ความคิดเห็นทั้งหมด : 3

ม.อ.ผลิตอุปกรณ์ผ่าตัดรักษาโรคมือชา




   ทีมแพทย์ไทยเก่ง ประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยถ่างและส่องมองเนื้อเยื่อภายใน หลังรักษาผู้ป่วยไปแล้ว 14 ราย ได้ผล 100%ชูจุดเด่นต้นทุนต่ำ ประหยัดเงินในการรักษา และใช้เวลาผ่าตัดน้อย แผลมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยกลับบ้านได้ทันที...

นพ.สุนทร วงษ์ศิริ แพทย์ และอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ ม.อ.ประกอบด้วย นพ.สุนทร วงษ์ศิริ นพ.บุญสิน ตั้งตระกูลวนิช นพ.สิทธิโชค อนันตเสรี นพ.ปรเมศวร์ สุวรรณโณ นพ.วราห์ ยืนยงวิวัฒน์ และนายเอกรินทร์ วงษ์ศิริ ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการผลิต "อุปกรณ์ช่วยถ่าง และส่งมองเนื้อเยื่อภายใน สำหรับช่วยผ่าตัด" ภายใต้ชื่อ PSU Carpal Tunnel Retractor เพื่อรักษาอาการโรคมือชา ที่เกิดจากโรคพังผืดรัดเส้นประสาทข้อมือ ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาที่มือ บริเวณนิ้วและปลายนิ้วมือ

แพทย์ และอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ฯ ม.อ.กล่าวต่อว่า สำหรับอาการของโรคดังกล่าว มักพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 2-4 เท่า โดยอายุที่พบบ่อยที่สุด คือ ประมาณอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงสตรีมีครรภ์ และหลังคลอดบุตร รวมทั้งผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ โรคไทรอยด์เป็นพิษ โดยรูปแบบการรักษาแบบเดิมนั้น แพทย์จะให้ดมยาสลบ เพื่อทำการผ่าตัดประมาณ 60 นาที และมีแผลยาว 3-5 ซม. โดยหลังผ่าตัดผู้ป่วยยังต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่ออีก 1-2 วัน และต้องทนเจ็บแผลนานอีก 1-2 สัปดาห์

นพ.สุนทร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ที่แม้ว่าจะมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กเพียง 1-2 ซม. แต่ต้องใช้เวลาผ่าตัด 30-60 นาที โดยต้องดมยาสลบ และหลังจากการผ่าตัดยังต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีก 1-2 วัน ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่สำหรับการใช้อุปกรณ์ช่วยถ่างและส่องมองเนื้อเยื่อภายในสำหรับช่วยผ่าตัดที่ประดิษฐ์ขึ้น และใช้เวลาผ่าตัดเพียง 8-15 นาทีต่อราย และมีบาดแผลจากการผ่าตัดเพียง 1.5-1.8 ซม.โดยใช้การฉีดยาชาแทนการใช้ยาสลบ ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อย

แพทย์ และอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ฯ ม.อ.กล่าวถึงการรักษาด้วยเครื่องมือแบบใหม่ว่า ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล และ กลับไปทำงานได้ภายใน 1 สัปดาห์ เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์มองเห็นเนื้อเยื่อที่จะผ่าตัดได้ชัดเจน ทำให้การรักษาโรคมือชามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจากการทำการผ่าตัดรักษา เลาะพังผืดรัดข้อมือเพื่อรักษาผู้ป่วยในช่วงเดือน ก.ค.2551-ม.ค.2552 แล้วจำนวน 14 ราย พบว่ารักษาผู้ป่วยให้หายได้ครบทุกราย โดยไม่มีอาการของโรคแทรกซ้อนแต่อย่างใด

รายงานข่าวแจ้งว่า การผ่าตัดโดยอุปกรณ์ดังกล่าว จะเข้ามาทดแทนการผ่าตัดในรูปแบบเก่า ทำให้แพทย์ผ่าตัดทำการรักษาโรคมือชาได้เร็วขึ้น ลดการใช้ทรัพยากรและบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษา และยังลดค่าใช้จ่ายการซื้ออุปกรณ์ผ่าตัดจากต่างประเทศ เนื่องจากอุปกรณ์ช่วยถ่างและส่องมองเนื้อเยื่อภายในสำหรับช่วยผ่าตัดนั้น ผลิตได้ง่าย เนื่องจากใช้วัสดุสแตนเลส ต้นทุนต่ำราคาประมาณ 3,000 บาทต่อชิ้น และยังนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขณะนี้ ทางทีมแพทย์ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า นอกจากนี้ ทีมแพทย์ผู้ออกแบบและพัฒนาจาก ม.อ.ยังสนใจและร่วมพัฒนางานวิจัยทางคลินิก จากหลายสถาบัน เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ โดยอาจพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการรักษาและผ่าตัด ด้วยอุปกรณ์ช่วยถ่างและส่องมองเนื้อเยื่อภายใน สำหรับช่วยผ่าตัดแก้ปัญหาโรคมือชาต่อไปอีกด้วย

Ref : http://www.thairath.co.th/content/tech/8354



Posted by : livers , Date : 2009-05-25 , Time : 23:14:12 , From IP : 172.29.22.62

ความคิดเห็นที่ : 1




   Ref : http://www.thairath.co.th/content/tech/8354


Posted by : livers , Date : 2009-05-25 , Time : 23:16:12 , From IP : 172.29.22.62

ความคิดเห็นที่ : 2




    Ref : http://www.thairath.co.th/content/tech/8354


Posted by : livers , Date : 2009-05-25 , Time : 23:17:03 , From IP : 172.29.22.62

ความคิดเห็นที่ : 3


   อาจารย์ของเราเก่งมากเลยนะคะ ขอชื่นชมค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์คิดค้นนวัตกรรมเพื่อคนไข้และคนไทยอย่างนี้ต่อไปนะคะ

Posted by : มิเกะเนะโกะ , Date : 2009-05-27 , Time : 16:25:20 , From IP : 172.29.2.153

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.007 seconds. <<<<<