ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

เตรียมตัวรับมือน้ำท่วม (หน้าฝนแล้วครับ)


   - ปีหลังน้ำท่วมหนัก วันไหนที่วันตกหนักๆ จะมีแต่คนพูดถึงน้ำท่วม เต็มไปด้วย
ข่าวลือ ท่วมตรงโน้นท่วมตรงนี้ เขื่อนสะเดาจะปล่อยน้ำแล้ว จะแตกแล้ว
- อย่ามัวแต่ตื่นข่าวลือ มาเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับภัยน้ำท่วมกันดีกว่าครับ
ขอนำความรู้ที่เขียนไว้เมื่อปีที่แล้วมาให้อ่านทบทวนกันอีกครั้งครับ

เขียนจากประสบการณ์จริง ปี 53 + ความผิดพลาดจากปี 43
- ครอบครัวใหญ่ + ญาติ+เพื่อนบ้าน รวมกัน 18 ชีวิต เป็นผู้สูงอายุ 7 คน
และใน 7 คน ช่วยเหลือตนเองไม่ได้สองคน
- ครอบครัวค้าขายมีของสต๊อกในบ้านจำนวนมาก
- ครอบครัวมีกิจการแฟลตที่พัก (ติดกับที่อยู่อาศัย)
+ ให้บริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ 4 เครื่อง
+ มีเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง เป็นเครื่องสูบน้ำบาดาล 2 เครื่อง
(ต้องย้ายหากน้ำท่วม),อีก 1 เครื่องไม่ต้องย้าย (อยู่ใต้ดิน)
- ระดับในบ้านสูงน้ำ 1.7 เมตร นอกบ้านสูง 2.7 เมตร

1. การเตรียมตัวก่อนน้ำท่วม
1.1 การขนย้ายคนถ้ามีผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ให้ย้ายไป
ที่ปลอดภัยเป็นลำดับแรก
1.2 การเตรียม/ย้ายของ
- ของมีค่าราคาแพง ต้องย้ายไปในที่ปลอดภัยก่อนเป็นอันดับแรก เช่น
รถยนต์,รถมอเตอร์ไซด์
- ของชิ้นเล็กชิ้นน้อย (เก็บใส่ถุงหิ้วพร้อมยกได้สะดวก ถุงหิ้ว ขนาด
12" x 26" ดีสุดๆครับ ใหญ่เกินไปยกไม่ไหว)
- ให้ยกของมีค่าสุดเก็บก่อน, ยกของเบาแต่มากชิ้นทำไปเรื่อยๆ, และ
ยกของหนักลำดับท้ายๆครับ ถ้ายกของหนักมากก่อน เราจะไม่มีแรง
เหลือยกของอื่นๆอีกจะหมดแรงหมดกำลังใจ และยอมแพ้ครับ
- สำหรับตู้เย็น ให้เอาของในตู้เย็นออกให้หมด ปิดประตูตู้เย็น จับให้
นอนคว่ำกับพื้นผูกมัดกับประตู อย่าให้พลิกได้ ให้เชือกผูกเลื่อน
ขึ้นลงตามระดับน้ำได้ (ทำอันดับท้ายๆเผื่อน้ำไม่เข้า) {ความรู้ใหม่
ของผมซึ่งปีนี้ยังไม่ได้ทำครับ}
- เครื่องปั๊มน้ำ (สำหรับบ้านที่ใช้น้ำบาดาล) ให้ตัดสะพานไฟที่จ่ายเข้า
เครื่องปั๊มน้ำก่อน
+ เลี่อยตัดท่อน้ำเข้า, และท่อน้ำออก (มี 2 ท่อที่ต่อกับตัวปั๊ม)
อย่าลืมเผื่อความยาวท่อไว้เล็กน้อยสำหรับสวมข้อต่อ เวลาต่อปั๊ม
กลับด้วยนะครับ
+ ตัดสายไฟ (อย่าลืมพันเทปกาวไว้ด้วยครับ) และย้ายปั๊มเก็บไว้ในที่สูง
- อุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ เช่น ทีวี, เครื่องเสียง, เครื่องซักผ้า ถอดสายไฟ
และยกไว้ที่สูง
- โต๊ะ,เก้าอี้, ตู้ต่างๆ ขนเท่าที่มีแรงและทำได้นะครับ
*** หากการไฟฟ้าตัดไฟแล้วให้ยกสะพานไฟลงไว้เลยครับ
(ป้องกันไฟรั่วไฟช๊อตไว้ก่อน)
1.3 การเตรียมอาหารและน้ำใช้
- น้ำดื่ม, น้ำใช้ (สำรองน้ำดื่มให้เพียงพอ 3-5 วัน, น้ำใช้ : รองใส่ในภาชนะ
เท่าที่มีภาชนะใส่น้ำได้นะครับ)
- อาหารสดใส่ตู้เย็นได้ 2-3 วัน (มากกว่านั้นไม่มีไฟฟ้า มันจะเน่าครับ)
- อาหารแห้ง ข้าวสาร, มาม่า, ไข่, ปลากระป๋อง (เท่าที่จำเป็น 3-5 วัน
ถ้าไม่ท่วมเราต้องกินหมดด้วยครับ)
- เตาแก๊สปิ๊กนิก (ขนาดเล็กควรมีนะครับ) จะได้ไม่อดอาหาร อย่าลืม
ว่าไม่มีไฟฟ้าใช้
1.4 การเตรียมอุปกรณ์ของใช้
- อุปกรณ์เครื่องมือที่ต้องใช้เมื่อไฟฟ้าดับ หรือการย้ายของที่ยึดติดกับที่
เช่น ไฟฉาย,ไขควง, ประแจ, ถุงมือ
- อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เทียน, ไฟเช็ค, ตะเกียง, ไฟฉาย (ต้องวางไว้ในที่
จำได้คือ หาในความมืดก็เจอนะครับ)
+ ไฟฉายอันเล็กๆควรติดตัวไว้สักอันนะครับ ช่วยได้มากจริง ๆ เมื่อไฟดับ
- วิทยุเครื่องเล็กๆ เอาไว้ติดตามข่าวสารได้บ้างครับ (คลายเหงา) ผม
ฟังวิทยุจากเครื่องเล่น MP3 อันเล็กๆครับ
- พัด (ถ้าฝนไม่ตก อากาศค่อนข้างร้อน), ยากันยุง
- อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด ไม้รีดน้ำ, ไม้กวาดน้ำ, แปลงถู,
ฟองน้ำ,ผ้าเช็ดถู (จะได้ไม่ต้องวิ่งหาซื้อ)

2. การดำรงชีพช่วงน้ำท่วม
2.1 อาหารและน้ำดื่ม ทานแค่พอหายหิว
- อาหารและน้ำดื่ม ให้รับประทานอย่างประหยัด พอหายหิว (ผมทาน 2
ใน 3 จากปกติ)
* ให้ระวังเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ (ถ้าป่วยหรือท้องเสีย หาหมอไม่ได้ครับ)
2.2 น้ำใช้ ใช้อย่างประหยัด
- ล้างหน้า หรือ แปรงฟัน ให้ใช้น้ำ 1 แก้วหรือ 1 ขันพอครับ (พยายาม
บังคับตัวเองทำให้ได้)
- เปลี่ยนจากอาบน้ำเป็นเช็ดตัว (น้ำเหลือจากเช็ดตัว เอาไว้ราดส้วมได้ครับ)
- สระผมเท่าที่จำเป็นและต้องประหยัดน้ำให้มากที่สุด (ผมใช้ผ้าชุบน้ำ
เปียกๆ เช็ดเอาครับ ประหยัดน้ำได้มาก)
- ไม่กดชักโครก (ให้ตักน้ำท่วมมาราดส้วม)
- ช้อน/จาน
+ เช็ดด้วยกระดาษทิชชูให้เกลี้ยงก่อนล้าง จะประหยัดน้ำได้มากครับ
+ หรือจะใช้ถาดโฟมที่ใส่อาหารสดจากศูนย์การค้า แล้วรองด้วยถุงใสใส่
อาหาร เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว ก็ให้ทิ้งเฉพาะถุงพลาสติกที่รองอาหาร
ก็ไม่ต้องล้างจาน ล้างเฉพาะช้อน จะประหยัดน้ำได้มาก
2.3 ดูแลเด็กๆ ทำอย่างไร
- อย่าให้เด็กเล่นน้ำท่วมครับ มันไม่สะอาด ป่วยง่าย (ไม่มีน้ำอาบ)
- หาอะไรให้เล่น ให้ทำ แบบไม่ออกแรงออกเหงื่อมาก
2.4 ระวังไฟไหม้บ้าน
- จุดเทียน ปักกลางจาน หรือ กลางแก้ว ที่ไม่ติดไฟ (จะได้ปลอดภัย)
- อย่าวางเทียนที่ติดไฟแล้ว ใกล้สิ่งของที่ติดไฟง่าย

3. ต้องทำอะไรบ้างหลังน้ำลด
3.1 ใช้น้ำท่วมล้างโคลนออกจากบ้านก่อนที่น้ำจะแห้ง
- ถ้าน้ำลดเหลือระดับเข่า ให้รีบล้างผนังบ้านและของใช้ที่จมน้ำด้วย
น้ำท่วมเพื่อเอาโคลนออกก่อน
- เมื่อน้ำลดใกล้หมดให้รีบล้างโคลนที่พื้นบ้าน (อาจต้องตักน้ำท่วม
หน้าบ้านมาล้างบ้าง)
3.2 ทิ้งของที่เสียหายใช้การไม่ได้ทันที อย่ามัวแต่เสียดาย
- โต๊ะ, ตู้, เก้าอี้ ที่พองน้ำใช้การไม่ได้ ให้รีบทิ้งไปเลย (ทิ้งทีหลัง
เทศบาลอาจจะไม่เก็บให้นะครับ รถเทศบาลปกติมากัน 3 คน
คนขับ 1 คน ยกของ 1-2 คน จะโทษเขาก็ไม่ได้ครับเขาก็ยกไม่ไหว
แต่ช่วงหลังน้ำท่วมเทศบาลต้องใช้เครื่องมือหนักเก็บกวาดครับ
เขามีเครื่องมือช่วย)
3.3 ล้างบ้าน/ของใช้ด้วยน้ำดี
- หลังน้ำประปามา ก็ใช้น้ำดีล้างบ้าน/สิ่งของที่จมน้ำให้สะอาดอีกครั้ง
(แต่ก็เหนื่อยน้อยลงแล้วครับ)
- สำหรับคนที่ใช้น้ำบาดาล (ก็ต้องหาอุปกรณ์ข้อต่อและกาวมาต่อ
เครื่องปั๊มน้ำ)
3.4 เมื่อการไฟฟ้าปล่อยไฟ ระวังไฟดูด/ไฟช๊อต
- เมื่อไฟฟ้ามา ก่อนยกสะพานไฟของบ้านขึ้น ควร ปิดสวิทต์ไฟ ถอดปลั๊ก
เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆออกก่อน
- ตรวจดู ปลั๊กไฟ/สวิทต์ไฟ ในบ้านทุกตัวว่าไม่จมน้ำหรือเปียกน้ำมาก
ให้แน่ใจ ก่อนยกสะพานไฟขึ้น
* ให้ใช้อุปกรณ์ที่เป็นฉนวนกันไฟ (ที่เป็นพลาสติกไม่เปียกน้ำ) ช่วยยก
สะพานไฟหรือเปิด/ปิด สวิทต์ไฟ เน้นว่าอย่าใช้มือเปล่าและให้สวม
รองเท้า (อย่ายืนบนพื้นด้วยเท้าเปล่า)
- หาไขควงเช็คไฟ ตรวจสอบปล๊กไฟ/สวิทต์ไฟ ว่ามีไฟรั่วหรือไม่
ทุกตัวครับ (ถ้ารั่วให้เป่าด้วยเครื่องเป่าผมหรือเครื่องเป่าลม ให้แห้ง
หรือรอให้แห้งสนิทก่อนถึงจะใช้งานได้นะครับ)

4. สิ่งที่อยากให้คิดต่อ
- สำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายมาก
+ ก็ให้ถือเป็นโอกาสเรียนรู้ธรรม สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีได้ มีเสีย
มีของใหม่ ของเก่าของที่ต้องทิ้งทั้งที่ไม่อยากทิ้ง
+ ได้มีโอกาสทำ Big Cleaning บ้านตัวเอง (ทิ้งของเสีย ของไม่ได้ใช้
ของเสียดายไม่ยอมทิ้งไปเสียที)
- ของที่คิดจะสร้างใหม่/สร้างเพิ่ม (ถ้าอยู่ชั้น 1 ของบ้าน เอาที่เปียกน้ำ
แล้วไม่พังง่าย เช่นตู้อลูมิเนียม, เก้าอี้พลาสติก, สแตนเลส วัสดุที่เป็น
เหล็กอาจเป็นสนิมได้ครับ)
+ ตู้ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ ที่ทำด้วยไม้/ไม้ยางอัด หรือเหล็กที่เป็นสนิม ควร
อยู่ชั้นสูงๆที่น้ำถ่วมไม่ถึง
- ของใกล้เสีย,ของไม่ได้ใช้ จะทิ้งก็เสียดาย ชอบเก็บซุกไว้ใต้บันได
หรือที่ต่างๆ (ถ้าบริจาคให้คนอื่นใช้ต่อได้ก็ให้เขาไปเถอะ ถ้าเก็บเพื่อ
รอวันทิ้งก็ทิ้งไปเลย) ถ้าเก็บจนเจอน้ำท่วมมันคือขยะที่ทั้งหนักทั้งเหม็น

ปล.
- ที่กล่าวมาข้อ 1-3 ผมทำแล้วมันช่วยได้จริง แม้จะไม่สะดวก
ไม่สบาย และเหนื่อยยาก แต่เราอยู่รอดได้อย่างไม่ลำบาก และภูมิใจ
เมื่อเวลานั้นผ่านไป
- เรื่องอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ ต้องบอกให้สมาชิกในบ้านรู้และทำตั้งแต่
วันแรกเลย ยกตัวอย่างคนงานเหมืองของประเทศชิลีให้ฟังเพื่อเป็น
กำลังใจและข้อคิด (ติดอยู่ใต้ดินลึก 700 เมตร 2 เดือน 20 กว่าคน
กินอาหารวันละ 1 ช้อน, น้ำแค่จิบๆ เอา เขายังอยู่รอดได้
เพราะพวกเขามีคนนำดี มีกำลังใจดี สมาชิกเชื่อฟังผู้นำ)

จรูญ.


Posted by : kjaroon , Date : 2011-09-15 , Time : 15:18:28 , From IP : 172.29.1.83

ความคิดเห็นที่ : 1




   เอามา share ครับ ....download ที่นี้....
จาก www.thailandsurvival.com ครับ


Posted by : ทายาทพรรคมาร , Date : 2011-09-15 , Time : 15:36:02 , From IP : 172.29.8.239

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<