มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก/ดร.ชิต เหล่าวัฒนา
มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก/ดร.ชิต เหล่าวัฒนา
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 กุมภาพันธ์ 2553 05:56 น.
เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ผมและเพื่อนๆหลายคนดีใจที่ได้รับทราบข่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เป็นหนึ่งในรายชื่อที่ทางกระทรวงศึกษาจะให้งบประมาณสนับสนุนในฐานะมหาวิทยาลัยวิจัยต้นแบบ ได้ยินว่าทางรัฐบาลต้องการให้พัฒนาจนถึงเป็น มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก
อย่างไรก็ตาม ประกาศออกมาอย่างดิบดี จนกระทั่งเปลี่ยนรัฐมนตรีไปแล้ว งบประมาณยังไม่มา และได้ข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า งบประมาณดังกล่าวอาจถูกยกเลิกไปแล้วครับ ผมหวังว่าพวกเราอย่าไปหงุดหงิด หรือผิดหวังไปมากจนเกินขอบเขตแห่งความพอดี โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยคู่แข่งเราใน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่รัฐบาลของเขาให้งบประมาณสนับสนุนเต็มที่
มองในแง่ดีแล้ว สถานการณ์เช่นนี้พวกเราต้องทำงานให้หนักขึ้น และเก่งขึ้นกว่าคู่แข่งของเรา เช่น ที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ยังคงต้องรับทำงานออกแบบ/สร้างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้แก่ภาคอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อหาทุนการศึกษาและงบประมาณวิจัยแก่บัณฑิตศึกษา กิจกรรมนี้ทำให้ฟีโบ้มีประสบการณ์จริงกับงานวิจัยประยุกต์ แม้ว่าในขณะเดียวกันความเข็มแข็งในงานวิจัยพื้นฐานจะลดลงไป สำหรับสาขาที่ไม่สามารถหาทุนวิจัยจากภาคเอกชนได้แก่ สังคมศาสตร์ และ อื่นๆ นั้น ผมหวังว่ารัฐบาลไทยจะให้ความช่วยเหลือนะครับ หากใช้แต่เพียงหลักการว่ากิจกรรมที่มหาวิทยาลัยไทยทำต้อง คุ้มทุน ทางตัวเลขบัญชี จากประสบการณ์ทางการศึกษาและวิจัยที่ผมได้รับจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ผมเชื่อว่าในระยะยาวหากเรามัวแต่คิดเรื่องคุ้มทุน ต้นทุนทางวิชาการของประเทศจะลดลงไปอย่างมาก
สังคมวิจัยของประเทศไทยโชคดีที่เรายังมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังคอยชี้แนะทิศทางที่ถูกต้องอยู่เสมอ อาทิเช่น ท่าน ศาตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช อดีตผู้อำนวยการกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว) ได้ให้ความเห็นที่สำคัญเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ดังนี้
ต้องเริ่มด้วยการสร้างฐานวิจัย การเปิดหลักสูตร ป. เอกโดยอาจารย์ยังไม่มีฐานงานวิจัยของตนเอง ไม่ใช่วัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก
ตัวแรงจูงใจหลักในการเปิดหลักสูตรต้องไม่ใช่เพื่อความมั่งคั่งด้านเงินตรา แต่เป็นความมั่งคั่งด้านปัญญาหรือความรู้ ม. วิจัยระดับโลกต้องไม่เปิดหลักสูตรที่ทำให้ตนเองอ่อนแอด้านการวิจัย การเริ่มที่การสร้างฐานวิจัยโดยอาจารย์ จะทำให้อาจารย์มีชื่อเสียง สามารถดึงดูดศิษย์ที่เก่ง ต้องการเรียนรู้จริงๆ มีความพิศวงจริงๆ เข้ามาเรียน
มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกต้องเลือกนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นศ. ป. เอก เลือกเฉพาะ นศ. ที่มีแรงบันดาลใจ มีความพิศวง ต่อเรื่องที่ตนสนใจ อย่างถึงขนาด
มหาวิทยาลัยวิจัยต้องไม่รับนักศึกษาที่เข้าเรียนเพียงเพราะอยากได้ปริญญา และอยากเรียนง่ายๆ ไม่ต้องการทำงานหนัก
กรรมการบริหารของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ได้นำหลักการของศาตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช นี้ มาใช้ดำเนินการโครงการปริญญาเอกของสถาบันฯ และใช้สำหรับพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการศึกษาระดับปริญญาเอก ในรอบแรกมีผู้สมัครกว่า 100 ท่าน คณะกรรมการคัดเหลือเพียง 11 ท่าน หรือประมาณหนึ่งในสิบเท่านั้น
โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://study.fibo.kmutt.ac.th/ ผู้สมัครต้องผ่านการคัดเลือกที่เข้มข้มจากคณาจารย์ประจำหลักสูตรด้วยวิธีการสอบข้อเขียนและ/หรือการสอบสัมภาษณ์เพื่อตรวจสอบ แรงบันดาลใจ มีความพิศวง ต่อเรื่องที่ตนสนใจ อย่างถึงขนาด รวมทั้ง พิจารณาผลการศึกษาระดับปริญญาตรี/โท และประวัติการทำงานนอกจากอุปกรณ์การวิจัยทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแล้วนักศึกษาสามารถใช้บริการของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งมีหนังสือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งหมดประมาณ 179,610 เล่ม และมีวารสารทางวิชาการภาษาไทยจำนวน 1,098 และภาษาอังกฤษ 1,399 รายการ วิทยานิพนธ์และโครงงานศึกษา 27,138 เล่ม บทเรียนแบบ e-Learning จำนวน 176 วิชา
นอกจากนี้ยังมีบริการด้านบรรณสารสนเทศและบริการยืมหนังสือจากห้องสมุดของสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกที่ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยพระจอมเกล้ามีความร่วมมืออยู่ ผมขอเน้นว่านักศึกษาที่อยู่ในโครงการนี้คือนักวิจัยเต็มเวลา (Full Time) ต้องมีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติในระดับเดียวกันกับนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยท็อปเทน ขั้นตอนที่นักศึกษาต้องผ่านเพื่อให้จบการศึกษามีดังนี้ครับ
1.การสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) ให้เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
2.นักศึกษาจะต้องสอบเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ (Dissertation Proposal) ภายในภาคการศึกษาที่ 3 สำหรับนักศึกษาที่จบปริญญาโท และภายในภาคการศึกษาที่ 5 สำหรับนักศึกษาที่จบปริญญาตรี นับตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษา
3.มีคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ (Advisory Committee) ที่ประกอบด้วยอาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์และอาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ร่วม (ถ้ามี) และอาจารย์ และ/หรือผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 3 ท่าน โดยอาจารย์ และ/หรือ ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการอื่น ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 1 ท่าน
4.ระเบียบและข้อกำหนดอื่นๆ สำหรับการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต ให้เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
5.ขั้นตอนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่อยู่ในโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศจะเป็นไปตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นและ/หรือขั้นตอนที่กำหนดไว้ในสัญญาความร่วมมือที่ทำไว้กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศนั้นๆ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
Posted by : insulin , Date : 2010-02-23 , Time : 08:53:30 , From IP : 172.29.15.136
|