ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

2011 กับนิยามที่เปลี่ยนไป ของ “ศัลยกรรมเสริมเต้า” !






   2011 กับนิยามที่เปลี่ยนไป ของ “ศัลยกรรมเสริมเต้า” !

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 เมษายน 2554 07:30 น.


“ปัจจุบันผมคิดว่าสังคมต้องมองการทำศัลยกรรมตกแต่งประเภทเสริมทรวงอกในสุภาพสตรีในมุมที่เปลี่ยนไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันเปลี่ยนไปจริงๆ คนไข้ของผมที่เดินมาหาผม ไม่ใช่สาวตามบาร์ หรือผู้หญิงที่นั่งดริงก์หรือนั่งดื่มเหล้า แต่เป็นบรรดาเวิร์กกิ้งวูแม่นที่ต้องการความมั่นใจในสรีระ และอีกไม่น้อยที่เป็นคุณแม่ที่ผ่านการมีลูก และต้องการแก้ไขสรีระที่เปลี่ยนไปในยามมีลูกหรือจากการให้นม”

นพ.ชาร์ลส์ แรนด์ควิสท์ ศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งคลินิก Victoriakliniken จากกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน แพทย์ผู้คร่ำหวอดในแวดวงศัลยกรรมความงามโดยเฉพาะด้านเสริมหน้าอก ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้คำเชิญให้มาบรรยายและอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านศัลยกรรมความงามในประเทศไทยอยู่บ่อยๆ ให้ภาพความเปลี่ยนไปของมายาคติแห่งการศัลยกรรมเสริมหน้าอกให้สตรีเพศในยุคทศวรรษใหม่

ศัลยแพทย์หนุ่มจากดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืนรายนี้ กล่าวต่อไปว่า โดยส่วนตัวแล้ว เคยมีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับศัลยศาสตร์กับแพทย์ไทย และรู้สึกชื่นชม และเคารพในความรู้ ฝีมือ ทักษะ และความเชี่ยวชาญของแพทย์ไทยอย่างยิ่ง พร้อมๆ ได้สังเกตว่า การศัลยกรรมความงาม ค่อนข้างเป็นที่นิยมเช่นกัน

“แม้ว่าสถิติการทำศัลยกรรมความงาม หากเทียบกันระหว่างฝั่งเอเชีย และฝั่งตะวันตก จะพบว่าในประชากรในประเทศฝั่งตะวันตก จะมีการทำมากกว่า แต่ในเอเชียก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ มีงานวิจัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่า การทำศัลยกรรมเสริมหน้าอก ในเมืองไทยความนิยมในการทำศัลยกรรมความงามมีมากครับ และมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแนวโน้มของเมืองไทยก็เป็นไปในทางเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ทั้ง สิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน ที่ความนิยมในการเสริมเต้านมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

นพ.ชาร์ลส์ กล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงเหมือนกันทั่วโลก ต่อการตัดสินใจทำศัลยกรรมความงามประเภทเสริมหน้าอกนั้น คือ ทักษะของแพทย์ผู้ลงมือผ่าตัด และวัสดุที่จะใช้ใส่เข้าไปในร่างกาย เช่น ในกรณีของหากได้วัสดุที่ดี ที่ปลอดภัยและได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าปลอดภัยที่จะใส่เข้าไปในร่างกายได้ แต่ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดไม่มีความเชี่ยวชาญ หรือไม่มีใบประกอบโรคศิลป์ ขาดทักษะในการทำ คนไข้อาจจะต้องกลับมาผ่าตัดแก้ไขใหม่ หรือหากได้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีทักษะ มีใบประกอบโรคศิลป์ แต่วัสดุอุปกรณ์ไม่ดีพอ ไม่ปลอดภัย ก็อาจจะเป็นอันตรายได้เช่นกัน

“ผมเข้าใจว่า ครับราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ แต่ฝากเตือนไปยังผู้ที่กำลังตัดสินใจจะทำทุกท่านว่า สิ่งที่ต้องคำนึงที่สุดคือความปลอดภัย แพทย์ต้องเชี่ยวชาญ และวัสดุต้องปลอดภัยและได้รับการรับรอง”

ศัลยแพทย์หนุ่มรายนี้ กล่าวต่อไปอีกว่า วิธีการเสริมหน้าอกที่ได้รับความนิยมวิธีหนึ่งคือการผ่าและใส่วัสดุเข้าไปในเต้านม เพื่อหนุนให้ทรวงอกได้รูปตามที่คนไข้ต้องการ ซึ่งตั้งแต่มีนวัตกรรมการแพทย์ด้านการเสริมหน้าอกวิธีขึ้นเกิดขึ้นบนโลก จนถึงปัจจุบันการพัฒนาวัสดุเสริมเต้าถึงรุ่นที่ 5 แล้ว โดยวัสดุเสริมเต้าเจนเนอเรชั่นล่าสุดนี้ถูกเรียกว่า Contour Cohesive Gel Implant เป็นวัสดุที่ได้รับการรับรองจาก FDA (Food and Drug Administration) ของสหรัฐอเมริกา มีความปลอดภัยสูง และหากเกิดฉีก แตก ทะลุ สารข้างในจะไม่รั่วไหลออกมา แต่จะมีลักษณะเป็นเจลแข็งคล้ายเยลลี่ ทำให้มันถูกเรียกด้วยชื่อเล่นๆ ว่า “กัมมี่แบร์” (Gummy Bear)

“มันเป็นวัสดุที่ปลอดภัยที่สุดที่ถูกคิดค้นขึ้นได้ที่มีอยู่ในขณะนี้ จริงๆ แล้วที่หลายคนทราบมาบ้างว่ากำลังมีการพัฒนาวัสดุเสริมเต้าที่ทำด้วยไขมันหรือเนื้อเยื่อ อันนี้ก็มีการทดลองอยู่ แต่มันอยู่ในขั้นตอนที่พื้นฐานมากๆ”

นพ.ชาร์ลส์ ทิ้งท้ายด้วยว่า ปัจจุบันกลุ่มคนไข้ที่มาขอทำศัลยกรรมเสริมหน้าอกในคลินิกของเขาที่สวีเดนนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของแม่ที่ให้นมลูกแล้วหน้าอกหย่อนคล้อย และแฟบลง ทำให้ขาดความมั่นใจ จึงต้องการเสริมหน้าอกให้กลับมาสวยได้รูปดังเดิม

ด้าน รศ.นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย ศัลยแพทย์ด้านศัลยกรรมตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้ภาพประโยชน์และแง่งามแห่งศัลยกรรมเสริมหน้าอกที่หลายคนยังไม่ทราบ ว่า วิธีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งแสงสว่างสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่จำต้องเข้ารับการตัดเต้านมในการรักษามะเร็งร้าย เพื่อให้สามารถกลับมามีหน้าอกได้อีกครั้ง

“โดยสถิติรวมๆ ของโรงพยาบาลศิริราช เราจะเจอคนไข้ใหม่โรคมะเร็งเต้านมปีละราวๆ 1,000 ราย มีคนไข้จำนวนหนึ่งที่ต้องถูกตัดเต้านม และถ้าคนไข้เหล่านั้นเป็นมะเร็งในระยะขั้นที่ 1 และ 2 เมื่อรักษาหายแล้วโอกาสกลับมาเป็นใหม่น้อย เราจะแนะนำวิธีการทำศัลยกรรมเสริมหน้าอกให้เป็นทางเลือก เพื่อความมั่นใจของคนไข้ เพื่อให้สรีระกลับมาได้รูปดังเดิม ง่ายต่อการแต่งตัวและเพื่อความมั่นใจ ซึ่งหากบางคนมีเนื้อตรงหน้าอกเหลือ ก็อาจจะไม่ต้องเสริม แพทย์จะตกแต่งให้เลย แต่ถ้าคนไหนต้องเสริมแล้วมีความประสงค์จะเสริม แพทย์สามารถทำให้หลังจากผ่าตัดมะเร็งได้เลย คือผ่าครั้งเดียว เอามะเร็งออก แล้วเสริมเข้าไปได้เลย คนไข้เจ็บทีเดียว พักฟื้นทีเดียว และสามารถทำหน้าอกเสริมไประหว่างให้เคมีบำบัดหรือฉายแสงได้เลยครับ”

นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย กล่าวให้รายละเอียดตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เลือกที่จะศัลยกรรมเสริมหน้าอก ว่า ในแต่ละปี จะมีผู้ขอรับการผ่าตัดเสริมเต้านมที่ถูกตัดออกไปเพราะมะเร็งประมาณ 100 ราย และนอกเหนือจากนี้ มีคนไข้อีกประมาณ 40% เป็นคนไข้ที่ต้องการแก้ไขรูปทรงหน้าอกที่ผิดปกติ เช่นเต้านมไม่เท่ากัน เต้านมเจริญเติบโตข้างเดียว ที่เป็นมาแต่กำเนิด ซึ่งการทำศัลยกรรมเสริมหน้าอกก็เป็นตัวช่วยที่ดีที่ให้คนไข้เหล่านี้มั่นใจมากขึ้น

“แล้วก็จะเป็นกลุ่มคุณแม่ที่มีลูกแล้ว มาขอทำให้หน้าอกเฟิร์มขึ้น เพราะหลังจากให้นมลูกแล้วหน้าอกแฟบลง อันนี้ก็เยอะ ส่วนกลุ่มสาวทำงานก็มีครับ อายุเฉลี่ยที่มาในกลุ่มเวิร์คกิ้งวูแม่นจะประมาณ 25-26 ปี ส่วนถ้าเป็นวัยรุ่นมาหา ถ้าอายุต่ำกว่า 18 ปีเราไม่ทำให้ เพราะหน้าอกยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ครับ” รศ.นพ.อภิรักษ์ สรุป










Posted by : thiopental , Date : 2011-04-14 , Time : 11:53:03 , From IP : 113.53.1.241

ความคิดเห็นที่ : 1






   ........

Posted by : thiopental , Date : 2011-04-14 , Time : 11:54:09 , From IP : 113.53.1.241

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<