ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

ชิคุนกุนยา


   เรียน บุคลากร ทุกท่าน

เนื่องจากขณะนี้ มีโรคติดเชื้อไวรัส ชิคุนกุนยา ระบาดที่อำเภอแว้ง และอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส โดยมีผู้ป่วยจำนวนหลายร้อยคน โดยต้นตอของการแพร่กระจายของโรค เริ่มมาจากประเทศมาเลเซีย (มีผู้ป่วยประมาณ 2,000 ราย ในรัฐเปรัก เนกรีเซมบิลัน กัวลาลัมเปอร์ และยะโฮร์)

โรคนี้ มีระยะฟักตัวสั้น (เฉลี่ย 2-3 วัน, พิสัย 1-12 วัน) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ร่วมกับปวดข้อ ( ~ 80% ) หรือมีอาการมีผื่น ( ~ 60%) อัตราตายต่ำ (1:1,000) แต่ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้อเล็กๆ ที่มือ

ขณะนี้ การแพร่ระบาดได้เพิ่มไปยัง ปัตตานี สะบ้าย้อย เทพา และมีผู้ป่วยที่หาดใหญ่แล้ว ประมาณ 5-6 ราย (เป็นผู้ป่วยที่กลับมาจากประเทศมาเลเซีย 1 ราย)

การระบาดของโรคนี้ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 ประการ คือ

1. ประชากร มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ หรือไม่
2. มีพาหะของโรค ที่พร้อมจะนำโรคอยู่ หรือไม่ (คือ ยุงลายบ้าน และยุงลายสวน)
3. และมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และมีไวรัสอยู่ในเลือด เดินทางเข้ามาในหาดใหญ่ หรือไม่

สำหรับองค์ประกอบทั้ง 3 นี้ ผมขอชี้แจงว่า

1. ประชากรส่วนใหญ่ของหาดใหญ่ ไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อตัวนี้ ยกเว้นผู้ป่วยสูงอายุบางคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาของการระบาดครั้งก่อน ( ~ ปี ค.ศ. 1960)
2. เรามียุงลายบ้าน และยุงลายสวน ในหาดใหญ่พร้อมอยู่แล้ว ดูได้จากตัวเลขของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ในหาดใหญ่ (ซึ่งมีพาหะเป็นยุงชนิดเดียวกัน) ซึ่งตัวเลขจำนวนผู้ป่วย ไม่ลดลงเลย
3. หาดใหญ่มีประชากร ที่เดินทางมาจาก 3 จังหวัดภาคใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์ (สิงคโปร์ มีผู้ป่วย ~ 200 ราย)

ดังนั้น หาดใหญ่ มีองค์ประกอบที่เหมาะสม ที่จะมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา เพียงแต่ว่าจะเป็นการระบาดในจำนวนน้อย หรือการระบาดใหญ่ เท่านั้น ถ้าเป็นการระบาดใหญ่ หาดใหญ่ที่มีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ก็จะแย่ลงไปอีก เราต้องไม่ลืมว่า การระบาดที่อินเดีย เมื่อปีที่แล้ว มีผู้ป่วย 1.4 ล้านคน และการระบาดที่เกาะ Reunion ในมหาสมุทรอินเดีย มีผู้ป่วย 220,000 คน จากประชากรในเกาะทั้งสิ้น 770,000 คน (โรคนี้มีอัตราการมีอาการสูงและแพร่เชื้อเร็ว) และถ้าเรามีผู้ป่วยจำนวนมาก เราจะเห็นผู้ป่วยที่เสียชีวิต ซึ่งมักจะเป็นผู้ป่วยสูงอายุ และเป็นเบาหวาน นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่กำลังจะคลอด และเป็นโรคนี้ ลูกที่เกิดมา อาจจะพิการ หรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น เราจะทำอย่างไรดี

ในสภาวะเร่งด่วน ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมกับศูนย์ป้องกันโรคติดต่อจากแมลง เขต 12 ทำการพ่นยาฆ่ายุง ในสถานที่จัดงานลอยกระทง ที่สวนสาธารณะ หาดใหญ่ และที่คณะวิทยาศาสตร์ โรงยิม และสระน้ำ คณะแพทยศาสตร์ ก่อนที่จะจัดงาน 1 วัน

การกระทำดังกล่าว อาจจะ ถ่วงเวลาการเกิดการระบาด ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น ลูกน้ำยุงลายชุดใหม่จะฟักเป็นตัว กลับมามีความสามารถในการนำโรคได้อีก ทั้งนี้ เพราะเราไม่ได้ฆ่าลูกน้ำยุงลายในบ้าน และที่ทำงาน

ดังนั้น ผมขอความร่วมมือพวกเราทำการรณรงค์ กำจัดลูกน้ำยุงลายในโรงพยาบาลของเรา บ้านของเรา และสถานที่ทำงานของเรา สัปดาห์ละครั้ง โดยจัดเป็นวัน Cleaning day โดยทำการกำจัด ลูกน้ำยุงลาย ขอให้ท่านดูว่า ในสถานที่ของท่าน มีของอะไรบ้างที่ต้องกำจัด เราต้องทำสัปดาห์ละครั้ง ไปอย่างน้อย 3 เดือน การทำดังกล่าว แม้ว่าจะต้องทำติดต่อกัน แต่ผลที่ได้ถ้าเราป้องกันการระบาดใหญ่ได้ และป้องกันกำจัดไข้เลือดออกด้วย ก็จะเป็นผลดีต่อเมืองหาดใหญ่ของเรา และจะได้ไม่มีผู้ป่วยที่มาติดเชื้อโรคชิคุนกุนยา ในโรงพยาบาลของเรา ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยง ที่น่าจะป้องกันได้ครับ


ศ.นพ.ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล
ประธานกรรมการควบคุมการติดเชื้อโรงพยาบาลฯ


Posted by : แม่เด็กอ้วน , Date : 2008-11-19 , Time : 09:04:18 , From IP : 172.29.10.237

ความคิดเห็นที่ : 1




   วิธีกำจัดลูกน้ำยุงลาย ทำได้ง่ายๆด้วยตัวท่านเอง

Posted by : งานประชาสัมพันธ์ , Date : 2008-11-19 , Time : 11:08:34 , From IP : 172.29.3.149

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<