ความคิดเห็นทั้งหมด : 2

ม.อ.เน้นบัณฑิตพัฒนาภาษา รองรับการรวมตัวอาเซียน


   ม.อ.เน้นบัณฑิตพัฒนาภาษา รองรับการรวมตัวอาเซียน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 พฤศจิกายน 2553 12:03 น.


ม.อ. ชี้ บัณฑิตวิชาการดี แต่อ่อนภาษาต่างประเทศ เร่งพัฒนาทักษะ ทั้ง อังกฤษ จีน มลายู รองรับการรวมตัวของอาเซียน พร้อมติวการหางาน-ฝึกงาน ก่อนลงสู่สนามจริง

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดประชุมร่วมระหว่างศิษย์เก่ากับผู้บริหาร ครั้งที่ 6 เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนศิษย์เก่าและผู้บริหารมหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุมเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็นจากศิษย์เก่า ในประเด็น การขับเคลื่อน ม.อ.ให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาคและการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ ตลอดจนการสนับสนุนการสมัครเข้าทำงานของบัณฑิต และ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างศิษย์เก่ากับมหาวิทยาลัย

รศ. ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวในการเสวนาครั้งนี้ว่า ปัจจุบันผู้ที่อยู่ในโลกของทฤษฎีมักจะตามโลกแห่งความเป็นจริงไม่ทัน เช่นเดียวกับนักวิชาการที่หากไม่คอยติดตามความก้าวหน้าของโลกจากผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่จริงแล้ว ก็จะเป็นผู้ที่มีข้อมูลความรู้ที่ล้าสมัย วิธีการหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่จะสร้างสะพานเชื่อมทฤษฎีและโลกแห่งความเป็นจริงเข้าด้วยกัน คือการให้นักศึกษาเก่าที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน และส่วนหนึ่งได้ประสบความสำเร็จเป็นผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ ได้เป็นผู้สื่อข้อมูลความรู้ที่ทันสมัยสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ เช่น ช่วยในเรื่องข้อมูลตลาดแรงงาน สหกิจศึกษา หรือ โจทย์วิจัยจากภาคอุตสาหกรรม

“สำหรับประเด็นต่างๆ ที่ได้ตั้งเอาไว้เพื่อการระดมสมองนั้น ในส่วนของ การขับเคลื่อน ม.อ.ให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาคและการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ ศิษย์เก่าเห็นว่า มหาวิทยาลัยควรหาวิธีการให้ชื่อ “สงขลานครินทร์” ได้ปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ โดยการหาประเด็นใหม่ๆ เพื่อดึงความสนใจของสื่อและสังคม เช่นด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว นอกเหนือจากด้านสิ่งแวดล้อมที่เชื่อว่ามีความเด่นอยู่แล้ว ส่วนบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความสามารถทางวิชาการทัดเทียมกับสถาบันอื่น แต่ในด้านภาษาต่างประเทศแล้วยังด้อยกว่า มหาวิทยาลัยควรเพิ่มความสามารถด้านทักษะภาษาต่างประเทศแก่นักศึกษา เนื่องจากเหตุผลประการสำคัญคือการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้เกิดการมีเสรีด้านการเคลื่อนย้าย แรงงาน ทุน และสินค้า แต่ในปัจจุบันเยาวชนไทยมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และที่สำคัญคือหลายประเทศ เช่น จีนและเวียดนาม ได้มีการเปิดสอนภาษาไทยกันอย่างจริงจังเพื่อเตรียมบุคลากรสำหรับเข้าสู่ตลาดแรงงานในประเทศไทย และในการสมัครเข้าทำงานบริษัทหรือหน่วยงานที่มีการแข่งขันสูง มักจะใช้ความสามารถทางภาษาอังกฤษเป็นหนึ่งในตัววัดความสามารถ”


รศ. ดร.บุญสม กล่าวต่อไปว่า หากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะเข้าสู่ความเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาคและจะเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติได้ ต้องส่งเสริมนักศึกษาให้มีความเข้มแข็งและกระตุ้นให้เห็นความจำเป็นของความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ จีน มลายู หรือ อาหรับ ซึ่งจะสามารถทำได้หลายวิธีนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน เช่น การจัดให้นักศึกษาเก่าที่มีประสบการณ์มาพูดถึงความจำเป็นของภาษาต่างประเทศเมื่อเข้าสู่ตลาดงาน การมีสถาบันภาษาในมหาวิทยาลัย หรือจัดตั้งสมาคมฝึกพูดภาษาต่างประเทศโดยเน้นฝึกในสาระที่จำเป็นสำหรับใช้สอบสัมภาษณ์เข้าทำงาน อีกทั้งควรส่งเสริมให้นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อประเทศหรือประชาชนเจ้าของภาษา เพื่อการเปิดใจที่กว้างสำหรับการยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เป็นของประเทศนั้น

ด้าน ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังได้ให้ความเห็นเรื่อง การเตรียมตัวสำหรับเข้าทำงานของบัณฑิต โดยเสนอว่า ควรมีการเตรียมความพร้อม หรือ “ติว” นักศึกษาเรื่องการหางานทำตั้งแต่ก่อนจบการศึกษา โดยควรมีการรวบรวมข้อมูลของผู้ประกอบการและแหล่งงานของศิษย์เก่าไว้ เพื่อสะดวกในการค้นหาและติดต่อ ปรับข้อมูลให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา และหากเป็นไปได้ควรจัดให้นักศึกษาได้ฝึกงานในชั้นปีสุดท้าย เพื่อจะได้เข้าทำงานทันทีหากสถานประกอบการมีความพึงพอใจ





Posted by : thiopental , Date : 2010-11-11 , Time : 19:44:53 , From IP : 118.174.63.199.static.totbb.net

ความคิดเห็นที่ : 1




   president

Posted by : thiopental , Date : 2010-11-11 , Time : 19:45:51 , From IP : 118.174.63.199.static.totbb.net

ความคิดเห็นที่ : 2




   ////////

Posted by : thiopental , Date : 2010-11-11 , Time : 19:46:47 , From IP : 118.174.63.199.static.totbb.net

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<