ความคิดเห็นทั้งหมด : 4

หมอลาออก รุ่นเราจะเป็นอย่างนี้ไหมหนอ


   อ่านมติชนฉบับล่าสุด หน้าปกพิณทองทา ข้างในมีเรื่องหมอลาออกเกี่ยวเนื่องกับโครงการ 30 บาทหรือไม่ ผลบอกว่าถึงไม่มี 30 บาท ปัญหานี้ก็ยังคงเกิดขึ้น เสีย 400000 ใช้ทุน กับรัฐบาลเสีย 3 ล้านต่อคน เป็นค่าที่วัดกันไม่ได้เลย ไม่รู้ว่าคำปฏิญญาณที่ให้ไว้ก่อนเข้าเรียนหายไปไหนเลยเอาข่าวเก่ามาเล่าสู่กันฟัง ขอความเห็นแสดงตัวตนกันหน่อย ประจวบเหมาะกับข่าวนายอดิศัย เพิ่มค่าคะแนน GPA ที่กำลังร้อนระอุ เมื่อไหร่หนอการศึกษาไทยจะดีขึ้นกว่าที่เป็น.....สวัสดีปีใหม่ครับ medicine



ข่าวจาก MGR Online วันที่ 27 ส.ค. 2546


ผู้จัดการรายวัน - ปัญหาแพทย์ลาออกสะท้อนวิกฤตปฏิรูประบบสุขภาพ หมอปรับตัวไม่ทันสังคมยุคใหม่ บวกคุณภาพชีวิตย่ำแย่ ค่าตอบแทนต่ำ สุดท้ายคนไข้และหมอเสี่ยงทั้งคู่ เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์ ยอมรับต้องคิดใหม่กับระบบคัดคนเก่งเรียนแพทย์เพราะมีปัญหา คณะทำงานร่วมสธ.- แพทยสภา เตรียมเวิร์กชอปสางทั้งระบบ เสนอนายกรัฐมนตรีช่วยแก้ไข

“น้องที่เป็นหมอจบใหม่ ออกไปชันสูตรพลิกศพกลางดึก กลางป่าเขา ขากลับประสบอุบัติเหตุรถตกเหว มีปัญหาทางสมอง ....

“ตำรวจเขารู้ว่ามันเสี่ยง เขาให้หมอเป็นคนพลิกศพ เจอระเบิดอยู่ใต้ศพ...”

“ทำงานแทบไม่มีเวลาพัก ยิ่งกว่ากรรมกร แพทย์ถูกตามได้ตลอดเวลา ผมเคยถูกตามคืนเดียว 14 ครั้ง พอรุ่งเช้าต้องตรวจคนไข้ในต่อ พอตอนสายออกตรวจคนไข้นอก ตกบ่ายผ่าตัด .....”

“ตอนนี้หมอเจอคดี 10 คดี มูลฟ้อง 120 ล้าน ไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วย หมอต้องเทียววิ่งขึ้นโรงขึ้นศาล แก้ต่างคดี ....”

“รพ.ชุมชนต่อไปจะเหลือเพียงผอ.กับแพทย์ผู้ใช้ทุน ระบบกำลังจะล้ม ....”

“ภรรยาผมจะคลอดในเดือนหน้า ผมขอย้ายกลับเพื่อดูแลครอบครัว เขาไม่มีที่ลงให้ สุดท้ายผมต้องลาออกไปอยู่รพ.เอกชน....”

“จากเดิมที่สังคมมองหมอเป็นเทวดา ตอนนี้หมอคือปุถุชน คือข้าราชการที่ต้องให้บริการ คือจำเลยของสังคม หมอต้องปรับตัวมากขึ้น ลดอัตตา ลดความถือดี...”

นั่นคือ สภาพความจริงที่ถ่ายทอดจากแพทย์ ผู้ช่วยเหลือชีวิตทุกชีวิตในสังคม ในงานสัมมนาเรื่องปัญหาแพทย์ลาออกและแนวทางแก้ไข เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

เตือนระวังเรือกำลังจะจม

การเพิ่มขึ้นของแพทย์ที่ลาออก เป็นสัญญาณบอกถึงความไม่ปกติของระบบ นายแพทย์คนหนึ่งจากรพ.เวียงพิงค์ ถึงกับชี้ว่า “เรือกำลังจะจม” โดยตัวเลขที่แพทยสภา รวบรวม ระบุว่าปี 2545 และปี 2546 (มี.ค.) มีหมอลาออก รวม 1,136 คน โดยเฉลี่ย 67% เป็นแพทย์ทั่วไป และลาออกโดยใช้ทุนไม่ครบสูงถึง 70%

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า แม้ความสามารถในการผลิตแพทย์ของไทยจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วงเวลาเพียง 10 ปี มีแพทย์เข้าสู่ระบบราชการของกระทรวงสาธารณสุข 2 เท่า แต่ดูเหมือนว่าการขาดแคลนแพทย์จะไม่ได้ลดลง ยิ่งพิจารณาการกระจายกำลังแพทย์ยิ่งมีปัญหาหนัก เพราะขณะที่มีแพทย์เพิ่มขึ้น 9,473 คนในเวลา 10 ปี (2536-2545) กลับมีแพทย์ที่รพ.ชุมชนเพิ่มขึ้นเพียง 681 คน และที่จังหวัดหนองบัวลำภู แพทย์หนึ่งคนต้องดูแลประชากร 27,817 คน ซึ่งแตกต่างจากกรุงเทพฯ กว่า 40 เท่า

จากเทวดาสู่จำเลยของสังคม

นพ.วราวุธ สุรพฤกษ์ แพทย์อิสระ อดีตหมอชนบทที่ทำงานในรพ.ชุมชน มากกว่า 20 ปี กล่าวว่า มุมมองของประชาชนต่อแพทย์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มองหมอเป็นเทวดาเปลี่ยนมาเป็นปุถุชนทั่วไป เป็นข้าราชการ ประชาชนคิดว่าเขามีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับบริการ และเป็นบริการในยุคสังคมบริโภคนิยมที่มีแนวคิดว่าลูกค้าถูกต้องเสมอ

ขณะเดียวกัน หมอต้องอยู่ในกระบวนการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ทั้ง HA , ISO ฯลฯ สารพัด ท่ามกลางสภาพภาระงานที่หนัก ทั้งงานในเวลาและนอกเวลาราชการ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้หมอปรับตัวไม่ทัน สับสน เป็นเหตุให้หมอลาออกเพิ่มสูงขึ้น

ประเด็นที่นพ.วราวุธ เป็นห่วงจากภาพที่เกิดขึ้นก็คือ การที่หมอลาออกยังดีกว่าหมอที่อยู่แบบขอไปที หาทางหลีกเลี่ยง ซึ่งทำให้คุณภาพหมอลดลง คนไข้เสี่ยงมากขึ้น
วิเคราะห์เหตุปัญหาลาออก

ทางด้าน นพ.สยาม พิเชษสินธุ์ แพทย์อิสระ วิเคราะห์สาเหตุ 7 ประการที่ทำให้หมอลาออกว่า เป็นเพราะ หนึ่ง รายได้ไม่เพียงพอ (เงินเดือนต่ำ) แพทย์จบใหม่ ได้เงินเดือน 8,200 บาท ทำงาน 10 ปี ได้เงินเดือนประมาณ 13,500 บาท ส่วนเงินที่ไม่ทำเวชปฏิบัติส่วนตัว 10,000 บาทนั้น มีแพทย์เพียง 10-15% ที่รับ

ระดับเงินเดือนดังกล่าว ต่ำกว่ารพ.เอกชน ที่พบว่าแพทย์จบใหม่มีค่าตอบแทนมากกว่าบุคลากรส่วนอื่นที่ทำงานมาแล้ว 10-20 ปี ขณะที่ค่าตอบแทนในการทำงานนอกเวลาราชการ ยังต่ำกว่าภาคเอกชน 10-20 เท่า ทั้งนี้ รัฐบังคับให้อยู่เวรนอกเวลาราชการด้วยค่าตอบแทน 400-900 บาทต่อ 8 ชั่วโมง

สอง ความรับผิดชอบที่หนักเกินไป โดยเฉพาะนอกเวลาราชการ หรือ การอยู่เวร ซึ่งไม่มีการระบุชัดว่า แพทย์ต้องอยู่เวรไม่เกินกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อายุเท่าไหร่จึงไม่ต้องอยู่เวร เหตุนี้แพทย์อายุ 50 ปี ยังต้องเข้าเวร ตื่นตีสองตีสามผ่าตัดคนไข้ ชั่วโมงการทำงานจึงขึ้นอยู่กับจำนวนแพทย์ในแผนกเป็นสำคัญ เช่น ถ้าแพทย์ในแผนกมีสองคน ต้องทำงาน108 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่นับรวมเวรห้องฉุกเฉิน เวรชันสูตรพลิกศพ และเวรอื่นๆ อีก ทำให้สุขภาพกายและใจทรุดโทรม และเป็นเหตุให้แพทย์อาวุโสที่มีประสบการณ์ ลาออกจากราชการ

สาม สภาพครอบครัวและสังคม เช่น การขอย้ายไปรับราชการต่อใกล้บ้านแล้วถูกปฏิเสธ แต่จำเป็นต้องย้าย จึงใช้วิธีลาออกเพื่อไปทำงานในรพ.เอกชนหรือเปิดคลีนิคส่วนตัว

สี่ ความเสี่ยงในวิชาชีพมากขึ้น ทั้งความเสี่ยงจากถูกฟ้องร้อง ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพราะแพทย์มีเวลาดูแลรักษาผู้ป่วยน้อยลงเนื่องจากต้องตรวจผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่ 50-100 คนต่อวัน หากตรวจและอธิบายละเอียดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15-20 นาที/คน จะรักษาผู้ป่วยได้ไม่เกิน 30 คน/วัน ซึ่งความจริงเป็นไปไม่ได้ ทำให้เกิดคำพูดที่ว่า

“ตรวจผู้ป่วยมากถูกฟ้องมาก ตรวจผู้ป่วยน้อยถูกฟ้องน้อย ทำงานมากถูกฟ้องมาก ทำงานน้อยถูกฟ้องน้อย”

ขณะที่ผู้ป่วยต่างคาดหวังในการรักษาสูง การฟ้องร้องแพทย์ยังพบบ่อยที่สุดในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.เพราะแพทย์ใช้ทุนซึ่งยังไม่มีประสบการณ์เริ่มไปทำงาน

นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากผู้ป่วย เสี่ยงจากอุบัติเหตุ บ่อยครั้งที่แพทย์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ เพราะการอยู่เวรนอกเวลาราชการกลางคืนถึงเช้า เกิดอาการหลับใน สถาบันครอบครัวมีความเสี่ยงตามมา

ห้า การลาออกเพื่อศึกษาต่อเนื่อง และ หก คำสั่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างจังหวัด (มักพบในแพทย์ที่สังกัดกระทรวงกลาโหม)

ประการสุดท้าย เหตุจากปัญหาเรื่องพนักงานของรัฐ ที่แตกต่างกับข้าราชการค่อนข้างมากในเรื่องความมั่นคงในวิชาชีพเพราะต้องถูกประเมินทุกปี, เหตุจากกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาบังคับใช้กับแพทย์ เช่น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, พ.ร.บ.ยา โดยเฉพาะมาตราที่ห้ามแพทย์ ทัณฑแพทย์ สัตวแพทย์ จ่ายยาที่คลีนิก, กฎหมายชันสูตร โดยเฉพาะกรณีที่ต้องไปชันสูตรในพื้นที่ป่าเขา ในเวลากลางคืน ทำให้เกิดปัญหาสวัสดิภาพโดยเฉพาะแพทย์หญิง อีกทั้งเป็นการทิ้งผู้ป่วยที่รอตรวจและผู้ป่วยฉุกเฉินอีกด้วย

ขณะเดียวกัน นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค มีส่วนทำให้โรงพยาบาลบางแห่งมีเงินบำรุงลดลง ทำให้รับแพทย์เฉพาะทางเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเป็นไปไม่ได้ เพราะเงินเดือนแพทย์รวมอยู่ในงบรายหัวของประชากร

“นโยบาย 30 บาท รัฐดูแลห่วงใยผู้รับบริการมากเป็นพิเศษ แต่กลับลืมฟันเฟืองตัวสำคัญที่สุดในระบบสาธารณสุขคือ ผู้ให้บริการ โดยเฉพาะแพทย์

“การพูดถึงสิทธิแพทย์ ไม่ได้เป็นการต่อต้านหรือขัดแย้งกับสิทธิผู้ป่วย แต่เป็นการเสริมให้สิทธิผู้ป่วยได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้น สิทธิแพทย์คือสิทธิของแพทย์โดยชอบธรรมที่จะได้รับการดูแลตั้งแต่สภาพความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต สภาพการทำงานและความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับแพทย์นั่นคือ การกำหนดเรื่องเงินเดือน ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม กำหนดชั่วโมงที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและจิตใจ”

ปรับระบบคัดเลือกเรียนแพทย์

ด้านนพ.อาวุธ ศรีศุกรี เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ฯ กล่าวถึงระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ว่า เน้นการสอนทางวิชาการมากเกินไป ไม่ได้เรียนรู้ชีวิต สังคม ไม่ได้ฝึกอบรมให้รู้ว่าเมื่อจบไปแล้วจะเจออะไร เมื่อมีปัญหาร้อยแปดปรับตัวไม่ได้ก็ลาออกในที่สุด

“เราดึงครีม ดึงคนเก่งมาเรียนหมอหมด ไม่เหลือครีมไว้ให้วงการอื่น ทำให้สังคมมีปัญหาแล้วกระทบแพทย์ในที่สุด เราต้องมาคิดว่าจะเอาคนอยากเป็นแพทย์มากกว่าดึงคนเกรดสูงจะดีไหม การปรับหลักสูตรให้เรียนรู้สังคมไม่ใช่สอนวิชาแพทย์ล้วนๆ ส่วนการเรียนสาขาวิชาเฉพาะเรียนหลังจากจบแพทย์ทั่วไปได้หรือไม่” นพ.อาวุธ กล่าว

วิกฤตปัญหาหมอลาออก กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่แพทยสภาและกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการร่วมและเวิร์คชอปเพื่อสังเคราะห์ปัญหาและทางออกทั้งระบบ เพื่อนำเสนอต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 18 ก.ย. ที่จะถึงนี้

************

ข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา

ภาพรวม

• ทบทวนระบบการตอบแทนแพทย์ทั้งในรูปตัวเงิน
- เพิ่มเงินเดือนขึ้น2/3หรือใกล้เคียงเอกชน หรือตามชั่วโมงทำงาน
- แยกบัญชีเงินเดือนออกจาก กพ.เหมือนศาล(อัยการ)
- รายได้เฉลี่ย(รวมเงินเดือนและค่าตอบแทน) ที่เหมาะสม ประมาณ 30,000 - 100,000 บาท หรือเฉลี่ย 50,000 บาท

• ปรับปรุงระบบความก้าวหน้า เลิกระบบเส้นสาย, พิจารณาขั้นควรกระจายไม่ใช่กระจุกที่ส่วนกลาง

• ปรับปรุงการศึกษาต่อ มีทุนให้ เลื่อนขั้นตามปกติ ไม่กีดกั้นสาขาที่แพทย์ต้องการเรียน

• ทบทวนมาตรการทำสัญญาของแพทย์ให้สอดคล้องกับต้นทุนจริง

•สร้างวาระแห่งชาติเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพ เพื่อเป็นแผนแม่บทด้านกำลังคน เป็นเวทีที่ทุกฝ่ายมาพูดคุย เรียนรู้และหาทางออกร่วมกัน

• ผลิตแพทย์ให้สอดคล้องกับปัญหาสาธารณสุขของประเทศ

• กระจายอำนาจเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน

• ปรับปรุงภาระงาน พิจารณาชั่วโมงการทำงาน-การอยู่เวรให้เหมาะสม-ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

• ยกเลิกกฎหมายที่ล้าหลังไม่ทันสมัยและบีบคั้นแพทย์ เช่น พ.ร.บ.เวชกรรม และกม.ชันสูตรพลิกศพ โดยจัดประชาพิจารณ์

แพทย์

• ปรับตัว เข้าใจและยอมรับมุมมองที่เปลี่ยนไปของประชาชน

• ลดอัตตา ถือดี เชื่อมั่นในความเท่าเทียม

• ให้บริการอย่างรอบคอบ ถูกหลักวิชา ทันเวลา ปรับตัวก่อนออกสู่ชุมชน

• หลีกเลี่ยงประโยชน์มิชอบ

• อดออมวางแผนอนาคตไว้หลายๆ ทางเลือก
ผู้บริหาร

•มุ่งเน้นกระจายบุคลากร, ออกเยี่ยมผู้ปฏิบัติงานอย่างจริงจัง, ออกรับเชิงแก้ไขปัญหา

• ไม่เพิ่มงานตามกระแส สร้างภาพ เป็นภาระแต่ไม่คุ้มค่า

• คัดเลือกผู้บริหารด้วยความโปร่งใส

• สธ.เป็นเจ้าภาพแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เช่น กม.ชันสูตรศพ



ที่มา : http://www.manager.co.th/Analysis/ViewNews.asp?NewsID=4652081429361


Posted by : ajv , Date : 2003-12-21 , Time : 09:43:37 , From IP : 172.29.2.135

ความคิดเห็นที่ : 1


   อย่างแรง

Posted by : เดี๋ยวก้อเป็นหมอแล้ว , Date : 2003-12-21 , Time : 11:06:09 , From IP : 172.29.2.144

ความคิดเห็นที่ : 2


   บีบคั้นกันขนาดนี้ ใครจะทนได้

Posted by : 369258147 , Date : 2003-12-22 , Time : 09:13:50 , From IP : 192.168.13.228

ความคิดเห็นที่ : 3


   อ่านแล้วท้อแท้จัง เคยเจอเหมือนกัน ทำงานเหนื่อยแทบตายดันเจอคอไข้เรื่องมากอีก เฮ้อ....

Posted by : encourage , Date : 2003-12-22 , Time : 16:58:18 , From IP : 172.29.3.107

ความคิดเห็นที่ : 4


    เงินเดือนน้อย ค่าตอบแทนตำมาก งานโคตรหนัก โดยเฉพาะเวลาอยู่เวร...เหนื่อย
มากมาก ดีไม่ดีเจอคนไข้+ญาติเรื่องมากอีก เบื่อนักพวกอยากซื้อ benz ด้วย ราคา susuki.


Posted by : topas , E-mail : (top062.hotmail.com) ,
Date : 2004-01-11 , Time : 18:42:12 , From IP : 203.157.14.246


ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.009 seconds. <<<<<