ความคิดเห็นทั้งหมด : 4

เคยอ่านกันบ้างหรือเปล่าครับ "จรรยาบรรณ ข้าราชการพลเรือน"


   http://medinfo.psu.ac.th/file/2006_morals_2537.pdf

ผมเองก็ไม่เคยกด link ที่อยู่หน้าแรกของคณะ ออกมาอ่านเลย

วันนี้ได้มีโอกาสเอามาอ่าน

ถ้าเข้าใจไม่ผิดเขามีไว้ตั้งแต่ 2537 แล้ว

คงเคยอ่านกันแล้ว

หรือถ้าไม่เคยก็ลองอ่านดูครับ





เราเกลียดคนโกงชาติ
เราก็น่าจะเกลียดคนที่ไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณข้าราชการด้วย เพราะ ก็เท่ากับโกงระบบราชการ โดยเฉพาะ ข้าราชการที่หมายถึง ข้าฯ ที่ทำงานให้ในหลวง


Posted by : omnisci , Date : 2010-03-05 , Time : 12:17:22 , From IP : 172.29.16.249

ความคิดเห็นที่ : 1


   ข้อบังคับ ก.พ.

ว่าด้วยจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือน

พ.ศ. ๒๕๓๗

____________________



โดยที่ข้าราชการพลเรือนมีหน้าที่และความรับผิดชอบสำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ฉะนั้น เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนมีความประพฤติดีสำนึกในหน้าที่ สามารถประสานงานกับทุกฝ่ายตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลยิ่งขึ้น จึงสมควรให้มีข้อบังคับ ก.พ. ว่าด้วยจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือนไว้เป็นประมวลความประพฤติเพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและส่งเสริมชื่อเสียง เกียรติคุณ เกียรติฐานะของข้าราชการพลเรือน อันจะยังผลให้ผู้ประพฤติเป็นที่เลื่อมใส ศรัทธา และยกย่องของบุคคลโดยทั่วไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘(๕) และมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงออกข้อบังคับ ก.พ. ว่าด้วยจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือนไว้ดังต่อไปนี้



จรรยาบรรณต่อตนเอง



ข้อ ๑ ข้าราชการพลเรือนพึงเป็นผู้มีศีลธรรมอันดี และประพฤติตนให้เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ

ข้อ ๒ ข้าราชการพลเรือนพึงใช้วิชาชีพในการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ และไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ในกรณีที่วิชาชีพใดมีจรรยาวิชาชีพกำหนดไว้ ก็พึงปฏิบัติตามจรรยาวิชาชีพนั้นด้วย

ข้อ ๓ ข้าราชการพลเรือนพึงมีทัศนคติที่ดี และพัฒนาตนเองให้มีคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และทักษะ ในการทำงานเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลยิ่งขึ้น



จรรยาบรรณต่อหน่วยงาน



ข้อ ๔ ข้าราชการพลเรือนพึงปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความสุจริต เสมอภาคและปราศจากอคติ

ข้อ ๕ ข้าราชการพลเรือนพึงปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ รอบคอบ รวดเร็ว ขยันหมั่นเพียร ถูกต้องสมเหตุสมผล โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการและประชาชนเป็นสำคัญ

ข้อ ๖ ข้าราชการพลเรือนพึงประพฤติตนเป็นผู้ตรงต่อเวลา และใช้เวลาราชการให้เป็นประโยชน์ต่อทางราชการอย่างเต็มที่

ข้อ ๗ ข้าราชการพลเรือนพึงดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า โดยระมัดระวังมิให้เสียหายหรือสิ้นเปลืองเยี่ยงวิญญูชนจะพึงปฏิบัติต่อทรัพย์สินของตนเอง



จรรยาบรรณต่อผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงาน



ข้อ ๘ ข้าราชการพลเรือนพึงมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน การให้ความร่วมมือช่วยเหลือกลุ่มงานของตนทั้งในด้านการให้ความคิดเห็น การช่วยทำงาน และการแก้ปัญหาร่วมกัน รวมทั้งการเสนอแนะในสิ่งที่เห็นว่าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนางานในความรับผิดชอบด้วย

ข้อ ๙ ข้าราชการพลเรือนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา พึงดูแลเอาใจใส่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทั้งในด้านการปฏิบัติงาน ขวัญ กำลังใจ สวัสดิการ และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาด้วยหลักการและเหตุผลที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

ข้อ ๑๐ ข้าราชการพลเรือนพึงช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทางที่ชอบ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจในบรรดาผู้ร่วมงานในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ข้อ ๑๑ ข้าราชการพลเรือนพึงปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานตลอดจนผู้เกี่ยวข้องด้วยความสุภาพ มีน้ำใจและมนุษยสัมพันธ์อันดี

ข้อ ๑๒ ข้าราชการพลเรือนพึงละเว้นจากการนำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน



จรรยาบรรณต่อประชาชนและสังคม



ข้อ ๑๓ ข้าราชการพลเรือนพึงให้บริการประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความเป็นธรรมเอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ และใช้กิริยาวาจาที่สุภาพอ่อนโยน เมื่อเห็นว่าเรื่องใดไม่สามารถปฏิบัติได้หรือไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนจะต้องปฏิบัติ ควรชี้แจงเหตุผลหรือแนะนำให้ติดต่อยังหน่วยงานหรือบุคคลซึ่งตนทราบว่ามีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ต่อไป

ข้อ ๑๔ ข้าราชการพลเรือนพึงประพฤติตนให้เป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วไป

ข้อ ๑๕ ข้าราชการพลเรือนพึงละเว้นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินปกติวิสัยที่วิญญูชนจะให้กันโดยเสน่หาจากผู้มาติดต่อราชการ หรือผู้ซึ่งอาจได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ราชการนั้น หากได้รับไว้แล้วและทราบภายหลังว่าทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ที่รับไว้มีมูลค่าเกินปกติวิสัยก็ให้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการตามสมควรแก่กรณี

ข้อ ๑๖ ข้อบังคับฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป



ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

(ลงชื่อ) ชวน หลีกภัย

(นายชวน หลีกภัย)

นายกรัฐมนตรี

ประธาน ก.พ.



Posted by : omnisci , Date : 2010-03-05 , Time : 15:04:34 , From IP : 172.29.16.249

ความคิดเห็นที่ : 2


   จริงๆ มีของคณะแพทย์ มอ.โดยเฉพาะ พ่วงท้ายไว้ด้วย



ขอ post ไว้ ณ วันที่ ธรมมะ พ่ายแพ้ อธรรม

หลักการที่ตั้งอยู่บนความถูกต้องและคุณธรรม ไม่สามารถใช้ได้ในสังคมของเรา

หลักการที่มาจากความถูกใจ และซิกแซก เป็นที่ยอมรับกันว่า จะสร้างความสงบสุขได้มากกว่า


Posted by : omnisci , Date : 2010-03-05 , Time : 15:08:26 , From IP : 172.29.16.249

ความคิดเห็นที่ : 3


   นึกถึงเรื่องของขงจื้อเรื่องหนึ่ง

ทรราชย์ร้ายกว่าเสือ

ครั้งหนึ่ง ขณะที่ขงจื๊อนั่งรถผ่านเชิงเขาไท่ซาน เห็นที่ข้างทางมีสตรีผู้หนึ่ง
สวมเสื้อสำหรับไว้ทุกข์ที่ทอด้วยป่าน กำลังซบหน้าลงบนหลุมศพร่ำไห้อย่างหน้าเวทนา ขงจื๊ออยากทราบสาเหตุ จึงสั่งให้หยุดรถ แล้วให้จื่อก้งผู้เป็นศิษย์ลงจากรถ ไปถามผู้หญิงผู้นั้น
จื่อก้งเดินไปที่ข้างหลุมศพ ถามว่า "ได้ยินเสียงร้องไห้ของน้าแล้ว รู้ว่าน้ามีความเศร้าโศกเสียใจมาก ไม่ทราบว่าได้เกิดเรื่องอะไรขึ้น?"
หญิงคนนั้นเงยหน้าขึ้น น้ำตาไหลพราก กล่าวว่า"ในย่านนี้มีเสือร้ายออกมารังควาญเป็นประจำ บิดาสามีของข้าพเจ้าตายเพราะมัน ต่อมาสามีของข้าพเจ้าก็ถูกมันกัดตายและบัดนี้ มันก็กัดบุตรชายของข้าพเจ้าตายอีก เรื่องเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ข้าพเจ้าเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง"

ขงจื๊อลงมาจากรถม้าถามว่า "เมื่อเสือมันดุร้ายเช่นนี้ ทำไมพวกท่านจึงไมย้ายไปอยู่ที่อื่นเสียเล่า ?"
หญิงผู้นั้นตอบว่า "เพราะที่นี่เป็นที่ทุรกันดาร ไม่มีทรราชย์"

ขงจื๊อนิ่งอึ้งไปชั่วขณะแล้วกล่าวกับศิษย์ของตนว่า "พวกเจ้าจงจำไว้ว่าทรราชย์นั้นร้ายยิ่งกว่าเสือร้ายเสียอีก"

บันทึกใน หลี่จี้

มุมมองปรัชญา
เสือนั้นกินคน แต่ความโหดเหี้ยมใช้อำนาจบาตรใหญ่ของพวกเจ้าขุมูลนาย
ก็กินคนเหมือนกัน มิหนำซ้ำยังอาจร้ายยิ่งกว่าเสียเสียอีก

จากหนังสือ ปรัชญาชีวิตในสุภาษิตจีน ของสำนักพิมพ์สุขภาพใจ



Posted by : Dhan , Date : 2010-03-07 , Time : 01:35:48 , From IP : 172.29.5.98

ความคิดเห็นที่ : 4


   เรื่องที่เล่าต่อกันมานาน ๆ อาจมีผิดเพี๊ยนไปบาง อีกคำตอบของหญิงผู้นี้ที่เคยได้ยินมาคือ

"เพราะที่นี่ ผู้ปกครองมีคุณธรรม"

ไม่ว่าคำตอบคืออะไร ความหมายที่เข้าใจได้คือ หากผู้ปกครองมีคุณธรรม ต่อให้ทุรกันดานอันตรายก็อยู่ได้ แต่ถ้าผู้ปกครองไร้คุณธรรมไปอยู่ป่าเขาให้เสือกัดตายยังดีกว่า



Posted by : Dhan , Date : 2010-03-07 , Time : 01:43:23 , From IP : 172.29.5.98

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<