ความคิดเห็นทั้งหมด : 5

จิตตปัญญาเวชศึกษา 176: ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)


   
จิตตปัญญาเวชศึึกษา 176: ผลประโยชน์ทับซ้อน Conflict of Interest


เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อย่อยของสาระวิชาจริยศาสตร์การแพทย์ (medical ethics) มีความน่าสนใจไม่น้อย ทั้งนัยยะที่มา ผลกระทบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางปฏิบัติ ในยุคแห่งการสื่อสารที่มีกลเม็ดเด็ดพรายของภาษา การชักจูงอารมณ์ และ "อารมณ์เป็นใหญ่" จนกระทั่งภาษาทาง ethics ที่เป็นภาษาของเหตุผล หลักการ ดูจะ "ยี้" ไม่ทันสมัย ไม่ถึงใจ

นิยามง่ายๆก็คือ ในสายวิชาชีพใดก็ตามจะมีวัตถุประสงค์หรือหลักการที่สำคัญที่สุด เรียกว่า "วัตถุประสงค์หลัก" และก็จะมีวัตถุประสงค์รองๆจำนวนหนึ่ง เมื่อไรก็ตามที่พฤติกรรม "ดูเหมือนจะทำเพื่อวัตถุประสงค์รองมากกว่าคำนึงถึงวัตถุประสงค์หลัก" ก็จะเกิด "สภาวะมีประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน" เกิดขึ้น

การมีผลประโยชน์หลายประการจากกิจกรรมหนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนเสมอไป ตราบเท่าที่ primary objectives หรือวัตถุประสงค์หลัก ยังคงถูกเคารพและปฏิบัติตาม และการมีสภาวะผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่ามีคนกระทำผิด เจตนาไม่ดี เจตนาเลวเกิดขึ้นแล้ว แต่อาจจะแค่ "สามารถเกิดการรับรู้ไปในทางไม่ดี เกิดความสงสัยจากสาธารณชน" เท่านั้นเอง

ในสาขาอาชีพที่ "จำเป็น" ต้องคงไว้ด้วย "ความน่าเชื่อถือ" การจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนจึงสำคัญมาก ยิ่งจำเป็นต้องได้รับความเชื่อถือ ไว้วางใจเท่าไหร่ กระบวนการจัดการประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนยิ่งต้องชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น องค์กรหรือกลุ่มวิชาชีพที่พึ่งพา values อันนี้นั้น (ความน่าเชื่อถือ) ก็จะเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับความยุติธรรม ความจริง ความดี ความปลอดภัย สุขภาวะของประชาชน ความมั่นคงของประเทศชาติ เป็นต้น

อะไรบ้างล่ะ? ที่อยู่ในกลุ่มนี้

ศาลสถิตยุติธรรม ตำรวจทหาร องค์กรศาสนา ครู/อาจารย์ การศึกษา การแพทย์ เศรษฐกิจการคลัง จะว่าไปก็ครอบคลุมเยอะมาก จนแทบจะเรียกว่าเกือบทุกวงการ แต่หลักๆที่ต้องค่อนข้างจะ "เข้มข้น" คงจะเป็นที่กล่าวมา

ทำไม?

ก็เพราะว่า ถ้าคุณค่าด้านความน่าไว้วางใจขององค์กรเหล่านี้ถูกเคลือบแคลงเมื่อไร ก็จะเกิดผลเสียต่อสาธารณชนโดยรวมอย่างมากมาย

ซื้ออาวุธจากประเทศคู่สงคราม หรือมีปัญหาชายแดน
ตำรวจที่ได้รับเบี้ยพิเศษจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของชุมชนเท่านั้น
โรงเรียนที่มีอคติต่อความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งโดยเฉพาะ
วงการศาลที่รับ sponsor จากผู้บริจาคหลักโดยเฉพาะ
วงการสาธารณสุขที่รับ sponsor จากผู้ขายสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ
ฯลฯ

ถ้าหากองค์กรเหล่านี้ มีพฤติกรรมที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน สาธารณชนก็อาจจะเกิดความสงสัยเคลือบแคลงว่า ไอ้ที่แนะนำ ไอ้ที่ทำๆ นั้น เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมหรือของส่วนตัวกันแน่ ก็อาจจะเกิดความไม่ร่วมมือกับคำแนะนำ หรือข้อปฏิบัติที่ออกมาจากองค์กรเหล่านี้ ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะถูกกระทบกระเทือน และมีผลเสียต่อสังคมได้มากมาย

"ความน่าเชื่อถือ" นั้นเป็น values เป็นคุณภาพที่ต้องทะนุถนอม

เพราะว่า "สร้างยาก" และ "ทำลาย สูญเสียง่าย" และ "สร้างว่ายากแล้ว สร้างใหม่หลังเสียหายไป ยิ่งยากกว่าเป็นทวีคูณ" พูดง่ายๆก็คือ ต้องเน้น "ปกป้อง ป้องกัน" มากกว่า "ตามล้าง ตามเช็ด ตามแก้"

กระบวนการทำให้ความน่าเชื่อถือนั้นมีหลายวิธี ทั้งตรงไปตรงมาก็มี ทั้งโดยทางอ้อมก็มี เช่น

declaration
rule sets
professional organization protocols
public debate or hearing

Declaration หรือ การป่าวประกาศแสดงความโปร่งใส เพื่อให้สาธารณชนสามารถใช้วิจารณญานของตนเองได้อย่างเต็มที่ว่าควรจะเชื่อหรือไม่เชื่อดี นั่นคือการทำให้ "ที่มา และกระบวนการได้มา" ของสิ่งที่ทำ/แนะนำ นั้นชัดเจน ทำไมหมอถึงแนะนำยาตัวนี้ เพราะมันมีประโยชน์ดังนี้ๆ จากการศึกษาแบบนี้ๆ ในประชากรแบบไหน กี่คน ระเบียบการวิจัยแบบไหน และสามารถทำไปถึงขนาดประกาศว่างานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยาอะไร บริษัทเครื่องมือแพทย์อะไร เพื่อให้คนรับรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด ถ้าจะเชื่อก็จะได้เชื่อจากการวิเคราะห์ใคร่ครวญข้อมูลที่โปร่งใสชัดเจน

เหมือนกับเราไม่มีอะไรต้องปกปิด เดินไปในตลาด ประกาศว่าฉันทำอย่างนี้เพราะอะไร เพราะอย่างนี้ๆ

declaration เป็นวิธีที่ใช้ได้ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่หิริโอตตัปปะยังใช้การได้อยู่ ใช้ได้ในสังคมที่ความละอาย ความเกรงกลัวต่อบาป ต่อความผิด ต่อความฉ้อฉลยังทำงานอยู่ เพราะพื้นฐานแล้ว มนุษย์อยากจะถูกยอมรับนับถือ

ห้ามใช้ ใช้ไม่ได้ หรือใช้ไม่ได้ดี ในสังคมที่สับสนในความดี ความงาม สังคมที่ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ ใช้ความง่ายเข้าตัดสินเรื่องราวต่างๆ ใช้ความดุดัน ใช้กำลังเข้าตัดสินความถูก/ผิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่ใช้ผลประโยชน์เข้าชี้นำพฤติกรรม

จะเห็นว่าในข้อสอง สาม และสี่นั้น ประการหนึ่งก็คือ เราควรจะหลีกเลี่ยงตัดสิน ฟันธงเรื่องนี้ ด้วยลำพังคนๆเดียว เพราะคนเดียวสามารถถูก "อารมณ์" เข้ากลบเกลือนเหตุผลที่แท้จริงไปได้ง่ายเกินไป เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องนำเอา public concern หรือความกังวลของสาธารณชนเข้ามาด้วย ต้องการมุมมองที่กว้างเท่าไหร่ ครบทุกมุมได้เท่าไหร่ ยิ่งดี

มิฉะนั้น จะเกิด logic ประเภท

อืม.. ผมคิดว่าไม่ผิดนะ ดังนั้นไม่น่าจะผิด (ใช้ตัวเองเป็นหลัก)
อืม.. อาจารย์ผมว่าไม่ผิดนะ ดังนั้นไม่น่าจะผิด (ใช้ reference เดียวเป็นหลัก)
อืม.. ใครๆก็ทำนะ เราทำบ้างดิ (ไม่ได้ยึดหลัก "ความดี" แต่เอา selective examples เป็นหลัก)
อืม.. ไอ้คนที่ว่าเรามันเป็นคนไม่ดี เราไม่ต้องฟังมัน (ใช้ one us/ one them เป็นหลัก คือขอ "ตีตรา" ว่ามันเลวก่อน dehumanize มันก่อน)
อืม.. พูดยังงี้มันด่าเรานี่หว่า (ใช้อารมณ์ ใช้ความกลัวเป็นหลัก)
ฯลฯ

จริงๆแล้ว conflict of interest หรือผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ทำให้กระจ่างเท่าไหร่ กลับเป็นการ "เพิ่ม credit เพิ่มความน่าเชื่อถือ" ให้แก่องค์กรนั้นๆมากขึ้นเท่านั้น องค์กรที่เน้นธรรมาภิบาลจะไม่มีปัญหาในการแก้ไขเรื่องนี้เลย และสามารถใช้กระบวนการมากมาย ทำให้เกิด transparency ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เข้ามาอธิบายให้เกิดความชัดเจนในสังคม ใช้เป็นโอกาสชี้นำสังคม และเพิ่มมุมมองด้าน integrity ขององค์กรและหลักจริยธรรมได้เป็นอย่างดี

ยกตัวอย่างง่ายๆ รัฐบาลมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ อาทิ มะเร็งปอด ปอดอักเสบเรื้อรัง หลอดลมอุดตันเรื้อรัง เกิดภาระโรคต่อประเทศอย่างมาก ก็จะทำนโยบายแผนยุทธศาสตร์ทุกภาคส่วนของสังคมในการแก้ปัญหาอันนี้ จะเชิญตัวแทนจากทุกวงการมานั่งล้อมวงคุยกันว่าจะทำยังไงดี มีทั้งหมอ พยาบาล ตัวแทนโรงพยาบาล ตัวแทนนักกฏหมาย ตัวแทนประกันชีวิต ประชาชน ตัวแทนผู้เจ็บป่วยโรคที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ มาประชุมกัน ก็ต้องมีการเตรียมสถานที่ หาทุนค่าเดินทางต่างๆมากมาย ใช้เงินไม่น้อย แต่ปรากฏว่างานประชุมครั้งนี้ในที่สุด ได้รับ sponsor จากบริษัทขาบบุหรี่ข้ามชาติ ใหญ่ระดับโลก

จะเป็นยังไง?

นโยบายที่ออกมาจากโปร่งใส น่าเชื่อถือหรือไม่?
จะมีคนสงสัยว่าสิ่งที่ออกมา เพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ หรือ compromize ให้บริษัทบุหรี่ที่ออกเงินให้หรือไม่
มีผลกระทบอย่างไรต่อภาพลักษณ์โดยรวมขององค์กร ตัวแทน ที่มาร่วมงานในครั้งนี้บ้าง?
มีผลกระทบอย่างไรต่อ trust-worthiness ขององค์กร ตัวแทน และวิชาชีพบ้าง?
เป็นต้น


ในปัจจุบันเรื่อง conflict of interest จะฉิวเฉียดกับวิชาชีพที่ว่านี้มากขึ้น ในวงการการตลาด (Marketing) มีเรื่อง Corperate-Social Responsibility (CSR) ที่กำลังแพร่หลาย บริษัทใหญ่ๆพบว่าการมี association ระหว่างชื่อบริษัทและความดีต่างๆในสังคม เป็นอะไรที่จะกลับมาเป็น "ต้นทุนสำคัญ" ขององค์กรได้อย่างยั่งยืนและทรงพลัง เรียกว่าเป็น​ "การลงทุนที่ได้ผลคุ้มค่า" นั่นเอง

ในที่นี่จะพบว่าในตลาด จะมีสินค้าบางชนิด ที่ไม่ได้จัดอยู่ใน basic needs ของชีวิต ได้แก่ ของฟุ่มเฟือย ของที่ส่งเสริม vanity หรือกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก ไปจนถึงสินค้าที่ตัวมันเองส่งผลลบได้ค่อนข้างมาก ในกลุ่มหลังๆจะมีประเด็นเรื่อง "ภาพลักษณ์" เยอะกว่าสินค้ากลุ่มอื่นๆ ดังนั้นอะไรก็ตามที่จะมาแก้ไขเรื่องนี้ ก็จะเป็นผลดีมากต่อยอดขายและการหาผลกำไร CSR ก็จะเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่แก้ปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ได้โดยตรง

ถ้าจะเล่นเรื่อง "ภาพลักษณ์" จะแก้เรื่องภาพลักษณ์ที่ไม่งดงาม ก็ต้องเอาอะไรที่มีผลตรงกันข้ามมาเป็น presenters เราอาจจะจำได้การโฆษณาที่ค่อนข้างจะ "เกิน" รสนิยม เกินงาม เช่น เอาครูมาโฆษณาขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เอาหมอฟันมาโฆษณาแปรงสีฟัน ยาสีฟัน หรือเอาหมอมาขายตรงอาหารเสริม ยาบำรุง เพราะบุคคลเหล่านี้ ไม่ได้พามาแค่ตัวตนของเขา แต่มีคราบตัวแทนวิชาชีพที่ดี ที่มีคุณค่า น่าเชื่อถือ ห้อยติดมาด้วย คงจะไม่มีอะไรที่จะช่วยแก้ปัญหาภาพลักษณ์ด้านตัวทำลายสุขภาพได้ดีไปกว่าเอาแพทย์มาแก้ตัวให้ ก็เป็น strategy white-wash ที่ทรงพลัง

สิ่งที่คนในวงการวิชาชีพต้องระมัดระวังให้ดีก็คือ ในขณะที่องค์กรสามารถรับเงินบริจาคต่างๆ for good cause ที่เราจำเป็นต้องทำ เราชื่นชม "การบริจาค" แค่ไหนก็ตาม เรายังไม่ต้องเป็น defender of characters ของคนบริจาคว่าเป็น "คนดี" ขนาดไหนในสังคม เพราะการเป็นคนดีนั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการมีเงินบริจาค และเงินบริจาคไม่สามารถจะซื้อความเป็นคนดี หรือซื้อความดีได้ ความดีเป็นการลงทุนโดยพฤติกรรมต่อสังคมเท่านั้น ไม่ได้มีป้ายราคา หรือ threshold ว่าต้องบริจาคเท่าไหร่ องค์กรไหนจึงได้ certificate of good guy ไปอย่างง่ายๆ

"ทาน" คือ การให้ ถ้าเพื่อวัตถุประสงค์คือ "ได้บุญ" บุญนั้นคือจิตใจผ่องใสเบาสบาย ซึ่งผู้ใดที่บริจาคเงิน for good cause ก็จะได้ทันทีทันใดที่บริจาคเงิน เดินออกมาจากโต๊ะบริจาคอิ่มบุญไปในทันที

ในสังคมเรา มีการเชื่อมโยงการบริจาคเข้ากับเรื่องอื่นๆ รวมทั้ง status ทางสังคม มีจัด ranking อันนี้เริ่มทำให้เกิดความ blur ขึ้นทันที เพราะนอกจาก "บุญ" แล้ว ยังเกิด incentive อื่นๆแก่ผู้ให้อีก และถ้า incentive นี้ เกิดหวนกลับไปเป็น profit ได้ด้วย การบริจาคก็จะไม่ต่างอะไรกับการลงทุนชนิดหนึ่งที่จะมี return of what invested กลับมาได้ด้วย

นี่คือ "ประเด็นทางจริยธรรม" ที่แต่ละองค์กรวิชาชีพ น่าจะลอง exercise คิดวิเคราะห์และเผยแพร่หาข้อสรุปที่เป็น win/win/win สำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


Posted by : phoenix , Date : 2011-09-28 , Time : 09:17:11 , From IP : 172.29.17.115

ความคิดเห็นที่ : 1


   เห็นด้วยครับ
แต่มีสิ่งที่รบกวนจิตใจผมมานานมากจนถึงปัจจุบันหลายเรื่อง เช่น
- ตึกสลาก (กรมหวยเป็น big sponsor)
- สลากการกุศล กาชาด ... (ชวนให้ทำบุญ เสี่ยงโชค)
- ตีกอร์ฟ โบลิ่ง แข่งแรลรี่ ... การกุศล (หาเงินเข้าสมาคม เข้าราชวิทยาลัย ...)
- ผลิตภัณ ... ของกระทิง ... สนับสนุนการสาธารณสุขทุกรายการ ?
............................. ฯลฯ
อยากสลัดออกจากสมอง แต่เดินไปก็พบ ก็เลยถูกตอกย้ำเกือบทุกวัน
ทำให้ชักไม่แน่ใจว่า คิดถูกหรือเปล่า หรือเป็นการใช้ตัวเองเป็นหลัก ปน eference เดียวเป็นหลัก หรือจัดเป็น selective examples แฮะ
ชื่นชมครับ


Posted by : angee , Date : 2011-09-28 , Time : 11:33:48 , From IP : 172.29.14.34

ความคิดเห็นที่ : 2


   คุณ Angee

ขอบคุณที่มาร่วมรายการ เอ๊ย. สนทนาครับ ผมนึกว่าบอร์ดนี้ลดลงเหลือแค่โพสต์รูปกับรายงานจอดรถไม่เป็นระเบียบเท่านั้นซะแล้ว!

สสส.ก็รับเงินจากภาษีสุราครับ งานส่งเสริมสุขภาพปีไหนไม่ทราบ เชิญผู้นำหลายศาสนามาร่วมอภิปรายเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ผู้นำมุสลิมท่านบอกว่าของท่านจะไม่ส่งโครงงานมาทาง สสส.นะ เพราะว่าไม่สามารถรับเงินของ สสส.ได้ มันไม่บริสุทธิ์!! (มีเสียงเปรี๊ยะเล็กๆดังมาจากข้างๆเวที)

ครับ หลักการยังเป็นหลักการ และเราก็ยังมีมโนสำนึกอยู่ตลอดเวลาครับ การกระทำผิดบ่อยๆ อาจจะ desensitize ความรู้สึก แต่ไม่ได้ทำให้มันกลายเป็นถูกต้องไปได้ เรื่องของเรื่องมันเกิดปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นและต่อๆมาเราพบว่าถ้าคลังขาดภาษีจากสิ่งเสพติดพวกนี้ จะเกิดปัญหาเกิดขึ้นทันที (อันที่จริง น่าศึกษาต่อไปว่า ถ้าเรา "ลดค่าใช้จ่าย" จาก cigarette-related, alcohol-related diseases อาจจะมากกว่าภาษีที่ได้มาเสียอีก!)

มันจึงเป็นเช่นนี้เอง


Posted by : phoenix , Date : 2011-09-28 , Time : 11:43:00 , From IP : 172.29.17.115

ความคิดเห็นที่ : 3


   ด้วยความยินดีเช่นกันครับ

อ้อ อย่าว่าผมเฉิ่มเลยนะ ตัวเลข 176 หมายถึงอะไรครับ ถ้าเที่ยวนี้เข้าตรงเป้า อาจารย์ดังกว่าเก่าแน่


Posted by : angee , Date : 2011-09-28 , Time : 13:37:19 , From IP : 172.29.14.34

ความคิดเห็นที่ : 4


   ผลประโยชน์ทับซ้อน...ในชีวิตจริง มีมากกว่านี้ค่ะ แต่หมอส่วนหนึ่งพยายามทำเป็นลืมๆ และไม่คิดว่ามันใช่ เช่น การรับเงินสนุนต่างๆ จากบริษัทยา แล้วช่วยสั่งยาให้หรือช่วยทำวิจัยให้ (ระหว่างนี้ ก็จะมีผู้แทนยามาบริการอย่างดี)....

ส่วนเรื่องเงินบริจาคมาสร้างตึกหรืออุปกรณ์การแพทย์นั้น...สิ่งที่ค้างคาใจมานาน ก็คือ ทำไมรัฐบาลไม่สนับสนุนงบประมาณมาให้พอเพียง หรือว่าจริงๆ แล้วพวกเราดิ้นรนกันเองที่อยากจะมีศูนย์ความเป็นเลิศอย่างโน้น อย่างนี้ เพราะถ้าดูแต่ละอาคารที่กำลังสร้างในขณะนี้ (ที่กำลังแข่งๆ สร้างกันอยู่ ที่รร.แพทย์ ทั้งในกทม.และตจว.) ก็มีราคาแพงมาก ส่วนหนึ่งเป็นความหรูหราของตึกและการตกแต่งมากกว่าประโยชน์ใช้สอย....ผู้บริหารก็เลยมีหน้าที่หาเงินๆๆๆ ทั้งจัดงานกาลาร์ดินเนอร์ รับบริจาค ออกสลาก ตีกอล์ฟ โยนโบว์ลิ่ง สารพัด...เพื่อหาทุน...


Posted by : จริงใจ , Date : 2011-09-28 , Time : 16:47:41 , From IP : 172.29.25.17

ความคิดเห็นที่ : 5


   @ คุณ Angee

176 ไม่มีอะไรมากครับ ผมเขียนบทความที่ผมจัดอยู่ในหมวด "จิตตปัญญาเวชศึกษา" ในเวป KM ของ สคส. (เรียกง่ายๆว่า gotoknow) แล้วก็เลย number มันไปเรื่อยๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 176 ครับ

คันฉ่องนกไฟ


Posted by : phoenix , Date : 2011-09-29 , Time : 21:49:46 , From IP : mx-ll-223.206.213-166.dynamic.3bb.co.th

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.006 seconds. <<<<<