ระบบการเรียน tutorial ของ Oxbridge VS ระบบการเรียน PBL ของมอ
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนครับว่าผมไม่ค่อยมีความรู้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอนแบบ PBL ที่ใช้กันในหลักสูตรคณะแพทย์ มอ
แต่ผมขออนุญาตเล่าประสบการณ์ส่วนตัว+ความรู้ที่พอจะมีให้ฟังครับ
ระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดกับเคมบริดจ์ของประเทศอังกฤษว่ากันว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดในโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมสถาบันการศึกษาทั้งสองของอังกฤษสามารถผลิตบัณฑิตที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้จำนวนมากมาย
ขอยกตัวอย่างก่อนนะครับ ออกซ์ฟอร์ด ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่ผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้ปกครองหรือนักบริหารระดับโลก นักการเมือง นายกฯ ประธานาธิปดีของหลายๆประเทศในโลก จบการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ เช่น นายกฯ ของอังกฤษมากกว่า 20 คน (รวมโทนีแบร์และมากาแร็ต แท็คเชอร์) อินทิรา คานธี อองซาน ซูจี อดีตผู้นำของออสเตรเลีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ฮ่องกง ประเทศในอัฟริกา และอื่นๆ อดีตผู้นำสหรัฐ บิล คลินตัน อดีตนายกฯ ของเรา 2 ท่าน (ท่าน รมว เสนีย์และครึกฤทธิ์) ก็ล้วนแต่จบจากสถานบันแห่งนี้ แม้แต่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของอเมริกาอย่าง Harvard และ Yale ก็ลูกศิษย์จากออกฟอร์ด
ฝ่ายเคมบริดจ์ภูมิใจกับการสร้างคนให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ตัวอย่างเช่น เซอร์ไอแซค นิวตันและชาร์ล ดาวิน รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบโครงสร้างดีเอ็นเอ ประจุนิวตรอน ยาเพนนิซิลิน และอื่นๆ เกียรติประวัติที่โดดเด่นที่สุดของเคมบริดจ์น่าจะเป็น จำนวนคนของมหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลโนเบลมากที่สุดในโลก (80 คน) ถ้านับกันเฉพาะลูกศิษย์ของมหาวิทยาลัยโดยไม่รวม คณาจารย์และนักวิจัย เคมบริดจ์ก็ยังมีจำนวนลูกศิษย์ได้รางวัลโนเบลสูงที่สุดในโลกไม่น้อยกว่า 70 คน ในช่วงเวลา 3 ปีจาก 4 ปีหลังสุด คนของเคมบริดจ์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ติดต่อกันถึง 3 ปี (2000-2002)
อะไรคือส่วนผลักดันสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการให้กับมหาวิทยาลัยทั้งสอง คำตอบที่ง่ายและชัดเจนก็คือ การจัดระบบการศึกษาที่โดดเด่นกว่าสถาบันการศึกษาอื่นๆครับ
ระบบการเรียนของออกซ์ฟอร์ดกับเคมบริดจ์ในทุกสาขาวิชา (โดยเฉพาะปริญญาตรี) อาศัยการจัดการเรียนการสอนแบบ tutorial เสริมการเรียน lecture, class และ seminar ระบบ tutorial คือการเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆสัดส่วนผู้เรียน 1-3 คนต่ออาจารย์ 1 ท่านในระดับ ป ตรี หรือ 1-1 ในระดับ ป โทในหลายๆสาขาวิชาของ ออกซ์ฟอร์ด ในระบบ tutorial ผู้เรียนมีโอกาสได้ฝึกการอภิปรายโต้แย้งหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาวิชากับคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสาขาวิชานั้นๆเป็นกลุ่มเล็กๆหรือตัวต่อตัวเป็นรายสัปดาห์ ขณะเดียวกันผู้เรียนมีภาระงานค่อนข้างหนัก ท้งนี้การเรียน tutorial ในแต่ละครั้งต้องอาศัยการทำรายงาน อ่านหนังสือและค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก เป็นฐานของการเรียน tutorial ในแต่ละครั้ง นอกเหนือจาก การอ่านหนังสือ ทำการบ้าน แบบฝึกหัด หรือรายงานแล็ป จากการเรียนในระบบ lecture lab หรือ seminarเหมือนอย่างที่มีในมหาวิทยาลัยทั่วๆไป ระบบการเรียนของอังกฤษ ผู้เรียนต้องพึ่งตนเองเป็นหลักในการเรียนรู้เนื้อหาวิชาต่างๆ อาจารย์เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลเบื้องต้น ให้คำแนะนำ คำปรึกษาปรึกษาในการเรียน รวมถึงการตรวจสอบความก้าวหน้าของผู้เรียนเป็นระยะผ่านระบบ tutorial แต่ไม่ใช่ผู้สอนที่ "ยัดเยียดเนื้อหา" อย่างที่เห็นค่อนข้างมากในเมืองไทย ระบบการเรียนแบบนี้มีส่วนฝึกให้ผู้เรียนรับผิดชอบต่อการเรียนค่อนข้างมาก และค่อนข้างมีอิสระในระดับหนึ่งกับการเรียนรู้ในวิชานั้นๆ เด็กอังกฤษมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและกำหนดการเรียนรู้ของตนเองหรือกลุ่มได้ เป็นข้อดีของการฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเรียนรู้ ในขณะที่อาจารย์คนไทยหลายท่านเป็นผู้กำหนดทุกอย่างและเป็นผู้ผูกขาดในการเรียนการสอน ทำให้เด็กไทยหลายคนคิดอะไรไม่ค่อยเป็นและไม่กล้าแสดงความคิดเห็น จึงไม่ค่อยแปลกใจที่ทำไมคนไทยไม่ค่อยมีผลงานวิชาการระดับโลกเหมือนอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งๆที่คนไทยก็ไม่ได้มีสติปัญญาด้อยไปกว่าชาติอื่นๆ
ความแตกต่างที่ผมเห็นได้ชัดระหว่างเด็กไทยกับเด็กอังกฤษคือ การจัดระเบียบการเรียนของตนเอง ในแต่ละวันเวลาที่ว่างจากการเรียน เด็กอังกฤษโดยส่วนใหญ่ใช้เวลาในห้องสมุดมากกว่าเด็กไทยหลายเท่านัก ผมสังเกตุอยู่บ่อยๆว่า ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยในอังกฤษนั้น แต่ละวันจะหาที่นั่งอ่านหนังสือได้ค่อนข้างยาก เพราะเต็มไปด้วยเด็กที่เข้ามาค้นคว้าอ่านหนังสือด้วยตัวเอง เด็กอังกฤษหลายๆคน บังคับตัวเองกับการใช้เวลาในห้องสมุดเป็นวันๆ ตั้งแต่ห้องสมุดเปิดจนห้องสมุดปิด เปรียบเหมือนคนทำงานในบริษัทที่เข้าทำงาน 9 โมงและเลิกงาน 5 โมงเย็น สถานการณ์ต่างจากเด็กไทยที่ใช้เวลาว่างจากการเรียนกลับไปนอนกลางวันหรือเดินเที่ยวตามห้าง การเรียน lecture หรือการเข้า class ในออกซ์ฟอร์ดกับเคมบริดจ์นั้น ไม่ถือว่าเป็นการบังคับและไม่มีคะแนนเข้าชั้นเรียนเพราะด็กของเขามีวินัยสูงในการเข้าเรียนสูง ถ้าเป็นบ้านเรา เด็กไทยคงกระโดดโลดเต้นดีใจกันหลายคน
ผมไม่แน่ใจว่าการเรียนการสอนของคณะแพทย์ มอ ในปัจจุบันมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับระบบที่ผมเล่าให้ฟังหรือไม่ แต่อย่างน้อยผมก็รู้สึกดีใจที่คณะแพทย์ของ มอ เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนใหม่ที่เน้นตัวผู้เรียนมากขี้น เด็กๆหลายคนอาจรู้สึกว่า ระบบการเรียนแบบนี้ค่อนข้างยาก แต่อย่างน้อยข้อดีของระบบนี้คือการฝึกให้เด็กมีวินัยและความรับผิดชอบต่อตัวเองและต่อการเรียนของตัวเองมากขึ้น มีความสามารถที่จะพึ่งตนเองได้ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการค้นคว้าหาความรู้หลังจากที่จบการศึกษาจากที่นี่ไปแล้ว ประเทศชาติจะพัฒนาก้าวหน้าไปได้ไกล หากคนของชาติมีวินัยต่อตนเองและศักยาภาพสูงในการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนด้วยตัวเอง อนาคตอันใก้ลเราอาจมีคนเก่งแบบลูกศิษย์ของออกฟอร์ดหรือเคมบริดจ์ก็ได้
ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆที่กำลังศึกษาอยู่ครับ
Posted by : cantab , Date : 2004-01-27 , Time : 08:04:49 , From IP : so-10844-x0.essex.ac
|