ชิมิ ศัพท์สแลงแบบเลยเถิด
ศิลปินแห่งชาติ ระบุ ชิมิ ศัพท์สแลงแบบเลยเถิด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 พฤศจิกายน 2553 15:48 น.
ศิลปินแห่งชาติ ชี้ การนำคำ ชิมิ ไปตั้งเป็นชื่อหนัง ถือเป็นการยกระดับคำสแลงแบบเลยเถิดมากไป ด้าน รมว.วัฒนธรรม อัดยับเป็นคำอุบาทว์
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวถึงกรณี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรีรองนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงวัฒนธรรมไทยที่มีความเสื่อมถอยมากขึ้น รวมถึงการใช้ภาษาของวัยรุ่นไทยที่ไม่เหมาะสม เช่นคำว่า ชิมิ ว่า เรื่องภาษาต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น ภาษาที่เป็นทางการ กับภาษาที่ไม่เป็นทางการ ภาษาที่เป็นทางการก็น่าเป็นห่วง เวลานี้อย่าว่าแต่พูด อ่านเลย การเขียนก็น่าเป็นห่วงเรียกว่าลายมือไม่นั่งบรรทัด หมายความว่า เวลาคัดลายมือตัวหนังสือไม่ติดเส้นบรรทัด เขียนไม่เป็น ไม่รู้ความ น่าเป็นอย่างอย่างยิ่ง แต่ตนมั่นใจว่านักภาษาน่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ส่วนภาษาไม่เป็นทางการ หรือเรียกว่าภาษาแสลงนั้น ที่จริงแล้วมันเป็นไปตามธรรมชาติของสังคมใดสังคมหนึ่งในการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มวัยรุ่นมีภาษาของเขา ถ้าเป็นที่นิยมจะอยู่ได้ หากไม่เป็นที่นิยมจะหมดไปเอง เช่น คำว่า กิ๊ก ของภาษาสแลงวัยรุ่นปัจจุบัน ซึ่งหากใช้เวลาสักพักก็จะหมดความนิยมไป ลักษณะเดียวกับคำว่า ชิมิ ก็จะหมดไปเช่นกันถ้าไม่แพร่หลาย
ส่วนภาษาสแลงในแง่ลบ ถ้าหากว่ามีการยกย่องหรือยกระดับคำสแลงขึ้นมาสู่มาตรฐานอีกระดับ เช่น เอามาทำเป็นชื่อภาพยนตร์ เป็นการยกย่องแบบเลยเถิดไปหน่อย ไม่ได้ยกย่องในมุมที่ดี แต่มีลักษณะจงใจจะให้เป็นลามกมากกว่า หรือภาษาโฆษณา นักครีเอทีฟชอบกระเดียดมาทางเรื่องเพศ อันนี้ไม่เหมาะสม เหมือนเอาภาษาพื้นบ้านมาประจานเมือง อีกประเด็น ภาษาเพลง ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษาสแลงกัน เช่น คำว่า ฉัน เป็น ชั้น เธอ เป็น เชอ รัก เป็น ร้าก มันไปเขย่าทอนรากฐานเสียงอักษรไทย ก ข ค ง การนำเอาภาษามาทำเช่นนี้ ทำให้ฐานเสียงเปลี่ยนไป ดังนั้น การใช้ภาษาควรคำนึงบริบท การขยายผล เพราะโลกปัจจุบันการสื่อสารสมัยใหม่ไร้พรมแดน ศิลปินแห่งชาติกล่าว
ด้าน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติรมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นภาวะความเบี่ยงเบนของสังคม ดังนั้น เมื่อขนาดปัญหาใหญ่ขนาดนี้ จึงควรได้รับความร่วมมือจากหลายกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการให้การศึกษาที่ถูกต้องแก่เด็กเยาวชน ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้เคยส่งหนังสือขอความร่วมมือการดำเนินการจัดทำความตกลงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาภาษาไทยในเด็กเยาวชนไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ
ทั้งนี้ ในส่วนของปัญหาคำที่วัยรุ่นนิยมใช้กัน อย่างคำว่า ชิมิ ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีความหมายในคำภาษาไทยนั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเช่นกัน แต่ก็มองว่าเรื่องคำอุบาทว์ คำพูดเสียดสี หยาบคาย ก้าวร้าว น่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะคำศัพท์วัยรุ่นที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามยุคสมัย แม้จะมีการห้ามไม่ให้ใช้คำใดคำหนึ่ง ก็จะมีคำแปลกใหม่กว่าเดิมออกมาอยู่ดี
Posted by : thiopental , Date : 2010-11-11 , Time : 19:39:48 , From IP : 118.174.63.199.static.totbb.net
|