ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

จิตตปัญญาเวชศึกษา 90: อภิชาตศิษย์ (2)


   อภิชาตศิษย์ (2)

เมื่อวานนี้ผมได้มีโอกาสคุมกิจกรรมการเรียน การสอนการสร้างเสริมสุขภาพ (health promotion) เป็น learning session ของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ที่แฝงอยู่ใน block pre- and postoperative care ของที่ ม.อ. (สงขลานครินทร์) เป็น session ประเภทเดียวกับที่เคยเขียนมาเล่าให้ฟังแล้วครั้งหนึ่งในเรื่อง "อภิชาตศิษย์" ก็มีเรื่องราวน่าสนใจอีก (ที่จริงในกิจกรรมนี้ แทบจะเรียกได้ว่าทุกครั้ง ผมได้เจอะเจอมองเห็นศักยภาพอันมเหาฬารของนักศึกษาแพทย์ แต่ไม่ได้นำมาเล่าทุกเรื่อง)

น้อง นศพ.ก็เล่าเรื่อง (การนำเสนอ case ในกิจกรรมนี้ จะไม่ได้นำเสนอแบบ "classic" ของกิจกรรมวิชาการแพทย์ ที่มักจะขึ้นด้วย "ผู้ป่วยหญิงไทยคู่ บ้านอยู่สงขลา อาชีพ...." แต่จะเปิดตัวคล้ายๆภาพยนต์ สร้างบรรยากาศและสร้าง background ให้เรา "นึกภาพออก" คือเกิด "ภาพพจน์" ของคนไข้ขึ้นมาชัดเจนยิ่งขึ้น) ของผู้ป่วยรายนี้ให้ฟัง เป็นกรณีอุบัติเหตุจราจร คนไข้และสามีเดินทางด้วยรถยนต์ตอนเช้ามืด จากพัทลุงมาเข้าหาดใหญ่ ซึ่งก็ไม่ได้ไกลอะไรมากนัก มีผู้โดยสารคือลูกสาว อายุ 11 ปีมาด้วยอีกคน สามีเป็นคนขับรถ ก็ขับๆมาจนใกล่้หาดใหญ่แล้ว รู้สึกว่าใกล้ที่หมาย คนไข้่ที่นั่งด้านหน้าคู่คนขับจึงได้ถอดเข็มขัดนิรภัยออก ตอนนัั้นเอง ที่รถได้เสียหลักถลาจากถนน (มาทราบทีหลังว่าสามีหลับใน) คว่ำลงไปข้างทาง คนไข้ได้รับบาดเจ็บต้องผ่าตัดในช่องท้องหลายแห่ง สามีมีกระดูกแขนหัก ลูกสาวก็พกช้ำนิดหน่อย ทั้งสองคนเจ็บไม่มากเท่ากับคนไข้และสามารถออกจาก รพ.ก่อนผป.หลายอาทิตย์

ใน การทำกิจกรรมนี้ เราจะให้นักเรียนแพทย์ไปสืบค้นหา 1) impact ของการเจ็บป่วยต่อสุขภาวะมิติต่างๆ 2) สาเหตุ หรือพฤติกรรมนำที่เกี่ยวข้องกับการเกิดการเจ็บป่วยในครั้งนี้ และ 3) กระบวนการสร้างเสริมพลังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่นักศึกษาอยากจะทำให้แก่ ผู้ป่วย

เดี๋ยว นี้นักศึกษาแพทย์ไม่มีปัญหาในการค้นหาและเชื่อมโยงมิติของสุขภาพแบบองค์รวม แล้ว สามารถนำเสนอได้ครบ ไม่ยากเย็นหรือท้าทายแต่อย่างใด แต่ highlight ของกิจกรรมนี้มีสองช่วงคือ ผมจะให้มีการสะท้อนประสบการณ์ตรงในการสืบค้นหาข้อมูลและเล่าแรงบันดาลใจ ที่มาของกิจกรรมที่นักเรียนอยากจะนำไปกระทำให้แก่คนไข้

ใน case นี้ปรากฏว่าหนึ่งในสาเหตุและหัวข้อที่น้องนักศึกษากลุ่มนี้คิดว่าเป็นปัญหา คือเรื่อง "ภาวะวิกฤติภายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" และก็อภิปรายเล่าสิ่งที่เขาคิดว่าน่าจะช่วยได้ไป แต่พอดีไม่ได้เล่ารายละเอียดว่าทำไมเขาถึงคิดว่าอุบัติเหตุจราจรแถวๆหาดใหญ่ จะไปเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับเรื่องนี้ได้ ก็เลยขอให้ทั้ง class ลองช่วยกันตีความ

* บ้านคนไข้เดิมอยู่สุไหงโกลก ถ้ามา follow up ที่นี่ ก็อาจจะมีปัญหาในการเดินทาง
* การทำกายภาพบำบัดที่บ้าน อาจจะทำไม่ได้ดี เพราะจะไปออกกำลังกาย ไปฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อแถวๆบ้านตอนเย็นๆก็อาจจะทำไม่ได้
* บางคนคิดว่าอาจจะเป็นสาเหตุ อุบัติเหตุได้ เพราะเคยเจอคนไข้ที่มาจากสามจังหวัดชายแดนมาตรวจที่ OPD จะต้องรีบกลับบ้านก่อนบ่ายสามโมง หรือไม่ช้ามากนักในตอนบ่าย เพราะไม่มีใครอยากขับรถตอนมืดๆ
* ท้องถนนเป็นพื้นที่อันตราย โดยไม่รู้ตัวหรือรู้ตัว คนไข้อาจจะมีแนวโน้มขับรถค่อนข้างเร็ว และไม่อยากหยุดพักแม้ว่าจะเหนื่อยหรือง่วง เพราะอยากจะกลับบ้านเร็วๆ ทำให้เกิดการหลับใน หรือขับเร็วเกินไปได้

ตอนฟังเหตุผลประกอบทีี่ทั้ง class รวมทั้งเจ้าของกลุ่ม ค่อยๆช่วยกันคิดเพ่ิมเข้ามา ผมก็เกิดความทึ่งและปลาบปลื้มใจในศักยภาพความสามารถการเชื่อมโยงของน้องๆ นักเรียนแพทย์มากเลยทีเดียว ผมพบว่าถ้าเราให้เวลาเขาเพียงพอ และให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเรื่องเหล่านี้ เด็กของเราจะทำได้ดีมาก และหลายๆประเด็นแม้แต่เราเองก็ยังนึกไม่ถึง แสดงถึงความละเอียดอ่อน และการมองแง่มุมได้หลากหลาย

จะเป็นอย่างไร ถ้าเขาเรียนและเชื่อมโยงแบบนี้กับทุกๆ case ที่รับ?

น่าเสียดายที่กิจกรรมที่ว่านี้ ดูจะ "กินเวลานาน" จนไม่ได้ทำกับทุก case (หรือทำจริงๆน้อยมาก) แต่ถ้าเรา มามองว่าเด็กนักเรียน (อืม... มันก็ไม่เด็กแล้วเนาะ เอาเป็นน้องนักเรียนแพทย์ดีกว่า) จะ "ได้อะไรบ้าง" จากการสะท้อน และฝึกเชื่อมโยงเรื่องแบบนี้?

ผมคิดว่าจากการที่เคยอ่านเรื่องเข้าประกวด "การให้การบริการสุขภาพด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์" ที่ HA Forum จัดมาสองปีแล้วนี่ พอจะสรุปได้อย่างหนึ่งก็คือ "แรงบันดาลใจในวิชาชีพของเราไม่ได้หายากอะไร ขอเพียงเราตั้งใจมองหาเท่านั้น" แต่คนที่จะมองเห็นเรื่องแบบนี้ อย่างที่เขียนเล่ากันมามากมาย จะต้อง "อยู่กับปัจจุบันให้เป็น"

นอกจากอยู่กับปัจจุบันให้เป็นแล้ว จะต้่องมีจิตที่ "ละเอียด" ซึ่งไม่ใช่ละเอียดแบบถี่ถ้วน แต่เป็นละเอียดอ่อน ละมุนละมัย สุดท้ายจึงจะสามารถเล่าออกมาอย่างที่เขียนกันมาได้

ไปๆมาๆ การจะเกิดจิตวิญญาณวิชาชีพ หรือ professionalism อาจจะไม่ได้ต้องการการปรับเปลี่ยนหลักสูตร หรือแย่งกันคัดเลือกนักเรียนเรียนดีๆไปก่อนสถาบันอื่นๆ (เพื่อจะ claim ว่าเป็นผลงานของ "ฉัน") แต่อาจจะอยู่ที่การเขียนโลกภายในใหม่ของผู้ประเมินนักเรียน เพื่อที่จะเกิดเจตนคติในการเปิดพื้นที่การเติบโตทางจิตวิญญาณของนักเรียนที่ มีต้นทุนและศักยภาพสูงอยู่แล้ว ไม่ใช้ตัวเองเป็น "เพดาน" ขวางกั้นการงอกงามที่อาจจะไปได้ไกลกว่าครูอาจารย์เสียอีก เป็น "พุทธะปัญญา" หรือ space หรือช่องว่างการเจริญเติบโต
เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่แข็งแรงกว่าเก่า ดีกว่า สร้างความหวังใหม่ให้แก่สังคมในอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองต่อๆไปได้


Posted by : phoenix , Date : 2009-06-27 , Time : 12:26:47 , From IP : 172.29.9.230

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<