ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

มีประเด็นเรื่องชันสูตรศพมาให้วิจารณ์กันฮะ


   จาก เวปแพทยสภา ดูความรู้สึกของหมอท่านอื่นดูบ้าง

ร้องเรียนขอความเห็นใจ ขอความช่วยเหลือ และแก้ไข พรบ.ชันสูตรพลิกศพ

เนื่องด้วยตัวดิฉัน นางวรพินทร์ โกมุทบุตร อายุ 55 ปี อาชีพรับราชการ เป็นสูตินรีแพทย์ระดับ 9 ประจำโรง
พยาบาลนครพิงค์ อายุราชการ 31 ปี มีเรื่องร้องเรียนต่อแพทยสภาดังนี้
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2546 สามีของดิฉันเป็นศัลยแพทย์ อายุเท่ากัน ต้องไปร่วมชันสูตรพลิกศพที่ถูกฆาตกรรมในยามวิกาล ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง (ประมาณ 17-24 น.) ในพื้นที่น่ากลัวคือยอดภูเขาสุเทพด้านอำเภอแม่ริม เป็นภูเขาสูง ป่าเปลี่ยว สภาพอากาศฝนตกหนัก ทางลูกรังชำรุดเละ ข้างทางเป็นเหวลึก ยานพาหนะที่ใช้เป็นรถของอาสาสมัครขับเคลื่อน 4 ล้อ เพราะรถเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถไปได้ รถไม่แข็งแรง ไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ในภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ รถที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเสี่ยงต่อการถูกกราดยิงหรือระเบิดจากกลุ่มคนร้ายค้ายาเสพติด และยังต้องเดินบุกป่ากลางดึกอีกเกือบชั่วโมง เสี่ยงต่อภัยจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ เพียงเพื่อร่วมชันสูตร 3 ศพ ที่ถูกฆาตกรรม ที่เบื้องหลังของการฆาตกรรมหมู่นี้ซับซ้อน (ดังปรากฎอยู่ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นวันที่ 30 สิงหาคม และ 1 กันยายน 2546) เกี่ยวกับอิทธิพลผลประโยชน์และการหักหลังกันจนถึงวันที่เขียนหนังสือฉบับนี้ ยังไม่สามารถจับกุมกลุ่มผู้กระทำผิดได้ สามีของดิฉันกลับถึงบ้านพักประมาณ 1 นาฬิกาของวันที่ 31 สิงหาคมในสภาพทรุดโทรม ส่วนตัวดิฉันเองนั้นสภาพจิตใจระหว่างรอคอยสามีก็แสนจะเสื่อมทราม ถึงแม้จะพยายามปลอบใจตัวเองว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด แต่การสูญเสียสามีจากสาเหตุสุดวิสัยหรือโรคภัยไข้เจ็บคงพอทำใจได้ แต่ถ้าจะต้องสูญเสียสามีเพราะเขาต้องเอาชีวิตที่น่าจะมีประโยชน์ต่อคนไข้เป็น ๆ ที่รอรับบริการล้นหลามในโรงพยาบาลไปเสี่ยงกับการชันสูตรศพที่นับวันจะมากขึ้นตามความรุนแรงของพื้นที่ เพียงเพื่อให้ครบถ้วนตาม พรบ.ชันสูตรศพนั้น ดิฉันยอมรับไม่ได้ และขอความเห็นใจจากแพทยสภาว่า แพทย์ทุกท่านมิใช่เพียงสามีของดิฉันนี้เท่านั้นที่อยู่ในสภาพน้ำท่วมปากจำใจจำยอมออกไปชันสูตรศพ ถึงแม้ว่าจะได้ค่าตอบแทนให้ก็น่าจะมีแพทย์น้อยรายที่อยากได้ และเห็นด้วยกับ พรบ.ชันสูตรนี้ เพราะเคยมีแพทย์หญิงสาวออกไปทำหน้าที่นี้แล้วประสบอุบัติเหตุรถตกเหว เดชะบุญที่เธอบาดเจ็บไม่ถึงตาย แต่เธอคงฝันร้ายไปชั่วชีวิต เป็นกรณีเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน สุขภาพจิตของแพทย์และครอบครัวโดยไม่มีใครรับผิดชอบทุกท่านคงพูดได้แค่ "ขอแสดงความเสียใจ" แต่ผู้สูญเสียนั้นช้ำใจ
อย่าว่าแต่แพทย์ที่ต้องรับภาระรักษาดูแลคนไข้เป็น ๆ อยู่แล้วที่ขมขื่นกับ พรบ.ชันสูตรศพ แม้แต่แพทย์นิติเวชโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งยังกล่าวว่าถ้าถูกบังคับให้ออกไปชันสูตรศพอย่างสามีดิฉันแล้ว พวกเขาเหล่านั้นพร้อมใจลาออกหมด ตัวดิฉันเองก็บอกสามีเช่นกันว่า ถ้ายังต้องไปเสี่ยงชีวิตแบบนี้อีกก็ลาออกเถอะ ดังนั้น พรบ.ชันสูตรศพเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แพทย์ลาออก คนแล้วคนเล่า ดิฉันจึงความเห็นใจ ขอความช่วยเหลือจากแพทยสภาว่า
ขอให้แก้ไข พรบ.ชันสูตรศพให้เหมาะกับสภาพการณ์ที่เป็นจริงหรือยกเลิกไปเลย
แพทย์ควรสมัครใจออกชันสูตรศพด้วยแรงจูงใจ มิใช่ด้วยการถูกบังคับด้วยหน้าที่ กฎหมาย และผู้บังคับบัญชา
แพทย์ควรอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อบริการคนไข้ ศพควรเอามาให้แพทย์ชันสูตรที่โรงพยาบาล แพทย์ไม่ใช่นักสืบเก่งกาจจนต้องเอาไปบริการคนตายถึงที่

ขอแสดงความนับถือ
พญ.วรพินทร์ โกมุทบุตร


Posted by : จ่าพิชิต ขจัดพาลชน , Date : 2003-11-06 , Time : 16:47:22 , From IP : 172.29.2.108

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.002 seconds. <<<<<