ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

"ศิริราชปรับโฉม รพ.แข่งเอกชน-เปิดบริการศูนย์สุขภาพชั้นเลิศ-"


   ข่าวใหม่ ที่ผมมองว่าเป็นข่าวใหญ่ ในกรุงเทพธุรกิจ 8 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ว่า "ศิริราชปรับโฉม รพ.แข่งเอกชน-เปิดบริการศูนย์สุขภาพชั้นเลิศ- เน้นคนรายได้สูงกับต่างชาติ" โดยมีรายละเอียดมากมาย พร้อมกับมีการกล่าวถึงวิธีการตามหลักการที่ดี ที่จะทำให้การแพทย์ดีขึ้น

ผมในฐานะที่เป็นผู้สอนการจัดการและเคยเป็นผู้บริหารของธนาคารมาก่อน โดยเฉพาะกับการใช้เทคนิคการบริหารจัดการใหม่ๆ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและรักษาประโยชน์แห่งทรัพย์สินขององค์การส่วนรวมกับบริการที่จะให้กับประชาชน ทั้งเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มต้นก่อตั้งโครงการ MBA ของธรรมศาสตร์ ด้วยแนวคิดที่ดี คือ เป็น "โครงการเลี้ยงตัวเอง" เพราะเป็นระบบที่คล่องตัวทำให้หารายได้มากขึ้นนั้น ผมต้องบอกว่า แท้จริง “หลักการ” กับ “วิธีการ” คือ เรื่องหนึ่ง แต่ผลในทางปฏิบัติที่เป็นจริงนั้นจะมีอีกมากมาย ที่จะเป็นตัวแปรให้กลายรูปเป็นไปในทางตรงข้ามได้ ...

ที่สุดของความแนบเนียน คือ การแถลงเท่ากับการประกาศทำทั้งระบบ เพราะมีการนำเอาคณะแพทย์ของ รพ.ชั้นนำของรัฐทุกภาค เข้าอยู่ในแผนด้วย ซึ่งหากผ่านการต่อต้านจากด่านที่หนึ่งไป ก็จะได้ทั้งระบบโดยง่าย อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกโล่งอกไประดับหนึ่งเมื่อได้เห็นข้อเขียนของ นพ.สุภัทร ฮาสุวาณกิจ จากชมรมแพทย์ชนบท ที่ได้เขียนข้อถามตามเรื่อง "สู่การแพทย์สองมาตรฐาน-บทวิพากษ์ เมดิคัลฮับในมุมมองวิชาการ" (เมื่อวันศุกร์ที่ 10 ก.พ. 2555) โดยตั้งคำถาม 4 คำถามหลัก คือ


คำถามแรก เมดิคัลฮับ มองบริการเป็นสิทธิหรือสินค้า


คำถามที่สอง คือ เป้าหมายจะหารายได้ หรือทำประโยชน์แก่สังคมกันแน่


คำถามที่สาม จะใช้สูตร โรบินฮู้ด “ปล้นคนรวย เพื่อช่วยคนจน” ในสูตรไหน เท่าไร อย่างไร จึงจะพอดี


คำถามที่สี่ การเอาเมดิคัลฮับไปตั้งในโรงเรียนแพทย์ ส่งผลดีผลเสียต่อการผลิตแพทย์อย่างไร


แถมท้ายด้วยการชี้ให้เห็นถึงปัญหาจากบรรยากาศของแพทย์รุ่นใหม่ ที่โตขึ้นในท่ามกลางแพทย์พาณิชย์ว่า จะกระทบต่อการสร้างจิตสำนึกกับจริยธรรมอย่างไร...

ในเบื้องต้นนี้มีประเด็นถามไว้เพียงสามประการ คือ

ประการแรก ท่านจะแยกส่วนของหน่วยพิเศษ “เลี้ยงตัวเอง” ด้วยการจัดการแบ่งออกไปอย่างไร มีต้นทุนของการลงทุนครั้งแรกเท่าไร แค่ไหน ให้ค่าตอบแทนแก่ต้นสังกัดอย่างไร รวมทั้งจ่ายค่าตอบแทน ค่าเช่าทรัพย์สินของกลางไปใช้แยกส่วนกันอย่างไร อีกทั้งมีการคิดค่า Goodwill ด้วยหรือไม่

ประการที่สอง การถือเอาแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ไปเป็นของเมดิคัลฮับ แล้วให้โรงเรียนแพทย์มีแต่แพทย์ประจำธรรมดาดูแล ดังนี้ ท่านจะให้มีการถ่ายทอดเรียนรู้ ทำประโยชน์ และสร้างประสบการณ์การรักษาร่วมกันอย่างเป็นทีมได้อย่างไร และแพทย์อาวุโสจะได้สิทธิในการใช้เวลาว่างเพื่อตัวเอง กับ ครอบครัว รวมถึงการทำประโยชน์สังคมจากวิชาชีพของตนอย่างไรบ้างหรือไม่ แค่ไหน ไม่ใช่การทำงานหนักเหมือนรีดเลือดจากปู เพียงให้แต่สิทธิพิเศษที่จะให้กับลูกหลานให้ได้เรียนแพทย์ได้ เพียงเพื่อไปรับใช้นายเงินที่มากับพลังทุนอย่างเดียวหรืออย่างไร ถ้าใช่ก็เท่ากับว่า "รางวัลที่ได้รับ" นั้น แท้จริง คือ การทำบาปกับลูกหลาน โดยผลักเขาให้ไปเป็นคนรับใช้นายทุนไปตลอดชีวิต

และถ้าไม่มีการแยกส่วนออกไป ควรมีการออกกฎหมาย ใช้ห้ามมิให้นำเอาส่วนใดๆ ไปขายในตลาดทุนได้

ซึ่งประการสุดท้ายนี้ คือ ข้อที่ยากที่สุดต่อการป้องกัน เพราะจุดอ่อนของคน คือ การต้องการความร่ำรวย ซึ่งคนถนัดเล่นเกมการเงินตลาดทุน จะทำให้ได้รับอย่างมากมาย จนสบายใจ แต่สิ่งที่จะหายไปและต้องแลกกัน คือ อิสรภาพกับศักดิ์ศรีทางวิชาชีพ ที่ต้องหมดไป


โดย ธงชัย สันติวงษ์ คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "บริหารรัฐ จัดการธุรกิจ" นสพ.กรุงเทพธุรกิจ


ติดตามอ่านรายละเอียด ที่นี่ น่าคิด ???









Posted by : ช่วย , Date : 2012-02-15 , Time : 08:42:08 , From IP : 172.29.1.81

ความคิดเห็นที่ : 1


   โดยมี รร.แพทย์ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ อีก 4 แห่ง คือ รพ.สงขลานครินทร์, รพ.รามาธิบดี, รพ.สวนดอก เชียงใหม่ และ รพ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น


ข่าวใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 8 กพ. 2555 ที่นี่


Posted by : ช่วย , Date : 2012-02-15 , Time : 08:59:33 , From IP : 172.29.1.81

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.002 seconds. <<<<<