ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

ย่ำ “น้ำขัง” เสี่ยงโรค! แนะใส่ใจดูแล “เท้า”




   ย่ำ “น้ำขัง” เสี่ยงโรค! แนะใส่ใจดูแล “เท้า”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 19 สิงหาคม 2553 07:46 น.




ช่วงฝนตกชุกแบบนี้ หลายที่หลายแห่งโดยเฉพาะใน กทม.ที่ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อชั่วนาตาปี ทำให้ภาพที่เห็นอยู่เป็นประจำ คือ น้ำฝนที่ตกลงมาขังอยู่ในหลุมจนกลายเป็นแอ่งขนาดย่อม ไม่นับช่วงที่ระบายน้ำไม่ทันจนน้ำสกปรกดำปี๋จากท่อระบายน้ำเอ่อขึ้นมาตรงพื้นผิวถนน ทำให้ผู้ใช้ถนนทั้งหลายจำต้องลุยน้ำ หรือย่ำไปบนน้ำขังเหล่านี้อยู่เป็นประจำ

บางคนอาจจะแค่ลุยผ่านๆ บนเส้นทางที่ไม่ได้ผ่านบ่อย แต่บางคนโชคร้ายเจอท่วมประจำบนเส้นทางที่ต้องใช้ไปโรงเรียนหรือไปทำงาน...นพ.จิโรจน์ สินธวานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ได้แสดงความเป็นห่วงในกรณีดังกล่าวและฝากข้อมูลดีๆ เพื่อสุขภาพของทุกคน ว่า ฝนตกแบบนี้การเลี่ยงที่จะลุยน้ำขังทำได้ยาก ทางที่ดีคือ การใส่ใจดูแลและทำความสะอาดเท้าหลังจากการลุยน้ำขัง

“การย่ำน้ำช่วงฝนตกแบ่งง่ายๆ เป็น 2 แบบ คือการลุยน้ำแบบน้ำไม่สกปรกมาก บางคนอาจจะไม่รู้สึกว่าอันตรายเพราะเห็นน้ำใสๆ แต่ที่ควรจะต้องตระหนักยังมีปัญหาเรื่องความชื้นที่ทำให้เท้าเปื่อยได้ การย่ำน้ำแฉะจนทำให้เท้าชุ่มนานๆ จะทำให้ผิวอ่อนๆ ที่เท้าอย่างบริเวณง่ามเท้าฉีก เปื่อย ยุ่ย และเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้"

นพ.จิโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่า แม้น้ำจะไม่สกปรก ก็ใช่ว่าจะปลอดเชื้อ เพราะยังมีเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ที่รอโจมตีผิวหนังที่ขาดและเปื่อยยุ่ย เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผิวหนังอ่อนแอและขาดความสามารถในการป้องกันเชื้อโรค ซึ่งเมื่อเชื้อราเข้าไปจะทำให้เกิดอาการคัน ผิวหนังลอก หรือเป็นกลาก แต่หากเป็นแบคทีเรียจะให้เป็นตุ่มหนองได้ หรืออาจจะลุกลามเป็น “ไฟลามทุ่ง” ติดเชื้อลามในชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้ต่อมน้ำเหลือง “ลูกหนู” อักเสบและบวมได้

ส่วนการย่ำน้ำที่สกปรกมากๆ ซึ่งพบบ่อยในกรุงเทพฯ ที่มักจะมีน้ำขังนานๆ มีเศษขยะ สารเคมี ความสกปรกทั้งหลายละลายปนน้ำแล้วขังอยู่ในแอ่ง รวมถึงน้ำในท่อระบายน้ำที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคนับไม่ถ้วนที่เอ่อขึ้นมาบนถนน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังรายนี้ กล่าวว่า น้ำชนิดนี้่ค่อนข้างมีอันตรายที่ตาเปล่ามองไม่เห็น เพราะไม่จำเป็นต้องมีแผล แต่ไวรัส เชื้อโรค และพยาธิบางชนิด สามารถไชผ่านผิวหนังได้เลยโดยไม่ต้องอาศัยรอยแผลใดๆ บนผิวหนัง

“นอกจากนี้ ยังมีโรคฉี่หนู ที่เป็นแล้วถึงขึ้นเสียชีวิต ทั้งยังมีสารพิษ สารเคมี อาจจะรวมถึงเศษแก้ว หรือเศษโลหะที่อยู่ในแอ่งน้ำ ดังนั้น ประชาชนควรระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ป่วยเส้นเลือดตีบและเบาหวาน หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการเดินผ่านน้ำขังพวกนี้ เพราะเป็นแผลง่ายและหายยาก โอกาสติดเชื้อมีสูง อาจจะรุนแรงถึงขั้นต้องตัดเท้า ส่วนประชาชนทั่วไปหากจำเป็นต้องเดินผ่านประจำควรมีบูธยางสลับเปลี่ยนเมื่อต้องลุยน้ำ หากหาไม่ได้อย่างน้อยใช้ถุงพลาสติกสวมเท้าก็พอกันได้ แต่พอผ่านมาได้แล้วต้องรีบล้างเท้า ถ้าเป็นน้ำไม่สกปรกนัก ล้างให้สะอาด ฟอกสบู่ก็พอ แต่ถ้าน้ำสกปรกมากควรจะฟอกสบู่สัก 2 ครั้ง หรือไม่ก็ใช้สบู่ฆ่าเชื้อ หรือเช็ดซ้ำด้วยแอลกอฮอล์”

ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง บอกอีกด้วยว่า การล้างควรเน้นพื้นที่ซอกนิ้ว ร่องนิ้ว และ ง่ามนิ้ว ซึ่งเป็นจุดอับที่มักจะล้างไม่ทั่วถึง และเมื่อล้างเสร็จต้องเช็ดให้แห้ง โดยใส่ใจจุดอับช่วงง่ามนิ้วเป็นพิเศษ

“หน้าฝนแบบนี้ถ้าทำได้ ใส่รองเท้าแตะหรือรองเท้าพลาสติก เลี่ยงรองเท้าผ้าใบหรือหนัง เพราะแห้งยาก ทำความสะอาดยาก และควรมีรองเท้า-ถุงเท้าสำรองติดรถ ติดออฟฟิศ หรือถ้าติดกระเป๋าไว้บ้างก็ดีครับ เพราะล้างเท้าเช็ดเท้าแล้ว ก็ไม่ควรจะไปใส่รองเท้าหรือถุงเท้าชื้นๆ และสกปรกอีก” นพ.จิโรจน์ ทิ้งท้าย





Posted by : thiopental , Date : 2010-08-19 , Time : 09:49:55 , From IP : 119.42.119.169

ความคิดเห็นที่ : 1




   ...........

Posted by : thiopental , Date : 2010-08-19 , Time : 09:51:20 , From IP : 119.42.119.169

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<