ความคิดเห็นทั้งหมด : 4

ตีตรา... แล้วค่อยว่ากัน


   ตีตรา... แล้วค่อยว่ากัน

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา คงจะไม่มีใครปฏิเสธว่ากิจกรรมที่ทำให้ "จิตตก" มากที่สุด เห็นจะเป็นการอ่านข่าว ฟังข่าว ชมข่าว จากสื่อต่างๆ ทั้งแบบ active ประเภทที่เราเข้าไปสืบ ค้น อ่าน ฟัง เอาเอง และแบบ passive ที่มีคนชงส่งให้มาถึงมือถือบ้าง email บ้าง และเครื่องมือ social network มากมายที่หลวมตัวสมัครเข้าไป บางทีเราก็ได้มองในแง่บวก อืม.. ก็ช่วย update เชื่อมโยงคนที่อยู่ห่างไกล ให้ปรากฏประดุจดั่งมานั่งในห้องเดียวกันได้ ได้ฟัง รับรู้ มุมมองที่แตกต่างมากมาย

แต่ใน package ที่ว่า ไม่เพียงแค่ contents เนื้อหา เรามักจะได้แถม emotion อารมณ์ความรู้สึกของคนสื่อตามติดมาด้วย มากหรือน้อย และด้วย agenda ที่แตกต่างกันไป

สังคมตอนนี้มีประเด็นสำคัญๆที่ปรากฏว่าไม่ได้แก้ไข หรือแก้ไขยากขึ้น เพราะการจะนำมาปูบนโต๊ะ แผ่บนพื้น ให้ทุกๆคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาช่วยกันมุง มาช่วยกันแก้ปัญหามันยากขึ้น ทั้งนี้และทั้งนั้นมาจากการที่ตัว "ปัญหา" เหล่านี้ สำคัญมาก สำคัญน้อย สำคัญมากที่สุด น้อยที่สุด ถูกนำไป monopoly หรือผูกติดกับอะไรอย่างอื่น นั่นคือการใส่ logo ลงไป

เมื่อวานนี้กับเมื่อวานซืนนี้ ผมได้มีโอกาสไปนั่งในวง dialogue ซึ่งค่อนไปทางการเมืองนิดหน่อย (ฮึ ฮึ ที่จริง ก็น่าสงสัยว่าในยุคปัจจุบันนี้ เราสามารถที่จะพูด "การเมือง" ให้ "นิดหน่อย" ได้จริงหรือไม่) ก็มีอาการและอาการแสดงที่ว่านี้เชิงประจักษ์ให้เราได้ชมเป็นสินค้าตัวอย่าง พอสมควร

"เจ้า" แปลว่า "เหลือง"

"ไพร่" แปลว่า "แดง"

"ชั้นกลาง" แปลว่า "เหลือง"

"ปัญหายากจน" แปลว่า "ของแดง"

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ทำให้ผมไปนึกถึงบทความที่เคยเขียนไว้สองสามที ในเรื่อง Tyrant Route หรือ Inverted-U pathway ของการสนทนา

เดี๋ยวนี้ ไม่รู้เพื่อให้มันง่าย (หรือมันยาก) เราก็มักง่ายที่จะ label สิ่งที่เรากำลังพูดเอาโหมะไว้รวมๆด้วยสัญญลักษณ์อะไรบางประการ เข้าใจว่าคนทั่วๆไปน่าจะรู้และเข้าใจทันที ว่าสัญญลักษณ์นี้หมายถึงอะไรบ้าง สมัยก่อนทางการแพทย์ก็ทำอย่างนี้บ้าง คือเราเรียกเป็น "กลุ่มอาการ" คือ โรคบางโรคมันแสดงออกมาทีนึงได้หลายๆระบบ การวินิจฉััยก็ได้มาเพราะกลุ่มอาการที่ไม่ได้มาระบบเดียว แต่จะมาเป็น package เช่นโรค SLE (systemic lupus erythromatosus) ที่นักร้องดังคุณพุ่่มพวงเป็น ก็จะแสดงออกมาหลากหลายระบบ พอเราจัดหมวดหมู่ปุ๊บ หมอพูดถึงโรคนี้ก็จะเกิดภาพในใจขึ้นมาทันทีว่าคนไข้คนนี้น่าจะมีอาการทาง เลือด ทางข้อ ทางไต ทางผิวหนัง ก็ช่วยในการดูแลได้เยอะ ไม่พลาดอะไรไปง่ายๆ

แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นทันที ถ้าเราใช้สัญญลักษณ์แบบเดียวกัน มาตีตราเรื่องอื่นๆ ที่ยังไม่ได้พิสูจน์ หรือมีหลักฐานว่ามันคือกลุ่มจำเพาะโรคเดียวกัน แต่เราดันมาตีขลุมว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน

เช่น "มะเร็งเต้านมเดี๋ยวนี้ พยากรณ์โรคดีมาก อาจจะอยู่ได้เป็นสิบๆปี"

ซึ่งก็จริง แต่ไม่จริงทั้งหมด เพราะ "มะเร็งเต้านม" ไม่ได้เป็นชื่อจำเพาะของโรคๆเดียว ที่จริงมีหลากหลายเซลล์ต้นแบบ หลากหลายพฤติกรรม รวมทั้งหลากหลายพยากรณ์โรค ตั้งแต่ดีมากไปถึงไม่ค่อยจะดีมาก แต่การให้ "สัญญลักษณ์" แบบตีขลุม จะส่งผลกระทบต่อระบบความคิด การจัดการ การ approach ไปทั้งฝ่ายหมอเอง และฝ่ายคนไข้ด้วย

สมัยก่อน ในทางการเมือง ใครที่ชิง middle ground หรือ "พื้นที่กลางๆ" ได้ จะได้เสียงข้างมาก เพราะคนมักจะไม่ค่อยจะ extreme หรือสุดโต่งกัน ตามทฤษฎีแนวโน้ม ระฆังคว่ำ ที่ 95-97% จะกระจุกตรงกลาง ส่วนน้อยที่จะกระจายไปสุดทางด้านใดด้านหนึ่ง แต่ว่าในยุค tribalism หรือ "เผ่าใคร เผ่ามัน" ตอนนี้จะกลับกลายไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งกลไกเป็นไปตาม tyrant route ก็คือ พูดเรื่องอะไร ทำเรื่องอะไรก็ตาม "ของฉัน" มันถูกต้องเสมอ ถูกต้องที่สุด นั่นคือมี One fact / One view มีความจริงเดียว มีมุมมองเดียว (คือของฉัน) ที่ถูกต้อง โดยไม่รู้ตัว เมื่อเราเจอมุมมองที่แตกต่างไป เราก็จะขับไล่ไสส่งออกไปห่างๆตัว ในที่สุด รอบๆตัวเราก็จะเหลือแวดล้อมเฉพาะคนที่เห็นด้วย เห็นเหมือนเราเท่านั้น เรายิ่งก่อเกิด one fact / one view ที่แข็งแกร่งขึ้น ก็ดูสิ "ใครๆ" ก็เห็นเหมือนกับเรา (เพราะเราไล่คนอื่นออกไปหมดแล้วที่เห็นต่าง) เกิดเป็น One Us / One them มีคนแค่สองจำพวกเท่านั้น คือเห็นเหมือนเรา (US) กับเห็นต่างเรา (THEM)

ที่น่าสนใจคือ ถ้าหากเราเดินทางมาถึง stage นี้ ไม่ว่า "เรา" หรือ "เผ่าเรา" พูดอะไร ทำอะไร มันจะพลอยถูก พลอยดีไปหมดทุกอย่าง!! และไม่ว่า"เขา" หรือ "เผ่าเขา" พูดอะไร ทำอะไร มันก็จะพลอยผิด พลอยเลวไปหมดทุกอย่างเช่นกัน แม้แต่ถ้า "เขา" เกิดทำอะไรที่ดีๆขึ้นมา จะให้เรายอมรับว่าดี ก็ไม่ได้เสียแล้ว จะเกิดความ "คลางแคลงใจ" ขึ้นมาทันที ว่าถึงจะฟังดูดี แต่ไม่น่าจะดี บางทีก็ถึงขนาดยอมรับว่าของเขา "อาจจะถูก" ก็ไม่ได้ เพราะนั้นจะแปลว่า "ของเราท่าจะผิด" ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

สตีเฟน ฮอคิง ผู้ประพันธ์ Brief History of the Universe และ Theory of Everything เคยเขียนไว้ในบทนำของหนังสือเล่มหนึ่งของเขาว่า "บางครั้งที่เขาเสนอความคิดอะไรใหม่ๆ ที่คนส่วนใหญ่อาจจะยังขัดแย้งไม่เห็นด้วยนั้น แทนที่คนเหล่านี้จะมาถกอภิปรายในประเด็นที่ขัดแย้ง กลับไปใช้เวลาถกกันถึงตัวคนพูดแทน ว่าเป็นคนยังไง เสมือนกับว่าเราจะใช้ characters มาทดแทนความถูกผิดหรือเหตุผลได้เลยอย่างไรอย่างนั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ก็เช่นกัน ก่อนที่เราจะอภิปราย พูดคุยกันถึงเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ด้วยเหตุผลบางประการ เราจะต้อง label คนพูดก่อน ว่าอยู่ใน political wing ไหน สีอะไร หลังจากนั้น สิ่งที่จะถูกหรือจะผิด ก็ไม่ได้ขึ้นกับเนื้อหาที่เสนอเท่าไหร่แล้ว คิดอย่างเดียวว่ามันสีเดียวกันเราก็แปลว่าคิดถูก ถ้าคนละสีก็ต้องคิดผิดแน่นอน สังคมเต็มไปด้วยการ stereotyping และ generalization การด่วนสรุป จัดกลุ่มเป็นเผ่า เหล่า หมู่ เราชักจะหมดปัญญาที่จะแยกแยะเรื่องราวเป็นเรื่องๆ เป็นประเด็นๆไป กลับใช้วิธีตีตราก่อนว่าเป็นพวกใคร ถูกหรือผิดก็เป็นไปตามนั้นแทน

"การเหมารวม" ทำให้ สะท้อนผิด สะท้อนถูก ทั้งๆที่ทั้งกลุ่มมีคนหลากหลาย ต่างวัตถุประสงค์ ต่าง agenda กัน แต่ถูกเรียกออกมาเหมือนกัน ใครจะบอกว่าเป็นกลาง หรืออยู่ middle ground ก็จะถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพิจารณาแค่ว่า "สีเดียวกันไหม" ถ้าไม่ใช่ แปลได้อย่างเดียวว่าเป็นอีกสีหนึ่ง หมดความสามารถในการไว้วางใจกัน เต็มไปด้วยความหวาดระแวงกัน

เมื่อนำเอาทฤษฎี tyrant route เข้ามาวางดู ปรากฏว่าเป็นสถานการณ์จริงในหลายๆจุดของสังคมตอนนี้ เกิดความกลัวขึ้นมาทันที เพราะในระยะหลังๆของ tyrant route หลังจากเกิด one fact / one view เกิด one us / one them แล้ว ก็จะเข้าสู่ยุคแห่ง miss-inform, propaganda และ manipulation ขยับไปเรื่อยๆจนถึง extermination คนที่เห็นต่างไปให้หมด

จะแก้ปัญหา หรือขยับบ้านเมืองไปข้างหน้าให้ได้ เราจะต้อง "เลิกตีตรา" และหันเข้าหาประเด็นปัญหาไปให้ถึงรากเหง้าที่มาได้ทุกเรื่อง เพราะเดี๋ยวนี้ พอจะดูข่าว อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังรายการอะไร แทนที่จะ focus ไปที่เนื้อหา ก็ต้องตีตราเสียก่อนว่าเป็น "สื่อสีอะไร" ที่เหลือเราก็พร้อมจะเชื่อ จะเกลียด จะฟัง จะด่า ไปโดยอัตโนมัติไปหมด สื่อสีนึงกลายเป็น "ตัวแทนปากเสียง" ของปัญหากลุ่มหนึ่งไปโดยอัตโนมัติ อีกฝ่ายจะไม่มีทางเห็นใจ หรือมองเห็นเข้าใจปัญหาเรื่องนี้ได้ (แต่ "เราเท่านั้น" ที่จะเข้าใจ และเป็นตัวแทนอย่างเต็มภาคภูมิ)

Phoenix



Posted by : phoenix , Date : 2010-07-23 , Time : 14:26:47 , From IP : 172.29.17.115

ความคิดเห็นที่ : 1


   เห็นด้วยกับสิ่งที่เขียนค่ะ แต่การแสดงความคิดเห็นต่างๆ นี้ มันไม่ตรงไปตรงมาค่ะ มันมีความซับซ้อนเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องอยู่เยอะ

ถ้าทุกคนเป็นคนดี เพียงแต่มีความคิดเห็นต่างกัน ตั้งใจทำเพื่อบ้านเมืองจริงๆ คงจะคุยกันง่ายกว่านี้

แต่อันนี้ไม่ใช่ ดูเหมือนว่า จะทำอะไรก็ได้ ไม่สนใจความถูกผิด ไม่ละอายและเกรงกลัวต่อบาป โกหกได้ไม่ผิด สร้างหลักฐานเท็จได้ ใช้การปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อได้เต็มที่ คนที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่มีเวลาไปตรวจสอบ ก็จะถูกหลอกให้เชื่อได้ง่ายค่ะ

อันนี้ ถือเป็นโชคร้ายของประเทศไทยค่ะ

ถ้าเรามีนักการเมืองคุณภาพ คงดีกว่านี้เยอะ



Posted by : จริงใจ , Date : 2010-07-25 , Time : 13:25:16 , From IP : 172.29.5.166

ความคิดเห็นที่ : 2


   ขอบคุณครับคุณจริงใจที่มาร่วมสนทนา

ผมเองคิดว่า "เงื่อนไขการเป็นคนดี" นั้นลำบากพอสมควรในการจะตั้งเป็นเงื่อนไขก่อนจะแสดงความเห็นอะไร ผมเองคิดว่าตั้งเอาไว้แค่ขอให้ "มันตรงกับสิ่งที่เราคิด เราเชื่อ และเรารู้สึก" หรือ authenticity เป็นพื้นฐาน และแสดงออกมาโดยมีความเคารพในสิทธิของผู้อื่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ส่วนใครจะเป็นคนดี ไม่ดี ถ้าให้เราเองเป็นคนตัดสินก่อนล่ะก็ อาจจะมี conflict of interest หรือความทับซ้อนแห่งการตีความเพื่อเกิดประโยชน์ได้

เดี๋ยวนี้ "เราทุกคน" เป็นคนสร้างสื่อนะครับ แต่ละคน สามารถสร้าง facebook สรัาง blog website อะไรๆที่เป็นสื่อสาธารณะได้มากมาย มีคนพยากรณ์ไว้ว่า แม้แต่กระแส mobilephone ก็จะไม่เท่าเมื่อ internet ลงไปอยู่ใน mobilephone ได้สมบูรณ์แบบและลดต้นทุนลงมาขนาดทุกคนมีได้ เมื่อนั้น power ของการแสดงความคิดเห็นก็จะระเบิดออกมาอย่างรุนแรงในสังคม

ถ้าเราไม่ได้ "เตรียมตัว" ให้ดี เอาแต่อารมณ์คล้อยตามสื่อ หรือเต็มไปด้วยการ "ด่วนตัดสิน" เราก็จะไม่สามารถรอดพ้นชะตากรรมอันใกล้นี้ไปได้แน่นอน


Posted by : phoenix , Date : 2010-07-29 , Time : 00:52:29 , From IP : 172.29.9.78

ความคิดเห็นที่ : 3


   การตัดสินคนจากอารมณ์ความรู้สึกให้เพื่อแยกระหว่าง ดี ชั่ว จะไม่ได้ดี-ชั่วที่แท้จริง

ได้แค่ "ถูกใจ"

คนดี-คนชั่ว ที่แท้จริง ต้องไม่ได้ขึ้นกับว่าใครเป็นคนตัดสิน แม้แต่ตัวเราเอง

แต่ผม "รู้สึก" ว่า ดี-ชั่ว ที่แท้จริงนั้นมีอยู่ และตีตราได้ ถ้ายึดหลัก อะไรสักอย่าง ?
----------------------------------------------------------------
แต่ (อีกประเด็นหนึ่ง) บังเอิญว่า ไม่มีใครดีไปหมดทุกอย่าง และ ไม่มีใครชั่วไปหมดทุกอย่าง

ส่วนไม่ดี ของคนดี อาจไม่ "ถูกใจ" คนกลุ่มหนึ่ง ก็จะถูกตีตราว่า "ไม่ดี"
ส่วน "ดี" ของคนชั่วคนหนึ่ง อาจ "ถูกใจ" คนกลุ่มหนึ่ง อาจจะตีจราได้ว่า เป็นคนดี
----------------------------------------------------------------
ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเรื่อง สื่อ
สมันก่อน ข้อมูลต่างๆ จะไปอยู่ในสื่อได้ไม่ง่าย ต้องผ่าน อย่างน้อยคงเป็นผู้ทำงานด้านสื่อ ที่ คาดว่ามีจรรยาบรรณในการนำเสนอ แหล่งข้อมูลก็มีจำกัด แต่ น่าจะเต็มไปด้วยความน่าเขื่อถือ มากกว่าหลอกลวง ดังนั้น เมื่อ 20 ปีก่อน สิ่งที่อยู่ในหนังสือ ตำรา น่าจะพอยึดถือได้ ผิดกับสมัยนี้ที่ใครๆ ก็ใส่เข้าไปได้ ไปซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่งมาใช้ แล้วดี ก็เอามาลงบอกต่อกัน คนอ่านก็เชื่อว่าดี ซื้อต่อๆกัน
วันก่อน มี FW mail เรื่องชื่นชมหมอท่านหนึ่ง และบรรยายความดีต่างๆ พร้อมระบุชื่อจริง เห็น list ของ การ FW แล้ว ก็คงผ่านมาหลายร้อย มาถึงผม ก็คงเป็นแค่เศษเสี่ยวของปริมาณที่กระจ่ายไปแล้ว นี่ยังดีที่เป็นเรื่องชื่นชม (แต่มองกลับกัน ถ้าหมอคนนั้นไม่ดีจริง อย่างใน mail นั้น ก็แปลกถึงเหล่งที่มาเหมือนกัน)

สื่อ เคเบิ้ลทีวีก็เป็นอีกแหล่ง ที่จ่ายน้อย คนเข้าถึงได้ง่าย แต่ตรวจสอบยาก ของที่โฆษณา ก็แปลกๆ
---------------------------------------------------------------------

แล้วเราจะรับมือกับสิ่งต่างๆเหล่านี้อย่างไรดี
สอนอะไรให้เยาวชนของเราดี
กาลามสูตร
ศีล 5
อริยสัจ 4

ที่จะหวังว่าเขาจะเป็น "คนดี"


Posted by : OmniSci , Date : 2010-07-30 , Time : 09:18:37 , From IP : 172.29.16.249

ความคิดเห็นที่ : 4


   ตอนนี้เอาแค่ "ห้อยแขวน ไม่ด่วนตัดสิน" ก่อน เป็นอันดับแรก

ชะลอการตัดสินว่าอะไรที่เราชอบ อะไรที่เราไม่ชอบ อะไรที่เราว่าดี อะไรที่เราว่าไม่ดี เดี๋ยวนี้มันเป็นยุคบริโภคด่วนโดยแท้ ในความหมายนี้ก็คึือ เราลดการครุ่นคิดใคร่ครวญอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ลงไปเหลือ pure emotional response หรือการใช้อารมณ์ช่วยตัดสินเรื่องราวต่างๆ

พอเราห้อยแขวนไว้นานพอ information ต่างๆค่อยๆจมลงผ่าน filter คือ true self ของเรา สิ่งที่เราเคยรู้ เคยเรียน เคยคิด เคยกระทำ เคยสะท้อน เข้ามาจับมาประกอบมาตกผลีก เราก็จะมีโอกาส "เข้าใจ" เรื่องราว ข้อมูลต่างๆได้อย่างละเอียดและประรีตยิ่งขึ้น

กระมัง?


Posted by : phoenix , Date : 2010-07-30 , Time : 15:51:25 , From IP : 172.29.17.115

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.009 seconds. <<<<<