ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

จิตตปัญญาเวชศึกษา 165: กราบ


   จิตตปัญญาเวชศึกษา 165: กราบ

มนุษย์สรรค์สร้าง "พิธีกรรม" ขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะเป็นสัญญลักษณ์ถึงคุณค่าบางประการที่เราไม่มีชุดภาษาเพียงพอ ที่จะอธิบาย พรรณนา หรือบอกเล่าได้ถูกต้องว่า "มันคืออะไร" ครั้นจะใช้แค่ "เรื่องเล่า (narrative)" เหมือนพรรณนาความรู้สึกทั่วๆไป มันยิ่งรู้สึกว่าไม่พอ ไม่เหมาะสม ไม่ถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อ ความเป็นสัญญลักษณ์ของพิธีกรรม จึงยิ่งไปกว่าเรื่องเล่าธรรมดา เพราะมักจะต้องการสื่อถึงสิ่งที่ลึกซึ้งไปกว่าเพียงแค่ความรู้สึกทางร่างกาย ธรรมดาๆ แต่เป็นเรื่องราวของคุณค่า ความหมาย จิตวิญญาณ สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ จะไม่มีการทำพิธีกรรมแบบตื้นๆ ผิวๆ พิธีกรรมจึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะจำเพาะ เป็นความรู้สึกก็จะเป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน ปลุกความรู้สึกกำลังใจให้เกิดพลัง เกิดความฮึกเหิม หรือเกิดจิตละเอียด

เมื่อไรก็ตามที่เรา "ขาดความเชื่อมโยง" ไปยังจิตละเอียด ไปยังความหมายของชีวิต ไปยังสิ่งยึดเหนี่ยว ที่เป็นที่มาของการสร้างพิธีกรรมนั้นๆ เราก็จะได้แค่เปลือกนอกเท่านั้น

ผมเคยเขียนเรื่องการไหว้ไปแล้วครั้งหนึ่ง ยังมีการโค้งคำนับ การทำอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย มนุษย์ใช้ภาษาได้วิจิตรพิศดาร (พิธีกรรมนั้น จะว่าไป ก็เป็น "ชุดภาษาชุดใหญ่" แบบหนึ่ง) ภาษาพูดที่เรามีนั้นจำกัดมาก แต่เรามีอะไรจะสื่อเยอะกว่านั้น

เอาเรื่องวันนี้ก่อน

"กราบ" เรานึกถึงอะไร?

กราบเป็นภาษาพิธีกรรมแน่นอน เพราะเป็นกระบวนท่าที่เราไม่สามารถทำร่วมกับกิจกรรมอื่นๆได้เลย ไม่สามารถกราบไปกินไป กราบไปคุยไป กราบไปอาบน้ำไปได้ ฯลฯ เห็นได้ชัดว่าอาการกราบนั้นออกแบบมาเพื่อให้เรา "focus" ที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเรื่องเดียว และไม่น่าจะเป็นการ focus ที่มือ เท้า หรือเอว หรือพุง แต่น่าจะเป็นจิตสมาธิอยู่ที่เรา "กำลังกราบอะไร?" หรือ "มีความหมายว่าอะไร ที่เรากราบ?"

กราบเป็นภาษาแสดงการ "บูชา" ฉะนั้นสิ่งที่เราบูชานั้น มี "ความหมายอันยิ่งใหญ่" สำหรับการใช้ชีวิตของเรา เป็นเข็มทิศ เป็นสิ่งยึดเหนี่ยว เป็นอะไรที่เราปวารณาตัวว่าเลื่อมใส อยากเดินไปตามทางนั้น

เราไม่ได้กราบที่ตัววัตถุ อันเป็นนิจฺจํ อันเป็นอะไรที่ไม่เที่ยง แต่เรากราบคุณงามความดี เพื่อเป็นสิริมงคล การกราบ หรือ การศิโรราบ ก้มศีรษะจรดพื้น มือเท้าร่างกายสำรวมจุดเดียวกัน เพื่อแสดงว่า ณ เวลานั้นจิตเราสำรวม มีสมาธิ มีสติ ไปหาคุณงามความดีนั้นๆ การกราบจะเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะจิตที่เกิดผ่องแผ้ว ใส บริสุทธิ์ เบา สบาย พิธีกรรมทางพุทธศาสนามีการกราบไม่เพียงหนึ่งครั้ง สองครั้ง แต่เป็นสามครั้งมากมายหลายขั้นตอน แสดงให้เห็นว่าเราต้องการ "สติ และสมาธิ" มากขนาดไหน ตลอดช่วงการทำพิธีกรรมนั้นๆ

เดี๋ยวนี้เกิดภาษาใหม่ คือภาษา electronic ภาษา internet มี icon อะไรต่อมิอะไรมากมาย เกิดอาการ "กราบ online" ก็ยังได้ เช่น _ / _ เนี่ย ก็กราบเรียบร้อยแระ

ก็ไม่ได้ว่าอะไร เป็นการช่วย "สื่อ" ว่าฉันกราบล่ะนะ แต่ขออย่างเดียว ถ้าจะให้ "ครบ" ถ้วนกระบวนการการกราบล่ะก็ ขอให้เกิดจิต สมาธิ ของการกราบไปด้วยจะดี


ไม่งั้นก็จะเหมือนการ "ไหว้ลวกๆ" เคยเห็นไหม ผมเองก็เคยทำไม่น้อย ในบริบทต่างๆ เช่นมือไม่ว่าง ก็ไหว้มือเดียว (ส่วนใหญ่จะรับไหว้) หรือเคยเห็นเด็กบางคนไหว้แบบรีบๆ มือยังยกไม่เท่าไหร่ ไม่ประกบ ไม่แตะ ไม่สูง เหมือนกับใส่นวมไหว้ พอนวมแตะก็เอาลง แบบนั้นจิต สมาธิ อาจจะไม่ได้ครบตามความหมาย แต่ได้แค่ "สื่อว่า ฉันจะไหว้นะ" ไม่ออกมาทั้งหมด

ส่วนกราบไปที่อะไรนั้นก็น่าสนใจ ประเทศไทยรุ่มรวยด้วยสัญญลักษณ์และวัตถุมงคลมากมาย ซึ่งแสดงว่าเราให้ความสำคัญเรื่อง "ความหมายชีวิต" "ความจริง ความดี ความงาม" กันมากพอสมควร เราจึงได้อุดมด้วยสัญญลักษณ์ที่สะท้อนถึงคุณค่าเหล่านี้ แต่ ไปๆมาๆ มันก็ฉิวเฉียดไปกับการตีความหมายต่างๆไปได้เยอะ

* เราไหว้วัตถุ หรือไหว้่ความดี
* อะไรเป็นส่วนที่เป็นมงคล?
* สิ่งที่เราไหว้ มีผลต่อพฤติกรรม การใช้ชีวิตของเรา คือ.....?
* หรือว่าเราติดกับ spiritual materialism? (คำนี้กำลังฮิต ในหมู่ new age และ generations z) แสวงหาวัดดังๆ วัตถุมงคลดังๆ พระดังๆ เราจะขอห้อยไปด้วย ร่วมกระแสไปด้วย แต่วิถีชีวิตส่วนใหญ่เหมือนเดิม รอคอยกระแสใหม่ที่จะโหนตามไป
* เป็นหมอ เราเคยกราบคนไข้ไหม ที่ได้สอนคุณค่าชีวิตแก่เรา แถมเป็นการสอนแบบ "ทุ่มทั้งตัว มอบให้ทั้งชีวิต"?
* เรา "กราบอะไรกันแน่" ในทุกๆวันนี้?





Posted by : phoenix , Date : 2011-03-09 , Time : 14:39:32 , From IP : 172.29.17.115

ความคิดเห็นที่ : 1


   Link จิตตปัญญาเวชศึกษา 165:กราบ

Posted by : phoenix , Date : 2011-03-09 , Time : 14:40:52 , From IP : 172.29.17.115

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<