ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

พรรคประชาธิปัตย์รอดไม่รอด


   แม้ยังมีเวลาหายใจหายคออีกระยะหนึ่ง กว่าศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดว่าประชาธิปัตย์มีความผิด ต้อง "ยุบพรรค" หรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าท่าทีและการแสดงออกต่างๆของคนในพรรค ส่อแสดงถึงความวิตกกังวลกันอย่างเห็นได้ชัด

เพราะไม่ค่อยมั่นใจว่าจะสู้คดีได้ ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจถึงข่าวที่มีการตั้งพรรคสำรองเพื่อรองรับหากถูกยุบจริง เนื่องจากต้องเตรียมพร้อมเอาไว้ก่อน

มีการจดทะเบียนพรรคเอาไว้ 2 ชื่อ คือพรรคไทยเข้มแข็ง และพรรคธรรมาธิปไตย ซึ่ง กกต.ได้ยืนยันว่ามีการดำเนินการจริง พรรค

แรกมีที่ทำการอยู่ที่หาดใหญ่ อีกพรรคมีที่ทำการอยู่ที่พิษณุโลก ซึ่งมีการระบุว่าเป็นญาติกับนายจุติ ไกรฤกษ์ เพราะหัวหน้าพรรคนามสกุลเดียวกัน

แม้ทั้ง 2 พรรคจะได้รับการปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกับประชาธิปัตย์ แต่เรื่องนี้ต้องดูกันยาวๆ เพราะถ้าไม่มีการเตรียมการตั้งพรรคสำรอง

นั่นถือว่าเป็นความประมาทอย่างร้ายแรง

การปฏิเสธว่าไม่มีการตั้งพรรคสำรองนั้นถือว่าเป็นการยอมรับความ พ่ายแพ้อย่างหมดรูป ก็ต้องออกลูกลีลาตามธรรมเนียมเพื่อไม่ให้หมดกำลังใจกันเสียก่อน และอาจจะถูกพรรคเพื่อไทย เสื้อแดง กระหน่ำซ้ำเติมได้

หรืออาจจะพูดได้ว่าพูดไปขาสั่นไป...ทำนองนั้น

ข้อหาจาก 2 คดี คือใช้เงินจากกองทุนสนับสนุนพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ผิดประเภทตามที่กฎหมายกำหนด คือจ้างทำป้ายหาเสียงที่มีขนาดใหญ่กว่ากำหนด

อีกคดีคือรับเงินบริจาคจากบริษัททีพีไอ โพลีน ของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผ่านบริษัทเมซไซอะ บิสิเนส แอนด์ ครีเอชั่น ซึ่งทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ ด้วยวงเงิน 263 ล้านบาท

คดีนี้ถูกระบุในข้อหาว่าเป็นการทำนิติกรรมอำพราง ซึ่งกรม สรรพากรได้ตรวจพบว่าไม่มีการเสียภาษี จึงมีการแกะรอยจนพบร่องรอยลักษณะทำนิติกรรมอำพราง และมีการฟอกเงิน โดยมีนายประจวบ สังขาว เป็นตุ๊กตาสำคัญ

ซึ่งเรื่องนี้เมื่อกรมสรรพากรได้เรียกเก็บภาษีจากนายประจวบ 10 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าคนของพรรคประชาธิปัตย์ที่เกี่ยวข้องไม่ได้เข้าไปแก้ไขปัญหาตั้งแต่แรก ปล่อยให้นายประจวบโดนอยู่คนเดียว

นั่นเป็นเหตุให้นายประจวบไม่พอใจ และออกมาแฉว่าอะไรเป็นอะไร ใครเป็นใคร

จากนั้นดีเอสไอก็รับลูกต่อ มีการสอบสวนและพบมีมูลจึงส่งลูกให้ กกต.สอบสวนต่อ ซึ่งแรกๆทำท่าว่าจะจบ เพราะประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เห็นว่าไม่มีมูล แต่ กกต.อีกส่วนเห็นว่ามีมูล จึงเกิดปัญหาขึ้นมา

สุดท้าย เมื่อให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว กกต.มีมติเอกฉันท์ว่ามีความผิดต้องยุบพรรค จึงส่งเรื่องให้อัยการเพื่อดำเนินการตามขั้นในการสั่งฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏอัยการเห็นว่าสำนวนอ่อนจึงส่งกลับให้ กกต. และมีการตั้งกรรมการร่วมเพื่อทำสำนวนใหม่ร่วมกัน

จากนั้นก็ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด

ท้ายคำฟ้องระบุว่าให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค

และกรรมการบริหารพรรค มีกำหนด 5 ปี เนื่องจากขณะเกิดเหตุเป็นผู้มีส่วนร่วมรู้เห็นและปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำผิดแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไข

นอกจากให้ยุบพรรคแล้ว หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหาร 49 คน ต้องถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี และไม่สามารถไปยื่นจดทะเบียน

พรรคใหม่ได้ นอกจากนั้น ยังเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ไม่ได้

ในจำนวนผู้ที่จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง นอกจากนายกฯรัฐมนตรี ส.ส.แล้ว ยังมี ส.ส. รัฐมนตรีที่ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นด้วย

"เงิน-ทอง" ของบาดใจ อาจทำให้พรรคเก่าแก่ต้องล่มสลายได้.


จาก นสพ.ไทยรัฐ 16 กค. 53



Posted by : sea , Date : 2010-07-16 , Time : 12:10:45 , From IP : 172.29.1.73

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.002 seconds. <<<<<