ความคิดเห็นทั้งหมด : 5

DEBATE XCVIII: เมื่อมีข้อขัดแย้ง ควรหาทางต่อไปอย่างไร?


   ในยุค IT รุ่งเรือง คนอยู่กันใกล้ชิดมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เดิมเราแวดล้อม (โดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง)โดยคนที่คิดเหมือน คิดคล้ายกัน แต่ตอนนี้เราจะเข้าใกล้ เข้าหา คนที่คิดไม่เหมือน คิดต่างมากขึ้นเป็นทวีคูณ ทักษะการสื่อสารและการอยู่ได้ในปัจจุบันส่วนหนึ่งจะมาจากการที่เราสามารถจัดการปััญหาเหล่านี้ได้ดีเพียงไร

เขาว่าเรียนอะไรให้เรียนกับบริบทจริง ใกล้ตัวจริงๆ จึงจะทำได้และมีผลต่อพฤติกรรม ไหนๆก็ไหนๆไม่ทราบว่าบอร์ดนี้มีนักศึกษาแพทย์อ่านเยอะไหม ผมอยากจะเชิญทั้ง นศพ.และบุคลากรที่สนใจ ลองสนทนา debate ว่า conflict หรือความขัดแย้งต่างๆในสังคมปัจจุบัน ควรจะหา "ทางลง" อย่างไร สังคมจึงจะก้าวไปข้างหน้า บอบช้ำน้อยที่สุด และเกิดประโยชน์ในระยะยาว

เชิญอภิปรายถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงในสังคมตอนนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวน ใช้ mob ใช้สื่อ ใช้ FB HI5 tweeter etc ว่าดี/ไม่ดีอย่างไร

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าในยุคที่ลงความเห็นโดยลงทะเบียน จะเหลือคนอยากแสดงความเห็นสักเท่าไหร่ แต่ก็..นะ ลองดู



Posted by : phoenix , Date : 2010-08-09 , Time : 16:49:00 , From IP : 172.29.9.78

ความคิดเห็นที่ : 1


   เมื่อหมอทุกข์ จะเยียวยาอย่างไร?

ผมเคยพูดทีเล่นทีจริงกับน้องๆนักเรียนแพทย์ว่าพวกเราเป็นผู้เชี่ยวชาญ เรื่องความทุกข์ เพราะไปซักประวัติ (ผมชอบคำ "สัมภาษณ์" มากกว่า เพราะคำว่า "ซัก" มันเกิดความรู้สึกเหมือนไป "ซักฟอก" ยังไงไม่รู้) ไปตรวจร่างกาย ก็เพื่อวินิจฉัยหาสมุหฐานว่าเป็นโรคอะไร ปวดจากอะไร เจ็บจากอะไร ผลกระทบต่อกาย ต่อใจ ต่อสังคม ต่อจิตวิญญาณมีอะไรบ้าง ฉะนั้นสักพักเดียวที่เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนไข้ เราก็จะเกิดมีข้อมูลมากมายว่าคนที่นั่งข้างหน้าเราตอนนี้ทุกข์ยังไงอยู่ เราเคยให้น้องรายงานคนไข้ใน (คนไข้ที่นอน รพ.) น้องๆก็จะเริ่มว่า "เอ่อ... case ไส้เลื่อนกำลังไปเข้าห้องน้ำค่ะ ส่วน case ถุงน้ำดีอักเสบตอนนี้ดีขึ้นแล้ว case ก้อนที่ต่อมธัยรอยด์กำลังรอผ่าตัด จะทำอาทิตย์หน้าค่ะ ... ฯลฯ" คือมองไปไม่เห็นมนุษย์ แต่มีอวัยวะต่างๆล่องลอยไปมาเต็มหอผู้ป่วยไปหมด

ด้วยความคุ้นชินที่จะต้องหาทาง "วินิจฉัยโรค" นี้เอง ที่ทำให้หมอๆบางทีก็มองคนเป็น sick bag (ถุงโรค) ไปโดยไม่รู้ตัว แหมแต่หมอด้วยกันเองก็เถอะ พออีกคนแนะนำตัวว่าเป็นจิตแพทย์ เพื่อนที่คุยด้วยกันเริ่มตะขิดตะขวง หวาดระแวงว่า เอ... ตูพูดออกไปจะโดนวิเคราะห์อะไรจากเจ้านี่ไหมเนี่ย?... ตอนเรียนแพทย์อยู่ ยังเป็นแค่นักเรียนอยู่เลย พอกลับบ้านไปก็จะเจอญาติๆมาปรึกษาสุขภาพทันที หรืออาจจะเป็นเพราะเขาคิดว่าหัวข้อสนทนาที่หมอชอบคุย น่าจะเป็นเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยกระมัง บางทีเราก็เลยเป็นจุดดึงดูดประเด็นทุกข์ของคนในทุกๆที่
"เราไม่สามารถจะให้อะไร ในส่ิงที่เราไม่มี"

ผมมักจะบอกน้องๆนักเรียนแพทย์เสมอว่า การดูแลตัวเองให้ดีเป็นต้นทุนที่สำคัญมากในการเป็นแพทย์ (หรือในการจะทำหน้าที่ดูแลคนอื่น) เพราะการ empathy หรือเข้าอกเข้าใจในสิ่งที่เราทำเป็นต้นทุนที่จะเกิด "ฉันทาคติ" อันเป็นจุดเริ่มต้นของอิทธิบาท4 แต่ถามๆไปเถอะว่าพวกหมอๆนี่แหละ ออกกำลังกายบ้างไหม ตรวจสุขภาพบ้างไหม ตัวเลขที่ออกมาอาจจะน่าตกใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เรากำลังพยายามจะได้การแพทย์ที่ใช้หัวใจแห่ง ความเป็นมนุษย์แล้วล่ะก็ การดูแลหัวใจ ดูแลความรู้สึก ดูแลต้นทุนสุขภาวะของตนเองในหมอทุกๆคนยิ่งจำเป็นมากขึ้น

มิฉะนั้น ถ้าหมอ "จิตตก" แทนที่เราจะไปดูแลคนอื่น เราอาจจะต้องหมกมุ่นมาดูแลตัวเองเป็นหลัก หรือไปปรากฏตัวที่เตียงคนไข้นั้น แทนที่จะเชียร์คนอื่นให้เกิดสุข ไปๆมาๆคนไข้ต้องเป็นคนเชียร์หมอแทน เพราะสีหน้าแววตาท่าทางมันดูหมองเศร้า อมทุกข์เสียนี่กระไร

ผมอยากจะขอ "แตะๆ" ในประเด็นที่เป็น hot issue ที่วงการแพทย์ (ส่วนหนึ่ง) กำลังหมกมุ่นอยู่สักนิด พอเป็นตัวอย่าง นั่นคือเรื่อง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ในขณะนี้ เป็นตัวอย่างของ "หมอทุกข์"

Disclaimer: ผมไม่ได้กำลังพูดถึง "เนื้อหา" ของ พรบ.นี้่แต่อย่างใด บทความนี้จะเกี่ยวกับความรู้สึก ความคิด และวิธีการแสดงออกในรูปแบบต่างและผลที่ "อาจ" จะเกิดตามหลังกระบวนการกระทำนั้นๆเท่านั้น

เวลามีความขัดแย้ง สิ่งแรกๆที่เราพึงกระทำคือการ "ห้อยแขวนการด่วนตัดสิน" เอาไว้ก่อน ทุกฝ่ายเชื่อว่าตนเองถูก ไม่มีฝ่ายไหนที่ทำอะไรลงไปแล้วบอกตัวเองว่า "แหม.. เรานี้เลวได้ใจดีเหลือเกิน เดี๋ยวเราจะเลวให้ได้มากลงไปอีกดีกว่า..." ในหนังสือหลายๆเล่มที่เขียนเกี่ยวกับบุคคลที่คนส่วนใหญ่ของโลกตีตรา อาทิ ฮิตเลอร์ หรือ ผู้นำเผด็จการท่านอื่นๆ เราอาจจะแปลกใจเมื่ออ่านอัตถชีวประวัติแล้วพบว่า คนรอบๆข้างของท่านเหล่านี้ จะพบว่าเป็นคนอัธยาศัยใจคอดี เป็นคุณลุงใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ นั่นเป็นเพราะ "การอธิบาย" เรื่องราวที่แต่ละคนทำอยู่นั้น มันสามารถมีมุมอธิบายได้หลายมุม แต่มนุษย์เชี่ยวชาญในการเกาะติดมุมใดมุมหนึ่ง และสามารถมี "การเลือก" ที่จะเห็น รับรู้ เฉพาะมุมนั้นๆแหละ เกิดความรุ้สึกอีกต่างหากว่า "ไม่มีมุมอื่นๆอีกแล้ว"

จาก หนังสือเรื่อง "เลขาฮิตเลอร์" พูดถึงรถไฟของฮิตเลอร์ที่เดินทางในยุโรป จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แทบจะเป็น Spa เคลื่อนที่ แต่หน้าต่างจะปิดหมด ฮิตเลอร์จะไม่เห็นทรากปรักหักพังของเมืองที่ถูกสงครามกัดกินด้วยตาตนเองเลย จะเห็นก็รายงานในกระดาษ การเสียชีวิตเป็นสถิติสงครามใน report ไม่มี graphic ไม่มีเรื่องราวต่างๆประกอบ

จาก selective perception การรับรู้เรื่องราวแบบคัดกรองนี้เอง ทำให้แต่ละฝ่ายเกิดความเชื่อได้อย่างยิ่งว่า "ตนเองถูก 100%" ในภาษาที่เราเคยพูดกัน นี่เป็นอาการวิกฤติเริ่มต้นของ I in Me คือการใช้คำอธิบายของเราเท่านั้น เป็นสิ่งกำหนดความถูกผิด

เรียกว่า "ชิง moral highground" ชิงพื้นที่คุณธรรมที่เหนือกว่าอีกฝ่าย เกิด One fact / One view คือ สิ่งที่เราเชื่อเท่านั้นเป็นสิ่งที่ถูก

ในการถกเถียงกันของหมอสองฝ่าย ทั้งสองฝ่ายมี "ความทุกข์" ที่จริงทั้งคู่ และเป็นความทุกข์ที่มี moral ground คือพื้นฐานทางคุณธรรมสนับสนุนกันทั้งคู่ด้วย ทำให้มี "แรงผลัก" มากมายพอๆกัน มี conviction พื้นฐานความเชื่ออันหนักแน่น ฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่ากำลังทำเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย อีกฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่ากำลังทำเพื่อวงการวิชาชีพทั้งหมดของหมอ

แต่การอธิบายต้นทุนของทั้งสองฝ่ายจะไม่ไปถึงไหน หรือไม่ cross over ไม่มาแตะกัน ไม่มาชนกันสักที เพราะพูดกันคนละ targets คนละเป้าหมาย พื้นที่ตรงกลางที่เป็นพื้นที่แห่ง FEAR นั้น ยังเป็น taboo หรืออะไรที่ยังไม่ชัดเขนแจ่มแจ้งต่อทั้งสองฝ่าย (คืออาจจะแจ่มแจ้งต่อฝ่ายเดียว อีกฝ่ายเนื่องจาก focus ที่ fear ของตน ก็เลยไม่เห็น fear ของอีกฝ่าย)

ไม่เกิด Our fact and Your fact และไม่เกิด Our view and Your view

การตะเบ็งเสียง one fact / one view จากทั้งสองฝ่าย รังแต่จะทำให้เกิดเสียงแหบเสียงแห้งกันทั้งคู่ และยิ่งเมื่อหันมาใช้วิธีการสนทนาแบบที่เคยถนัด นั่นคือ Debating ที่จะทำให้เกิด win/loss การหักล้างกันด้วยเหตุผล (I in It) methodology ในการ discredit หรือหักล้างเหตุผลของอีกฝ่ายคือการ "ลดทอนความน่าเชื่อถือ" ในวงการการศึกษาจะถือว่าระเบียบวิธีงานวิจัยหรือวิธีคิดนี่แหละ เป็น holy grail เป็นสิ่งสูงสุดที่จะกำหนดความ​ "ถูกผิด"

ที่จริงยังมีทางเลือกอีกวิธี แทนที่จะ Debating เรายังสามารถทำ Dialogue แทน คือใช้ I in You แทนที่จะ I in It ลองหยุด campaign มุมมองของเรา และเอา "ความกลัว ความคลางแคลงใจ" ของทั้งสองฝ่ายมาวางแผ่บนโต๊ะ เพื่อให้เกิดความเข้าอกเข้าใจในมุมมองความคิดของอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เกิด empathy ก่อน

เพราะในความ "ร้อน" ด้วยวิธี debating นั้น หากเราเลี้ยวผิดทาง ไปขยาย One fact / One view หันไปใช้ One us / One them ไม่ใช่พวกเรา ก็เป็นศัตรูของเรา มันจะหมิ่นเหม่อย่างมากที่เราไม่เพียงจะหยุดใช้เหตุผล หยุดฟัง แต่เราจะเริ่ม label ตีตราฝ่ายตรงกันข้าม แทนที่จะพูดถึงที่มาของความคิด ความรู้สึก เราจะไปใช้พลังงานส่วนใหญ่ในการ "เตะตัดขา" ฝ่ายตรงกันข้าม และ "สร้างกองกำลัง" ของฝ่ายเราให้มากขึ้น ไปๆมาๆอีกฝ่ายก็อาจจะหันมาใช้วิธีเดียวกัน คนกลางคือประชาชน (และพวกเราเองอีกจำนวนมากที่ยืนดูอยู่) ก็จะพลอยได้เห็นทั้งสองฝ่ายถูกเตะตัดขากันไปกันมา และที่เราสูญเสียอาจจะเป็น integrity หรือ ความน่าเชื่อถือ ของทั้งวงการเลยก็ยังได้
ใช้ Mass (กำลัง) แทน Wisdom (ปัญญา)

อาการเริ่มต้นจะเป็นอาการของการไม่สามารถเปิดหัวใจ (Open Heart) นั่นคือเกิดเสียงแห่งความคลางแคลงใจ (voice of cynicism) ในการที่จะ "ไม่เชื่อ ไม่ฟัง" อีกฝ่าย เราจะต้องทาสี ตีตรา อีกฝ่ายให้น่าเกลียด ชั่วร้าย น่ากลัว ถ้าไม่มีหลักฐานก็สร้างขึ้นมาเอง หรือพูดขึ้นมาลอยๆให้สงสัย กลายเป็นอีกฝ่ายต้องพิสูจน์ว่าไม่ใช่ แทนที่คนกล่าวหาจะต้องพิสูจน์ว่าทำไมถึงว่าใช่ เหมือนที่สตีเฟน ฮอคิง (ผู้คิดเรื่อง big bang theory) เคยตั้งข้อสังเกตว่าแม้แต่ในวงการ academic เวลาโต้เถียงกันในเรื่องทฤษฎีใหม่ๆอะไร แทนที่จะใช้ข้อมูล เหตุผล คนดันไปเพ่งเล็งที่ "ใคร" เป็นคนพูดแทน คือใช้ personal attack แทน เป็นการเมืองแบบโบราณ (แต่ได้ผล)
Note: สังคมไทยกำลังทุกข์ใน methodology นี้ึค่อนข้างมากเหมือนกัน สงสัยจะเป็นเพราะเป็นยุคแห่งการสาดโคลนชนิดไม่ต้องมีหลักฐาน ที่เห็นกัน ทำกัน ย้ำกัน มาหลายปีๆหลังมานี่ การ "ตั้งสมมติฐาน" ว่าอีกฝ่ายไม่น่าเชื่อถือ ไม่เพียงแต่ทำกันแบบโกหกหน้าด้านๆ ยังสามารถจะเล่นได้ทุกมิติ เรื่องส่วนตัว เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่กำลังสนทนา ฯลฯ everything can be used ในเกมนี้

ที่จริงพวกเรา (หมอๆทั้งหลาย) เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องความทุกข์อยู่แล้ว ในตอนนี้ เราควรจะใช้่ทักษะดังกล่าวมาจัดการความทุกข์ของเราเองให้ไม่เสียทีที่เราได้ ทำมากับคนอื่นมาตั้งนาน และพยายามหลีกเลี่ยงวิธีที่จะพาเรา สังคม ประเทศ เลี้ยวลงมายามิจฉาคติไปมากกว่าที่เป็นอยู่

เราพึงหลีกเลี่ยงการรณรงค์ด้วย "อารมณ์" ให้เหนือการใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ในขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายต้องตระหนักว่าแรงผลักดันของแต่ละฝ่ายนั้น มันมีเรื่องของอารมณ์อยู่เยอะ มีทั้งด้านการสูญเสีย มีทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัย ถ้าเราไม่เห็นหรือรับทราบว่าทั้งสองฝ่ายกำลังถูกผลักลงไปอยู่ mode เพื่อ "การอยู่รอด" เราก็จะ under-estimate ไป คิดว่าเรื่องนี้แค่คุยๆกันในระดับ "คิด"​ ก็เพียงพอ

ในขณะนี้ทั้งสองฝ่ายกำลังจะ "เฉียดๆ" ที่สร้างบรรยากาศอารมณ์ที่คุกรุ่น บรรยากาศ อารมณ์จะใช้ "สัญญลักษณ์" เป็นเครื่องมือค่อนข้างเยอะ แทนที่จะใช้เนื้อหา ข้อมูล ข้อเท็จจริง และใช้การโจมตี "บุคคล" มากกว่าการพูดถึงที่หลักการ ความคิดที่แตกต่าง

การใช้สัญญลักษณ์ หรืออารมณ์ เป็นดาบสองคม เมื่อไรก็ตามที่หลุดไปในที่ที่ควบคุมไม่ได้ อาจจะเกิด consequences ที่หนักหนาสาหัสขึ้นมาได้ การโจมตีบุคคล เป็นการยั่วยุด้านอารมณ์ให้มากยิ่งขึ้น เพราะพอผลักเป็น One of them ได้แล้ว ไม่ว่า "มัน" จะพูดอะไร จะคิดอะไร จะมีเหตุผลอะไร มันก็จะ "เลวไปหมด" วิธีนี้ทำให้ทหารอารยันของฮิตเลอร์สามารถฆ่าคนยิวได้อย่างปราศจากความสำนึก ผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะคนยิวในสายตาของทหารเหล่านี้ไม่ได้มีสถานะของมนุษย์อย่างพวกเขาเลย เป็นแค่ One of them ที่ควรจะถูกทำลายล้างให้มากที่สุด แต่ในความเป็นจริง แม้ในคนๆเดียวกันก็สามารถมีความคิดที่ทั้งดี และไม่ดีได้ หากเราคิดไปเอง สรุปไปเองว่าคนๆนี้ไม่ดีอย่าง 100% เราก็จะไม่สามารถแม้กระทั่งนั่งในที่ประชุมเดียวกัน ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการรอมชอมประนีประนอม แต่นั่นเป็น judgmental attitude ที่เราด่วนตัดสินมนุษย์ไปอย่างฉาบฉวย แถมยังไม่ได้อิง "ข้อเท็จจริง" จากทุกด้าน ใช้แต่ของเราเท่านั้น

อีกหน่อย เรื่องการถูกผิด ก็จะหันไปใช้ mass effect หรือ "พวกมาก" ย้อนยุคไปสู่ก่อนกาลิเลโอ ก่อนโคลัมบัส และปัจเจกบุคคลก็จะไม่สามารถจะคิด จะรู้สึก จะทำอะไร ที่ mass ไม่ยอมรับ จะเป็นการลดศักยภาพที่แท้ของมนุษย์ลงในระยะยาว



Posted by : phoenix , Date : 2010-08-10 , Time : 10:29:17 , From IP : 172.29.17.115

ความคิดเห็นที่ : 2


   รู้สึกว่า ยังไม่ได้คำตอบที่กระจ่างครับว่า ตกลงแล้ว เมื่อมีความขัดแย้งเราจะหาทางต่อไปยังไง

ถ้าส่วนใหญ่เข้าใจในความต่าง หรือ การรับรู้แบบที่อาจารย์ยกตัวอย่างมาก็พอจะคุยกันได้ แต่ในสังคมปัจจุบัน คนที่ต่างจากเขาจะกลายเป็นฝั่งตรงข้ามไปทันที

ถ้าจะพูดกว้าง ๆ ว่าความขัดแย้ง ทางออกอาจจะยาก
แต่ถ้า ลองจำเพาะลงไป เช่น

- พรบ. คุ้มครองผู้บริโภค อาจารย์ คิดว่าจะหาทางออกของทั้งสองฝ่ายยังไง?
- การเมือง ที่กำลังแบ่งสี แบ่งฟาก
- ในวงการแพทย์เอง ก็มีความขัดแย้ง หมอชนบท (ซึ่งจริง ๆ ก็ยังงง ๆ ว่าเขาคือใคร สามารถเป็นตัวแทนของแพทย์ชนบทได้จริงๆ หรือไม่) หมอรพ.ศูนย์ หรือระหว่าง สาขาเฉพาะต่าง ๆ

ect.
อาจารย์ มีคำแนะนำยังไง



Posted by : Dhan , Date : 2010-08-12 , Time : 00:33:17 , From IP : 172.29.5.112

ความคิดเห็นที่ : 3


   ลองไป search คำว่า debate ดู ปรากฎว่า เท่าที่มีอยู่ มันเริ่มตั้งแต่ยุค 2003 อาจมีก่อนหน้า แต่เท่าที่เหลือ มีเท่านี้

น่าสนใจว่า เวลาผ่าน หลายๆ ตัวละครในวันนั้น วันนี้ไม่ได้แวะเวียนมาแถวนี้ อาจมีหลายเหตุผล
-ที่เห็นชัดที่สุดคงเป็นเรื่อง identity ที่การแสดงความเห็นในปัจจุบัน ไม่สามารถมาจาก anonymous
-อีกอันคือ ยุคสมัยที่วัฒณธรรมกระดานข่าวรุ่งเรืองได้ผ่านไปแล้ว บางครั้งเวลาที่ผมเห็น กระดานข่าวมีการพูดคุยกัน ยังนึกสงสัยว่า โห นี่ยังมีคนใช้กระดานข่าวอย่างนี้กันอยู่อีกหรือ?
-หลายคนที่เคยเลือดร้อนสมัยก่อน ปัจจุบันอาจเย็นลง หลายคนไม่ได้แวะเวียนมาอีก หลายคน คงถอดใจกับการพยายามแสดงความเห็นเชิงสร้างสรรค์เพื่อหวังจะให้สังคมดีขึ้น เพราะลองย้อนไปดูกระทู้เก่า ๆ จะเห็นว่าความเห็นที่ดูจะพยายามจรรโลงสังคมกลับถูก attack อย่างดุดัน ยกตัวอย่างคุณพี่ว่าว หรือคุณ Shonikeka แทบไม่เห็นปรากฎตัวในนี้อีกเลย ไม่เพียงในกระดานข่าว ในชีวิตจริง ผมสงสัยว่าคนเหล่านี้ อาจ ถอดใจในการพยายามสร้างสังคมที่น่าอยู่ไปแล้วก็ได้

ถ้าลองย้อนกลับไปดูในวันเก่า ๆ เหล่านั้น หลาย debate มีความขัดแย้ง ที่ท้ายที่สุดก็ทิ้งค้างคาไว้ ไม่สามารถหาทางออกที่เป็นรูปธรรมได้ ได้แต่ ทน ๆ กันไป จนเวลาพาหลายตัวละครผ่านภาวะนั้นไปเอง

คุณ Phoenix ในวันนี้ ถ้าย้อนไปได้ในวันนั้น จะหาทางออก หรือ ทางลง อื่น หรือไม่? อย่างไร? แค่สงสัยครับ


Posted by : Dhan , Date : 2010-08-12 , Time : 01:06:00 , From IP : 172.29.5.112

ความคิดเห็นที่ : 4


   สวัสดีครับ คุณ Dhan

ขอบคุณครับที่เข้ามาสนทนา

จะขอสะท้อนความเห็นที่ 3 ก่อนนะครับ เพราะสั้นกว่าและง่ายกว่า ความเห็นที่ 2 จะสะท้อนเมื่อคำถามตกตะกอน (ในสมองผม) อีกนิดนึง

เราผ่านช่วงเวลาดังกล่าวมานานพอสมควร (นานกว่าที่คิด) ยิ่งเมื่อลองนำมาอ่านดู บางครั้งบางคราวยังรู้สึกได้ถึง heat ถึงความคับข้องใจ อึดอัดใจ ลำบากใจ ความโกรธ ความน้อยใจ อาจจะมีความเกลียดบ้างเล็กๆน้อยๆ แต่ทั้งหมดก็อยู่ในกมลสันดานของมนุษย์ธรรมดาๆทุกท่าน

เห็นด้วยครับว่าอะไรหลายๆอย่างได้เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความเห็นของผมคือ "สภาวะภายใน" ของแต่ละคนที่เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ อาจจะมากกว่าสภาวะภายนอกเสียอีก ทฤษฎีความเชื่อในเรื่องการสื่อสารที่แตกต่างกันตอนนั้น มีหลายประการที่ถูกพิสูจน์ว่าจริงไม่จริงขนาดไหนด้วยประสบการณ์จริงๆที่บ้านเมืองเราได้เจอะเจอกัน และผมก็เชื่อว่าต่างคน ต่างก็เรียนรู้ในประเด็นที่แตกต่างกันออกไป ไม่เหมือนกัน เพราะมนุษย์มีความสามารถในการ selective perception และ selective expression มาแต่ไหนแต่ไร

ในตอนนี้หลายๆท่านตอนนั้น ในตอนนี้ก็ได้เลือกชีวิตหรือการดำเนินชีวิตของตนเอง เพราะดีกว่าบ้าง เพราะง่ายกว่าบ้าง เพราะได้เรียนรู้เพ่ิมขึ้นบ้าง เพราะคุ้นชิน เพราะไม่อยากเปลี่ยน เพราะกลัวที่จะเปลี่ยน เพราะไม่เคยคิดจะเปลี่ยน ฯลฯ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ปกติอีกเช่นกัน

เราย้อนอดีตไม่ได้ และมันจะเป็น "สมมติ" มากเกินไป และอาจจะไม่เพ่ิมอะไรขึ้นมา ดังนั้นจึงวิสาสะแก้เป็นถ้า "ตอนนี้" เกิดอะไรขึ้นมาอีกคล้ายๆเก่า ผมคิดว่าเราน่าจะลองทำอะไรหรือลองไม่ทำอะไรแทน

ลองทำ

ตอนนี้ถ้าจะทำ คงจะเป็น "ลองฟังมากขึ้น" กว่าเดิม หลายๆๆเท่า และเสนอให้ "ทุกฝ่าย" ลองฟังมากกว่าเดิมในดีกรีเท่าๆกัน

การ debate เป็นการสนทนาในระดับ level 2 คือ I in It (ขออภัยสำหรับ technical term ช่วยอ่านคำขยายความใน link นี้) และเชื่อว่าในหลายวาระโอกาส ที่หล่นกลับไปเป็น I in Me ทั้งสองประการอาจจะทำให้เราเสนอข้อมูล เสนอความคิด และความรู้สึก แต่ไม่เปิดโอกาสให้ "สร้างความสัมพันธ์" หรือมีแต่โอกาสที่จะสลาย ทำลาย ความสัมพันธ์ คล้ายๆกับการสนทนาในบ้านเมืองเราที่ผ่านมา

หลังจาก ลองฟัง ก็จะเสนอให้ทุกฝ่ายลอง มองในมุมของฝ่ายตรงกันข้าม ว่าทำไมเขาถึงคิด รู้สึก พูด ทำ อย่างที่เขาได้ทำ เพราะถ้าเราไม่ลองไปยืนในมุมของเขา ยืนแต่ในมุมของเรา โอกาสที่จะเห็นเรื่องเดียวกันให้เป็นเรื่องเดียวกันคงจะยาก เราก็จะมีแต่ไม่เข้าใจวิธีคิดของเขา ยิ่งอาจจะโกรธ จะเกลียด และเผลอแสดงตนด้านมืดของเราเองออกมามากกว่าที่เราเคยตั้งใจ และเกิด sequelae ได้ระยะยาวนานกว่าที่เราเคยคิด

อยากฟัง version คุณ Dhan ในตอนนี้บ้างอ่ะ



Posted by : phoenix , Date : 2010-08-12 , Time : 16:13:44 , From IP : 172.29.9.78

ความคิดเห็นที่ : 5


   ยังไม่มีความเห็นอะไรเลยค่ะ ได้แต่ย้อนกลับไปอ่าน debate ก่อนนี้แล้วก็หัวเราะอยู่คนเดียวกับอดีตอันรุ่งเรืองของกระดานข่าว นึกอยากกลับมาอีกครั้งก็ได้log in ในฐานะคนนอกไปเสียแล้ว

ตั้งใจมา สวัสดี. ค่ะ


Posted by : Lucifer , Date : 2010-08-14 , Time : 00:30:00 , From IP : 1.46.183.157

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.009 seconds. <<<<<