ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

ระดับคุณภาพชีวิตรวม และ ระดับความสุขรวม ของข้าราชการไทย ที่ตำกว่าเกณฑมาตรฐาน


   ปีที่ 31 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2554 เดือน กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2554 ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

คุณภาพชีวิตมีบทบาทสำคัญต่อระดับความพึงพอใจหรือความสุขของมนุษย์ และไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามิติการทำงานเป็นมิติสำคัญหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตเฉกเช่น มิติสังคม ครอบครัว สิ่งแวดล้อม ความพึงพอใจในชีวิต และอื่นๆ อีกหลากหลายมิติ เนื่องจากชีวิตการทำงานมีช่วงเวลาทำงานและช่วงเวลาส่วนตัวที่คาบเกี่ยวกัน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างเสริมให้บุคคลทำงานอย่างมีความสุข ส่งผลต่อกระบวนการผลิต และเป็นหัวใจในการเพิ่มประสิทธิภาพของงาน
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้พัฒนาเครื่องมือและคู่มือวัดคุณภาพชีวิต รวมทั้งสร้างเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพชีวิตของข้าราชการไทย ตามกรอบการพัฒนาตัวชี้วัด และเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพชีวิตข้าราชการของสำนักงาน ก.พ. เพื่อช่วยให้ส่วนราชการและจังหวัดสามารถวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตข้าราชการได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของข้าราชการอย่างแท้จริง ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนไทย พ.ศ. 2551
คุณภาพชีวิตข้าราชการไทย มีตัวชี้วัดหลากหลายมิติรวมทั้งสิ้น 78 ตัวชี้วัด เป็นตัวชี้วัดมิติส่วนตัว 23 ตัวชี้วัด มิติการทำงาน 28 ตัวชี้วัด มิติสังคม 12 ตัวชี้วัด มิติเศรษฐกิจ 13 ตัวชี้วัด และเป็นตัวชี้วัดระดับคุณภาพชีวิตรวมและความสุขรวม อีก 2 ตัวชี้วัด โดยประเมินตัวชี้วัดทุกตัวจากการให้ข้าราชการไทยสะท้อนความรู้สึกด้วยการกรอกข้อมูลเอง ผ่านเครื่องมือและคู่มือที่มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาขึ้นดังกล่าว
เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพชีวิตข้าราชการไทย ให้คะแนนตัวชี้วัดแต่ละตัวเป็น 5 คะแนนและนำมาทำเป็นคะแนนเฉลี่ย เพื่อจัดเป็นระดับเกณฑ์มาตรฐานในการเทียบเคียง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีค่าคะแนนเฉลี่ย 5.00 - 3.41 ระดับเกณฑ์มาตรฐาน สะท้อนจากระดับคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic Minimum Requirement: BMR) ที่ข้าราชการไทยพึงมี มีค่าคะแนนเฉลี่ย 3.40 - 2.61 และ ระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีค่าคะแนนเฉลี่ย 2.60 - 1.00
ระดับคุณภาพชีวิตรวม และ ระดับความสุขรวม ได้จากการให้ข้าราชการไทยประเมินความรู้สึกตนเองตอบในคำถาม แยกเป็น 2 คำถาม ณ ปัจจุบันคุณคิดว่าคุณภาพชีวิตโดยรวมของคุณอยู่ที่ระดับใด และอีกคำถามคือ ความสุขโดยรวม ของคุณอยู่ที่ระดับใด โดยเริ่มตั้งแต่ระดับ 0 - 10 และให้ความหมายว่า ระดับ10 เท่ากับมีคุณภาพชีวิตและมีความสุขมากสุดสุด ระดับ 9 - 8 มีคุณภาพชีวิตและมีความสุขมาก ระดับ 7 - 6 มีคุณภาพชีวิตและมีความสุขดี ระดับ 5 คือ มีคุณภาพชีวิตทั้งดีและไม่ดีและมีทั้งสุขและทุกข์ ระดับ 4 - 3 มีคุณภาพชีวิตแย่และมีความทุกข์พอประมาณ ระดับ 2- 1 มีคุณภาพชีวิตแย่มากและมีความทุกข์มาก และระดับ 0 มีคุณภาพชีวิตแย่สุดสุดและมีความทุกข์อย่างสุดแสนสาหัส
ผลสำรวจคุณภาพชีวิตและความสุขของข้าราชการไทย พบว่า
มิติส่วนตัว ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์สูงกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพกายด้วยตนเอง ของข้าราชการอายุ 40 ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิงที่มีวินัยในการป้องกันโรค ด้วยการเข้ารับตรวจสุขภาพประจำปีและตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อหาโรคเบาหวาน แต่ในด้านการออกกำลังกายต่ำกว่าเกณฑ์ แม้ว่าหน่วยงานจะมีสวัสดิการจัดห้องออกกำลังกาย และสนามกีฬาให้ก็ตาม ข้าราชการไทยส่วนใหญ่ก็ไม่นิยมใช้ นอกจากนี้ ข้าราชการโดยทั่วไปมีการบริหารเวลาระหว่างการทำงาน และการพักผ่อนอย่างเพียงพอต่ำกว่าเกณฑ์ ส่วนด้านสุขภาพจิต วัดจากตัวชี้วัดความสามารถในการจัดการปัญหาในชีวิต ข้าราชการส่วนใหญ่สามารถจัดการกับปัญหาในชีวิตได้ ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์
มิติการทำงาน ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์สูงกว่ามาตรฐาน แต่ มีหลายตัวชี้วัดอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ และเป็นตัวชี้วัดที่มีผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและความสุขของข้าราชการไทย ได้แก่ การเลื่อนตำแหน่งอย่างยุติธรรม การให้รางวัล ยกย่องและพิจารณาความดีอย่างยุติธรรม การมีเส้นทางก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หน่วยงานมีการบริหารคนด้วยความเป็นธรรม การได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิที่ตนพึงมีพึงได้อย่างเสรี และหน่วยงานมีวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันอย่างอบอุ่น

มิติสังคม สะท้อนจากตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับสังคมการทำงาน พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของข้าราชการอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีเพียงตัวชี้วัดการเข้าร่วมกิจกรรมในสถานที่ทำงาน ชุมชน และสังคมที่พักอาศัยเท่านั้นที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
มิติเศรษฐกิจ พบว่า มีตัวชี้วัดที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ ความเพียงพอของค่าตอบแทนในการดำรงชีวิต และการไม่มีหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระ
สำหรับคุณภาพชีวิตและความสุขโดยรวมของข้าราชการไทย พบว่าอยู่ที่ระดับดี (ระดับ 7) เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องน่ายินดีว่าแม้จะอยู่ในปีเสือดุ แต่ข้าราชการไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีคุณภาพชีวิตและความสุขโดยรวมที่ดี
คุณภาพชีวิตและความสุขในภาพรวมของข้าราชการไทยในปีเสือดุ แม้ว่าจะประเมินได้ในระดับดี แต่ในปีกระต่ายตื่นตูมนี้ ส่วนราชการที่กำลังเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้ข้าราชการไทยมีคุณภาพชีวิตและความสุขที่ดียิ่งขึ้น ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมในการเลื่อนตำแหน่ง และการให้รางวัล ยกย่องและพิจารณาความดีความชอบ นอกจากนี้ต้องมีการสร้างเสริมเส้นทางก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างชัดเจน การสร้างเสริมให้ข้าราชการไทยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิที่ตนพึงมีพึงได้อย่างเสรี การสร้างศักยภาพในการบริหารเวลาระหว่างชีวิตและการทำงานให้มีความสมดุล การส่งเสริมอาชีพเพื่อให้มีค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเพียงพอในการดำรงชีวิต และการลดหนี้สินของข้าราชการไทย
แล้วข้าราชการไทยก็จะทำงานอย่างมีความสุขในปีกระต่ายตื่นตูม และปีต่อๆ ไป



Posted by : แต้วแร้ว , Date : 2011-08-15 , Time : 13:34:51 , From IP : 172.29.14.195

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<