ความคิดเห็นทั้งหมด : 3

ห้องแห่งความลับ


   ...เป็นหมอนี่ก็เปรียบเสมือนกับนักสืบ ที่จะต้องสืบค้นหาโรค หรือ ภาวะต่างๆจากคนไข้ คนไข้แต่ละคนก็เหมือนเนื้อเรื่องแต่ละตอนที่เพิ่มพูนประสบการณ์ให้หมอได้เรียนรู้อยู่เรื่อยๆ
บทความข้างล่างนี้ ได้ น่าสนใจดี เลยเก็บมาให้อ่านกัน อาจยาวไปหน่อยนะ



ห้องแห่งความลับ!!!!

ช่องท้องของสตรี เปรียบไปก็เหมือนกับเป็นห้องเก็บความลับอะไรสักอย่าง เพราะภายในช่องท้อง มีอวัยวะหลากหลายซ่อนอยู่ ที่สำคัญ คือ อวัยวะสืบพันธุ์ซึ่งซ่อนอยู่ในอุ้งเชิงกราน ปัญหาคือ เวลาเป็นโรคของมดลูกหรือรังไข่บางทีก็มืดมน ไม่สามารถวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุได้ บ่อยครั้งจึงจำเป็นต้องผ่าตัดเปิดช่องท้องเข้าไปดู

วิธีการสืบหาสาเหตุ (Investigation) สำหรับกรณีดังกล่าว มักใช้การตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound) ของคนไข้ เนื่องจากหัวตรวจอัลตราซาวนด์สามารถเข้าไปใกล้กับพยาธิสภาพได้มาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้ผลดี หากยังไม่สามารถแยกโรคได้ระหว่างกลุ่มโรคที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดด่วน (Surgical Case) กับกลุ่มโรคที่รักษาหายได้ด้วยยา (Medical Case) ข้าพเจ้าจะใช้วิธีเจาะท้องส่องกล้อง (Laparoscopy) เข้าไปสำรวจดู

เรื่องราวของคนไข้ที่จะเล่าต่อไป เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการคลี่คลายความลี้ลับแห่งโรคในช่องท้องสตรีที่ค่อนข้างแปลก ซึ่งต้องอาศัยการพิจารณาอย่างรอบคอบ และจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นด้วย มิฉะนั้น อาจเกิดผลเสียหายต่อคนไข้อย่างมากมาย

คนไข้สตรีรายนี้ชื่อ คุณบุญอุ้ม อายุ 62 ปี มาโรงพยาบาลตำรวจอย่างฉุกเฉิน เพราะปวดท้องน้อยด้านขวา 6 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล ตอนแรกคุณหมอที่แผนกฉุกเฉินวินิจฉัยว่า เป็นกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pyelonephritis) และให้นอนพักที่ห้องสังเกตอาการ แต่อาการปวดท้องน้อย ไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง วันต่อมาจึงส่งคนไข้มาที่แผนกสูติ-นรีเวชกรรมเพื่อหาสาเหตุต่อไป ข้าพเจ้าได้ตรวจดูบริเวณท้องน้อยของคุณบุญอุ้มพบว่า คนไข้แสดงอาการสะดุ้งเจ็บเวลากดและปล่อย (Peritonism) แต่ไม่ถึงกับรุนแรง แสดงว่ามีสิ่งรบกวนอยู่ภายในช่องท้อง โดยอาจจะเป็นเลือด หนอง หรืออื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในสตรีสูงอายุมากๆ มักมีการเจ็บปวดไม่สัมพันธ์กับพยาธิสภาพ กล่าวคือ คนไข้มักแสดงอาการเจ็บปวดน้อยกว่าความเป็นจริงเสมอ

ข้าพเจ้าได้ขอตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดของคุณบุญอุ้ม เธอก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ปรากฏว่า ช่องคลอดของคุณบุญอุ้ม ตีบตันตั้งแต่ปากช่องคลอดเลย จึงไม่สามารถสอดใส่หัวตรวจเข้าไปได้แม้เพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้าสอบถามคุณบุญอุ้มถึงสาเหตุก็ได้ความว่า " เคยตกต้นไม้และเกิดการบาดเจ็บตรงบริเวณปากช่องคลอดพอดี" แต่จริงๆ สาเหตุความผิดปกติของช่องคลอดของคุณบุญอุ้มนั้น อาจเป็นมาแต่กำเนิดหรือจากอุบัติเหตุได้ทั้งนั้น

ข้าพเจ้าได้เปลี่ยนวิธีการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด เป็นการตรวจทางหน้าท้องแทน โดยตรวจดูบริเวณท้องน้อยเหนือหัวเหน่า ซึ่งใกล้เคียงกับตำแหน่งของอุ้งเชิงกราน ผลปรากฏว่าเห็นถุงน้ำกลมๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7-8 เซนติเมตร ภายในมีลักษณะสีดำสนิท ซึ่งน่าจะเป็นของเหลวมากที่สุด จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า เวลามองเห็นถุงน้ำขนาดใหญ่บริเวณดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่ต้องนึกถึงไว้เสมอ คือ ถุงน้ำนั้นอาจไม่ใช่เนื้องอกถุงน้ำรังไข่ แต่อาจเป็นกระเพาะปัสสาวะที่โป่งพอง (Full Bladder) ความผิดพลาดที่วินิจฉัยว่ากระเพาะปัสสาวะ คือเนื้องอกถุงน้ำรังไข่ พบได้บ่อยๆ หากสูติแพทย์ผู้ดูอัลตราซาวนด์ทางหน้าท้องไม่รอบคอบพอ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้คุณบุญอุ้มไปปัสสาวะทิ้งแล้วกลับมาตรวจอัลตราซาวนด์ทางหน้าท้องซ้ำอีกครั้ง ผลปรากฏว่าพบถุงน้ำเหมือนเดิม ตำแหน่งเดิม แต่ขนาดเล็กลงนิดหน่อย ข้าพเจ้าคิดว่า บางทีคนไข้อาจปัสสาวะไม่หมด ซึ่งหากผ่าตัดเปิดเข้าไปในช่องท้องของคุณบุญอุ้ม อาจไม่พบความผิดปกติอะไรก็ได้ นั่นหมายถึง " เกิดความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง…"

ด้วยความไม่แน่ใจว่า คนไข้จะปัสสาวะทิ้งจนหมดเกลี้ยง ข้าพเจ้าจึงขอให้พยาบาลช่วยใส่สายสวนปัสสาวะ เพื่อระบายน้ำปัสสาวะที่อาจเหลือค้างอยู่ออกให้หมด พยาบาลผู้ทำหน้าที่สวนปัสสาวะพูดด้วยความตกใจว่า " หมอคะ! ใส่สายสวนปัสสาวะไม่เข้าและหารูเปิดท่อทางเดินปัสสาวะไม่เจอ"

" อะไรนะ! ยังงั้นผมขอใส่สายสวนปัสสาวะเองก็แล้วกัน" ข้าพเจ้าพูดตอบ แต่พยายามหารูเปิดท่อทางเดินปัสสาวะอย่างไร ก็หาไม่พบ ข้าพเจ้าได้เล่าถึงเรื่องราวคนไข้รายนี้ให้คุณหมอสูติอีกท่านหนึ่งฟัง ท่านไม่เชื่อว่าคนไข้จะไม่มีรูเปิด ของท่อทางเดินปัสสาวะและขอใส่สายปัสสาวะด้วยตัวเอง ซึ่งก็ไม่สามารถใส่ได้เช่นกัน เมื่อพยายามสังเกตดูก็พบว่า คนไข้มีรูเปิดท่อทางเดินปัสสาวะอยู่บริเวณนั้น แต่มีขนาดเท่ารูเข็ม

ข้าพเจ้ากับเพื่อนสูติแพทย์ท่านนั้นช่วยกันตรวจอัลตราซาวนด์ทางหน้าท้องของคุณบุญอุ้มอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปว่า คุณบุญอุ้มเป็นโรคอะไรกันแน่ ในที่สุดก็ลงความเห็นว่า คุณบุญอุ้มน่าจะเป็นโรคตัวมดลูกเป็นหนอง (Pyometra) หรือถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Tumor) อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วจึงสั่งการรักษากับพยาบาลว่า " ช่วยให้คนไข้นอนพักที่หอผู้ป่วยชั้น 6 เพื่อสังเกตอาการ โดยให้อดอาหารและน้ำ เผื่อจำเป็นต้องผ่าตัดฉุกเฉิน และเพื่อรอการเจาะท้องส่องกล้อง (Laparoscopy) ในตอนเช้า"

ก่อนส่งคุณบุญอุ้มขึ้นหอผู้ป่วย ข้าพเจ้าได้ขอตรวจทางทวารหนักโดยล้วงเข้าไป เพื่อคลำหาปากมดลูก เพราะในกรณีที่คนไข้สตรีไม่มีช่องคลอด อาจสัมพันธ์กับความผิดปกติแต่กำเนิดของอวัยวะภายในและไตด้วย อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าสามารถคลำได้ส่วนที่คล้ายปากมดลูก ทำให้คิดว่า คุณบุญอุ้มน่าจะมีมดลูกและปากมดลูกอยู่ครบ และการวินิจฉัยว่า ตัวมดลูกเป็นหนองหรือเนื้องอกถุงน้ำรังไข่ น่าจะถูกต้อง

ตกตอนกลางคืน คุณบุญอุ้มมีไข้ขึ้นสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ข้าพเจ้าได้สั่งการรักษาโดยเพิ่มยาฉีดฆ่าเชื้อ ทางเส้นเลือดอีกตัวหนึ่งและมั่นใจลึกๆ ว่า น่าจะเป็นโรคตัวมดลูกเป็นหนองมากกว่าเนื้องอกถุงน้ำรังไข่

ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ก่อนไปที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าได้ตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องของคุณบุญอุ้มอีกครั้ง คราวนี้ให้คุณบุญอุ้มกินน้ำเยอะๆ และกลั้นปัสสาวะ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะโป่งพองขึ้น เนื่องจากปกติกระเพาะปัสสาวะจะอยู่หน้าต่อตัวมดลูก ดังนั้นเราจะสามารถมองเห็นมดลูกค่อนข้างชัดเจน เวลากระเพาะปัสสาวะเต่งตัวขึ้นมา ซึ่งผลปรากฏว่า ข้าพเจ้ามองเห็นถุงน้ำ 2 ถุง โดยมีถุงน้ำขนาดใหญ่ประมาณ 10 เซนติเมตร ทางด้านบน และถุงน้ำอีกถุงหนึ่งขนาดประมาณ 3-4 เซนติเมตร อยู่ทางด้านล่าง นั่นแสดงว่า เมื่อวันวานพวกเราคงเข้าใจผิด ความจริงถุงน้ำที่เห็นเมื่อวานนั้น น่าจะเป็นกระเพาะปัสสาวะมากกว่าส่วนถุงน้ำ ทางด้านล่างที่เห็นในวันนี้ คือ ถุงน้ำหรือถุงหนองอะไรซักอย่างหนึ่ง

ที่ห้องผ่าตัด เราได้ขอให้คุณบุญอุ้มปัสสาวะไปทิ้งจนหมดเสียก่อนจะดมยาสลบ เหตุผลคือ เมื่อเวลาเจาะท้องส่องกล้องเข้าไปจะได้ไม่กระทบถูกกระเพาะปัสสาวะ อีกประการหนึ่งกระเพาะปัสสาวะที่โป่งพอง จะบดบังมดลูกและรังไข่ ทำให้เราวินิจฉัยหาสาเหตุได้ยาก

พอข้าพเจ้าเจาะท้องส่องกล้องเข้าไปดูปรากฏว่า มองไม่เห็นตัวมดลูกและรังไข่ เนื่องจากมีลำไส้มาปิดบังบริเวณนั้น เมื่อใช้เครื่องมือเขี่ยลำไส้ออกจากกัน ก็พบคราบของหนองติดอยู่กับลำไส้หลายส่วน ตอนนี้เอง ข้าพเจ้าจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเปิดช่องท้องเข้าไปอย่างแน่นอนแล้ว โดยสันนิษฐานว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ

" คงต้องผ่าตัดเปิดช่องท้องเข้าไป เพราะมีคราบหนองติดอยู่กับลำไส้หลายส่วนสงสัยจะเป็นถุงหนองไส้ติ่งแตก (Rupture of appendicial abscess) คุณพยาบาลช่วยตามศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะให้ด้วย เพราะหลังผ่าตัดคุณบุญอุ้มจะไม่สามารถปัสสาวะเองได้ ซึ่งเราจำเป็นต้องเจาะรูและใส่สายสวนปัสสาวะ บริเวณส่วนบนของกระเพาะปัสสาวะ (Suprapubic Cystostomy) เพื่อระบายปัสสาวะออกมาทางนั้น" ข้าพเจ้าบอกกับพยาบาลห้องผ่าตัด

ระหว่างรอศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ ข้าพเจ้าได้กรีดมีดผ่าตัดเปิดหน้าท้องของคุณบุญอุ้ม เป็นแนวตรงจากหัวเหน่าขึ้นไปจนถึงสะดือ และลองใช้มือดันลำไส้เพื่อเข้าไปดูมดลูก รังไข่ในอุ้งเชิงกราน แต่ก็ทำด้วยความยากลำบาก เพราะกระเพาะปัสสาวะโป่งพองปิดบังไว้ โชคดีที่ศัลยแพทย์มาทันเวลา จึงได้ช่วยเลาะแยกลำไส้ออกจากกันและยุบกระเพาะปัสสาวะลง ด้วยการเจาะใส่สายสวนปัสสาวะทางด้านบน

ตอนแรกศัลยแพทย์ได้สำรวจบริเวณไส้ติ่งของคนไข้ปรากฏว่าปกติดี ท่านจึงคิดว่าน่าจะเป็นถุงกระเปราะที่ยื่นจากลำไส้ใหญ่อักเสบ ที่เรียกว่า diverticulitis แต่พอเลาะลำไส้ไปในตำแหน่งที่ควรจะเป็น กลับไม่พบ diverticulitis เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงหันกลับมาเลาะลำไส้ที่เกาะติดบริเวณมดลูกและรังไข่ ปรากฏว่า มีหนองทะลักออกมาตรงรูด้านหลังของมดลูก (Posterior Aspect) บริเวณใกล้ส่วนต่ำที่สุดของอุ้งเชิงกราน (culdesac) เราจึงได้ทราบว่า มีถุงหนองอยู่ที่บริเวณนั้น ข้าพเจ้าดีใจมากที่ทราบสาเหตุว่าเป็นถุงหนองของปีกมดลูกและรังไข่ (tubo-ovarian abscess) เพราะปีกมดลูกและรังไข่ รวมตัวกันกลายเป็นก้อนกระจุกติดอยู่ทางด้านหลังของมดลูก ส่วนตัวมดลูกมีการอักเสบ แต่ไม่เป็นหนอง

ข้าพเจ้าทำการผ่าตัดเอาตัวมดลูกและรังไข่ของคุณบุญอุ้มออกทั้งหมด (total abdominal hysterectomy) และเย็บปิดช่องคลอดด้านบน หลังจากชำระล้างทำความสะอาดภายในช่องท้องอย่างดี คุณบุญอุ้มไข้ลดลงหลังจากนั้น 24 ชั่วโมง และถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลซึ่งเธอมีประกันสังคม ข้าพเจ้าได้เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาไว้ทั้งหมด เพื่อสะดวกกับแพทย์ผู้ดูแลต่อ จากการสอบถามศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ ถึงเรื่องสายสาวนปัสสาวะที่คาไว้ว่า จะทำอย่างไรต่อไป ก็ได้คำตอบว่า " ให้คาไว้อย่างนั้น ประมาณ 10 วัน แล้วจึงเอาออกได้ ช่องที่เกิดจากการคาสายสวนปัสสาวะ (track) จะค่อยๆ ปิดไปเอง"

ช่องท้องของสตรี เป็นห้องลี้ลับแห่งหนึ่ง ซึ่งมักเกิดเรื่องราวเกี่ยวกับโรคบ่อยๆ โดยเฉพาะโรคของมดลูกและรังไข่ ความผิดพลาดในการวินิจฉัย สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่แพทย์มีหน้าที่ต้องแยกแยะให้ได้ กุญแจคลี่คลายความสงสัยเหล่านี้ก็คือ ความรู้ทางการแพทย์ที่มีการศึกษา ค้นคว้าตลอดเวลา และถ่ายทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราไม่รู้ในหลายๆ สิ่ง อันที่จริงการเรียนรู้ได้ช่วยสร้างปัญญา กับทั้งแก้ปมปริศนาแห่งปัญหาต่างๆ ว่าไปแล้ว มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาอยู่ตลอดเวลา จึงจะสามารถอยู่รอดในโลกนี้ได้ แต่เนื่องจากคนเราใช้ประโยชน์จากความรู้ได้ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงต้องเลือกที่จะเรียนรู้ ไม่ใช่เรียนรู้ทุกอย่างที่ขวางหน้า เราไม่ควรเสียเวลาไปเรียนรู้ในสิ่งที่คิดว่า มีโอกาสได้ใช้น้อยมาก เพราะชีวิตไม่ได้ยืนยาว…เท่าใดนัก



(update 25 มิถุนายน 2003) โดย พ.ต.อ.นพ.เสรี จีรพงษ์
[ ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 มีนาคม 2546 ]


Posted by : a_natomy , E-mail : (arinatomy@hotmail.com) ,
Date : 2004-01-04 , Time : 23:27:19 , From IP : 192.168.129.139


ความคิดเห็นที่ : 1


    ขอปรบมือให้กับสิ่งดีๆที่คุณเอามาถ่ายทอดให้คนอื่นได้รับรู้

Posted by : tt , Date : 2004-01-05 , Time : 12:39:24 , From IP : 172.29.2.155

ความคิดเห็นที่ : 2


   ขอบคุณด้วยครับผม

Posted by : mYm , Date : 2004-01-07 , Time : 16:32:37 , From IP : 172.29.3.161

ความคิดเห็นที่ : 3


   จริงแล้ว ไอ้คุณ พ.ต.อ.นพ.เสรี จีรพงษ์ ไม่ควรจะเอ่ยชื่อคนไข้นะ มันผิดจรรยาบรรณ ไม่ค้วรไม่ควร

Posted by : มารหัวขน , Date : 2004-01-10 , Time : 15:38:44 , From IP : 203.155.144.17

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<