ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย โดย ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช


   จาก..http://gotoknow.org/blog/thaikm/72865
อาจารย์พรรณทิพย์กรุณาส่งมาให้อ่าน ขออนุญาตโพสต์ต่อค่ะ..
ขอบพระคุณค่ะ
.........................................................................................
อ่าน: 1654
ความเห็น: 10

คนดีวันละคน : (9) ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย
โดย ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช
ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย เป็นคนที่จิตใจบริสุทธิ์ที่สุด 1 ใน 10 คนที่ผมรู้จัก

ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย
อาจารย์หมอธาดา เป็นครูของผม ท่านจบปริญญาแพทย์จากนคร Cardiff แคว้น Wales สหราชอาณาจักร และได้ MRCP กลับมาเป็นอาจารย์ที่ศิริราชตอนผมเป็นนักเรียนแพทย์ปี 3 ท่านเป็นหมอโรคหัวใจ การกลับมาของท่านสร้างความคึกคักให้แก่ศิริราชมาก เพราะท่านเป็นคนขยัน ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง พา resident ไป round คนไข้ตอนกลางคืน พอสองยามก็ชวนกันไปตีเทนนิส แล้วกลับมาอาบน้ำและนอนเฝ้าคนไข้ผ่าตัดหัวใจที่ตึกตั้งตรงจิตร
หมอผ่าตัดหัวใจในขณะนั้นได้แก่ ศ. นพ. กษาณ จาติกวนิช, ศ. นพ. กัมพล ประจวบเหมาะ และ ศ. นพ. มรว. กัลยาณกิติ์ กิติยากร ดีใจมากที่ได้หมอโรคหัวใจทางอายุรศาสตร์อย่าง อ. หมอธาดา มาอยู่ที่ศิริราช เพราะช่วยให้การวินิจฉัยก่อนผ่าตัดแม่นยำขึ้นมาก และช่วยดูแลคนไข้หลังผ่าตัดแบบนอนเฝ้าให้
อ. หมอธาดา เป็นฮีโร่ เป็น role model ของ นศพ.รุ่นผม เป็นคนสร้างแรงบันดาลใจให้ นศพ. ทัศนะ นิวัฒน์ภูมินทร์ คลั่งไคล้สาขาวิชาโรคหัวใจ ไปฝึกอบรมและทำงานด้านนี้ในสหรัฐอเมริกาจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทำงานอยู่ที่ รพ.Sedar Sinai และในที่สุดได้มีโอกาสถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พร้อม ๆ กับที่แพทย์จบใหม่รุ่นผมไปฝึกอบรมและทำงานต่อที่สหรัฐอเมริกา อ. หมอธาดาก็ไปด้วย และไปเรียนระดับปริญญาเอกถึง 2 ปริญญา คือด้านสรีรวิทยา และด้านคณิตศาสตร์ ท่านทำงานเป็นอาจารย์ที่สหรัฐอเมริกาจนเป็นศาสตราจารย์ด้านอายุรศาสตร์และสรีรวิทยา
เมื่อจะกลับมาทำงานที่เมืองไทย ท่านเลือกไปทำงานที่ รร.แพทย์แห่งใหม่คือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งผมทำงานที่นั่นอยู่หลายปีแล้ว จึงเป็นโชคดีของผมที่จะได้ทำงานใกล้ชิดกับท่าน
ตอนแรกที่ท่านไปอยู่ท่านทำงานที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ เพราะโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ยังสร้างไม่เสร็จ ส่วนผมทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย อาศัยใต้ถุนคณะวิศวะอยู่ เราจึงไม่ค่อยรู้จักกัน
ปลายปี 2524 คณะแพทยศาสตร์จะต้องหาคณบดีคนใหม่ที่จะต้องมาดำเนินการเปิดโรงพยาบาล 100 เตียงแรก และขยายโรงพยาบาลโดยเร็ว อาจารย์ที่มีกันอยู่สัก 20 - 30 คนประชุมกัน โดยผมไม่ไปร่วมประชุมด้วย อ. หมอธาดาถามภรรยาผมกลางที่ประชุม "อมรา วิจารณ์เป็นได้ไหม" "หนูว่าเขาเป็นได้ แต่เขาบอกว่าเขาไม่อยากเป็น" ตอนนั้นผมเป็นที่เกลียดชังของคนในคณะแพทย์ เพราะตอนผมเป็นรองอธิการบดี (พ.ศ.2518 - 2521) ผมไม่เอื้อเฟื้อเป็นพิเศษต่อคณะแพทย์
อ. หมอธาดามีลักษณะเป็น concerned citizen คือเป็นทุกข์เป็นร้อนต่อองค์กรและสังคมที่ตนอยู่ จึงเข้าไปชักชวนพวกอาจารย์ช่วยกันคิดอ่านหาคณบดีคนใหม่ ซึ่งในที่สุดเขาก็ไม่รู้จะเอาใคร จึงมาคว้าผมซึ่งมีความดีอยู่อย่างเดียวคือไม่กลัวงานยากลำบาก และไม่กลัวศัตรูด้วย ผมวางกุศโลบายเอาศัตรูมาเป็นมิตรหมด
อ. หมอธาดายอมมาช่วยเป็นรองคณบดีให้ผม ตอนแรกท่านไม่ค่อยรู้จักผมคงจะไม่ค่อยวางใจเท่าไรว่าผมจะทำได้ แต่การที่ได้ทำงานใกล้ชิดกัน ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีคิดและเรียนรู้ความดีจากท่านมากมาย ท่านกลับมาเป็นครูผมอีกครั้งหนึ่ง และคราวนี้เป็นมาตลอดจนทุกวันนี้
เรื่องของ อ. หมอธาดาผมเล่าได้ทั้งวัน ได้กล่าวแล้วว่าท่านเป็น concerned citizen เมื่อมีปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็รวนเร อ. หมอธาดาได้อาสาเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายด้านสุขภาพ ตามยุทธศาสตร์ของประเทศในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ประธานการประชุม แต่ได้เข้าไปทำงานในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่
ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย เป็นคนที่จิตใจบริสุทธิ์ที่สุด 1 ใน 10 คนที่ผมรู้จัก
วิจารณ์ พานิช
1 ม.ค.50

........................................................................


Posted by : 214 , Date : 2010-11-29 , Time : 07:30:20 , From IP : 172.29.14.183

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<