ความคิดเห็นทั้งหมด : 8

**ขอคำตอบด่วน จากฝ่ายการเจ้าหน้าที่หรืองานคลัง หรือใครก็ได้ค่ะ เรื่องภาษี**


    ขอความช่วยเหลือจากผู้ที่ทราบข้อมูลค่ะ เกี่ยวกับการเสียภาษีของแพทย์ที่ทำคลีนิคนอกเวลา ที่จากเดิมค่าคลีนิคนอกเวลาจะเข้าข่าย 40(6) แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็น 40(1) ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ฐานภาษีของแพทย์ที่ตรวจ OPD นอกเวลาเพิ่มกระฉูด (เทียบของตัวเองและสอบถามจากเพื่อนๆ)
ทีแรกเข้าใจว่าจะยังเป็น 40(1) หรือไม่ก็ 40(2) ซึ่งไม่ต่างอะไรในแง่ฐานภาษี แต่วันนี้ได้เข้าไปอ่านใน Doctor room ของ www.thaiclinic.com มา เขาชี้แจงว่า ค่า OPD นอกเวลายังสามารถนำมาคิด 40(6) ได้ โดยรพ. ต้องระบุไปว่า รายได้จาก DF นั้น แบ่งให้แพทย์เท่าไหร่ ให้รพ. (คล้ายกับเป็นค่าเช่าที่และค่าบริหารจัดการ) เท่าไหร่ ซึ่งของม.อ. มีการหักเปอร์เซ็นต์เข้าร.พ. ที่แน่นอนอยู่แล้ว ข้อมูลส่วนนี้ไม่น่าจะยาก
ถ้าเป็นตามนั้นจริง อยากรบกวนให้ทางโรงพยาบาลช่วยออกใบรายได้จาก OPD นอกเวลา ตามนี้ด้วยจะได้หรือไม่
ข้างล่างนี้ คือข้อความที่ได้จาก web admin ของ Thaiclinic.com ค่ะ

สำหรับ...
ข้อถกเถียงที่มีอยู่ในขณะนี้ คือ รายได้ของแพทย์นั้น จะเทียบเคียงได้กับมาตราใดบ้าง...
นั่นเพราะ...รายได้มาตรา 40(1) และ 40(2) เวลานำไปคำนวนภาษีคิดเต็ม 100%
ในขณะที่ รายได้มาตรา 40(6) นำไปคำนวนภาษีเพียง 40% เท่านั้น
ทำให้สรรพากรเริ่มเล่นแง่กับพวกเรามากขึ้น...
ผมจึงขอแจกแจงตามที่ได้ประมวลมาดังนี้ครับ...

1.แพทย์รัฐบาล รายได้ทั้งหมด ถือเป็น มาตรา 40(1) ทั้งสิ้น
ยกเว้นกรณีเดียว คือ รายได้จากการเปิด OPD นอกเวลา
สามารถเทียบเป็นมาตรา 40(6) ได้
โดยรายได้นี้ต้องระบุในใบเสร็จว่าแบ่งเป็นค่าแพทย์เท่าไหร่
และต้องมีสัญญาระหว่างแพทย์กับโรงพยาบาลว่า จะแบ่งค่าแพทย์ให้กับโรงพยาบาลเท่าไหร่ เพื่อเป็นค่าใช้สถานที่และค่าบุคลากรผู้ช่วยเหลือแพทย์
เสมือนใช้โรงพยาบาลรัฐเป็นคลีนิก โดยมีการเช่าสถานที่และบุคลากร
ดังนั้น ค่าเช่าต้องไม่ควรเกิน 60% เพราะ มาตรา 40(6) มันหักค่าใช้จ่ายได้ 60%
เช่น ค่าแพทย์ 200 บาท ถ้าหักให้โรงพยาบาล 150 บาท เวลาไปยื่นสรรพากรต้องยื่นเต็ม 200 หักค่าลดหย่อนได้ 60% หรือ 120 บาท ถ้าเป็นเช่นนี้แพทย์ผู้นั้นจะขาดทุนเพราะได้มาแค่ 50 บาท แต่ต้องนำไปคำนวนภาษี 80 บาทแน่ะ...
สรุป โรงพยาบาลห้ามคิดค่าสถานที่เกิน 60% (ไม่งั้นเข้าตัว)

ถ้าจำเป็นต้องเกินแนะนำ ให้เป็น 40(1) ตามปกติแล้วแยกเป็นรายได้ที่ให้แพทย์จริง แค่ 50 บาท...

2. แพทย์ Full time เอกชน รายได้การันตี ถือเป็น 40(1) หรือ 40(2) แล้วแต่โรงพยาบาลนั้นจะตีความการเป็นลูกจ้าง...
แต่ถึงอย่างไรก็ต้องนำรายได้ไปคำนวนภาษี 100% เต็มนะครับในส่วนนี้
เว้นแต่ว่าส่วนที่เกินการันตี สามารถเทียบเคียงเป็นรายได้มาตรา 40(6) ได้
โดยมีข้อกำหนดดังข้อถัดไป..

3. แพทย์ Part time
ข้อกำหนดที่สามารถให้เป็นรายได้ตามมาตรา 40(6) ได้ คือ
-- งานนอกเวลาราชการ หรือวันหยุด
-- วันไหนจะหยุดก็สามารถทำได้ เพียงแจ้งด้วยวาจา หรือ อาจกรอกแบบฟอร์ม แต่ไม่ใช่การขออนุญาต เราสามารถหยุดได้อิสระ อยากกลับก่อนก็ได้ โดยไม่เข้าลักษณะ นายจ้าง-ลูกจ้าง
--ค่าแพทย์ เราเป็นผู้กำหนด แต่ให้ รพ. เป็นผู้เก็บให้เรา โดย รพ.จะหักเป็นค่าเช่าและค่าบริหารจัดการ
--ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ไม่หัก 3% เพราะนั่นแสดงความเป็นลูกจ้าง)
--การมีสัญญาเช่าสถานที่ทำคลินิก หรือแสดงว่าเราไปเช่าสถานที่เขาตรวจรักษาผู้ป่วย อาจจะติดคำว่า คลีนิกพิเศษหน้าห้องตรวจ
--ต้องไม่มีเพดาน DF เพราะค่าแพทย์เราต้องเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่โรงพยาบาล มิฉะนั้นจะแสดงความเป็นลูกจ้างได้เช่นกัน
--ใบเสร็จรับเงินจากผู้ป่วยแตกต่างจากห้วงเวลาปกติ
--คนไข้ต้องมาหาเราเอง ไม่ใช่โรงพยาบาลเป็นผู้จัดแจง
มีประมาณคร่าวๆ ดังข้างต้นครับ
โดยรายได้ 40(6) นั้น ต้องเป็นรายได้ค่าแพทย์ทั้งหมด ไม่ใช่เป็นรายได้หลังจากโรงพยาบาลหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว (เหมือนที่ผมยกตัวอย่างให้ในข้อที่ 1)
หากข้อกำหนดไม่ครบ ให้ถือเป็น รายได้มาตรา 40(2) คือเป็นลูกจ้างครั้งคราว

4.แพทย์ ที่เปิดคลีนิกเอง ถือเป็นรายได้มาตรา 40(6)
ซึ่งรายได้ที่ยื่นนี้ ต้องเป็นรายได้ทั้งหมดนะครับ
ไม่ใช่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ไปก่อนแล้ว
เพราะถึงยังไงก็ได้สิทธิ์หักค่าใช้จ่าย 60% อยู่แล้วนั่นเองครับ...

ส่งโดย: ' หมอเอ้ครับ '
สถานะ: Executive Member
จำนวนความเห็น: 1066


Posted by : ฮิมาวาริจัง , Date : 2009-03-04 , Time : 14:16:31 , From IP : 172.29.10.151

ความคิดเห็นที่ : 1


   กรมสรรพากร
02-2728000
www.rd.go.th
e_filing@rdserver.rd.go.th


Posted by : abcd , Date : 2009-03-05 , Time : 09:06:20 , From IP : 172.29.8.142

ความคิดเห็นที่ : 2




   ขอตอบข้อสงสัยคุณหมอเอ้
ขอส่งเอกสารเพื่อตอบคำถามของคุณหมอมาพร้อมนี้แล้ว 2 ฉบับ


Posted by : mling , E-mail : (supavee.c@psu.ac.th) ,
Date : 2009-03-05 , Time : 09:44:22 , From IP : 172.29.15.238


ความคิดเห็นที่ : 3




   ตอบคุณหมอเอ้ ขอแนบหนังสือฉบับที่ 2 มาแล้ว หวังว่าคงตอบคำถามได้นะ

Posted by : mling , E-mail : (supavee.c@psu.ac.th) ,
Date : 2009-03-05 , Time : 09:45:58 , From IP : 172.29.15.238


ความคิดเห็นที่ : 4




   แก้ไข Link รูปภาพนะคะ

Posted by : ตั้งต้น , Date : 2009-03-05 , Time : 09:55:23 , From IP : 172.29.1.190

ความคิดเห็นที่ : 5




   หน้าที่ 2 คะ

Posted by : ตั้งต้น , Date : 2009-03-05 , Time : 09:56:02 , From IP : 172.29.1.190

ความคิดเห็นที่ : 6


    ขอบคุณค่ะ
ต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่หมอเอ้ของ Thaiclinic.com นะคะ เพียงแต่ quote ที่เค้าลงไว้ในเว็บมา
แต่แปลกใจว่า มาตรฐานการจัดเก็บภาษีนี่ แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันหรือคะ เพราะเคยอ่านเจอข้อมูลมา บางที่ก็ยังสามารถยื่นค่า OT เป็น 40(6) ได้


Posted by : ฮิมาวาริจัง , Date : 2009-03-05 , Time : 14:34:07 , From IP : 172.29.10.151

ความคิดเห็นที่ : 7


    อันนี้เก่าหน่อย ตั้งแต่ ปี 43 แต่เป็นหนังสือที่ออกจากฝ่ายกฏหมายของกรมสรรพากรเอง ไม่ได้เป็นคำตัดสินมาจากมาจากสรรพากร local ตามที่ได้จากหนังสือเวียนของคณะ
**กรุณาอ่าน ข้อ 2 ในกรณีของม.อ. น่าจะเป็นแบบกรณีวงเล็บ 2 เพียงแต่ที่เราทำ ไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างแพทย์และร.พ. (ด้วยสาเหตุอันใดมิทราบ) ที่อาจจะทำให้ทางสรรพากรพื้นที่สงขลาใช้จุดนี้มาแย้งว่า ไม่สามารถนำสืบได้ว่า .......ทั้งหลายที่เค้าว่ามา**

ส่วนราชการ กรมสรรพากร สำนักกฎหมาย กลุ่มกฎหมาย 3 โทร. 272-8287-8

ที่ กค 0811/ว.2497 วันที่ 29 มีนาคม 2543

เรื่อง ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับเงินได้จากวิชาชีพอิสระการประกอบโรคศิลปะ การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และการจัดทำบัญชีพิเศษของสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน

เรียน ผู้อำนวยการสำนัก (ทุกสำนัก) ผู้อำนวยการศูนย์บริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สรรพากรภาค (ทุกภาค) และสรรพากร พื้นที่ (ทุกพื้นที่)

ตามที่กรมสรรพากรได้มีหนังสือ ที่ กค 0811 (กม)/03785 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2541 ซ้อมความเข้าใจกรณีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ ความละเอียดแจ้งอยู่แล้วนั้น
เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน ในการตรวจและแนะนำให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินดังกล่าว ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง กรมสรรพากรจึงขอซ้อมความเข้าใจเพิ่มเติมดังนี้

1. กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแยกเป็น 2 กรณีดังนี้

(1) กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ ทำสัญญาหรือข้อตกลงกับสถานพยาบาลเพื่อขอใช้สถานที่
เครื่องมือ และอุปกรณ์เพื่อประกอบโรคศิลปะ ในนามของผู้ได้รับอนุญาต เพื่อตรวจและรักษาผู้ป่วย โดยผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ เป็นผู้เรียกเก็บเงินค่าตรวจรักษาเอง และมีข้อตกลงแบ่งเงินค่าตรวจรักษาที่ได้จากผู้ป่วยให้แก่สถานพยาบาลเป็นลายลักษณ์อักษร

(2) กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ ทำสัญญาหรือข้อตกลงกับสถานพยาบาลเพื่อขอใช้สถานที่
เครื่องมือ และอุปกรณ์เพื่อประกอบโรคศิลปะ ในนามของผู้ได้รับอนุญาต เพื่อตรวจและรักษาผู้ป่วย และมีข้อตกลงแบ่งเงินค่าตรวจรักษาที่ได้รับจากผู้ป่วย โดยสถานพยาบาลจะเป็นผู้เรียกเก็บเงินค่าตรวจรักษาแทนผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ แล้วนำมาจ่ายให้กับผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ เพื่อแบ่งรายได้ให้แก่สถานพยาบาลต่อไป

ทั้งกรณี (1) และ (2) ให้ถือว่าเงินที่ผู้ได้รับอนุญาตเรียกเก็บจากผู้ป่วย ทั้งจำนวน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ มิใช่เฉพาะประมวลเงินส่วนแบ่งที่เหลือหลังจากหักส่วนแบ่งของสถานพยาบาลออกแล้ว

3. กรณีตาม 2 เนื่องจากสถานพยาบาลมิใช่ผู้จ่ายเงินได้ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 7 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่องสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึง ประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และไม่ต้องกรอกรายการจ่ายเงินดังกล่าวในบัญชีพิเศษตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 10) เรื่องกำหนดให้ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน มีบัญชีพิเศษตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 6 กันยายน 2522

จึงเรียนมาเพื่อโปรดแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบและถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ์
อธิบดีกรมสรรพากร


Posted by : ฮิมาวาริจัง , Date : 2009-03-05 , Time : 16:26:11 , From IP : 172.29.10.151

ความคิดเห็นที่ : 8


    เรื่องรายได้แพทย์ OPD นอกเวลานี้ คิดว่าขึ้นอยู่กับความเห็นใจ และความตั้งใจของโรงพยาบาลมากกว่า ถ้าผู้บริหารโรงพยาบาลมีความเห็นใจแพทย์ที่ทำงานอยู่ ก็น่าจะมีวิธีที่จะทำให้ถูกต้องโดยจ่ายเป็น 40(6) ได้ ซึ่งได้ยินมาว่ารพของรัฐบางแห่งในกทม คลินิคนอกเวลาจ่ายเป็นวงเล็บ 6 ถ้าอ่านจากความเห็นข้างบน วิธีที่น่าจะทำได้คือ
รายได้ให้ระบุในใบเสร็จว่าแบ่งเป็นค่าแพทย์เท่าไหร่
และทำสัญญาระหว่างแพทย์กับโรงพยาบาลว่า จะแบ่งค่าแพทย์ให้กับโรงพยาบาลเท่าไหร่ เพื่อเป็นค่าใช้สถานที่และค่าบุคลากรผู้ช่วยเหลือแพทย์
เสมือนใช้โรงพยาบาลรัฐเป็นคลีนิก โดยมีการเช่าสถานที่และบุคลากร
ฝากผู้บริหารลองทบทวนดู
เรื่องนี้ไม่ยากเกินไปถ้าตั้งใจจะทำ
ใครมีความเห็นอย่างไรกันบ้าง เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย


Posted by : sunny , Date : 2009-03-05 , Time : 19:37:46 , From IP : 172.29.5.232

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<