ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

ตามคาด! ถกตั้งคกก.สมานฉันท์ฯ ไม่ลงล็อค เสนอคุยกันเองก่อน - เอ็นจีโอขู่ใครจ้องล้มพ.ร.บ.คุ้มครองฯ เจอดีแน่




   ตามคาด! ถกตั้งคกก.สมานฉันท์ฯ ไม่ลงล็อค เสนอคุยกันเองก่อน - เอ็นจีโอขู่ใครจ้องล้มพ.ร.บ.คุ้มครองฯ เจอดีแน่

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 สิงหาคม 2553 15:33 น.

อีกยาว! "หมอไพจิตร์" เผยประชุมหาคณะกรรมการเสริมสร้างสมานฉันท์ฯ ยังไม่ลงตัว หลังเครือข่ายผู้ให้บริการฯ ขอเพิ่มสัดส่วนกรรมการ ปรับรูปแบบการประชุม ขณะที่สมาพันธ์แพทย์ฯ ร่อนหนังสือกลางที่ประชุมฯ เสนอให้แต่ละฝ่ายถกกันเอง ก่อนคุยร่วมทุกฝ่าย ด้านภาคประชาชน รุกจัดทำเอกสาร 20 ข้อดี พ.ร.บ.คุ้มครองฯ แจกแพทย์-ประชาชน ขู่ใครจ้องล้มพ.ร.บ.พร้อมขัดขวางเต็มที่ ย้ำ เชื่อใจ นายกฯ - รมว.สธ. -ปลัด สธ. หนุนให้เกิดกฎหมายได้โดยไร้ความขัดแย้ง


ภายหลังจากที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สธ. ให้ดำเนินการประชุมร่วมระหว่างเครือข่ายผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กับเครือข่ายผู้รับบริการสาธารณสุข ถึงประเด็นในการจัดตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุขอีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาในสัดส่วนของคณะกรรมการฯ ที่มีแพทย์บางกลุ่มไม่เห็นด้วย และเสนอให้มีการปรับสัดส่วนเพิ่มเติม เพื่อหาทางออกร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... นั้น

ล่าสุดในช่วงสายวันนี้( 7 ส.ค.) นพ.ไพจิตร์ ได้จัดประชุมในประเด็นดังกล่าว และให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า การประชุมในวันนี้ถือเป็นการหารือร่วมกันครั้งที่ 2 เพื่อหาคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข หลังจากได้หารือกันในวันแรก(2 ส.ค.) ที่ผ่านมา เนื่องจากเครือข่ายผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเห็นควรให้มีการเพิ่มสัดส่วนของคณะกรรมการเพิ่มเติม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขยายวงของคณะกรรมการฯ เพื่อความสบายใจตามที่สมาพันธ์แพทย์ฯ ได้เสนอมา อย่างไรก็ตามการหารือในวันนี้เป็นการหารือใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.สถานการณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ในปัจจุบันมุ่งเน้นให้เกิดความสุขทั้งแพทย์และผู้ป่วย โดย สธ.จะทำหน้าที่อำนวยการในการจัดประชุม 2.ประเด็นเรื่องขององค์ประกอบขณะกรรมการฯ ที่ต้องมีความครอบคลุมมากขึ้น หรือขยายวงเพิ่ม 3 ในการประชุมจะต้องไม่ใช้วิธีการโหวตเสียงส่วนใหญ่ แต่จะดูที่ข้อเสนอเป็นหลัก 4.เห็นควรให้แต่ละฝ่ายสามารถแยกกันเพื่อประชุมหารือก่อนเจรจาร่วมในทุกฝ่ายได้ และ 5 .ที่ประชุมเห็นชอบกับข้อเสนอของเครือข่ายผู้ป่วย ที่ระบุว่า ทุกฝ่ายจะไม่กล่าวให้ร้ายซึ่งกันและกัน แต่เน้นที่การกล่าวเฉพาะข้อเท็จจริง ทั้งนี้สำหรับคณะกรรมการเสริมสร้างฯนั้นจะยังคงมีต่อไป เพื่อร่วมกันหาทางออกโดยเร็ว

“เนื่องจากมีการเสนอให้มีโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลสังกัดกรุงเพพมหานครเพิ่มเติม และจะมีการปรับรูปแบบการประชุม ดังนั้นการเสนอคณะกรรมการฯในครั้งใหม่จะไม่เรียกว่าคณะกรรมการ 3 ฝ่ายอีก เนื่องจาก สธ.ไม่ได้เข้าร่วม เป็นเพียงผู้อำนวยการจัดประชุมและบริการข้อมูลตามข้อเสนอของแต่ละฝ่ายเท่านั้น” ปลัด สธ.กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของระยะเวลาในการจัดหาและเพิ่มเติมสัดส่วนของคณะกรรมการแต่ละฝ่าย จะมีฝ่ายใดเข้าร่วมบ้างนั้นยังไม่สามารถระบุได้ แต่ก็จะพยายามดำเนินการโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีผู้ไม่เข้าร่วมที่ได้ถอนตัวก่อนหน้านี้ ได้แก่ พญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์แพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ/รพท.) พล.ต.ท.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และ นายโชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ จากแพทยสภา นอกจากนี้ยังมีผู้เกี่ยวข้องที่ไม่เข้าร่วมอีก คือ นายธรณินทร์ จรุงเกียรติ จากทันตแพทยสภา นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) และ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)

วันเดียวกันในเวลาประมาณ 10.30 น. พญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. และ นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ที่ปรึกษาสมาพันธ์ฯ ได้เข้ายื่นหนังสือเสนอแนวทางแก้ไขต่อนพ.ไพจิตร์ กลางที่ประชุม โดย นพ.ศิริชัย ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ยื่นหนังสือเสนอให้มีการจัดประชุมแยกเฉพาะของแต่ละฝ่าย เพื่อเสนอแนวทางที่เห็นชอบก่อนการประชุมร่วมโดยเชิญ รมว.สธ. และปลัด สธ. ร่วมประชุมด้วย

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวภายหลังการประชุมว่า ภาคประชาชนจะมีการจัดทำเอกสารชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อนำเสนอถึง 20 ข้อดี ที่แพทย์จะได้รับจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ และเอกสาร “จริงหรือไม่จริงกับพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ” เพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนและแพทย์ให้ได้รับทราบถึงประโยชน์ของ พ.ร.บ. ทั้งนี้ได้เสนอว่า สธ.ควรทำหน้าที่คนกลางในการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงตามกฎหมาย ในการจัดเวทีระดมความเห็นด้วย โดยภาคประชาชนจะขอติดตามการทำงานเพื่อให้พ.ร.บ.เดินหน้าไปตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น ทั้งนี้หากพบว่าฝ่ายใดก็ตามพยายามจะล้มกฎหมายฉบับนี้ กลุ่มประชาชนจะรวมตัวกันเพื่อขัดขวางการกระทำ เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.บ.ที่ทำขั้นนั้นใช้ระยะเวลาในการดำเนินการที่นานและเกิดขึ้นด้วยความยากลำบาก ตั้งแต่เดือน 15 มี.ค.51 - 18 ส.ค.52 จึงต้องทำหน้าที่เพื่อผลักดัน พ.ร.บ.ให้เกิดขึ้นให้ได้ตามขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ

ขณะที่ นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ กล่าวว่า ในด้านการดำเนินการของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งหาความเห็น อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รมว.สธ.และ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.จะสามารถร่วมกันผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ โดยไม่เกิดความขัดแย้งบานปลาย




Posted by : thiopental , Date : 2010-08-07 , Time : 17:44:25 , From IP : 180.180.81.42

ความคิดเห็นที่ : 1


   เดี๋ยวนี้ภาษาสื่อ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Online newspaper) แทบจะเลิกเสนอข่าวแบบธรรมดา แต่จะเพิ่ม "กิริยา" ที่กระตุ้นอารมณ์ลงไป

คนในข่าวจะเลิก "พูด" "ชี้แจง" หรือ "แถลง" แต่จะ "ขู่" "เย้ย" "ถล่ม" "ถากถาง" "แก้ตัว" "ป่วน" "ลั่น" ฯลฯ ไปหมด ไปจนถึงการตัดสินแทนโดยสื่อ แทนที่จะให้คนอ่านใช้วินิจพิจารณญาณของตนเอง เช่น "โกหกหน้าด้านๆ" "โกหกตาใส" "เถียงข้างๆคูๆ"

การสนทนาหลังจากนั้น จะถูกกระทบโดยการใช้คำเหล่านี้อย่างไรบ้าง ในสังคมของเราต่อไป?



Posted by : phoenix , Date : 2010-08-07 , Time : 20:01:25 , From IP : 172.29.9.78

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<