ความคิดเห็นทั้งหมด : 2

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่นี่คือสัปปายะ ตอนสอง (สมบูรณ์)


   โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่นี่คือสัปปายะ ตอนสอง (สมบูรณ์)



Posted by : phoenix , Date : 2011-02-19 , Time : 00:00:57 , From IP : 172.29.9.220

ความคิดเห็นที่ : 1


   รพ.ม.อ.ที่นี่คือสัปปายะ
สิ่งที่เหมาะกัน สิ่งที่เกื้อกูล ช่วยสนับสนุนในการบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย
อาวาสสัปปายะ สถานที่เหมาะกัน

โคจรสัปปายะ การเดินทางเหมาะกัน

ภัสสสัปปายะ สนทนาที่เหมาะกัน

ปุคคลสัปปายะ ผู้คนที่เหมาะกัน

โภชนสัปปายะ อาหารการกินที่เหมาะกัน

อุตุสัปปายะ ดินฟ้าอากาศที่เหมาะกัน

อิริยาปถสัปปายะ กิริยาที่เหมาะกัน



ความพิศดารของเรื่องเล่าก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นเป็นอะไรที่ไม่มีใครควบคุม พยากรณ์ คาดเดาได้ ดูๆไปเหมือนเป็นวาระประจวบเหมาะ แต่พิจารณาให้ดี เราอาจจะค้นพบว่า "วันนี้เราถูกส่งมาฟัง ส่งมาให้ได้ยิน" เรื่องราวเหล่านี้ ในชีวิตของเรา มีรหัสวาระเหล่านี้เข้ามาแล้วก็ผ่านไป ซ้ำแล้วซ้ำอีกมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถถอดรหัส decode ออกหรือไม่ บางคนอาจจะใช้เวลาหลายชาติ หลายภพ เพราะจิตนั้นไม่ละเอียดเพียงพอ หรืออาจจะละเอียดแต่เผอิญตอนนั้นจิตตก หยาบเกินไปในช่วงนั้น ในวาระนั้น



เราต้องอยู่กับปัจจุบัน ตรงนี้หมายความว่า บางครั้งบางคราว พวกเราติด "กรอบ" มากเกินไปโดยไม่ได้ตั้งใจ กรอบในที่นี้ได้แก่ guidelines protocol ระบบ ระเบียบ หรืออะไรก็ตามทีที่มีคนกำหนดไว้ (เพราะมีเหตุผล แต่หลังๆอาจจะลืมไปแล้วว่าเพราะอะไร) เราเชื่อว่าทำตามนี้แล้วจะดีแน่ จะถูกต้องแน่ หากในความเป็นจริง เรื่องบางเรื่องอาจจะมีแนวโน้มที่ทำแบบเดิมแล้วจะลงเอยแบบเดิม แต่ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแล้ว การทำแบบเดิมอาจจะไม่ลงเอยแบบเดิมเสมอไป สาเหตุสำคัญเป็นเพราะ "คนเรานั้นต่างกัน ความหมายของสิ่งที่ดีที่สุดก็เลยต่างกันไปด้วย" เมื่อเราสู้เดินทางร่วมกันมากับคนไข้ นานบ้าง สั้นบ้าง แต่ในระหว่างนี้ เราเกิดความสัมพันธ์ต่อกัน ทั้งในเชิงอาชีพ และในเชิงสังคมแห่งความเป็นมนุษย์ เราจะได้เรียนรู้อะไรมากมายว่า วิถีการดำเนินชีวิต คนที่เราอยู่ด้วย งานที่ทำ ล้วนแล้วแต่สามารถมีส่วนกระทบต่อการให้ความหมายของเราอยู่บ้างตลอดเวลา
ผู้ป่วยรายหนึ่งของ ward neurosurgery (ประสาทศัลยศาสตร์) กำลังถึงวาระสุดท้าย เราก็ตระเตรียมญาติ บอกเล่าสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อปรับการคาดหวังกับสิ่งที่กำลังจะได้เห็น บางกรณีอาจจะเกิดความเข้าใจผิด เช่น dead struggle หรือเสียงหายใจที่ติดขัด เนื่องจากระบบปอดหยุดทำงาน ไม่สามารถขับเสมหะได้อีก ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะหลังมากๆ ไม่นานก่อนจะเสียชีวิต เสียงอาจจะฟังดูน่ากลัว แต่คนไข้ตอนนั้นจะไม่มีความรู้สึกใดๆอีกแล้ว คือ ไม่ได้ทรมาน ไม่งั้นถ้าตกใจ อาจจะเอาท่อดูดอากาศไปดูด หรือใส่ท่อช่วยหายใจช่วย ยิ่งสร้างความทรมานแก่คนไข้ได้
ปรากฏว่าพอเราหยุดยา ตอนนี้แหละที่เราคาดการณ์อะไรล่วงหน้าไม่ได้ เราไม่สามารถทราบว่า อีกกี่นาที คนไข้จะเสียชีวิต มีปัจจัยมากมาย อาทิ ตับ ไต ตัวที่จัดการกับยา หากอวัยวะล้มเหลว ก็อาจจะใช้เวลานานกว่าจะขับถ่ายยาที่เหลือทั้งหมดออกจากระบบ เป็นต้น
คนไข้รายนี้ปรากฏว่าหยุดยาไปเป็นชั่วโมง ก็ยังมีชีวิตอยู่ ที่เราบอกให้ญาติตระเตรียมอะไรไว้มากมาย ก็เริ่มกระสับกระส่าย ว่า เอ.. เกิดอะไรขึ้น ยังดีที่เราอธิบายไว้ก่อนล่วงหน้าในเรื่องความไม่แน่นอนตอนนี้
มีคนเสนองั้นเปิดเทปธรรมะให้ฟังหน่อยดีไหม ก็มีคนค้าน บอกว่าแกไม่ชอบวัด แกชอบคาราโอเกะมากกว่า ลองเปิดเทปคาราโอเกะให้ฟัง ชีพจรต่างๆก็ยังเต้นปกติ ไปเรื่อยๆ
ญาติถามว่าเกิดอะไรขึ้น พี่เกดก็บอกว่าไม่ทราบ บางทีคนไข้อาจจะมีอะไรค้างคาในใจ เรื่องนี้ต้องถามจากภรรยา ถามจากญาติที่อาจจะรู้ หมอพยาบาลไม่มีทางทราบได้
ในระหว่างนั้นเราก็ลองเปลี่ยนเทปเป็นธรรมะ ปรากฏว่าแกมีอาการกระสับกระส่ายทันที ทำท่าจะไม่ยอมไปง่ายๆ เราเลยเปลี่ยนกลับมาเป็นคาราโอเกะเหมือนเดิม
ตอนนั้นเองที่ภรรยานึกขึ้นมาได้ ก่อนหน้านี้ไม่นาน แกเอาสร้อยทองไปจำนำไว้สองเส้น ยังค้างอยู่ไม่มีใครไปเอาคืน ก็บอกว่าสงสัยจะเป็นเรื่องนี้ ก็ส่งคนไปหาตั๋วจำนำที่บ้านมา เอาสำเนามาให้ที่ รพ.แล้วภรรยาก็กระซิบบอกคนไข้ว่า เจอแล้ว ที่พี่ห่วง เดี๋ยวขอปั๊มลายนิ้วมือพี่ แล้วจะจัดการให้ ก็ปั๊มลายนิ้วมือ ญาติก็รวมกันหาเงินไปไถ่ของ รีบเดินทางไปจาก รพ.
ระหว่างนี้เรากระซิบบอกคุณลุงว่าขอเปลี่ยนเทปกลับเป็นเทปธรรมะนะ เพราะคาราโอเกะมันคึกคักเหลือเกินแล้ว ปรากฏว่าคราวนี้คุณลุงไม่กระสับกระส่าย ยอมฟัง CD เม็ดเล่ย์ธรรมะของเราโดยดุษณี
พอที่บ้านโทรมา บอกว่าไถ่ของเรียบร้อยแล้ว บอกคุณลุงได้เลย ประจวบเหมาะอย่างยิ่งที่ตอนนั้น CD หมดชุดโพชฌงค์พอดิบพอดี คุณลุงได้รับการบอกข่าวสุดท้าย อีกไม่กี่นาทีก็จากไปโดยสงบ
คราวนีเราก็เลยได้ช่วยกันแต่งเนื้อแต่งตัวคุณลุง ปรากฏว่าญาติเอาชุดคาราโอเกะประจำตัวชุดใหญ่ของคุณลุงมาให้ มีเสื้อเชิร์ต กางเกงยีนส์ และแจ็กเก็ตหนังตัวสั้น หมวก ผ้าพันคอ แว่นดำ เราต้องใช้บุคคลากรหลายคนมาก เพราะคุณลุงตัวใหญ่ ยิ่งแจ็กเก็ตหนังนั้นยากมาก สุดท้ายต้องขออนุญาตจับคุณลุงลุกนั่ง พยุงไว้ แล้วให้พยาบาลช่วยๆกันใส่ เพราะตัวคุณลุงแกบวมกว่าปกตินิดหน่อยจากการให้น้ำ แต่ที่สุดก็ใส่ได้ หวีผมเผ้า ผูกผ้าพันคอ ใส่หมวก สวมแว่น ลูกมาเห็นก็ร้องเลยว่า "พ่อกำลังจะไปคาราโอเกะแล้วนี่"
case นี้ ตอนเราเดินไปส่งที่ห้องรับศพ เราไม่ได้ปิดหน้า ปิดตาอะไร เพราะดูเผินๆจะดูไม่ออก (ถ้าจะดูออกก็ตรง ชุดมันอลังการมากสำหรับคนนอนรถเข็น) แต่ไม่น่ากลัว
ใน case นี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะบอกให้ใครเชื่อเรื่อง unfinishes business อะไร แต่ผลจากทั้งหมดที่เราทำ กระบวนการขั้นตอนต่างๆทำให้ทั้งทางญาติและทางโรงพยาบาล มีอะไรคิด มีอะไรทำ ทั้งหมดเพื่อ "ความหมายที่ดี" สำหรับคนไข้ เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งกัลยาณมิตร พี่น้อง เอื้ออาทรกัน มีส่วนของวิถีชีวิตคนไข้เองมาแต่งเติมให้ไม่เป็น routine เป็นงานจำเพาะเจาะจงโดยเฉพาะสำหรับรายนี้ ความสัมพันธ์ของเรากับคนไข้อาจจะสิ้นสุดลงตรงนี้ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างโรงพยาบาลกับญาติๆและชุมชนถูกสานต่อด้วยน้ำใจ ความรัก และความเข้าใจ

คลุมหน้าหรือปิดหน้า คำถามหนึ่งที่เคยผุดขึ้นมาเป็นครั้งคราวในการเสวนา palliative care ก็คือ ขั้นตอนที่เราจะพาคนไข้ออกจากหอผู้ป่วยหลังจากเสียชีวิตแล้วไปยังห้องเก็บศพนั้น ควรจะทำอย่างไร เพราะว่าจะต้องเข็นศพจาก ward ลงลิฟท์ ผ่านระเบียง ทางเดิน เป็นระยะทางพอประมาณกว่าจะถึงห้องเก็บศพ
สมัยหนึ่ง เราเคยปิดหน้า เอาผ้าคลุมเสีย ทีนี้ใครๆก็จะทราบว่านี่ศพแน่ๆ (เพราะคนไข้เป็นๆที่ไหนจะโดนคลุมหน้า) ก็มีปฏิกิริยาตอบรับหลายรูปแบบ บางคนรีบเดินออกไปจากลิฟท์ (ขอไปตัวอื่นดีกว่า) บางคนไม่ออก (อาจจะออกไม่ทัน) ก็จะยืนตัวลีบติดผนัง ไม่แน่ใจว่ากลัวผี หรือกลัวติดโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนบนเตียงไป เราไม่มีลิฟท์จำเพาะสำหรับขนร่างผู้เสียชีวิต เราต้องใช้ลิฟท์ธรรมดาๆนี่แหละ
จำได้ว่าตอนอยู่ศิริราช ถ้าเข็นออกนอกตึก จะไม่คลุมหน้า แถมยังมีร่มกางให้อีกต่างหาก ปรากฏว่าร่มมันมีอยู่คนเดียวหรือไงเนี่ย พวกหมอ นักเรียนแพทย์เห็นปุ๊บก็รู้ทันทีว่านี่เข็นศพมา ไม่เพียงเท่านั้นคนธรรมดาๆที่เข็นไปมาระหว่างตึกก็ไม่ค่อยมีใครกางร่ม พอกางเข้าก็เลยดูแปลกตา ผิดสังเกตไปทันที นี่เกิดขึ้นมาเมื่อยี่สิบกว่าปีแล้ว ไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้เป็นยังไง (อาจจะเปลี่ยนร่มแล้ว)
พอยกประเด็นขึ้น พี่จุฑก็เลยถามในที่ประชุมว่าทำกันยังไงบ้างเดี๋ยวนี้
บาง ward ก็ยังปิดหน้า
บาง ward บอกว่าเลิกปิดแล้ว ตั้งแต่มี set แต่งหน้า แต่งตา มักจะไม่ดูน่ากลัว
ก็มีคนบอกว่าคนทั่วไปก็มักจะรู้ เพราะหน้าตาจะแต่งเข้มกว่าคนไข้ปกติ ใครป่วยจะแต่งหน้าแบบนี้ คนก็รู้อยู่ดี
บางคนบอกว่าจะมีคนสังเกตได้ เพราะหน้าอกไม่เคลื่อนขยับตามการหายใจ ตัวจะแข็งๆแล้ว​(เพราะนอนที่ ward อยู่สองชั่วโมง) แต่ก็มีเสียงค้านว่าปกติเขาไม่ได้จ้องไปที่อกคนไข้ที่นอนบนเปลกันหรอก มักจะเบือนๆหน้าไปมากกว่า
มีคนบอกว่าทรงผมนี่แหละ อาจจะเป็นตัวปัญหา เพราะถ้าเกล้า ถ้ามีมงกุฎ มีหมวก มันก็จะทุลักทุเล เอาผ้าคลุมมันก็เสียทรงหมด สุดท้ายถามว่าทำไง พยาบาลก็บอกว่า เลยคลุมเหมือนกัน แต่กางๆออกพยุงไว้คล้ายๆกับเต็นท์ไม่ให้มาโดนทรงผมที่ set เอาไว้ดิบดี
พี่จุฑก็ comment ว่า ที่แน่ๆก็คือ ตอนเรา pack ทวารทั้งหลายนั้น (ปาก จมูก หู ก้น) เพื่อไม่ให้น้ำในตัวคนไข้ไหลออกมาเลอะ เราต้อง pack ให้แน่นและลึก อย่าให้เห็นปลายออกมาข้างนอก เพราะนั้นจะเป็นตัวบอกทางที่ชัดที่สุด และดูน่ากลัวที่สุด ใครเห็นคนนอนจมูกถูกอุดสำลีสองข้างโผล่ออกมา ก็ชัดเจน และดูน่ากลัว แต่ถ้า pack ดีๆแล้ว จะมองไม่เห็น และดูไม่ออกเลย
คุณสมนึก เจ้าหน้าที่ห้อง post-mortem ของเราก็เสริมว่า pack ยังไง ทิ้งไว้นานๆ แกก็ยังพบว่ามีน้ำไหลออกมาจากตัวได้เสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงมุมปาก พอเอียงก็ไหลออกมา


ตรงนี้อาจจะดูละเอียดไป แต่ผมกลับคิดว่า "ทำไมพวกเราถึงได้มีจิตใจที่ละเอียดอ่อนปานนี้ มีการคิดใคร่ครวญตลอดเวลาถึงความรู้สึกของคนรอบข้าง ทั้งของญาติ ของผู้ป่วยทั่วไป คนทั่วไป และนำมาหาทางปฏิบัติให้ดีขึ้นอีกในอนาคต


เรียนจากครูเป็นจนครูตาย อาจารย์กิตติกร นิลมานัด จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็เล่าเรื่องเสริมด้วย อาจารย์สอนการสัมภาษณ์คนไข้ การดูแลคนไข้ข้างเตียง และสนใจเรื่อง palliative care เป็นอย่างมากมานานแล้ว เคยไปนำเสนอผลงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียด้วยในเรื่องนี้

ก่อนอื่นก่อนจะตกใจ หัวข้อ "เรียนจากครูเป็นจนครูตาย" ไม่ได้หมายถึงอาจารย์หญิงครับ หมายถึงคนไข้ ผมอ่านดูแล้วทะแม่งๆ ขอชี้แจงไว้ตรงนี้
นักศึกษาพยาบาลขึ้นเป็นกลุ่มๆ และต้องไปฝึกหัดการสัมภาษณ์คนไข้และตรวจร่างกาย ทำหัตถการข้างเตียงเหมือนๆกับนักเรียนแพทย์เช่นกัน ทุกสิ่งทุกอย่างจะดูใหม่ มีรายละเอียดเยอะแยะยุบยับหยุมหยิมเต็มไปหมด พอเรียนภาคทฤษฎีจบ ก็ต้องมาฝึกภาคปฏิบัติ ตอนแรกๆอาจจะลองคุยกันเอง แต่สุดท้ายที่เป็น highlight ก็คือ การฝึกปฏิบัติจริงกับผู้ป่วย เราจะยังไม่ปล่อยบินเดี่ยว ที่อาจารย์หญิงทำ ก็คือ คุมการฝึกปฏิบัตินั่นเอง
นักศึกษาพยาบาลที่เข้ามาฟัง ก็จะได้ทราบวันนั้นเองว่า ขณะที่ตนเองตื่นเต้นที่จะลองทำจริงๆกับคนไข้นั้น อาจารย์คนคุมก็ตื่นเต้นไม่แพ้กัน ไม่ใช่เพราะว่าประสบการณ์ไม่มี แต่เพราะมีเยอะ เลยทราบว่า นักศึกษาอาจจะทำอะไรลงไปที่รู้เท่าไม่ถึงการแต่ไม่ควรทำออกมาได้ง่ายๆ การป้องกันอาจจะยาก และส่วนใหญ่ถ้าเกิดขึ้นก็จะเป็นการ rescue สถานการณ์ กอบกู้เหตุการณ์ให้เร็วที่สุด เรียกว่่า damage control นั่นเอง ผมก็เข้าใจดี เพราะเคยอยู่ศัลยศาสตร์มาก่อน ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นสำหรับอาจารย์มากไปกว่าการคุมทำผ่าตัดให้แพทย์ประจำบ้านเป็นมือหนึ่งเป็นครั้งแรกอีกแล้ว ทำเองนั้นง่ายกว่าเยอะ คุมนี่ หึ หึ ตื่นเต้นมากๆ
มีคนไข้ระยะสุดท้ายคนหนึ่งที่ยินดีอาสาเป็น subject ให้น้องพยาบาลเรียน และทำพร้อมๆกันถึงสองกลุ่ม (คือสลับกันมาทำ) แต่คุณลุงก็ยินดีถูกถามซ้ำ ยินดีให้ข้อมูลแก่น้องๆเป็นอย่างดี ญาติๆก็ไม่มีใครว่าอะไร และให้ความร่วมมือมาก การที่คนไข้ใจดีเช่นนี้ เป็นการช่วยการเรียนของนักเรียนพยาบาลมาก เพราะการเกร็งกลัวผิดจะยิ่งเพิ่มหากเจอคนไข้ดุ หรือไม่ร่วมมือ แต่พอมาเจอคุณลุงซึ่งใจดี และไม่ว่าอะไรในความไม่ทะมัดทะแมง คล่องตัว ก็เสริมความมั่นใจและทำให้การเรียนเป็นไปด้วยความราบรื่น
ปกตินักศึกษาจะขึ้นปฏิบัติงานหนึ่งอาทิตย์ แต่ปรากฏว่าพอสองกลุ่มนี้ขึ้นมา วันพุธคนไข้ก็อาการทรุดหนักลงมาก และในที่สุด ก็เสียชีวิตไปในวันพฤหัส อาจารย์หญิงทราบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยให้นักศึกษาพยาบาลทั้งสองกลุ่มไปกราบทำความเคารพ กล่าวขออโหสิกรรมและขอบพระคุณคุณลุงที่เป็นครูให้
ปรากฏว่าญาติก็เข้าใจ และยอมให้นักศึกษาทั้งหมด ร่วมมือในการช่วยตกแต่งร่างกายคุณลุงหลังเสียชีวิต นักศึกษาพยาบาลทั้งสองกลุ่มจึงได้เรียนการดูแลคนไข้ ทั้งตอนที่ยังมีชีวิต และภายหลังการเสียชีวิต จากคุณครูผู้ยิ่งใหญ่ท่านเดียวเท่านั้น
อโหสิกรรม กิจกรรมเสริมจิตวิญญาณ การเสียชีวิตในโรงพยาบาล เป็นส่วนหนึ่งของงานประจำ แต่ทุกๆชีวิตที่เสียไป ไม่เคยทำให้เป็นเรื่อง routine การทำอะไรให้เป็น routine นั้น แม้ว่าจะเกิดความเร็ว มั่นใจ คล่องแคล่ว แต่สิ่งที่ไปด้วยคือขาดจิตที่ละเอียดอ่อน ความประณีต และสติการรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรทุกๆลมหายใจ
ช่วงหลัง ผมได้ทราบว่ามีคนถือเอาแนวปฏิบัติประการหนึ่งมาใช้ นั่นคือการกล่าวขออโหสิกรรมต่อคนไข้เมื่อคนไข้เสียชีวิต มีพิธีกรรมเล็กๆ การมารวมกันของสมาชิกทีมผู้ดูแล ตัวแทนอ่านคำขออโหสิกรรมและทำการคารวะร่างกายของผู้เสียชีวิต ขณะที่ญาติๆก็จะร่วมพิธีอยู่ในบริเวณ
การสะท้อนกิจกรรมนี้ เท่าที่ผมรับฟังมา ผมคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมาก เต็มไปด้วยความรัก ความศรัทธา ใช้สติสมาธิค่อนข้างสูง แต่มีความสวยงาม สง่างาม แสดงความเคารพต่อร่างกายคนไข้ได้อย่างเป็นรูปธรรม แฝงไว้ด้วยนามธรรมที่สุนทรีย์ เป็นการเริ่มการเยียวยาต่อญาติได้เป็นอย่างดี
และที่สำคัญคือ เป็นการเริ่มการเยียวยาต่อทีมผู้รักษาด้วย เพราะจะมาก จะน้อย เราก็มีความสัมพันธ์กันมาในระยะหนึ่ง การสูญเสียก็ก่อให้เกิดอารมณ์ได้หลายประการ
ไม่เพียงแต่การเยียวยาทีมรักษา ผมคิดว่า อาจจะมีใครสักคน ที่เริ่มสังเกตเห็นความจริงของชีวิต เห็นความเปราะบางของร่างกาย ของสรรพสิ่ง สะท้อนความประมาทหรือการใช้ชีวิตของตัวเราเองในปัจจุบันว่า เราคำนึงถึงสัจธรรมในการใช้ชีวิตของเรามากน้อยเพียงไร กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมสะท้อนจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพ หลังจากทำเสร็จ เราสามารถเชิดหน้า ยืดอก กล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าเราได้ทำงานในหน้าที่ของเราสุดความสามารถแล้ว ขอให้ประสบการณ์นี้จงตกเป็นทรัพย์สมบัติอันมีค่าต่อการทำงาน ต่อการใช้ชีวิตของเราต่อไป


Posted by : thiopental , Date : 2011-02-19 , Time : 08:58:32 , From IP : 113.53.14.106

ความคิดเห็นที่ : 2


   อ่านแล้วได้อะไรใหม่ๆ เยอะเลย

ปล.ที่ศิริราชตอนผมจบมา (ประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว) ก็ยังใช้วิธีกางร่มเหมือนเดิมครับ


Posted by : frank , Date : 2011-02-21 , Time : 17:16:36 , From IP : 172.29.16.53

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.006 seconds. <<<<<