จิตตปัญญาเวชศึกษา 157: บูชา
จิตตปัญญาเวชศึกษา 157: บูชา
คนไทยเราเชื่อเรื่องสัมมาคารวะ เชื่อเรื่องสิริมงคล เรามีกิริยาประการหนึ่งที่ผมคิดเอาเองว่าเป็นอาการที่อ่อนน้อมนุ่มนวลสะท้อน ความเป็นไทยได้ดีที่สุด จะเรียกว่าเอกลักษณ์ก็ว่าได้คือ "การไหว้ การกราบ" ถึงแม้ว่าชาติอื่นๆที่ไหว้ที่กราบก็มี แต่จะเป็นเพราะความคุ้น หรืออะไรไม่รู้ ผมรู้สึกว่าไหว้แบบไทย กราบแบบไทยนั้น มันเป็นเอกลักษณ์ ที่แฝงความอ่อนหวาน อ่อนน้อม สง่างาม สวยงาม นั่นเป็นลักษณ์นอก ไม่เพียงแต่เท่านั้นยังมีลักษณ์ใน คือความถ่อมตัว จิตที่ตั้งสมาธิ สติ ความตั้งใจ ศิโรราบ การให้ความหมายชีวิต การนิยามความดี ความงาม ความจริง อยู่ในท่วงท่าอิริยาบถเมื่อเรากระทำการไหว้ การกราบ
และเมื่อเราใช้การไหว้ การกราบ ผนวกเข้ากับกิจกรรมใดๆ ก็จะเป็นการ "ผูก" ทั้งลักษณ์ในและลักษณ์นอกดังกล่าว ผสานผสมกลมกลืนกับกิจกรรมนั้น เกิดความหมายใหม่ที่เป็นทั้งสัมมาคารวะและสิริมงคล
ชาติอื่นๆเขาก็จะมีมารยาททำนองเดียวกันนี้ ที่นำเสนอคุณค่าและความหมายทำนองเดียวกันนี้เหมือนกัน แต่ผมไม่ลึกซึ้งเพียงพอที่จะทำความคุ้นเคย และหยาบเกินไปที่จะให้ความหมายได้ครบถ้วน ผมเคยฟัง commentator รายการบีบีซี ที่เขาพากษ์การถ่ายทอดสดพิธีเปิดสภาประจำปี ที่สมเด็จพระราชินีจะนั่งในราชบัลลังก์ และสภาก็จะมีพิธีแห่แหนข้าราชบริพารมุขอำมาตย์ ผู้บริหารประเทศไปหา เป็นพิธีกรรมจริงๆ (คือไม่มีเรื่อง administration การบริหาร การทำงานในงานนี้เลย) ผู้บรรยายเขาพรรณนาเหตุผลที่มาของทุกๆอากัปกิริยา ที่มาของการแต่งกาย ลำดับการยืน เดิน นั่ง การขาน การร้องบอกกล่าว ฯลฯ เรียกว่าทุกอย่าง ทุกประการมีความหมายหมด ทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี คุณค่า ความงาม ความเคารพ รากเหง้าที่มา ฯลฯ ละเอียดลึกซึ้งมาก จนตอนนั้นยังนึกเลยว่า หากทุกๆราชพิธี หรือพิธีของไทย ได้มีการทำอย่างเดียวกันตอนถ่ายทอดสดก็จะดีไม่น้อย เคยได้ยินเหมือนกันที่เรามีการบรรยายแบบนี้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนา ขวัญ แต่อยากจะให้มีทุกพิธี ทุกรายการเลยทีเดียว เพราะหลังๆเราไม่ค่อยจะเข้าใจ "ความหมายโดยนัย" กันแล้ว ว่ามันเปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณีมาทั้งสิ้น กว่าจะมาเป็น "เรา" ในปัจจุบัน
พอเราไม่ทราบที่มา ความหมาย พิธีกรรมที่ทั้งสุนทรีย์ ศักดิ์สิทธิ์ก็กลับกลายเป็นอะไรที่น่าเบื่อ เชย โบราณ คร่ำครึ ไม่สนุก เราก็ไม่ได้เรียน ไม่ได้รู้ และออกห่างจากรากเหง้าที่มาของเราไปทุกที
แต่ในขณะเดียวกัน instinct ที่ทุกคนจะโหยหารากเหง้าที่มา พอเราขาดหรือหย่าร้างจากของเก่า เราก็ดิ้นรนหาใหม่ หันไปเกาะติดกระแสอะไรที่ลอยมาให้ยึดเป็นช่วงๆ J-Pop บ้าง K-Pop บ้าง อะไรต่อมิอะไรที่พอจะให้เกาะ พอจะให้ยึด
บูชา
การแสดงอาการสักการะ เคารพ มีสองแบบคืออามิสบูชา และปฏิบัติบูชา แบบแรกก็แสดงออกด้วยการเอาสิ่งของมาให้ ซึ่งอาจจะแฝงหรือไม่แฝงความหมายอยู่ในสิ่งของนั้นๆ (แฝงก็เช่น พานดอกเข็มไหว้ครู ไม่แฝงก็เช่น เอาเงินใส่ซอง) ตัวอามิสบูชานั้นก็จะเน้นไปทางประโยชน์นิยม ก็คือ นำเอาไปใช้สอย ใช้ประโยชน์ แต่ที่ผมสนใจมากกว่าก็คือปฏิบัติบูชา
ปฏิบัติบูชานั้นจะว่าทำง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะมันมีหลากหลายระดับ เหมือนๆกับที่เดี๋ยวนี้เวลาเราไหว้่ เรากราบ เราก็ทำกันด้วยจิตหลากหลายระดับเหมือนกัน ยกตัวอย่างในโรงเรียนแพทย์ สมัยเรียนอยู่ศิริราชตอนขึ้นชั้นคลินิก ด้วยความที่เราต้องไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลจริง เดินไป เดินมากันขวักไขว่ เราจะเจอะเจอทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง อาจารย์กันตลอดเวลา และมีภาระกิจมากมายที่หยุดไม่ได้ และออกจะค่อนไปทางรีบด้วยซ้ำ ประเพณีในการแสดงความเคารพและปฏิสันถารระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องและอาจารย์ก็ เลยแสดงออกด้วย "การโค้ง" คือ เมื่อเจอกัน เดินสวนกัน ก็จะชะลอฝีเท้าลง ผู้น้อยค่อมศีรษะและลำคอลง (ไม่ใช่งอคอ นั่นจะกลายเป็นพยักหน้า) และหลังส่วนบนตามไปเล็กน้อย ผู้อาวุโสก็จะทำตามแสดงการรับรู้ ทั้งสองฝ่ายจะแถมรอยยิ้มให้กันและกันก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด กระบวนการทั้งหมดกระทำโดยแทบจะไม่มีการ "หยุดเดิน" เกิดขึ้นเลยหากอยู่ในที่ที่การจราจรลื่นไหล ก็ทั้งประหยัดเวลา และยังมีการแสดงความเคารพกันได้อย่างแนบเนียน
ตอนมาอยู่ที่ ม.อ. (สงขลานครินทร์) ปรากฏว่าที่นี่เขาใช้การไหว้ครับ ทีนี้การไหว้ของไทยเรา มันไม่ได้ออกแบบมาให้ทำในขณะที่เราเดินเลย ก็เลยกระฉึกกระฉักอย่างไรชอบกลในความรู้สึกของผม และผมก็สังเกตเห็นน้องๆหลายๆคน คงจะรู้สึกคล้ายๆกัน เพราะเขา/เธอ มักจะใช้การหยุดยืนแล้วไหว้ไปซะเลย ก็จะได้การไหว้ที่สวยงามแบบดั้งเดิมออกมาได้ แต่ก็มีที่ modified ดัดแปลงเป็นการไหว้ขณะเดินเกิดขึ้นก็มีเหมือนกัน
เราจะพบว่าการไหว้ขณะเดินมันทำได้ยาก ไม่เหมือนตอนสวนสนาม ที่ทหารอาจจะยกมือ salute ขึ้นข้างหนึ่ง เวลายกขบวนผ่านหน้าจอมทัพ ก็ดูสวยงาม ไม่ขัดเขิน
ผม คิดว่าการไหว้ของไทยนั้น เราใส่ความหมายลงไปเยอะ จนกระทั่งเราต้องใช้ "ทั้งกาย ทั้งใจ ทั้งจิต ทั้งอารมณ์" ความรู้สึกต่างๆลงไปทั้งหมด เราจึงจะไหว้ได้ถูกต้อง สวยงาม เส้นแสงของร่างกายของเราขณะไหว้นั้นสวยงามมาก โค้ง นุ่มนวล อ่อนน้อม อ่อนหวาน ในขณะเดียวกันก็อยู่ในความควบคุมแสดงถึงสติ สมาธิ ความตั้งใจอย่างยิ่ง เรียกว่า ฐานกาย ฐานใจ ฐานความคิด มีสัญญลักษณ์เชื่อมโยงกันหมดรวมอยู่ในการไหว้ของไทย
การไหว้จึงอาจจะถือเป็นปฏิบัติบูชาแบบหนึ่งก็ว่าได้
แต่ปฏิบัติบูชาที่แท้จริงนั้น จะหมายถึงการครองตน ใช้ชีวิต ตามความหมาย ตามเงื่อนไขความดีที่เราเห็น ศรัทธา ไม่ได้อยู่แค่ "ปฏิบัติสัญญลักษณ์" เท่านั้น
เดี๋ยวนี้ผมพบว่าเรา "ปฏิบัติบูชา" โดยนัยยะ อาจจะโดยไม่รู้ตัวเยอะมาก เพราะอะไรก็ตามที่เราใส่ "คุณค่า" ว่าอันนี้ดี อันนี้หมายถึงตัวเรา อันนี้หมายถึงเราเชื่อว่าดี เชื่อว่าสูงส่ง การปฏิบัติที่ทำให้เกิดความหมายดังกล่าวก็คือปฏิบัติบูชาทั้งสิ้น
งั้นเราปฏิบัติบูชา J-Pop K-Pop ก็โดยการแสดงมารยาทอาการต่างๆเพื่อแสดงความหมายดังกล่าว ไม่ว่าจะแต่งตัว (เหมือนกับพระห่มจีวร แต่วัยรุ่นอาจจะห่ม หรือไม่ห่มอะไรเลยแทน) ภาษาพูด ภาษาเขียน (เหมือนเราสวดมนต์ที่เราไม่ทราบคำแปล ความหมาย) ทุกวันนี้เรากำลังปฏิบัติบูชาอะไรบางอย่าง และที่น่าสนใจก็คือ เราอาจจะมองจากเรื่องเหล่านี้และเข้าใจในความคิดของผู้ปฏิบัติได้ดีกว่าการ ดูจากการเสแสร้งในสังคมได้เป็นอย่างดี
เอาเรื่องใกล้ตัว (ผม) ก็ได้ อย่างในทางการแพทย์ เราบอกว่าแพทย์จะพึงเข้าอกเข้าใจผู้ป่วย และมี respect คือความเคารพในตัวตน (autonomy) ของผู้ป่วย เราจึงแสดงออกมาโดยการปรับแต่งการดูแลต่างๆให้ match กับ values คุณค่า ความเชื่อ ความศรัทธาของคนไข้ ไม่ได้เอาอะไรที่เป็น values คุณค่า ความเชื่อ ความศรัทธาของเราไปยัดเยียดให้คนอื่น ในทางกฏหมายที่ชัดเจนก็คือ การปฏิบัติตามพินัยกรรมของผู้ตายอย่างเคร่งครัด เดี๋ยวนี้ทางการแพทย์ เราก็อนุญาตให้ผู้ป่วยมีการสั่งเสีย แสดงความต้องการ ความเห็นสุดท้ายว่า การจากไปอย่างที่เรียกว่า "ตายดี" ของเขา/เธอ คืออะไร ถ้าเราทำได้ เราก็จะปฏิบัติตามนั้นทุกประการ แต่ถ้าเราสักแต่รับปาก แต่ไม่ได้มองเห็นว่าเป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ เป็นศักดิ์ศรีของผู้ตาย เราก็จะรับปากไปยังงั้นๆ ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งเสีย ทั้งๆที่สามารถทำได้
พูดอีกอย่างก็คือ เรา "ปฏิบัติบูชา" ว่าเราคิดว่าเราเป็นใหญ่ ไม่ใช่คนไข้เป็นสำคัญ
ทุกวันนี้คนที่บอกปาวๆว่า "ประชาธิปไตย" บ้าง สมานฉันท์สามัคคีบ้าง คำเหล่านี้เป็น catch phrase ที่ทุกฝ่ายพูดเหมือนกันหมด วิธีที่ง่ายที่สุด เราก็กลับมาดูที่ "ปฏิบัติบูชา" เราก็จะทราบได้ทันทีว่า มีใครบ้างที่ "เชื่อและศรัทธา" จริงๆ
เช่นรักประชาธิปไตยแต่ไม่สามารถทนความคิดความเห็นที่ต่างไปจากตนเองได้ สมานฉันท์สามัคคีแต่การพูดการแสดงออกใช้ภาษาแห่งความเกลียดชังแทบจะทุกๆสามคำ ปฏิบัติธรรมะแต่เพียงแค่สัมมาวาจา (ซึ่งง่ายสุดแล้วในมรรคมีองค์แปด) ก็ยังทำไม่ได้
ในด้านการศึกษา ผมคิดว่่าเราต้องประเมินนักเรียนจากสิ่งที่เป็น "ปฏิบัติบูชา" มากกว่าการไล่ว่าเขา "สวดมนต์เป็น สวดมนต์ถูก" หรือไม่ เพราะการที่เราจะเคารพนับถึือพุทธ ไม่ได้ได้มาจากการท่องบ่นพระไตรปิฏก การที่เราจะมีจริยธรรมไม่ได้มาจากการสอบข้อสอบปรนัยวิชาจริยธรรมได้ถูกต้อง แต่เราหวังว่าคุณค่า ความงามเหล่านี้ ได้หล่อหลอมเข้าไปในบุคลิก ในตัวตน จนเกิดเป็น "ปฏิบัติบูชา" ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่มารยาทสัญญลักษณ์เท่านั้น แต่ความหมายโดยละเอียด โดยนัยยะ ในจิตวิญญาณของสัญญลักษณ์เหล่านั้นยังอยู่ครบถ้วนทุกประการต่างหาก
บางทีเราจะได้ไม่ต้อง "ห้อยพระ" เพราะใจเราเคารพในพระจนกระทั่งเราไม่กล้าจะทำอะไรที่เรารู้ว่า "พระไม่ทำ"
บางทีเราจะได้ไม่ต้อง "นุ่งสี ห่มสี" บอกว่าจงรักภักดี แต่เพียงแค่ปฏิบัติหน้าที่ของเรา ต่อตัวเราและส่วนรวมให้ดีที่สุด
เราพึงค้นหาว่าเราที่แท้ "บูชาอะไร" และถามตัวเองต่อไปว่า เราได้ "ปฏิบัติบูชา" แล้วหรือยัง หรือเพียงแค่อามิสบูชาไปวันๆเท่านั้น
Posted by : phoenix , Date : 2011-02-09 , Time : 10:22:07 , From IP : 172.29.17.115
|