มารู้จักแพทย์ผิวหนังกัน
ข้อมูลจากสมาคมแพทย์ผิวหนัง link http://www.dst.or.th/news_details.php?news_id=26&news_type=kno
แพทย์ผิวหนังคือใคร
ประชาชนทั่วไปอาจกำลังสับสนว่า แพทย์ผิวหนังคือใคร จริง ๆ แล้วแพทย์ที่ดูแลปัญหาด้านผิวหนังอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง หรือ อาจเรียกสั้น ๆ ว่า แพทย์ผิวหนัง หรือ Dermatologist ซึ่งในประเทศไทยมีหลักสูตรการอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาตจวิทยา (Residency Training) ที่ต้องใช้เวลาเรียน 4 ปี ซึ่งในปัจจุบันมีสถาบันฝึกอบรมในระดับนี้ 5 แห่ง ได้แก่
1.1 สาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1.2 หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
1.3 ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
1.4 แผนกผิวหนัง กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
1.5 สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ในแต่ละปีจะมีแพทย์ที่จบหลักสูตรการอบรมและสอบผ่านจนได้รับ วุฒิบัตร แสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาตจวิทยา จากแพทยสภา ประมาณ 20 คนเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีแพทย์จำนวนหนึ่งที่ผ่านการอบรมหลักสูตรอื่นและได้ทำงานดูแลผู้ป่วยโรคผิวหนังมาระยะหนึ่ง ก็มีสิทธิสอบ หนังสืออนุมัติ แสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาตจวิทยา จากแพทยสภาได้ ซึ่งถ้าสอบผ่านก็จะได้รับ หนังสืออนุมัติฯ (แต่ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เป็นต้นมาทางสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยและแพทยสภาได้ยกเลิกการสอบหนังสืออนุมัติฯ ไป)
แพทย์ที่มีวุฒิบัตรฯ หรือ หนังสืออนุมัติฯ สาขาตจวิทยา นี้เท่านั้นที่จะเป็น Dermatologist หรือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง ตามระเบียบของแพทยสภา และเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย แพทย์ในกลุ่มนี้สามารถทำการตรวจรักษาโรคผิวหนังและดูแลปัญหาด้านผิวพรรณความงามได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน
แพทย์ในกลุ่มนี้ซึ่งถึงแม้ว่าแพทย์ที่มีวุฒิบัตรฯ หรือ หนังสืออนุมัติฯ สาขาตจวิทยาแล้วก็ตาม ส่วนใหญ่ก็ยังมาเข้าประชุมด้านวิชาการอย่างสม่ำเสมอ เช่น การประชุมใหญ่สามัญประจำปี สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย การประชุม Dermatological Interhospital Conference เป็นต้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ของตนเองให้ทันสมัยอยู่เสมอ
ท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อแพทย์เหล่านี้ได้ที่
http://www.dst.or.th/list_search.php
http://www.tmc.or.th/service_check_doctor.php
2. แพทย์ที่ทำงานด้านโรคผิวหนัง อาจเรียกว่า แพทย์ดูแลโรคผิวหนังและผิวพรรณทั่วไป ซึ่งไม่ใช่ Dermatologist เพราะไม่ได้ผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์มาตรฐานของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยและแพทยสภา แต่สามารถเป็นสมาชิกสมทบของสมาศมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยได้ เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความรู้ด้านโรคผิวหนังและผิวพรรณมากขึ้น แพทย์ในกลุ่มนี้มีความแต่ต่างกันอย่างมากในแต่ละคน เพราะบางท่านอาจผ่านการอบรมด้านผิวหนังจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศแต่เป็นหลักสูตรที่สั้นและไม่ใช่หลักสูตรเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญ (แพทย์ประจำบ้าน หรือ Residency Training) ซึ่งมีหลักสูตรตั้งแต่ 4 เดือน, 10 เดือน, 1 ปี, และ 2 ปี หรือแพทย์บางท่านอาจไม่เคยผ่านการอบรมหลักสูตรใด ๆ ที่เกี่ยวกับด้านผิวหนังเลย เพียงแต่มีความสนใจทำงานด้านผิวหนัง หรือ เรียนรู้ขณะทำงานไปเรื่อย ๆ แพทย์เหล่านี้อาจนำวิธีการรักษาที่แปลกใหม่แต่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่มีหลักฐานทางวิชาการมาใช้ ซึ่งอาจเกิดผลเสียต่อผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการได้ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา
ดังนั้น ก่อนที่ท่านจะเข้ารับบริการปรึกษาด้านโรคผิวหนังหรือปัญหาด้านผิวพรรณความงานครั้งต่อไป ทุกท่านควรใส่ใจศึกษาถึงระดับการศึกษาอบรมด้านโรคผิวหนังของแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษาท่านให้ถี่ถ้วน รวมทั้งหากต้องมีการทำหัตถการต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการรักษาและหัตถการด้านผิวหนังมากมาย เช่น การทำเลเซอร์, IPL, การลอกหน้า, การขัดผิว, การฉีดสารต่าง ๆ เป็นต้น การทำหัตถการต่าง ๆ เหล่านี้บางอย่างวิธีการและเครื่องมืออาจไม่ผ่านมาตรฐานทางวิชาการและความปลอดภัยของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงควรสอบถามถึงวิธีการ ผลดี ผลเสีย ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งค่าใช้จ่าย ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจเข้ารับการรักษาด้วยหัตถการเหล่านี้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของตัวท่านเอง
นพ. จิโรจ สินธวานนท์
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง
23 พฤศจิกายน 2552
Posted by : {O_k} , Date : 2009-11-27 , Time : 19:25:04 , From IP : mx-ll-58.147.23-139.static.tttmaxnet.com
|