จิตตปัญญาเวชศึกษา 162: สิกขาจิตตปัญญาเวชศึกษา 162: สิกขา เดือนมีนาคมสำหรับวงการอุดมศึกษา เป็นวาระที่พวกเราต้องดูแลจิตใจกัน เพราะเป็นช่วงสิ้นปีการศึกษา ทั้งคนสอน คนเรียน คนประเมิน ในแวดวงต่างก็เคร่งเครียดด้วยคนละสาเหตุ อยู่ในกระจุกที่เดียวกัน ถ้าเผลอไผลหรือไม่ได้เตรียมตัวให้ดี จิตจะตกๆหล่นๆ ผิดๆเพี้ยนๆไปได้ และสถานการณ์แวดล้อมในบ้านเมืองก็ไม่ใคร่เอื้อต่อการจะพักสายตา พักสมอง สักเท่าไรเลย ในเกือบๆจะเรียกว่าทุกแวดวงเลยก็ว่าได้ เพื่อไม่ให้พูดเรื่อยเจื้อ (มีแนวโน้มเยอะ.. เดี๋ยวนี้) ขอใส่หัวข้อลงไปก่อน กันเข้าป่าแล้วกลับไม่ได้ คนเรียน คนสอน คนประเมิน "สิกขา" มาจาก ส + อิกขา ส แปลว่า "ตนเอง" ส่วนอิกขาแปลว่า "เห็น" สิกขาหรือศึกษาก็คือ "เห็นด้วยตนเอง" ฉะนี้ ฟังๆดูอาจจะไม่ออกมาเป็นพฤติกรรม แต่แสดงถึง "พฤติกรรมทางจิต" สมกับที่มาที่ออกจะบาลี ออกจาศาสนาอยู่บ้าง บทความนี้จะขอกล่าวถึงผู้ร่วมชะตากรรมในแวดวงสิกขา ทีละกลุ่ม ทีละส่วน คนเรียน คนมาศึกษา ก็มาเพื่อ "เห็นด้วยตนเอง" เมื่อเดินทาง (ใกล้) จะถึงที่หมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ ก็ควรจะสำรวจตรวจสอบว่า "ตนเองเห็นรึยัง" เป็นสำคัญ ส่วนที่คนอื่นมาตรวจสอบนั้น ก็ช่วยในแง่ว่าป้องกันอคติ ใช้ความคิดที่เป็นกลาง (ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย.... ซึ่งจริงรึเปล่า หรือจริงมากน้อยแค่ไหน เดี๋ยวไปสนทนาอีกที่นึง) และนำเอาเป้าหมายสำคัญของส่วนรวมมาวัด แต่ยังไงๆ ผู้ที่ศึกษาทุกคน ควรจะทำการตรวจสอบตนเองว่ามี "การศึกษา หรือสิกขา เกิดขึ้นจริงหรือไม่" ใครจะไปทราบดีเท่าตนเองอีกล่ะ ว่าเราได้เรียน ได้รู้ ได้เห็นอะไรมาบ้าง? การตรวจสอบการเห็นของตนเองนี้ ทางที่ดี ไม่ควรจะพึ่งมาทำตอนเดินทางเกือบจะสิ้นสุด ควรทำมาโดยตลอด เหมือนกับเดินทางจากหาดใหญ่ไปเชียงใหม่ ก็ค่อยๆตรวจสอบไป ไม่ใช่พอถึงปลายทางพึ่งรู้ว่าเดินทางมาถึงสิงคโปร์แล้ว อ้าว! เลี้ยวผิดมาตั้งแต่ปีมะโว้ ชีวิตคนเรามีโอกาสหลงทางได้ไม่กี่ครั้งที่เราพอจะซ่อมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "หลงครั้งใหญ่" เมื่อเป็นเช่นนี้ "การป้องกันไว้ก่อน" หรือ "early detection (รีบๆเจอว่าหลง)" ก็จะเป็นความรอบคอบที่สมควรมี การตรวจสอบสำคัญอีกประการ ที่อาจจะดู commonsense จนไม่น่านึกถึง แต่สำคัญ ได้แก่ ตอนจะเข้ามาเรียนนั้น ตกลงที่ที่เขาจะสอน (หรือเอื้อให้เรียน) ที่นี่นั้นน่ะ เราเข้าใจถูกรึยังว่า "ใช่" คือเขามีสิ่งที่เราต้องการจะเรียนจัดเอาไว้ให้ และเราถูกคาดหวังจากสังคมไว้ว่ายังไงหลังจากเรียนจบ ทั้งสองทิศต้องไปในทางเดียวกัน อย่าลืมว่าบางสาขาวิชา บางวิชาชีพ มันไม่ได้เรียนเฉพาะเพื่อตนเอง (ที่จริงอยากจะพูดว่าทุกสาขาวิชาชีพ มันไม่ได้เรียนเฉพาะเพื่อตนเอง.. แต่อะไรที่ 100% มักจะเกิดปัญหาตาม ขอเป็น "บาง" ไปก่อน) เช่น อาชีพแพทย์ ผู้พิพากษา ทนาย ครู ถ้าไม่มีข้อมูลหรือชัดเจนมาก่อน ก็ไปหามาซะ จะได้เข้าใจ และตรวจสอบตนเองได้อย่างเหมาะสม ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตอนผมเรียน ก็ทำไม่ได้อย่างที่พูดนี่เหมือนกัน แต่หลังเรียนจบมาหลายระดับ และทำงานในวงการนี้มานานพอควร อยากจะฝากบอกผู้ที่เรียนว่า ถึงไม่ง่าย แต่จำเป็น และสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับการประเมินที่ไม่ได้เป็นแค่ "สอบเลื่อนชั้น" แต่เป็น "สอบจบการศึกษา" ที่เราควรจะทำการสะท้อนตนเองให้ดีว่า คุณสมบัติของบัณฑิตทั้งสามประการคือ @ถึงพร้อมด้วยความรู้ ทักษะ และทัศนคติตามวิชาชีพ @มีพฤติกรรมทั้งกาย วาจา ใจ ที่งดงาม และ @มีความรับผิดชอบต่อตนเอง คนรอบข้าง และสังคม นั้นเราจะเป็นบัณฑิตได้จริงหรือไม่ คนสอน คนประเมิน มักจะเป็นคนๆเดียวกัน หรือเป็น "พวกเดียวกัน" ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ตอนหลังนี่ หลังจากได้เข้าไปสัมผัสกับ epistemology และ cognitive sciences หรือศาสตร์ด้านการรับรู้ เรียนรู้ ชักตะขิดตะขวงใจที่จะใช้คำว่าเป็น "คนสอน" ซะแล้ว แต่ก็เอาเถอะ ขอเรียกอย่างนี้ไปก่อน แต่คนประเมินน่ะน่าจะใช่อยู่ ในวาระ "จบการศึกษา" (เคยเขียนไปครั้งนึงแล้วว่า "ไม่ชอบ.. เกือบจะเกลียด" คำๆนี้มาก เพราะมันชี้นำผิด) ในฐานะผู้ประเมินควรจะเป็นเช่นไร? งานประเมินการจบการศึกษาเป็น highlight ของชีวิตผู้ถูกประเมิน เพราะมันบอก "ได้/ตก" และผลตามของการประเมินนี้ มีผลทั้งระยะยาวและระยะสั้น มีผลต่อทั้งชีวิตก็ยังได้ในหลายๆบริบท ในการทำงานทุกอย่าง ถ้าเรานำเอา intention และ vision มาผนึกรวมกัน ทำความเข้าใจความหมายของมันให้ดี เวลาเราทำงาน ทั้งจิต ทั้งปัญญา อารมณ์ จะได้สอดคล้องกัน และอยู่ใน optimal condition มีคนเปรียบเทียบว่าสนามสอบไล่นั้นประดุจสนามรบทีเดียว เพราะว่าผลลัพธ์มันอาจจะเปรียบได้กับ ตาย (แพ้) / รอด (ชนะ) ซึ่งแม้จะดู over ไปหน่อย แต่ก็ได้ภาพพจน์ดี ประเด็นก็คือ มันเป็นตายรอดของผู้ถูกประเมิน แต่ไม่ได้เป็นตายรอดของผู้ประเมิน ช่องว่างความต่างตรงนี้อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้มากทีเดียว การทำงานนั้น เรามีสติ สมาธิ แน่วแน่ในระดับสูงได้ เราต้องมีเจตจำนงความมุ่งมั่นและให้ความหมายกับสิ่งที่ทำอยู่ให้ดี ในทำนองกลับกัน ถ้าเราทำอะไรแค่เล่นๆ หรือทำกิจกรรมที่ไม่สำคัญมาก สติ สมาธิ เราก็ลดหย่อนไป การศึกษา brain-based นั้นแสดงชัดเจนว่าสมองไม่ชอบคิด และเมื่อไรที่หลีกเลี่ยงได้ ก็จะหลีกเลี่ยง หันไปใช้ short cut ทางลัด หรือระบบ automatic แทนทันที เพราะคิดนั้นใช้กำลัง ใช้พลังเยอะ ถ้าการประเมินสำคัญต่อผู้ถูกประเมินมากขนาดเป็น/ตาย จึงสำคัญมากทีเดียว ที่เรื่องนี้ควรจะถูกให้ความหมายแบบเดียวกันโดยผู้ประเมิน ควรจะมีสติ สมาธิ และให้ meaning อันยิ่งใหญ่และลึกซึ้งไม่แพ้กัน การตัดสินที่อิงหลักการ อิงปรัชญาการศึกษา อิงระเบียบวิธีการอันถูกต้อง โปร่งใส และยุติธรรม เป็นอะไรที่คนกระทำต้องมีสมาธิ มีการตระเตรียมทั้งกาย วาจา ใจ มานานพอสมควรทีเดียว เพราะถ้าปราศจากคุณสมบัติที่กล่าวมาแล้วนี้ การประเมินก็จะไม่ valid และถูกสงสัย คุณสมบัติของผู้ที่ถูกประเมิน (ทั้งผ่านและไม่ผ่าน ไม่ใช่แค่ไม่ผ่านเท่านั้น) ก็จะถูกสงสัยจากประชาชน คนที่สอบไม่ผ่านก็จะหงุดหงิด จิตตก ไม่เข้าใจว่าทำไมตนเองถึงไม่ผ่าน แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ คนที่สอบผ่านไปแล้ว มันผ่านจริงหรือไม่ เพราะการประเมินที่ไม่มาตรฐาน ไม่มีหลักการ มัน backfire หรือสะท้อนความไม่ตรง ไม่จริง ได้ทุกทิศทาง ปกติผมเองจะไม่ค่อยชอบพูดเรื่องแข็งๆแบบนี้ในการศึกษาเท่าไร เพราะมันเครียดและค่อนข้างอ่อนไหว แต่มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นทุกๆปี เราก็ไม่ควรจะหลีกหนีความจริง แต่ต้องเผชิญตรงกับสิ่งที่ควรทำให้ดี จะว่าไป ช่วงนี้ ทั้งสองฝ่าย คือผู้ถูกประเมิน และผู้ประเมิน อาจจะต้องลองทำการสะท้อนตนเองดูว่า "ได้เห็นเองอะไรบ้าง" ว่าเรา "สิกขา" แล้วหรือไม่ และสิกขาเรื่องอะไร Posted by : phoenix , Date : 2011-03-01 , Time : 11:04:05 , From IP : 172.29.17.115 |
ความเห็นจาก Social Network : Facebook |
|
>>>>> Page loaded: 0.002 seconds. <<<<< |