ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

เสียงก้องจาก หมอชนบท


   เสียงก้อง

พ.ญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

ก้องจาก"หมอ"ในพื้นที่ 30 บาท กับ"หมอ"ลาออก "เหตุ"แท้จริงอยู่ตรงไหน ?

อ่านเมนูข้อมูล "30 บาทกับหมอลาออก" ของนายดาต้า ในมติชนสุด สัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-25 ธันวาคม 2546 แล้ว อยากจะให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเรียนและการ ทำงานของหมอในภาคราชการบ้าง ประชาชนจะได้เข้าใจว่าการทำงานของหมอในภาคราชการนั้น ต้องเสียสละ อดทนต่อภาระงานที่หนักเกินกำลังคนธรรมดาจะทนได้ จะได้เข้าใจว่าทำไมหมอจึงลาออกจากราชการกันเรื่อยๆ

เริ่มจากการเรียนแพทย์ นักศึกษาแพทย์ในระบบของมหาวิทยาลัยรัฐบาลนั้น มีข้อกำหนดว่าต้องทำงานชดใช้ทุนแก่ราชการ 3 ปี หรือไม่เช่นนั้นต้องจ่ายเงิน 400,000 บาท

คำว่าทุน ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลให้เงินทุนให้นักศึกษาแพทย์เรียนฟรี

นักศึกษาแพทย์ทุกคน ในทุกคณะต้องจ่ายค่าเล่าเรียน (ค่าหน่วยกิต) เหมือนนักศึกษาในคณะอื่นๆ แต่รัฐบาลบอกว่าต้องลงทุนในการให้การศึกษาแก่นักศึกษาแพทย์มากกว่านักศึกษาคณะอื่น จึงถือว่าค่าหน่วยกิตที่นักศึกษาจ่ายนั้นไม่คุ้มกับเงินทุนที่รัฐบาลได้ลงไปเพื่อคณะแพทยศาสตร์

(ซึ่งที่นายดาต้าบอกว่า 6 ปี 3 ล้านบาทต่อนักศึกษาแพทย์ 1 คนนั้นก็ไม่จริง เพราะรัฐบาลให้ค่าศึกษาแพทย์รายหัวปีละ 200,000 บาท ต่อคนต่อปี หรือ 6 ปี = 1,200,000 บาท)

แต่ถ้าคิดถึงมูลค่าการลงทุนเพื่อการศึกษาแพทยศาสตร์แล้ว ค่าตึก ค่าเครื่องมือห้องทดลอง ค่าตั้งโรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ และอุปกรณ์การแพทย์นั้น ก็ได้ใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัย การรักษาพยาบาลผู้ป่วย ไม่ได้ใช้แค่การเรียนการสอนอย่างเดียว

นอกจากนั้น เวลาที่นักศึกษาแพทย์เรียนอยู่ในคณะแพทยศาสตร์นั้น ก็ต้องทำงานบริการผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจร่างกาย ตรวจอุจจาระ ปัสสาวะ ตรวจเลือด ทำแผล ผ่าตัด ตรวจรักษาผู้ป่วย (ถึงแม้จะต้องอยู่ในความดูแลของอาจารย์และแพทย์รุ่นพี่ก็ตาม) แต่ก็ต้องอยู่เวรตรวจรักษาผู้ป่วยเป็นด่านแรก ไม่ว่าจะเป็นในเวลาราชการ หรือนอกเวลาราชการ บางครั้งอยู่เวรทุกวัน (ทั้งวันทั้งคืน) ในแผนกที่มีแพทย์ประจำน้อย

จึงเห็นได้ว่า นักศึกษาแพทย์ต้องทำงานบริการดูแลผู้ป่วย โดยไม่เคยได้รับค่าตอบแทนเลย ช่วยให้งานบริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ดำเนินไปด้วยดี เรียกว่าทำงานแทนอาจารย์และแพทย์อาวุโสนั่นเอง

เมื่อนักศึกษาแพทย์เรียนจบการศึกษา ต้องถูกบังคับให้ชดใช้ทุน ในขณะที่นักศึกษาในคณะอื่นๆ ไม่ว่า วิทยาศาสตร์ วิศวะ สถาปัตย์ ฯลฯ (ซึ่งรัฐบาลต้องลงทุนในการศึกษาหรือเครื่องมือในห้องปฏิบัติการเหมือนคณะแพทย์) ไม่ต้องถูกบังคับให้ไปทำงานชดใช้ทุนเหมือนแพทย์



แพทย์จบใหม่เหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็มีความตั้งใจจะชดใช้ทุนในชนบทตามข้อบังคับอยู่แล้ว แต่สภาพการณ์ทำงานที่ต้องเผชิญ ทำให้มีแพทย์บางคนเปลี่ยนใจไม่ไปทำงานใช้ทุนตามที่ถูกบังคับ และต้องลาออกหาเงินมาใช้ให้รัฐบาลแทนนั้น มีสาเหตุจากการบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้คือ

1. ต้องทำงานหนักเกินกำลัง เพราะในโรงพยาบาลชุมชน (โรงพยาบาลอำเภอ) ส่วนหนึ่งนั้น มีจำนวนแพทย์ปฏิบัติงานเพียงแห่งละ 2-3 คน โดยมีจำนวนประชาชนต้องดูแลรับผิดชอบถึง 20,000-30,000 คน

การทำงานนั้น ต้องดูแลรับผิดชอบผู้ป่วยในเวลาราชการ ตั้งแต่ 08.30-16.30 น. และนอกเวลาราชการก็ต้องผลัดเปลี่ยนกันอยู่เวรดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นในช่วงเวลา 16.30-08.30น. ของวันรุ่งขึ้น หรือในวันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันเสาร์-อาทิตย์ โดยที่ไม่มีเวลาหยุดชดเชย (กลางคืน อยู่เวร ตอนเช้าต้องทำงานต่อ)

ในขณะเดียวกัน ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาก็คือ เบิกได้ครั้งละ 800 บาท ต่อ 16 ชั่วโมง หรือต่อ 24 ชั่วโมง ไม่มากไปกว่านั้น ถ้ามีแพทย์ 2-3 คน ใน 1 โรงพยาบาล ก็ต้องอยู่เวร 1 วัน เว้น 2 วัน หรืออยู่เวร เสาร์-อาทิตย์ 1 ครั้ง สลับกันได้ หยุด 2 สัปดาห์ (ไม่ต้องทำงาน 2 เสาร์-อาทิตย์) และการอยู่เวรนั้นมีโอกาสถูกตามตัวมารักษาผู้ป่วยตลอดเวลาแทบไม่มีเวลาพักผ่อนหลับนอน

ในขณะเดียวกัน กฎหมายชันสูตรพลิกศพออกมาบังคับให้หมอที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั่วไป ต้องออกไปปฏิบัติงานร่วมชันสูตรพลิกศพกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในที่เกิดเหตุ ไม่ว่าจะไกลแค่ไหน ดึกแค่ไหน โดยไม่มีใครรับประกันในสวัสดิภาพและความปลอดภัย ทำให้พ่อแม่เป็นห่วง โดยเฉพาะหมอผู้หญิง มีตัวอย่างที่หมอไปชันสูตรพลิกศพแล้วรถคว่ำเกือบตายและพิการ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หมอสาวๆ ต้องลาออก

2. เงินเดือนน้อย แพทย์ต้องทำงานหนักเกินกำลัง ไม่มีเวลาพักผ่อน แต่มีเงินเดือนจากราชการน้อย ไม่คุ้มค่าและเหมาะสมกับภาระงานและความรับผิดชอบ ในขณะเดียวกัน ถ้าแพทย์ลาออกไปอยู่ในภาคเอกชน จะได้รับเงินเดือนหรือได้รับค่าตอบแทนอย่างน้อยเดือนละมากกว่า 100,000 บาท

เมื่อเปรียบเทียบกับภาระงานและเงินเดือนจากราชการแล้ว ก็คงต้องคิดพิจารณาใหม่ว่า จะเลือกงานสบาย เงินมาก กับงานหนัก เงินน้อยหรือไม่ แต่เราก็เห็นว่าแพทย์ที่ยังยอม ทำงานกับราชการก็มีอยู่มากกว่าแพทย์ที่ลาออกแน่ๆ

ในยุค รมต.สุดารัตน์ และนายกฯ ทักษิณ นี้ การปฏิรูประบบราชการไม่ยอมให้บรรจุข้าราชการใหม่ แต่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขยังขาดอีกมาก กระทรวงก็บรรจุแพทย์และบุคลากรอื่นๆ ให้ทำงานในกระทรวงสาธารณสุข แต่ให้เป็นพนักงานของรัฐ โดยให้เงินเดือนเท่ากับข้าราชการทั่วไป

แต่พนักงานของรัฐในกระทรวงอื่นนั้น จะได้รับเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการทั่วไป (เพราะสวัสดิการของพนักงานของรัฐน้อยกว่าข้าราชการ) เริ่มจาก 1.3 เท่า ไปจนถึง 1.7 เท่า ขึ้นอยู่กับความขาดแคลนของบุคลากรในแต่ละพื้นที่ แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ยอมจ่ายเงินเดือนของแพทย์ และบุคลากรอื่นที่เป็นพนักงานของรัฐให้มากกว่าข้าราชการ ทำให้หมอที่เป็นพนักงานของรัฐยิ่งได้ รับค่าตอบแทนและสวัสดิการน้อย จึงยิ่งไม่สร้างแรงจูงใจให้อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐบาล ทำให้พนักงานของรัฐลาออกมากขึ้น

ซึ่งน่าจะสรุปได้ว่า กระทรวงสาธารณสุขยังติดหนี้ค่าตอบแทนพนักงานของรัฐของกระทรวงสาธารณสุขอยู่หลายพันคน

3. ในยุคที่รัฐบาลปฏิรูประบบการให้บริการสาธารณสุข โดยใช้ระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค นั้น ได้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์มาก ให้ประชาชนไปรับบริการรักษาที่โรงพยาบาลได้ทุกที่ทุกเวลา ทุกโรค โดยจ่ายเงิน 30 บาท ทำให้มีผลกระทบต่อการทำงานของหมอ คือ

1. ภาระงานยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะประชาชนไม่ต้องดูแลตัวเองเหมือนเดิม แต่ไปเอายาที่โรงพยาบาลได้ตลอดเวลา

2. งบประมาณตามโครงการ 30 บาทไม่เพียงพอ ทำให้การพิจารณาใช้ยาและวิธี การรักษาโรคไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรฐานการแพทย์ที่ดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋าของโรงพยาบาล ทำให้หมอไม่อยากทำงานภายใต้โครงการ 30 บาท

4. กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรแพทย์เฉพาะทางแห่งละ 1-2 คน ทำให้ต้องอยู่เวรคนเดียวทุกวันตลอดปี หรือวันเว้นวันตลอดปี เช่น เป็นหมอศัลยกรรมกระดูกคนเดียว เป็นหมอศัลยกรรม ประสาทคนเดียวในโรงพยาบาล ซึ่งมีคนไข้อุบัติเหตุทุกวัน หมอต้องรับผิดชอบคนเดียวหมด คงจะทนอยู่ได้ยาก

กระทรวงควรพิจารณาเรื่องการพัฒนาโรงพยาบาลให้เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโดยให้มี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอย่างน้อยแห่งละ 3-4 คน เพื่อจะได้แบ่งเบาภาระงาน โรงพยาบาลไหนไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะก็ใช้ระบบส่งต่อ จะทำให้แพทย์มีภาระงานลดลง

5. เมื่อหมอไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอ เพื่อชดใช้ทุนตามกำหนด 3 ปีแล้ว หมอส่วนมากก็หวังและตั้งใจจะเรียนต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น ศัลยกรรม สูติกรรม กุมารเวชกรรม ฯลฯ ซึ่งเมื่อก่อนที่จะมีโครงการ 30 บาท หมอหนุ่มสาวเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้ลาราชการเรียนต่อในสาขาที่ต้องการ โดยได้รับเงินเดือน (แต่ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนในขณะเรียน)

การเรียนต่อสาขาเฉพาะนี้ ก็คือ การได้เข้ามาฝึกอบรมหรือที่เรียกว่าเป็นแพทย์ประจำบ้านในโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จากแพทยสภาว่า เป็นสถานที่ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านในสาขาต่างๆ ซึ่งส่วนมากก็ต้องมาทำงาน เป็นแพทย์ให้บริการประชาชนในสาขาที่ต้องการเรียนโดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลและฝึกอบรมของอาจารย์ประจำสถาบันนั้นๆ

ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เรียนโดยการนั่งฟังเล็กเชอร์ แต่เรียนโดยการฝึกปฏิบัติดูแลผู้ป่วยจริงๆ ทั้งกลางวัน กลางคืน อยู่เวรดูแลผู้ป่วยทั้งฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน โดยได้เงินเดือนเพียงน้อยนิด เหมือนเดิม แต่แพทย์หนุ่มสาวเหล่านี้ก็ต้องอดทน เพื่อจะได้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ตนเองชอบ หรือถนัดที่จะทำ

แต่หลังจากมีโครงการ 30 บาทออกมา กระทรวงสาธารณสุขมีความคิดว่าแพทย์เชี่ยวชาญสาขาเฉพาะมีมากแล้ว (ซึ่งไม่จริง) แต่ประเทศยังขาดแคลนแพทย์ทั่วไปมากกว่า จึงไม่อนุญาตให้แพทย์ที่ใช้ทุนครบ 3 ปีนี้ไปเรียนเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา แต่จะอนุญาตให้ไปเรียนแพทย์ทั่วไป ที่เรียกว่า general practitioner และมาเปลี่ยนเรียกเป็น Family doctor ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่ไม่อยากเรียนวิชาทั่วๆ ไป เพราะเรียนมาหมดแล้วตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ แต่จะสมัครเรียนวิชาเฉพาะก็ไม่ได้ จึงลาออกจากราชการ เพื่อมาเรียนในสาขาวิชาเฉพาะที่ต้องการ ทำให้มีแพทย์หนุ่มสาวลาออกมากขึ้นหลังจากโครงการ 30 บาท

6. เมื่อแพทย์ลาออกมากขึ้น แพทย์ที่ยังอยู่ในระบบราชการ ก็ยิ่งต้องทำงานมากขึ้น จึงทำให้แพทย์ที่ทนกับภาระงาน (work load) และทนกับชั่วโมงทำงานมากๆ (long working hours) ไม่ไหว ต้องลาออกจากราชการเพิ่มขึ้น

ฉะนั้น จะว่าโครงการ 30 บาทเกี่ยวกับการลาอออกของแพทย์ โดยตรงและโดยทางอ้อม ก็ไม่น่าจะเป็นคำพูดที่เกินเลยจากความจริง



สรุปสาเหตุของการที่แพทย์ไทยขาดแคลนในชนบท

1. overwork and underpaid ภาระงานมาก เงินเดือนน้อย

2. เวลาการทำงานมากเกินไป โดยไม่มีเวลาหยุดพัก (long working hours)

3. งบประมาณค่ารักษาพยาบาลจากโครงการ 30 บาทไม่เพียงพอ ทำให้ถูกบังคับจากผู้บริหาร ให้ใช้ยาถูก แต่อาจไม่มีคุณภาพ การรักษาผู้ป่วยในโครงการ 30 บาท ไม่สามารถใช้ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา แต่ใช้เงินที่มีจำกัดเป็นตัวบ่งชี้ว่าจะรักษาอย่างไร

4. การบริหารจัดการในการกระจายบุคลากรของกระทรวงไม่เหมาะสม ทำให้แพทย์บางสาขาต้องทำงานเพิ่มมากขึ้น



ข้อเสนอในการแก้ไข

1. พิจารณาเรื่องเงินเดือน และค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับภาระงาน ภาระความรับผิดชอบ ในชีวิตและสุขภาพของประชาชน

2. เปลี่ยนระบบการบริหารจัดการ การแพทย์ของกระทรวงใหม่ เพิ่มแรงจูงใจในการ เรียนต่อ การทำงานในชนบท หรือบทบาทของศูนย์การแพทย์ให้มีแพทย์ทำงานมากขึ้น เพื่อลดภาระงาน

3. แพทยสภาพร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาในด้านการบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์ และการจัดการเรียนต่อเฉพาะทางที่เหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาแพทย์ลาออกจากราชการ


Posted by : Kangaroo , Date : 2004-01-05 , Time : 08:03:16 , From IP : 141.a.004.ade.iprimu

ความคิดเห็นที่ : 1


   อยู่ม.3ครับอายุ15อยากเป็นหมอชนบมเหมือนกันครับสู้ๆนะครับ

Posted by : เบ็นซ์ , E-mail : (benzza_1@hotmail.com) ,
Date : 2007-01-30 , Time : 14:20:39 , From IP : 203.155.142.233


ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<