ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

เผย 10 วันฉีดวัคซีนหวัด 2009 กว่า 4 หมื่นราย พบ4 รายกระทบรุนแรง




   เผย 10 วันฉีดวัคซีนหวัด 2009 กว่า 4 หมื่นราย พบ4 รายกระทบรุนแรง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 มกราคม 2553 17:28 น.


กรมควบคุมโรค เผยฉีดวัคซีนไปแล้ว 10 วัน ยอดผู้มารับบริการพุ่งกว่า 4 หมื่นราย พร้อมแจงถึงระบบการเฝ้าระวังอาการที่ไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนทั้งระบบปกติและ Call Center พบมีอาการหลังฉีดวัคซีน 23 ราย ในจำนวนนี้อาการรุนแรง 4 ราย

วันที่ 22 มกราคม นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูง 5 กลุ่ม ในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 11-21 มกราคม 2553 รวมระยะเวลา 10 วัน ได้รับรายงานมีผู้รับวัคซีนแล้ว 40,865 ราย ซึ่งขณะนี้ทุกจังหวัดได้ดำเนินการฉีดวัคซีนครบทุกจังหวัดแล้ว และวัคซีนได้จัดส่งไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งหมด 1,194 แห่ง จำนวนวัคซีน 1,029,970 โด๊ส แยกเป็นโรงพยาบาลของรัฐ 994,090 โด๊ส ใน 982 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 35,880 โด๊ส ใน 212 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ส่วนการเฝ้าระวังอาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีน ซึ่งมีการรายงานทั้งในระบบปกติและ Call Center 16 หมายเลข มีรายงาน 23 ราย อาการไม่รุนแรง 19 ราย เช่น ไข้ ปวดเมื่อย เวียนศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน ประจำเดือนมาก่อนกำหนด ใจสั่น มีผื่นขึ้น ชาบริเวณใบหน้า ปวดบวมแดงบริเวณฉีด ทุกรายอาการเป็นปกติหมดแล้ว และผู้ที่มีอาการรุนแรง 4 ราย ประกอบด้วย 1.เพศชาย อายุ 31 ปี อาการปากเบี้ยวด้านซ้าย 2.เพศหญิง อายุ 38 ปี มีอาการไข้ หอบเหนื่อย ไตวาย 3.หญิงตั้งครรภ์ อายุ 31 ปี เด็กในครรภ์เสียชีวิตหลังคลอด 4.เพศหญิงอายุ 29 ปี อาการแพ้วัคซีนมีผื่นขึ้น หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก หลังฉีดวัคซีน 5 นาที ซึ่งอยู่ในช่วงเฝ้าระวังสังเกตอาการได้รับการดูแลรักษา ขณะนี้เป็นปกติแล้ว



ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต


นพ.มานิต กล่าวต่อว่า สำหรับระบบการเฝ้าระวังอาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีน มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1.เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาได้ทันท่วงที 2.เพื่อให้ทราบข้อมูลการฉีดวัคซีน ภาวะแทรกซ้อนและนำไปจัดระบบความปลอดภัยในการให้วัคซีนต่อไป ซึ่งระบบการเฝ้าระวังนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยที่รายงานมาทุกรายจะเกิดจากวัคซีนทั้งหมด ส่วนข้อมูลการสอบสวนโรคจะถูกส่งให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาอีกครั้งว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ เช่น กรณีผู้ป่วยรายที่ 1 มีอาการปากเบี้ยวด้านซ้าย ที่เกิดอาการหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 4 ชั่วโมง คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเพราะระยะเวลาการเกิดอาการหลังฉีดวัคซีนเร็วเกินไปที่จะเป็นกรณีวัคซีนกระตุ้นให้เกิดอาการทางระบบประสาทน่าจะเป็นการเกิดขึ้นพร้อมกันโดยบังเอิญ กรณีผู้ป่วยรายที่ 2 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า ผู้ป่วยรายนี้น่าจะป่วยด้วยโรคทางภูมิคุ้มกันซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมและขณะนี้ได้รับการดูแลรักษาอาการดีขึ้นแล้ว กรณีผู้ป่วยรายที่ 3 ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ได้ ยังต้องรอผลการตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไปแต่การเสียชีวิตของทารกในช่วงคลอดตามปกติ ถ้าไม่มีการฉีดวัคซีนก็จะเกิดขึ้นได้ 6 ราย ต่อเด็กคลอด 1,000 คน ดังนั้นในกรณีนี้ยังไม่ถือว่าผิดสังเกต แต่อย่างไรก็ตามต้องรอผลการตรวจอย่างใกล้ชิดและเฝ้าระวังการฉีดวัคซีนในรายอื่นต่อไป และในกรณีรายสุดท้าย เป็นอาการแพ้วัคซีนที่รุนแรงที่ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ แต่อย่างไรก็ตามมาตรการความปลอดภัยที่กำหนดให้ฉีดวัคซีนเฉพาะในโรงพยาบาลและการพักสังเกตอาการ 30 นาที ดังกรณีผู้รับวัคซีนรายนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถดูแลแก้ไขได้ทันท่วงที ดังเช่นในรายนี้และขณะนี้อาการปกติแล้ว

ดังนั้น ในขณะนี้ถือว่าการฉีดวัคซีนยังมีความปลอดภัย แต่เพื่อความไม่ประมาทจะต้องคงมาตรการที่กรมควบคุมโรคกำหนดแนวทางการฉีดวัคซีนไว้อย่างเคร่งครัด ประกอบกับขณะนี้โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 มีการระบาดมากขึ้นในหลายพื้นที่หลายชุมชน ดังนั้นการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายเสี่ยงสูงจึงมีประโยชน์มาก หากต้องการคำแนะนำหรือความช่วยเหลือ รวมถึงการเปิด Call Center ตลอด 24 ชั่วโมง ให้ผู้รับบริการแจ้งอาการหรือข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง 16 หมายเลข 082 – 7881619 ถึง 082 – 7881634 และประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02 590 3333




Posted by : thiopental , Date : 2010-01-24 , Time : 13:53:41 , From IP : 113.53.8.178

ความคิดเห็นที่ : 1


   ขอบคุณที่นำเรื่องดีๆมาเล่าสู่กันฟัง

Posted by : คนกันเอง , Date : 2010-01-25 , Time : 16:35:23 , From IP : 172.29.2.117

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<