ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

MQ คืออะไร


   MQ คืออะไร


เราทราบดีอยู่แล้วว่า IQ คือ Intelligence Quotient หรือระดับสติปัญญาด้านความรู้ความสามารถ ส่วน EQ หรือ Emotional Quotient คือ ระดับความฉลาดด้านอารมณ์ ซึ่งหมายถึงเรื่องบุคลิกภาพและการควบคุมตนเองเป็นส่วนใหญ่ สำหรับ MQ ที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นี้ ย่อมาจาก Moral Quotient หมายถึงระดับความคิดด้านศีลธรรมหรือระดับของศีลธรรมในใจคนนั่นเอง บางคนเข้าใจว่า EQ กับ MQ นั้นคือสิ่งเดียวกันแต่จิตแพทย์ จาก ม.ฮาร์วาด ท่านหนึ่ง คือ ดร.โรเบิร์ต โคลส์ ได้กล่าวถึง MQ ไว้ในหนังสือของเขา โดยแยกเอาระดับความคิดด้านศีลธรรมนี้ออกมาจาก EQ

IQ, EQ และ MQ สัมพันธ์กันอย่างไร


นักจิตวิทยาค้นพบว่าพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นความฉลาด อารมณ์ สังคม ศีลธรรม มิติสัมพันธ์ คณิตศาสตร์ ภาษา ดนตรี การเคลื่อนไหว ฯลฯ ต่างก็ค่อนข้างเป็นอิสระต่อกัน หมายความว่า เด็กอาจจะเก่งด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านแต่อาจจะไม่เก่งในด้านอื่นก็ได้ พัฒนาการในด้านต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีระดับเท่ากัน เช่น เด็กอาจจะเฉลียวฉลาด แต่พัฒนาการทางอารมณ์ต่ำและนิสัยไม่ดี หรือ ฉลาดอารมณ์ดี แต่ คุณธรรมต่ำก็ได้ หลายคนอาจจะประหลาดใจว่า อารมณ์ดี สังคมดี แต่คุณธรรมต่ำเป็นอย่างไร นิยามคำว่า คุณธรรมในที่นี้หมายถึง ระดับความเห็นแก่ตัว สรุป IQ EQ และ MQ มีเส้นทางการพัฒนาต่างกัน



ดร.โรเบิร์ต โคลส์ กล่าวต่อไปว่า MQ นั้นไม่สามารถฝึกฝนหรือขัดเกลาได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ขณะที่บุคคลเจริญเติบโตขึ้นมาแล้ว เหมือนดังคำโบราณของไทยที่ว่า "สันดอนนั้นขุดได้ แต่สันดานนั้นขุดไม่ได้"



การที่บุคคลคนหนึ่งจะมี MQ ระดับดี ต้องเริ่มปลูกฝังในวัยเด็กจึงจะได้ผล อาศัยปัจจัย ๓ อย่างด้วยกันคือ
๑. การสอนศีลธรรมโดยตรงให้กับเด็ก
๒. การถ่ายทอดทางศีลธรรมจากผู้ใหญ่ให้กับเด็ก
๓. ความรักและวินัย



สรุปว่า MQ เป็นเรื่องที่ต้องฝึกมาแต่เด็ก ถ้าได้รับการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมมาแต่ยังเป็นเด็ก บุคคลก็สามารถพัฒนาพื้นฐาน MQ ของตนขึ้นมาในระดับหนึ่ง (มากน้อยแล้วแต่การปลูกฝัง) และ MQ นี้ก็จะฝังลึกลงไปในจิตให้สำนึกของบุคคลผู้นั้น และจะรอเวลาที่ได้รับการกระตุ้นอีกครั้ง โดยการอบรมสั่งสอน การฟังธรรม และวิธีอื่น ๆ แต่ถ้าบุคคลไม่มี MQ อยู่ในจิตสำนึกดั้งเดิมแล้ว ไม่ว่าโตขึ้นจะได้รับการกระตุ้นอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้บุคคลผู้นั้นกลายเป็นคนดีขึ้นมาได้มากนัก



นี่คือเหตุผล ที่ว่าทำไมเราจึงมี ผู้ร่วมงาน เพื่อนร่วมรุ่นร่วมชั้นเดียวกัน ที่มีระดับคุณธรรม จริยธรรมไม่เท่ากัน ทั้ง ๆ ที่เรียนจบออกมาจากสถาบันเดียวกันแท้ ๆ


การจำแนกคนโดยพิจารณา IQ EQ และ MQ


ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของบุคคลประเภทต่าง ๆ ที่แบ่งตามระดับของลักษณะทั้ง 3 ด้าน คือ IQ/EQ/MQ ซึ่งจะแบ่งได้ 8 ประเภท ดังนี้
แบบที่ 1 IQ/EQ/MQ
สูง/สูง/สูง

ดีเลิศ ยกตัวอย่าง นายอานันท์ ปัญยารชุน


แบบที่ 2 IQ/EQ/MQ
สูง/สูง/ต่ำ


ฉลาดความรู้ดีแต่ขี้โกง ฉลาดแกมโกง อารมณ์ดี เก็บความรู้สึกเก่ง ไม่คำนึงถึงศีลธรรม เช่น ผู้ร้ายใส่สูท โจรการเมือง ปล้นชาติปล้นแผ่นดินแล้วยังยิ้มหน้าตาเฉย


แบบที่ 3 IQ/EQ/MQ
สูง/ต่ำ/สูง

มีความรู้ดี แต่อารมณ์อ่อนไหว ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ โกรธง่าย อ่อนไหว แต่เป็นคนซื่อตรงไม่คดโกง ไม่ทำร้ายใคร เข้าตำราปากร้าย ใจดี


แบบที่ 4 IQ/EQ/MQ
ต่ำ/สูง/สูง

ชาวบ้านทั่วไป ชาวชนบท มีความรู้น้อย แต่ก็สุขุม ควบคุมอารมณ์ได้ ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม


แบบที่ 5 IQ/EQ/MQ
ต่ำ/ต่ำ/สูง

เป็นคนมีความรู้น้อย ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ ขี้โมโห แต่ก็เป็นคนซื่อตรงไม่คดโกง ปากร้ายใจดี


แบบที่ 6 IQ/EQ/MQ
ต่ำ/สูง/ต่ำ

หายากหน่อยแต่ก็พอมี ยกตัวอย่างได้ยาก ลักษณะเป็นคนที่สติปัญญาค่อนข้างต่ำ เรียนไม่เก่ง คิดไม่ค่อยทันชาวบ้าน มีนิสัยเป็นคนใจเย็น แต่อาจจะทำอะไรโดยขาดเหตุผล และไม่ค่อยใช้ความคิดจึงทำผิดศีลธรรมได้ง่าย เช่น การลักเล็กขโมยน้อย หรืออาจจะเป็นคนปัญญาอ่อน ที่ทำอะไรผิดเพราะขาดความยั้งคิด


แบบที่ 7 IQ/EQ/MQ
สูง/ต่ำ/ต่ำ

มีความรู้ดี ฉลาด แต่ก็ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยได้ ทั้งยังไม่คำนึงถึงศีลธรรม เป็นตัวโกงในอุดมคติของลิเกไทย จอมวางแผน ชั่วร้าย


แบบที่ 8 IQ/EQ/MQ
ต่ำ/ต่ำ/ต่ำ

แบบนี้คงจะหายาก เพราะไม่มีส่วนดีเลย ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ การควบคุมอารมณ์ และ ระดับจริยธรรมในใจ อาจจะเป็นคนที่มีปัญหาทางจิตหรือเป็นโรคจิต



Posted by : MQ , Date : 2003-12-23 , Time : 10:45:31 , From IP : 172.29.2.158

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.068 seconds. <<<<<