ความคิดเห็นทั้งหมด : 6

เรื่องเล่านักเรียนแพทย์


   สุจิณโณ

“นับตั้งแต่นี้ไป ฉันก็จะได้ขึ้นไปเรียนบนตึกสุจิณโณแล้ว ตึกที่ยิ่งใหญ่และสวยที่สุดของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หรือ โรงพยาบาลสวนดอกแบบที่ใครๆเรียกกัน”
ฉันเริ่มต้นชีวิตของการเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่สี่วันแรกด้วยความตื่นเต้น
“อย่าลืม วันจันทร์หน้าทุกคนต้องมีงานมาส่ง เอาล่ะ เลิกได้” เสียงของอาจารย์ท่านหนึ่งในภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว มอบหมายให้พวกเราไปหาเคสผู้ป่วยที่ติดเชื้อในโรงพยาบาล(nosocomial infection) ฉันรับงานมาด้วยความรู้สึกที่ไม่เต็มใจเท่าไรนัก เก็บสมุด ปากกาที่วางเกลื่อนบนโต๊ะlectureลงกระเป๋า
“งานอื่นๆก็เยอะอยู่แล้ว ยังจะมามีงานเพิ่มอีก กะว่าวันนี้จะได้เลิกเร็วแล้วเชียว ไม่อยากจะเชื่อว่านี่คือชีวิตนศพ.ปี4 วันแรก” ฉันนึกบ่นอยู่ในใจพร้อมกับสะพายกระเป๋าเป้ขึ้นหลัง เดินออกจากห้องlectureด้วยอารมณ์สุดเซ็ง ถึงจะเบื่อจะเซ็งแค่ไหนก็ต้องทำ เพราะว่าลงเอยมาเป็นนักศึกษาแพทย์แล้ว ยังไงก็ขอให้เรียนมันให้จบก่อนเป็นดีที่สุด ฉันจึงเริ่มโทรศัพท์หาเส้นสายจากเพื่อนๆบนวอร์ด ให้ช่วยหาเคสให้ สุดท้ายก็ลงเอยที่คนไข้คนหนึ่ง บนหอผู้ป่วยชั้น13 ตึกสุจิณโณ
คนไข้ของฉันคนนี้ชื่อลุงทองคำ ครั้งแรกที่รู้จักลุงทองคำ ฉันรู้จักลุงผ่านชาร์ตผู้ป่วยและSMI(ระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล) ซึ่งเป็นแหล่งที่ฉันสามารถหาข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับตัวลุงโดยที่ไม่ต้องไปพ ูดคุย ซักประวัติถึงขอบเตียง แค่จดๆมาว่าลุงเป็นโรคอะไร มานอนโรงพยาบาลด้วยสาเหตุอะไร ติดเชื้อวันไหน ดื้อยาอะไรบ้าง ข้อมูลเกี่ยวกับการซักประวัติและตรวจร่างกายก็มีให้หมดแล้ว ลอกๆส่งก็เสร็จ
ฉันเริ่มตั้งหน้าตั้งตาเปิดอ่านชาร์ต อีกมือหนึ่งก็จับปากกาจดข้อมูลอย่างรวดเร็ว
ก็คนมันอยากจะกลับไปพักผ่อนแล้ว เรียนเหนื่อยมาทั้งวัน ระหว่างที่ลอกประวัติการเจ็บป่วยของลุงทองคำนั้น อ่านไปอ่านมาฉันก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ธรรมดา
ลุงทองคำคนนี้มีประวัติโดนตัดขาต่ำกว่าเข่าทั้งสองข้างในระยะเวลาห่างกันเพี ยง 4 เดือนในปีพ.ศ.2548 ด้วยสาเหตุของโรคเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงขาอุดตัน (Acute arterial occlusion) ต่อมาในปี 2550 นี้ ลุงทองคำก็เริ่มปวดบริเวณต้นขาอีก คราวนี้ถูกตัดขาตั้งแต่บริเวณขาหนีบลงไปอีก 2 ข้างในเดือนเดียวกัน ด้วยสาเหตุของโรคเดิม
หัวใจฉันเริ่มเต้นไม่เป็นจังหวะ มือขวาที่ใช้จดข้อมูลด้วยความรวดเร็วก็ต้องหยุดชะงักอยู่กับที่ “คนที่ต้องมาโดนตัดขาไปถึงสี่ครั้งแบบนี้ จะรู้สึกอย่างไรบ้างนะ” ฉันนึกสงสัยขึ้นมา จึงวางปากกาลงแล้วตัดสินใจเดินไปดูที่เตียงของลุงทองคำอยู่ห่างๆ ภาพที่ฉันได้เห็นคือ ชายวัย 67 ปี รูปร่างผอมเกร็ง ขาวซีด แก้มตอบ มีร่างกายแค่ท่อนบน กำลังพยายามใช้มือขวาอันเรียวเล็กที่แทบจะไม่มีกล้ามเนื้อเกาะขอบเตียงดึงตั วตะแคงหันหน้ามาทางที่ฉันยืนอยู่ ลุงทองคำเงยหน้าขึ้นมาสบตากับฉัน ในขณะนั้นฉันทำได้เพียงยิ้มให้ลุงแกไป แต่ฉันเดาได้เลยว่า ลุงทองคำแกคงมองเห็นว่าแววตาของฉันมันไม่ได้ยิ้มด้วย แต่มันเป็นแววตาที่บ่งบอกถึงความสะเทือนใจอย่างรุนแรง
ฉันไม่ทันได้รอดูว่าลุงทองคำจะยิ้มตอบหรือไม่ เพราะกว่าลุงแกจะยิ้มตอบ ฉันก็หันหลังกลับมายังโต๊ะที่จดประวัติผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว
“ฉันเพิ่งจะเป็นนักศึกษาแพทย์ปีสี่วันนี้วันแรกนะ ฉันยังไม่เคยได้เห็นคนไข้แบบนี้มาก่อนเลย” ในใจจึงมีแต่ความสับสนและสงสัยในบทบาทหน้าที่ของตนเอง
“ฉันควรจะทำอย่างไรดี ในขณะนี้ ฉันควรเข้าไปคุยกับคุณลุงแกดีไหม แล้วถ้าเข้าไปคุยฉันจะเข้าไปคุยอย่างไรดี ถ้าคุยไปคุยมายิ่งทำให้ลุงแกรู้สึกแย่กับโรคที่ตัวเองเป็น ฉันไม่แย่หรือ” มีคำถามมากมายผุดขึ้นมาในใจของฉัน ในที่สุดวันนั้นฉันก็ตัดสินใจจะทำเพียงแค่ลอกๆประวัติให้เสร็จไป จึงตัดใจเลิกคิด แล้วจับปากกามาบันทึกประวัติต่อ
“แกเป็นอะไรวะ” เพื่อนที่ปฏิบัติงานอยู่วอร์ดศัลยกรรม ซึ่งกำลังจดประวัติคนไข้อีกคนอยู่ข้างๆคงจะสังเกตเห็นท่าทางแปลกๆของฉัน จึงได้ถามขึ้นมา
“ลุงที่อยู่ห้องแรกไงแก เขาเหลือแค่ร่างกายท่อนบน ฉันก็เลยอึ้งๆไป” ฉันหันไปมองหน้าเพื่อนที่ถาม มือขวาก็ยังใช้จดประวัติยิกๆ
“อย่าไปคิดอะไรมากเลยแก คนที่ severe กว่านี้มีอีกเยอะ เดี๋ยวแกขึ้นมาอยู่วอร์ดนี้แกก็จะรู้เอง” เพื่อนคนนั้นตอบคำถามฉัน โดยที่ไม่ได้เงยหน้าขึ้นมามอง เพราะกำลังให้สายตาอยู่กับประวัติคนไข้อันยาวเหยียดตรงหน้า
คำพูดประโยคนั้นมันทำให้ฉันอดคิดไม่ได้ว่า เพื่อนต้องการให้ฉันเห็นว่า การที่เรามาเรียนรู้เพื่อที่จะเป็นหมอรักษาคนไข้ มันทำให้เราต้องเห็นเรื่องความเจ็บป่วยเป็นเพียงเรื่องธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปบนโรงพยาบาลเช่นนั้นหรือ
1 เดือนต่อมา เดือนที่สามของการเป็นนักศึกษาแพทย์ปีสี่ ในเดือนนี้ฉันต้องมาปฏิบัติงานที่ภาควิชารังสีวิทยา ฉันได้รับมอบหมายให้ไปเก็บเคสอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นของผู้ป่วยที่ต้องมาทำIntravenous pyelogram (IVP) ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ป่วยต้องถูกฉีดสารทึบรังสี(contrast)เข้าไปทางเส้นเลือ ดดำ แล้วให้เครื่องX-ray ดูบริเวณเชิงกราน เพื่อดูความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
ขณะที่กำลังอยู่ในห้องสังเกตการณ์ทำ IVP ด้วยความที่ต้องเลือกเคสผู้ป่วยไปทำรายงาน ฉันจึงได้เปิดดูกองใบส่งตัวของคนไข้บนโต๊ะที่แนบมากับfilm X-rayซึ่งเป็นคนไข้คนต่อไปที่จะเข้ามาทำการทดสอบ อ่านในใบประวัติ พลิกไปพลิกมาก็ต้องสะดุดกับชื่อคุณลุงทองคำ ลุงคนเดียวกับที่ฉันทำเคสเรื่องโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลส่งอาจารย์ขณะอยู่ภาค วิชาเวชศาสตร์ครอบครัวนั่นเอง ฉันรู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูกที่จะได้เห็นลุงทองคำอีกครั้ง ฉันอยากจะรู้ว่าลุงแกยังสบายดีอยู่ไหม ยังแข็งแรงอยู่หรือเปล่า แต่โอกาสเดียวในตอนนี้ที่จะได้เจอกับลุงทองคำอีกครั้งคือ ต้องรอ
“นี่แก อีก5 นาทีจะถึงเวลาเรียนLectureแล้ว ไปกันเถอะ” เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้ามาสังเกตการณ์ห้องเดียวกับฉันให้มือสะกิดที่ไหล ่ของฉัน พร้อมกับย้ำให้ไปเรียน
ฉันก้มลงมองดูนาฬิกาสีชมพูเรือนโปรด เข็มนาฬิกาชี้ไปที่เวลาเก้าโมงห้าสิบห้านาที เหมือนที่เพื่อนบอกเป๊ะ “ตายล่ะสิ จะต้องไปแล้วหรือนี่ ยังไม่ได้เจอลุงทองคำเลย” ฉันนึกเสียดายอยู่ในใจ มือก็เก็บสมุดและปากกา พร้อมกับบอกลาพี่พยาบาลที่คอยดูแลให้ความรู้แล้วเดินออกจากห้องสังเกตการณ์ม ากับเพื่อน
ระหว่างที่ออกจากห้องมานั้น สายตาฉันก็หันไปเจอกับคนไข้คนหนึ่ง ร่างกายผอมเกร็ง ขาวซีด มีร่างกายแค่ท่อนบน กำลังนอนอยู่บนเตียงหน้าห้อง ต้องเป็นลุงทองคำแน่ๆ ในใจรู้สึกตื่นเต้น ทำตัวไม่ถูก “ถ้าไม่ได้เข้าไปทักลุงวันนี้ คืนนี้ฉันคงต้องนอนไม่หลับแน่ๆ” ฉันคิดในใจ ในที่สุดก็ตัดสินใจเข้าไปหาลุงทองคำ
“เป็นอะไรมาจ๊ะลุง” ฉันถาม ฉันสังเกตเห็นเพื่อนที่อยู่ข้างๆจากที่ได้แต่ก้มมองดูนาฬิกาท่าทางลุกลี้ลุก ลน กลายเป็นให้ความสนอกสนใจลุงทองคำเป็นพิเศษ
ลุงทองคำหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสตอบคำถามฉันอย่างดี แต่ระหว่างที่คุณลุงพูดคุยกับพวกเรานั้น ฉันสังเกตเห็นหยดน้ำตาหยดหนึ่งที่ขอบตาของคุณลุง “ลุงทองคำร้องไห้เพียงเพราะว่าพวกเราไปคุยด้วยเท่านั้นหรือ” ฉันสงสัย แต่เดาว่ามันคงเป็นหยดน้ำตาที่แสดงออกถึงความตื้นตัน
“สงสัยจะต้องไปเรียนสายแล้ว เอาไงเอากัน” ฉันกับเพื่อนมองหน้ากันเหมือนจะรู้ว่าเราสองคนคงจะมีอะไรที่น่าสนใจให้ทำมาก กว่าการเข้าไปนั่งฟังLectureในขณะนี้ เพราะสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามันเป็นบทเรียนที่ไม่มีใครจะมาสอนให้ได้ นอกจากจะเรียนรู้ด้วยตนเอง
ฉันกับเพื่อนเข้าไปดูคุณลุงทำ IVP ต่อถึงในห้อง ได้ช่วยพี่เจ้าหน้าที่ยกตัวคุณลุงลงจากเตียงที่เข็นมาจากวอร์ดไปนอนบนตียงสำ หรับถ่าย X-ray เมื่อช่วยกันยกตัวคุณลุงวางบนเตียงเสร็จคุณลุงพยายามที่จะยกมือไหว้ฉันกับเพ ื่อน พร้อมกับร้องไห้ ทีนี้ล่ะ น้ำตาของลุงทองคำไม่ได้เพียงแต่ไหลซึมออกมาที่ขอบตา แต่มันพรั่งพรูออกมาจากตาทั้งสองข้าง ทำเอาฉันน้ำตาซึม ฉันไม่เข้าใจว่า ทำไมลุงทองคำถึงร้องไห้ มันอาจจะเป็นน้ำตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึกน้อยใจในโชคชะตาของตัวเอง จากคนที่เคยเป็นชายแข็งแรง ทำไร่ทำนาได้ทุกวัน ต้องมาเป็นภาระให้ผู้หญิงช่วยกันเคลื่อนย้ายตัว หรือจะเป็นเพราะสาเหตุอื่นใดอีก ฉันก็ไม่อาจจะรู้ได้ ในสถานการณ์บางอย่างเราไม่จำเป็นต้องรู้ถึงเหตุและผลทั้งหมด แค่ปล่อยให้เป็นไปตามใจเรารู้สึกดูจะเหมาะสมกว่า
ฉันกับเพื่อนอยู่คุยกับลุงและภรรยาพักหนึ่งแล้วจึงขอตัวไปเรียน ก่อนจะกลับลุงบอกให้เราทั้งคู่ไปเที่ยวหาที่ชั้น13 ตึกสุจิณโณบ้าง ฉันรับปากคุณลุงแล้วจากมาด้วยรอยยิ้ม แต่ครั้งนี้เป็นรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ ต่างจากรอยยิ้มเดิมเมื่อฉันเจอลุงทองคำครั้งแรก
ระหว่างเรียนคาบนั้น ฉันเรียนแทบไม่รู้เรื่อง ในใจนึกถึงแต่เรื่องลุงทองคำ
“ทำไมเมื่อเดือนที่แล้วเราไม่ไปคุยกับลุงเลยนะ”
“ลุงคงเหงาและต้องการเพื่อนคุยมาก”
“การที่ต้องนอนโรงพยาบาลนานถึง 3 เดือน โดยไม่ได้กลับบ้านเลยจะเหงาและว้าเหว่เพียงใด”
“ถ้าวันหนึ่งเราต้องประสบกับเหตุการณ์แบบนี้ เราจะยอมรับสภาพตัวเองได้เหมือนลุงทองคำไหม”
ตอนเย็นหลังเลิกเรียน ฉันกับเพื่อนชวนกันขึ้นไปหาลุงทองคำ ขณะที่เปิดประตูเข้าห้องก็ได้กลิ่นเหม็นสาบชวนให้คลื่นไส้อาเจียนเป็นอย่างม าก นักศึกษาแพทย์แบบเราได้กลิ่นแบบนี้ก็ต้องบอกได้100%ว่า มันคือกลิ่นของแผลกดทับ
ขณะที่กำลังอยากจะอาเจียนอยู่นั้น ลุงทองคำก็เป็นคนกล่าวทักขึ้นมาก่อน ทำให้ฉันตั้งสติได้ว่า ฉันไม่ควรแสดงกิริยาอาการแบบนั้น จึงหันไปพูดคุยซักถามลุงทองคำแทน ลุงทองคำมีสีหน้าอิ่มเอิบดูเบิกบานใจมากที่พวกเราไปคุยด้วย และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ฉันได้ถือโอกาสตรวจร่างกายลุงทองคำอย่างจริงจัง เลยพบว่านอกจากแผลที่โดนตัดขาแล้วซึ่งยังชื้นๆอยู่ทั้งสองข้าง ลุงมีแผลกดทับบริเวณก้นเป็นวงกว้างมาก เมื่อเริ่มเห็นลักษณะของตัวแผลบวกกับกลิ่นความรู้สึกอยากอาเจียนหายไปหมด กลายเป็นความเวทนาสงสารจนถึงกับน้ำตาซึม
“คุณลุงอยู่อย่างเจ็บปวดและทรมานถึงเพียงนี้เชียวหรือ”
“ยังมีคนที่ต้องทุกข์ทรมานขนาดนี้อยู่ด้วยหรือ”
ลุงทองคำคงสังเกตเห็นว่าฉันเงียบไป จึงพูดขึ้นมาว่า
“หมอ! ลุงปวดแสบปวดร้อนที่ตรงนั้นมาก มียาอะไรทำให้ลุงหายเจ็บได้บ้างไหม ลุงไม่อยากเป็นแบบนี้ ลุงจะหายไหม”
ฉันไม่รู้จะตอบลุงอย่างไรดี ทำได้เพียงแค่ยื่นมือไปจับแขนเล็กๆที่เหลือเพียงหนังหุ้มกระดูกของคุณลุงแล้ วพยายามกลั้นน้ำตาไว้ เพื่อไม่ให้คุณลุงรู้ว่า หมอน้อยๆของลุงขี้แยขนาดไหน เมื่อเราอยู่ต่อหน้าคนที่อ่อนแอ และหมดกำลังใจ เราก็ไม่ควรแสดงท่าทีที่หมดกำลังใจให้เขาเห็น เราต้องเข้มแข็งให้มากกว่าเขา
“ใจเย็นๆนะลุง หมอจะทำให้เต็มที่” ฉันพูดได้แค่นั้น มันคิดไม่ออกว่าจะหาคำพูดอะไรเพื่อมาปลอบใจแก
ฉันบีบแขนลุงสักพักหนึ่ง เวลาผ่านไปด้วยความเงียบงัน ฉันและเพื่อนตัดสินใจบอกลาคุณลุงเพื่อให้คุณลุงได้พักผ่อน
ก่อนจะกลับฉันกับเพื่อนบอกคุณลุงว่าวันหลังจะมาเยี่ยมใหม่ ลุงทองคำก็น้ำตาไหลออกมาอีก พร้อมกับพูดว่า “ไม่รู้จะตายเมื่อไร” ฉันไม่อยากจะนึกเลยว่าในใจลุงทองคำขณะนั้นจะเจ็บปวดมากมายเพียงใด ฉันบีบแขนลุงทองคำอย่างแรงอีกครั้ง แล้วตัดสินใจเดินออกมาด้วยความรู้สึกที่เศร้า ซึม อย่างบอกไม่ถูก
ลุงทองคำทำให้ฉันเรียนรู้ชีวิตว่า คนไข้หนึ่งคนของเรา ไม่ได้เป็นแค่วัตถุ ไม่ได้เป็นแค่โรคที่ให้เราศึกษาเรียนรู้ แต่ทำให้เราเรียนรู้มากกว่านั้นคือ เรียนรู้ไปถึงจิตวิญญาณของคน ลุงทองคำพูดคำที่แสดงถึงความอ่อนแอออกมาพร้อมกับร้องไห้โดยไม่รู้สึกอาย เพียงเพราะตัวแกไม่อยากตาย แกอยากจะอยู่ อยากออกไปใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ไม่ผิดที่แกจะคิดเช่นนั้น เพราะไม่ว่าใครๆก็รักชีวิตของตนเอง
ขอบคุณคุณลุงทองคำที่ทำให้ฉันเห็นถึงคุณค่าของชีวิต เวลาที่เหลืออีก2ปีต่อจากนี้กับการเป็นนักศึกษาแพทย์ในตึกสุจิณโณ ฉันพอจะรู้แล้วว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใด

ตึกสุจิณโณยังคงโค้งสวยตั้งตระหง่านท้าแดด ท้าลม ท้าฝนมาหลายชั่วอายุคน ตึกแห่งนี้มีเรื่องราวชีวิตให้เราเรียนรู้มากมาย มีทั้งความหวังและความสิ้นหวัง ความห่วงใยและความเฉยชา คนแล้วคนเล่าผ่านเข้าออกเพื่อมาใช้บริการ คงไม่มีใครบอกได้ว่าตั้งแต่เริ่มสร้างตึกแห่งนี้มามีคนต้องจบชีวิต ณ ตึกแห่งนี้มากมายเพียงใด
นศพ.ดาววลี รุ่นบาง
นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5
คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


Posted by : chains , Date : 2008-10-28 , Time : 19:13:19 , From IP : ppp-124-120-242-213.

ความคิดเห็นที่ : 1


   ในวันที่แสนธรรมดา

น.ส.สิริพร พงศ์ภัทรภัค นศพ.ปี 5
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่จริงเริ่มชื่อเรื่องอย่างนี้ ก็ไม่ถูกต้องเสียที่เดียวหรอกนะ เพราะวันนี้ ไม่ค่อยธรรมดา แต่ในบันทึกประจำวันของฉัน (daily) เรียกทุกวันว่า “ในวันที่แสนธรรมดา” เสมอ แต่มีวันที่เท่าไรกำกับไว้ด้วย เอาละ ! มันไม่น่าจะธรรมดาเพราะเหตุผล 2 อย่างคือ วันนี้ เป็นวันที่ฉันคิดว่าอยากเป็นศัลยแพทย์ ส่วนอีกอย่างนั้น เอาไว้ค่อย ๆ อ่านเรื่องนี้จนจบ แล้วฉันจะบอกนะ ..... ที่จริงเมื่ออ่านจนจบแล้ว คุณอาจจะคิดเหมือนฉันก็ได้นะ
........................................................................ .............
10 มิ.ย. 51
ณ ห้องผ่าตัดโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง อยู่ชั้น 5 ของตึกสยามินทร์ ที่จริงวันนี้ 9 โมงเช้าไม่มีเรียนนะ เป็นคาบเรียนที่ให้อิสระในการเรียนด้วยตนเอง หรือ self study จนถึงเย็น ฉันเลือกที่จะเข้าไปดูการผ่าตัดในห้องผ่าตัด (OR) เผื่อว่าจะได้เข้าช่วยผ่าตัดกับอาจารย์
....... แม้ทำอะไรไม่ได้มากนอกจากตัดไหม, suction และซับเลือด แต่เป็นการเรียนรู้ที่หาไม่ได้จากตำรา และรู้สึกลึก ๆ ว่าเก๋ไม่เบาเลยนะนี่ สวมชุดผ่าตัด
ไม่ได้มีเพียงฉันคนเดียวที่มาเรียนในห้องผ่าตัด เพื่อนๆ ฉันอีก 5-6 คนก็มาเรียนและเข้าช่วยอาจารย์ผ่าตัดด้วย วันนั้น ส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้ป่วยที่มาทำ needle localized biopsy คือเป็นเทคนิคที่ทำร่วมกับการทำ mammography ซึ่งเป็นการถ่าย x-ray เต้านม การตรวจนี้ใช้ screening ในผู้ป่วยหญิง เมื่อพบความผิดปกติของการสะสมสารแคลเซียม จะเห็นสีขาวกว่าเนื้อเยื่อปกติ เทคนิคนี้ ใช้ scale บอกตำแหน่งของความผิดปกติ จากนั้นจึงนำผู้ป่วยไปผ่าตัด ทำให้สามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจได้ตรงกับตำแหน่งที่สงสัยได้แม่นยำมากขึ้น
เนื่องจากในห้องผ่าตัดนั้น นักศึกษาแพทย์ (นศพ.) และบุคลากรทุกคน ต้องสวมหน้ากาก ฉันจึงบอกยากว่าคนนั้นคือใคร หรือคนนี้เป็นใคร อาศัยความคุ้นเคย แต่ระหว่างอาจารย์ กับ นศพ. นั้นฉันแยกได้นะ คงเป็นเพราะอาจารย์มีราศีความเป็นครูกระมัง?
วันนั้น มี นักศึกษาแพทย์แลกเปลี่ยนมาจากญี่ปุ่น เป็นนักศึกษาแพทย์ชาย ปี 5 เข้ามาดูการผ่าตัดพร้อม ๆ กับ นศพ. ปี 4 เป็นสีสันในห้องผ่าตัด เพราะตื่นเต้นกันทั้งหมอทั้งพยาบาล เป็นอันว่า การเรียนในห้องผ่าตัดวันนั้น เป็นแบบ inter คือ อาจารย์สอนภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่
นักศึกษาแพทย์จากญี่ปุ่นคนนั้นตั้งใจเรียนมาก ใช้ทุกนาทีในการเรียนรู้จากเมืองไทยให้คุ้มค่า ฉันเห็นความตื่นเต้นที่เขาแสดงออกเป็นบางครั้ง เมื่ออาจารย์เล่าถึงเทคนิคการทำ biopsy แบบนี้
.............................เขาคงอยากเป็นศัลยแพทย์ และฉันเชื่อว่าเขาต้องเป็นศัลยแพทย์ที่ดี...............
หลังจากเพลิดเพลินกับการเรียนในห้องผ่าตัด เวลาก็ล่วงเลยไปจนเกือบจะเที่ยง พี่พยาบาลบอกว่า 11 โมงครึ่ง จะมี case ทำ needle localized biopsy อีก คราวนี้ อาจารย์หัวหน้าภาควิชาศัลยศาตร์ จะลงมือผ่าตัดเอง ฉันอยากลองเป็นผู้ช่วยอาจารย์ผ่าตัด จึงรออยู่ในห้องนั้น ...... ส่วนเพื่อน ๆ ต่างก็แยกย้ายกันไปทำภารกิจของตน
ฉันไม่รู้ว่า อาจารย์หัวหน้าภาคฯ เป็นคนอย่างไร ใจดี ดุ หรือตลก แต่จากการสังเกตที่พี่พยาบาลพูดถึง พี่ ๆ ดีสดชื่น สนุกสนานกับการทำงานมาก ฉันก็พลอยใจชื้นไปด้วย เกรงใจอาจารย์และพี่ ๆ แพทย์ประจำบ้าน (resident) ที่ช่วยอาจารย์ผ่าตัด อาจจะทำงานช้าลงเพราะต้องคอยสอน นศพ. ปี 4 คนนี้
หรือวันนี้ อาจารย์จะเป็นอีกหนึ่งสีสันของห้องผ่าตัด ?? ทุก ๆ คนจึงมีความสุขกับการทำงาน ฉันเริ่มอยากเห็นอาจารย์คนนี้ เชื่อว่าอาจารย์มีความเป็นผู้นำ และปกครองลูกน้องอย่างเป็นธรรม ผู้ร่วมงานทุกคนรักอาจารย์มาก ฉันรู้สึกได้ชัดเจน
และแล้วอาจารย์ก็เดินเข้าห้องมา แม้จะไม่เคยเห็นหน้าอย่างใกล้ชิด และอาจารย์เองก็สวมหน้ากาก แต่ฉันรู้ได้ถึงราศีของอาจารย์ ผู้ซึ่งเดินเข้าห้องผ่าตัดอย่างมั่นใจ ฉันรีบเข้าไปบอกอาจารย์ว่า ขอเป็นผู้ช่วยผ่าตัด case นี้ อาจารย์พยักหน้า โดยไม่พูดอะไร
ที่จริง case นี้เริ่มผ่าตัดเที่ยงกว่า ๆ โดยมีอาจารย์ 2 คน, resident 1 คนและฉัน ซึ่งเป็น นศพ.ปี 4 อีกหนึ่งคน มีผู้สังเกตการณ์ยืนดูอยู่รอบเตียงผ่าตัด ประกอบด้วย resident 3-4 คนและนักศึกษาแพทย์จากญี่ปุ่นคนนั้น ซึ่งอาจารย์ผู้ดูแล นศพ. แลกเปลี่ยน ก็เข้าผ่าตัด case นี้
ฉันกับอาจารย์หัวหน้าภาคฯ ล้างมือเสร็จแล้ว กำลังสวมเสื้อผ่าตัด เสื้อนี้ ไม่มีกระดุม แต่ใช้เชือกผูกแทน ฉันตั้งส่งเชือกอ้อมหลังเพื่อผูกเชือกให้เรียบร้อย และต้องส่งด้วยมือขวา ให้กับคนที่สวมถุงมือปลอดเชื้อ แต่คงเป็นเพราะฉันตื่นเต้นเกินไป กับท่าทีที่ดูขรึมของอาจารย์หัวหน้าภาคฯ ฉันส่งเชือกผิดมือ ผลก็คือ เชือกมือซ้ายนั้นสั้นกว่าจึงอ้อมไม่ถึงอีกข้าง นี่ยังไม่เท่าไร... คนที่รับเชือก คืออาจารย์นั่นเอง
“อ้าวเฮ้ย! ส่งเชือกยังผิดด้าน นี่อยู่ปีไหนแล้ว??”
“หนูอยู่ปี 4 ค่ะอาจารย์” ฉันตอบกึ่งเขิน และรีบส่งเชือกทางขวาให้อาจารย์ เพราะทั้งอาจารย์อีกคน พี่ resident และพี่พยาบาล หัวเราะกันสนั่น นี่ถ้าคนไข้ยังไม่ดมยาสลบ คงได้ดูโชว์ตลกในห้องผ่าตัดก่อนหลับแน่นอน
ขรึม แต่ก็ตลกและท่าทางใจดีนะ ฉันคิดเช่นนี้
“อะไรวะ?? Resident ปี 4 แล้วยังสวมชุดผ่าตัดไม่เป็นอีก” อาจารย์พูด ทุกคนยิ่งขำกันใหญ่ เพราะนอกจากจะแกล้งแหย่เล่นทั้ง ๆ ที่รู้ว่าฉันเป็น นศพ. อาจารย์ยังจับเชือกชุดผ่าตัดของฉัน พร้อมกันสองมือ ผลคือฉันกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่ระหว่างชุดนั้นนั่นเอง และแล้วอาจารย์ก็ผูกชุดผ่าตัดให้เรียบร้อย
นี่แค่ประเดิมฉากแรก ๆของวันที่แสนธรรมดาของฉัน
ในขณะเดินเข้าไปยืนข้างเตียง ศัลยแพทย์มือที่ 1 จะยืนขวามือผู้ป่วย มือที่ 2 ยืนซ้ายมือ ผู้ช่วยคนที่ 3 ยืนขวามือของศัลยแพทย์มือที่ 2 ส่วนคนที่ 4 ยืนขวามือของศัลยแพทย์มือที่ 1 อาจารย์หัวหน้าภาคฯ (ทุกคนรู้ว่า คนนี้คือศัลยแพทย์มือที่ 1) ให้ฉันเลือกว่าจะอยู่ทางไหน ฉันเลือกซ้ายมือของผู้ป่วย ...... อาจารย์จึงบอกว่า อาจารย์จะอยู่ทางซ้ายมือของคนไข้ด้วย ......... ไม่รู้ว่าฉันตาลาย มึน ๆ เกร็ง เพราะหิวข้าว หรือตื่นเต้นที่ได้ช่วยผ่าตัดกับหัวหน้าภาควิชาฯ
“อะนี่ ปูผ้าให้ผมที” พูดเสร็จ อาจารย์ก็ยืนดู ฉันควรจะทำอย่างไร ในเมื่อฉันไม่เคยทำมาก่อน ทันทีที่ฉันจะเริ่มกางผ้า อาจารย์รีบจับมือ แล้วสอนวิธีกางผ้า
“ปูผ้า ให้เรียงซ้อนกันอย่างนี้ จำไว้นะ ตอนเป็น extern จะได้ทำเป็น อืม ...... เอานี่ไป” ปูผ้าเสร็จ อาจารย์ก็ส่งปลอกด้ามจับไฟผ่าตัดให้ฉัน ฉันเองก็ไม่เคยทำอีก แต่พอจะรู้ว่าต้องสวมทับด้ามจับของไฟผ่าตัด ซึ่งด้ามโลหะนี้ ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ไว้สำหรับให้ศัลยแพทย์จับเพื่อปรับไฟเวลาผ่าตัด ฉันจึงพยายามสวม แต่ไฟอยู่สูงเกินไป ฉันยื่นมือสุดแขน
“อ่าว.... ถ้าเตี้ย สวมให้พอยึดเกี่ยวแล้วก็ดึงลงมาหมุนให้แน่นก็ได้ จะได้สะดวก ๆ” และทุกคนก็หัวเราะกันเกรียวกราว ฉันยิ่งเขินมากขึ้น เพราะพี่ ๆในห้องผ่าตัดเริ่มมุงกันรอบเตียงคนไข้ คงเตรียมจะเรียนจากอาจารย์ และสนุกสนานกับโชว์ขำขันซึ่งเป็นผลพลอยได้
และแล้ว การผ่าตัดก็เริ่มขึ้น อาจารย์ดู film ที่เสียบอยู่บนแท่นอ่าน แล้วลงมือกรีดมีดลงไป รอบๆ ก้อน ซึ่งมีเข็มอันเล็ก ๆ ปักอยู่บนเนื้อ เมื่อกรีดได้แผลกว้างเท่าที่ต้องการแล้ว อาจารย์ส่ง gauze ให้ฉัน
“อะนี่ เธอถือไว้ แล้วคอยซับเลือดนะ” เวลาผ่านไป คนที่ซับเลือด คือพี่ resident เสียส่วนใหญ่ อาจารย์จึงบอกว่า
“เอางี้นะ มาตกลงกันเมื่อเธอซับเลือด 1 ครั้ง ผมให้ 1 บาท ถ้าครั้งไหนแย่งพี่ได้ ให้เป็น 1 บาท 50 สต. เลย” ทำเอาทุกคนฮือฮา เป็นอันว่า พี่ ๆ กลายเป็นกองเชียร์ นักศึกษาแพทย์จากญี่ปุ่นก็ฟังเข้าใจนะ เพราะการแปลทุกสถานการณ์ของอาจารย์อีกคนที่ตอนนี้กลายเป็นศัลยแพทย์มือที่ 1 (เนื่องจาก อาจารย์หัวหน้าภาคฯ เลือกยืนทางซ้ายกับฉัน อาจารย์อีกคน กับพี่ resident จึงต้องยืนทางขวา)
การผ่าตัดที่มีแต่เสียงหัวเราะ ฉันไม่ได้โกรธเคืองอะไรเลย เพราะวันนั้น เป็นวันที่เรียนในห้องผ่าตัด ที่มีความสุขมากที่สุดเลย เท่าที่ผ่านมา
เวลาผ่านไป กลายเป็นว่า พี่ resident ไม่ค่อยซับเลือดแล้ว ฉันเลยซับเลือดแทน ฉันไม่ได้ตั้งใจจะแย่งพี่หรอกนะ คงเป็นเพราะพี่ต่อให้น้อง นศพ.ปี 4
“ยิ่งซับ ยิ่งมันละซิ ชักจะเยอะแล้ว เอางี้ เหมาจ่ายนะ ซับกี่ที ผมก็จ่าย 20 บาทนะ เอานี่ไปถือ” พูดเสร็จ อาจารย์ก็ส่ง retractor ให้ฉัน พร้อมกับพี่พยาบาลหัวเราะชอบใจ ถามอาจารย์กึ่งแซว ว่าอาจารย์จะให้จริง ๆ นะหรือ
ฉันคว่ำมือจับด้านบนของ retractor ทำให้ข้อศอกกางออก เพราะไม่ถนัดมือ
“มั่นใจหรือเธอ?? กางแขนอย่างนั้น” พี่พยาบาลและคนอื่น ๆ หัวเราะอีกที
“โธ่ อาจารย์ขา พอเถอะค่ะ ดูซิ น้อง นศพ. หน้าแดงเลย” พี่พยาบาลผู้ช่วยส่งเครื่องมือบอกทั้ง ๆที่ตัวเองก็ยังขำ ฉันเขินจนหน้าแดงเลยหรือนี่
“เวลาจับ ให้จับแบบจับปากกา จะได้ดู smart และถนัดมือด้วย ไหนลองใหม่ซิ?” ฉันทำตาม ตอนแรก ก็ไม่ชินหรอกนะ ต่อมาก็รู้สึกว่า อืม..... แบบนี้ก็ไม่เลวนะ ไม่เมื่อยแขนด้วย
เวลาผ่านไปจนใกล้จะผ่าตัดเสร็จ อาจารย์ถามฉันอีกคำถามสุดท้าย
“เออ ..... แล้วที่เธอมาผ่าตัดนี่ ขอคนไข้หรือยัง?” ฉันอึ้ง เพราะไม่มี นศพ. คนไหนทำแบบนั้นเลย ทุกคนก็เงียบ เหมือนจะฟังคำตอบของฉัน คงมีแต่อาจารย์อีกท่าน ที่กำลังพูดภาษาอังกฤษ แปลให้ นศพ.ญี่ปุ่นฟัง
“ขออนุญาตเข้าช่วยผ่าตัดกับอาจารย์นะคะคุณป้า......” ฉันขอพร้อมบอกชื่อคนไข้ อาจารย์ตอบฉันเป็นภาษาอังกฤษ ใจความว่า
“ในต่างประเทศ ถ้าแพทย์คนใด หรือนศพ. ต้องการจะผ่าตัดเขา ต้องขออนุญาตเขาโดยให้เขาเซ็นต์ยินยอม ไม่ใช่มาขอตอนที่เขาไม่ได้สติในห้องผ่าตัด เธอเข้าใจนะ” ฉันยิ้มอาย ๆ แก้เก้อ ตอบรับพร้อมพยักหน้า จากนั้น อาจารย์ก็บอกลาทุกคนเพราะต้องรีบไปทำธุระต่อไป ขณะนี้จึงเหลือศัลยแพทย์และผู้ช่วยรวม 3 คน
เมื่อถอดเสื้อคลุมผ่าตัดออกและล้างมือเสร็จแล้ว อาจารย์กลับมาพร้อมกับธนบัตรสีเขียว สร้างความฮือฮาให้ทุกคน บางคนหัวเราะ บางคนอุทานออกมาด้วยความประหลาดใจ ส่วนฉัน...... พูดอะไรไม่ออก
“อะนี่ ค่าช่วยผ่าตัด ผมแปะไว้ตรงนี้ละกัน ไปล่ะ โชคดี” อาจารย์เสียบธนบัตรนั้นไว้ข้าง ๆ film บนแท่นอ่าน ฉันยกมือขึ้นพนม แล้วบอกกับอาจารย์ว่า ขอบคุณค่ะ แล้วอาจารย์ก็เดินออกไปจากห้อง ด้วยความมั่นใจอย่างสง่าผ่าเผย
พี่พยาบาลผู้ช่วย บอกกับฉันว่า “น้องหมอเก็บเอาไว้นะ เป็นเงินขวัญถุงเลย ห้ามนำไปใช้ล่ะ” ฉันทำแบบนั้นแน่นอน
........................................................................ ..........................
เวลาผ่านไปครึ่งปีแล้วนะ ฉันเป็น นศพ.ปี 5 ยังคงจำคุณธรรมที่อาจารย์สอนได้เสมอ ทั้งในห้องผ่าตัดและในห้องเรียน


“ขอให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ขอให้รู้ขีดความสามารถ
ขอให้รู้ว่าเมื่อใดจะขอปรึกษา
และขอให้รู้ว่าเมื่อใดจะ refer”
ที่ผมอยากให้ general practice ทำได้ ก็คงเท่านี้

ฉันคิดว่า ไม่ใช่เงิน 20 บาทที่ซื้อใจของฉัน แต่ตัวอย่างที่ดีต่างหาก ที่ฉันประทับใจ คนไข้เองก็คงรู้สึกเช่นเดียวกับฉัน แม้ฉันอาจจะทำอะไรไม่ได้มากในตอนนี้ อย่างน้อยที่สุด ไม่ได้ทำอันตรายกับผู้ป่วย และอีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์เน้น คือ
2 คำในโลกนี้คือ ขอโทษ และ ขอบคุณ ใช้มันให้เป็น
นี่คงเป็นตัวอย่างที่ทำให้ฉันเข้าใจถึงสิ่งที่พระบิดาสอนว่า “ฉันไม่ต้องการให้เธอเป็นแพทย์ แต่ควรเป็นคนด้วย”


น.ส.สิริพร พงศ์ภัทรภัค นศพ.ปี 5
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


Posted by : chains , Date : 2008-10-28 , Time : 19:14:51 , From IP : ppp-124-120-242-213.

ความคิดเห็นที่ : 2


   คุณครูผู้ยิ่งใหญ่

เคยมีอาจารย์สอนฉันไว้ว่า...บางอย่างเราต้องตั้งใจมองหา เราจึงจะเห็น...

ชีวิตประจำวันของนักศึกษาแพทย์ปีสี่อย่างฉันเริ่มต้นอย่างเร่งรีบในทุกเช้า ตั้งแต่รีบตื่น รีบอาบน้ำ รีบเดิน รีบไปราวน์วอร์ด เช้านี้ก็เช่นกัน แม้จะรู้สึกอ่อนเพลียจากการอยู่เวรเมื่อคืน แต่ฉันก็ยังคงต้องทำหน้าที่ต่อไปเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในโรงพยาบาล
หอผู้ป่วยอายุรกรรมที่ฉันต้องปฏิบัติงานตลอด 10 สัปดาห์นี้ ยังคงให้ความรู้สึกแห้งแล้ง หดหู่เช่นเดิม ตราบเท่าที่คนไข้และญาติยังมีสีหน้าอิดโรยอมทุกข์และมีเสียงเครื่องช่วยหายใ จดังเป็นจังหวะสม่ำเสมอคอยเสริมบรรยากาศให้หม่นหมองยิ่งขึ้น
ฉันมาถึงวอร์ดด้วยความรู้สึกที่ไม่สู้จะแจ่มใสนัก ถ้ามีเวลานอนเพิ่มมากกว่านี้คงจะดีไม่น้อย นึกอุทธรณ์ในใจพลางกวาดสายตาไปทั่ววอร์ดที่มีเคาน์เตอร์พยาบาลแอร์เย็นฉ่ำอย ู่ตรงกลางตัดกับอากาศอบอ้าวในฤดูฝนของวอร์ดสามัญที่รายล้อมไปด้วยเตียงผู้ป่ วยในประมาณ 30 เตียง พลันสายตาก็สะดุดกับคนไข้ใหม่รายหนึ่งซึ่งคงจะเพิ่งเข้าหลังจากที่ฉันลงเวรไ ปแล้ว
ผู้ป่วยชายไทย อายุประมาณ 60-70 ปี รูปร่างผอมอย่างที่เรียกว่า cachexia นอนใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ในส่วนที่ฉันเรียกเองว่าโซนอันตราย คือ โซนที่อยู่หน้าเคาน์เตอร์พยาบาลพอดีและมักจะรวมคนไข้หนักๆ ไว้ด้วยกัน ถ้าคุณลุงมาหลังเวรก็แปลว่ายังไม่มีใบรับคนไข้ที่เป็นประวัติและการตรวจร่าง กายแรกรับของปี 4 น่ะสิ แล้วคุณลุงใส่ท่อช่วยหายใจอย่างนี้ ฉันจะซักประวัติได้ยังไงกัน
แฟ้มเวชระเบียนหนาเตอะและประวัติที่พี่แพทย์เวรบันทึกไว้ทำให้ทราบว่า คุณลุงอายุ 67 ปี ครั้งนี้ Admit เป็นครั้งที่ 36 มาด้วยอาการหอบเหนื่อยมากขึ้นมา 2 วันก่อนมาโรงพยาบาล มีอาการหอบเหนื่อยตลอดเวลาจนนอนไม่ได้ และมีประวัติมีไข้ เสมหะสีเหลืองข้นมากจนไอไม่ออก หายใจไม่ทัน ต้องหายใจทางปาก พ่นยาแล้วไม่ดีขึ้นจึงมาโรงพยาบาล
โรคประจำตัวเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังต้องมานอนโรงพยาบาลเป็นประจำ และเคยต้องใส่ท่อช่วยหายใจมากกว่า 10 ครั้ง ครั้งล่าสุดเพิ่งกลับจากโรงพยาบาลเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนเนื่องจากมีอาการหอบเหนื่อยและเป็นปอดอักเสบ
ฉันกวาดสายตาอ่านอย่างคร่าวๆ ก่อนจะคว้า stethoscope คู่ใจ เดี๋ยวไปตรวจร่างกายไว้ก่อน ถ้าคุณลุงได้เอาเครื่องช่วยหายใจออกแล้วค่อยซักประวัติเพิ่มก็ได้
ฉันเคยคิดไว้ว่า คนไข้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจมักจะเป็นคนไข้หนักที่ถูกโรคและความเจ็บป่วยเข้าเกา ะกินจนไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร และพลอยทำให้คนรอบข้างรู้สึกสิ้นหวังไปด้วย แต่คุณลุงทำให้ฉันต้องประหลาดใจ...
แม้จะใส่ท่อช่วยหายใจ แต่แววตาที่มองตอบหลังจากฉันเข้าไปแนะนำตัวและขออนุญาตตรวจร่างกายกลับเต็มไ ปด้วยความหวัง ทำให้รู้สึกราวกับมีหยาดฝนโปรยปรายลงมาในวันที่ผืนดินแห้งแล้ง
ไม่ใช่เพียงแต่แววตาแห่งความหวังเท่านั้น ความยินดีฉายชัดผ่านทางสีหน้าและท่าทาง คุณลุงรีบดึงชายเสื้อขึ้นให้ฉันฟังปอดด้วยความเต็มใจ ถ้าคุณลุงพูดได้ คุณลุงคงจะบอกว่า เอาเลยคุณหมอ เชิญเลย...ฉันยังจำอากัปกิริยานั้นได้แม้เวลาจะผ่านมาเกือบสองปีแล้ว
คุณลุงช่างเหมือนกับคนไข้ที่เดินมาจากตำรา เป็นคุณครูที่สอนเรื่องการตรวจร่างกายใดๆ ที่น่าจะเจอได้ในโรคถุงลมโป่งพอง แต่สิ่งที่สะดุดใจที่สุดคงจะหนีไม่พ้นประวัติ readmission อยู่เป็นประจำ ถ้ามีโอกาส บางที...ฉันอาจจะพบสาเหตุที่ทำให้คุณลุงต้องกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำแล้วซ้ำเล ่า
โชคดีเหลือเกินที่ตอนเย็นคุณลุงสามารถถอดท่อช่วยหายใจได้แล้ว ฉันกลับจากการเรียนในตอนบ่ายมาพบคุณลุงนั่งขัดสมาธิอยู่บนเตียง ข้างหน้ามีถาดข้าวที่พร่องไปไม่ถึงหนึ่งในสี่ทำให้ฉันอดที่จะทักไม่ได้
“ทำไมลุงกินข้าวน้อยจังจ๊ะ กับข้าวไม่อร่อยเหรอ”
คุณลุงยกมือผอมๆ ขึ้นมาโบกปฏิเสธ ก่อนจะตอบว่า
“ไม่ใช่หรอกครับคุณหมอ มันเจ็บคอ เสลดมันเยอะ กินอะไรก็ไม่อร่อย”
“ลุงยังเหนื่อยมากอยู่มั้ยคะ รู้สึกดีขึ้นหรือยัง” ฉันถาม เพราะเพิ่งสังเกตเห็นว่าคุณลุงยังนั่งหายใจเป่าปากแบบ purse lips อยู่
“ค่อยยังชั่วแล้วครับ”
“ถ้าอย่างนั้น หมอขออนุญาตถามอาการนะคะ ถ้าคุณลุงเหนื่อย อยากพักแล้ว บอกหมอได้เลยนะคะ”
คุณลุงของฉันชื่อ “ลุงชอบ” ค่ะ เป็นคนอยุธยาอยู่วังน้อยมาตั้งแต่เกิด เดิมเป็นครู ตอนนี้เกษียนแล้ว ได้เงินบำนาญแต่ต้องเก็บไว้ส่งเสียลูกคนเล็กซึ่งกำลังเรียนปริญญาโทอยู่ หนุ่มๆ ลุงสูบบุหรี่จัดมาก วันละซองครึ่ง สูบมานานประมาณ 35 ปี เพิ่งเลิกสูบเด็ดขาดมา 2 ปี หมอบอกว่าลุงเป็นโรคถุงลมโป่งพองมาตั้งแต่ปี 2542 แต่ลุงเพิ่งเริ่มรักษามาได้ 3 ปี ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน ลุงเลยป่วยบ่อย ลุงบอกว่า หน้าฝนกับหน้าหนาวจะเป็นหนัก บางคืนเหนื่อยมากต้องพ่นยาตั้งหลายครั้ง ดมออกซิเจนที่บ้านแล้วก็ไม่ดี จำเป็นจริงๆ ถึงต้องให้เมียพามาโรงพยาบาล
“ถ้าไม่เป็นหนักจริงๆ ผมไม่อยากมารบกวนคุณหมอๆ เลย เมื่อคืนก็ถูกคุณพยาบาลดุว่า มาอีกแล้ว คุณพยาบาลคงเบื่อผมเต็มที”
ฟังถึงตรงนี้แล้ว ฉันก็อดที่จะปลอบใจคุณลุงไม่ได้ ถึงจะเห็นใจคุณลุงแต่ก็เข้าใจพี่พยาบาล เพราะฉันก็เคยเผลอคิดไปว่า คนไข้โรคเรื้อรังไม่ยอมดูแลตัวเองให้ดีถึงต้องมานอนโรงพยาบาลด้วยเรื่องเดิม ซ้ำๆ บ่อยๆ โรคที่เป็นก็เป็นผลกรรมจากพฤติกรรมของตัวเอง แต่ทำให้บุคลากรอย่างเราๆ ต้องรับภาระงานหนักขึ้น ฉันเผลอคิด...โดยใช้เหตุผลที่ฉันตัดสินเป็นศูนย์กลาง
ด้วยความรู้และประสบการณ์อันน้อยนิดที่มีอยู่ คุณลุงใช้ยาได้ถูกต้องตามที่อาจารย์หมอให้ไป แต่แล้วทำไมคุณลุงถึงติดเชื้อทางเดินหายใจอยู่บ่อยๆ และกระตุ้นให้อาการกำเริบเป็นประจำ
ถ้าตอนนั้น ฉันมีความรู้เรื่องการเยี่ยมบ้านซักนิดก็คงจะดี
แต่เมื่อยังไม่มี...ฉันก็แนะนำตามเรื่องตามราวที่อ่านมา เช่น การออกกำลังกาย การใช้ออกซิเจนที่บ้าน ถามไปถามมาจึงพบว่า คุณลุงไม่ได้ on home O2 therapy อย่างถูกต้อง เนื่องจากถังออกซิเจนราคาแพง และถ้าลุงดมออกซิเจนในแต่ละวันนานเท่าที่หมอบอก ลุงก็จะมีเงินบำนาญเหลือส่งให้ลูกคนเล็กได้น้อยลง ลุงยอมใช้จ่ายชีวิตของตัวเองเพื่อการอดออมเงินเป็นทุนการศึกษาให้แก่ลูก
ฉันฟังแล้วก็อดสะท้อนใจไม่ได้ แล้วจะไม่ปฏิเสธได้อย่างไรว่าทุกอย่างล้วนส่งผลต่อสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมจร ิงๆ
ฉันถามประวัติอื่นๆ เพิ่มเติมก่อนจะขอตัวไปบันทึกประวัติในส่วนของปีสี่ คุณลุงช่างพูดจาดีสมกับที่เคยเป็นแม่พิมพ์ของชาติมาก่อน แทนตัวเองว่า “ผม” ทุกครั้ง และเรียกฉันว่า “คุณหมอ” อย่างให้เกียรติทุกครั้ง ยิ่งคุณลุงให้เกียรติฉันเท่าไหร่ ฉันก็ยิ่งรู้สึกตัวเล็กลงเท่านั้น
แม้จะรู้สึกถูกอัธยาศัยกับลุงชอบเป็นการส่วนตัว แต่ฉันกลับไม่ได้ให้โอกาสตัวเองในการเรียนรู้จากลุงมากนัก จนกระทั่งฉันเปลี่ยนแผนกไปอยู่หอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิงสามัญ

เวลาในช่วงการเรียนชั้นคลินิกช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว ระหว่างที่ฉันอยู่แผนกอายุรกรรมนั้น ลุงชอบมานอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 3 ครั้ง และครั้งที่ 3 ที่ฉันเจอลุงชอบนั้นเป็นวันที่อาจารย์นัดเรียน bed side ที่ตกค้างมาหลายอาทิตย์
เนื่องจากไม่รู้มาก่อนว่าเพื่อนเตรียมคนไข้คนไหนไว้ ฉันจึงอดดีใจไม่ได้ที่ได้เจอลุงชอบอีก ไม่ได้ดีใจเพราะลุงต้องมานอนโรงพยาบาลบ่อยๆ แต่มันเป็นความรู้สึกคล้ายได้เจอเพื่อนเก่าที่คุ้นเคยกัน ถ้าฉันไม่ได้คิดไปเอง ฉันว่าลุงชอบแอบยิ้มส่งกำลังใจให้ฉันระหว่างที่กำลังโดนอาจารย์ไล่ถามอยู่ด้ วย
กระบวนการเรียนข้างเตียงผู้ป่วยดำเนินไปตามแบบฉบับอันคลาสสิก ลุงชอบยังน่ารักเหมือนเดิม ฉันชอบท่าทางเต็มอกเต็มใจนั้น แม้ว่าจะต้องถูกยืนล้อมนานกว่าครึ่งชั่วโมง มี Stethoscope นับสิบอันขอฟังปอดครั้งแล้วครั้งเล่า คงเป็นเพราะลุงคุ้นกับการเป็นผู้ให้ความรู้ละมั้งคะ ทำให้ลุงดูไม่เหนื่อยหน่ายกับการเป็นครูให้พวกเรา
เพื่อนๆ ของฉันแยกย้ายกันไปพักกลางวันแทบจะทันทีที่อาจารย์อนุญาต แต่ฉันยังยืนอยู่ข้างเตียงของลุงเช่นเดิมด้วยความรู้สึกบางอย่าง
“เจอกันอีกแล้วนะจ๊ะลุง ตอนนี้เป็นยังไงบ้างจ๊ะ” ฉันยิ้มทักทายให้สมกับความดีใจที่ได้เจอลุงอีกครั้ง
“ดีขึ้นแล้วครับคุณหมอ โรคผมมันก็อย่างนี้ ไม่หาย ขอแค่อย่าเพิ่งตายก็พอ ลูกยังเรียนไม่จบเลย”
“แต่ก็ใกล้จบแล้วนี่จ๊ะ ถ้าลูกเรียนจบแล้ว ลุงก็สบายแล้วล่ะ”
“เอ...แล้วตอนนี้ลูกๆ เค้าอยู่กับลุงที่วังน้อยหรือเปล่าจ๊ะ”
“เปล่าหรอกครับ คนโตเค้าแต่งงานแล้วก็ไปอยู่ที่อื่น ส่วนเจ้าคนเล็กก็อยู่หอพัก ที่บ้านผมอยู่กับเมียสองคน”
“แล้วลุงไม่ย้ายไปอยู่กับลูกคนโตล่ะจ๊ะ เวลาไม่สบายจะได้มีคนช่วยกันดูแล”
“ไม่เอาล่ะครับ ผมเกิดที่วังน้อย โตมาก็เป็นครูวังน้อย ตอนหนุ่มๆ ทั้งโรงเรียนมีครูอยู่คนเดียว ทำทุกอย่างเป็นทั้งครู ทั้งภารโรง” แววตาของลุงดูเหมือนจะล่องลอยไปหาความทรงจำอันแสนสุข
“คุณหมอรู้มั้ย สมัยก่อนวังน้อยไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา แต่ผมคิดว่าทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผมไปติดต่อเจ้าหน้าที่แล้วก็เกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยกัน มีแรงลงแรง มีเงินลงเงิน ช่วยกันทำท่อส่งน้ำ ถมดิน ลำบากก็ลำบาก สนุกก็สนุก จนวังน้อยมีถนน มีน้ำประปา คนวังน้อยรู้จักผมเกือบทุกคนล่ะครับ ช่วงนั้นงานมาก เลยสูบบุหรี่จัด แล้วก็เลยติดมาจนแก่ เพิ่งเลิกตอนหอบหนักๆ นี่ล่ะครับ” น้ำเสียงของลุงชอบบอกชัดถึงความภาคภูมิใจสูงสุด
ฉันยืนฟังลุงเล่าอย่างเงียบๆ ดูเหมือนคลื่นแห่งความสุขของลุงจะหลั่งไหลมาตามเสียงจนฉันพลอยได้รับมันไปด้ วย
โดยไม่รู้ตัว ฉันรู้สึกว่าผู้ชายตรงหน้าช่างมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่าเหลือเกิน ไม่ใช่แค่ลุงแก่ๆ ผอมๆ นอนอมโรคอยู่ที่เตียง เป็นปัญหาให้หมอและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องตามแก้อย่างไม่จบสิ้น

คนไข้ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่เราเห็นอย่างเจนตา แท้จริงแล้วกลับมีเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาอย่างยิ่งใหญ่

คิดถึงตรงนี้แล้ว ฉันก็อดที่จะตื้นตันไปกับเรื่องราวของลุงชอบไม่ได้

“ขอบคุณนะคะคุณลุง ขอบคุณแทนเพื่อนๆ ด้วย ขอบคุณ...ที่คุณลุงเป็นครูให้กับพวกหมอ”
...ขอบคุณ...ที่ลุงไม่ได้เป็นเพียงครูที่สอนให้รู้จักและเข้าใจโรค แต่ยังสอน...ด้วยประสบการณ์เรื่องราวที่ผ่านมาทั้งชีวิต ลุงทำให้หมอเปลี่ยนมุมแคบๆ ที่เคยใช้มองคนไข้ ให้เห็นความจริง...และความงดงาม ที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวที่เราไม่เคยสนใจจะรับฟัง
“คุณลุงไม่ได้แค่เคยเป็นคุณครูสอนเด็กๆ มามากมาย แต่คุณลุงยังเป็นครูสอนพวกหมออีก ขอบคุณ จริงๆ นะคะ”
ลุงชอบยกมือสั่นๆ ขึ้นรับไหว้ ก่อนจะยิ้มน้อยๆ
“ผมดีใจที่ได้ทำประโยชน์ให้กับคุณหมอบ้าง”


คุณครูของฉันไม่ได้สอนแค่ให้ฉันรู้จักโรค
แต่ยังสอน..ให้ฉันรู้จักเข้าใจ...และเห็นใจ ความรู้สึกของเพื่อนมนุษย์
ได้เรียนรู้ความเจ็บป่วย ความทุกข์ และความสุข
ถ้าเพียงแต่เราตั้งใจ...เราจะมองเห็นเรื่องราวมากมายที่สั่งสมเป็นประสบการณ ์ซึ่งแลกมาด้วยชีวิตทั้งชีวิต

ขอบคุณคนไข้ทุกๆ คนที่เป็นครูของหมอค่ะ

น.ส.ศิริวรรณ จิตตปราณีรัชต์
นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


Posted by : chains , Date : 2008-10-28 , Time : 19:17:11 , From IP : ppp-124-120-242-213.

ความคิดเห็นที่ : 3


   กังวลอะไรไหม ?? โดย นาย ศุภชัย ครบตระกูลชัย นศพ.ปี 5 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ช่วงที่ผมอยู่วอร์ดออร์โธปีดิกส์ ผมได้บทเรียนที่ประทับใจไม่มีวันลืม จากคุณยายคนหนึ่ง...

เย็นวันนั้นเป็นวันที่ผมรับคนไข้ใหม่ ซึ่งพี่แพทย์ประจำบ้านได้ซักประวัติและตรวจร่างกายคุณยายเรียบร้อยแล้ว ผมได้ไปดูบันทึกเวชระเบียนที่พี่ทำการบันทึกประวัติ ทำให้ทราบว่า คุณยายมาผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่าซึ่งจะผ่าตัดพรุ่งนี้
หลังจากที่ผมได้รับผู้ป่วยตามปกติแล้ว (ปกติคืออ่านประวัติที่พี่เขียนบันทึกไว้ให้เข้าใจ) วันนั้นผมกำลังรีบกลับ เพราะนัดเพื่อนไว้ คิดว่าคงจะไม่ไปคุยกับคุณยายเพราะคงคุยนานไป คุยแล้วอาจจะเลยเวลาที่ผมนัดเพื่อนไว้ ไปคุยพรุ่งนี้ก็ได้ คุยวันนี้ไปก็คงไม่ต่างจากคุยพรุ่งนี้มากนัก ขณะที่ผมกำลังจะกลับ ผมได้เหลือบไปมองเห็นคุณยายผู้ป่วยของผม ภาพที่กระทบเข้าสู่ลานสายตาของผมเป็นภาพหญิงชราหน้าตาดูกังวลเล็กน้อย นอนอยู่บนเตียงตามลำพัง ไม่มีใครมาเยี่ยม ในขณะที่รอบๆเตียงของคุณยาย เต็มไปด้วยผู้ป่วยที่มีญาติมาเยี่ยมด้วยกันทั้งนั้น
ความคิดที่จะรีบไปทันทีโดยที่ไม่ได้คุยกับคุณยายเลยได้เริ่มเปลี่ยน...
มีความคิดที่อยากจะลองไปคุยกับคุณยายดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง รู้เรื่องที่ตัวเองจะต้องผ่าหรือปล่าว มีความพร้อมหรือไม่อย่างไร ใจผมทีแรกก็ไม่ได้อยากเข้าไปคุยอะไรนานเท่าไรหรอก แค่อยากไปคุยให้คุณยายพอรู้จักเห็นหน้าก็พอ พอเป็นพิธี
ขณะที่กำลังเดินเข้าไปหาคุณยาย ผมได้คิดหาคำพูดที่สั้นกระชับที่จะสามารถเข้าใจความรู้สึกของคุณยาย และแล้วอยู่ๆก็มีคำๆหนึ่งได้แล่นเข้ามาในสมองผม เป็นคำพูดซึ่งตัวเองก็ไม่ทราบว่าเคยได้ไปยินมาจากใคร และยังไม่เคยได้พูด ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรก ซึ่งผมเองก็ไม่เคยทราบเลยว่าประโยคนี้ต่อไปจะกลายเป็นประโยคที่พูดติดปากผมใ นเวลาต่อๆมา
“คุณยายกังวลใจอะไรบ้างไหม”
น้ำเสียงเล็กๆของผมได้แล่นเข้ากระทบหูของคุณยาย
สีหน้าของคุณยายค่อยๆเปลี่ยนไปทีละน้อย คงมีความงงสงสัย ด้วยเล็กน้อย
ริ้วรอยบนใบหน้าที่เหี่ยวย่น ปมคิ้วที่ขมวดเข้าหากันอยู่ ได้ค่อยคลายออกทีละน้อย
ผมได้สัมผัสกับรอยยิ้มที่ริมฝีปากอ่อนๆ และรอยย่นที่หางตาทั้งสองข้าง ซึ่งทำให้ผมได้รับรู้ถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของคุณยายได้เป็นอย่างดี
“หลังผ่าตัดจะต้องอยู่นอนโรงพยาบาลนานแค่ไหนคะคุณหมอ”
เสียงเปล่งของยายเป็นเพียงเสียงแผ่วๆ มีแต่ลมเสียเป็นส่วนใหญ่
“คงประมาณ 3-4 วัน แต่ผมเองก็ไม่แน่ใจนะครับ เดี๋ยวผมจะถามพี่แพทย์ประจำบ้านให้นะครับ เอแต่ยังไม่มีคนบอกเรื่องนี้แก่คุณยายหรือครับ”
“อ้อ มีคนมาบอกยายแล้วเหมือนกัน ว่าประมาณนี้ แต่ต้องดูหลังผ่าอีกว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ แต่ตัวยายเองอยากทราบวันที่ต้องกลับจริงๆ เนื่องจากต้องดูว่าตรงกับวันที่ลูกๆคุณยายว่างที่จะมารับกลับบ้านหรือไม่”
คำพูดของคุณยาย ณ ขณะนั้นได้ไปสะกิดเบื้องลึกในหัวใจผม
“อะไรกันนี่ ยายเป็นคนป่วยเวลาที่จะกลับบ้านยังต้องคอยมาเป็นห่วงลูกๆอีกหรือนี่
แล้วลูกๆได้คิดถึงคุณยายบ้างไหมหนอ งาน,เงินและเกียรติ มันมีค่าเกินกว่าพ่อแม่อีกหรือ”
เสียงตะโกนก้องในใจผมดังขึ้น
“ครับเดี๋ยวผมจะลองนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับพี่ๆดูนะครับ อืมแล้วคุณยายมีเรื่องกังวลใจไม่สบายอีกมั้ยครับ”

“หลังผ่าตัดจะกลับมาเดินเป็นปกติได้ไหม” คุณยายถามด้วยความกังวล ไม่รู้ว่าชีวิตตัวเองจะเป็นอย่างไรหลังผ่า
“ส่วนใหญ่จะกลับมาเดินได้ตามปกตินะครับ แต่ที่สำคัญขึ้นอยู่ใจของคุณยายนะครับ ต้องสู้กับภาวะเสื่อมของร่างกาย อาจจะลำบากในการที่ต้องฝึกเดินตามที่แพทย์แนะนำในช่วงแรก แต่ต่อๆไปจะชินไปเอง”ผมตอบออกไปพร้อมกับกุมมือของคุณยาย

ผมได้ตกใจกับภาพที่เข้ามากระทบสายตาผมอีกครั้ง
คุณยายยกมือขึ้นไหว้ผม กล่าวขอบคุณผมมาก
ทั้งๆที่ตัวผมเองกลับมีความคิดว่ายังไม่ช่วยอะไรเลยด้วยซ้ำ

ผมกล่าวลาคุณยาย พร้อมกับยกมือไหว้คุณยายเช่นกัน
“พรุ่งนี้เดี๋ยวผมมาดูคุณยายใหม่นะครับ” ผมได้ลาคุณยาย
เดินกลับไปเพื่อไปหาเพื่อนตามนัด โดยที่ไม่ได้ไปช้ากว่าที่นัดไว้เลย...
เดินไปพร้อมกับรอยยิ้มของคุณยายที่ได้ฝังลึกลงในหัวใจของผม และคงเป็นเหมือนกำลังใจที่หล่อเลี้ยงผมไปอีกนาน

การที่ผมได้ไปคุยกับคุณยายครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผมในการดูแลผู้ ป่วย
“สำหรับหมอตัวน้อยๆอย่างผมนี้ ก็มีความสำคัญต่อผู้ป่วยเหมือนกัน”

หากใครว่าหรือมีความคิดว่า เราเป็นแค่นักศึกษาแพทย์คงทำอะไรไม่ได้มากหรอก
ผมคงจะแย้งเป็นเสียงแข็งว่า
“ถึงแม้ความรู้เกี่ยวกับโรคทางกายเราอาจจะยังมีไม่เพียงพอ แต่เราสามารถดูแลเรื่องใจของผู้ป่วยได้ ไม่ว่าผู้ป่วยจะป่วยเป็นโรคทางกายอย่างไร ซึ่งเรื่องทางใจนี้ผมเชื่อว่ามันมีความสำคัญไม่แพ้เรื่องกายเลย”
ความกังวลใจหรือปัญหาเรื่องทางใจทั้งหลาย มักเป็นปัจจัยอันดับต้นๆที่ทำให้เกิดโรคทางต่างๆมากมาย

แม้เราจะยังไม่มีทักษะการคุยกับผู้ป่วย
ขอเพียงแค่เราเปิดใจรับฟังปัญหาผู้ป่วย ...
คำถามง่ายๆ “กังวลใจอะไรไหม”
คำถามประจำตัวของผมที่เป็นเหมือนอาวุธคู่กาย ที่ต้องพกติดตัวเวลาจะไปคุยกับผู้ป่วย

หากเราไม่ได้ถามแล้วเราจะรับรู้ปัญหาผู้ป่วยได้อย่างไร
บางครั้งเราอาจจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ด้วยซ้ำ

และเแม้เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยได้
แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราทำนั้น ก็เป็นการให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกทอดทิ้ง ต้องนอนอยู่กับเตียงตามลำพัง... ซึ่งนั่นก็ถือว่า เราได้เยียวยาเพื่อนมนุษย์ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว..... มิใช่หรือ


Posted by : chains , Date : 2008-10-28 , Time : 19:20:24 , From IP : ppp-124-120-242-213.

ความคิดเห็นที่ : 4


   ก็เพียง นศพ. คนหนึ่ง

วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ผมได้รู้สึกถึงความมีคุณค่าในตัวเองในฐานะที่เป็น นศพ.
วันนี้เป็นวันแรกที่ผมขึ้นวอร์ด orthopaedics ในเวลาช่วงเช้านั้นผมก็เรียน lecture เหมือนกับชีวิตนักศึกษาทั่วๆไป แต่ในช่วงเวลาเย็นหลังเลิกเรียนผมต้องมารับเคสตามหน้าที่ของ นศพ. ซึ่งในขณะนั้นผมมีความกังวลอยู่ในใจว่า เราไม่มีความรู้แล้วจะตอบคำถามผู้ป่วยได้ยังไง ผมจึงไปหยิบแฟ้มมานั่งอ่านดูว่า ผู้ป่วยเป็นอะไร หลังจากนั้นผมก็อ่านหนังสือในเรื่องนั้นไว้อย่างเต็มที่เพื่อจะสามารถตอบคำถ ามของผู้ปกครองของผู้ป่วยได้ ขณะที่ผมเดินเข้าไปเพื่อที่จะพูดคุยกับแม่ของผู้ป่วย ผมก็แนะนำตัวเอง แล้วก็เริ่มสนทนากับผู้ป่วยตามอย่างที่ นศพ. ควรจะทำ หลังจากได้คุยกันอยู่สักพัก ผมเริ่มรู้สึกได้ถึงความกังวลใจของแม่ของผู้ป่วยอย่างมาก และผมก็มั่นใจว่าผู้ป่วยเริ่มเชื่อใจผม ผมจึงถามออกไปว่า “ มีความกังวลใจอะไรอยู่หรือป่าวครับ พอจะเล่าให้ผมฟังได้ไหม ” และแม่ของผู้ป่วยก็ได้พูดออกมาเองโดยผมไม่ต้องซักถามอะไรเพิ่มเติม แม่ของผู้ป่วยรายนี้รู้สึกว่า ลูกยังอายุน้อย ยังไม่ถึง 10 ขวบ ไม่อยากจะให้ลูกต้องเข้ารับการผ่าตัดเลยถ้าเป็นไปได้ แม่ของผู้ป่วยรู้สึกภูมิใจในลูกของตัวเองมาก เนื่องจากลูกเรียนได้ดีมากๆ ไม่เป็นเด็กดื้อเลย ในเวลานั้นแม่ของผู้ป่วยบอกผมออกมาว่า รู้สึกทุกข์ใจเป็นอย่างมากที่ต้องรอผลการตรวจว่าลูกจะเป็นโรคที่รักษาหายหรื อไม่ เวลาช่วงนี้มันช่างเป็นเวลาที่ทุกข์ทรมานและแสนยาวนานเหลือเกิน ผมพยายามฟังและสะท้อนความคิดให้รับทราบว่าผมฟังแม่ของผู้ป่วยพูดอยู่ หลังจากที่ผมฟังแม่ของผู้ป่วยพูดจบ แม่ของผู้ป่วยมีสีหน้าที่สบายใจขึ้นมาก รู้สึกเหมือนมีคนมารับฟังและเข้าใจ ผมพูดให้กำลังใจและก็เดินออกมาพร้อมกับคำพูดที่พูดว่า “ วันพรุ่งนี้ผมจะมาดูอาการน้องอีกรอบนะครับ ” แม่ของผู้ป่วยยิ้มรับด้วยความยินดี ทั้งที่รู้ว่า ผมเป็นเพียง นศพ. คนหนึ่ง
ต่อมาผมก็เดินไปรับผู้ป่วยรายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กอายุไม่ถึง 10 ขวบเช่นกัน ผมเห็นคนนั่งอยู่ข้างๆเตียงผู้ป่วยคนหนึ่งหน้าตาดูโทรมๆ และเหมือนกำลังคิดอะไรบางอย่างอยู่ในใจ ผมจึงเข้าไปและแนะนำตัวเอง และถามถึงว่าเป็นอะไรกับผู้ป่วย จึงได้ทราบว่าเป็นแม่ของผู้ป่วย ผมก็ถามออกไปเหมือนเคยว่า วันนี้ผู้ป่วยมีอาการอะไรมาครับ แม่ของผู้ป่วยก็เล่าให้ฟังเล่าไปเรื่อยๆและผมก็ถามตามสมควร ในระหว่างการสนทนากัน ผมสังเกตเห็นว่าแม่ของผู้ป่วยกำลังคิดอะไรอยู่ในใจตลอดเวลา เหมือนกับไม่มีสมาธิที่จะตอบคำถามได้อย่างเต็มที่
ผมจึงลองถามแม่ของผู้ป่วยออกไปว่า “ มีความกังวลใจอะไรอยู่หรือป่าวครับ หรือว่าจะกังวลเกี่ยวกับอาการของน้อง ”
แม่ของผู้ป่วยตอบผมกลับมาว่า “ เรื่องอาการป่วยของลูกก็กังวลอยู่เหมือนกัน แต่ที่กังวลอยู่อีกเรื่องก็คือ ครั้งก่อนไปรักษาที่ รพ. แห่งหนึ่ง แล้วเขาเก็บค่ารักษาเพิ่ม ตอนนั้นราคาไม่เท่าไรยังพอจ่ายได้ แต่ในครั้งนี้เงินก็ไม่ค่อยจะมี เดินทางมายังเดินทางกลับไม่ได้ ต้องเฝ้าอยู่เพียงแต่ที่นี่เท่านั้นเพราะมือถือก็ไม่มี มีอะไรจะได้ติดต่อได้ทันที ” แล้วแม่ของผู้ป่วยก็เอาเสื้อขึ้นมาปิดหน้า เช็ดน้ำตา
ผมจึงเอามือจับและบีบเบาๆที่ข้อศอกของแม่ของผู้ป่วยแล้วบอกว่า “ ไม่ต้องกังวลนะครับ ถ้าเกิดไม่มีเงินจริงๆที่นี่มีมูลนิธิที่สามารถช่วยเหลือได้ เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาติดต่อหน่อย ถ้ายังกังวลอยู่ พรุ่งนี้พอมีแพทย์หรือพยาบาลมาถามไถ่อาการของผู้ป่วย ลองถามปรึกษาเกี่ยวกับข้อขับข้องใจเรื่องนี้ได้นะครับ ”
หลังจากที่ผมพูดประโยคจบ แม่ของผู้ป่วยก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ปล่อยให้น้ำตาไหลออกมาเหมือนกับคนที่พบทางออกของปัญหาที่ติดอยู่ในใจมานาน จนลูกซึ่งเป็นผู้ป่วยหันมามองแม่และเหมือนอยากจะเข้าไปปลอบแม่ เพราะเห็นแม่กำลังร้องไห้
ในเวลานั้น สมองส่วนลึกของผมก็ได้จดจำภาพเหตุการณ์นั้นไว้ ผมประทับใจกับความรักและเป็นหวงของแม่ที่มีต่อลูกมาก และลูกถึงแม้จะยังเด็กอยู่แต่ก็มีความเป็นห่วงเป็นใยแม่มาก
หลังจากนั้น แม่ของผู้ป่วยดูมีความกังวลลดน้อยลง ผมจึงถามไปอีกว่า “ มีความกังวลอะไรอีกไหม ” ดูเหมือนแม่ของผู้ป่วยยังอยากถามให้มั่นใจขึ้นในเรื่องการช่วยเหลือจึงถามผม อีกรอบ ผมจึงยืนยันในการมีอยู่จริงขององค์กรที่ช่วยเหลือในด้านนี้ ทำให้แม่ของผู้ป่วยมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มขึ้น หลังจากนั้นผมจึงถามต่อไปว่า “ ยังมีอะไรอยากถามหรืออยากทราบเพิ่มเติมอีกหรือป่าวครับ ” แม่ของผู้ป่วยบอกว่า “ ไม่มีอะไรแล้ว ” ผมจึงบอกกลับไปว่า “แล้วพรุ่งนี้ผมจะกลับมาดูอาการน้องใหม่นะครับ มีปัญหาอะไรบอกผมได้ ผมจะพยายามช่วยเหลือเท่าที่ผมจะทำได้ ” แล้วผมก็กลับออกไป
จากที่ทั้งสองเคสที่ผมเล่าไป ผมรู้สึกถึงความมีคุณค่า ที่ทำอะไรได้มากกว่าไปซักประวัติโรคของผู้ป่วยเพื่อการเรียนรู้ของผมเพียงอย ่างเดียว ผมรู้สึกว่า ผมได้ให้อะไรกลับคืนไปแก่ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดที่ต้องดูแลผู้ป่วยบ้าง แม้มันจะดูเหมือนเล็กน้อยและดูเหมือนไม่ใช่หน้าที่ของ นศพ. น่าจะเป็นหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ แต่ผมกลับมองว่า หน้าที่นี่แหละที่เป็นหน้าที่อีกอย่างที่ นศพ. ควรจะต้องทำ เพราะสิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูยุคที่มีแต่การฟ้องร้องแพทย์กันอย่ างมากมาย ลองคิดดูว่า ถ้าเราเริ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยและผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล ้ชิดตั้งแต่วันนี้ ก็คงไม่มีผู้ป่วยหรือใครที่ไหนอยากจะฟ้องแพทย์ที่พยายามดูแลเขาหรือญาติของเ ขาอย่างดีที่สุดในความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติของเขาเอง โดยไม่ใช่แค่คำพูดของหมอว่า ผมจะพยายามดูแลให้ดีที่สุดนะครับ
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สังคมแพทย์เริ่มลืมเลือนหายไป เพราะเวลาที่จะสอนมีอยู่อย่างจำกัดและจำเป็นที่จะต้องสร้างแพทย์ที่มีความรู ้ให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด เพื่อที่จะไม่รักษาผู้ป่วยผิดพลาด ทำให้ในขณะนี้แพทย์ที่จบออกมาสามารถรักษาโรคทางกายได้เป็นอย่างดีแต่ไม่สามา รถที่จะรักษาโรคทางใจได้ ทั้งของผู้ป่วยและผู้ที่ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

นศพ. เอกพล ฤทธิ์วีระเดช นศพ.ปี 5
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี


Posted by : chains , Date : 2008-10-28 , Time : 20:47:18 , From IP : ppp-124-120-242-213.

ความคิดเห็นที่ : 5


   ไม่ใช่แค่โรค


เมื่อ 1 ปีก่อน ฉันเป็นนักศึกษาแพทย์ที่เพิ่งขึ้นปี 4 และเพิ่งขึ้นหอผู้ป่วยอายุรศาสตร์หมาดๆ ยังไม่มีความรู้เรื่องโรคหรือการรักษานัก มีแต่ความตั้งใจเต็มเปี่ยม ฉันตั้งปณิธานไว้ว่า ฉันจะทำตัวให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น
ผู้ป่วยคนแรกที่ฉันได้รับแจก เป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 65 ปี มีโรคประจำตัวคือ โรคหัวใจและ Parkinson’s disease รับไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการเหนื่อยมากขึ้น ช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังจากรับไว้ในโรงพยาบาล ป้ามีอาการซึมลง(จากโรค) ถามคำ ตอบคำ ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ อีกทั้งไม่ค่อยมีญาติมาเยี่ยม ทั้งวันป้าจึงได้แต่นอนเฉยๆ รับการรักษา และรอให้พยาบาลมาป้อนข้าว หรืออาบน้ำให้
หลายๆครั้งที่ฉันเดินผ่าน ฉันได้เข้าไปถามเผื่อจะช่วยอะไรเล็กๆน้อยๆได้ “ป้าหิวน้ำมั้ย” ป้าพยักหน้า “ป้าเมื่อยรึป่าว เปลี่ยนท่ามั้ย” ป้าพยักหน้า สรุปว่าทุกครั้งที่ฉันเข้าไปเสนอ ป้าก็จะพยักหน้า ฉันเดาว่าที่ป้าไม่ได้เรียกพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่คนอื่น ก็เพราะทุกคนมัวทำงานกันยุ่ง ป้าเรียกไม่ทัน และเกรงใจไม่กล้าเรียก ฉันแทบจะไม่เคยได้ยินเสียงป้าเลย
หลังจากได้รับการรักษาระยะหนึ่ง ป้าอาการดีขึ้น ช่วงนี้ป้าเขยิบตัว หยิบของ ดื่มน้ำ ช่วยเหลือตัวเองพอได้แล้ว มีลูกหลานมาเยี่ยมในวันหยุด ป้าสีหน้าสดใสขึ้นมาก ฉันจึงไม่ค่อยได้เข้าไปถามไถ่เหมือนอย่างที่เคย ป้าอาการดีขึ้นจนกำลังจะออกจากโรงพยาบาล
วันหนึ่งฉันเดินผ่านเตียงป้า ป้าก็เรียก “หนูๆ” ฉันหันหลังเดินเข้าไปข้างเตียง ป้าเอื้อมมือมาจับมือฉันแล้วมองเข้าไปในตาฉัน “ป้าจะกลับบ้านแล้ว ขอบใจหนูมากนะ”
มันเป็นแค่เรื่องเล็กๆ แต่ฉันก็ดีใจจนน้ำตาแทบซึม ที่ฉันนักศึกษาแพทย์ตัวเล็กๆ ผู้ที่แทบจะไม่มีความสำคัญในการรักษาเลย แต่การกระทำเล็กๆของฉัน มีประโยชน์ต่อคนไข้ และทำให้คนไข้รู้สึกดี
ฉันเคยคิดว่า นักศึกษาแพทย์ มันก็แค่นักศึกษา การขึ้นไปปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยนั้น แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรกับคนไข้เลย ความรู้เราก็น้อย การรักษาก็ยังสั่งไม่เป็น แต่วันนั้น ฉันมีความสุขเหลือเกิน ที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นประโยชน์กับคนอื่น โดยเฉพาะคนนั้นเป็นคนไข้ของฉันเอง แล้วฉันก็รู้ว่า การเป็นประโยชน์นั้น มันไม่ได้จำกัดอยู่กับการสั่งยา หรือการทำหัตถการเท่านั้น คำว่าองค์รวม แว่วขึ้นมาในใจฉัน ไม่ใช่แค่รักษาโรคเท่านั้น ต้องคำนึงถึงคนไข้ที่ก็เป็นคนเหมือนกับเราๆ มีจิตใจ มีความกังวล มีความต้องการเหมือนกัน ถึงแม้ว่าในตอนนี้เรายังไม่สามารถรักษาโรคได้ แต่เราก็สามารถรักษาคนได้
นักศึกษาแพทย์คนนั้นก็เลยได้เข้าใจว่า การให้ มันมีความสุขมากแค่ไหน และแม้จะผ่านมา 1 ปี เรื่องนี้ก็ยังคงประทับอยู่ในใจนักศึกษาแพทย์คนนั้นตลอดมา
นศพ.พีรฉัตร มั่งมีศรี
ศิริราช 115


Posted by : chains , Date : 2008-10-28 , Time : 21:32:11 , From IP : ppp-124-120-242-213.

ความคิดเห็นที่ : 6


   Narrative Medicine

เบื้องหลังชื่อโรค ภาษาอังกฤษ ละติน กรีก เบื้องหลังความสำเร็จในการเรียน การเติบโต การ​"เป็น"แพทย์ มี life stories เป็นจำนวนมาก เรื่องราวเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ "งานประจำ" ของเรามีความหมายอย่างย่ิง เพราะอาชีพแพทย์ พยาบาล นั้น เกิดจากความต้องการ และการเห็นเป็น "หน้าที่" ที่คนเราเกิดมาเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้พ้นจากความทุกข์ และเรากำลังจะได้สัญญา ปฏิญญาว่า เราจะ "อยู่" ด้วยความเชื่อเช่นนี้ตลอดไป


Posted by : Phoenix , Date : 2008-10-29 , Time : 00:06:03 , From IP : 172.29.9.114

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.008 seconds. <<<<<