ความคิดเห็นทั้งหมด : 4

พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ บุญหรือบาป




   แพทยสภา, ทันตแพทยสภา, สภาเทคนิคการแพทย์, สภาการพยาบาล, สภากายภาพบำบัด, สภาเภสัชกรรม ร่วมค้าน พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ชี้ประโยชน์ตกที่กรรมการ มั่นใจเอ็นจีโอหน้าเดิมนั่งเก้าอี้ "จุรินทร์"นัดถก 2 ส.ค.นี้...

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ สภาวิชาชีพทั้ง 6 ประกอบด้วย แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภาการพยาบาล สภากายภาพบำบัด และสภาเภสัชกรรมได้มีการหารือเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยมีความเห็นเช่นเดียวกันว่าคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 2 ส.ค.นี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เชิญผู้แทนสภาวิชาชีพทั้ง 6 เข้าหารือเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ จะทำให้คนส่วนน้อยได้ประโยชน์แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศเสียประโยชน์ เช่น การกำหนดให้สถานพยาบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนที่จะใช้ในการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ป่วย จะทำให้โรงพยาบาลของรัฐต้องเจียดเงินจากค่ารักษาพยาบาลที่รัฐจัดสรรให้มาสมทบเข้ากองทุนแทนที่จะใช้ในการรักษาพยาบาลได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนก็จะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการมากขึ้นเพื่อนำเงินมาจ่ายสมทบ อีกทั้งการจ่าย เงินให้โดยไม่มีการดูถูกหรือผิด แพทย์จะไม่รักษาผู้ป่วยที่ประเมินแล้วเห็นว่ามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะต้องจ่าย ชดเชย ทำให้เกิดการส่งต่อคนไข้หนักมากขึ้น

นอกจากนี้ การอ้างว่าการให้ผู้เสียหายทำสัญญาประนีประนอมหลังรับเงินชดเชย จะเป็นประโยชน์กับแพทย์เพราะจะใช้เป็นหลักฐานประกอบให้ศาลลดโทษหรือไม่ลงโทษ ได้นั้น ในความเป็นจริงไม่มีความจำเป็นต้องเขียนกำหนดไว้ เนื่องจากตามกฎหมายอาญาหากแพทย์ยอมรับผิดและยินยอมจ่ายเงิน ศาลก็จะพิจารณาลดโทษแล้ว แต่การที่ระบุไว้ก็เพื่อเป็นการชี้ช่องว่าสามารถฟ้องอาญากับแพทย์ได้ด้วยเท่านั้น

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การที่บอกว่ามี พ.ร.บ.นี้แล้วจะทำให้ความสัมพันธ์ของแพทย์และผู้ป่วยดีขึ้นนั้น ไม่จริง ในทางตรงกันข้ามอาจจะทำให้แย่ลง เนื่องจากกฎหมายนี้ไม่ได้มีมาตราใดที่เป็นรูปธรรมว่าจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของแพทย์และผู้ป่วย แค่ช่วยให้การฟ้องศาลน้อยลงเท่านั้น เพราะคนไข้จะหันมาฟ้องศาลเตี้ยแทน ได้เงินเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ความผิดถูกเหมือนศาล แต่การร้องขอรับเงินชดเชยไม่ลดลงอย่างแน่นอน และแม้จะรับเงินไปแล้วก็ยังสามารถฟ้องศาลต่อได้อีก แบบนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ของสองฝ่ายดีขึ้นได้อย่างไร

"พ.ร.บ.นี้จะทำให้เกิดประโยชน์กับคนแค่ส่วนน้อยและไม่เกิดประโยชน์กับแพทย์เลย แต่คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการออก พ.ร.บ.นี้ คือ คณะกรรมการที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะเข้ามาบริหารกองทุนเป็นหมื่นล้านที่จะดูดมาจากรัฐบาลจากภาษีประชาชน"

นายกแพทยสภายังเชื่อว่าตัวแทนจากฝ่ายเอ็นจีโอที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเป็นคนหน้าเดิมๆ กลุ่มเดิมๆ ขณะที่ในต่างประเทศที่ใช้กฎหมายลักษณะนี้จะให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เป็นคนตัดสินว่าควรได้รับเงินชดเชยหรือไม่และหากได้แล้วจะไม่มีการฟ้องร้องต่อ.


Posted by : thiopental , Date : 2010-08-01 , Time : 14:01:56 , From IP : 118.173.147.119.adsl.dynamic.totbb.net

ความคิดเห็นที่ : 1




   แพทยสภายื่นข้อเสนอแก้มาตรา7,22พรก.หมอทำ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

หมอรพ.ทั่วประเทศแต่งดำค้านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ
ฝ่ายหนุนระดมดันร่าง พรบ.คุ้มครองผู้ป่วย

แพทยสภา จะยื่นเสนอแก้มาตรา7, 22 ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางแพทย์ สธ.เป็นเจ้าภาพจันทร์นี้ ภาคปชช.ขอชัดเจนเอา/ไม่เอาก่อน ค่อยถกแก้
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดการเสวนาในกิจกรรมราชดำเนินเสวนาโครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 11/2553 "หาจุดร่วมสงวนจุดต่าง : ทางออกพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข"

โดย นพ.สมศักดิ์ โลห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เหมาะกับการใช้กฎหมายดังกล่าว เพราะจากการค้นรายงานทางวิชาการกว่า 50 ฉบับเกี่ยวกับประเทศที่ดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.. พบว่า ตัวอย่างประเทศที่ใช้กฎหมายฉบับนี้ คือ สวีเดน ซึ่งภายหลังจากการใช้กฎหมาย ส่งผลให้อัตราการฟ้องร้องแพทย์เพิ่มขึ้น โดยในปี 1975 มีผู้ร้องเรียนเพียง 600 กว่าราย แต่เพิ่มขึ้นเป็น หมื่นรายในปี 2004 ขณะเดียวกันคณะกรรมการของประเทศสวีเดนยังมีแพทย์ผู้เชียวชาญกว่าร้อยละ 60-70 เป็นผู้พิจารณาตัดสิน

น.พ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การใช้กฎหมายของสวีเดนแตกต่างจากของไทยชัดเจน โดยสวีเดนระบุชัดว่า หากผู้เสียหายฯไม่พอใจการเยียวยาสามารถไปฟ้องศาลได้ แต่ต้องเสียเงินค่าศาล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่ประเทศไทยฟ้องได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะเป็นคดีผู้บริโภค ส่วนเงินที่จ่ายเข้ากองทุนของสวีเดนจะมาจากภาษีท้องถิ่นหรือภาษีของรัฐ และการร้องเรียนจะไม่จ่ายให้กับเรื่องเล็กร้อย คือ ไม่จ่ายต่ำกว่า 8,000 บาท แต่ของไทยไม่ใช่เป็นการนำเงินจากสถานพยาบาลเข้ากองทุน ทั้งนี้ ที่สวีเดนดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นประเทศที่เก็บภาษีสูงมาก ขณะที่ประชากรน้อย ส่วนของไทยคนส่วนใหญ่ไม่เสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลด้วยซ้ำ อีกทั้ง สวีเดนยังมีความโปร่งใสในการดำเนินการเป็นอันดับสามของโลก แต่ประเทศไทยมีความโปร่งใสอันดับที่ 84 ซึ่งแตกต่างกัน

น.พ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากใช้กฎหมายนี้จะเกิดปัญหาในอนาคต โดยการร้องเรียนจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เห็นจากสวีเดนทำมา 35 ปีอัตราการร้องเรียนเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นราย ดังนั้น แสดงว่าไม่มีส่วนช่วยเรื่องการลดการร้องเรียน ทุกคนจะไปศาลเตี้ยแทนศาลจริง เพราะได้เงินเท่ากันแต่เร็วกว่า ขณะที่แพทย์ก็จะหลีกเลี่ยงการรักษาที่มีความเสี่ยงสูงโดยส่งต่อทำให้แพทย์โรงพยาบาลใหญ่เดือดร้อน ทำงานหนัก รับเคราะห์ ส่งต่อไม่ได้ ในที่สุดก็ลาออก ที่สำคัญงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลและค่าชดเชยจะเพิ่มมากขึ้น จนรัฐบาลตค้องเพิ่มภาษีเดือดร้อนทุกคน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันที่ 2 สิงหาคม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะเรียกทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยร่วมเจรจาหาทางออก นพ.สมศักดิ์ กลาวว่า เห็นด้วยกับการเจรจาทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องการให้มีการเปิดเวทีรับฟังมาโดยตลอด และที่ผ่านมาตนก็ทำหนังสือค้านในประเด็นต่างๆ เช่นกัน แต่ไม่เคยมีใครสนใจ ดังนั้น ในวันพรุ่งนี้( 2 ส.ค.) ประเด็นหลักๆที่ควรแก้ไขร่วมกัน คือมาตรา 7 ในเรื่องของคณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะในส่วนของคณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยควรมีแพทย์วิชาชีพในสัดส่วนเท่าเทียม เนื่องจากเรื่องนี้ต้องอาศัยผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง และที่สำคัญกรณีนี้ไม่ควรใช้วิธีลงคะแนนเสียงในการตัดสิน แต่ควรอิงข้อมูลวิชาการ อีกทั้ง ในส่วนของที่มาของกองทุน เงินที่ต้องจ่ายก็ไม่มีเพดานชัดเจน ตรงนี้จะทำให้งบประมาณบานปลาย อย่างมาตรา 22 ในเรื่องของเงินกองทุน สถานพยาบาล โดยเฉพาะเอกชนไม่ได้กังวลเรื่องถูกเรียกเก็บเงิน แต่ที่กังวลคือ สุดท้ายจะเป็นการผลักภาระไปยังผู้ป่วย โดยต้องไปเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยเพิ่ม ตรงนี้คือปัญหา เรื่องนี้จะต้องหยิบยกหารือกันให้ได้ข้อยุติให้ได้

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็นกฎหมายชดเชยเบื้องต้นเกี่ยวกับการเสียหายทางการแพทย์ โดยในปี 2552 มีผู้ร้องเรียน 810 ราย เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการบริการ 660 ราย โดยใช้เงินประมาณ 73 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 110,000 บาท แต่ใช้ได้เฉพาะคนไข้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง แต่ผู้ป่วยประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว ซึ่งผิดด้วยหรือที่พวกเขาไม่ได้รับ แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะครอบคลุมให้ทุกคนในประเทศไทยได้รับสิทธิทั้งหมด จะเห็นได้ชัดว่าตัวเลขการร้องเรียนจากมาตรา 41 ไม่ได้มากเลย อีกทั้ง ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะให้เงินชดเชยกรณีเสียชีวิตและตาย ซึ่งคงไม่มีใครอยากอยู่ในภาวะดังกล่าว

"จริงๆ ก็ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด เราไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างคณะกรรมการที่ไม่ควรมีกระบวนการไกล่เกลี่ย ซึ่งเราทำหนังสือให้รัฐมนตรี สธ.เอาออก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เอาออก ขณะที่นายกรัฐมนตรี่ออกมาพูดว่าจะระงับไว้ก่อน ซึ่งตนไม่อยากเชื่อ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมานายกฯเห็นด้วยมาโดยตลอด จึงไม่อยากปักใจเชื่อ เพราะนายกฯ ก็ไม่ได้ออกมาพูดชัดเจน"

น.ส.สารี กล่าวอีกว่า ข้อเท็จจริง แพทยสภาทำหน้าที่เป็นแพทยสมาคม ไม่ปกป้องประชาชน ปกป้องแต่แพทย์ และอยากให้ชัดเจนว่า ที่ออกมาคัดค้านต้องการล้มกฎหมาย หรือต้องการแก้ไขตัวร่างกฎหมาย ซึ่งหากการแก้ไข สามารถดำเนินการได้ แต่อย่าทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าต้องการล้มร่างกฎหมายเพื่อประชาชนแบบนี้

การหารือในวันพรุ่งนี้ ( 2 ส.ค.) อยากให้คุยกันถึงหลักการก่อนว่าจะเอาหรือไม่เอากฎหมายฉบับนี้ แล้วค่อยมาคุยในรายละเอียดว่าจะต้องแก้ไขในมาตราใดบ้าง ดีกว่าออกมาตอบโต้กันไปมา ดังนั้น ก่อนอื่นต้องได้ข้อสรุปว่าแพทย์ต้องการกฎหมายเพื่อประชาชนหรือไม่ และอยากขอให้ทางพรรคการเมือง ซึ่งสามารถมีตัวแทนของพรรคเข้าถกในการขั้นตอนกรรมาธิการสภาฯได้ โดยเราจะขอให้ผู้แทนดังกล่าวเป็นแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดบรรยากาศการกังวลว่าจะไม่มีการแก้ไขได้

ด้าน นายดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสักนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า อย่าลืมร่างกฎหมายดังกล่าวจะประกาศใช้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทั้งสองฝ่าย เพราะสุดท้ายอยู่ในกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งทุกคนสามารถให้ความเห็นได้ แต่ไม่อยากให้ขัดแย้งกัน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่จะผลักดันกฎหมายสู่การประกาศใช้มีสูง เห็นจากขณะนี้มีร่างกฎหมายรอเข้าสภาฯ ถึง 7 ร่าง ทั้งของกระทรวงสาธารณสุข ของภาคประชาชน และของส.ส.จากพรรคต่างๆ แสดงว่ามีความพยายามในการเอาร่างกฎหมายฉบับนี้

ส่วนประเด็นของร่างกฎหมายที่ควรปรับปรุง คือ ควรมีการระบุว่าหากเสียหายเล็กน้อยไม่ควรจ่าย และควรมีเพดาน ขณะเดียวกันที่มาของเงินกองทุนต้องชัดเจน โดยต้องมีการเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาคุย

"จริงๆ ในตัวกฎหมายที่บอกว่า หากโรงพยาบาลทำดีสามารถลดเงินได้ ก็ถือว่าดี ส่วนเพดานเงินต้องหารือรอบด้าน ประกอบกับกองทุนดังกล่าวควรมีคณะกรรมการตรวจสอบกองทุนด้วย แต่ร่างกฎหมายนี้กลับไม่มี ขณะที่มาตรา 45 กรณีที่หากถึงขั้นฟ้องร้องคดีอาญา ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อถึงขั้นคดีอาญามักจะลงโทษในกรณีที่มีการรับผิด แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยเหลือแพทย์ด้วยซ้ำ เพราะเมื่อมีการเจรจาก่อนหน้านี้ มีสัญญาประณีประณอม ศาลสามารถนำมาพิจารณาลดโทษ หรือไม่ลงโทษได้ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ มาตรานี้ไม่ควรแก้ไข" นายดล กล่าว

น.พ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ปรากฎการณ์แต่งชุดดำของแพทย์ คล้ายๆ กับกรณีมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งก็มีคนคัดค้านเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ยังมีการดำเนินการจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม หลายประเทศมีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ แต่หลายประเทศทำไม่ได้ เพราะรัฐดูแลไม่เต็มที่ แต่ของไทยโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นของรัฐถึงร้อยละ 80 จึงสามารถคลุมได้ ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นหากไม่ทำอะไรเลย การฟ้องร้องย่อมเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แนวทางแก้ไขจะมี 2 วิธี คือ ใช้กระบวนการของศาล และกระบวนการเยียวยา ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่า การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหากใช้กระบวนการฟ้องร้องทางศาล ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะสิ้นสุด เพราะต้องมีกระบวนการพิสูจน์ถูกผิด และค่าชดเชยก็น้อยเกินไป เพราะส่วนใหญ่เสียไปค่าทนาย ดังนั้น กระบวนการเยียวยาน่าจะเป็นทางออก

Tags : ดล บุนนาค • พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข


Posted by : thiopental , Date : 2010-08-01 , Time : 18:25:06 , From IP : 118.173.147.119.adsl.dynamic.totbb.net

ความคิดเห็นที่ : 2


   เรื่องนี้ ถ้าจะให้โอกาสวิเคราะห์ สงสัยต้องนำประเด็นของทั้งสองฝ่ายมาวางเคียงคู่กัน เพราะเมื่อไรที่วางฝ่ายเดียว จะเห็นว่า ฟังแลัวดูเหมือนอีกฝ่ายจะผิด 100% ซึ่งในความเป็นจริงไม่น่าเป็นไปได้ในเรื่องที่เป็น controversy

ข้อสำคัญ การ debate นั้น เมื่อไรที่ใช้ exaggeration หรือการสมมติเกินจริง สุดโต่ง รวมไปถึงการกล่าวหา integrity (ความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม) แทนที่จะนำประเด็นเหตุผลมาขัดแย้ง จะไม่นำไปสู่การประนีประนอม ก็เล่นไปว่าอีกฝ่ายว่ามีจิตไม่บริสุทธิ์ แล้วมันจะคุยกันได้อย่างไรกัน มันมีอารมณ์เข้่ามาเกี่ยวข้องเยอะกว่าเหตุผลไปอีก ซึ่งเป็นวิธีสร้างปัญหาในประเทศมาโดยตลอด เป็นการเมืองสมัยเก่า


Posted by : phoenix , Date : 2010-08-01 , Time : 21:23:06 , From IP : 172.29.9.78

ความคิดเห็นที่ : 3


   พี่ phoenix นี่ก็ข้อมูลอีกด้านหนึ่งครับ
ทำไมหมอNGOจึงสนับสนุนพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ

ตอบคำถามได้ดังนี้
1.หมอNGO ไม่ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยมาเกิน 10 ปีแล้ว จึงไม่เสี่ยงต่อการถูกตัดสินว่าทำ "ให้เกิดความเสียหาย"
2.หมอNGO ต้องการมีส่วนไปเป็นกรรมการผู้บริหารกองทุนตามพ.ร.บ.นี้
3.หมอNGO ต้องการหาเสียงกับประชาชนว่ากลุ่มตน "รักประชาชน" แต่กลุ่มที่มาคัดค้านเป็นคนใจดำ
4.หมอNGOต้องการหารายได้เพิ่มให้ตัวเองจากการได้รับเบี้ยประชุมเป็นกรรมการแ ละอนุกรรมการ ยิ่งประชุมมากก็ยิ่งได้เงินเข้ากระเป๋าตัวเองมาก (เหมือนกับการเป็นกรรมการในองค์กร ส.ต่างๆ)
5.หมอNGOเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเขียนพ.ร.บ.นี้และเขียนล็อกสเปคไว้แล้วในบ ทเฉพาะกาลว่าจะส่งพวกพ้องของตัวเองมาเป็นกรรมการร่างระเบียบและเลือกกรรมการ ชุดถาวรชุดแรก
6.หมอNGOอ้างว่าทำเพื่อประชาชน โดยใช้ประชาชนกลุ่มอ้างว่าเสียหายพูดเรื่องเดิมซ้ำๆซากๆ แต่ประชาชนอีก 63ล้านคนไม่รู้เรื่องเด้วย
7หมอNGO อ้างว่าจะลดการฟ้องร้องแต่ผลกลับตรงกันข้าม เพราะม.25 กำหนดให้ฟ้องได้ภายใน 10ปีนับแต่วันที่รู้ความเสียหาย และมาตรา 37 ให้ฟ้องต่อได้อีก 10 ปีนับแต่รู้ความเสียหายต่อเนื่อง และมาตรา 34 ให้ไปฟ้องศาลได้หลังจากไม่พอใจเงินที่คณะกรรมการตัดสินและกรรมการอุทธรณ์พิจ ารณาจ่ายค่าเสียหาย และถ้าศาลตัดสินไม่จ่ายเงินชดเชย ประชาชนบยังกลับมาขอเงินจากกองทุนได้อีก
8.หมอ NGO อ้างว่าจะเอากรณีร้องขอเงินชดเชยไปพัฒนาระบบการรักษา เป็นการโกหกหน้าด้านๆ เพราะถ้าไม่พิสูจน์ถูกผิดอย่างที่อ้างแล้ว จะรู้ว่าจะแก้ไขความผิดได้อย่างไร?
9.หมอNGOอ้างว่าไม่เพ่งโทษบุคลากรก็เป็นการโกหกอีก เพราะหมอต้องส่งเอกสารเวชระเบียนทุกอย่าง และต้องไปให้การด้วย ถ้าไม่ส่งหรือไม่ไป ก็มีทั้งโทษจำคุกและปรับ
10,หมอNGO อ้างว่าหมอที่ตรวจรักษาคนไจ้ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้อง จึงไม่เป็นความจริงดังกล่าวข้างต้น และถ้าหมอที่ตรวจรักษาประชาชนอยากจะขอความเป็นธรรมให้ตนเองบ้าง ไม่มีกำหนดไว้เลยว่าคณะกรรมการนี้จะช่วยเหลืออย่างไร หมอที่ตรวจรักษาผู้ป่วยต้องไปฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรมให้ตนเอง

สรุป จะเกิดการร้องเรียนและฟ้องร้องดังนี้
1.ร้องขอเงินช่วยเหลือ
2.ร้องขอเงินชดเชย
3.ร้องอุทธรณ์เมื่อไม่พอใจจำนวนเงิน
4.ฟ้องศาลแพ่งเมื่อไม่พอใจจำนวนเงิน
5.ถ้าศาลแพ่งไม่จ่ายเงินให้อีก ก็กลับมาร้องขอเงินจากคณะกรรมการได้อีก
6.ได้เงินแล้ว แต่เกิดนึกขึ้นได้ว่ายังมีความเสียหายอื่นอีกไปร้องขอเงินชดเชยต่อเนื่องได้ อีกใน 10 ปี (รวมเป็น 20 ปี)
7.ได้เงินแล้วยังไม่สะใจ ก็ไปฟ้องศาลอาญา เพื่อให้หมอติดคุกจะได้จำไว้ว่า "ทีหลังอย่าทำ"
8.หมอต้องไปร้องขอความเป็นธรรมได้จากศาลปกครองชั้นต้น
9.หมอต้องไปร้องขอความเป็นธรรมจากศาลปกครองสูงสูด





Posted by : thiopental , Date : 2010-08-02 , Time : 20:20:41 , From IP : 180.180.81.122

ความคิดเห็นที่ : 4


   ขอบคุณครับ

ตกลงเราเหลือข้อมูลอีกกี่ด้านครับ?


Posted by : phoenix , Date : 2010-08-03 , Time : 00:56:10 , From IP : 172.29.9.78

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.006 seconds. <<<<<