ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

อะไรคือ.....ชิคุนกุนยา


    โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)
ศ.นพ.ขจรศักด์ ศิลปโภชากุล
แพทย์โรคติดเชื้อ รพ.สงขลานครินทร์

ขณะนี้มีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา ในพื้นที่ 2 จังหวัดทางภาคใต้ คือ จังหวัดนราธิวาสและปัตตานี การแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์ความไม่สงบ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการจัดการทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค ประกอบกับระยะนี้ได้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ทำให้ปริมาณยุงลายมีมากขึ้น และมีแนวโน้มจะเกิดการระบาดต่อเนื่องมาถึงพื้นที่ในจังหวัดสงขลา ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
สงขลานครินทร์

ลักษณะโรค สำหรับโรคชิคุนกุนยานั้นเป็นการติดเชื้อไวรัสชื่อChikungunya virus ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค อาการคล้ายโรคไข้เลือดออก เดิมมีรกรากอยู่ในทวีปแอฟริกา ในประเทศไทยมีการตรวจพบครั้งแรกพร้อมกับที่มีไข้เลือดออกระบาดและเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย เมื่อ พ.ศ.2501
โรคนี้จะพบมากในฤดูฝน เนื่องจากจำนวนยุงเพิ่มขึ้นและมีการติดเชื้อในยุงลายมากขึ้น พบโรคนี้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากไข้เลือดออกและหัดเยอรมันที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี

อาการและอาการแสดง ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจะมีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออก โดยจะมีไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคันร่วมด้วย ในเด็กเล็กที่มีไข้สูงอาจจะมีอาการชักได้ ส่วนในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่นาน
ระยะฟักตัว โดยทั่วไปจะเริ่มมีอาการประมาณ 1-12 วัน หลังได้รับเชื้อ แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน

วิธีการติดต่อ โรคนี้สามารถติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก แล้วไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้

วิธีการรักษา ในผู้ป่วยจะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง และรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดอาการไข้ ปวดข้อ และการพักผ่อน ทั้งนี้การดำเนินการที่ดีที่สุด คือ การป้องกันการแพร่ระบาด โดยการกำจัดลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้านและรอบ ๆบ้าน วิธีการกำจัดยุงลายท่านสามารถทำได้ที่บ้านท่านเอง โดยทำตามแบบฟอร์ม(เอกสารแนบ) ซึ่งจะต้องสำรวจและดูแลไม่ให้มีน้ำขัง และเฝ้าระวังสังเกตอาการหากพบผู้ป่วยมีไข้สูง ร่วมกับอาการผื่น และมีอาการปวดข้อต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาการเฉพาะของโรคนี้
ทั้งนี้ท่านสามารถมารับการตรวจรักษาได้ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ทุกวัน โดยติดต่อที่แผนกผู้ป่วยนอก หรือโทรติดต่อสอบถามได้ที่ 074-455000
ซึ่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาด โรคชิคุนกุนยา ในพื้นที่ จังหวัดสงขลา และหากพบการระบาดจะประสานงานกับ กรมควบคุมโรคเพื่อดำเนินการสอบสวนการระบาดในพื้นที่ต่อไป
***********************************************
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


Posted by : ประชาสัมพันธ์ , Date : 2008-10-22 , Time : 16:03:24 , From IP : 172.29.3.33

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.002 seconds. <<<<<