุ่มน้ำแม่กลอง
ต่อมาเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ มีงานเปิดตลาดบ้านหม้อ มีปี่พาทย์ประชัน 3 วง คือ วงมหาดเล็กหลวง วงพระนายไวย และ วงเจ้าพระยาเทเวศรฯ ขณะนั้นนายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์)น่าจะเป็นคนระนาดเอกวงปี่พาทย์หลวงหรือไม่ก็วงปี่พาทย์ของเจ้าพระยาเทเวศรฯนายศรได้เข้ามาดูงานนี้ด้วยบังเอิญพระนายไวยซึ่งน่าจะรู้จักนายศรเหลือบมาเห็นเข้ารู้ว่าเป็นระนาดบ้านนอกฝีมือดี ก็เลยเรียกให้เข้าไปตีระนาดในวงของท่าน นายศรได้ตีระนาดหลายเพลงจนถึงเพลงเดี่ยวกราวในทำให้เจ้านายและผู้อยู่ในงานนั้นตะลึงในฝีมือ ได้รับรางวัลถึง 32 บาท ซึ่งนับว่ามากมายอักโขอยู่ในสมัยนั้น
อีกครั้งหนึ่งในงานคล้ายวันเกิดของเจ้าคุณจอมมารดาสำลีชนนีของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5 นายศรได้มีโอกาสมาร่วมบรรเลงปี่พาทย์ด้วยโดยได้เดี่ยวระนาดเอกเพลงกราวในเถาด้วยชั้นเชิงและฝีมืออันยอดเยี่ยมจนได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และเจ้านายพระองค์อื่นอีกหลายพระองค์ ชื่อเสียงของนายศรก็เริ่มเข้ามาโด่งดังในกรุงเทพฯ
สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นนักดนตรีเอก ทรงระนาดได้ดี โปรดระนาดที่ไหวจริง ชัดเจน การที่ประทานรางวัลนายศรแสดงว่าต้องตีได้เยี่ยมจริง ๆ
ในปี พ.ศ. 2442 เป็นหัวเลี้ยวสำคัญในชีวิตของนายศรดังที่ท่านบันทึกไว้เองว่า "ปีกุน ร.ศ. 118 เจ้าเมืองสมุทรสงครามให้อำเภอคือ ขุนราชปุการเชย ไปหาบิดาที่บ้านบอกว่าสมเด็จวังบูรพาฯให้ไปตีระนาดถวายที่เขางู เมืองราชบุรี ออกจากบ้านมาก็เลยเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯทีเดียว ไปตามเสด็จเมืองพิษณุโลก หล่อพระพุทธชินศรีกลับลงมา รุ่งขึ้นปี ร.ศ. 119 เดือนยี่ ทำการสมรสที่บ้านหน้าวัง ในปีนี้ท่านบิดาก็ถึงแก่กรรม"

เบื้องหลังและรายละเอียดอันเป็นต้นเหตุให้นายศรได้เข้ามาเป็นคนระนาดเอกวังบูรพาฯมีอยู่ว่า สมเด็จกรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช (ครั้งดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงฯ) เจ้าของวังบูรพาภิรมย์ทรงโปรดปี่พาทย์ยิ่งนักและไม่ยอมแพ้ใครในเรื่องนี้ ทรงมีวงปี่พาทย์ประจำวังของพระองค์เองแต่คนระนาดของพระองค์คนแล้วคนเล่า ก็ไม่มีใครสู้นายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์) ได้ จึงทรงเสาะหาคนระนาดที่จะมาปราบนายแช่มให้ได้ เมื่อเสด็จออกไปบัญชาการเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่จังหวัดราชบุรี ทรงทราบว่านายศรบุตรครูสินตีระนาดดีจึงให้หาตัวมาตีถวาย พอตีถึงเดี่ยวกราวในยังไม่ทันจบเพลง ก็ถอดพระธำรงค์ประทานและขอตัวจากครูสินให้ตามเสด็จเข้าวังทันที แม้แต่เสื้อผ้าก็ไม่ต้องกลับไปเอาที่บ้านทรงแต่งตั้งให้นายศรเป็นจางวางมหาดเล็ก ซึ่งปรากฏชื่อในหมู่นักดนตรีว่า "จางวางศร"
สมเด็จวังบูรพาฯโปรดให้จางวางศรเป็นคนระนาดเอกแทน ครูเพชร จรรย์นาฏ ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นคนฆ้องใหญ่ ครูเพชรผู้นี้เป็นศิษย์รุ่นเล็กของครูช้อย สุนทรวาทิน มีฝีมือทั้งระนาดและฆ้องวง ได้ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้กับจางวางศรเป็นอันมาก ส่วนครูคนสำคัญที่ทำให้ฝีมือระนาดของจางวางศรก้าวหน้ายิ่งขึ้นคือ ครูแปลก (พระยาประสานดุริยศัพท์) นอกจากนั้นจางวางศรยังได้เรียนและได้รับคำแนะนำจากครูผู้ใหญ่คนอื่นๆในยุคนั้นอีกหลายท่านด้วย


สมเด็จวังบูรพาฯทรงหาครูมาฝึกสอนจางวางศรอยู่นานพอสมสมควรแล้วทรงจัดให้จางวางศรตีระนาดประชันกับนาย แช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์) คนระนาดเอกของกรมพิณพาทย์หลวง เมื่อราวปี พ.ศ. 2443 ขณะนั้นจางวางศรอายุ 19 ปี นายแช่มอายุ 34 ปี เป็นการประชันระนาดเอกอย่างเป็นทางการครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติการดนตรีไทยผลการประชันเป็นที่กล่าวขวัญกันมาอีกช้านาน รายละเอียดที่จะได้นำเสนอต่อไปนี้ได้ข้อมูลมาจาก คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ครูจำรัส เพชรยาง และศิษย์ครูจางวางศรซึ่งส่วนใหญ่ไปดูการประชันครั้งนั้นมี ครูถวิล อรรถฤกษณ์ ศิษย์ ครูเพชร จรรย์นาฏ
เมื่อจางวางศรรู้ว่าสมเด็จวังบูรพาฯจะให้ตีประชันกับนายแช่มก็ตกใจมาก เพราะในขณะนั้นนายแช่มกำลังโด่งดังไม่มีใครกล้าสู้ อีกทั้งเป็นลูกครูช้อยครูของครูแปลกและครูเพชรด้วย จางวางศรจึงทั้งเคารพและยำเกรงในฝีมือ ท่านเล่าให้ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ฟังว่า "เพียงแต่ได้ยินชื่อก็ให้รู้สึกว่ามือเท้าอ่อนปวกเปียกไปเลยทีเดียว ความกลัวของท่านครูนั้นถึงกับทำให้หยุดซ้อมระนาดไปเลย ทั้งนี้เพราะเกิดความกังวลจนไม่เป็นอันกินอันนอน ในที่สุดท่านก็ชวนเพื่อนไปรดน้ำมนต์เพื่อทำให้จิตใจดีขึ้น" ด้วยความคร้ามเกรงฝีมือซึ่งกล่าวกันว่า "จะมีใครสู้นายแช่มได้" จางวางศรจึงไปกราบขอร้องให้ครูผู้ใหญ่ที่ท่านนับถือท่านหนึ่งไปช่วยกราบขออภัยต่อนายแช่มว่า ที่จริงท่านไม่เคยคิดหาญจะประชันด้วย แต่ไม่อาจขัดรับสั่งสมเด็จวังบูรพาฯได้ โปรดออมมือให้ท่านบ้าง แต่ปกติวิสัยของการประชันดนตรีย่อมต้องเล่นให้ดีเต็มฝีมือ ประกอบกับนายแช่มเป็นคนระนาดของวังหลวงย่อมต้องรักเกียรติรักศักดิ์ศรีของตน จึงไม่ยอมรับคำขอร้องโดยบอกว่าต่างฝ่ายต่างต้องเล่นเต็มฝีมือ จางวางศรยิ่งวิตกกังวลถึงกับหนีไปอยู่กับพวกปี่พาทย์ที่คุ้นเคยกันตามต่างจังหวัด สมเด็จวังบูรพาฯทรงกริ้วมากสั่งให้เอาตัวนางโชติภรรยาจางวางศรมากักกันไว้ จนจางวางศรต้องกลับมา มุมานะฝึกซ้อม และคิดค้นหาวิธีตีที่จะทำให้ไม่แพ้คู่ต่อสู้ เข้าใจว่าท่านได้คิดวิธีจับไม้ระนาดให้ตีไหวรัวได้ดียิ่งขึ้นในตอนนี้ ตลอดจนเทคนิคต่างๆในการตีระนาดอีกมากมาย เช่น ตีให้ไหวร่อน ผ่อนแรง ไหวทน เพราะนายแช่มหรือพระยาเสนาะดุริยางค์นั้นทั้งไหวทั้งจ้าหาคนสู้ได้ยากจริงๆ จางวางศรเองก็เคยปรารภกับครูเพชรว่า "ตีให้จ้าน่าเกรงขามอย่างท่านยากต้องหาชั้นเชิงอื่นสู้" ความมุ่งมั่นมานะทำให้ท่านฝันว่าเทวดามาบอกทางเดี่ยวเพลง กราวในที่ดีที่สุดให้และประสาทพรให้ท่านว่า "ต่อไปนี้เจ้าจะตีระนาดไม่แพ้ใคร"
การประชันครั้งนั้นใช้ปี่พาทย์เครื่องห้าเพราะต้องการดูฝีมือผู้ตีระนาดเอกเป็นสำคัญ วงปี่พาทย์หลวงไม่ทราบว่าใครเป็น คนฆ้อง คนปี่ และ คนเครื่องหนังแต่วงวังบูรพาฯครูเพชรเป็นคนฆ้อง ครูเนตรตีเครื่องหนัง ส่วนคนปี่ไม่ทราบนาม การประชันเริ่มตั้งแต่เพลงโหมโรงเพลงรับร้องเรื่อยไปจนถึงเดี่ยวระนาดเอกกันแบบ "เพลงต่อเพลง" เริ่มด้วยเพลงพญาโศก เชิดนอก (4 จับ) และเดี่ยวอื่นๆเรื่อยไปจนถึงเพลงกราวใน ผลปรากฏว่าฝีมือก้ำกึ่งคู่คี่กันตลอดจนกระทั่งถึงเพลงเดี่ยวกราวในก็ยังไม่ปรากฏผลแพ้ชนะเด็ดขาด เพราะฝีมือเด่นกันคนละอย่างดังที่ ครูเพชร จรรย์นาฏ เล่าให้ลูกศิษย์ของท่านฟังว่า "พระยาเสนาะดุริยางค์ไหวจัดจ้ากว่า แต่จางวางศรไหวร่อนวิจิตรโลดโผนกว่า" จึงต้องตัดสินกันที่เพลงเชิดต่อตัวซึ่งวัดความไหวทนเป็นสำคัญ
พระยาเสนาะดุริยางค์หรือนายแช่มนั้นตีระนาดไหวแบบเก่า และคงจะใช้ไม้ตีปื้นหนา พันไม้แข็งนัก จึง "ดูดไหล่" คือกินแรง ประกอบกับท่านรักษาความเจิดจ้าชัดเจนของเสียงระนาดไม่ยอมตีระหรือเกลือกให้เสียงเสีย ยิ่งตีไหวจ้าขึ้นมากเท่าใดก็ต้องใช้กำลังแขนไหล่มากขึ้นเท่านั้น จึงย่อมจะล้าง่าย ส่วนจางวางศรคิดวิธีจับไม้ให้ไหวร่อนได้เร็วใช้การเคลื่อนไหวข้อมือช่วยผ่อนกำลังแขน จึงไหวร่อนได้เร็วกว่าแม้เสียงจะไม่จ้าเท่าตีด้วยกำลังแขนแต่ก็ไหวทนกว่า
ผลแพ้ชนะของการต่อตัวเชิดนั้นจะดูที่อาการ "หลุด" หรือ "ตาย" หลุดคือ รับเชิดตัวต่อไปจากคู่ต่อสู้ไม่ทันเพราะไม่สามารถตีให้ไหวเร็วเท่าคู่ต่อสู้ส่งมาได้ส่วน "ตาย" คือรับทัน แต่เมื่อตีด้วยความเร็วเท่าที่รับมาไปพักหนึ่งแล้วไม่สามารถรักษาความไหวเร็วในระดับนี้ต่อไปได้ ต้องหยุดตีหรือเกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งจนมือตายเคลื่อนไหวต่อไปไม่ได้
ผลการต่อตัวเชิดครั้งนั้นปรากฏว่าในที่สุดพระเสนาะดุริยางค์เกิดอาการ"มือตาย" จึงถือว่าเป็นฝ่ายแพ้ในเรื่องความไหว แต่ครูจางวางศรเล่าว่าท่านเป็นระนาดชาติเสือแม้จะตีจนมือตายแต่เสียงระนาดยังคงเจิดจ้าสม่ำเสมอ ไม่มีเสียงเสียเลยจนผู้ที่นิยมระนาดเสียงเจิดจ้าแบบเก่าสรุปผลการประชันว่า "นายศรชนะไหว นายแช่มชนะจ้า"
คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง (บุตรีคนโตของจางวางศร) เล่าเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีการประชันเปลี่ยนทางเพลงอีก ซึ่งจางวางศรก็มีไหวพริบเปลี่ยนทางเพลงได้รวดเร็วและไพเราะกว่า เรื่องนี้น่าแปลก เพราะขณะนั้นพระยาเสนาะดุริยางค์อายุ 34 ปีผ่านงานละครดึกดำบรรพ์ซึ่งใช้เพลงทางเปลี่ยนมากมาแล้วอย่างช่ำชอง แต่จางวางศรเพิ่งจะอายุ 19 ปี ด้อยประสบการณ์กว่ามาก แต่ที่ท่านเปลี่ยนทางเพลงได้รวดเร็วไพเราะคงเป็นเพราะท่านมีไหวพริบปฏิภาณความถนัดในเรื่องนี้สูง ดังปรากฏชัดในประวัติชีวิตและผลงานในยุคต่อๆมา
ตั้งแต่นั้นมาทางระนาดแบบโลดโผนวิจิตรพิสดารคือการ สะบัด ขยี้ แบบต่างๆของจางวางศรก็ได้รับความนิยมแพร่หลายยิ่งขึ้น ทางระนาดแบบไหวลูกโป้งที่พระยาเสนาะดุริยางค์ถนัดค่อยๆเสื่อมความนิยม คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ให้ความเห็นว่าเป็นไปตามพัฒนาการของยุคสมัย พระยาเสนาะดุริยางค์ก็มีฝีมือเป็นเยี่ยมสุดยอดในยุคของท่าน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปสิ่งใหม่ที่ไม่ไร้คุณค่าทางศิลปะ ย่อมได้รับความนิยมมากกว่า
ผลการประชันครั้งนั้นเป็น "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญในวิชาดนตรีของพระยาเสนาะดุริยางค์ เพราะตั้งแต่นั้นมาท่านมุ่งเอาดีทางปี่ จนเป็นเอตทัคคะสุดยอดในทางนี้


Posted by : moviemania , Date : 2004-02-15 , Time : 22:02:48 , From IP : 172.29.3.240

ความคิดเห็นที่ : 12


   ย้อนกลับไปเมื่อ ๑๑ ปีก่อน คอหนังไทยหลายคนคงจำกันได้ถึงภาพยนตร์ตลกเสียดสีสังคมเรื่อง “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” ซึ่งภาพยนตร์แม้จะไม่สามารถเก็บ “เงิน” ได้มากเท่าไรนัก แต่รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ลำดับภาพยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์บันเทิงในปี พ.ศ.๒๕๓๖ รวมทั้ง “กล่อง” จากนักวิจารณ์และผู้ชมที่ยังคงพูดถึงอยู่เสมอ ก็เป็นเครื่องการันตีคุณภาพของทีมงานผู้สร้างหน้าใหม่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหัวเรือใหญ่อย่างผู้กำกับฯหนุ่มร่างสูงนาม อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์

เกือบ ๑๐ ปีต่อมา หลังจากเงียบหายไปกำกับภาพยนตร์โฆษณาและละครโทรทัศน์หลายชุด ชายหนุ่มคนเดิมพร้อมทีมงานชุดเก่าก็กลับมาร่วมกันสร้างผลงานภาพยนตร์อีกครั้งในแนวย้อนยุคดราม่ากับ The Overture หรือชื่อภาษาไทย “โหมโรง” วันนี้ เราจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้กำกับฯหนุ่มไฟแรงคนสำคัญ เป็นการ “โหมโรง” ก่อนภาพยนตร์จะเข้าฉายจริงในไม่ช้านี้

ชีวิตบนเส้นทางผู้กับฯของอิทธิสุนทรเริ่มมาจากความที่เป็นคนชอบงานกำกับการแสดงตั้งแต่เรียนอยู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คลุกคลีทำละครเวทีจนกระทั่งจบออกไปทำรายการโทรทัศน์ใน “เพชฌฆาตความเครียด” จนมาสู่รายการวิก ๐๗ และพลิกล็อค สิ่งเหล่านี้จึงเหมือนกับช่วยบอกจุดยืนในอนาคตของเขาได้เป็นอย่างดี

“สมัยเรียน ผมก็ทำละครเวทีมาเรื่อย ทำทุกอย่างด้วยความมันเข้าว่า แต่ก็ไม่ได้คิดลึกลงไปว่า มันจะสะท้อนหรือสื่อสารอะไรหรือเปล่า แม้ว่าไปทำรายการเพชฌฆาตความเครียดแล้วก็ยังไม่ได้คิดลึก ขอเน้นมุขแบบแปลกๆแหวกๆไว้ก่อน แต่พอทำไปสักพัก เราก็เริ่มเจอบางมุขที่คิดไป มันก็จะสะท้อนอะไรบางอย่างด้วยและเราเริ่มเรียนรู้มากขึ้น เริ่มโตขึ้นด้วยวัยวุฒิ มีความนิ่งมากขึ้น ความนึกคิดในการสร้างสรรค์งานก็เริ่มเปลี่ยนไป...คือเราเริ่มรู้สึกว่า อ๋อ มันมีบางอย่างที่มันมีแก่นด้วยนะ...พอมาทำเรื่อง ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด นี่ เรื่องเลยออกมาว่า แม้จะมีความตลกฮาอยู่ แต่เราก็พยายามเสียดสีอะไรบางอย่างของสังคมด้วย หนังเรื่องนี้จะสะท้อนเรื่องราวของคนทั่วไปในปัจจุบันที่ทำงานไปวันๆ เห็นสิ่งต่างๆแล้วก็ปล่อยให้ผ่านไป ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว แล้ววันหนึ่งตัวละครตัวนี้มีลูกบ้าขึ้นมาว่า อะไรผิดข้าไม่ยอมแล้วนะ ก็เลยดูกลายเป็นคนบ้าไป...

ความคิดเริ่มจริงจังมากขึ้น เมื่อได้มาทำโหมโรง ซึ่งเราได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตครูดนตรีในยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเฉพาะหลวงประดิษฐ์ไพเราะ...แต่ก็ไม่ใช่เป็นหนังชีวประวัติหรือประวัติศาสตร์โดยตรงเสียทีเดียว...เพราะว่าเรื่องราวส่วนใหญ่จะแต่งขึ้นมาจากจินตนาการ เป็นเรื่องนักดนตรีระนาดเอกที่ต่อสู้ฝ่าฟันจนได้รับการยอมรับว่าเป็นอันดับ ๑ เนื้อเรื่องมีทั้งการเรียนรู้ การต่อสู้ การถูกลูบคม การประชันกัน ในขณะเดียวกันก็จะสะท้อนให้เห็นว่า นักระนาดเอกคนนี้ เมื่อผ่านยุคสมัยมาจนต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่นโยบายของประเทศกำลังพาประเทศให้มีความทันสมัย แต่ละทิ้งสิ่งที่ดูเหมือนว่าโบราณคร่ำครึไปเสีย เราต้องการสื่อให้คนดูเห็นว่า เออนะ...ในยุคหนึ่งมันมีการมองวัฒนธรรมไทยเป็นอีกแบบหนึ่งนะ”

ผู้กำกับฯหนุ่มเล่าเสริมว่า การทำงานใหม่ครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เนื่องจากมักไม่ค่อยเห็นภาพยนตร์ไทยที่กล่าวถึงดนตรีไทยโดยตรง นอกจากนี้ ยังมีการสร้างภาพดนตรีไทยให้เกิดความสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจ ถ่ายทอดออกมาในลักษณะของมุมกล้อง แสงสี ทันสมัย ชวนหวือหวาตื่นตามากขึ้น ซึ่งเขาใช้เวลาทั้งสิ้น ๒ ปี ในการกำกับ ดูแลเรื่องราวทั้งหมดให้มีความลงตัวและสมจริงมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องมาจากเป็นภาพยนตร์ย้อนยุคของอัจฉริยะทางด้านดนตรี การวางตัวละครจะต้องศึกษาให้มากที่สุด ต้องพยายามสังเกตว่านักดนตรียุคนั้นใช้ชีวิตอย่างไรหรือเล่นอย่างไรถึงเรียกว่าเก่ง และต้องไม่ให้มีความผิดพลาดทางด้านดนตรีไทย รวมทั้งรายละเอียดของฉาก บรรยากาศของเหตุการณ์ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคก่อนแทบทั้งหมด

ในทัศนะของอินธิสุนทร เรื่องราวที่เข้าขึ้น “โดนใจ” นั้น ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้เกิดการทำงานบนแผ่นฟิล์มของเขา

“เรื่องราวของหนังต้องกระตุ้นให้เรารู้สึกอยากทำมากๆ เป็นอันดับแรก คือ รู้สึกอยากดูเรื่องนี้ เพราะการกำกับหนังหรือละคร มันกินเวลาเราไปไม่ต่ำกว่า ๘-๑๐ เดือน คือเรียกว่ามันจะต้องมีแรงผลักแรกที่แรงพอ ไม่อย่างนั้นก็จะรู้สึกไม่พิถีพิถันกับมันเท่าไรเมื่อทำไปเรื่อยๆ หรืออาจถึงขั้นเบื่อไปเลยก็ได้ อย่างน้อยเราต้องมีจุดกำเนิดของสิ่งที่เราอยากเล่าด้วยตัวเราเอง แล้วเราจะทำเรื่องนั้นได้ดี อีกอย่างคือ เรื่องนั้นต้องมีคุณค่าในตัวของมันเอง ชิ้นงานของเราควรจะมีคุณค่าอะไรต่อผู้ชมบ้าง ทำให้เขาได้คิด ได้มองอะไรบางอย่างที่ไม่เคยมองในชีวิตประจำวัน ซึ่งถามว่าเคยท้อถอยบ้างหรือไม่กับการทำงานที่ถือได้ว่ายากตรงนี้ ก็ยอมรับว่ามีบ้าง แต่อย่างที่บอกไว้ครับว่า แรงผลักอย่างแรกจะต้องมาแรงก่อน ตัวเลือกต้องแข็งแรงสำหรับตัวเรา หันกลับมามองเรื่องแล้วเราต้องรู้สึกว่า เออ เราอยากเล่าให้มันสำเร็จนะ เพราะเป็นเรื่องที่ดี มันทำให้เรามีพลังในการทำงานต่อไปได้ ไม่ว่าจะเจอปัญหาการถ่ายทำหรือการแสดงอย่างไร พอเราย้อนกลับไปมองอีกที เรายังถือเรื่องที่ดีนั้นอยู่ในมือ มันทำให้เราอุ่นใจขึ้นมาได้ ตรงจุดนี้ละครับเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เรารู้สึกว่าต้องทำต่อให้จบ...เป็นแก่นในการทำงานของผมเลยก็ว่าได้”

เขายอมรับว่า วิธีการทำงานลักษณะนี้ ส่วนหนึ่งมาจากนิสัยส่วนตัวของเขาเอง เพราะคิดว่าไม่มีความขยันมากพอจะกำกับหลายๆเรื่อง บางครั้งอ่านบทแล้วไม่รู้สึก “อิน” เท่าไร เลยขอปฏิเสธไป และมุ่งสร้างสรรค์งานของตัวเองเป็นหลักดีกว่า

“จะเรียกว่าเป็นคนที่เรื่อยเปื่อยมากก็ได้ครับ ลืมโน่นลืมนี่ ขี้เกียจมาก พักผ่อนเยอะเป็นลูกผู้ชายบ่ายสามเลย (หัวเราะ) แต่พอมาทำงานกองถ่ายของตัวเอง ไม่ว่าจะตี ๓ ตี ๔ เราก็ต้องทำให้ได้ เพราะนั่นคือธรรมชาติการทำงานอยู่แล้ว...มันเป็นชีวิตหนึ่งไปเลย”

นอกจากนี้ ทีมงานผู้คอยอยู่เบื้องหลังก็เป็นอีกส่วนสำคัญให้เกิดงานชิ้นงามตามจินตนาการของผู้กำกับฯ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้กำกับฯคนใดได้คนช่วยงานที่รู้ใจก็ถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐของตัวเองได้อย่างหนึ่งเลยทีเดียว



เบื้องหลัง “โหมโรง”

“ผู้กำกับฯแต่ละคนก็จะมีทีมของตัวเองขึ้นมา อย่างผมก็มีบริษัทของตัวเอง (บริษัท กิมมิค จำกัด) เราสร้างทีมแล้วก็สร้างบุคลากรให้เขาแข็งแรงพอที่จะดูแลสิ่งต่างๆแทนเราได้ ถ้าเรามีทีมงานที่ไปด้วยกันได้ ผมว่าเป็นเรื่องดีมากๆเลยละครับ เพราะเราสามารถคุยกับคนที่ไว้ใจได้ คุยภาษาเดียวกันรู้เรื่อง...ทีมของผมแม้ว่าบางคนจะไม่ได้ทำงานประจำให้เรา แต่ทุกครั้งที่มีงานก็สามารถมาร่วมทีมได้ด้วยอาศัยคุ้นมือและคุ้นเคยกันมานาน สื่อสารเข้าใจ คอยช่วยเหลือดูแลเรื่อง ไม่เหมือนผู้กำกับฯอิสระที่ต้องไปเจอทีมงานแปลกหน้า และจูนกันทุกครั้ง ซึ่งยากและเหนื่อยกว่า...

แต่พอทำงานกำกับจริงๆแล้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยแทบทุกคนจะต้องทำงานอื่นที่ไม่ใช่งานกำกับเยอะ ผู้กำกับฯแทบจะเป็นโปรดิวเซอร์กันทุกคนอยู่แล้ว เพราะจะต้องดูเรื่องงบประมาณ ความเป็นไปของกองถ่าย การบริหารคน ทีมงาน มันยังไม่ถึงจุดที่เป็นระบบการทำงานสวมหมวกผู้กำกับฯเพียงใบเดียว เราต้องสวมหมวกหน้าที่อื่นด้วย ซึ่งบ่อยครั้งมากๆเข้าก็เป็นเรื่องบั่นทอนพลังงานการสร้างสรรค์กำกับของเราด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นผู้กำกับฯก็คือ การต้องทำงานอื่นที่ไม่ใช่งานกำกับนั่นเองครับ (หัวเราะ)”

แต่ถึงจะมีปัญหาการทำงานอย่างไร โครงการต่อไปของผู้กำกับฯคนนี้ก็เริ่มมีเค้าโครงให้เห็นแล้ว

“เรื่องต่อไปตั้งใจจะทำให้ผ่อนเบาลงมาเป็นคอมเมดี้ เพราะว่าเรื่องโหมโรงก็เป็นเรื่องจริงจังค่อนข้างมาก และตัวเราเองก็เกิดมาจากแนวทางคอมเมดี้อยู่แล้ว หรือไม่ก็ไปทำงานโฆษณาให้เพื่อนฝูงไปพลางๆก่อน”

ในฐานะผู้กำกับการแสดงที่ผ่านงานมามากคนหนึ่ง อิทธิสุนทรฝากถึงผู้ที่ใฝ่ฝันจะเป็นผู้กำกับฯว่า ต้องเรียนรู้และขวนขวายให้มาก และต้องลองจากหลายอย่างมาก่อนจนเกิดความมั่นใจว่าสามารถทำได้ พยายามสร้างประเด็นของตัวเองให้ชัดเจนว่าต้องการสื่ออะไร ที่สำคัญคือ ต้องมีจินตนาการในการถ่ายทอดสิ่งต่างๆออกมาให้ได้ผ่านทางแผ่นฟิล์มซึ่งต้องอาศัยการสะสมจากการดูหรือเรียนรู้ เพื่อให้สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้ตามความมุ่งหวัง

ไหนๆก็ได้มาคุยกับผู้กำกับฯรุ่นใหม่ไฟแรงคนหนึ่งในวงการแล้ว ก่อนจากกัน เราเลยสอบถามถึงทัศนคติเกี่ยวกับภาพยนตร์ในบ้านเราจากมุมมองของผู้อยู่ในแวดวงดงหนามเตยเสียเลย

“ผมว่ามันมีทั้งแง่บวกและแง่ลบอยู่ด้วย พอคนเห็นว่าหนังแนวไหนทำเงินได้ คนก็อยากเข้ามาทำบ้าง บางเรื่องก็ดูแล้วไม่ค่อยมีคุณภาพเท่าไร ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของคนดูที่จะเลือกเสพแต่ว่าในแง่ที่มันมีความหลากหลายมันก็มีอยู่นะ จริงๆแล้วผมว่านี่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่มากเท่ากับที่ทุกวันนี้ธุรกิจภาพยนตร์มันเดินเข้าสู่ระบบโรงภาพยนตร์ที่คัดเลือกหนังด้วยระบบ ๓ วันแรก ว่าเรื่องใดทำรายได้ดีใน ๓ วันแรกที่เข้าฉาย ก็สามารถอยู่ต่อได้ และสามารถถอดเรื่องนั้นได้ หากไม่สามารถทำเงินได้ดีใน ๓ วันแรก คือทุกอย่างมันวัดกันด้วยตัวเลขน่ะครับ จะเรียกว่า มันเป็นสิ่งที่เรารับมาจากต่างประเทศก็ว่าได้ ธุรกิจของเขาแข็งแรงพอที่จะกระจายหนังออกไปได้ทั่วโลก ในขณะที่เราก็ยังทำหนังแบบกระท่อนกระแท่นกันอยู่อย่างนี้ แล้วยิ่งมาเจอระบบธุรกิจโรงหนังอย่างนี้ด้วยแล้ว มันก็เป็นข้อได้เปรียบสำหรับหนังต่างประเทศ เขามาทีมาด้วยกระแสโลก ไปที่ไหนคุณก็เจอหมด แต่ของเรามาด้วยกระแสหัวเขียว หัวบานเย็น (หัวเราะ) เราก็สู้ไม่ได้แล้ว”

ลงท้ายกันอย่างนี้แล้ว ทำให้เราอดคิดเล่นๆในใจต่อไปไม่ได้ว่า หนังใหม่ “โหมโรง” ของเขาที่นำเสนอประเด็นวัฒนธรรมตะวันตกเปลี่ยนแปลงสังคมไทยนี้ มองให้ลึกลงไปอีกที...เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้านอื่นๆ ไม่เว้นแต่วงการภาพยนตร์บ้านเราด้วยใช่หรือไม่...เอาเป็นว่าคงต้องติดตามรอชมในจอเงินและในชีวิตจริงกันเอาเองดีกว่า

จากสกุลไทย


Posted by : moviemania , Date : 2004-02-15 , Time : 22:25:13 , From IP : 172.29.3.240

ความคิดเห็นที่ : 13


   ThailandArtist: แรงบันดาลใจของการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คืออะไร
อิทธิสุนทร ผมอ่านเรื่องราวของครูดนตรีไทยหลายๆท่าน โดยเฉพาะท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ ซึ่งพบแง่มุมที่ประทับใจ และเรื่องราวที่สนุกน่าตื่นเต้นมากมาย อยู่ในเกร็ดประวัติของท่าน ทั้งเรื่องของการฝึกสอน การคิดค้นทางดนตรี การประชันกันในยุคสมัยก่อน เริ่มจินตนาการเห็นความสนุกเร้าใจออกมาเป็นฉากๆ และรู้สึกแปลกใจว่าในเมืองไทยภาพยนตร์แบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน จะมีก็แค่เพียงละครเรื่องระนาดเอกเมื่อ 20 ปีมาแล้ว และเป็นละครเรื่องเดียวที่เกี่ยวข้องกับดนตรีไทย ถ้าเป็นหนังต่างประเทศ เขาจะมีหนังที่พูดถึงดนตรีอยู่เสมอๆ อย่างเช่นหนังของโมซาร์ด หนังของบีโธเฟ่น หนังนักดนตรีร็อค นักดนตรีแร็พหรือหนังฮิปฮอปจะมีหมด ถ้ามีหนังไทยที่เกี่ยวข้องกับดนตรีบ้าง ก็คงจะดีไม่น้อย
หลังจากฝันถึงโปรเจคหนังแบบนั้น ผมจึงเริ่มเข้าไปคุยกับครูดนตรีไทยต่างๆ เริ่มที่มูลนิธิหลวงประดิษฐ เพื่อหาไอเดียและความเป็นไปได้ในการทำหนัง และบังเอิญช่วงนั้นผมได้มีโอกาสไปดูคอนเสริต์ของ BSO บางกอกซิมโฟนีออเคสตร้า บรรเลงเพลงเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง มีอยู่เพลงหนึ่งคือ “ คอนแชร์โตมหาราชา “ เป็นคอนแชร์โต ที่โซโลโดยระนาดเอก ได้เห็นระนาดเอก เล่นเป็นผู้นำอยู่เบื้องหน้าออเคสตร้าทั้งวงเกือบ 100 ชิ้น ด้วยการนำเสนอที่แปลกใหม่นั้น ผมรู้สึกถึงความมหัศจรรย์ของเครื่องดนตรีชิ้นนี้ ก็เริ่มมั่นใจกับโปรเจคหนังเรื่องนี้มากขึ้น


ThailandArtist: เค้าโครงของเรื่องได้มาจากที่ใด
อิทธิสุนทร ส่วนหนึ่งมาจากเกร็ดชีวิตของท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ แต่ไม่ได้เป็นอัตชีวประวัติของท่านครูโดยตรง ผมผูกเรื่องราวบางส่วนขึ้นจากจินตนาการ
ตัวละครหลักของเรื่อง เป็นนักระนาดที่เติบโตในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคทองของดนตรีไทย มีบรรยากาศของการประชันแข่งขัน เจ้านายแต่ละวังก็จะมีวงปี่พาทย์ของตนเองและนำมาประชันกัน ใครที่เล่นดนตรีเก่งก็จะมีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ช่วยอุปถัมภ์เลี้ยงดู มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ในยุคมาลานำไทยที่ส่งเสริมให้คนไทยใส่หมวก รู้จักการลีลาศ ปรับปรุงบ้านเมืองให้เป็นอารยะ แต่กลับมีกฎระเบียบหลายอย่างออกมาควบคุมดนตรีไทย นำส่วนนี้มาเล่าให้เห็นความแตกต่างระหว่างยุคทอง และยุคที่ดนตรีไทยถูกปิดกั้น
ซึ่งในส่วนนี้ผมจะอิงความเป็นจริงของยุคสมัย เช่นมีกฎระเบียบที่ควบคุมว่าใครจะเป็นนักดนตรีต้องทำบัตร ใครจะออกแสดงต้องขออนุญาต ต้องส่งบทให้ตรวจ สภาพบ้านเมืองยุคนี้
ส่งผลให้ดนตรีไทยเริ่มเสื่อมความนิยม มีนักดนตรีไทยตกงาน เปลี่ยนอาชีพ นักดนตรีไทยได้รับความกระทบกระเทือนปวดร้าว เพราะสมัยนั้นผู้คนไม่ได้เป็นเสรีภาพเหมือนสมัยนี้ ที่สามารถจะต่อต้านโวยวายได้ รัฐบาลว่าอย่างไรชาวบ้านก็ต้องปฏิบัติตาม

ThailandArtist: ส่วนชื่อภาพยนตร์ “โหมโรง” หรือ “The Overture” มีการคิดไว้ก่อนหรือไม่
อิทธิสุนทร: ชื่อภาพยนตร์ภาษาไทย “โหมโรง”เพิ่งมาตั้ง ตอนแรกใช้ชื่อโปรเจคเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Overture” ซึ่งคำว่า “Overture” เป็นศัพท์ในทางดนตรีของทั้งไทยและสากล เวลาที่จะเริ่มเล่นคอนเสิร์ต วงออเคสตร้าเขาก็จะเริ่มการแสดงด้วยการเล่น Overture เหมือนของไทย เวลาวงปี่พาทย์จะเริ่มแสดง ก็มักเริ่มด้วยเพลงโหมโรง เพลงที่ถูกเล่นเป็นการโหมโรงก็จะมีอยู่หลากหลายเพลง มีชื่อต่างกันไปเช่น โหมโรงภิรมย์สุรางค์ โหมโรงศรทอง
การโหมโรงโดยเป้าหมายคือเล่นเพื่อเปิดการแสดง เล่นเพื่อประกาศว่าดนตรีจะเริ่มขึ้นแล้วหรือเล่นเพื่อวอร์มอัพนักดนตรี จะมีความหมายได้หลายนัย

ThailandArtist: โดยส่วนตัวของคุณอิทธิ มีความสนใจหรือมีพื้นฐานเกี่ยวกับดนตรีไทยมาก่อน หรือเปล่า
อิทธิสุนทร: ผมไม่มีพื้นฐานทางด้านดนตรีไทยเลย แต่เคยทำงานแต่งเพลง สมัยอุ้ย ระวิวรรณ จินดา, แอนนา โรจน์รุ่งเลิศ เฉลียงหรือโคโคแจ้ส ในสมัยหนึ่ง
โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบดนตรี แต่ก็ไม่ได้ติดตามในดนตรีไทยนัก ส่วนหนึ่งคงเพราะรู้สึกเหมือนคนทั่วไปว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ แต่พอได้มาสัมผัส ได้ศึกษาประวัติความเป็นมา ก็รู้สึกว่ามันเป็นของดีของแผ่นดิน มันเคยเป็นความมหัศจรรย์ เป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีของเราเอง จึงเริ่มตั้งคำถาม ว่าทำไมเราไม่รู้สึกคุ้นเคย ไม่อยากรู้จัก ไม่อยากสนิทด้วย
ยุคสมัยอาจจะเป็นปัญหา เครื่องดนตรีอาจไม่พัฒนา แต่วิธีการนำเสนอผมก็ว่าเป็นเรื่องใหญ่ เรามักเห็นมโหรีปี่พาทย์นั่งเล่นเป็นวงนิ่งๆ ฉากก็ไม่ตกแต่ง ถึงตกแต่งก็คร่าวๆง่ายๆ ไม้อัดทาสี ผ้าม่านเก่าๆ ไม่ก็ทำโฟมตัด สิ่งเหล่านี้พลอยสร้างความรู้สึกว่าน่าเบื่อ เชยๆโบราณ ซึ่งในเพลงเดียวกันหากนำมาเสนอในรูปแบบใหม่ ถ้าเล่นบนเวที ก็มีฉาก มีแสงสีมาช่วยขับเน้น สร้างบรรยากาศ สร้างความเคลื่อนไหวช่วยเข้าไป มันก็สนุกสนานขึ้นมาได้
ถ้าอยู่ในสื่อวิดีโอ ทีวี แค่เรื่องของการตัดต่อที่ดี ก็จะช่วยสร้างความรู้สึก สร้างความเข้าใจในจังหวะ และอารมณ์ของเพลงได้ เพชรก็จะยิ่งแสดงคุณค่า แต่อาจต้องวางอยู่บนผ้ากำมะหยี่ และส่องไฟให้ถูกเหลี่ยม

ThailandArtist: มีการเตรียมงานสำหรับเรื่อง “โหมโรง” อย่างไรบ้าง
อิทธิสุนทร: สำหรับข้อมูลผมเริ่มค้นคว้าตั้งแต่ปลายปี 2544 ก่อรูปก่อร่างมาจนต้นปี 2545 ก็เริ่มคุยกับทาง พร้อมมิตรโปรดักชั่น ภาพยนตร์หรรษา และสหมงคลฟิล์ม เมื่อมีผู้ให้การสนับสนุนก็กลับมาเตรียมงานแบบจริงจัง

ThailandArtist: คนรอบข้างรู้สึกอย่างไรบ้างเมื่อทราบว่าจะทำหนังเกี่ยวกับดนตรีไทย
อิทธิสุนทร: ก็มักจะเกิดคำถามว่าจะมันจะไม่น่าเบื่อเหรอ ไม่กลัวคนดูหันหลังให้เหรอ ตอนเริ่มโปรเจคใหม่ๆก็มีเสียงเตือนมาตลอดว่า จะหาคนออกทุนสร้างได้หรือ ถึงวันนี้ก็นับเป็นโชคดีที่ทางสหมงคลฟิล์ม พร้อมมิตรโปรดักชั่นและภาพยนตร์หรรษา ให้การสนับสนุนผลักดันอย่างเต็มที่ ทุกๆที่คงมองในจุดเดียวกันว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อเรื่องที่น่าสนใจ ส่วนทางด้านการตลาดคงจะเป็นหน้าที่หลังจากนั้นว่าจะทำอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่รู้จัก
แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่า มันน่าเป็นจะปรากฏการณ์ใหม่

ThailandArtist: การคัดเลือกนักแสดง มีหลักในการคัดเลือกอย่างไร
อิทธิสุนทร: ตอนแรกผมเริ่มจากการหานักดนตรีที่สามารถเล่นระนาดได้จริงทั่วทุกสถาบัน มีการแข่งขันประชัน หรือมีชมรมที่ไหนก็จะตามไปหมด ไปถามอาจารย์ว่ามีลูกศิษย์ที่จะมา cast บ้างหรือเปล่า ก็ทยอยมา cast กันเรื่อยๆ แต่ละคนฝีมือตีระนาดหายห่วง แต่ติดตรงที่คาแรกเตอร์หรือหน้าตาซึ่งยังไม่ตรงใจ จึงเปลี่ยนวิธีมาหานักแสดงที่มีเวลามาทุ่มเทฝึกฝน และมีพรสวรรค์ที่จะพัฒนาการเรียนดนตรีไทยได้
ในที่สุดก็ได้โอ อนุชิตซึ่งมีพื้นฐานทางด้านการเป็นแดนเซอร์มาก่อน ผมก็ส่งตัวโอไปให้อาจารย์ในโรงเรียนจิตรลดาดูแววว่า หากมีเวลาเพียงแค่ 7 เดือน คนนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน ซึ่งบางคนก็อาจจะไปได้เร็ว บางคนก็จะไปได้ช้า แล้วแต่พรสวรรค์
ตอนนั้นก็บอกโอ ว่ายังไม่ตกลงอะไรทั้งสิ้น ขอส่งไปให้อาจารย์ดูอย่างเดียว แต่พอเข้าไป อาจารย์ก็บอกว่าโอมีแวว มีทักษะ ผมเองก็รู้ว่าเขามีความตั้งใจทุ่มเทที่จะเล่นเรื่องนี้อยู่แล้ว แม้จะไม่เคยมีพื้นฐานทางด้านดนตรีไทยมาก่อน แต่ก็มีความสามารถทางด้านการเต้น การเป็นแดนเซอร์ ซึ่งทำให้การฟังการจับจังหวะ การแยกชิ้นดนตรี อย่างเช่นท่อนนี้ฟังระนาด ท่อนนี้ต้องฟังปี่ ก็เหมือนกับการที่เขาเต้น ท่อนนี้เขาต้องฟังตามเสียงกีตาร์ ท่อนนี้ต้องเต้นตามเสียงเบส ทำให้เขามีพื้นฐานที่ดี ในการเรียนดนตรี
ตอนที่ส่งโอไปเรียนก็ตัดสินใจส่งไปคนเดียว โดยคัดเลือกคนที่บุคลิกตรงต้องการ และน่าร่วมงานด้วยมากที่สุด ส่วนคุณอาอดุลย์ ผมก็หมายตาไว้แต่ต้นแล้ว เพราะเป็นคนที่ดูสง่ามากในวัย 70 ปี ยิ่งเมื่อได้โอมา ก็ยิ่งได้เค้าโครงหน้าที่คล้ายกันอีก คุณอาอดุลย์เองก็ต้องมาฝึกระนาดเช่นเดียวกัน แต่จะไม่เข้มข้นเท่าตอนหนุ่ม เพราะเพลงที่อาอดุลย์เล่นในหนัง จะเป็นเพลงที่เยือกเย็น เล่นไม่ยาก
ส่วนขุนอินจะเป็นตัวละครที่เป็นนักระนาดยอดฝีมือ ที่มีชื่อเสียงสมัยรัชกาลที่ 5 ผมตั้งใจไว้แล้วว่าจะต้องหาคนที่เล่นระนาดได้จริง เพราะจะต้องตีระนาดได้ดุ มีพลัง ก็ใช้วิธีส่งทีม casting ไปถ่ายอาจารย์ที่สอนระนาด ที่ตัดสินใจเลือกอาจารย์ปอง(ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า) เพราะว่ามีคาแรกเตอร์เฉพาะตัว ที่ตรงตามบทมาก ยิ่งได้เห็นการตีระนาดก็ยิ่งถูกใจ จึงเชิญอาจารย์มาคุยเรื่องบทขุนอิน อาจารย์ก็ยินดีมาร่วมงานด้วย
ในส่วนของนางเอกก็คัดเลือกเค้าโครงหน้าที่ดูเป็นสาวชาววัง ดูแล้วเย็นตา ส่วนออฟ พงษ์พัฒน์ ผมเคยร่วมงานกันมาก่อนตั้งแต่สมัยวิก 07 โชว์ ตอนแรก ซึ่งตอนนั้นผมกำกับและเขียนบท ออฟเล่นเป็นคนบ้า และก็ได้มาร่วมงานกันอีกครั้งในละครเรื่องพระจันทร์ลายกระต่าย ก็ถือว่าค่อนข้างสนิทกันมานานแล้ว

ThailandArtist: ตอนที่คุณอิทธิเห็นโอเล่นดนตรี รู้สึกพอใจหรือไม่
อิทธิสุนทร: รู้สึกพอใจมาก และรู้สึกโชคดีที่ตัดสินใจเลือกโอ เพราะถ้าเป็นคนอื่นคงไม่สามารถทำได้ขนาดนี้ ไม่เฉพาะแค่ผม ครูดนตรีท่านอื่นก็ให้ความเห็นว่าโอเขาเก่งและมีพรสวรรค์ ส่วนหนึ่งคงมาจากการที่โอทุ่มเทและฝึกฝนอย่างจริงจัง

ThailandArtist: ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มถ่ายทำตั้งแต่เมื่อไหร่
อิทธิสุนทร: ภาพยนตร์เรื่องนี้แบ่งถ่ายทำเป็นสองช่วง คือช่วงของคุณอาอดุลย์ เป็น ยุครัชกาลที่ 8 จะถ่ายตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2545 เป็นเวลา 2 เดือน จากนั้นก็เริ่มถ่ายในช่วงของโอ คือยุคสมัยรัชกาลที่5 ในช่วง เดือนพฤศจิกา ปี 45 เลยเถิดมาจนเดือน พฤษภา ปี 46

ThailandArtist: ฉากสำคัญที่ปรากฏในหนังมีการหาโลเกชั่นอย่างไร
อิทธิสุนทร: ก็ส่งทีมไปสำรวจ อย่างบ้านท่านครูจะไปถ่ายทำกันที่บ้านปากช่อง แต่มีการทาสีใหม่ ต่อเติมใหม่ ทำรั้วใหม่ ทำตึกแถวขึ้นมาล้อมบ้านให้เป็นซอย เพื่อให้เข้ากับบท ซึ่งเป็นฉากบ้านในบางกอก
ฉากท้องถนนบางฉาก ก็ไปถ่ายไกลถึงตะกั่วป่า หรือฉากบ้านพระเอกตอนเป็นหนุ่ม ก็ไปสร้างฉากเรือนไทย อยู่ในสวนมะพร้าวแถวอัมพวา

ThailandArtist: คุณอิทธิทราบรายละเอียดของยุคสมัยรัชกาลที่ 5 หรือรัชกาลที่ 8 อย่างไร ทั้ง
รายละเอียดในด้านความเป็นอยู่หรือการแต่งกาย
อิทธิสุนทร: ส่วนใหญ่ก็อาศัยการค้นคว้าข้อมูล เรื่องนี้ถือเป็นหนัง period 2 ยุค ซึ่งมีทั้งสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 8 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ห่างกันประมาณ 50 - 60 ปี การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองก็จะมีมาก ทั้งเรื่องของไฟฟ้า ถนนหนทางการคมนาคม ทุกอย่างจะมีการเปลี่ยนแปลงหมด แต่ที่เห็นอย่างเด่นชัดจะเป็นในเรื่องของเสื้อผ้า ในยุคมาลานำไทย ผู้คนก็ต้องใส่หมวก ผู้หญิงใส่กระโปรงบาน ผู้ชายต้องใส่เชิ๊ตขาว แขนยาว ใส่กางเกงสแล็ค แต่ในยุคสมัยของรัชกาลที่ 5 ก็จะเป็นผ้าแถบ ผ้าโจงกันอยู่

ThailandArtist: มีอุปสรรคในการถ่ายทำอย่างไรบ้าง
อิทธิสุนทร: อุปสรรคมาตรฐานจะมีโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของฟ้าฝน อย่างโลเกชั่นที่ต้องสร้างบ้านในสวนมะพร้าว พอปลูกไปฝนก็ตกน้ำท่วมตลอด จากที่ต้องเช่าสองเดือนก็เป็นสามเดือน สุดท้ายก็เลยไปถึงหกเดือน เพิ่มค่าเช่าขึ้นเรื่อยๆ
แล้วก็เรื่องเสียงรบกวน สิ่งแปลกปลอมเข้ามาขณะถ่ายทำ หนังย้อนยุคจะยากในเรื่องของรายละเอียดความสมจริง หากเราแพนกล้องเกินไปอีกนิดเราอาจจะเจอเสาไฟ ถ่ายติดถนนมากอาจจะมีเสียงมอเตอร์ไซค์ เสียงรถยนต์ หรือเสียงรถไอติมวอลล์ มาทำให้ต้องเทคใหม่ถ่ายใหม่ ฉากก็มักจะต้องสร้างขึ้นเอง ต้องหาซอกหามุม เข้าตรอกซอกซอย
โดยส่วนตัวแล้วไม่ค่อยชอบหนังย้อนยุค เพราะความสบายในการทำงานจะผิดกับหนังปัจจุบัน แต่ตอนที่คิดจะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้คิดว่ามันเป็นหนังย้อนยุคหรือไม่ได้ย้อนยุค แต่จะดูพล็อตเรื่องมากกว่า มันน่าสนใจ และก็สนุกที่ได้เล่าเรื่องราวที่ยังไม่มีใครทำ












ThailandArtist: ฉากไหนที่คุณอิทธิคิดว่ายากที่สุดในการถ่ายทำ
อิทธิสุนทร: คงเป็นฉากประชัน ฉากประชันส่วนใหญ่ใช้เวลาในการถ่ายทำไม่น้อยกว่า 5 วัน เนื่องจากมีตัวละครเยอะ เพลงในฉากก็เป็นเพลงที่เล่นยาก นอกจากนักแสดงจะต้องเล่นเพลงที่ยากอยู่แล้ว ยังต้องแสดงอารมณ์ไปด้วย บางครั้งเมื่อเราเค้นเขาในเรื่องการแสดง ก็จะตีระนาดผิดพลาด พอไปเค้นในเรื่องของการตีระนาด การแสดงเขาก็อ่อนลง ต้องดูแลทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน

ThailandArtist: การทำหนังที่เกี่ยวกับดนตรีมีความยากง่ายหรือไม่อย่างไร
อิทธิสุนทร: ก็คงยากขึ้นกว่าปกติแน่นอน เพราะจำเป็นจะต้องใส่ใจเพิ่มในเรื่องดนตรี การเคลื่อนกล้อง แพนกล้องบางครั้งต้องให้ลงจังหวะของเพลง นักแสดงต้องใช้สมาธิในการเล่นมากว่าปกติ ถ้าโน๊ตแรกตีลงจังหวะ โน๊ตที่สี่เพี้ยนไป ก็จำเป็นจะต้องถ่ายใหม่

ThailandArtist: ทางด้านซาวด์หรือเพลง มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
อิทธิสุนทร: ฉากเพลงจะมีการทำงานสองลักษณะ คือใช้เพลงที่แต่งในห้องอัดเสียงมาเปิดถ่ายทำ และให้นักแสดงเล่นเพลงนั้นสดๆขณะถ่ายทำ ส่วนที่ต้องเล่นสดในหนัง ก็เป็นพวกฉากการซ้อมดนตรี แต่ถ้าเป็นฉากประชัน จำเป็นต้องทำเพลงที่สมบูรณ์ออกมาจากห้องอัดเสียง เพราะต้องมีการมิกซ์เสียง เพื่อทำเป็นระบบเซอราวด์หรือสเตอริโอ ถ้ามาอัดเสียงขณะที่ถ่ายทำก็จะไม่ได้ระบบเสียงที่ดี
ผมทำเพลงทั้งหมดไว้ก่อนที่จะมีการเปิดกล้อง ใช้เวลาอยู่ในห้องอัดเสียงนาน ทำแล้วกลับมาแก้ แก้แล้วกลับไปทำ ทำเสร็จแล้วก็ต้องนำไปให้นักดนตรีซ้อม หรือให้โอซ้อม บางเพลงต้องมี SCORE มากำกับ มีไวโอลินมาช่วยเสริมอารมณ์ เลยต้องทำไว้ก่อน ซึ่งได้คุณนิค ชัยภัคและวงกอไผ่ มาทำส่วนดนตรีไทยให้ แต่ละเพลงกว่าจะได้มา ก็ต้องนั่งปรึกษากันว่าจะนำเพลงไหนมาอยู่ในฉากไหน ความยาวของเพลงก็ต้องดูให้เหมาะสม เพราะด้วยความเป็นหนัง เราต้องการให้ฉากที่สั้นกระชับ ต่องมีการย่อ มีการเรียบเรียงใหม่ ถ้าเพลงไหนย่อไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนเพลง ทำเพลงใหม่ไปเลย
ลีลาของเพลงก็ต้องคอยดู เพลงนี้พระเอกต้องตีตอนที่ฮึกเหิม คึกคะนอง ฉะนั้นลีลาระนาดก็จะออกแนวจิ๊กโก๋ อย่าเรียบร้อยนัก เพลงนี้อาอดุลย์เล่นก็อย่าสะบัดสะบิ้งมาก ควรจะให้สุขุมนุ่มลึก

ThailandArtist: เพลงที่ประกอบในภาพยนตร์ เพลงอะไรบ้างที่พอจะคุ้นหูคนในยุคสมัยนี้
อิทธิสุนทร: จะมีเพลงป๊อป อย่างลาวดวงเดือน ลาวเสี่ยงเทียน ต้นวรเชษฐ์ หรือเพลงอย่างค้างคาวกินกล้วย ซึ่งทุกเพลงจะเป็นการเรียบเรียบขึ้นมาใหม่ ส่วนในฉากประชันระหว่างขุนอินและศรก็จะมีเพลงไฮไลท์เป็นเพลงเชิดต่อตัว ซึ่งเป็นเพลงชั้นสูงของการประชัน วัดกันด้วยความเร็ว ลีลา เหมือนเวลาที่เราดูฝรั่งเขาโซโลกีตาร์แข่งขัน ซึ่งในระดับหนึ่งต้องวัดกันด้วยความเร็ว ด้วยสปีดหรือเทมโปที่เร็วกว่ากัน ถือว่าเป็นความสนุก ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้เห็นลีลาการตีระนาดอย่างชนิดมองไม่เห็นหัวไม้เลยทีเดียว

ThailandArtist: คุณอิทธิมีส่วนร่วมในเรื่องของดนตรีอย่างไรบ้าง
อิทธิสุนทร: ก็เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเพลง เพลงไทยหรือเพลงปี่พาทย์มีเป็นร้อยเป็นพัน การที่จะคัดมาอยู่ในหนัง 20 เพลง จะคัดเพลงอะไร ฉากไหนสื่ออารมณ์ไหนเหมาะสมกับเพลงนั้นหรือไม่ หลายเพลงก็จะใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นหลัก ว่าฟังแล้ว เรารู้สึกสนุกและคุ้นหูหรือไม่ ฟังยากไปหรือไม่ หรือบางเพลงนักดนตรีทำมา แล้วรู้สึกว่ายังบู๊ไม่พอ อยากได้บู๊กว่านี้ อยากให้หวานกว่านี้ ก็ใช้หูเราตัดสิน แต่เราต้องทำหูเราให้ใกล้เคียงกับหูคนดูทั่วไปมากที่สุด

ThailandArtist: สำหรับเพลงที่ใช้ประกอบในเรื่อง ถ้าคนดนตรีไทยได้มาดู คิดว่าจะมีความรู้สึกอย่างไร
อิทธิสุนทร: เสียงชื่นชมและตำหนิก็อาจเป็นของคู่กัน เป็นเรื่องปรกติของงานศิลป ไม่มีผิดไม่มีถูก ความจริงสมัยนี้คนส่วนใหญ่เปิดกว้างพอที่จะยอมรับ หลังจากที่เมืองไทยมีวงฟองน้ำ วงบอยไทย ดนตรีไทยก็เปิดกว้างขึ้น ไม่อนุรักษ์นิยมเหมือนเก่า แต่ก็เตรียมใจไว้ถ้าคนหัวอนุรักษ์นิยมมาก ๆ ก็อาจจะเคืองได้ ว่านำเพลงความยาว 6 นาที มาตัดทอนเหลือนาทีครึ่ง ซึ่งตรงนี้ผมไม่สามารถทำอย่างอื่นได้เลย เรากำลังสื่อสารกับคนดูด้วยศาสตร์ของภาพยนตร์ ถ้าฉากนี้ไม่ควรยาวกว่านี้
ถ้าคนดูเขาต้องการดูฉากต่อไปแล้ว ก็คงต้องขออนุญาตปรับเปลี่ยน แล้วดูกันที่แก่นที่เป้าหมายดีกว่า

ThailandArtist: ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะกับคนดูกลุ่มใดเป็นพิเศษหรือไม่
อิทธิสุนทร: ผมว่าสามารถดูได้ทุกกลุ่มครับ ในแง่ความบันเทิงมีให้แน่นอนอยู่แล้ว ด้วยเรื่องที่สนุก ฉากประชันที่ตื่นเต้นเร้าใจ ถ้าจะชมเพื่อทราบที่ไปที่มาของดนตรีไทยก็จะได้รับรู้ช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ ทั้งในยุครุ่งเรือง และยุคเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม

ThailandArtist: พอใจกับผลงานที่ออกมาแค่ไหน
อิทธิสุนทร: พอใจและภูมิใจครับ แม้หนังจะไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการ แต่ก็มีความงดงาม และสมบูรณ์ในตัวของมัน ทั้งฉากดนตรีต่าง ๆ เท่าที่เรียกผู้ชมมาทดสอบดู ทุกคนก็จะสนุกชื่นชอบกับดนตรีไทยในหนังเป็นอย่างมาก

ThailandArtist: คิดว่าต่างประเทศจะสนใจภาพยนตร์เรื่องนี้มากน้อยเพียงใด
อิทธิสุนทร: ผมว่าน่าจะเป็นที่สนใจ ด้วยความที่เราเล่าเรื่องที่เขาไม่เคยมีหรือเคยฟังมาก่อน และประเด็นของเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดนตรีหรือศิลปะก็สากลพอที่คนต่างประเทศจะเข้าใจ



Posted by : moviemania , Date : 2004-02-15 , Time : 22:26:14 , From IP : 172.29.3.240

ความคิดเห็นที่ : 14


   ดูแล้ว สนุกดีครับ

Posted by : เหอๆๆ , Date : 2004-02-16 , Time : 15:02:28 , From IP : 172.29.4.73

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.008 seconds. <<<<<