ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

เสียงที่เพราะที่สุดในโลก : กรุงเทพธรกิจ เช้าวันนี้


   เข้าใจว่าเป็นผลพวงจากงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ชื่นชมครับ


http://www.bangkokbiznews.com/home/news/life-style/lifestyle/2009/02/05/news_13555.php


เสียงที่เพราะที่สุดในโลก
โดย : ไพศาล รัตนะ

หลังรอดจาก "มะเร็งกล่องเสียง" หลายคนพูดไม่ได้ แต่บางคนไม่ยอมแพ้ ทว่ายังเพียรพยายามที่จะสื่อสาร ..ด้วยหลอดอาหาร

"ทุกวันพุธสัปดาห์แรก และ 3 ของเดือน ตั้งแต่เก้าโมงเช้ายันเที่ยง เรามีนัดกันที่นี่เพื่อทำกิจกรรมฝึกพูด โดยวิทยากรของสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงแห่งประเทศไทย เป็นคนให้ความช่วยเหลือให้เรากลับมาพูดได้อีกครั้ง" น้ำเสียงที่ผ่านลำคอออกแนวอื้ออึงแต่ดวงตาเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น

หนุ่มรุ่นใหญ่ผิวคล้ำเจ้าของเสียงดังกล่าวมีชื่อว่า อูมา ดะแซ ชายเลือดสะตอจากดินแดนปลายด้ามขวาน ผู้กำลังฝึกพูดทางหลอดอาหาร

เขาพยายามเล่าด้วยสำเนียงอู้อี้อีกว่า มาเข้าคอร์สฝึกพูดที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 12 ครั้งแล้ว ผลลัพธ์ล่าสุดคือ ประโยคยาวๆ ข้างต้น ที่เจ้าตัวดีใจมาก และย้ำอย่างกระท่อนกระแท่นอีกว่า

"ผมจะพยายามให้ถึงที่สุดและจะไม่ยอมแพ้ สักวันความหวังของผมต้องเป็นจริงแน่ๆ"

ความในใจเหล่านี้ พรั่งพรูออกมาหลังเจ้าตัวทนอัดอั้นมานานเกินกว่า 365 วัน จนถึงวันผ่าตัด แต่อารมณ์แห่งความปลาบปลื้มดีใจยังถูกถ่ายทอดผ่านนัยน์ตาที่ปริ่มน้ำใสๆ ปนรอยยิ้มที่ฉีกกว้างเป็นครั้งแรก

...ซึ่งเป็นรอยยิ้มที่คนในครอบครัวดะแซและญาติใกล้ชิดคิดว่าจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว

ย้อนกลับไปหลายปีก่อน อูมา ดะแซ ต้องเผชิญช่วงชีวิตที่ลำบากที่สุดหลังรับรู้ว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ มะเร็งกล่องเสียง และการเข้ารับผ่าตัดกล่องเสียงคือหนทางเดียวที่จะรักษาลมหายใจต่อไปได้ แต่ต้องแลกด้วยการตัด อวัยวะสำคัญในการพูด

ครั้งนั้นเจ้าตัวยอมรับพร้อมทำใจแล้วว่าจะไม่มีโอกาสบอกความรู้สึกผ่านริมฝีปากเหมือนในอดีตได้อีกต่อไป

แต่ฟ้าหลังฝนก็มาถึงเร็วกว่ากำหนด...

เริ่มต้นจากผิวปาก

ภายในห้องสมุดรัตนมาศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์...

ห้องนั้นคลาคล่ำไปด้วยผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงหลังผ่านการเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ ที่กำลังขะมักเขม้น พยายามเรียนรู้วิธีการฝึกออกเสียงด้วยหลอดอาหารโดยมีวิทยากรจากสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงแห่งประเทศไทย และพยาบาล คอยเป็นพี่เลี้ยง

ยังมี วิชิต คงจันทร์ หนุ่มรุ่นใหญ่จากเมืองหมูย่าง วัย 56 ปี อดีตผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียง ที่ผันตัวมาเป็นวิทยากรในการช่วยเหลือเพื่อนร่วมชะตาคนอื่นๆ ที่อยากจะกลับมาส่งเสียงพูดได้อีกครั้ง หลังถูกก้อนมัจจุราชพรากอวัยวะต้นกำเนิดเสียงไปอย่างไม่มีวันกลับ

"สิบนิ้วยกพนมก้มลงกราบ ศิโรราบกราบลงตรงหน้าท่าน"

"แม้นเสียงนี้ซึ่งดังฟังรำคาญ นานแสนนานกว่าฝึกได้ดังใจปอง"

เป็นบทกลอนผ่านท่วงทำนองและลีลามโนราห์ ของ ที่โชว์ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงร่วมห้องหลายสิบชีวิต เป็นเหมือนยาบำรุงและแรงขับชั้นดีที่จะช่วยปลุกพลังในตัวของคนไข้แต่ละราย ซึ่งอยู่ในภาวะห่อเหี่ยว ท้อแท้เป็นที่สุดเพราะไม่สามารถล่วงรู้ว่าหลังผ่าตัดกล่องเสียงแล้วตัวเองจะพูดได้อีกหรือไม่ ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ด้วยเลือดนักสู้ที่ซ่อนอยู่ในกายชายหนุ่มเมืองตรังคนนี้ หลังผ่าตัดกล่องเสียง ลุกขึ้นสู้ตั้งแต่วันแรกด้วยหวังจะกลับมาพูดให้ได้อีกครั้ง แตกต่างไปจากผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่เลือกจะปลีกวิเวกเก็บตัวอยู่ในโลกเงียบเพียงลำพัง

"ผมตัดสินใจเข้าร่วมหลักสูตรฝึกพูดด้วยหลอดอาหาร กับชมรมผู้ไร้กล่องเสียงโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ใช้เวลานาน 2 ปี ทุกอย่างยากลำบากแต่ไม่เกินความตั้งใจ" ในที่สุดวิชิตก็ออกเสียงครั้งแรกได้ในเดือนกันยายน ปี 2550 และเพียรพยายามจนสามารถสื่อสารกับคนปกติได้ แม้จะยังไม่เข้าขั้นดีมากก็ตาม

วิชิต ยืดอกรับอย่างลูกผู้ชายว่า เหตุผลที่ต้องผ่าตัดกล่องเสียงออก มาจากการสูบบุหรี่ และโทษใครไม่ได้นอกจากตัวเอง เพราะไม่เคยฟังคำเตือนใคร แม้กระทั่งคนใกล้ชิดอย่างลูกและภรรยา

มารู้สึกตัวอีกทีหัวหน้าครอบครัวก็ตกอยู่ในสภาพต้องเยียวยาขั้นสุดท้ายแล้ว ด้วยการผ่าตัดแบบ เนื่องจากมะเร็งได้ลุกลามไปยังหลอดอาหาร จึงต้องผ่าตัดออกตามวิธีของศัลยแพทย์เท่านั้น

"หลายคนเห็นสภาพแผลผ่าตัดของผม เห็นรูหายใจที่ถูกเจาะบริเวณลำคอ คิดว่าคงหมดหวังจะกลับมาพูดได้อีก ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะตาย ทำเอาญาติหลายคนเข็ดและกลัว เลิกสูบบุหรี่ไปทันที" เขาย้อนบาดแผลในชีวิต

ด้วยแรงตั้งใจและความมุ่งมั่นของผู้ชายคนนี้ ผนวกกับความช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่หวังอยากให้เขากลับมาพูดได้อีกครั้ง ทั้งผลักและดันให้เขาเป็นผู้ป่วยไร้กล่องเสียงคนแรกของประเทศไทยที่สามารถผิวปากสำเร็จ และเป็นลำดับที่สองของเอเชียอีกด้วย

เขาเล่าอย่างติดตลกว่า การผิวปากของตัวเองเริ่มต้นจากเหตุบังเอิญ...

วันหนึ่งของปีที่แล้ว เขาลองสูดเป่าลมออกจากปาก และทำรูปปากแบบคนผิวปาก เพียงเพื่อจะหยอกเอินกับนกเขาชวาที่เลี้ยงไว้ จู่ๆ ก็มีเสียงดังออกมา แต่ตัวเองเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ ค้านกับครูฝึกที่บอกว่า "ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย" เขาจึงลองผิวปากเป็นเพลงเรื่อยมา

"จำได้ว่าเพลงแรกที่หัดผิวปาก คือ เพลงลอยกระทง เพราะเป็นจังหวะง่ายๆ และทุกคนจำได้ขึ้นใจ ผมแทบไม่อยากเชื่อว่าจะทำได้" วิชิต เล่าไปยิ้มไปพลางหันไปแนะนำเทคนิคการออกเสียงผ่านหลอดอาหารให้คนป่วยที่อยู่ข้างๆ

สำหรับวิชิต แค่รู้ว่าเป็นมะเร็ง ชีวิตก็เหมือนตายไปแล้วครึ่งหนึ่ง ยังจะถูกตัดกล่องเสียงซ้ำอีก แต่วันนี้ เขาสู้จนสำเร็จ และแสดงความจำนงที่จะสู้พร้อมกับเพื่อนคนอื่นๆ ด้วย

"ผมจะทำให้คนไข้คนอื่นเห็นว่า เเม้จะยากลำบากก็ไม่เกินความสามารถหากเราตั้งใจจะเรียกเสียงของเราที่หายไปกลับมาอีกครั้ง"

พูดด้วยหลอดอาหาร ยากแต่ดี

อีกด้านหนึ่งของห้อง กัญญารัตน์ ชูชาติ พยาบาลผู้ใกล้ชิดกับผู้ไร้กล่องเสียง กำลังง่วนกับการฝึกออกเสียงผู้ป่วยไร้กล่องเสียง ระหว่างพัก เธอปลีกตัวมาให้ความรู้ว่าการฟื้นฟูผู้ป่วยไร้กล่องเสียงมีอยู่หลายวิธี เช่น พูดโดยใช้นิ้วอุด(Shunt หรือ Blom singer) วิธีนี้ไม่มีการฝึกในประเทศไทย เป็นวิธีฝังกล่องเสียงเทียมให้กับผู้ไร้กล่องเสียง เวลาพูด ต้องใช้นิ้วอุดรูที่เจาะตรงช่องคอ แล้วก็พูดออกมา เสียงจะดังฟังชัด แต่ข้อควรระวังคือ นิ้วที่ใช้อุดรู จะต้องสะอาด ถ้าสกปรกอาจทำให้ติดเชื้อ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต

"นอกจากนี้ยังมีการพูดโดยใช้เครื่องช่วยพูด ข้อเสีย คือถ้าหากวางไม่ตรงตำแหน่งก็จะใช้ไม่ได้ผล เสียงที่ออกมาก็เหมือนเสียงหุ่นยนต์ หรือการพูดโดยใช้สายยาง (tapia)โดยการใช้สายยาง ปลายด้านหนึ่งเป็นฝาครอบเข้าที่รูหายใจ ปลายอีกด้านเป็นสายยางแหย่เข้าไปในปาก แล้วใช้แรงดันพูดออกมา เสียงเหมือนปี่ ซึ่งไม่มีการฝึกในประเทศไทยเหมือนกัน"

ส่วนวิธีที่ใช้ปัจจุบันกับคนไข้ คือ พูดโดยใช้หลอดอาหาร มีข้อดี คือ เสียงพูดจะเป็นธรรมชาติมากกว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายระยะยาว เพราะเมื่อผู้ป่วยออกเสียงได้ก็สามารถฝึกพูดด้วยตัวเอง แต่จะฝึกฝนได้ยากกว่าวิธีอื่นๆ และต้องการกำลังใจและความอดทนสูงในการฝึกฝน และเป็นวิธีที่ถูกนำมารักษามากที่สุด

ความสำเร็จในการช่วยให้ผู้ป่วยไร้กล่องเสียงสามารถพูดได้อีกครั้งส่งผลให้ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5มีนาคม 2546 โดยภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา ร่วมกับสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงแห่งประเทศไทย มีความคึกคักอย่างมาก มีผู้ป่วยจากทั่วประเทศตบเท้ามาเข้าคอร์สฝึกออกเสียงเพื่อหวังจะกลับไปพูดได้อีกเหมือน อูมา ดะแซ และ วิชิต คงจันทร์ สองรุ่นพี่ที่ก้าวผ่านช่วงเลวร้ายของชีวิตไปก่อนหน้า

ด้วยประสบการณ์และผ่านคนไข้ไร้กล่องเสียงมาหลายปี กัญญารัตน์ เชื่อว่าการช่วยผู้ป่วยให้กลับมาพูดได้อีกครั้ง ไม่ต่างกับการให้ชีวิตใหม่ ซึ่งกุญแจสู่ความสำเร็จนั้นนอกจากอยู่ที่ความพยายามของผู้ป่วยแล้ว สังคมรอบข้างโดยเฉพาะครอบครัว รวมถึงเพื่อนร่วมอาการเดียวกัน มีความสำคัญอย่างมากในการกระตุ้นให้ผู้ไร้กล่องเสียงกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง

น.พ.กิตติ จันทรพัฒนา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็ง หู คอ จมูก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ยืนยันว่าทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะสูญเสียกล่องเสียง อันเนื่องมาจากโรคมะเร็งกล่องเสียงจากภัยคุกคามรอบข้างที่ถูกมองข้าม หรือตัวเองก่อไว้ชนิดไม่คาดคิดมาก่อนได้ทั้งนั้น

คำยืนยันนี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริงหากพิจารณาตัวเลขผู้ป่วย(ภาคใต้)ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะจังหวัดสงขลามีผู้ป่วยใหม่(2536-2537)40รายต่อปี และในปัจจุบันมีผู้ป่วยใหม่ประมาณ 67-95 รายต่อปี ที่สำคัญยังมีตัวเลขผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมพบแพทย์แต่จะหันไปพึ่งการรักษาฉบับพื้นบ้าน

จากการสำรวจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ล้วนเคยตกเป็นทาสเหล้าและบุหรี่ รวมถึงเหยื่อที่ต้องรับควันบุหรี่มือสองทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ใช่คนก่อ

น.พ.กิตติ บอกว่า มะเร็งกล่องเสียงหมายถึงมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณตั้งแต่ฝาปิดกล่องเสียงลงไปถึงขอบล่าง Cricoid cartilage พบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในกลุ่มอายุวัยกลางคนขึ้นไป

สัญญาณเริ่มต้น คือเสียงแหบพร่าติดต่อเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ จากนั้นกลืนอาหารลำบาก เริ่มเจ็บคอเรื้อรังคล้ายก้างติดคอ มีเสมหะปนเลือด และหายใจติดขัด หากอาการระยะเริ่มต้นสามารถใช้วิธีรักษาโดยการฉายเเสง หรือผ่าตัดบางส่วนออกไป ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้เสียง สื่อสารได้ แต่หากอาการลุกลามจะได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด

"ผลที่ตามมา คือ จากเดิมที่เคยพูดออกเสียงได้ หลังการผ่าตัดจะไม่มีเสียงพูดและมีแผลผ่าตัดเป็นรูบริเวณลำคอด้านหน้าซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนปกติได้ ต้องอยู่ในโลกเงียบเพียงลำพัง และแยกตัวจากครอบครัว เพื่อนฝูงในที่สุด"น.พ.กิตติ เผยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเหยื่อมะเร็งกล่องเสียง

.......................

วิชิตและอูมา คือสองตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ศักยภาพของมนุษย์มีอยู่อย่างไม่จำกัด และบางอย่างก็ถูกงัดออกมาใช้ได้เมื่อหลังชนฝา...

แม้เสียงพวกเขาอาจจะฟังดูอู้อี้ ไม่เสนาะหูเหมือนคนอื่น แต่เชื่อเถอะว่า สำหรับคนใกล้ชิดและตัวเองแล้ว นี่คือเสียงที่เพราะที่สุดในโลก


รู้จัก
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการดูแล และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดกล่องเสียงส่วนใหญ่ใน14 จังหวัดภาคใต้ ผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดกล่องเสียงร้อยละ 99 มีสาเหตุจากโรคมะเร็งซึ่งต้องผ่านกระบวนการในการรักษาหลายขั้นตอน ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา ฟื้นฟู เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 80 ที่เข้ารับการช่วยเหลือเป็นผู้ยากไร้

ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จึงได้ก่อตั้งชมรมผู้ไร้กล่องเสียงขึ้น เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2546 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาการพูดโดย ใช้หลอดอาหารแก่ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดกล่องเสียง

สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานการช่วยเหลือผู้ไร้กล่องเสียง ในปัจจุบันคือ ปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เนื่องจากผู้ไร้กล่องเสียงที่มา ขอรับความช่วยเหลือเกือบทั้งหมดเป็นผู้ยากไร้ การเดินทางแต่ละครั้งต้องมี ผู้นำพาและดูแล ภูมิลำเนาอยู่ไกล ต้องพักค้าง หรือถ้าหากมีภูมิลำเนาในสาม จังหวัดชายแดนก็ต้องเสี่ยงอันตรายขณะเดินทาง

(สอบถามหรือต้องการข้อมูลติดต่อ มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โทร. 074-451599 หรือ ผู้รับบริการสัมพันธ์ โทร. 074- 451040 /074-451394)


Tags : มะเร็งกล่องเสียง • น.พ.กิตติ จันทรพัฒนา


Posted by : dhan , Date : 2009-02-05 , Time : 13:33:34 , From IP : 172.29.10.167

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<